Nov 1, 2008

Chungking Express เมื่อความรักหมดอายุ




จะว่าไปแล้วภาพยนตร์เกี่ยวกับความรักนั้นถูกถ่ายทอดได้ในหลายมิติ หลายมุมมองนะครับนั่นหมายถึงว่า “ความรัก” เป็นอารมณ์หลักๆของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา

โดยส่วนตัวแล้ว, ผมคิดว่าหนังรักพันธุ์เกาหลีน่าจะเป็นหนังรักที่โรแมนติคมากที่สุดอย่างที่เคยเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบแล้วว่า Christmas in August (1998) ของ “เฮอ จิน โฮ” คือ หนังรักที่ผมประทับใจมากที่สุดครับ อย่างไรก็ตามหนังรักที่ผมคิดว่า “เท่ห์” (Cool film) ที่สุดในสายตาของผมคงต้องยกให้กับ Chunking Express ของ “หว่องกาไว” ครับ

Chunking Express (1994) เป็นผลงานการกำกับลำดับที่ 3 ของ หว่องกาไว (Kar Wai Wong) ผู้กำกับชื่อดังชาวจีนแต่ไปเติบโตที่ฮ่องกง ก่อนหน้านี้หว่องฝากผลงานที่น่าประทับใจไว้สองเรื่อง คือ As Tear goes by (1988) และ Day of being wild (1990)

หว่องกาไวยังได้สร้างดาราคู่บุญอย่างน้อยสองคนที่เล่นหนังของหว่องเป็นประจำ คือ เหลียง เฉา เหว่ย และ เลสลี่ จาง นอกจากนี้ดาราชั้นนำของฮ่องกงล้วนเคยผ่านงานมากับหว่องด้วยกันแล้วทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น หลิว เต๋อ หัว, จางม่านอี้, หลินชิงเสีย,เฟย์ หว่อง หรือแม้แต่ ทาเคชิ คาเนชิโร่

ทั้งหมดที่กล่าวมาดูจะเสริมบารมีของหว่องกาไวให้กลายเป็นยอดผู้กำกับคนหนึ่งของเอเชียในไม่ช้านี้ แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าหว่องกาไวเป็นคนทำหนังที่ค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัวคนหนึ่ง คล้ายกับว่าหลังแว่นดำของเขานั้นมีอะไรมากมายซ่อนอยู่

สำหรับ Chunking Express แล้ว หว่องกาไวมีมุมมองความรักที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากความรักปกติทั่วไป กล่าวคือ หว่องหยิบประเด็นเรื่องของ “เวลา” มาเป็นตีม (Theme) ของเรื่อง ซึ่งคำโปรยหรือ Tag line ของหนังเรื่องนี้เกริ่นไว้น่าสนใจอย่างนี้ครับว่า

“If my memory of her has an expiration date, let it be 10,000 years”
(ที่มา www.imdb.com)

โดยทั่วไปเรามักจะได้ยินคำพูดเกี่ยวกับความรักทำนองว่า “ฉันจะรักเธอชั่วฟ้าดินสลาย” หรือ “ขอให้รักเรานั้นคงอยู่นิรันดร์” คำพูดเหล่านี้แสดงให้เห็นความมั่นคงของคู่รัก คนรักและความรัก แม้ว่าผู้ที่เอ่ยวลีดังกล่าวจะรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ก็ตาม

คำเปรียบเปรยความรักเหล่านี้เปรียบเสมือน “หลักประกัน” (Collateral) ของ “สัญญารัก”ว่าจะยังไงเสียฉันก็จะรักเธอตลอดไปทั้งในชาติภพปัจจุบันและอนาคตชาติ อย่างไรก็ตามสิ่งที่หว่องกลับท้าทายดันกลายเป็นเรื่อง “การหมดอายุของความรัก” (Expiration of Love) ซึ่งเราเองก็ไม่มีวันรู้หรอกครับว่าความรักของเรามันจะหมดอายุกันเมื่อไรเพราะคนที่เรารักเขาไม่ได้ติดสลากเตือนวันหมดอายุ

เหตุที่ผมชอบหนังเรื่องนี้จนแอบขนานนามว่าเป็นหนังรักที่ “เท่ห์” ที่สุดเท่าที่เคยดูมานั้นเพราะหลายฉากของหนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าคนเขียนบท (หว่อง) “แม่งคิดได้ไงวะ”!!

ยกตัวอย่างตอนที่ ตำรวจหมายเลข 223 ที่รับบทโดยทาเคชิ คาเนชิโร่ พูดถึงความรักที่หมดอายุของเขาไว้ว่า

“Somehow everything comes with an expiry date. Swordfish expires. Meat sauce expires. Even cling-film expires. Is there anything in the world which doesn't?”
(ที่มา www.imdb.com)

ขออนุญาตแปลแบบบ้านๆอย่างนี้นะครับว่า “ดูเหมือนว่าทุกสิ่งบนโลกนี้จะมีวันหมดอายุด้วยกันทั้งนั้น แต่จะมีสิ่งไหนมั๊ยวะที่ไม่มีวันหมดอายุ”

หว่องกาไวกำกับหนังเรื่องนี้ในวัยสามสิบแปดปี นั่นหมายถึงว่าเขาได้ผ่านสังเวียนของความรักมาในระดับที่เติบโตกับเรื่องนี้พอสมควรแล้ว ขณะเดียวกันหนังรักของหว่องเต็มไปด้วยสัญลักษณ์มากมายไม่ว่าจะเป็นฉากที่ตำรวจหมายเลข 663 รับบทโดยเหลียง เฉา เหว่ย รำพันกับ “ห้อง”ตนเองว่า

“ตั้งแต่เธอทิ้งฉันไป ทุกอย่างในห้องนี้ดูจะเศร้าสร้อยไปเสียหมด ดูสิ “เจ้าสบู่” เจ้าผอมมากไปแล้วนะ ดูแลตัวเองด้วยสิ “เจ้าฝักบัว” หยุดร้องไห้เสียทีเถอะ เข้มแข็งเข้าไว้”

จะเห็นได้ว่าความเท่ห์ของหนังรักเรื่องนี้อยู่ที่บทภาพยนตร์ซึ่งหว่องกาไวเองนำเสนอมุมมองของความรักได้น่าสนใจยิ่งนัก

ในช่วงทศวรรษที่ 90 นับเป็นช่วงเวลาที่ศิลปะหลายแขนงกำลังแสวงหาความแตกต่าง จากขนบเดิมๆของงานศิลปะแบบเก่า ทั้งนี้ผมไม่แน่ใจว่างานศิลปะภาพวาดภาพถ่ายจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความแตกต่างจากงานศิลปะแบบเดิมๆหรือเปล่า ยกตัวอย่างงานศิลป์ร่วมสมัยของศิลปินชาวอเมริกันอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล์ (Andy Warhal) เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เช่นเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าวดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ (alternative) ก็ได้เริ่มต้นขึ้น ทำนองเดียวกับวงการหนังที่ หว่องกาไวได้ทำให้ Chunking Express ฉีกบริบทของหนังรักแบบเก่าๆที่ต้องมีพระเอก นางเอก ตัวอิจฉา รวมไปถึงการบูชาคุณค่าของความรักอย่างสุดซึ้งซึ่งสุดท้ายมักลงเอยด้วยความสุข (Happy Ending) แต่สำหรับ Chunking Express แล้ว หว่องกลับสะท้อนให้เห็น “ภาวะทางอารมณ์รัก” ที่ตัวละครทุกตัวมักมาลงเอยกันที่ “ความเหงา”

ผมเชื่อว่าทุกคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ล้วนมี “ความเหงา” กันทุกคน เหมือนที่ใครบางคนเคยพูดไว้ว่า “ยิ่งคนเยอะ ยิ่งเหงา” อย่างไรก็ตามหว่องได้ทำให้ความเหงาที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้มีเสน่ห์เหมือนกันนะครับ

ผมขออนุญาตปิดท้ายด้วยคำพูดเท่ห์ๆของ 223 ที่ว่า

“If memories could be canned, would they also have expiry dates? If so, I hope they last for centuries”
(ที่มา www.imdb.com)

ใช่แล้วครับ ถ้าความทรงจำของคุณบรรจุใส่กระป๋องได้ คุณอยากให้มันหมดอายุในปีไหนดีล่ะครับ

Hesse004