Nov 14, 2014

Welcome to conservative world

สี่ปีกว่าที่ผม "ทิ้ง" Blog ตัวเอง โดยไม่ได้อัพ Blog นี้นานมาก เรื่องสุดท้ายที่เขียน คือ วิจารณ์หนังเรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 ...เวลาผ่านไปเร็วจริง ๆ จากที่ผมเริ่มลงมือเขียน Blog อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันนี้ 8 ปีแล้ว ผมก็ยังสนุกกับการเขียนบทความในสิ่งที่ตัวเองสนใจ สี่ปีที่ผ่านไป อย่างน้อย ผมยังได้เขียนหนังสือ เขียนคอลัมน์ และแม้ว่ารูปแบบงานเขียนจะอยู่ในเชิงวิชาการ งานวิจัย แต่ผมก็ยังชอบการเขียนที่เป็น "อิสระ" ไม่ยึดติดกับกรอบใด ๆ ทุกวันนี้งานที่เขียนอยู่มักเน้นไปที่การเขียนเรื่อง "คอร์รัปชั่น" โดยเฉพาะการนำวิชาเศรษฐศาสตร์มาอธิบายปัญหาคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ยังมีเขียนเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยผมสนใจการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ AEC ผมคิดว่าข้อดีของการเขียน Blog คือ การได้ฝึกฝนทักษะทางการเขียนหนังสือ ทักษะที่ว่านี้เราต้องเรียนรู้ที่จะ (1)เลือกเรื่องที่จะเขียนอะไร (2) หาข้อมูลที่จะเขียน (3) ศึกษาสิ่งที่เราจะเขียนให้ละเอียดที่สุด และ (4) ลงมือเขียน โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการเขียนหนังสือเป็น "ศิลปะ" ที่ต้องใช้ทั้งการลำดับความคิด การใช้ตรรกะเหตุผล การเลือกสรรคำที่ใช้ ท้ายที่สุดการเขียนหนังสือได้สะท้อนความเป็นตัวตนของเราจริง ๆ ออกมา ...วันนี้เหตุผลที่ "ครึ้มใจ" ลงมือเขียนอีกครั้ง สาเหตุมาจากความรู้สึกที่ว่า "เมื่อเราเติบโตขึ้น" เราเริ่มมองโลกแบบอนุรักษ์นิยมหรือเปล่า (วะ) หลายปีมาแล้ว ผมไม่เคยคิดเหมือนกันว่า ผมจะต้องมายืนบรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ให้กับนักศึกษาในฐานะ "อาจารย์พิเศษ" การสอนหนังสือทำให้ผมต้องเรียนรู้ที่จะเตรียมตัวโดยเฉพาะการพัฒนาทักษะในการบรรยายและการพูด ซึ่งผมรู้ดีว่าคงต้องฝึกฝนอีกมาก มนุษย์เราสามารถใช้การสื่อสารเป็น "อาวุธ" ไม่ว่าจากการเขียนหนังสือ หรือ การใช้วาทศิลป์ วันนี้ระหว่างที่ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายหัวข้อ "เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น จากทฤษฎีถึงวิธีการปฏิบัติ" สิ่งหนึ่งที่ผมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง คือ ความอนุรักษ์นิยม (Conservative) ที่เพิ่มขึ้น จริงหรือไม่ที่เมื่อเราอายุมากขึ้น เรากำลังก้าวสู่วัย Conservative นั่นหมายถึง เราจะเริ่มรู้สึก "ขัดหูขัดตา" กับพฤติกรรมของเด็กรุ่นหลัง ๆ ซึ่งรุ่นนี้น่าจะเลยรุ่นน้องเราไปแล้ว ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า โลกของผมในวันนี้ กับโลกของเด็ก ๆ เหล่านี้ จะว่าไปแล้วมัน "โคตรต่างกัน" โดยสิ้นเชิง ระหว่างยืนบรรยายแข่งกับเสียงคุยแทรกของเด็กเพียงไม่กี่คน ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่าตัวเองมีความอดทนต่อเรื่องนี้ "น้อยลง" และเมื่อบวกกับพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ผมเพิ่งเห็นในห้องเรียนของเด็กสมัยนี้ เช่น การถ่าย Selfie ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทำให้ผมเริ่มรู้สึกได้ถึง "ความแปลกแยก" ระหว่างรุ่น ความแปลกแยกที่ว่านี้น่าจะเกิดกับอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายต่อหลายท่านที่เริ่มรู้สึกแล้วว่า เรากำลังเริ่มกลายเป็น Conservative และหลงเหลือความเข้าใจที่น้อยลงต่อวัยที่เราเองก็เคยผ่านมา อายุที่เพิ่มขึ้นกับประสบการณ์ในชีวิตทำให้ความเป็นเด็กของเราหรือที่ผมเรียกมันว่า Peter Pan ที่เต็มไปด้วยความซุกซน ช่างฝัน และมีจินตนาการน้อยลง สิ่งที่เข้ามาแทนที่วัยเด็ก คือ โลกที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่ง การวางตัว การรักษาขนบจารีตประเพณีที่มาครอบ การรักษากฎระเบียบของคนนสังคมที่บ่อยครั้งมันเลยเถิดไปถึงเรื่อง "ระบบอาวุโส" หลายครั้งเวลาที่ผมเห็นเด็ก "ล้ำเส้น" จนกลายเป็นขาดมารยาท ผมมักบ่นเป็นภาษาจีนว่า "บ่อตั่วบ่อโส่ย" หรือ ไม่รู้จักเล็กจักโต คำนี้แหละที่ผมคิดว่า ทุกคนเมื่อโตขึ้นมา เราจะเริ่มรู้สึกและใช้มันมากขึ้น ทำนองว่า เฮ้ย! กูอายุมากกว่ามึงเยอะนะ ทำอะไรก็เห็นหัวกูหน่อยดิ ด้วยเหตุนี้ การก้าวสู่วัย Conservative นี้เอง ที่ทำให้คนที่อนุรักษ์นิยมมัก "บ่น" ว่า เด็กสมัยนี้มันแย่ เมื่อเทียบกับสมัยเรา เช่นเดียวกันเมื่อเด็กี่ถูกบ่นกุล่มนี้โตขึ้นก็จะใช้คำพูดเดียวกับที่พวกเขาเคยเจอมา หลายปีมานี้ การได้สอนหนังสือบ้างทำให้เห็นโลกของนักศึกษาไทยในวัยที่ตัวเองพ้นมาได้เกือบ 20 ปีแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากยุคที่พวกผมอยู่คำว่า Email ผมเพิ่งจะมารู้จักตอนปี 4 รุ่นที่มีเพจไว้ตามเพื่อนเข้าห้องเรียน โตขึ้นมา ทำงานได้ ก็เห็นยุคโทรศัพท์มือถือ ที่ประหลาดขึ้นมา คือ มือถือถ่ายรูปได้ จนวันนี้มีเทคโนโลยีไปไกลถึงขั้นที่ว่าเพียงคุณมี Smart Phone หรือ Tablet ความรู้ทั้งโลกก็อยู่ในมือคุณแล้ว...ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะแสวงหามันหรือเปล่า ในยุคของ "สังคมก้มหน้า" เพราะทุกคนหมกมุ่นในโลกของตัวเอง จดจ่ออยู่กับโทรศัพท์และโปรแกรม Social Media อย่าง Facebook หรือ Line ผมว่าคนเรา "ว้าเหว่" และเปลี่ยวเหงามากขึ้น ดูเหมือนเราโหยหาในสิ่งที่เราต้องการ คือ ความสมบูรณ์แบบในชีวิตทั้งรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ การศึกษา อาชีพการงาน ความร่ำรวยหรือแม้แต่การแสวงหา "นิพพาน" ทั้ง ๆ ที่โลกนี้ไ่ม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด... เพราะความสมบูรณ์แบบก็จะต้องถูกแทนที่ด้วย "ความสมบูรณ์แบบกว่า" อย่างน้อยวันนี้ การได้เขียนก็เริ่มทำให้เราเริ่มรู้แล้วว่าเรากำลังจะก้าวสู่วัย Conservative ...Welcome to conservative Hesse004

