Aug 7, 2009

“โกงแต่ขอให้มีผลงาน” มิจฉาทิฐิของการพัฒนาประเทศ



เมื่อไม่นานมานี้ดูเหมือนว่าผลสำรวจโพลเกี่ยวกับเรื่องการยอมรับ “รัฐบาลที่โกงแต่ขอให้มีผลงาน” นั้นน่าจะสะท้อนค่านิยมบางอย่างของคนไทยเรานะครับ

จะว่าไปแล้ว “โพล” ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ เพียงแต่โพลเป็นตัวบ่งบอกวิธีคิดอะไรบางอย่างของคนที่ถูกสำรวจความคิดเห็น

ปัญหาคลาสสิคอย่างหนึ่งของการศึกษาเรื่อง “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” (Economics of Corruption) คือ จริงๆแล้วคอร์รัปชั่นนั้นมันส่งผลดีหรือผลเสียกับสังคมในแง่ใดบ้าง และหากเราจำเป็นต้องให้มีการคอร์รัปชั่นดำรงอยู่แล้วระดับความเหมาะสมของความเสียหายที่เกิดจากการคอร์รัปชั่นมันควรจะอยู่ในระดับไหนดี

ทุกคนย่อมรู้ดีนะครับว่า การคอร์รัปชั่นนั้นเป็น “มะเร็งร้าย” ของสังคม คอร์รัปชั่นไม่ส่งผลดีต่อสังคมแน่นอน

ในอดีตที่ผ่านมามีนักวิชาการเรื่องคอร์รัปชั่นหลายคนพยายามมองว่าคอร์รัปชั่นเปรียบเสมือนเป็น “น้ำมันหล่อลื่น” (Grease in the Wheel) ของระบบเศรษฐกิจนะครับ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจจะถูกประการหนึ่ง เพราะหากไม่มีการคอร์รัปชั่นแล้วบางที “โครงการดีๆ” อาจจะไม่มีวันเกิดก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้เอง “นักการเมือง” ตั้งแต่ระดับชาติไปจนระดับท้องถิ่นจึงถือโอกาสใช้โครงการต่างๆเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงพร้อมทั้งหากินไปกับโครงการใหม่ๆเหล่านี้

ดูเหมือนว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาอาชีพ “นักการเมือง” จะถูกตราหน้าจากสังคมว่าเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นมากที่สุดอาชีพหนึ่ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนรวมไปถึงมีบทบาทในการตัดสินใจโครงการสำคัญๆของประเทศ

นักการเมือง มักจะทำหน้าที่เปรียบเสมือน “นายหน้า” ที่คอยผลักดันโครงการในท้องถิ่นหรือพื้นที่ของตัวเองเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเงินงบประมาณ โดยได้รับค่าตอบแทนในรูปของค่าคอมมิสชั่นจากการวิ่งเต้นให้โครงการนั้นผ่าน ก่อนจะผันโครงการเหล่านั้นเป็นเงินผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐโดยร่วมมือกับนักธุรกิจ พ่อค้าผู้หวังประโยชน์จากการขายสินค้าและบริการให้รัฐ

ทั้งหมดนี้เป็น “คุโณปการ” ของนักการเมืองครับ พูดง่ายๆคือหากไม่มีเขา การพัฒนาประเทศย่อมทำไม่ได้ กล่าวโดยสรุปแล้วนักการเมืองมักจะทำหน้าที่อยู่สองอย่างครับ โดยหน้าที่หลักเป็นนายหน้าที่ค้าขายโครงการของรัฐโดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นข้ออ้าง เอ๊ย! เป็นที่ตั้งครับ ส่วนหน้าที่รองคือเป็นตัวแทนของประชาชนเฉพาะเวลาใกล้หาเสียงเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการเรื่องคอร์รัปชั่นอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่า คอร์รัปชั่นเปรียบเสมือน “ทรายติดล้อจักรยาน” (Sand in the Wheel) ครับ ลองนึกภาพดูนะครับว่าเวลาทรายมันติดล้อเยอะๆเนี่ยล้อมันจะหมุนไปได้ยังไง

นักวิชาการกลุ่มนี้มองว่าการคอร์รัปชั่นเป็นตัวถ่วงความเจริญของชาติครับ มีงานศึกษาหลายชิ้นพยายามชี้ให้เห็นว่า จริงๆแล้วคอร์รัปชั่นนั้นส่งผลทางลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวครับ

งานชิ้นหนึ่งที่ถูกอ้างอิงเสมอในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น คือ งานของเปาโล เมาโร (Paolo Mauro) เรื่อง Corruption and Growth (1995) ซึ่งเมาโร ใช้วิธีการทางเศรษฐมิติหาความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชั่นและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งผลการศึกษาพบว่าการคอร์รัปชั่นทำให้การลงทุนลดลงและส่งผลไปยังอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงด้วย

การศึกษาชิ้นต่อมาของเมาโร เรื่อง Corruption and the composition of government expenditure (1998)ยังพบอีกว่าการคอร์รัปชั่นนั้นมีผลต่อการลดรายจ่ายของรัฐด้านการศึกษาและสาธารณสุขเนื่องจากงบประมาณจำนวนมากถูกแปรไปเป็นรายจ่ายในการก่อสร้างซ่อมแซมสาธารณูปโภคอย่าง ถนน ซึ่งง่ายต่อการคอร์รัปชั่น

นอกจากงานของ เมาโร แล้วยังมีนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักไอเอ็มเอฟ อย่าง วีโต้ แทนซี่ (Vito Tanzi) และ ฮามิด ดาวูดี้ (Hamid Davoodi) ยังชี้ให้เห็นว่าคอร์รัปชั่นมีส่วนในการลดรายได้ทางภาษีของรัฐทำให้รัฐไม่สามารถเก็บรายได้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

จะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชั่นมันส่งผลกระทบด้านลบไปเสียหมดเลยนะครับ ในแง่หนึ่งเมื่อมีการคอร์รัปชั่นในการจัดเก็บรายได้แล้ว รัฐก็หาเงินได้น้อย แถมเมื่อรัฐเอาเงินภาษีออกมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศแล้วมีการคอร์รัปชั่นกันอีก สินค้าและบริการที่รัฐซื้อย่อมมีราคาแพงอีกทั้งได้ของที่ไม่มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้ไม่เต็มที่ ใช้ไปไม่เท่าไรก็ต้องซ่อมแซมเสียเงินงบประมาณอีก และเมื่อรัฐหาเงินไม่เข้าเป้าท้ายที่สุดก็ต้อง “กู้” ไงล่ะครับ

คอร์รัปชั่นยังทำให้ประเทศเราขาดโอกาสในการพัฒนาคน เพราะคอร์รัปชั่นได้ไปลดรายจ่ายด้านการศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งรายจ่ายในการวิจัยและพัฒนา รายจ่ายเหล่านี้เป็นค่าเสียโอกาสที่สูญเสียไปเพียงเพราะเราต้องเอาเงินงบประมาณไปทุ่มให้กับโครงการเฮงซวยทั้งหลายที่มาจากนักการเมืองที่หวังหากินกับโครงการต่างๆของรัฐ

ผมไม่แน่ใจว่าเรายังจะรับได้อีกหรือครับที่ว่า “โกงแต่ขอให้มีผลงาน” หรือทั้งหมดนี้มันเป็น “มิจฉาทิฐิ” ที่เราเห็นเพียงว่าจะดีจะชั่วก็ขอให้ทำงาน แต่เราไม่เคยตั้งคำถามต่อไปว่าเมื่อมันชั่วแล้วทำงานให้เราผลร้ายที่จะตามมามันจะเป็นอย่างไรหรือเราจะปล่อยให้มันกลายเป็นวงจรอุบาทว์อย่างนี้ไปชั่วลูกชั่วหลานล่ะครับ

Hesse004

No comments: