Dec 27, 2009

Love Actually รักแท้นั้นคืออะไร?





เอนทรี่ส่งท้ายปีนี้ ขออนุญาตเขียนเรื่องเบาๆเกี่ยวกับหนังรักอย่าง Love Actually (2003) ซึ่งดูจะเข้ากับบรรยากาศช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีได้เป็นอย่างดีนะครับ

Love Actually เป็นหนังรักโรแมนติคคอมเมดี้สไตล์อังกฤษซึ่งเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของ ริชาร์ด เคอร์ติส (Richard Curtis) เจ้าพ่อเขียนบทหนังรักโรแมนติคอมเมดี้อย่าง Four Weddings and a Funeral (1994), Notting Hill (1999) และ Bridget Jones ‘s Diary (2001)

Love Actually เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของคนหลายคนไล่ตั้งแต่รักของเด็ก รักของผู้ใหญ่ รักของนักร้อง รักของนักเขียน รักของสาวโสด รักของนายกรัฐมนตรี รักของสาวใช้ รักแบบ “ชู้” รวมไปถึงรักสามเส้า ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าโลกใบนี้ยังมีเรื่อง “ความรัก”เล่าให้ฟังกันอยู่เสมอนะครับ

เคอร์คิสประสบความสำเร็จจากการเล่าเรื่องความรักของชายหนุ่มที่อยากแต่งงานมีชีวิตคู่หลังจากไปงานแต่งงานเพื่อนมาหลายงานใน Four Weddings and a Funeral เช่นเดียวกับที่เขาทำให้รักของดอกฟ้ากับนายกระจอกเกิดขึ้นได้ใน Notting Hill นอกจากนี้เขายังเข้าใจอารมณ์หญิงโสดอย่าง Bridget Jones จนส่งให้ Bridget Jones ‘s Diary กลายเป็นหนังรักอมตะครองใจสาวโสดไปในบัดดล

เคอร์ติสดูจะมีความเข้าใจในเรื่อง “อารมณ์รัก” เป็นอย่างดีนะครับเพราะเขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความรักของผู้คนออกมาในรูปแบบที่ทำให้คนดู “อมยิ้ม” ได้เสมอ ซึ่งผมว่าตรงนี้เป็น “เสน่ห์” สำคัญที่สุดของหนังรักโรแมนติคคอมเมดี้เลยก็ว่าได้

บางทีการทำหนังรักดีๆออกมาสักเรื่องนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้นางเอกหรือพระเอกที่สวยหล่อเพียงอย่างเดียว เพราะองค์ประกอบของหนังรัก คือ การทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าพวกเขาสามารถ “อิน” เข้าไปอยู่ในอารมณ์ของตัวละครนั้นได้เหมือนกัน ซึ่ง Love Actually ประสบความสำเร็จในการจัดวางองค์ประกอบตรงนี้ได้ลงตัวเลยทีเดียว

นอกจากนี้ Love Actually ไม่ได้พยายาม “ยัดเยียด” นิยามรักของคนทำหนังว่าต้องเป็นอย่างไร หรือ จะบอกว่าคุณค่าของความรักที่แท้จริงนั้นมันสูงส่งมากน้อยแค่ไหน หากแต่หนังเรื่องนี้ได้เล่าถึงชีวิตของคนหลายคนที่ต้องเผชิญกับ“ความรัก” ไล่ตั้งแต่การแสวงหาไขว่คว้าความรักของสาวโสด ความพยายามที่จะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองที่รู้สึกว่าไป “แอบรักแฟนเพื่อน”เข้าให้แล้ว หรือจะเป็นการทำความเข้าใจกับอารมณ์ที่สูญเสียคนรักไปทั้งในเชิงการ “ลาเป็น” และ “ลาตาย” เป็นต้น

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เคอร์ติสได้ร้อยเรียงเรื่องรักให้มาอยู่เรื่องเดียวกันใน Love Actually ครับ ซึ่งดูเหมือนเขาจะชี้ให้เห็นว่าจริงๆแล้วไอ้เรื่องของความรักเนี่ยมันก็มีอยู่รอบตัวเรานั่นแหละ เพียงแต่คนส่วนใหญ่มักจะมองแบบแยกส่วนคือมองเฉพาะเรื่องของตัวเองซึ่งหากมองแบบองค์รวมแล้วจะเห็นว่าทุกคนนั้นล้วนแล้วแต่เผชิญกับเรื่องราวของความรักด้วยกันทั้งนั้น

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้ยินเพลงอย่าง Love is All Around (1994) ของคณะ Wet Wet Wet ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วยซึ่งเพลงนี้เคยเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Four Weddings and a Funeral มาแล้วครับ

จะว่าไปแล้วเรื่องราวใน Love Actually ของเคอร์ติสนั้น ทำให้ผมนึกถึงรายการวิทยุรายหนึ่งที่ชื่อ Club Friday ซึ่งจัดอยู่ที่คลื่นกรีนเวฟช่อง 106.5 ช่วงคืนวันศุกร์เวลาตั้งแต่สามทุ่มถึงห้าทุ่ม รายการนี้มีพี่ฉอด (สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา) และดีเจอ้อย (นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล) เป็นผู้ดำเนินรายการครับ โดยในทุกๆศุกร์ Club Friday จะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักของคนทางบ้านที่โทรเข้ามาเล่าเรื่องรักให้ฟังอยู่เสมอ

แต่เท่าที่ผมสังเกตส่วนใหญ่แล้วเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักมักจะกลายเป็น “ศาลาคนเศร้า” กันไป นั่นหมายถึงว่าเรื่องส่วนใหญ่มักจะเป็นรักที่ไม่สมหวังนะครับ

ฟังเรื่องราวจาก Club Friday ทำให้คิดได้ว่าในชีวิตคนเรานั้นจะต้องมีช่วงเวลาหนึ่งที่ได้สัมผัสกับอารมณ์ที่เรียกว่า “รัก” เพียงแต่ว่าเราจะเจออารมณ์นั้นในรูปแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นรักครั้งแรกไปจนถึงรักครั้งสุดท้าย รักแบบเพื่อน รักแบบแอบกิ๊ก รักแบบแฟน รักแบบคู่รัก รักแบบคู่ชีวิต รักอย่างคนเป็นพ่อเป็นแม่ รักลูก(ให้ถูกทาง)รักด้วยความห่วงใย ปรารถนาดี ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าอารมณ์แบบนี้มันเป็นอารมณ์ที่ทำให้มนุษย์เรา “อิ่มเอม” ใจและมีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตกันต่อไป

แต่ในมุมกลับกันชีวิตเราก็ต้องมีช่วงหนึ่งที่รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “ผิดหวัง” กับความรักได้เหมือนกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเจออารมณ์นั้นในแบบไหน ไล่ตั้งแต่อารมณ์อกหัก รักคุด มือที่สาม แอบรักเขา รักเขาข้างเดียว รักสามเส้า ไปจนกระทั่งรักแบบผิดศีลธรรมด้วยการมี “ชู้” ซึ่งไอ้อารมณ์แบบนี้มันกลายเป็นอารมณ์ที่บั่นทอนชีวิตเราได้เหมือนกันนะครับและบ่อยครั้งที่หลายคนไม่สามารถผ่านอารมณ์เหล่านี้ไปได้

โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าความรักเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตนะครับ แต่ความรักไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตเรา และแน่นอนที่สุดว่าเราต้องรักตัวเองเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว การรักตัวเองที่ไม่ใช่ “การเห็นแก่ตัว” นะครับ บางทีการรู้จัก “รักตัวเองให้เป็น” ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตด้วยเหมือนกัน และนอกจากจะรักตัวเองให้เป็นแล้วผมว่าเราควรที่จะฝึก “รักคนอื่นให้เป็นด้วย” อีกด้วยนะครับ

แต่จะว่าไปแล้วพวกเราส่วนใหญ่น่าจะเคยสอบตกวิชา “รักคนอื่นให้เป็น” กันมาแล้วนะครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดหรอกครับเพราะบ่อยครั้งที่เราไม่สามารถจัดวางความรักที่มีต่อตัวเองและความรักที่มีต่อคนอื่นได้อย่างสมดุล เพราะบางทีเราก็รักตัวเองมากจนเกินไปจนทำให้เราคาดหวังกับคนอื่นไว้มากว่าเขาจะต้องเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ เขาจะต้องทำให้เราพอใจหรือมีความสุขเสมอ ซึ่งเวลาไม่ได้ดั่งใจแล้ว เราก็มานั่งทุกข์ใจเสียใจซึ่งมันก็มาจากการที่เรารักตัวเองมากจนเกินไปนั่นเอง

หรือบางทีเรากลับไปรักคนอื่นมากจนเกินไปจนลืมที่จะรักตัวเอง ลืมแม้แต่ความเป็นตัวของตัวเองว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งเมื่อเรารักคนอื่นมากจนเกินไปเราก็จะกลายเป็น “ทาส” ของความรักขาดอิสรภาพที่แท้จริงของชีวิตเพราะทุกอย่าง “ขึ้นอยู่” กับคนที่เรารักไปเสียทั้งหมด

ทั้งหมดที่เล่ามาดูเหมือนคำว่า “รักแท้” นั้นมันมีนัยยะมากกว่าการให้เพียงอย่างเดียวนะครับ หรือเพราะเรื่องรักมันมีอะไรมากมายเกินกว่าที่มนุษย์อย่างเราๆจะเข้าใจมันได้ หากไม่รู้จักลงมือที่จะ “รัก”

จวนจะสิ้นปีแล้ว ผมว่าเป็นโอกาสอันดีนะครับที่ทำให้เราหันกลับมาทบทวนสิ่งต่างๆในรอบปีที่ผ่านมาว่าเราสามารถจัดสมดุลของความรักที่มีอยู่นั้นให้กับตัวเองและคนรอบข้างได้ดีพอหรือยัง เผื่อปีหน้าเราอาจจะได้เจอสิ่งที่เรียกว่า “รักแท้” อย่างที่เพลงเค้าร้องไว้ก็ได้นะครับ

…สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าครับ

Hesse004

Dec 13, 2009

ถึงเวลาเปลี่ยนแปลง “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย” แล้วหรือยัง?





สืบเนื่องมาจากความล้มเหลวของทีมฟุตบอลชายไทยในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 25 ทำให้แฟนบอลส่วนใหญ่เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย” นั้นจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อเรียก “ศรัทธา” บอลไทยให้กลับคืนมา

โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าเราควรจะตั้งคำถามต่ออีกเช่นกันว่า “แล้วเมื่อไหร่จะถึงเวลาเปลี่ยนแปลงสมาคมฟุตบอลซะที”

“สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2459 หรือเมื่อ 93 ปีที่แล้ว และเข้าเป็นสมาชิกฟีฟ่าเมื่อปี พ.ศ. 2468 โดยเป็นประเทศที่สองของทวีปเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า (แต่ยังไม่เคยไปเล่นฟุตบอลโลก)

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ดูแลและบริหารทีมฟุตบอลชาติไทยทั้งชายและหญิงตั้งแต่ชุดใหญ่ไปยันชุดเยาวชน ด้วยเหตุนี้เองสมาคมฟุตบอลจึงได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ

ปัจจุบันสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานของ “สภากรรมการบริหารกิจการ” โดยมีสำนักเลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยที่เปรียบเสมือนเป็นแม่บ้านคอยจัดการงานภายในสมาคม

ภายใต้การทำงานของสภากรรมการบริหารกิจการสมาคมมี “นายวรวีร์ มะกูดี” เป็นนายกสมาคมและมี “นายองอาจ ก่อสินค้า” เป็นเลขาธิการสมาคม นอกจากนี้ในสภากรรมการบริหารยังแยกฝ่ายการทำงานออกเป็น ฝ่ายจัดการแข่งขัน, ฝ่ายการตลาดและสิทธิประโยชน์, ฝ่ายต่างประเทศ, ฝ่ายสวัสดิการและพัฒนาสโมสร, ฝ่ายพัฒนาภูมิภาค, ฝ่ายพัฒนาเยาวชนระดับรากหญ้า, ฝ่ายพัฒนาเทคนิค และฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ทั้งนี้แต่ละฝ่ายจะมี “อุปนายก” เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน

นอกจากนี้สมาคมยังแต่งตั้ง “นายทะเบียน” หนึ่งคน “เหรัญญิก” หนึ่งคน และกรรมการกลางอีกแปดคน ขณะเดียวกันสมาคมยังต้องทำหน้าที่หา “ผู้จัดการทีมและผู้ฝึกสอน” ให้แก่ทีมชาติไทยแต่ละชุด

ปัจจุบันทีมชาติไทยมีทั้งหมดสิบสองชุดครับ ประกอบไปด้วย ทีมชาติไทยชุดใหญ่, ทีมชาติไทยชุดโอลิมปิค, ทีมชาติไทยชุดซีเกมส์, ทีมชาติไทยชุดเยาวชนอายุระหว่าง 18-20 ปี, ทีมชาติไทยชุดเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี, ทีมชาติไทยชุดเยาวชนอายุระหว่าง 12-14 ปี, ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดใหญ่, ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดเยาวชนอายุระหว่าง 18-20 ปี, ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี, ทีมฟุตซอลทีมชาติไทย, ทีมฟุตซอลชิงแชมป์อาเซียน และทีมฟุตซอลหญิงทีมชาติไทย (ข้อมูลจาก http://www.fat.or.th/web/commitee.php )

จะเห็นได้ว่าสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นสมาคมใหญ่ที่ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการควบคุมดูแลฟุตบอลทีมชาติไทยทั้งชายหญิงทุกชุด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตัวเลขงบประมาณล่าสุดปี 2553 ที่สมาคมได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณคือ 205 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนและพัฒนาฟุตบอลไทย

นอกจากนี้ในปีหน้าสมาคมยังได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลใน “โครงการต้นกล้าอาชีพฟุตบอล” อีก 99 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนานักฟุตบอลไทยที่มีอายุระหว่าง 15-28 ปี เพื่อก้าวสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

สมาคมฟุตบอลยังต้องทำหน้าที่จัดการแข่งขันต่างๆภายในประเทศซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้นสิบรายการได้แก่ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ, ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก , ข, ค และ ง รวมไปถึงฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก, ฟุตบอลไทยแลนด์ดิวิชั่น 1 ,ฟุตบอลอาชีพลีกภูมิภาคดิวิชั่น 2, และมูลนิธิไทยคม เอฟเอ คัพ

ขณะเดียวกันสมาคมยังต้องจัดส่งทีมฟุตบอลทีมชาติไทยทุกชุดเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติในแต่ละรายการอย่างฟุตบอลซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิคเกมส์ อาเซียนคัพ เอเชียนคัพ แต่ทัวร์นามเนต์ที่ถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของสมาคมฟุตบอลคือ “ฟุตบอลโลก”

อย่างไรก็ตามผลงานของสมาคมฟุตบอลในอดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างไรนั้น ผมว่าทุกท่านก็คงทราบกันดีอยู่แล้วนะครับ

น่าสนใจว่าเมื่อกีฬาฟุตบอลกลายเป็นกีฬาที่มีความสำคัญกับ “ความปรารถนาอย่างแรงกล้า” ของคนไทยแล้ว การติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับสมาคมฟุตบอลจึงได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ ลองเปรียบเทียบดูนะครับว่าทุกคนรู้จักชื่อ “คุณวรวีร์” ในฐานะนายกสมาคมฟุตบอลมากกว่าที่จะรู้จักชื่อของนายกสมาคมกีฬาท่านอื่นๆ

เมื่อความสำคัญมันดูจะมากมายขนาดนี้แล้ว มิพักต้องเอ่ยถึง “สปอนเซอร์” ที่ตั้งใจจะสนับสนุนเงินอัดฉีดคนละหลายสิบล้านบาท ทุกวันนี้สมาคมฟุตบอลยังสามารถให้สปอนเซอร์อย่าง “แมคโดนัลด์” เข้ามาขายของกินในสนามได้อีกด้วย และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ การห้ามไม่ให้แฟนบอลเอาเครื่องดื่มหรืออาหารที่ซื้อเตรียมไว้เข้าไปในสนามในวันที่พวกเขาต้องการไปเชียร์ทีมชาติไทยลงเตะ

ผมไม่แน่ใจว่านโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่แต่ที่แน่ๆ วันที่ทีมชาติไทยลงเตะกับลิเวอร์พูลช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แฟนบอลไม่สามารถเอาอาหารหรือน้ำดื่มเข้าไปในสนามได้ ซึ่งถ้าใครซื้อมาแล้วก็ต้องทิ้งไว้หน้าสนามโดยภายในสนามนั้นมีซุ้มขายเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์ยืนรอ “ผูกขาด” ขายน้ำและของกินอยู่แล้ว

เท่าที่ผมทราบมาเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อตอนที่บอลไทยเตะกับสิงคโปร์เมื่อช่วงเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ผมไม่คิดว่าสมาคมฟุตบอลจะหาประโยชน์กับสปอนเซอร์โดยใช้วิธีแบบนี้ผลักภาระให้กับแฟนบอล

ผมเชื่อว่าการตกรอบแรกฟุตบอลซีเกมส์หนนี้ นอกจากจะทำให้เรา “ตื่น” จากฝันลมๆแล้งแล้ว เราน่าจะเริ่มตั้งคำถามกับสมาคมผู้รับผิดชอบว่า “พวกคุณกำลังทำอะไรกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอยู่หรือครับ”

ทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถ “ตรวจสอบ” การทำงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยได้เลย อย่างดีที่สุดก็แค่การประเมินผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่การกีฬาแห่งประเทศไทยต้องทำอยู่แล้วเพื่อดูว่าการของบประมาณแต่ละสมาคมนั้นสอดคล้องกับผลงานที่เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า

มิพักต้องเอ่ยถึง “สื่อกระแสหลัก” ของวงการกีฬาบ้านเรา ที่น่าจะรู้กันดีว่ามีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ่งกับผู้บริหารสมาคมนี้กันขนาดไหน ดังนั้นสื่อเหล่านี้จึงไม่อยากจะวิจารณ์การทำงานของสมาคมมากนัก เข้าทำนองว่าถ้า “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” ด้วย

คิดไปคิดมาค่อนข้าง “วังเวง” พอสมควรนะครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าสภาบริหารกิจการของสมาคมฟุตบอลนั้นควรจะมี “พันธะสัญญา” หรือ Commitment กับรัฐบาลที่เอาเงินภาษีประชาชนมาจัดสรรเงินงบประมาณให้

โดยในพันธะสัญญาดังกล่าวควรระบุในตอนท้ายว่า…

หากพวกกระผมไม่สามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมายที่ตัวเองสัญญาไว้กับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยแล้ว พวกกระผมและคณะยินดีที่จะแสดงความรับผิดชอบ (Accountability) ด้วยการลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นที่มีความสามารถมากกว่านี้เข้ามาทำงาน”

Hesse004

Dec 12, 2009

“ฟุตบอลทีมชาติไทย” ในฐานะสมบัติของชาติ





ดูเหมือนกีฬาซีเกมส์หนนี้จะ “กร่อย” ลงไปถนัดตาเลยนะครับ หลังจากที่ทีมฟุตบอลชายไทยตกรอบแรกในรอบสามสิบหกปีโดยครั้งสุดท้ายที่ทีมไทยจอดป้ายแค่รอบแรก คือ ซีเกมส์ เมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นกีฬาแหลมทองอยู่เลยครับ

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ดูเหมือนจะยิ่งตอกย้ำว่าทีมฟุตบอลชายไทยนั้นไม่ได้เป็น “เบอร์หนึ่ง” ของอาเซียนอย่างที่เคยอวดอ้างกันไว้

ทัวร์นาเมนต์อย่างอาเซียนคัพและซีเกมส์เป็นตัวชี้วัดได้ดีว่าทีมอย่าง เวียดนาม สิงค์โปร์ หรือแม้แต่ “ลาว” กำลังไล่กวดตำแหน่ง “เต้ย” ลูกหนังในดินแดนแถบนี้ หลังจากที่ทีมชาติไทยผูกขาดนอนกอดแชมป์ซีเกมส์มาแปดสมัยซ้อน

ความล้มเหลว คือ จุดเริ่มต้นของการทบทวนสิ่งต่างๆที่ผ่านมา แต่ที่แน่ๆก็คือมันเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่าใครสามารถบริหารสมาคมฟุตบอลของชาตินั้นๆได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน

ผู้บริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยสมควรที่จะแสดงความรับผิดชอบอะไรสักอย่างหนึ่งในฐานะที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศ “ผิดหวัง” ซึ่งแน่นอนที่สุดตามธรรมเนียมการหาแพะนั้น โค้ชใหญ่อย่างนายสตีฟ ดาร์บี้ (Steve Darby) คือ แพะฝรั่ง (Scapegoat) ตัวแรกที่จะถูกนำมาสังเวยความล้มเหลวครั้งนี้

“สตีฟ ดาร์บี้” เป็นชาวเมืองลิเวอร์พูลครับ ในอดีตเคยเล่นฟุตบอลในตำแหน่งผู้รักษาประตูสังกัดทีมสำรองสโมสรทรานส์เมียร์ โรเวอร์ (Tranmere Rovers)

ดาร์บี้เริ่มต้นการคุมทีมครั้งแรกกับสโมสรซิดนีย์ โอลิมปิค (Sydney Olympic) ในออสเตรเลีย ก่อนจะย้ายมาคุมทีมยะโฮร์ เอฟเอ (Johor FA) ในมาเลเซียและพาทีมประสบความสำเร็จในฟุตบอลถ้วย Malaysia FA Cup หลังจากนั้นย้ายมาเป็นนายใหญ่ทีมโฮม ยูไนเต็ด (Home United)ในสิงค์โปร์ โดยสร้างชื่ออยู่กับ Home United พักหนึ่งก่อนจะย้ายกลับไปคุมทีมในมาเลเซียอย่างเปรัก เอฟเอ (Perak FA)

ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้วดาร์บี้เองก็มีประสบการณ์การคุมทีมในย่านอาเซียนมากพอสมควรดังนั้นเขาน่าจะรู้ดีว่าตำแหน่ง “แชมป์ฟุตบอลซีเกมส์”นั้นมันมีความหมายกับแฟนฟุตบอลในแถบนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะลำพังในระดับเอเชียแล้วทีมในย่านนี้คงยากที่จะทาบรัศมีได้

ดาร์บี้เข้ามาช่วยปีเตอร์ รีด (Peter Reid) ทำทีมชาติไทยชุดใหญ่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก่อนที่รีดจะเปิดตูดหนีกลับอังกฤษไปช่วยโทนี่ พูริส (Tony Pulis) คุมสโต๊ค ซิตี้ ด้วยเหตุนี้เองดาร์บี้จึงต้องกลายเป็นกุนซือขัดตาทัพคุมทีมยู 23 ของไทยไปแข่งกีฬาซีเกมส์ที่เวียงจันทน์ ท่ามกลางการตั้งความหวังกับการเป็นแชมป์สมัยที่เก้าของทีมฟุตบอลชาติไทย

อย่างที่ทราบกันแล้วนะครับว่าผลงานของดาร์บี้กับทีมชาติไทยที่เขาคุมทัพไปนั้นชนะได้เพียงสองทีมคือกัมพูชากับติมอร์ ส่วนเวียดนามกับมาเลเซียนั้นทีมของดาร์บี้ไม่สามารถเอาชนะได้และเป็นเหตุให้ทีมฟุตบอลชายไทยร่วงตกรอบแรกชนิด “ช็อค” กันไปทั้งบาง

หากวิเคราะห์กันถึงความล้มเหลวชนิดไม่เป็นท่านั้นก็คงมองได้หลายเหตุผล เริ่มตั้งแต่ความไม่พร้อมของการทำทีมชาติชุดนี้ซึ่งว่ากันว่ามีเวลาซ้อมเพียง 17 วันเท่านั้น ทั้งที่รู้ว่าทัวร์นาเมนต์นี้มันมีความสำคัญกับคนไทยมากขนาดไหน

ขณะเดียวกันการให้เหตุผลว่าเพราะนักเตะเหนื่อยล้ามาจากฟุตบอลไทยแลนด์ลีกที่เพิ่งจบฤดูกาลนั้นทำให้การเตรียมทีมทำได้ไม่เต็มที่ เหตุผลเช่นนี้ผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่ “แย่ที่สุด” เท่าที่เคยได้ยินมาครับ

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าปัญหามันอยู่ที่การบริหารจัดการทีมมากกว่าแม้กระทั่งตอนนักเตะไปรายงานตัวยังไม่มีคนของสมาคมไปดูแลเลย ซึ่งหากพวกท่านไม่สามารถทำได้ดีพอก็ขอความกรุณาให้คนอื่นที่มีความสามารถมากกว่านี้เข้ามาช่วยจัดการเถอะครับ เพราะทีมฟุตบอลชายไทยเป็น “สมบัติ”ของคนไทยทุกคน

นอกจากเหตุผลเรื่องความไม่พร้อมแล้ว เหตุผลในเรื่อง “สปิริต” ของนักฟุตบอลทีมชุดนี้ก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิจารณ์มากพอสมควร เพราะเท่าที่ดูมาตลอดสี่เกมผมว่านักฟุตบอลชุดนี้ดูจะขาดความกระหายและความกระตือรือร้นที่จะเล่นฟุตบอลทัวร์นาเมนต์นี้ ว่ากันว่าทีมฟุตบอลชายไทยเป็นทีมที่ได้รับเงินอัดฉีดมากที่สุดแต่ดูเหมือนว่านักเตะบางคนคงเห็นเป็นเพียงทัวร์นาเมนต์ “ของตาย” ที่ยังไงเราก็ไม่พลาดเพราะเราเหนือกว่าทุกชาติในอาเซียนอยู่แล้ว นั่นคือ “ทัศนคติ” ของนักเตะไทยที่ดูจะหลงเหลิงกับคำว่าเบอร์หนึ่งของอาเซียน

อย่างไรก็ตามขออนุญาตยกเว้นนักเตะบางคนที่ทุ่มเทตลอดทั้งสี่เกมอย่าง กวิน ผู้รักษาประตู อนาวิน ปีกขวา หรือ อดุล มิดฟิลด์เกมรับ

ส่วนเหตุผลสุดท้ายผมคิดว่าทีมอื่นๆเขามีพัฒนาการไปข้างหน้าโดยเฉพาะสี่ทีมสุดท้ายอย่างเวียดนาม สิงค์โปร์ ลาว และมาเลเซีย ส่วนทีมชาติไทยยังย่ำอยู่กับที่และพร้อมเสมอที่จะถอยหลังเข้าคลอง

สาเหตุหนึ่งคงเพราะผู้บริหารสมาคมคิดว่าคนไทยลืมง่ายมั๊งครับ เลยไม่คิดจะจำบทเรียนแย่ๆที่ผ่านมาทั้งที่มันมีตัวอย่างความผิดพลาดให้เห็นกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไล่ตั้งแต่แมตช์อัปยศในศึกไทเกอร์คัพเมื่อปี 1996 ที่พยายามเล่นให้ “แพ้” อินโดนีเซียเพื่อหลีกไม่เจอเวียดนามเจ้าภาพในรอบรอง

หรือจะตกรอบแรกในศึกไทเกอร์คัพเมื่อปี 2004 ที่ทำเอาศรัทธาบอลไทยหายไปช่วงหนึ่ง หรือจะเป็นการชวดแชมป์อาเซียนคัพเมื่อปีที่แล้วหลังจากโดนเวียดนามบุกมาหักหน้าถึงสนามราชมังคลาฯ

"ฟุตบอลไทย"ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ คือ “เจ็บแล้วไม่รู้จักจำ” ผู้บริหารมิเคยสำเหนียกถึงหน้าที่ที่ตัวเองแบกรับอยู่ว่าคนไทยทั้งชาติเขาเฝ้ารอความสำเร็จของทีมชาติพวกเขามากขนาดไหน เพราะพวกคุณได้แต่สร้างความฝันลมๆแล้งๆว่า “ทีมชาติไทยจะไปฟุตบอลโลก”

อย่างไรก็ตามผมต้องขอบคุณที่ทีมชาติไทยที่เคยสร้างความสุขให้กับคนไทยมาตลอดสิบหกปีที่ได้แชมป์ซีเกมส์แปดสมัยซ้อนซึ่งทุกคนหวังเหมือนกันว่าทีมของเรากำลังก้าวไปสู่จุดที่ดีขึ้นเพราะอย่างน้อยที่สุดเราก็เป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคนี้แล้ว

ดังนั้นการจะฝันต่อว่าเราจะเป็นเบอร์ต้นๆของเอเชียก็คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแต่ทั้งหมดเป็นแค่ “ภาพลวงตา” ที่ทำให้ทุกวันนี้เราต้องหันมายอมรับความจริงกันได้แล้วว่าเรายังไปไม่ถึงไหนเลยแต่คนอื่นเขาก้าวหน้าไปกว่าเราแล้ว

“ฟุตบอลทีมชาติไทย” เป็นสมบัติอย่างหนึ่งของคนทั้งชาตินะครับ มิใช่เป็นของคนกล่มใดกลุ่มหนึ่ง สมาคมฟุตบอลไทยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน นักฟุตบอลทีมชาติไทยลงแข่งขันในนามตัวแทนของคนไทยทั้งชาติ ด้วยเหตุนี้เองคนไทยทุกคนจึงตั้งความหวังไว้กับพวกคุณไว้มากและพร้อมจะเป็นกำลังใจให้กับพวกคุณเสมอแต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 นั้นมันได้แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกคุณรักษาสมบัติชิ้นนี้ของชาติได้มากน้อยแค่ไหน?

Hesse004

Nov 15, 2009

2012 เรือโนอาห์ลำสุดท้าย





โหมโรงกันมาพอสมควรนะครับสำหรับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง 2012 ผลงานการกำกับของ โรแลนด์ เอมเมอริช (Roland Emmeich) ผู้กำกับชาวเยอรมันที่เคยฝากผลงานไว้กับภาพยนตร์ดังอย่าง Independence Day (1996) และ The Day After Tomorrow (2004)

หนังเรื่องนี้เปรียบเสมือนตัวแทนคำทำนายอนาคตว่าโลกใบนี้ใกล้จะถึง “กาลอวสาน” ในวันที่ 21 เดือน 12 ปี 2012 ตามคำทานายของชนเผ่ามายา ขณะเดียวกันเอมเมอริชเองก็พยายามหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายโอกาสที่โลกใบนี้จะแตกสลาย ซึ่งถ้าท่านใดที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คงจะร้อนๆหนาวๆได้เหมือนกัน

ทั้งนี้หากเราย้อนดู “ภาพยนตรานุกรม” (Filmography) ของเอมเมอริชจะพบว่าเอมเมอริชได้พูดถึงความเชื่อเกียวกับเรื่อง “วันสิ้นโลก” ไว้ในภาพยนตร์ของเขาอย่างน้อยสองเรื่องครับ คือ The Noah's Ark Principle (1984) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา อย่างไรก็ตามเอมเมอริชได้เนรมิตให้ “วันสิ้นโลก” ตามจินตนาการของเขานั้นปรากฏในหนังเรื่อง The Day After Tomorrow (2004) ซึ่งว่ากันว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด

นับตั้งแต่เปิดฉากศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาดูเหมือนว่าโลกของเราต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงแทบทุกปีก็ว่าได้ โดยเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่คนไทยจดจำได้ดีคือ ปรากฏการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับแสน

จะว่าไปแล้วหนังของเอมเมอริชนั้นทำให้เราต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนะครับเพราะเหตุที่ทำให้โลกต้องถึง “หายนะ” นั้นก็มาจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเองแหละครับ

ทุกวันนี้ประเด็นเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ได้กลายเป็นวาระแห่งโลกไปแล้วโดยเฉพาะปัญหาเรื่องโลกร้อน (Global Warming) ที่ถูกจุดกระแสขึ้นจากนายอัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าปัญหาภาวะโลกร้อนเนี่ยมันดูเหมือนจะแปรผันตรงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศพูดง่ายๆก็คือยิ่งเจริญมากก็ยิ่งร้อนมาก ซึ่งถ้าจะกล่าวไปแล้วมันก็คือ “ต้นทุนอย่างหนึ่งของการพัฒนา” นั่นไงล่ะครับ

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนและการบริโภคนั้นดูเหมือนยิ่งทำให้มนุษย์ต้อง “รังแก” สิ่งแวดล้อมอยู่เสมอๆ เพียงเพื่อแลกกับอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สวยหรูโดยหารู้ไม่ว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้กำลังย้อนกลับมาเล่นงานเราในอนาคต

ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เหมือน “ปัญหาการก่อหนี้สาธารณะ”แหละครับ เพราะคนที่สร้างปัญหา (ก่อหนี้) คือคนยุคเราที่ “ถลุง” ใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่บันยะบันยังแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมนั้นกลับไปตกกับรุ่นลูกรุ่นหลานแทน

ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจึงเสนอให้มีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (Green Tax) ขึ้นเพื่อเป็นการสร้างต้นทุนให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้สินค้าที่มีส่วนทำลายสภาพแวดล้อมและอย่างน้อยที่สุดจะทำให้คนเหล่านี้ได้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น

กลับมาที่หนังกันต่อดีกว่าครับ, โดยส่วนตัวแล้วผมว่าหนังเรื่องนี้มีจุดเด่นอยู่ที่โปรดักชั่นและเอฟเฟคนะครับ ประเภทว่าดูแล้วเกิดจินตนาการได้เลยว่าหาก “วันสิ้นโลก” เกิดขึ้นจริงๆแล้วมันจะมีโลกเราจะมีสภาพอย่างไร

ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดการได้ดูหนังแนวนี้ก็ทำให้เราสามารถ “เผื่อใจ” หรือ “ซ้อม” ไปกับหายนะหมู่ที่กำลังจะมาถึงซึ่งดูเหมือนว่าคนทำหนังเรื่องนี้จะสอนให้เรามี “สติ” เสมอในการเอาชีวิตรอดภายใต้ภาวะคับขันต่างๆ

เอมเมอริชวางพล็อตเรื่องไว้ค่อนข้างลงตัวนะครับโดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เราได้เห็นว่าถึงที่สุดแล้วเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็ฉลาดพอที่จะเอาตัวรอดโดยไม่ยอมจำนนกับฟ้าดินแต่อย่างใดซึ่งวิธีการเอาตัวรอดจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรบกวนท่านผู้อ่านลองไปหาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ดูแล้วกันนะครับ

อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวันสิ้นโลกนั้น คือ โดยทั่วไปแล้วเรามักจะอิงอยู่กับความเชื่อทางศาสนาว่าด้วยจุดจบของโลก อย่างศาสนาฮินดูที่เชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้ทำลายล้างโลก ขณะที่ศาสนาคริสต์ก็เชื่อว่าพระเจ้านั้นเคยทำลายล้างมนุษย์มารอบหนึ่งแล้วโดยใช้น้ำท่วมโลก

เรื่องน้ำท่วมโลกตามความเชื่อของชาวคริสต์นั้นปรากฏอยู่ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 6 เรื่องเรือโนอาห์หรือ Noah‘s Ark ครับ
ทั้งนี้ในพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าพระเจ้าทรงพิโรธมนุษย์เนื่องจากมนุษย์ไม่อยู่ในศีลในธรรมอันดีประพฤติตนชั่วช้า ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงดลบันดาลให้เกิดน้ำท่วมโลกเพื่อทำลายล้างมนุษย์ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงเมตตาให้โอกาสมนุษย์ได้สืบเผ่าพันธุ์ใหม่โดยเลือก “โนอาห์” ซึ่งเป็นคนดีมีศีลธรรมนั้นต่อเรือขึ้นหนึ่งลำแล้วขนครอบครัวลงเรือรวมทั้งสัตว์จำพวกต่างๆชนิดละคู่ลงเรือไปด้วย

ตามตำนานบอกว่าเมื่อโนอาห์ต่อเรือเสร็จพระเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกหนักถึงสี่สิบวันและเกิดน้ำท่วมแผ่นดินอีกร้อยห้าสิบวัน ส่วนเรือของโนอาห์นั้นไปค้างอยู่บนยอดเขาอารารัต (ปัจจุบันอยู่บริเวณพรมแดนตุรกี) และเมื่อน้ำแห้งโนอาห์และครอบครัวจึงรอดชีวิตและพระเจ้าได้มอบ “รุ้งกินน้ำ” ให้กับโนอาห์ไว้เป็นพันธสัญญาว่าจะไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมโลกอีกต่อไปแล้ว

ผมไม่รู้ว่าโลกใบนี้จะแตกสลายไปดังคำทำนายของชาวมายาหรือเปล่านะครับ แต่ผมเองก็ยังเชื่อลึกๆว่ามนุษย์จะสามารถธำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเองไว้ได้ ซึ่งบางทีอาจจะมีใครคิดต่อเรือโนอาห์ขึ้นมาใหม่ก็ได้นะครับ แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า “ตั๋วขึ้นเรือ” ลำสุดท้ายเนี่ยเขาจะเอาอะไรมาวัดล่ะครับระหว่างคุณธรรมหรือเงินตรา

Hesse004

Nov 6, 2009

“เซฟทีคัท”กับ “การดูจิตตัวเอง”






ผมว่าคนเมืองสมัยนี้พยายามหาวิถีทางที่จะจัดการกับ “อารมณ์” ตัวเองในวันที่ชีวิตไม่ปกติสุข

วิถีทางที่ว่านั้นมีทั้งฝั่ง “โลกุตตระ” และฝ่าย “โลกียะ”ครับ โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะหัน “พึ่งพระ” ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจหรือร้อนใจ ด้วยเหตุนี้ “พระ” ในบริบททางสังคมจึงคล้ายกับอาชีพนักจิตวิทยาไปในตัว

นอกจากพระแล้วยังมี “หมอดู” ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วในสังคมที่คนรู้สึกสับสนกับชีวิตหรือหาทางออกในชีวิตไม่ได้นั้น การหา “หมอดู” ก็เปรียบเสมือนการซื้อสินค้าที่เรียกว่า “อยากรู้อนาคต” โดยได้รับความพึงพอใจจากการบริโภคเป็นความสบายใจ หรือหากหาแล้วไม่สบายใจมากกว่าเดิมก็ต้องบริโภคสินค้าอย่าง “การสะเดาะเคราะห์” เพื่อแลกกับความสบายใจอีกรอบหนึ่ง

ผมว่าจริงๆแล้วโลกนี้ไม่มีใครช่วยใครได้ทั้งหมดหรอกครับ คนที่จะช่วยเราได้ดีที่สุดจริงๆ คือ “ตัวเราเอง” ไงล่ะครับเหมือนคำพระท่านว่า “อัตตาหิ อตตโนนาโถ” หรือ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”

“ตนแลเป็นที่พึงแห่งตน”นั้นน่าจะมีนัยยะที่มากกว่าการช่วยเหลือตัวเองนะครับ นัยยะที่ว่านี้แฝงไปด้วยเรื่องการจัดการกับอารมณ์ของตนเองทั้งเวลาสุขหรือเวลาทุกข์

อารมณ์คนเรามันก็เหมือนกับ “น้ำ” แหละครับ นั่นคือไม่ค่อยจะนิ่งสักเท่าไร มีขึ้นมีลง มีเกรี้ยวกราด มีสงบ จนบางครั้งเราก็รู้สึกตาม “อารมณ์” ตัวเองไม่ทันเหมือนกัน

“อาม่า” ท่านเคยสอนผมว่าเราควรจะมี “เซฟทีคัท” (Safety Cut) ประจำจิต เพราะจะได้รู้ว่าตอนไหนที่เราควรจะรีบตัดอารมณ์ไม่ดีออกจากจิตของเราก่อนที่ปัญหาอื่นๆจะบานปลายตามมา

ผมว่าอาม่าท่านพูดถูกครับ เพราะทุกวันนี้ปัญหาส่วนใหญ่ของมนุษย์เราคือการที่เราไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ไม่ดีของตัวเองได้

ไอ้เจ้า “อารมณ์เสีย” หรือที่เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่า “จิตตก” นั้นมันเป็นสภาวะที่ไม่มีใครอยากจะรู้สึกเท่าไรนักหรอกครับ เพียงแต่ว่าชั่วขณะนั้นเราจะสามารถ “คุมสติ” ตัวเองได้ดีหรือเปล่า

ในช่วงห้าหกปีมานี้ ผมเริ่มเห็นคนเมืองสนใจเข้าวัดปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น อาจเพราะสภาพสังคมที่บีบรัด แก่งแย่งแข่งขันในทุกเรื่องทำให้คนอยากหาที่พึ่งทางจิตหรือที่พักทางใจไว้เวลาสับสน ทุกวันนี้มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมโดย “ฆราวาส” มากขึ้นนะครับ ยกตัวอย่างเช่นหนังสือเรื่อง “เข็มทิศชีวิต” ของคุณฐิตินาถ ณ พัทลุง, หนังสือของทันตแพทย์สม สุจีรา อย่าง “ทวาร 6: ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง”, หรือหนังสือของคุณดังตฤณอย่าง “เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน” เป็นต้น

ขณะเดียวกันหนังสือธรรมะที่เขียนโดย “พระสงฆ์” ที่น่าเคารพศรัทธาก็มีอยู่หลายเล่มนะครับไล่ตั้งแต่งานคลาสสิคของท่านอาจารย์พุทธทาส หรือ คำสอนของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต)เช่นเดียวกับพระสงฆ์สายปฏิบัติสมัยใหม่อย่างหลวงพ่อมิตซูโอะ คเวสโก หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

คำสอนของทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสนั้นเป็นคำสอนที่ทำให้เรารู้สึก “สบายใจ” ครับ จริงๆแล้วไอ้คำว่าสบายใจเนี่ย หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์แล้วมันเป็นการได้รับอรรถประโยชน์ (Utility) อย่างหนึ่งของการบริโภคสินค้าที่เรียกว่า “ธรรมะ” ครับ

คำสอนในพุทธศาสนามักจะเน้นไปที่เรื่องของ “การดูจิต” ตนเองเป็นหลักนะครับ การดูจิตตนเองก็เหมือนการทำความรู้จักกับ “ตัวเอง” หรือหากเรียกแบบชาวพุทธก็คือการมี “สติ” อยู่ตลอดเวลานั่นเองครับ

เวลาที่เราเริ่มรู้สึก “จิตตก” นั้นดูเหมือนใจเราจะ “ร้อน” ผิดปกตินะครับ ไอ้ความร้อนที่ว่านี้หากไม่มี “เซฟทีคัท”ในใจไว้ตัดก่อนเนี่ยอาจนำมาซึ่งความ “ฉิบหาย” ของชีวิตได้เหมือนกัน ดังนั้นการมีสติจึงเหมือนการติดเซฟทีคัทให้กับใจของเรา

สองสามปีหลังมานี้การเจริญสติของผมได้รับคำแนะนำจาก “มิตรสหาย” หลายท่าน หนึ่งในคำแนะนำของกัลยาณมิตรเหล่านี้ก็คือ การสวดมนต์ไหว้พระให้เป็นกิจวัตร การเข้าวัดฟังธรรมหรือการหัดนั่งสมาธิเพื่อดูสติตัวเองซึ่งบ่อยครั้งผมมักจะ “หลับสมาธิ” ไปเลยก็มี

คำแนะนำต่างๆเหล่านี้ผมคิดว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตนะครับ นอกจากนี้การหัดบริหารสติด้วยการ “ดูจิต” ตัวเองตลอดเวลา ประมาณว่ารู้ว่าตอนนี้ “สุข” อยู่ “เจ็บ” อยู่ “เสียใจ” อยู่ “โกรธ” อยู่ “โมโห” อยู่ หรือ “ฟุ้งซ่าน” อยู่ ก็ทำให้รู้สึกว่าเรา “นิ่ง” ขึ้นบ้างแม้จะไม่ได้นิ่งอยู่ตลอดเวลาก็ตาม

สิ่งต่างๆเหล่านี้ผมคิดว่าเราควรจะเรียนรู้ที่จะบริหารอารมณ์หรือดูจิตตัวเองนะครับ เพราะความสุขที่แท้จริงของการใช้ชีวิตนั้นคือ “ความสงบร่มเย็น” สงบในที่นี้ไม่จำเป็นต้องอยู่แบบเงียบๆคนเดียวหรอกครับ แต่สงบน่าจะหมายถึงการที่เราพยายามไม่ “ยึดติด” อะไรมากจนเกินไปนักในชีวิต สงบในที่นี้อาจจะรวมความไปถึงการหัดรู้จัก “ปล่อยวาง”อะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันเป็น “ขื่อคา” ที่เราแบกไว้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่คิดที่จะวางลงเลย

ยิ่งอายุมากขึ้น ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่าการใช้ชีวิตให้มีความสุขนั้นเป็น “ศิลปะ” อย่างหนึ่งครับแต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้หากเราขาดซึ่งความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว บางทีความสุขที่ว่ามานี้มันก็อาจเป็นแค่ความสุขแบบ “เพลิน”ๆ เหมือนที่พระท่านว่าไว้ไงล่ะครับ

Hesse004

Oct 31, 2009

โศกนาฏกรรมของ “เดอะค็อป” (The Kop)





ผลการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ชิพเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างในโลกของ “ทุนวัฒนธรรมกีฬา” ได้ดีนะครับ

สามทีมบิ๊กโฟร์อย่างอาร์เซน่อล เชลซี และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ล้วนแล้วแต่กำชัยกับทีมระดับกลางๆอย่างสเปอร์ โบลตัน และแบล็คเบิรนส์ โรเวอร์ ได้ แต่สำหรับบิ๊กโฟร์ทีมสุดท้ายอย่าง “ลิเวอร์พูล” กลับฝังตัวเองอย่างหมดสภาพคาถิ่นคราเวนคอตเทจ (Craven Cottage) สนามเหย้าของ “เจ้าสัวน้อย” ฟูแล่ม

ถ้าเป็นไปเหมือนพล็อตหนัง การเอาชนะแมนยูได้ในแอนฟิลด์น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของฤดูกาลนี้เลยก็ว่าได้ เพียงแต่ว่าทั้งหมดนี้เป็น “ภาพลวงตา” เท่านั้นเองครับ

ในฐานะแฟนฟุตบอลทีมลิเวอร์พูล ผมว่าทุกคนคิดคล้ายๆกันว่า “หมดเวลา” สำหรับราฟาเอลเบนิเตซแล้ว

อย่างที่ทราบดีนะครับว่า “เดอะค็อป” (The Kop)ทุกคนเป็นกำลังใจให้กับ “เอลราฟา” เสมอมานับตั้งแต่วันที่เขาเหยียบถิ่นเมอร์ซีย์ไซด์ อย่างไรก็ตาม “ราฟา” พิสูจน์ตัวเองได้ดีแล้วว่าเขาไม่เหมาะกับฟุตบอลอังกฤษครับ

คำว่า “ไม่เหมาะ” ไม่ได้แปลว่า “ไม่เก่ง” นะครับ เพียงแต่ว่าสังเวียนแข้งพรีเมียร์ชิพเป็นสังเวียนที่เต็มไปด้วยความคาดหวังของเหล่า “แฟนบอล” และเต็มไปด้วย “ผลประโยชน์” ของนายทุนธุรกิจกีฬา

ทุกวันนี้ฟุตบอลพรีเมียร์ชิพได้กลายเป็นสินค้าออกสำคัญของอังกฤษไปแล้ว การถ่ายทอดสดและลิขสิทธิ์ต่างๆของ “บริการฟุตบอลบันเทิง” ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมภาคบริการที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเหล่านายทุนธุรกิจกีฬาซึ่งสร้างอานิสงค์ให้กับอาชีพนักฟุตบอลด้วย

“ธุรกิจกีฬา” ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ (Linkage) อาทิ ธุรกิจการรับพนันที่ถูกกฎหมาย ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์กีฬา สร้างอาชีพใหม่ๆขึ้นมาอย่างนักวิจารณ์ฟุตบอลนักพากย์ฟุตบอล มิพักต้องเอ่ยถึงการทำธุรกิจขายของที่ระลึกตั้งแต่เสื้อบอล ผ้าพันคอ สติ๊กเกอร์ พวงกุญแจ ซึ่งทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ทั้งหมดมาจาก “แฟนฟุตบอล” หรือ ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการบ้างหรือไม่เป็นทางการ (บางนัด) บ้าง

ด้วยกระแสของ “โลกาภิวัตน์” ทางฟุตบอลทำให้เราได้เห็นนักเตะต่างชาตินับร้อยรายต่างพาเหรดมาอ้วงแข้งกันในสังเวียนพรีเมียร์ชิพในทุกฤดูกาล อย่างเมื่อวานนี้ถ้าเราสังเกตให้ดีว่าทีมลิเวอร์พูลมีนักเตะอังกฤษแท้ๆคนเดียว คือ กัปตันคาราเกอร์ นอกนั้นลิเวอร์พูลเต็มไปด้วยนักเตะต่างแดนไล่ตั้งแต่ สเปน อาร์เจนติน่า บราซิล ดัตช์ กรีซ อิสราเอล นอร์เวย์ ยูเครน เป็นต้น เช่นเดียวกับผู้จัดการทีมที่เป็น “สแปนยาร์ด” (Spaniard)

โลกาภิวัตน์ฟุตบอล (Football Globalization) ทำให้เกิดกลุ่มนายทุนจากแดนไกลสนใจในธุรกิจฟุตบอลบันเทิงในเวทีพรีเมียร์ชิพ ด้วยการเชื้อเชิญของผู้จัดการแข่งขันทำให้ทุกวันนี้สโมสรฟุตบอลต่างๆในพรีเมียร์ชิพต่างเป็นที่หมายปองของเหล่านายทุนทั้งหลายไม่เว้นแม้แต่นายทุนจีน

การสถาปนา “สี่ทีมบิ๊กโฟร์” เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้ “ฟุตบอลบันเทิง” ในเวทีพรีเมียร์ชิพนั้นมีความน่าติดตามชม ทำนองเดียวกันที่สี่ทีมบิ๊กโฟร์พยายามจะไปอวดแข้งในเวทียุโรปซึ่งมีโปรโมเตอร์รายใหญ่อย่าง “ยูฟ่า” ที่สร้างทัวร์นาเมนต์ “ยูฟ่าแชมป์เปี้ยนส์ลีก”ขึ้นมาเพื่อดึงคอบอลจากทั่วโลกให้มาสนใจกับ “ลีกสูงสุด” ของยุโรป ราวกับว่าเป็นการประลองยอดฝีเท้าจากทั่วแผ่นดินยุโรป

สำหรับลิเวอร์พูลแล้ว การปรับตัวในเวทีฟุตบอลและเวทีธุรกิจฟุตบอลนับว่า “ช้า” กว่าทีมบิ๊กโฟร์อื่นๆนะครับ

“แมนยู” กลายเป็นโกลบอลแบรนด์ของฟุตบอลอาชีพไปแล้ว “เชลซี”ได้อับราโมวิชและผู้จัดการทีมมืออาชีพดีๆมี “กึ๋น” ถึงมาสร้างทีมให้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ “อาร์เซน่อล” ก็เอาดีด้วยการพัฒนาทีมเยาวชนของตนเองจนประสบความสำเร็จในทางธุรกิจฟุตบอลภายใต้การทำบอลสไตล์ “เวงเกอร์เลี่ยน” ที่เล่นบอลสวยงามเพลินตา

แต่ “ลิเวอร์พูล” กลับก้าวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกฟุตบอลสมัยใหม่ที่ว่ากันว่า “ทุน” คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทีมประสบผลสำเร็จได้ (หากรู้จักใช้ทุนนั้นให้เป็นประโยชน์) บวกกับความเป็น “มืออาชีพ” ของผู้จัดการทีมที่เข้าใจถึงลักษณะของฟุตบอลอังกฤษและฟุตบอลยุโรปที่นับวันดูจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูเหมือน “ราฟาเอล เบนิเตซ” จะด้อยกว่าทั้ง เฟอร์กี้ เวงเกอร์ และอันเชลลอตติ การอ้างว่าตัวผู้เล่นต้องไปรับใช้ทีมชาติไม่ควรเป็นเหตุผลอีกต่อไปเพราะทุกทีมก็เผชิญปัญหาเดียวกัน การอ้างว่าตัวผู้เล่นบาดเจ็บก็ไม่ใช่เหตุผลอีกเช่นกันเพราะฟุตบอลสมัยใหม่เป็นฟุตบอลที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะบาดเจ็บสูง ดังนั้น การหาผู้เล่นสำรองที่ดีพอจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการทีม และยิ่งไปกว่านั้นราฟาไม่ค่อยให้โอกาสกับ “เด็ก” ท้องถิ่นจากทีมอคาเดมี่สักเท่าไรซึ่งตรงนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่าราฟาไม่เชื่อมั่นในทีมเยาวชนของตัวเองซึ่งต่างจากเวงเกอร์หรือเฟอร์กี้อย่างชัดเจน

“ราฟาเอล เบนิเตซ” เป็นกุนซือที่มากด้วย “แทคติค” ครับแต่บางครั้งแทคติคของเขากลับทำให้นักเตะสับสนเล่นไม่เป็นไปตามธรรมชาติของฟุตบอลที่ควรจะเป็นนั่นคือ “เล่นฟุตบอลด้วยความรู้สึก” และกระหายที่จะชนะมากกว่าจะคำนึงถึงผลการแข่งขันหรือแมตช์การแข่งขันที่ยังมาไม่ถึง

บางทีวันพุธที่จะถึงนี้อาจเป็น “วันพิพากษา” ราฟาเอล เบนิเตซ อย่างแท้จริง เพราะหากทีมไม่สามารถเก็บชัยชนะจากโอลิมปิค ลียง (Olympique Lyonnais) ที่สนามสต๊าด เกอร์แลนด์ (Stade Gerland) ได้นั่นหมายถึงว่า “รายได้ก้อนโต” จากการผ่านเข้ารอบต่อไปในฟุตบอลยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีก ก็จะหายไป พร้อมๆกับโอกาสที่จะกลับมาเป็นหนึ่งในสี่เหมือนฤดูกาลที่แล้วๆมานั้นก็จะลดลงไปอีก เนื่องจากมีทีมที่พร้อมจะสอดแทรกขึ้นมาอย่าง แมนเชสเตอร์ซิตี้ สเปอร์ หรือแอสตันวิลล่า

ท้ายที่สุด "ปัญหาหนี้สิน"ของสโมสรที่สองเจ้าของสโมสรทุ่มเงินให้ราฟาซื้อตัวผู้เล่นตามแผนการทำทีมก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจทำให้สโมสรล้มละลายได้ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าลิเวอร์พูลอาจต้องขายสตาร์ดังๆอย่าง เจอร์ราด ตอร์เรส หรือเบนายูน

ทั้งหมดนี้ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหากวันนั้นมาถึงจริงๆมันคงเป็น “โศกนาฏกรรม” ในวงการฟุตบอลครั้งใหญ่ที่ทำให้เดอะค็อปหลายชีวิตต้องเสียน้ำตากับทีมที่ตัวเองรักเพราะนอกจากจะพ่ายแพ้ในเกมฟุตบอลแล้วลิเวอร์พูลอาจจะพ่ายแพ้ในโลกธุรกิจฟุตบอลอีกด้วย

ถึงวันนั้นชื่อของลิเวอร์พูลอาจจะหล่นหายไปอยู่เดอะแชมเปี้ยนชิพเช่นเดียวกับสโมสรยักษ์ใหญ่ที่พ่ายแพ้ในโลกธุรกิจฟุตบอลอย่าง นิวคาสเซิล หรือ นอตติ้งแฮม ฟอร์เรสต์ หรือหากแย่กว่านั้นอาจลงไปอยู่ลีกวันเฉกเช่นเดียวกับ “ลีดส์ ยูไนเต็ด” ก็เป็นได้นะครับ

Hesse004

Oct 24, 2009

“รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ” เสรีภาพที่จะเลือกรัก





ว่ากันว่าผู้หญิงที่เข้าใกล้ “เลขสาม” มักจะกลัวเรื่องการไม่มีคู่ครอง จนมีเพลงลูกทุ่งร้องแซวอย่าง “สามสิบยังแจ๋ว” ของคุณยอดรัก สลักใจ ที่ร้องไว้จนกลายเป็นเพลงอมตะไปแล้ว

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว โดยส่วนตัวผมกลับไม่คิดอย่างนั้นนะครับ ผมว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่าง “กังวล” เรื่องของการไม่มีคู่ครองด้วยกันทุกคนเพียงแต่ว่าใครจะกังวลมากหรือน้อยกว่ากัน

เพื่อนผู้หญิงผมหลายคนไม่ค่อยจะ “ยี่หระ” เกี่ยวกับเรื่องนี้สักเท่าไรนักพอๆกับเพื่อนผู้ชายที่ยังอาลัยอาวรณ์กับชีวิต “โสด”อยู่

จริงๆแล้วโลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากนะครับ โดยสภาพสังคมเปิดที่ทำให้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชายนั้นค่อยๆน้อยลงไป วิธีคิดประเภทผู้ชายต้องเป็น “ช้างเท้าหน้า” ก็ดูจะเป็นเรื่อง “ล้าสมัย” ไปเสียแล้ว

ด้วยเหตุนี้เองประเด็นในการเลือกคู่ครองของผู้หญิงสมัยใหม่จึงอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า “ชั้นก็น่าจะสิทธิ์เลือกผู้ชาย” ได้เหมือนกัน

ภาพยนตร์เรื่อง “รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ” หรือ BTS love story (Bangkok’s Traffic Love Story) ก็พยายามสื่อให้เห็นถึงวิธีคิดของหญิงไทยในปัจจุบัน ที่ว่าพวกหล่อนเองก็ควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ชีวิตได้เหมือนกัน

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับเรื่องที่สองของ “คุณปิ๊ง” อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ครับ หลังจากที่เคยฝากผลงานไว้ในเรื่องหมากเตะโลกตะลึง (2549)

หนังเรื่องนี้ได้คุณเคน ธีรเดช วงศ์พัวพัน และคุณคริส หอวัง มารับบทนำในเรื่องครับ

ตามธรรมเนียมเดิมนะครับ ผมขออนุญาตไม่เล่าเนื้อหาสำคัญของหนังเรื่องนี้ เพียงแต่อยากเขียนถึงข้อสังเกตที่มีต่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “เสรีภาพที่จะเลือกรัก”

ทั้งนี้ผมแอบตั้งข้อสังเกตถึงการทำหนังของกลุ่มหกหนุ่มผู้กำกับจากแฟนฉัน (2546) ว่าพวกเขาพยายามไล่ซีเควนส์ (Sequence) การสร้างหนังตามช่วงเวลาสำคัญๆของชีวิต

ทั้งหกเริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” อันเป็นการหวนรำลึกถึงอดีต (Nostalgia) ของเด็กยุค “มานีมานะปิติชูใจ” ซึ่งปัจจุบันเด็กรุ่นนี้น่าจะมีอายุระหว่างยี่สิบปลายๆไปจนกระทั่งสามสิบกลางๆครับ

หลังจากนั้นทั้งหกคนได้แยกออกมาทำหนังเดี่ยวซึ่ง “คุณเอส” คมกฤษ ตรีวิมล เล่าเรื่องความรักของเด็กมหาวิทยาลัยในหนังเรื่องเพื่อนสนิท (2548) ต่อมา “คุณต้น” นิธิวัฒน์ ธราธร ย้อนอดีตความรักของเด็กมัธยมปลายกับการตามหาความฝันทางดนตรีใน Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549) ขณะเดียวกัน “คุณย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ ได้เสนอเรื่องราวชีวิตเด็ก ม.ต้น ในหนังเรื่องเด็กหอ (2549) ผ่านมิตรภาพระหว่างคนกับผี

จะเห็นได้ว่าหนังทั้งสามเรื่องที่เหล่าผู้กำกับจากแฟนฉันแยกตัวออกมากำกับเองนั้นมีซีเควนส์หรือลำดับเวลาของการใช้ชีวิตซึ่งคนรุ่นหนึ่งสามารถเข้าถึงและสัมผัสความรู้สึกเดียวกับที่ตัวละครพบเจอได้

ในทำนองเดียวกันกับ “รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ” ที่คุณปิ๊งนำเสนอนั้นก็เป็นฉากตอนที่คนรุ่นนี้เติบโตขึ้นและเริ่มเข้าสู่วัย “เลือกคู่ครอง” แล้วโดยคุณปิ๊งเลือกที่จะเล่าเรื่องของ “เหมยลี่” สาววัยสามสิบที่กำลังเฝ้ารอผู้ชายดีๆสักคนเข้ามาเป็นคู่ชีวิต

จะว่าไปแล้วหนังเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับหนังเกาหลีอารมณ์ดีอย่าง I Wish I Had a Wife (2001) ผลงานกำกับของปาร์ค ซุง ชิค (Park Heung-shik) ที่ว่าด้วยเรื่องชายโสดวัยสามสิบที่อยากจะแต่งงานมีชีวิตครอบครัวหลังจากเห็นเพื่อนฝูงเป็นฝั่งเป็นฝาไปหมดแล้ว

น่าสนใจนะครับว่าการมี “ชีวิตคู่”นั้นเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตเลยทีเดียว เป้าหมายที่ว่านี้อาจจะแฝงไปด้วยปรัชญาเรื่องการดำรงอยู่และสืบต่อเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ซึ่งทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตัวเองเป็น “อมตะ” อยู่ตลอดเวลาเพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีลูกหลานธำรงสกุลตัวเองไว้

ทั้งนี้หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว การมีชีวิตคู่หรือ “การแต่งงาน” นั้นเปรียบเสมือนเป็นผลผลิตของการบริโภคสินค้าที่เรียกว่า “รัก” ครับ

เหมือนที่ผมเคยเขียนไปหลายครั้งแล้วว่าถ้าเราเอาวิธีคิดของนักเศรษฐศาสตร์มาอธิบายความรักของมนุษย์นั้น นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักจะหยิบเรื่อง “ตลาด” ซึ่งมีผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้ามาเป็นเครื่องมืออธิบาย

แน่นอนครับว่าการที่เราจะบริโภคสินค้าอะไรสักอย่างหนึ่งนั้นเราต้องมี “เสรีภาพ”ในการที่จะเลือกบริโภคก่อน (Free to Choose) ซึ่งสินค้าที่เรียกว่า “รัก” ก็เช่นเดียวกันควรเป็นสินค้าที่มาจาก “ความเต็มใจ”ที่จะบริโภคและผลิตของคนสองคนก่อน

การที่คนสองคนจะมาลงเอยเป็น “คู่รัก” หรือเป็น “แฟน” กันนั้นส่วนหนึ่งมันเกิดจาก “กลไกตลาดรัก” ทำงานแล้วประสบผลสำเร็จครับ เพียงแต่ว่าเวลาที่คนมันเลิกรา ร้างรักกันไปแล้วส่วนหนึ่งก็ต้องโทษว่าไอ้กลไกตัวนี้มันล้มเหลวเหมือนที่กลไกตลาดล้มเหลว (Market Failure) จนไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นอธิบายเหตุของกลไกตลาดล้มเหลวไว้หลายประการนะครับ แต่สาเหตุประการหนึ่งที่น่าจะอธิบายเรื่อง “การล้มเหลวของกลไกตลาดรัก” ได้ดีที่สุดคือเรื่องความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร (Asymmetric Information)

ใช่แล้วครับ ระหว่างที่รักกันเป็นแฟนกันนั้น เรามักจะปกปิดเรื่องไม่ใคร่จะดีของตัวเองไว้และมาเปิดเผยทีหลังก็เมื่อ “ลงเอย” เป็นคู่ผัวตัวเมียกันแล้ว อย่างที่เพื่อนสนิทคนหนึ่งบอกกับผมว่า “อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น หลังจากแต่งงานกันแล้ว”

ผมว่าหลายคู่ตัดสินใจหย่าร้างกันก็เพราะการที่ต่างฝ่ายต่างไม่เปิดเผยความเป็นตัวตนที่แท้จริงให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้จึงทำให้การตัดสินใจที่จะเลือกบริโภคสินค้ารักหรือลงเอยด้วยการใช้ชีวิตคู่นั้นผิดไป เข้าทำนองปัญหาทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง “เลือกผิดคน” หรือ “เลือกคนผิด” (Adverse Selection) ครับ

จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่กำลังมีความรักหรือกำลังค้นหาความรักอยู่นะครับ เพราะอย่างน้อยมันแสดงให้เห็นถึง “เสรีภาพ”ของหญิงชายยุคนี้ที่เลือกจะรักใครด้วยตัวของตัวเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเกิดปัญหา Adverse Selection ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หรือเปล่านั้นก็สุดแล้วแต่คนที่เลือกนะครับ

Hesse004

Oct 19, 2009

จาก Conflict of Interest สู่การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย





ในการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ครั้งที่ 5 ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาในงานดังกล่าวด้วยครับ สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ก็เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และเปิดโอกาสให้เหล่านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันต่างๆเสนอผลงานทางวิชาการที่ตนเองสนใจ ทั้งนี้ทางผู้จัดได้แบ่งกลุ่มสาขาเศรษฐศาสตร์ออกเป็นหลายแขนง โดยส่วนตัวผมเองสนใจที่จะเข้าฟังใน “กลุ่มเศรษฐศาสตร์สถาบันและธรรมภิบาล” ครับ ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับ “การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย”

สำหรับหัวข้อที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายนั้น ผู้นำเสนอเป็นอาจารย์และศิษย์จากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุลและคุณต่อภัสสร์ ยมนาค โดยหัวข้อที่ทั้งสองท่านนำเสนอในวันนั้น คือ “ข้อสังเกตบางประการสำหรับลักษณะและความหมายของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ครับ

อย่างที่ทราบนะครับว่าช่วงระหว่างที่รัฐบาลของคุณทักษิณบริหารประเทศนั้นมีข้อสังเกตรวมไปถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ “การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” อยู่หลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้านละล้าน, นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค, การเซ็นสัญญา FTA ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย, การให้ EXIM BANK อนุมัติเงินกู้ให้รัฐบาลพม่า หรือ การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ในธุรกิจโทรคมนาคม เป็นต้น

ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาเราจะคุ้นชินกับการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองขี้โกง ข้าราชการขี้ฉ้อผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเป็นหลัก จนอาจกล่าวได้ว่า ส.ส. ไปจนกระทั่งรัฐมนตรีนั้นส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับการทำธุรกิจกับรัฐด้วยกันทั้งนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง”ครับ

อย่างไรก็ตามในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณได้เกิดกลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาแทนที่กลุ่มทุนเดิมที่เคยหากินอยู่กับการผูกขาดงานประมูลต่างๆของรัฐ โดยกลุ่มทุนใหม่ที่ว่านี้มาพร้อมกับความพยายามที่จะผลักดันนโยบายต่างๆผ่านทางฝ่ายบริหารและพยายามจัดวาง “สมดุลแห่งผลประโยชน์” (Balance of Benefit) ระหว่างผลประโยชน์ของกลุ่มทุนตัวเองกับผลประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ครั้งหนึ่งคุณทักษิณเคยกล่าวในทำนองว่า “การบริหารประเทศก็เหมือนกับการบริหารบริษัท”

จริงๆแล้วการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย (Policy Corruption or Structural Corruption) นั้นยังไม่มีนักวิชาการท่านใดออกมาให้คำจำกัดความที่ชัดเจนมากเท่าไรนะครับ อย่างไรก็ตามในทัศนะของศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร มองว่าการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายนั้นเป็นการทุจริตที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เกิดจากฝ่ายการเมืองตัดสินใจโครงการหรือดำเนินมาตรการใดๆแล้วส่งผลต่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องโดยไม่อาจเอาผิดทางกฎหมายได้ ซึ่งท่านอาจารย์ผาสุกมองว่าการคอร์รัปชั่นประเภทนี้เกิดขึ้นจากการทับซ้อนของผลประโยชน์ หรือ Conflict of Interest นั่นเองครับ

ในงานวิจัยของอาจารย์นพนันท์และคุณต่อภัสสร์ได้พยายามหยิบชุดความคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์สถาบันและแนวคิดทางรัฐศาสตร์มาอธิบายเรื่องคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งชุดความเหล่านี้ประกอบไปด้วยเรื่องหน่วยงานราชการสมัยใหม่ (Public Office), เรื่องผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interest), เรื่องกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups), เรื่องการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic rent seeking) และเรื่องการคอร์รัปชั่นทางการเมือง (Political Corruption)

จะว่าไปแล้วแนวทางการศึกษาและอธิบาย “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” (Economics of Corruption) นั้นสามารถอธิบายได้อย่างน้อยสองแนวทางนะครับ

แนวทางแรกนั้นเป็นแนวทางที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหยิบหลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคเรื่องทฤษฎีนาย-บ่าว (Principal-Agent Theory) มาอธิบายและยังพัฒนาไปสู่การหาระดับการคอร์รัปชั่นที่เหมาะสมในสังคมรวมไปถึงการคำนวณต้นทุนในการควบคุมการคอร์รัปชั่น ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่าการคอร์รัปชั่นนั้นเปรียบเสมือน “มลภาวะ” ที่ไม่มีวันจะทำให้หมดไปได้เพียงแต่จะหาระดับที่เหมาะสมและควบคุมมันไว้ได้อย่างไร

นอกจากนี้ชุดความคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอีกชุดหนึ่งได้พยายามหาสาเหตุ (Causes) หรือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นรวมไปถึงการคำนวณถึงผลกระทบ (Consequences) จากการคอร์รัปชั่นซึ่งงานส่วนใหญ่ศึกษาโดยนักเศรษฐศาสตร์คอร์รัปชั่นสายมหภาคที่มีความชำนาญในการสร้างโมเดลประมาณการผลกระทบของการคอร์รัปชั่น

ขณะเดียวกันแนวทางการศึกษาคอร์รัปชั่นแนวทางที่สองนั้นเป็นแนวทางของนักเศรษฐศาสตร์ที่มักเรียกตัวเองว่า “กระแสรอง” ครับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสำนักคิดเศรษฐศาสตร์สถาบัน (Institutional Economics) และสำนักคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) โดยในเมืองไทยนั้น กลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบันมีฐานที่มั่นอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (สำนักท่าพระจันทร์) ส่วนกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมีฐานที่มั่นอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา (สำนักสามย่าน)

ทั้งนี้แนวทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของสำนักสามย่านนั้นพยายามหาหลักเกณฑ์ในการจำแนกลักษณะของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายโดยพิจารณาจากเรื่องความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมหรือ Conflict of Interest เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็ยังยึดโยงกับเรื่องการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic rent seeking) ที่เป็นฐานคิดดั้งเดิมของการศึกษาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่นซึ่งนำโดยนักเศรษฐศาสตร์หญิงอย่าง แอน โอ ครูเกอร์ (Ann O. Kruger)

นอกจากนี้เกณฑ์ในการจำแนกลักษณะการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายยังมองไปที่เรื่องของการใช้กระบวนการทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรม (Political legitimacy) ซึ่งเกณฑ์ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจได้ชัดเจนว่า “ทำไมนักธุรกิจส่วนใหญ่จึงต้องลงมาเล่นการเมือง”

อย่างไรก็ตามการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายยังต้องพิจารณาถึงการกระจายตัวของผู้รับประโยชน์ (Rent Diversification) อีกด้วยครับ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายไม่ได้เป็นการ “ขโมย” เงินเข้ากระเป๋าใครคนใดคนหนึ่งเพียงอย่างเดียว หากแต่มันได้กระจายผลประโยชน์ไปยังกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งลักษณะนี้เองที่ทำให้เราสามารถเข้าใจได้อีกเช่นกันว่า “ทำไมชาวบ้านส่วนใหญ่ถึงเสพติดกับนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณ”

สุดท้ายการพิจารณาหลักเกณฑ์การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายนั้นเราอาจจะต้องดูการสร้างขึ้นหรือการรักษาไว้ซึ่งค่าเช่าทางเศรษฐกิจครับ ซึ่งตรงนี้ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้รัฐบาลประชานิยมทั้งหลายพยายามครองอำนาจให้ได้นานที่สุด

จะว่าไปแล้วการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายนั้นมีพัฒนาการมาจาก Conflict of Interest ครับ ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องคอร์รัปชั่นมองคล้ายๆกันว่าการคอร์รัปชั่นทุกกรณีเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เองการป้องกันและควบคุมการคอร์รัปชั่นได้ดีที่สุด คือ การแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม

งานวิจัยชิ้นนี้สรุปไว้น่าสนใจว่ารูปแบบการทุจริตของสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามความเหลื่อมล้ำและความก้าวหน้าของสังคมครับ

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสองท่านจากสำนักสามย่านมองว่าหากระดับความเหลื่อมล้ำในสังคมมีน้อยขณะที่ระดับความก้าวหน้าของสังคมก็ยังพัฒนาไปไม่มากเท่าไร การคอร์รัปชั่นก็ยังเป็นเพียงแค่การยักยอกเงินหลวง ติดสินบนเจ้าหน้าที่ หรือเอาทรัพย์สินของหลวงไปใช้ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้เป็นเพียงการคอร์รัปชั่นระดับเล็กๆหรือ Petty Corruption ครับ

และแม้ว่าสังคมยังไม่พัฒนาไปมากนักแต่ปรากฏว่าเกิดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น รูปแบบการทุจริตก็จะเปลี่ยนไป เช่น เริ่มมีการจับจองสัมปทานให้กับตัวเองและพวกพ้อง มีการฮั้วประมูลงานหลวง เกิดการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือใช้อิทธิพลข่มขู่ เป็นต้น ซึ่งการคอร์รัปชั่นรูปแบบนี้เริ่มแพร่หลายในยุคที่สังคมไทยเต็มไปด้วยมาเฟียหรือเจ้าพ่อท้องถิ่นครองเมือง

อย่างไรก็ตามหากสังคมก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่ทันสมัยแล้วแต่ยังมีระดับความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมอยู่มาก รูปแบบการคอร์รัปชั่นก็จะเริ่มเข้าสู่การแสวงหาประโยชน์จากการใช้ข้อมูลภายใน (Insider) เช่น รู้ว่าจะตัดถนนเส้นไหนก็จะรีบไปกว้านซื้อที่ไว้เก็งกำไร, มีการบิดเบือนกฎระเบียบของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง เช่น แก้ไขกฎหมายบางอย่างเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงภาษีที่ควรจะต้องจ่ายให้รัฐ, มีการยักย้ายถ่ายเทฟอกเงินอย่างสลับซ้อน รวมไปถึงเกิดองค์กรอาชญากรรมขึ้นมาควบคุมดูแลจัดสรรผลประโยชน์จากการคอร์รัปชั่น เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมองว่ารูปแบบการทุจริตลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้นะครับโดยเฉพาะเมื่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่รวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองและอาศัยกติกาที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” เข้ามาในตลาดการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเองตลอดจนสร้างสมดุลแห่งผลประโยชน์ใหม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งทางการเมือง

และท้ายที่สุดหากสังคมที่พัฒนาทันสมัยมากขึ้นและมีระดับความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมลดลงแล้ว การคอร์รัปชั่นก็จะเป็นไปในรูปแบบของการแข่งขันนโยบายที่หวังผลทางการเมืองเป็นหลัก ซึ่งการคอร์รัปชั่นในลักษณะนี้เราจะพบได้ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรป อเมริกา หรือ ญี่ปุ่น เป็นต้นครับ

ในฐานะที่ผมสนใจเรื่องการคอร์รัปชั่นแต่ไม่คิดที่จะเอาดีด้วยการคอร์รัปชั่น ผมคิดว่าแนวทางการอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสองจากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬานั้นน่าจะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ “ทักษิณกินเมือง” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ดีนะครับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมว่าการที่เราจะใช้ “วิชา” เพื่อกำจัด “อวิชชา” หรือความไม่รู้ทั้งปวงได้นั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการไม่มีอคติกับใครคนใดคนหนึ่งนะครับ

Hesse004

Oct 12, 2009

Que Sera, Sera กับ นิทานหิ่งห้อยของเฉลียง





ไม่กี่วันมานี้มีโฆษณาในเมืองไทยอย่างน้อยสองชิ้นที่ได้รับการกล่าวถึงในทางชื่นชม โฆษณาชิ้นแรกเป็นโฆษณาเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งที่เปิดตัวคุณเพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกที่เป็น “ตำนานอมตะ”ขวัญใจแฟนภาพยนตร์ไทย

สำหรับโฆษณาอีกชิ้นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมาก คือ โฆษณาของบริษัทประกันชีวิตชื่อดังที่มักจะออกสปอตโฆษณากินใจผู้ชมจนน้ำหูน้ำตาไหลกันมาแล้ว และโฆษณาชิ้นล่าสุดนี้ก็ไม่ได้ทำให้แฟนคอหนังโฆษณาผิดหวังเนื่องจากหลังสปอตตัวนี้ถูกยิงออกมาทำให้หลายคนถึงกับ “อึ้ง” ไปตามๆกัน

การสร้างสรรค์งานโฆษณาที่สามารถสร้าง “อารมณ์ร่วม” ให้กับผู้ชมได้นั้นนับเป็นความสุดยอดของเหล่าครีเอทีฟก็ว่าได้นะครับ

โฆษณาของบริษัทประกันชีวิตชิ้นนี้มีชื่อว่า “Que Sera Sera” ครับ โดยงานชิ้นนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์ของบริษัทสุดยอดโฆษณาแห่งยุคอย่าง Ogilvy & Mather Advertising (Thailand)

ความพิเศษของโฆษณาชิ้นนี้อยู่ที่การนำเด็กๆกว่า 30 คนมาร่วมกันร้องเพลง Que Sera Sera (Whatever will be, will be) อย่างไรก็ตามเด็กในโฆษณาชิ้นนี้เป็นเด็กพิเศษที่เกิดมามีอวัยวะไม่ครบสามสิบสองเหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็กเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เรารู้สึก “ซึ้งและสะเทือนใจ”

ไม่น่าเชื่อว่าเวลาเพียงสองนาทีของโฆษณาชิ้นนี้จะทำให้ใครหลายคนน้ำตาไหลได้โดยไม่รู้ตัว นับว่างานชิ้นนี้มีพลังอย่างมากนะครับ

น่าสนใจว่าทีมครีเอทีฟของงานชิ้นนี้เลือกเพลง Que Sera Sera (Whatever will be, will be) มาใช้ตีม (Theme) หลักของเรื่องแม้ว่าเนื้อหาของเพลงนี้จะดูเรียบง่ายแต่ก็แฝงไปด้วย “ปรัชญา” ที่ลึกซึ้ง

Que Sera Sera Que Sera Sera (Whatever will be, will be) เป็นผลงานการทำดนตรีของเจย์ ลิฟวิงสตั้น (Jay Livingston) ส่วนเนื้อเพลงนั้นได้ เรย์ อีแวนส์ (Ray Evans) มาช่วยเขียนให้

เพลงๆนี้ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1956 ครับโดยฉบับออริจินัลนั้นได้นักร้องสาวนามว่า ดอริส เดย์ (Doris Day) มาเป็นผู้ขับร้องในฉากภาพยนตร์คลาสสิคเรื่อง The Man Who know Too Much (1956) ผลงานการกำกับของ“อัลเฟรด ฮิทคอกช์” (Alfred Hitchcock) ยอดผู้กำกับหนังแนวลึกลับสยองขวัญและเพลงนี้เองก็ได้รับรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีอคาเดมี่อวอร์ด (Academy Award) หรือรางวัลออสการ์นั่นเองครับ

กล่าวกันว่า Que Sera Sera Que Sera Sera (Whatever will be, will be) กลายเป็นตำนานเพลงที่อยู่ในกระแสวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) ของศตวรรษที่ 20 มีการนำไปโคเวอร์ใหม่หลายเวอร์ชั่น หลายภาษา และเมื่อพูดถึงภาษาแล้วมีคำถามว่าเพลงนี้เป็นเพลงภาษาใดกันแน่ เพราะมีทั้งฝรั่งเศส อิตาเลียน โปรตุกีส หรือ สเปน แต่ท้ายที่สุดเพลงนี้เป็นภาษาอังกฤษที่มีคนแต่งเพลงเป็นชาวอเมริกันครับ

จะว่าไปแล้วเพลงๆนี้เป็นเพลงที่มีเนื้อหาแบบเด็กๆแต่สามารถสอนใจผู้ใหญ่ให้รู้จักการมองโลกว่า “โลกนี้มันไม่มีอะไรแน่นอนหรอก” บางทีไอ้ที่เราวาดหวังไว้มันอาจไม่ได้ดั่งหวังก็ได้ เพราะอนาคตคือสิ่งที่มองไม่เห็น (The future's not ours, to see) ดังนั้น “อะไรจะเกิดก็ให้ปล่อยมันเกิด” (Whatever will be, will be)

โดยส่วนตัวผมมองว่าเพลงนี้นอกจากจะสอนเด็กได้แล้วก็ยังเป็นเครื่องเตือนสติ “ผู้ใหญ่” ได้เหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะเราๆที่เป็นผู้ใหญ่มักจะไม่ค่อย whatever will be, will be กันสักเท่าไร ซึ่งหากอธิบายตามหลักพุทธศาสนาแล้วไอ้เจ้า whatever will be, will be นี่ก็คือ การปลดปลง ปล่อยวางนั่นเอง

เขียนถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงเพลงไทยเพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาแบบเด็กๆแต่สามารถสอนใจผู้ได้อย่างเพลง “นิทานหิ่งห้อย” ของวงเฉลียงไงล่ะครับ

เพลงนิทานหิ่งห้อย อยู่ในอัลบั้มเอกเขนก (2530) ของเฉลียงโดยได้คุณประภาส ชลศรานนท์ มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับอัลบั้มชุดนี้

“นิทานหิ่งห้อย” พูดถึงการสอนเด็กให้เข้าใจว่า “ความงามที่แท้จริง” คืออะไร และถ้าท่านผู้อ่านจับวรรคทองของเพลงนี้ได้ก็คงพอจะเข้าใจว่าคนเขียนเพลงนี้ต้องการสื่อสารอะไรกับคนฟัง

“อย่าขังความจริงที่เห็น อย่าขังความงาม” เป็นหัวใจของเพลงนี้เลยก็ว่าได้นะครับ เพราะหากเรายอมรับความจริงได้แล้ว ความงดงามที่มีอยู่ย่อมปรากฏ

โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าธรรมชาติได้มอบความงามมาให้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะมองมันที่มุมไหนเท่านั้นเอง

จริงๆแล้วโลกของผู้ใหญ่กับโลกของเด็กนั้นต่างกันที่ช่วงอายุห่างกัน ขณะเดียวกันมุมมองและประสบการณ์ชีวิตก็เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็น “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” แม้ว่าวัยผู้ใหญ่จะเต็มไปด้วยประสบการณ์ ความลึกซึ้ง มุมมองต่อการใช้ชีวิตเพราะอาบน้ำร้อนมาก่อน
แต่สิ่งที่วัยผู้ใหญ่อย่างเราๆขาดหายไป คือ “ความฝันและจินตนาการ” ขณะที่วัยเด็ก คือ วัยที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะถูกพรากไปตามวันเวลาที่เติบโตขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่คนไหนจะยังหลงเหลือความเป็นเด็กมากน้อยแค่ไหน

ท้ายที่สุดผมคิดว่าแม้ว่าเราจะเติบใหญ่ ผ่านร้อนผ่านฝนมาหลายฤดูแล้ว เอาเข้าจริงๆบางครั้งเราอาจจะยังไม่เข้าใจว่า “โลก” และ “ชีวิต” มากพอว่ามันคืออะไร แต่เอ! หรือว่าต้องให้เด็กๆมาสอนเราร้องเพลงQue Sera, Sera กับ นิทานหิ่งห้อยหรือเปล่าล่ะครับ

Hesse004

Sep 28, 2009

คอร์รัปชั่นในภาษาต่างๆ





ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่าจริงๆแล้ว “Corruption” ในภาษาอังกฤษนั้นมีความหมายหลายอย่างนะครับ Corruption ยังสามารถแปลว่า “เน่าเปื่อย ผุพัง” ก็ได้ครับอย่างไรก็ตาม “คอร์รัปชั่น” ในความเข้าใจของเราก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการทุจริตฉ้อฉล ครับ ด้วยเหตุนี้เองผมจึงมีความอยากรู้เกี่ยวกับคำว่า “คอร์รัปชั่น” ในภาษาต่างๆว่าเขาอ่านและเขียนคำๆนี้ว่าอย่างไรกันบ้าง

เริ่มจาก “ภาษาไทย”ใกล้ตัวเราก่อนแล้วกันนะครับ ภาษาไทยของเราเรียกการคอร์รัปชั่นว่า “การทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ” ชื่อคอร์รัปชั่นในภาษาของเราดูเป็นทางการและเห็นภาพทั้งในแง่การกระทำและผู้กระทำผิด ทั้งนี้ก่อนเราจะใช้คำว่า “ทุจริตประพฤติมิชอบ” นั้นสมัยโบราณพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นถูกเรียกในเชิงประจานว่า “ฉ้อราษฏร์” และ “บังหลวง” ครับ

นอกจากนี้คำต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นของบ้านเรายังมีอีกหลายคำ อาทิ “กิน” ซึ่งก็ยังแยกออกเป็น “กินตามน้ำ” กับ “กินทวนน้ำ” คำว่า “กินตามน้ำ” เนี่ย ชื่อก็บอกแล้วนะครับว่าไม่ต้องออกแรงมากแค่ปล่อยหรือรู้เห็นว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบเกิดขึ้น ขณะที่ “กินทวนน้ำ” นั้นผู้กินต้องออกกำลังมากหน่อยเนื่องจากต้องขัดขวางไม่ให้ใครมาแย่ง “ของกิน” หรือ “ชิ้นเค้ก” ตัวเอง

ขณะเดียวกันคำว่า “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ก็เป็นอีกคำที่เอาไว้ใช้เรียก “เงินสินบน” ครับ ส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินเรื่อง “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” เวลาเราไปติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานราชการทั้งหลายแล้วเราต้องการความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ เราจึงจำเป็นต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้ให้บริการ

จะว่าไปแล้ว “ค่าน้ำร้นน้ำชา” ได้กลายเป็น “เงินพิเศษ” บางวงการเรียก “ค่าคอมมิชชั่น”ครับโดยเฉพาะวงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีงบประมาณมหาศาล ค่าคอมมิชชั่นย่อมสูงตามความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ และหากอยู่ในวงการศึกษาเงินพิเศษเรามักจะเรียกว่า “ค่าแป๊เจี๊ย” ครับ อย่างไรก็ตามการจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา เงินพิเศษ หรือ แป๊เจี๊ย นั้นไม่ต้องออกใบเสร็จรับเงินนะครับ เพราะขืนใครอุตริออกใบเสร็จรับเงินมีอันได้ติดคุกเป็นแน่

ค่าน้ำร้อนน้ำชาเหล่านี้ทำให้ข้าราชการผู้ให้บริการมีความกระตือรือร้นและมีแรงจูงใจในการให้บริการประชาชนมากขึ้น แต่บ่อยครั้งผู้ให้บริการเหล่านี้มักจะรีบร้อนมูมมามกินน้ำร้อนน้ำชาจนโดนน้ำร้อนน้ำชาลวกปากเอาก็มี

คำว่า “สินบน” ในภาษาไทยยังรวมไปถึงคำโบราณอย่าง “ส่วย” ซึ่งเป็นการเก็บรายได้ชนิดหนึ่งของรัฐตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแล้วครับ แต่ปัจจุบัน “ส่วย” ถูกใช้เรียก “รายได้” นอกระบบที่เหล่าเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะ “ตำรวจ” เรียกเก็บจากธุรกิจร้านค้า หาบเร่แผงลอย คนขับรถบรรทุก รวมไปถึงอาบอบนวด แม้ว่าบางครั้งจะพยายามเรียกคำพูดเหล่านี้ให้ดูหรูว่า “ค่าคุ้มครอง” ก็ตาม

โดยทั่วไปแล้วการจ่ายเงินสินบนนั้นจะกระทำกันอย่างลับๆ ครับ จึงทำให้ไม่มีใบเสร็จรับเงิน แต่คนเก็บส่วยจะมี “สมุดจดโพยลูกค้า” ว่าใครที่ยังไม่จ่ายเงินสินบนด้วยเหตุนี้เองเงินสินบนจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เงินใต้โต๊ะ” ครับ แม้ว่าในชีวิตจริงจะไม่มีใครยอมเอาเงินมาจ่ายเป็นสินบนใต้โต๊ะก็ตาม

พฤติกรรมการทุจริตประพฤติมิชอบก็มีชื่อเรียกอีกเช่นกันครับ โดยเฉพาะในวงการรับเหมาก่อสร้างประมูลงานของรัฐนั้น คำว่า “ฮั้ว” ซึ่งเป็นคำจีนแต้จิ๋วนั้นถูกนำมาใช้บ่อยมาก โดยรากศัพท์แล้ว “ฮั้ว” แปลว่า “สามัคคี” ทำนองเดียวกับคำว่า “ลงแขก” ครับ แต่ไปๆมาๆคำว่า “ฮั้ว” กลายพันธุ์เป็นพฤติกรรมที่ผู้รับเหมากับข้าราชการขี้ฉ้อบางคนร่วมกันรวมหัวโกงหลวงครับ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็น “คำไทย” ที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นครับ คราวนี้ลองมาดูคอร์รัปชั่นในภาษาต่างๆกันบ้างว่าเขาเรียกคำๆนี้ว่าอย่างไรกันครับ

เริ่มจากภาษาลาวครับ ชาวลาวนั้นเรียกพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นว่า “กินสินบน” ครับ จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับภาษาไทยของเราครับ ส่วนในภาษาเขมรนั้นเรียกเงินผิดกฎหมายที่มาจากการโกงนั้นว่า “มิน สแร๊บแบ๊บ” (Min Srabcbab) ครับ

ขณะที่ภาษามาเลย์เรียกเงินสินบนหรือค่าน้ำร้อนน้ำชาว่า “ดูอิท โกปี๊” (Duit Kopi) คำว่า “โกปี๊” แปลว่า “กาแฟ” นั่นเองครับ ผมแอบตั้งข้อสังเกตส่วนตัวว่า “เครื่องดื่ม” ทั้งน้ำชาและกาแฟดูจะมีส่วนเกี่ยวข้องเงินสินบนที่ผิดกฎหมาย ทั้งๆที่นักการเมืองสมัยนี้มักนิยมดื่มไวน์ชั้นดีแต่ก็ไม่มีใครยักเรียกเงินสินบนว่า “ค่าไวน์”

ส่วนภาษาตากาล๊อกของชาวฟิลิปปินส์นั้นเรียกคนขี้โกงว่า “บัวย่า” (Buaya) ซึ่ง “บัวย่า” แปลอีกอย่างว่า “จระเข้” ก็ได้ครับ ดังนั้น คำๆนี้เปรียบเปรยว่าคนขี้ฉ้อนั้นคล้ายกับ “จระเข้” ทั้งนี้การเปรียบเทียบคนคดโกงกับสัตว์นั้น ภาษาฟิจิ (Fijian) ก็เรียกพวกขี้โกงว่า “คากาคาก้า” (Cakacaka) ซึ่งหมายถึง “หมาจิ้งจอก” นั่นเองครับ

กลับไปดูศัพท์คอร์รัปชั่นในแดนชมพูทวีปกันบ้างครับ ภาษาบังคลาเรียกเงินที่มาจากการฉ้อฉลแล้วสร้างความสุขนั้นว่า “กูชิโกร่า” (Kushi Kora) ครับ ส่วนภาษาฮินดูสถาน (Hindustani) เรียกการขูดรีดหรือเก็บค่าคุ้มครองจากมาเฟียหรือตำรวจว่า “ฮาฟต้า” (Hafta) และในภาษาเปอร์เซียนนั้นเรียกเงินค่าของขวัญใต้โต๊ะว่า “บักชีท” (Baksheesh) ครับ

คราวนี้ลองดูภาษาเขียนกันบ้างครับว่า “คอร์รัปชั่น” ในแต่ละภาษานั้นเขียนกันอย่างไรบ้าง ภาษาดัตช์นั้นสะกดคอร์รัปชั่นคล้ายๆกับภาษาอังกฤษครับโดยชาวดัตช์สะกดคอร์รัปชั่นว่า “Corruptie” ส่วนภาษาสเปน (Español) นั้น คอร์รัปชั่นสะกดอย่างนี้ครับ “Corrupción” ขณะที่ภาษาโปรตุกีส (Português) สะกดว่า “Corrupção” ครับ ในภาษาโปลิช (Polski) นั้นสะกดคอร์รัปชั่นด้วยตัว K ครับโดยชาวโปลเขียนคำว่าคอร์รัปชั่นอย่างนี้ครับ “Korupcja” เช่นเดียวกับภาษาออสเตรียน(Austrian)ที่เขียนคอร์รัปชั่นว่า “Korrupció” ครับ

อย่างไรก็แล้วแต่ไม่ว่าคอร์รัปชั่นในชาติใดภาษาใดจะเรียกขานหรือสะกดแตกต่างกัน แต่ความหมายของคอร์รัปชั่นในความรู้สึกของคนทุกคนย่อมหนีไม่พ้นคำว่า “ขี้โกง” และก่อให้เกิดผลร้ายกับสังคมใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

Sep 23, 2009

"Life is beautiful" ชีวิตนี้งดงามยิ่งนัก





เพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยบอกผมไว้ว่า “ชีวิตคนเราทุกวันนี้มันก็เครียดจะตายอยู่แล้ว แล้วทำไมเราถึงต้องมานั่งจริงจังนั่งเครียดกันอีกล่ะ”

ผมว่าที่เพื่อนคนนี้พูดไว้มันคงจะจริงและทำให้ผมนึกถึงหนังอิตาเลียนเรื่องหนึ่งที่ชื่อ Life is beautiful (1997)ครับ

Life is beautiful หรือ La vita è bella ในชื่ออิตาเลียนนั้นเป็นผลงานการกำกับของโรแบร์โต้ เบนจินี่ (Roberto Benigni) ผู้กำกับอารมณ์ดีที่สามารถทำให้หนังสงครามกลายเป็นเรื่องรื่นรมย์ได้

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ Life is beautiful จะกวาดรางวัลจากเวทีประกวดภาพยนตร์นานาชาติอย่างรางวัล Grand Prize of the Jury จากเทศกาลหนังเมืองคานส์, ชนะเลิศรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวที European Film Award และที่ทำให้หนังเรื่องนี้โด่งดังเป็นพลุแตก คือ การได้รับรางวัล Academy Award ในฐานะภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best Foreign Language Film) เมื่อปี ค.ศ. 1999

จะว่าไปแล้วหนังอิตาเลียนนั้นมี “เสน่ห์” อยู่ไม่น้อยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพล็อตเรื่องที่นำเสนอรวมไปถึงบรรยากาศตามท้องเรื่องที่น่าประทับใจ

