Nov 15, 2009

2012 เรือโนอาห์ลำสุดท้าย





โหมโรงกันมาพอสมควรนะครับสำหรับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง 2012 ผลงานการกำกับของ โรแลนด์ เอมเมอริช (Roland Emmeich) ผู้กำกับชาวเยอรมันที่เคยฝากผลงานไว้กับภาพยนตร์ดังอย่าง Independence Day (1996) และ The Day After Tomorrow (2004)

หนังเรื่องนี้เปรียบเสมือนตัวแทนคำทำนายอนาคตว่าโลกใบนี้ใกล้จะถึง “กาลอวสาน” ในวันที่ 21 เดือน 12 ปี 2012 ตามคำทานายของชนเผ่ามายา ขณะเดียวกันเอมเมอริชเองก็พยายามหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายโอกาสที่โลกใบนี้จะแตกสลาย ซึ่งถ้าท่านใดที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คงจะร้อนๆหนาวๆได้เหมือนกัน

ทั้งนี้หากเราย้อนดู “ภาพยนตรานุกรม” (Filmography) ของเอมเมอริชจะพบว่าเอมเมอริชได้พูดถึงความเชื่อเกียวกับเรื่อง “วันสิ้นโลก” ไว้ในภาพยนตร์ของเขาอย่างน้อยสองเรื่องครับ คือ The Noah's Ark Principle (1984) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา อย่างไรก็ตามเอมเมอริชได้เนรมิตให้ “วันสิ้นโลก” ตามจินตนาการของเขานั้นปรากฏในหนังเรื่อง The Day After Tomorrow (2004) ซึ่งว่ากันว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด

นับตั้งแต่เปิดฉากศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาดูเหมือนว่าโลกของเราต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงแทบทุกปีก็ว่าได้ โดยเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่คนไทยจดจำได้ดีคือ ปรากฏการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับแสน

จะว่าไปแล้วหนังของเอมเมอริชนั้นทำให้เราต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนะครับเพราะเหตุที่ทำให้โลกต้องถึง “หายนะ” นั้นก็มาจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเองแหละครับ

ทุกวันนี้ประเด็นเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ได้กลายเป็นวาระแห่งโลกไปแล้วโดยเฉพาะปัญหาเรื่องโลกร้อน (Global Warming) ที่ถูกจุดกระแสขึ้นจากนายอัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าปัญหาภาวะโลกร้อนเนี่ยมันดูเหมือนจะแปรผันตรงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศพูดง่ายๆก็คือยิ่งเจริญมากก็ยิ่งร้อนมาก ซึ่งถ้าจะกล่าวไปแล้วมันก็คือ “ต้นทุนอย่างหนึ่งของการพัฒนา” นั่นไงล่ะครับ

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนและการบริโภคนั้นดูเหมือนยิ่งทำให้มนุษย์ต้อง “รังแก” สิ่งแวดล้อมอยู่เสมอๆ เพียงเพื่อแลกกับอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สวยหรูโดยหารู้ไม่ว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้กำลังย้อนกลับมาเล่นงานเราในอนาคต

ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เหมือน “ปัญหาการก่อหนี้สาธารณะ”แหละครับ เพราะคนที่สร้างปัญหา (ก่อหนี้) คือคนยุคเราที่ “ถลุง” ใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่บันยะบันยังแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมนั้นกลับไปตกกับรุ่นลูกรุ่นหลานแทน

ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจึงเสนอให้มีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (Green Tax) ขึ้นเพื่อเป็นการสร้างต้นทุนให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้สินค้าที่มีส่วนทำลายสภาพแวดล้อมและอย่างน้อยที่สุดจะทำให้คนเหล่านี้ได้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น

กลับมาที่หนังกันต่อดีกว่าครับ, โดยส่วนตัวแล้วผมว่าหนังเรื่องนี้มีจุดเด่นอยู่ที่โปรดักชั่นและเอฟเฟคนะครับ ประเภทว่าดูแล้วเกิดจินตนาการได้เลยว่าหาก “วันสิ้นโลก” เกิดขึ้นจริงๆแล้วมันจะมีโลกเราจะมีสภาพอย่างไร

ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดการได้ดูหนังแนวนี้ก็ทำให้เราสามารถ “เผื่อใจ” หรือ “ซ้อม” ไปกับหายนะหมู่ที่กำลังจะมาถึงซึ่งดูเหมือนว่าคนทำหนังเรื่องนี้จะสอนให้เรามี “สติ” เสมอในการเอาชีวิตรอดภายใต้ภาวะคับขันต่างๆ

เอมเมอริชวางพล็อตเรื่องไว้ค่อนข้างลงตัวนะครับโดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เราได้เห็นว่าถึงที่สุดแล้วเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็ฉลาดพอที่จะเอาตัวรอดโดยไม่ยอมจำนนกับฟ้าดินแต่อย่างใดซึ่งวิธีการเอาตัวรอดจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรบกวนท่านผู้อ่านลองไปหาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ดูแล้วกันนะครับ

อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวันสิ้นโลกนั้น คือ โดยทั่วไปแล้วเรามักจะอิงอยู่กับความเชื่อทางศาสนาว่าด้วยจุดจบของโลก อย่างศาสนาฮินดูที่เชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้ทำลายล้างโลก ขณะที่ศาสนาคริสต์ก็เชื่อว่าพระเจ้านั้นเคยทำลายล้างมนุษย์มารอบหนึ่งแล้วโดยใช้น้ำท่วมโลก

เรื่องน้ำท่วมโลกตามความเชื่อของชาวคริสต์นั้นปรากฏอยู่ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 6 เรื่องเรือโนอาห์หรือ Noah‘s Ark ครับ
ทั้งนี้ในพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าพระเจ้าทรงพิโรธมนุษย์เนื่องจากมนุษย์ไม่อยู่ในศีลในธรรมอันดีประพฤติตนชั่วช้า ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงดลบันดาลให้เกิดน้ำท่วมโลกเพื่อทำลายล้างมนุษย์ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงเมตตาให้โอกาสมนุษย์ได้สืบเผ่าพันธุ์ใหม่โดยเลือก “โนอาห์” ซึ่งเป็นคนดีมีศีลธรรมนั้นต่อเรือขึ้นหนึ่งลำแล้วขนครอบครัวลงเรือรวมทั้งสัตว์จำพวกต่างๆชนิดละคู่ลงเรือไปด้วย

ตามตำนานบอกว่าเมื่อโนอาห์ต่อเรือเสร็จพระเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกหนักถึงสี่สิบวันและเกิดน้ำท่วมแผ่นดินอีกร้อยห้าสิบวัน ส่วนเรือของโนอาห์นั้นไปค้างอยู่บนยอดเขาอารารัต (ปัจจุบันอยู่บริเวณพรมแดนตุรกี) และเมื่อน้ำแห้งโนอาห์และครอบครัวจึงรอดชีวิตและพระเจ้าได้มอบ “รุ้งกินน้ำ” ให้กับโนอาห์ไว้เป็นพันธสัญญาว่าจะไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมโลกอีกต่อไปแล้ว

ผมไม่รู้ว่าโลกใบนี้จะแตกสลายไปดังคำทำนายของชาวมายาหรือเปล่านะครับ แต่ผมเองก็ยังเชื่อลึกๆว่ามนุษย์จะสามารถธำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเองไว้ได้ ซึ่งบางทีอาจจะมีใครคิดต่อเรือโนอาห์ขึ้นมาใหม่ก็ได้นะครับ แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า “ตั๋วขึ้นเรือ” ลำสุดท้ายเนี่ยเขาจะเอาอะไรมาวัดล่ะครับระหว่างคุณธรรมหรือเงินตรา

Hesse004

No comments: