Aug 15, 2009

“ความจำสั้น…แต่รักฉันยาว” บางสิ่งที่อยากลืม เรากลับจำ





ถ้าจะว่าไปแล้วการสร้าง “หนังรัก” (Love Story) ให้ดูแล้วอิ่ม ประทับใจนั้นค่อนข้างเป็นโจทย์ที่ยากเอาการอยู่นะครับ เพราะหากผู้สร้างเน้นไปที่ “อารมณ์รัก” มากจนเกินไปหนังรักเรื่องนั้นอาจจะหวานปนเลี่ยนจนทำให้ผู้ชม “อิน” กับบทโศกซึ้งเกินสมควร

ด้วยเหตุนี้เองการสร้างหนังรักจึงมักเติม “อารมณ์ขัน” เพื่อสร้างความกลมกล่อมให้กับตัวหนังซึ่งหนังรักที่เจือไปด้วยอารมณ์ขันนี้ภาษาภาพยนตร์เขาเรียกว่า “โรแมนติค คอมเมดี้” (Romantic Comedy) ครับ

เมื่อปีกลายสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน (The American Film) ได้สำรวจความคิดเห็นของสมาชิกกว่า 1,500 คนเกี่ยวกับสิบอันดับหนังรักโรแมนติค คอมเมดี้ ของอเมริกาที่น่าประทับใจ ผลการโหวตปรากฏว่า City Light (1931) ของ ชาร์ลี แชปลิน (Charles Chaplin) เป็นหนังรักโรแมนติค คอมเมดี้ ที่สมาชิกของสถาบันภาพยนตร์อเมริกันประทับใจมากที่สุดครับ ส่วนอันดับสองได้แก่เรื่อง Annie Hall (1977) ของผู้กำกับปัญญาชน “วูดดี้ อัลเลน” (Woody Allen)

โดยส่วนตัวแล้วผมประทับใจหนังโรแมนติค คอมเมดี้จากฝั่งอังกฤษอย่าง Four Wedding and a Funeral (1994), Notting Hill (1999) และ Love Actually (2003) ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้เป็นผลงานของริชาร์ด เคอร์ติส (Richard Curtis) มือเขียนบทภาพยนตร์และกำกับหนังโรแมนติคคอมเมดี้แห่งเกาะอังกฤษ

กลับมาหัวเรื่องที่จั่วไว้ข้างต้นดีกว่าครับ, หนังเรื่อง ความจำสั้น… แต่รักฉันยาว (2552) เป็นผลงานการกำกับของคุณยงยุทธ ทองกองทุน ครับ โดยหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Best of Times

สำหรับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการสร้างสรรค์โดยคุณวรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ , คุณอมราพร แผ่นดินทอง และคุณนนตรา คุ้มวงศ์ ครับ เหตุที่ต้องกล่าวถึงทีมบทภาพยนตร์ด้วยก็เพราะว่าหนังรัก โรแมนติคคอมเมดี้ที่มีเสน่ห์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมือเขียนบทดีๆมาช่วยส่งให้ตัวหนังนั้นน่าติดตาม

“ความจำสั้น… แต่รักฉันยาว” เป็นเรื่องราวความรักของคนสองคู่ สองวัยที่เวียนมาพบกันในช่วงเวลาสั้นๆ หากมันกลับประทับอยู่ในความทรงจำซึ่งกันและกันยาวนาน (ย่อหน้านี้ผมลอกเอามาจากโปรยหัวเรื่องย่อของหนังครับ)

หนังเรื่องนี้เข้าใจหยิบเรื่อง “ความทรงจำ” ที่เกี่ยวกับความรักของคนสองวัยมานำเสนอ เพียงแต่กล่าวถึงความรู้สึกของคนสองคู่สองวัยในมุมที่แตกต่างกัน

ตามธรรมเนียมเดิมนะครับ ผมขออนุญาตไม่เล่าเนื้อหาเพียงแต่หยิบข้อคิดที่ได้จากการดูหนังเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง

หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องความรักได้น่าสนใจมากครับ โดยเฉพาะการจัดการกับความทรงจำที่มีต่อความรักครั้งแรกและรักครั้งสุดท้าย

อันที่จริงแล้วความทรงจำที่มีต่อความรักนั้นบางครั้งมันก็ดู “อิ่มเอม” เวลาหวนกลับไปนึกถึงวันวานที่หวานอยู่ แต่บางคราวหากความทรงจำนั้นมัน “ขม” ไอ้เจ้าความทรงจำเหล่านั้นมันมักจะมาหลอกหลอนเจ้าของอยู่ร่ำไปเวลาที่มันมีอะไรมาสะกิดใจเรา

“ความจำสั้น… แต่รักฉันยาว” เป็นหนังที่พูดถึงความทรงจำที่มีต่อความรักของคนสองวัยครับ รักของวัยหนุ่มสาวเป็นรักครั้งแรกที่เต็มไปด้วยความทรงจำที่เจ็บปวดทั้งตัวพระเอกอย่าง “หมอเก่ง” และนางเอกอย่าง “ฝ้าย” ไอ้ความทรงจำเหล่านี้มันกลับมาสะกิดให้คนทั้งคู่ต้อง “ขมขื่น” ทุกครั้งเวลาที่มีสิ่งเร้ามาหวนให้รำลึกถึง

ในทางกลับกันรักของคนมีอายุ (แก่) อย่างคุณลุงจำรัสและป้าสมพิศ กลับกลายเป็นรักครั้งสุดท้ายที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจที่แม้ว่าบางครั้งอาจจะรู้สึก “สับสน” กลับเงื่อนไขทางจริยธรรมที่ถูกสังคมกำหนดเอาไว้ แต่ท้ายที่สุดแล้วรักของคนแก่กลับเป็นรักที่ “อิ่มเอม” เพราะมันเป็นรักที่เลือกจะเก็บความทรงจำที่ดีๆเอาไว้ก่อนที่มันจะเลือนหายไป

คนบางคนสามารถจดจำเรื่องราวของคนที่เรารักได้มากกว่าเรื่องราวของตัวเราเองเสียอีก ด้วยเหตุนี้เองเวลาที่มันคิดจะลืมมันเลยเป็นอะไรที่ “ยากจะลืมเลือน” อย่างไรก็ตามมนุษย์เราย่อมร่วงโรยไปตามธรรมชาติด้วยเหตุนี้เองความทรงจำดีๆบางอย่างมันกลับค่อย “ลบเลือน” หายไปด้วย

พูดถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงเนื้อเพลง “อยากลืมกลับจำ” ที่เขาร้องว่า “บางสิ่งเราอยากจำ มันกลับลืม” แต่ “บางสิ่งเราอยากลืม มันกลับจำ” เพลงนี้คนแต่งเขาเข้าใจแต่งนะครับเพราะมันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์เรา

เช่นเดียวกับการเก็บความทรงจำก็เป็นคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์เหมือนกันนะครับ เขียนมาถึงตรงนี้แล้วทำให้นึกถึงคำสอนของพุทธองค์เรื่อง “ขันธ์ 5” ว่าความทรงจำก็เป็น “สัญญา”อย่างหนึ่งของมนุษย์ซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งเจ้าสัญญาตัวนี้ก็ค่อยๆเสื่อมหายไป

ท้ายที่สุดผมคิดว่าก่อนเราจะจากโลกใบนี้ไปบางทีเราน่าจะเก็บความทรงจำดีๆไว้บ้างนะครับ บางเรื่องอะไรที่ควรจะจดจำก็พยายามจำมันไว้ให้นานที่สุดเท่าที่เรายังมีลมหายใจอยู่ แต่บางเรื่องที่ไม่น่าจะจำก็ลองทำลืมๆมันไปบ้างก็ได้นะครับ

Hesse004

1 comment:

Unknown said...

สับสนกับตอนท้ายนิดหน่อย

เมื่อรู้แล้วว่า "สัญญา" เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ ซึ่งเมื่อถึงเวลา ก็ต้องเลือนหายไป จะอยากจดจำเอาไว้ทำไมกันน้า

ขันธ์เป็นทุกข์ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ใครที่ยิ่งเพิ่มภาระให้ขันธ์เข้าไปอีก ก็เท่ากับเพิ่มน้ำหนักในการแบกมากขึ้น

พี่ว่า "สัญญา" ยิ่งมาก ยิ่งฟุ้งซ่านล่ะ ^_^