โดยส่วนตัวแล้วผมประทับใจกับ Cinema Paradiso (1988) หรือ Nuovo cinema Paradiso ของผู้กำกับ จูเซปเป้ ทอนาทอเร่ (Giuseppe Tornatore) ที่ว่าด้วยอารมณ์ถวิลหาอดีตของโรงภาพยนตร์และภาพยนตร์ในช่วงปลายทศวรรษที่ 40 – 50

สำหรับ Life is beautiful นั้น โรแบร์โต้ เบนจินี่ พยายามทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นตัวอย่างของการมองชีวิตในด้านบวกอยู่เสมอโดยมีโจทย์สำคัญที่ว่า “เราจะสอนเด็กอย่างไรให้รู้จักคำว่าสงคราม”

แน่นอนครับว่า “สงคราม” เป็นหายนะของมนุษยชาติมาตั้งแต่โบราณกาล โดยทั่วไปแล้วเรามักมองว่าสงครามเป็นวิธีการกำจัดความขัดแย้งระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกันเองโดยเราไม่เคยมองว่าแท้จริงแล้วสงครามนั้นเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย

Life is beautiful เป็นหนังต่อต้านสงครามโดยเฉพาะการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The Holocaust) ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองครับ

ท่านผู้อ่านที่เคยชมภาพยนตร์ Schindler’ list (1993) ของสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) คงจะได้เห็นภาพความโหดร้ายที่กองทัพนาซีได้กระทำต่อชาวยิวจนทำให้รู้สึกเลยว่าทำไมหนอมนุษย์ถึงโหดร้ายได้เพียงนี้

อย่างไรก็ตาม “เบนจินี่”กลับไม่ทำให้ภาพการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวหรือสยดสยองแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามเขากลับสอนให้ลูกชายตัวน้อยรู้ว่า “สงคราม” เป็นเพียงเกมๆหนึ่งเท่านั้น

อย่างที่เราทราบกันนะครับว่า “เด็กเหมือนดั่งผ้าขาวที่บริสุทธิ์” ดังนั้นเราจะสอนเขาให้รู้ว่าสงครามมันเป็นอย่างไรนั้นมันก็อยู่ที่วิธีการสอนของผู้ใหญ่นั่นเอง

ผมว่าบางครั้งเด็กเล็กๆอาจไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ว่า “ความจริง” ที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมานั้นมันโคตรจะโหดร้ายเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้เองหากเรารู้จักสอนให้เด็กมองโลกในแง่ดีเสียแต่ตอนต้นมันก็จะเป็น “ภูมิคุ้มกัน”ทางใจของเขาในการใช้ชีวิตรวมไปถึงการมีทัศนคติที่ดีต่อการมองโลก

กล่าวมาถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดที่ว่า “การคิดบวก” หรือ “การคิดดี” ขึ้นมา เพราะการคิดดีเป็นพื้นฐานของการพูดดีและทำดีซึ่งเป็น “บุญ” (ความปิติ) อย่างหนึ่ง

ทุกวันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเราจะสอนเด็กอย่างไรให้รู้จัก “คิดดี” หรือคิดบวก เพราะลำพังผู้ใหญ่เองก็ยังคิดลบ เคียดแค้น ชิงชัง จองเวร ก่อบาปกันอยู่จึงเป็นเรื่องยากนักที่เราจะมี “น้ำยา”ไปสอนให้เด็กมันคิดดีได้ หากเราไม่เริ่มต้นที่จะคิดดีเสียเองก่อน

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่า เบนจินี่ต้องการให้หนังเรื่องนี้สื่อสารอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการสอนให้คนๆหนึ่งรู้จักที่จะมองโลกในมุมที่งดงามมากกว่าที่จะจริงจังหรือโหดร้ายจนเกินไป

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเคยนั่งคุยกับคุณลุงคนขับแท็กซี่ คุณลุงแกเล่าให้ฟังว่าเพิ่งจะโดนปลดออกจากงานเมื่อตอนอายุ 55 เพื่อนแกสองคนคิดสั้นฆ่าตัวตาย แกยังเล่าให้ฟังอีกว่าเมียแกโดนรถสิบล้อทับทุกวันนี้เป็นคนพิการครึ่งท่อนแต่แกก็ยังดูแลเมียมาร่วมสิบปี

สำหรับแกแล้วทุกวันนี้แกยังมีความสุขอยู่เพราะยังเชื่อว่าชีวิตมันยังไม่สิ้นหวังเลยซะทีเดียวยังมีคนลำบากกว่าแกอีกเยอะแยะ

บางทีหากมนุษย์เรารู้จักมองในสิ่งที่ “มี”มากกว่ามองในสิ่งที่ “ขาด” แล้ว เราอาจจะมีความสุขหรือรื่นรมย์กับชีวิตขึ้นเยอะนะครับ

Hesse004

Aug 29, 2009

“ลูคัส เลว่า” แพะตัวน้อยแห่งทุ่งแอนฟิลด์!!





ในฐานะคอบอลอังกฤษ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2009 เปิดฉากขึ้นมาด้วยความเร้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมระดับกลางตารางอย่าง “ท๊อตแนม ฮอตสเปอร์” ของแฮรี่ เร้ดแนปป์ (Harry Redknapp) ที่สามารถพาไก่เดือยทองตัวนี้กระพือปีกบินได้สูงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ออกสตาร์ตฤดูกาล

ชัยชนะทั้งสี่นัดของสเปอร์หาได้มาด้วยโชคช่วยหรือความบังเอิญไม่ หากแต่มาจากมันสมองและการจัดสรรผู้เล่นที่ลงตัวของคุณจ่าแฮรี่ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษคนเดียวที่น่าจะมี “กึ๋น” ในการทำทีม ปั้นเด็ก แก้เกมส์ ไม่แพ้กุนซือระดับบิ๊กเนมอย่างท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (Sir Alex Ferguson) หรือ เจ้าป้าอาร์แซน เวงเกอร์ (Arsene Wanger) หรือแม้แต่พี่แจ้แห่งสแตมฟอร์ดบริดจ์ คาร์โล อันเชลอตติ (Carlo Ancelloti)

แต่เอ ! ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนทีมหงส์แดง ลิเวอร์พูล อาจจะยกมือท้วงติงผมว่าลืม “เอล ราฟา” ราฟาเอล เบนิเตซ (Rafael Benitez) กุนซือสแปนยาร์ดของพวกเราสาวกเดอะค็อปไปได้อย่างไรกัน

ขอเรียนอย่างนี้นะครับว่า ในฐานะแฟนบอลทีมลิเวอร์พูลเหมือนกัน ผมเริ่มรู้สึกว่าลิเวอร์พูลชุดนี้ไม่น่าจะมีโอกาสสัมผัสถ้วยลีกสูงสุดสมัยที่ 19 เป็นแน่แท้ !!

ผมคงจะมองโลกในแง่ร้ายและด่วนสรุปเกินไปเพราะฟุตบอลเพิ่งเตะไปได้เพียง 4 เกมเท่านั้นซึ่งลิเวอร์พูลชนะสองเกมส์และแพ้ไปแล้วสองเกมส์ครับ

สี่เกมส์เราเก็บได้หกแต้มยิงได้เก้าเสียไปเจ็ด เทียบกับทีมบิ๊กโฟร์ด้วยกันแล้วเราห่างเชลซีแค่หกแต้ม ห่างแมนยูแค่สามแต้มเอง และยังมีคะแนนเท่ากับอาร์เซน่อลที่เพิ่งจะสะดุดขาแพ้ให้กับแมนยูเป็นนัดแรก โดยทีมปืนโตได้เปรียบคือแข่งน้อยกว่าหงส์แดงหนึ่งนัดครับ

สรุปง่ายๆก็คือสถานการณ์พรีเมียร์ลีก 4 นัดแรกของลิเวอร์พูล นั้นยังไม่สามารถเกาะหนึ่งในสี่ของยอดตารางได้

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ไอ้การด่วนสรุปของผมนั้นคงต้องขออธิบายเหตุผลเข้าข้างตัวเองสักหน่อยนะครับว่าทำไมผมยังเชื่อว่าลิเวอร์พูลชุดนี้ยังไม่ดีพอที่จะคว้าแชมป์ลีกสูงสุดที่รอคอยมาแสนนาน

เหตุผลประการแรก คือ ฟอร์มการเล่นของลิเวอร์พูลที่ดีที่สุดได้ผ่านพ้นไปเมื่อฤดูกาลก่อนแล้วครับ ทั้งนี้ เอล ราฟา ใช้รูปแบบการเล่น 4-4-1-1 โดยวางตอร์เรสไว้เป็นหน้าเป้าและมีเจอร์ราดเป็นตัวสนับสนุนขณะที่แดนกลางได้อลองโซ่มาคุมจังหวะเกมส์ ตัดเกมส์ วางบอลยาวโดยมีลูกหาบอย่างมาสเคราโน่มาช่วยแบ่งเบาภาระ ขณะที่ปีกสองข้างก็ได้เคาท์และริเอร่าคอยสนับสนุนและมีเบนนายูนเป็นตัวสำรองชั้นดีที่เข้ามาแก้สถานการณ์คับขันของทีมได้หลายครั้ง

ฤดูกาลที่แล้วจึงน่าจะเป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดที่ เอล ราฟา ค้นพบสูตรการเล่นที่สามารถปราบทีมใหญ่อย่างแมนยูและเรอัล มาดริด ได้อย่างราบคาบ เพียงแต่ว่าขุมกำลังสำรองของหงส์แดงไม่สามารถช่วยให้ลิเวอร์พูลทะยานขึ้นเป็นแชมป์ลีกสมัยที่สิบเก้าได้

ผมตั้งข้อสังเกตกับระบบโรเตชั่นของเบนิเตซมาหลายครั้งแล้วว่า หากให้ฮาเวียร์ มาสเคราโน่กับ ลูคัส เลว่า จับคู่กันเมื่อไร โอกาสที่ลิเวอร์พูลจะเอาชนะคู่แข่งค่อนข้างยากซึ่งผลส่วนใหญ่ออกมาในรูปของการเสมอกับทีมระดับกลางและท้ายตาราง เช่น เสมอกับวีแกนที่เจเจบีสเตเดี้ยม หรือเสมอกับสโต๊ต ซิตี้ในบริตาเนียสเตเดี้ยม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามระบบโรเตชั่นของราฟาเองก็ส่งผลดีต่อการทำทีมอยู่ไม่น้อยนะครับเพราะนักเตะไม่กรอบจนเกินไปในสมรภูมิฟุตบอลที่เตะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แม้ว่าโรเตชั่นจะทำให้ความเข้าใจในทีมสะดุดลงเป็นบางช่วง สังเกตได้จากผลเสมอที่มากเกินไปจนทำให้ลิเวอร์พูลอดฉลองแชมป์ทั้งๆที่พวกเขาแพ้เพียงสองนัดเท่านั้น

ดังนั้นจึงนำมาสู่การอธิบายถึงเหตุผลประการที่สอง คือ การจากไปของ “ชาบี อลองโซ่” (Xabi Alonso) ที่ทำให้เราได้เห็นแล้วว่าสภาพกลางสนามที่ขาดการเชื่อมเกมส์ ทำลายจังหวะคู่ต่อสู้ หรือแม้แต่การตัดเกมส์อย่างชาญฉลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะหาไม่ได้เลยจากมิดฟิลด์ตัวแทนหมายเลข 21 ที่ชื่อ “ลูคัส เลว่า” (Lucas Leiva) ครับ

กองเชียร์เดอะค็อปแทบทั้งโลกเห็นพ้องต้องกันว่า “เทพลูคัส”ไม่สามารถก้าวขึ้นมาทดแทนการขาดหายไปของมิดฟิลด์หน้าหยกทีมชาติสเปนรายนี้ได้ เพียงแต่คนที่อาจจะยังไม่เห็นด้วยกับแฟนบอล คือ ราฟาเอล เบนิเตซ

ถ้าท่านผู้อ่านที่ติดตามชมฟอร์มการเล่นของลิเวอร์พูลมาโดยตลอดจะพบการเปลี่ยนแปลงในแดนกลางของลิเวอร์พูลในฤดูกาลนี้อย่างชัดเจน

และผมเองก็ยังไม่มั่นใจว่า “อัลแบร์โต้ อควินลานี่” (Alberto Aquilani) จะสามารถมาทดแทนตำแหน่งของชาบีได้หรือเปล่า

จริงๆแล้วผมเองก็ไม่อยากจะคิดว่าอลองโซ่ มีอิทธิพลกับทีมลิเวอร์พูลของ เอล ราฟา มากมายขนาดนั้นเพียงแต่ผลงานที่เกิดขึ้นตอนนี้มันค่อนข้างชัดเจน ซึ่งผมก็เชื่อว่า “เอล ราฟา” แกก็คงมองเห็นเหมือนกันแต่ด้วยความที่แกมีทิฐิมานะและมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากจึงอยากจะทดลองให้โอกาสกับเจ้าหนูลูคัส เลว่าไปสักพักหนึ่งก่อน

ผมคิดว่าลิเวอร์พูลชุดนี้ขาดตัวพักบอลที่ดีครับ ซึ่งช่วงฤดูกาลต้นๆที่เอล ราฟา เข้ามาคุมทีมเขาดึงอลองโซ่มาจากเรอัล โซซิดัด (Real Sociedad) และราฟาได้ทำให้อลองโซ่กับเจอร์ราดกลายเป็นคู่กลางที่น่าเกรงขามที่สุดคู่หนึ่งในยุโรป แต่อย่างไรก็ตามเมื่อบทบาทของเจอร์ราดขยับไปเล่นสูงขึ้นทำให้อลองโซ่ต้องกลายเป็นคนคุมจังหวะเกมส์ ประคองเกมส์แทนเจอร์ราดไป เข้าทำนองปิดทองหลังพระ

เบนิเตซเองพยายามหามิดฟิลด์ลูกหาบมาช่วยอลองโซ่ไล่ตั้งแต่ “โมโม่ ซิสโซโก้” มาจนกระทั่ง “ฮาเวียร์ มาสเคราโน่”
ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งสำหรับระบบการเล่นแบบใช้หน้าเป้าตัวเดียวกับกลางห้าตัวของ เบนิเตซ คือ ต้องมีตัวประคองเกมส์และกำหนดจังหวะเกมส์ดีๆสักตัวหนึ่งซึ่งที่ผ่านมา ชาบี อลองโซ่ รับบทบาทนี้มาโดยตลอด

อย่างไรก็ดีแม้ทีมชุดนี้จะเล่นตามรูปแบบการเล่นเดิมแต่กลับกลายเป็นว่าลิเวอร์พูลไม่มีกองกลางพักบอล ขาดตัวเชื่อมเกมส์ ประคองเกมส์และตัดเกมส์ได้ ซึ่งพูดถึงตรงนี้แล้วทำให้นึกถึงกองกลางตัวเก๋าในอดีตอย่าง “ดีทมาร์ ฮามันน์” (Dietmar Harmann)ที่เคยเข้ามาช่วยเติมแดนกลางของหงส์แดงให้แข็งแกร่งตอนช่วงที่เจอร์ราดกำลังอยู่ในวัยรุ่น

ผมคิดว่า “ดีดี้” ฮามันน์น่าจะมีส่วนทำให้เจอร์ราดเล่นได้ด้วยความมั่นใจมากขึ้นเนื่องจากฮามันน์ได้ช่วยประคองเกมส์แดนกลางให้ลิเวอร์พูลมาหลายปีก่อนที่อลองโซ่จะมาร่วมทีม

โดยส่วนตัวนะครับ ผมเชื่อว่า เอล ราฟา ต้องการปั้นลูคัส เลว่า อดีตกัปตันทีมชาติบราซิลชุดเล็กแถมยังมีดีกรีเป็นดาวรุ่งแห่งวงการฟุตบอลบราซิล จนใครหลายคนขนานนามว่าเป็น “เจอร์ราดแห่งบราซิล” ซึ่งถ้าใครได้ดูคลิปในยูทูป (http://www.youtube.com/watch?v=EYqKzNlxclw) จะพบว่าฟอร์มการเล่นของ ลูคัส เลว่าในสโมสรเกรมิโอ (Gremio) นั้นเข้าขั้น “เทพ”จริงๆ ด้วย

ในอดีตที่ผ่านมาลิเวอร์พูลมักจะได้นักเตะประเภทนักเตะ “นิว”ทั้งหลายมาเชยชมและดูเหมือนว่าลิเวอร์พูลจะชอบรับ “เซ้ง” นักเตะนิวเนมมาตั้งแต่ยุคเชราลด์ อุลลิเยร์ (Gerard Houllier) แล้ว มีตั้งแต่นิวโบบัน (อิกอร์ บิสคาน) , นิวซีดาน (บรูโน่ เชย์รู) แม้กระทั่ง นิวตูราม (ฌิมี่ ตราโอเร่) ก็ยังมี

จะว่าไปแล้วก็น่าเห็นใจ “ลูคัส เลว่า” เหมือนกันนะครับ เนื่องจากลูคัสเพิ่งจะแตกเนื้อหนุ่มได้ไม่นานอายุเพิ่งจะยี่สิบสองแต่ต้องมาแบกรับภาระในฐานะมิดฟิลด์ตัวตัดเกมส์ เชื่อมเกมส์ ประคองเกมส์ ซึ่งจะว่าไปแล้วเขาควรอยู่ทีมสำรองรอวันเวลาที่แข็งแกร่งมากกว่านี้

หลายต่อหลายเกมส์เราจะเห็น ลูคัสกลายเป็น “ลูกไล่” ของนักเตะที่เจนสังเวียนแข้งอย่าง แฟรงค์ แลมพาร์ด (Frank Lampard) หรือ ไมเคิล คาร์ริค (Michael Carrick) ไม่จำเพาะกองกลางระดับบิ๊กโฟร์ด้วยกันเองหรอกครับ บางทีลูคัสยังไม่สามารถเอาชนะกองกลางชั้นดีของทีมระดับกลางตารางอย่างวิลสัน พลาสิออส (Wilson Palacios) ของสเปอร์ ได้เลย

สิ่งต่างๆเหล่านี้ผมคิดว่า เอล ราฟา เดิมพันกับอนาคตของไอ้หนูลูคัสไว้สูงมากเพราะทุกวันนี้ลูคัสได้กลายเป็น “แพะรับบาป” (Scapegoat) ไปเสียแล้วครับ

ลิเวอร์พูลมักมีนักเตะประเภทแพะอยู่เสมอๆนะครับ อาทิ เดวิด เจมส์ (David James) อดีตนายทวารลิเวอร์พูลชุดสไปซ์บอย , เจมี่ คาราเกอร์ (Jamie Carragher) ก็เคยเป็นแพะเนื่องจากเล่นบอลโฉ่งฉ่างแต่วันเวลาก็พิสูจน์แล้วว่า “คาร่า” เหมาะกับการยืนในตำแหน่งปราการหลังตัวกลางมากที่สุด และแพะที่แฟนหงส์จำได้ไม่ลืม คือ ฌิมี่ ตราโอเร่ (Djimi Traore) อดีตนิวตูรามไงล่ะครับ “ตราโอเร่” เป็นแพะตัวใหญ่ที่เหล่าเดอะค็อปต้องส่ายหัวทุกครั้งเวลาเห็นน้องตราโอเร่ ลงสนาม จนท้ายที่สุดตราโอเร่ก็ต้องถูกอัปเปหิออกจากทีมไป

ตอนนี้ลูคัส เลว่า กำลังกลายเป็นแพะตัวใหม่แห่งทุ่งแอนฟิลด์ไปแล้วครับ หลังจากที่ไม่สามารถเล่นได้ตามความคาดหวังของแฟนบอลที่ยังไม่ลืมฟอร์มอันสุดแสนจะคลาสสิคของชาบี อลองโซ่ (แม้ว่าจะมีบางช่วงที่อลองโซ่เองก็ฟอร์มตกเหมือนกัน)

จริงๆแล้วพรีเมียร์ลีกเพิ่งจะเริ่มต้น เอล ราฟา ยังมีเวลาปรับแต่งทีมให้ได้สมดุลเหมือนที่เขาลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง อย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่แน่ใจว่าแฟนหงส์แดงจะทนรอได้อีกหรือเปล่าเพราะดูเหมือนว่า เอล ราฟา ยังไม่สามารถค้นหาทีมที่ดีที่สุดของเขาได้เสียที

ซึ่งหากฤดูกาลนี้ลิเวอร์พูลกลับบ้านมือเปล่าอีกล่ะก็เห็นทีแพะตัวใหม่คงจะหนีไม่พ้น “เอล ราฟา” แล้วสิครับ

Hesse004

Aug 20, 2009

Inglourious Basterds หนังสงครามสุด “เจ๋ง”





ท่านผู้อ่านที่นิยมดูหนังประวัติศาสตร์โดยเฉพาะหนังที่ว่าด้วยสงครามโลกครั้งที่สองคงรู้สึกคล้ายๆกันนะครับว่าประวัติศาสตร์ยุคใหม่ (Modern History) ถูกถ่ายทอดโดยสตูดิโอฮอลลีวู้ด

จึงไม่น่าแปลกที่เราจะได้รับอิทธิพลให้รู้สึก “โปร” อเมริกันและกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่าที่จะรู้สึกชื่นชอบฝ่ายเยอรมนีหรือญี่ปุ่น

แต่อย่างไรก็แล้วแต่หากมองในแง่ของมนุษยธรรมแล้วการที่ “นาซี” ตัดสินใจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติยิวก็นับว่าเป็นความเลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้นะครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีเหตุผลรองรับการกระทำของตัวเองอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าเหตุผลนั้นมันจะ “เข้าท่า” หรือ “ไร้สาระ” ด้วยเหตุนี้เองถ้าเราลองศึกษาประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน (ซึ่งมันเป็นไปได้ยาก) เราก็จะพบเหตุผลต่างๆนานาของผู้ที่ตัดสินใจจะ “ก่อสงคราม” หรือผู้ที่ตัดสินใจจะ “ยุติสงคราม”

นอกจากสงครามจะกลายเป็นเวทีขจัดความขัดแย้งของมนุษย์แล้ว สงครามยังเป็นเวทีพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย

แหม่! ผมออกจะติดปรัชญาเกินไปหน่อยแล้วล่ะครับ กลับมาที่เรื่องที่อยากจะเขียนถึงดีกว่า

เมื่อวานนี้ผมมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Inglourious Basterds (2009) ผลงานการกำกับของ เควนติน แทแรนทิโน่ (Quentin Tarantino) ซึ่งอยากจะบอกว่า แทนแรนทิโน่ทำให้หนังเรื่อนี้กลายเป็นหนังสงครามที่ “เจ๋ง” (Cool) ที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมาเลยก็ว่าได้ครับ

เควนติน แทแรนทิโน่ โด่งดังมาจากการกำกับภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction (1994) ซึ่งได้กลายเป็นตำนานหนัง “เจ๋ง” ที่มีพล็อตเรื่องพลิกผัน หักเหลี่ยมเฉือนคมกันอยู่ตลอดเวลา นอกจาก Pulp Fiction แล้ว ผลงานสร้างชื่ออีกเรื่องของแทแรนทิโน่ คือ Kill Bill (Vol.1 2003, Vol 2 2004)

โดยส่วนใหญ่แล้วหนัง “เจ๋ง” มักจะถูกจัดอยู่ในสกุลหนังประเภท “Black Comedy” ครับ ซึ่งเป็นหนังตลกที่ผสมเรื่องราวความรุนแรงและอารมณ์เสียดสีลงไปด้วย

สำหรับ Inglourious Basterds นั้น แทแรนทิโน่ได้ใช้พล็อตเรื่องในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงที่กองทัพนาซีเข้ารุกรานฝรั่งเศสโดยแทแรนทิโน่พยายามผูกโครงเรื่องให้ผู้ชมเกิดความสงสัยว่าเหตุการณ์ต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้น

จริงๆแล้วความพิเศษของหนัง “เจ๋ง” มันอยู่ที่ตรงนี้แหละครับ การที่คนเขียนบทและผู้กำกับได้วางเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ให้แยกขาดจากกันก่อนจะมาขมวดปมผูกให้เหตุการณ์เหล่านั้นกลายมาเป็นจุดไคลแมกซ์สำคัญของภาพยนตร์

กระบวนหนังที่ผมดูเสร็จแล้วต้อง สบถคำว่า “เจ๋ง” ออกมาเท่าที่จำได้ก็มี The Big Lebowski (1998) ของสองศรีพี่น้องตระกูลโคเอน (The Coen Brothers), Snatch (2000) หนังอังกฤษของกาย ริชชี่ (Guy Ricchie) และหนังตระกูล Ocean ตั้งแต่ Ocean ’s eleven จนถึง Ocean ’s thirteen ของสตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก (Steven Soderbergh)

จริงๆแล้ว Inglourious Basterds เป็นชื่อที่แทแรนทิโน่จงใจตั้งขึ้นเพื่อให้ล้อกับชื่อหนังสงครามอีกเรื่องที่ชื่อ The Inglorious Bastards (1978) ของเอนโซ่ คาสเตลราลี่ (Enzo Castellari) ผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนครับ

แทแรนทิโน่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เอง ซึ่งแม้ว่าเขาจะไม่ได้ยึดข้อมูลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์มากเท่าไรนักแต่สิ่งที่แทแรนทิโน่ได้ทำให้เราเห็นคือ การทำให้สงครามกลายเป็น “อาชญากรรมของการหักเหลี่ยม”โดยแทแรนทิโน่ได้เติมอารมณ์ขันแบบ Black Comedy เข้าไปด้วย

จุดเด่นอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ คือ การได้ดารามากฝีมือที่มาจากฝั่งยุโรปมาร่วมงานและทำให้การพูดภาษาเยอรมันและภาษาฝรั่งเศส นั้นดูมีความเป็นธรรมชาติอย่างมาก

แทแรนทิโน่ได้ “แบรท พิตต์” มารับบทนำเป็นผู้หมวดอัลโด้ เรน ฉายา Aldo the Alpache ซึ่งพิตต์ก็เล่นได้สุดยอดตามมาตรฐานซูเปอร์สตาร์

ส่วนดารายุโรปอีกคนที่ผมอยากพูดถึง คือ คริสตอฟ วอลซ์ (Christoph Waltz) ดาราชาวออสเตรียนที่มารับทเป็นพันเอกฮันส์ แลนดา (Hans Landa) แห่งกองทัพนาซี เจ้าของฉายา The Jew Hunter ซึ่งถ้าจะให้คะแนนการแสดงแล้วผมให้วอลซ์เต็มร้อยเลยครับ เพราะวอลซ์แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวปนความไซโคของนายทหารฝ่ายเอสเอสได้เหนือคำบรรยายจริงๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่วอลซ์จะได้รับรางวัลดาราชายยอดเยี่ยม (Best Actor Award) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้

แม้ว่า Inglourious Basterds จะทำให้มุมมองที่เรามีต่อหนังสงครามโลกครั้งที่สองแตกต่างออกไป แต่จะว่าไปแล้วการสร้างหนังสงครามอาจไม่จำเป็นต้องเน้นความหดหู่ของการทำลายล้างเพียงอย่างเดียวก็ได้นะครับ บางครั้งหนังสงครามอาจพาให้เราได้มองเห็นแง่มุม “เจ๋ง”ๆ บางอย่างประเภทที่ว่าเฮ้ยมึงคิดได้ไงวะเนี่ยซึ่งหนังประเภทนี้ดูเหมือนแทแรทิโน่จะทำได้ดีเสียด้วยนะครับ

อ้อ! สำหรับหนังเรื่องนี้,เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นการจัดเรตติ้งสำหรับผู้ชมตาม พรบ. ภาพยนตร์ฉบับใหม่ซึ่งเขากำหนดให้ผู้ชมที่จะดูหนังเรื่องนี้ควรจะมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปนะครับ

Hesse004

Aug 15, 2009

“ความจำสั้น…แต่รักฉันยาว” บางสิ่งที่อยากลืม เรากลับจำ





ถ้าจะว่าไปแล้วการสร้าง “หนังรัก” (Love Story) ให้ดูแล้วอิ่ม ประทับใจนั้นค่อนข้างเป็นโจทย์ที่ยากเอาการอยู่นะครับ เพราะหากผู้สร้างเน้นไปที่ “อารมณ์รัก” มากจนเกินไปหนังรักเรื่องนั้นอาจจะหวานปนเลี่ยนจนทำให้ผู้ชม “อิน” กับบทโศกซึ้งเกินสมควร

ด้วยเหตุนี้เองการสร้างหนังรักจึงมักเติม “อารมณ์ขัน” เพื่อสร้างความกลมกล่อมให้กับตัวหนังซึ่งหนังรักที่เจือไปด้วยอารมณ์ขันนี้ภาษาภาพยนตร์เขาเรียกว่า “โรแมนติค คอมเมดี้” (Romantic Comedy) ครับ

เมื่อปีกลายสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน (The American Film) ได้สำรวจความคิดเห็นของสมาชิกกว่า 1,500 คนเกี่ยวกับสิบอันดับหนังรักโรแมนติค คอมเมดี้ ของอเมริกาที่น่าประทับใจ ผลการโหวตปรากฏว่า City Light (1931) ของ ชาร์ลี แชปลิน (Charles Chaplin) เป็นหนังรักโรแมนติค คอมเมดี้ ที่สมาชิกของสถาบันภาพยนตร์อเมริกันประทับใจมากที่สุดครับ ส่วนอันดับสองได้แก่เรื่อง Annie Hall (1977) ของผู้กำกับปัญญาชน “วูดดี้ อัลเลน” (Woody Allen)

โดยส่วนตัวแล้วผมประทับใจหนังโรแมนติค คอมเมดี้จากฝั่งอังกฤษอย่าง Four Wedding and a Funeral (1994), Notting Hill (1999) และ Love Actually (2003) ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้เป็นผลงานของริชาร์ด เคอร์ติส (Richard Curtis) มือเขียนบทภาพยนตร์และกำกับหนังโรแมนติคคอมเมดี้แห่งเกาะอังกฤษ

กลับมาหัวเรื่องที่จั่วไว้ข้างต้นดีกว่าครับ, หนังเรื่อง ความจำสั้น… แต่รักฉันยาว (2552) เป็นผลงานการกำกับของคุณยงยุทธ ทองกองทุน ครับ โดยหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Best of Times

สำหรับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการสร้างสรรค์โดยคุณวรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ , คุณอมราพร แผ่นดินทอง และคุณนนตรา คุ้มวงศ์ ครับ เหตุที่ต้องกล่าวถึงทีมบทภาพยนตร์ด้วยก็เพราะว่าหนังรัก โรแมนติคคอมเมดี้ที่มีเสน่ห์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมือเขียนบทดีๆมาช่วยส่งให้ตัวหนังนั้นน่าติดตาม

“ความจำสั้น… แต่รักฉันยาว” เป็นเรื่องราวความรักของคนสองคู่ สองวัยที่เวียนมาพบกันในช่วงเวลาสั้นๆ หากมันกลับประทับอยู่ในความทรงจำซึ่งกันและกันยาวนาน (ย่อหน้านี้ผมลอกเอามาจากโปรยหัวเรื่องย่อของหนังครับ)

หนังเรื่องนี้เข้าใจหยิบเรื่อง “ความทรงจำ” ที่เกี่ยวกับความรักของคนสองวัยมานำเสนอ เพียงแต่กล่าวถึงความรู้สึกของคนสองคู่สองวัยในมุมที่แตกต่างกัน

ตามธรรมเนียมเดิมนะครับ ผมขออนุญาตไม่เล่าเนื้อหาเพียงแต่หยิบข้อคิดที่ได้จากการดูหนังเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง

หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องความรักได้น่าสนใจมากครับ โดยเฉพาะการจัดการกับความทรงจำที่มีต่อความรักครั้งแรกและรักครั้งสุดท้าย

อันที่จริงแล้วความทรงจำที่มีต่อความรักนั้นบางครั้งมันก็ดู “อิ่มเอม” เวลาหวนกลับไปนึกถึงวันวานที่หวานอยู่ แต่บางคราวหากความทรงจำนั้นมัน “ขม” ไอ้เจ้าความทรงจำเหล่านั้นมันมักจะมาหลอกหลอนเจ้าของอยู่ร่ำไปเวลาที่มันมีอะไรมาสะกิดใจเรา

“ความจำสั้น… แต่รักฉันยาว” เป็นหนังที่พูดถึงความทรงจำที่มีต่อความรักของคนสองวัยครับ รักของวัยหนุ่มสาวเป็นรักครั้งแรกที่เต็มไปด้วยความทรงจำที่เจ็บปวดทั้งตัวพระเอกอย่าง “หมอเก่ง” และนางเอกอย่าง “ฝ้าย” ไอ้ความทรงจำเหล่านี้มันกลับมาสะกิดให้คนทั้งคู่ต้อง “ขมขื่น” ทุกครั้งเวลาที่มีสิ่งเร้ามาหวนให้รำลึกถึง

ในทางกลับกันรักของคนมีอายุ (แก่) อย่างคุณลุงจำรัสและป้าสมพิศ กลับกลายเป็นรักครั้งสุดท้ายที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจที่แม้ว่าบางครั้งอาจจะรู้สึก “สับสน” กลับเงื่อนไขทางจริยธรรมที่ถูกสังคมกำหนดเอาไว้ แต่ท้ายที่สุดแล้วรักของคนแก่กลับเป็นรักที่ “อิ่มเอม” เพราะมันเป็นรักที่เลือกจะเก็บความทรงจำที่ดีๆเอาไว้ก่อนที่มันจะเลือนหายไป

คนบางคนสามารถจดจำเรื่องราวของคนที่เรารักได้มากกว่าเรื่องราวของตัวเราเองเสียอีก ด้วยเหตุนี้เองเวลาที่มันคิดจะลืมมันเลยเป็นอะไรที่ “ยากจะลืมเลือน” อย่างไรก็ตามมนุษย์เราย่อมร่วงโรยไปตามธรรมชาติด้วยเหตุนี้เองความทรงจำดีๆบางอย่างมันกลับค่อย “ลบเลือน” หายไปด้วย

พูดถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงเนื้อเพลง “อยากลืมกลับจำ” ที่เขาร้องว่า “บางสิ่งเราอยากจำ มันกลับลืม” แต่ “บางสิ่งเราอยากลืม มันกลับจำ” เพลงนี้คนแต่งเขาเข้าใจแต่งนะครับเพราะมันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์เรา

เช่นเดียวกับการเก็บความทรงจำก็เป็นคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์เหมือนกันนะครับ เขียนมาถึงตรงนี้แล้วทำให้นึกถึงคำสอนของพุทธองค์เรื่อง “ขันธ์ 5” ว่าความทรงจำก็เป็น “สัญญา”อย่างหนึ่งของมนุษย์ซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งเจ้าสัญญาตัวนี้ก็ค่อยๆเสื่อมหายไป

ท้ายที่สุดผมคิดว่าก่อนเราจะจากโลกใบนี้ไปบางทีเราน่าจะเก็บความทรงจำดีๆไว้บ้างนะครับ บางเรื่องอะไรที่ควรจะจดจำก็พยายามจำมันไว้ให้นานที่สุดเท่าที่เรายังมีลมหายใจอยู่ แต่บางเรื่องที่ไม่น่าจะจำก็ลองทำลืมๆมันไปบ้างก็ได้นะครับ

Hesse004

Aug 7, 2009

“โกงแต่ขอให้มีผลงาน” มิจฉาทิฐิของการพัฒนาประเทศ



เมื่อไม่นานมานี้ดูเหมือนว่าผลสำรวจโพลเกี่ยวกับเรื่องการยอมรับ “รัฐบาลที่โกงแต่ขอให้มีผลงาน” นั้นน่าจะสะท้อนค่านิยมบางอย่างของคนไทยเรานะครับ

จะว่าไปแล้ว “โพล” ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ เพียงแต่โพลเป็นตัวบ่งบอกวิธีคิดอะไรบางอย่างของคนที่ถูกสำรวจความคิดเห็น

ปัญหาคลาสสิคอย่างหนึ่งของการศึกษาเรื่อง “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” (Economics of Corruption) คือ จริงๆแล้วคอร์รัปชั่นนั้นมันส่งผลดีหรือผลเสียกับสังคมในแง่ใดบ้าง และหากเราจำเป็นต้องให้มีการคอร์รัปชั่นดำรงอยู่แล้วระดับความเหมาะสมของความเสียหายที่เกิดจากการคอร์รัปชั่นมันควรจะอยู่ในระดับไหนดี

ทุกคนย่อมรู้ดีนะครับว่า การคอร์รัปชั่นนั้นเป็น “มะเร็งร้าย” ของสังคม คอร์รัปชั่นไม่ส่งผลดีต่อสังคมแน่นอน

ในอดีตที่ผ่านมามีนักวิชาการเรื่องคอร์รัปชั่นหลายคนพยายามมองว่าคอร์รัปชั่นเปรียบเสมือนเป็น “น้ำมันหล่อลื่น” (Grease in the Wheel) ของระบบเศรษฐกิจนะครับ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจจะถูกประการหนึ่ง เพราะหากไม่มีการคอร์รัปชั่นแล้วบางที “โครงการดีๆ” อาจจะไม่มีวันเกิดก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้เอง “นักการเมือง” ตั้งแต่ระดับชาติไปจนระดับท้องถิ่นจึงถือโอกาสใช้โครงการต่างๆเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงพร้อมทั้งหากินไปกับโครงการใหม่ๆเหล่านี้

ดูเหมือนว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาอาชีพ “นักการเมือง” จะถูกตราหน้าจากสังคมว่าเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นมากที่สุดอาชีพหนึ่ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนรวมไปถึงมีบทบาทในการตัดสินใจโครงการสำคัญๆของประเทศ

นักการเมือง มักจะทำหน้าที่เปรียบเสมือน “นายหน้า” ที่คอยผลักดันโครงการในท้องถิ่นหรือพื้นที่ของตัวเองเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเงินงบประมาณ โดยได้รับค่าตอบแทนในรูปของค่าคอมมิสชั่นจากการวิ่งเต้นให้โครงการนั้นผ่าน ก่อนจะผันโครงการเหล่านั้นเป็นเงินผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐโดยร่วมมือกับนักธุรกิจ พ่อค้าผู้หวังประโยชน์จากการขายสินค้าและบริการให้รัฐ

ทั้งหมดนี้เป็น “คุโณปการ” ของนักการเมืองครับ พูดง่ายๆคือหากไม่มีเขา การพัฒนาประเทศย่อมทำไม่ได้ กล่าวโดยสรุปแล้วนักการเมืองมักจะทำหน้าที่อยู่สองอย่างครับ โดยหน้าที่หลักเป็นนายหน้าที่ค้าขายโครงการของรัฐโดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นข้ออ้าง เอ๊ย! เป็นที่ตั้งครับ ส่วนหน้าที่รองคือเป็นตัวแทนของประชาชนเฉพาะเวลาใกล้หาเสียงเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการเรื่องคอร์รัปชั่นอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่า คอร์รัปชั่นเปรียบเสมือน “ทรายติดล้อจักรยาน” (Sand in the Wheel) ครับ ลองนึกภาพดูนะครับว่าเวลาทรายมันติดล้อเยอะๆเนี่ยล้อมันจะหมุนไปได้ยังไง

นักวิชาการกลุ่มนี้มองว่าการคอร์รัปชั่นเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติครับ มีงานศึกษาหลายชิ้นพยายามชี้ให้เห็นว่า จริงๆแล้วคอร์รัปชั่นนั้นส่งผลทางลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวครับ

งานชิ้นหนึ่งที่ถูกอ้างอิงเสมอในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น คือ งานของเปาโล เมาโร (Paolo Mauro) เรื่อง Corruption and Growth (1995) ซึ่งเมาโร ใช้วิธีการทางเศรษฐมิติหาความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชั่นและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งผลการศึกษาพบว่าการคอร์รัปชั่นทำให้การลงทุนลดลงและส่งผลไปยังอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงด้วย

การศึกษาชิ้นต่อมาของเมาโร เรื่อง Corruption and the composition of government expenditure (1998)ยังพบอีกว่าการคอร์รัปชั่นนั้นมีผลต่อการลดรายจ่ายของรัฐด้านการศึกษาและสาธารณสุขเนื่องจากงบประมาณจำนวนมากถูกแปรไปเป็นรายจ่ายในการก่อสร้างซ่อมแซมสาธารณูปโภคอย่าง ถนน ซึ่งง่ายต่อการคอร์รัปชั่น

นอกจากงานของ เมาโร แล้วยังมีนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักไอเอ็มเอฟ อย่าง วีโต้ แทนซี่ (Vito Tanzi) และ ฮามิด ดาวูดี้ (Hamid Davoodi) ยังชี้ให้เห็นว่าคอร์รัปชั่นมีส่วนในการลดรายได้ทางภาษีของรัฐทำให้รัฐไม่สามารถเก็บรายได้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

จะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชั่นมันส่งผลกระทบด้านลบไปเสียหมดเลยนะครับ ในแง่หนึ่งเมื่อมีการคอร์รัปชั่นในการจัดเก็บรายได้แล้ว รัฐก็หาเงินได้น้อย แถมเมื่อรัฐเอาเงินภาษีออกมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศแล้วมีการคอร์รัปชั่นกันอีก สินค้าและบริการที่รัฐซื้อย่อมมีราคาแพงอีกทั้งได้ของที่ไม่มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้ไม่เต็มที่ ใช้ไปไม่เท่าไรก็ต้องซ่อมแซมเสียเงินงบประมาณอีก และเมื่อรัฐหาเงินไม่เข้าเป้าท้ายที่สุดก็ต้อง “กู้” ไงล่ะครับ

คอร์รัปชั่นยังทำให้ประเทศเราขาดโอกาสในการพัฒนาคน เพราะคอร์รัปชั่นได้ไปลดรายจ่ายด้านการศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งรายจ่ายในการวิจัยและพัฒนา รายจ่ายเหล่านี้เป็นค่าเสียโอกาสที่สูญเสียไปเพียงเพราะเราต้องเอาเงินงบประมาณไปทุ่มให้กับโครงการเฮงซวยทั้งหลายที่มาจากนักการเมืองที่หวังหากินกับโครงการต่างๆของรัฐ

ผมไม่แน่ใจว่าเรายังจะรับได้อีกหรือครับที่ว่า “โกงแต่ขอให้มีผลงาน” หรือทั้งหมดนี้มันเป็น “มิจฉาทิฐิ” ที่เราเห็นเพียงว่าจะดีจะชั่วก็ขอให้ทำงาน แต่เราไม่เคยตั้งคำถามต่อไปว่าเมื่อมันชั่วแล้วทำงานให้เราผลร้ายที่จะตามมามันจะเป็นอย่างไรหรือเราจะปล่อยให้มันกลายเป็นวงจรอุบาทว์อย่างนี้ไปชั่วลูกชั่วหลานล่ะครับ

Hesse004

Jul 26, 2009

Public Enemies ศัตรูหมายเลขหนึ่งของแผ่นดิน





ขึ้นชื่อว่า “โจร” แล้วย่อมมีแต่คนเกลียดกลัวนะครับ แต่โจรน้อยคนนักที่จะได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนว่าเป็น “จอมโจร” ซึ่งหนึ่งในจอมโจรที่ว่านี้คือ “จอห์น เฮอร์เบิร์ต ดิลลิงเจอร์” (John Herbert Dillinger) ครับ

ไม่กี่วันมานี้หนังเรื่อง Public Enemies (2009) ผลงานการกำกับของไมเคิล มานน์ (Michael Mann) เพิ่งจะลงโรงฉาย หนังเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องของจอมโจรชื่อดังแห่งทศวรรษที่สามสิบ “จอห์น ดิลลิงเจอร์” ครับ โดยบทภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือของไบรอัน เบอโร่ (Bryan Burrogh) เรื่อง Public Enemies : America’s Greatest Crime Wave and the Birth of the FBI, 1933-43 ครับ (ข้อมูลจาก วิกีพีเดีย)

หนังเรื่องนี้ยังได้จอหน์นี่ เดปป์ (Johnny Depp) มารับบทเป็น จอห์น ดิลลิงเจอร์ ซึ่งถ้าจะให้คะแนนการแสดงแล้ว ผมให้เต็มสิบเลยครับ เพราะเดปป์เล่นเรื่องนี้ได้โดดเด่นมากๆ

จอห์น ดิลลิงเจอร์ เป็นจอมโจรชื่อดังในต้นทศวรรษที่สามสิบ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ The Great Depression

วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำในครั้งนั้นนอกจากจะทำให้ชาวอเมริกันตกงานกันเรือนล้านแล้วยังส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของสถิติการก่ออาชญากรรมอีกด้วยไล่ตั้งแต่การลักเล็กขโมยน้อยไปจนกระทั่งการปล้นธนาคาร

และเจ้าปัญหาโจร (ไม่) กระจอกออกอาละวาดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันยุคนั้นต้องรีบกวาดล้างเหล่าทุรชนทั้งหลายอย่างเร่งด่วนโดยใช้บริการหน่วยงานอย่าง Federal Bureau of Investigation หรือที่รู้จักกันดีว่า “เอฟบีไอ” (FBI) นั่งเองครับ

จริงๆแล้วเอฟบีไอก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1908 แล้วครับ แต่บทบาทของเอฟบีไอเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยมหาโจรและเหล่าแก๊งสเตอร์ (Gangster) ครองเมืองซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถูกเรียกขานว่า “Public Enemy Era” หรือ “ยุคแห่งศัตรูของรัฐ”

บทบาทของเอฟบีไอในช่วง Public Enemy Era นั้นดูจะมีอำนาจล้นฟ้าจนทำให้ใครหลายคนอยากเป็นเอฟบีไอกันเป็นแถว ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องยกความดีความชอบให้กับ “เจ เอ็ดการ์ ฮูเวอร์” (J. Edgar Hoover) อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอคนแรก ชายผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอิทธิพลมากที่สุดในเรื่องการกุมข้อมูลความลับของบุคคลสำคัญทั้งหลายในสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นมาเฟีย นักการเมือง ดารา รวมไปถึงประธานาธิบดี!!

เจ เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ เป็นผู้นำที่เข้มแข็งของเอฟบีไอ เขาได้สร้างอาณาจักรเอฟบีไอให้กลายเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลองค์กรหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โดยฮูเวอร์นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการเอฟบีไอยาวนานถึงสามสิบเจ็ดปี (1935 - 1972) และรับใช้ประธานาธิบดีสหรัฐถึงหกคนครับ

ฮูเวอร์ได้ทำให้เอฟบีไอแตกต่างจากตำรวจทั่วไป กล่าวคือ เขาได้นำวิธีการสืบสวนสอบสวนที่เป็นวิทยาศาสตร์มาทำการสอบสวนผู้ต้องหา นำเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการสืบหาข่าวคราวของเหล่าร้ายซึ่งงานของเอฟบีไอในยุคเริ่มต้นคือการทำสงครามกับเหล่าแก๊งสเตอร์รวมไปถึงจอมโจรทั้งหลาย

แน่นอนครับว่าช่วงเวลา Public Enemy เหล่าร้ายที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศัตรูของรัฐต้องรวม จอห์น ดิลลิงเจอร์ เข้าไปด้วยเนื่องจากดิลลิงเจอร์เป็นโจรปล้นธนาคารที่ทางการต้องการตัวมากที่สุด (Most Wanted)

มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งนะครับว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เหล่าแก๊งสเตอร์หรือจอมโจรทั้งหลายได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้คนเป็นอย่างมาก จนทำให้เรื่องราวอันน่าตื่นเต้นของคนเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์อยู่เรื่อยๆ

เหล่า Public Enemies ที่ทางการต้องการตัวมากที่สุดนอกจาก ดิลลิงเจอร์ แล้วยังมีจอมโจรหน้าอ่อน “เบบี้เฟซ เนลสัน” (BabyFace Nelson) รวมถึงคู่รักจอมโจรอย่าง “บอนนี่แอนด์ไคลด์” (Bonny and Clyde) ซึ่งเรื่องของขุนโจรเหล่านี้ล้วนถูกหยิบไปสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้งสิ้นครับ

กลับมาที่ดิลลิงเจอร์กันต่อครับ, ชื่อเสียงของจอห์น ดิลลิงเจอร์ ได้รับการยอมรับนับถือจากชาวอเมริกันในฐานะเป็นโจรที่พอจะมีคุณธรรมอยู่บ้างจนหลายคนขนานนามเขาว่าเป็น “โรบินฮู้ด” ยุคใหม่เลยทีเดียว

ดิลลิงเจอร์เป็นจอมโจรที่มีเสน่ห์ แต่งตัวดี มีรสนิยมและที่สำคัญมีความฉลาดเฉลียวในการปล้น พูดง่ายๆว่าเขาเป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการโจรแห่งยุคนั้นเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ดิลลิงเจอร์จึงกลายเป็น Public Enemies หมายเลขหนึ่งที่ทางการอเมริกันต้องการตัว

อย่างไรก็ตามจุดจบของดิลลิงเจอร์จะเป็นอย่างไรนั้น ผมคงต้องรบกวนท่านผู้อ่านลองไปดู Public Enemies ของ ไมเคิล มานน์ เองก็แล้วกันนะครับ

พูดถึงตรงนี้ ผมกลับมานึกถึง Public Enemy คนหนึ่งที่รัฐบาลไทยกำลังควานหาตัวกันอยู่จ้าล่ะหวั่นเพราะดูเหมือนว่า Public Enemy คนนี้จะมีที่หลบภัยอยู่หลายแห่งเลยนะครับ ตั้งแต่ตะวันออกกลางไปยังหมู่เกาะแถวๆแคริบเบียน เอ! หรือว่ารัฐบาลไทยต้องใช้บริการเอฟบีไอเสียแล้วล่ะครับ

Hesse004

Jul 12, 2009

ระยะห่างที่เรียกว่า “ที่ว่าง”





ไม่ได้เขียนบล็อกมาเดือนกว่าๆรู้สึกว่า “สนิม” ที่เกาะอยู่ในสมองของผมจะหนาขึ้นทุกที ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมมัวแต่วุ่นวายกับการเขียน Dissertation ที่ดูเหมือนยังไม่ลงตัวเสียที ด้วยเหตุนี้งานอดิเรกอื่นๆเป็นอันต้องพักไว้ก่อนครับ

ช่วงเวลาสองปีกว่าๆที่เขียนบล็อก ผมรู้สึกเหมือนได้นั่งทบทวนความคิดของตัวเองพร้อมๆกับการได้แสวงหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมซึ่งกว่าจะเขียนแต่ละเอนทรี่ (Entry) ได้นั้นมันต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว

ว่ากันว่า “บล็อก”ได้สะท้อนตัวตนของ “บล็อกเกอร์” (Blogger) หรือคนเขียนบล็อกนั้น ซึ่งตลอดสองปีที่ผ่านมาผมพยายามค้นหาตัวเองผ่านเรื่องที่เขียนไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี ฟุตบอลรวมไปถึงวิชาเศรษฐศาสตร์

กลับมาเรื่องที่อยากจะเขียนดีกว่าครับ, จั่วหัวเอนทรี่นี้ไว้ด้วยเหตุที่ได้แรงบันดาลใจบางอย่างจากเพลง “ที่ว่าง” ของวงพอส (Pause)

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า “Pause” ได้กลายเป็นตำนานในวงการเพลงไทยสมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Pause” คือ ศิลปินอินดี้กลุ่มแรกๆที่เติบโตมาพร้อมๆกับ “หมาทันสมัย” (Modern Dog) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90

วงพอส มี “โจ้” อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ เป็นนักร้องนำ แม้ว่าโจ้จะจากพวกเราไปหลายปีแล้วแต่เพลงที่เขาร้องแทบทุกเพลงได้กลายเป็นอมตะไปแล้วไม่ว่าจะเป็น ความลับ, ข้อความ, สัมพันธ์, รักเธอทั้งหมดของหัวใจ, ใจบางบาง และที่จะลืมไม่ได้เลย คือ เพลง “ที่ว่าง” ครับ

เพลงที่ว่าง หรือที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Empty Space นั้นอยู่ในอัลบั้มของ Pause ที่ชื่อ Push (Me) Again ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของ Pause ที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2539 ในสังกัดเบเกอรี่มิวสิค (Bakery Music) ครับ

จะว่าไปแล้วเพลงที่ว่างเป็นเพลงแรกที่ทำให้คนรู้จัก “Pause” และ “โจ้” ด้วยเสน่ห์ของเพลงนี้อยู่ที่ “เนื้อหา” และน้ำเสียงของโจ้ที่ร้องเพลงนี้ได้กินใจยิ่งนัก

“ที่ว่าง” กล่าวถึง ความสัมพันธ์ที่ต้องการ “อิสระ”และ “ระยะห่าง” ของความรัก

ลองคิดเล่นๆแบบนักคณิตศาสตร์ดูบ้างนะครับว่า ถ้าความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ความรัก” เป็นฟังก์ชั่นชนิดหนึ่งที่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ “รัก” นั้นคงอยู่ได้ยั่งยืน ปัจจัยที่ว่านี้ก็คงเริ่มตั้งแต่ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความเข้าใจ การเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ความสม่ำเสมอ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอีกตัวที่เรามักหลงลืมกันไปนั่นคือ การจัดวางระยะห่างของความสัมพันธ์ให้เหมาะสมไงล่ะครับ ซึ่งระยะห่างที่ว่านี้มันก็แล้วแต่ข้อตกลงของคนสองคนว่าระยะห่างขนาดไหนมันถึงจะเหมาะสมดี

หากหยิบปัจจัยตัวนี้มาพิจารณาแล้ว เราจะเห็นว่า การจัดวางระยะห่างของความสัมพันธ์ในฐานะเป็นตัวแปรต้น (Independence Variable) มักจะมีเครื่องหมายหน้าสัมประสิทธิ์ของตัวแปร (Coefficient) แตกต่างกับ ตัวแปรต้นอีกตัวที่เรียกว่า “การแสดงความเป็นเจ้าของ” ครับ

นั่นหมายถึงว่า “ความรัก” ในฐานะที่เป็นตัวแปรตาม (Dependence Variable) นั้น มันขึ้นอยู่กับตัวแปรต้นหลายตัวที่บ่อยครั้งบางตัวมันก็ทำให้ความรักมันถดถอยลงได้เหมือนกัน

เนื้อหาของเพลงที่ว่างให้ความหมายไว้ดีมากนะครับ โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับความรักที่ไม่พยายามจะครอบครองหรือเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใคร

เขียนถึงตรงนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงเพลง “เต็มใจให้” ของ ศุ บุญเลี้ยง ที่เคยฮิตเมื่อสิบสี่สิบห้าปีก่อน เพลงนี้ก็พูดถึงการให้ความรักที่บริสุทธิ์ใจ ที่ไม่หวังจะได้อะไรตอบแทนกลับคืน เพลงนี้น่าจะเป็น “อุดมคติ” ของใครหลายคนที่บูชาความรัก

จริงๆแล้วความรักทุกอย่างต้องการ “อิสระ” อยู่เสมอนะครับ นั่นคือ อิสระที่จะเลือกรัก อิสระที่จะเลือกผูกพัน แม้แต่อิสระที่เลือกจากไป ทั้งหมดนี้มันครอบคลุมความรักในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นรักของหนุ่มสาว รักของเพื่อนฝูง แม้กระทั่งรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก

“ที่ว่าง” จึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รัก” มีคุณค่ามากขึ้น แม้ว่าบางคนอาจรู้สึกว่าการหาที่ว่างให้กับความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนรักเป็นเรื่องที่ยากลำบากเอาการ

ด้วยเหตุนี้การจัดวางความสัมพันธ์ให้เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้เรารักแบบไม่ทุกข์…เข้ากับเนื้อร้องที่ว่า “ประโยชน์ที่ใดหากรักทำร้ายตัวเอง”

ผมชอบเนื้อหาของเพลงนี้ที่บอกว่า

“ก่อนเคยคิดว่ารักต้องอยู่ด้วยกันตลอด เติบโตจึงได้รู้ความจริง”

ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า “เติบโตจึงได้รู้ความจริง” นั้น มันหมายถึงว่า ยิ่งเมื่อเราโตขึ้นมันมีอะไรที่ควรคิดมากกว่า “การแสวงหาความรัก” หรือเปล่า?

ความรักเป็นความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่ซับซ้อน จนบางครั้งเราเองก็ไม่อาจจะเข้าใจมันได้ทั้งหมด แต่ไอ้ความซับซ้อนดังกล่าวมันกลับตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่ายนั่นคือความจริงใจและความซื่อสัตย์ต่อคนที่เรารัก

และท้ายที่สุดมันอาจจะต้องการเพียงระยะห่างที่เรียกว่า “ที่ว่าง” เพื่อให้คนทั้งสองได้มีอิสระในการค้นหาความฝันของตัวเองบนหนทางที่เดินไปพร้อมๆกันไงล่ะครับ

Hesse004