Jul 24, 2010

"15 ค่ำ เดือน 11" เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ





“บั้งไฟพญานาค” เป็นงานบุญทางพุทธศาสนาที่มีตำนานเล่าขานกันมาตั้งแต่พุทธกาลว่า แต่เดิม “พญานาค” ที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาลนั้นมีนิสัยดุร้าย และเมื่อพุทธองค์ทรงลงมาโปรดสัตว์ที่เมืองบาดาล พญานาคก็เกิดความเลื่อมใสในธรรมจึงปรารถนาที่จะออกบวช แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากเป็นสัตว์จึงไม่สามารถบวชได้ พญานาคจึงขอปวารณาตัวเป็น “พุทธมามกะ” แทน

ตามตำนานยังกล่าวต่อไปอีกว่าหลังจากที่พุทธองค์ทรงเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว พระองค์ทรงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 โดยมีเหล่าเทพเทวาต่างทำบันไดแก้ว บันไดเงิน บันไดทอง ถวายเป็นพุทธบูชา ส่วนมนุษย์เราก็ทำบุญตักบาตรกราบไหว้บูชา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ตักบาตรเทโว” นั่นเองครับ

ครั้นรู้ถึงหูของพญานาค ณ เมืองบาดาล ท่านจึงได้สั่งให้ชาวบาดาลจัดทำ “บั้งไฟพญานาค” เพื่อจุดเฉลิมฉลองเป็นพุทธบูชาเช่นกันจนเป็นที่มาของประเพณีบุญบั้งไฟพญานาคในทุกวันนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็น “ตำนาน” เรื่องบั้งไฟพญานาคที่ชาวริมโขงโดยเฉพาะจังหวัดหนองคายนั้นยึดมั่นเป็นประเพณีงานบุญสืบทอดกันมาช้านานแล้วนะครับ

ว่ากันว่าบั้งไฟพญานาคนั้นมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “บั้งไฟผี” ด้วยเหตุที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนได้ว่ามาจากอะไรกันแน่

โดยเจ้าปรากฏการณ์ประหลาดที่ลูกไฟสีชมพู ไม่มีทั้งกลิ่น ควัน หรือแม้แต่เสียง พุ่งขึ้นเหนือลำน้ำโขงนั้น ได้กลายเป็นที่โจษขานของชาวบ้านและก่อให้เกิด “ศรัทธา” ต่อสัตว์ในตำนานอย่าง “พญานาค” มาช้านาน บางพื้นที่พบรอยพญานาค บางคนบอกว่าเคยเจอพญานาคตัวเป็น ๆ ก็มี

เจ้าลูกไฟประหลาดที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขงแต่ละลูกล้วนมีระดับความสูงตั้งแต่ 1-30 เมตร บางลูกพุ่งสูงถึง 150 เมตร โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 5-10 วินาทีครับ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ บั้งไฟพญานาคนั้นจะปรากฏให้เราได้เห็นเพียงแค่ปีละครั้งในช่วง “วันออกพรรษา” หรือ “วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11”

และอย่างที่ทราบกันนะครับว่าจุดชมบั้งไฟพญานาคที่ชัดเจนที่สุดอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ไล่ตั้งแต่อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี อำเภอบึงกาฬ (ที่ตอนนี้กำลังจะกลายเป็นจังหวัดแล้ว) หน้าวัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ และที่อ่างปลาบึก อำเภอสังคม

“บั้งไฟพญานาค” นับเป็นที่สงสัยใคร่รู้ของเหล่านักวิทยาศาสตร์และไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มที่ทำการศึกษาลูกไฟสีชมพูที่พุ่งเหนือแม่น้ำโขงนี้เชื่อว่าน่าจะเกิดจากก๊าซมีเทน ไนโตรเจน หรือ ฟอสฟอรัสที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ในน้ำ

อย่างไรก็ดีใช่ว่าที่หนองคายจะมีบั้งไฟพญานาคแห่งเดียวนะครับ เพราะจากข้อมูลปรากฏการณ์ประหลาดทั่วโลก พบว่า ในสหรัฐอเมริกาที่มลรัฐมิสซูรี่และเท็กซัส ก็พบเจ้าแสงประหลาดนี้เช่นกันโดยฝรั่งเขาเรียกว่า Marfa Light นอกจากนี้ที่เมืองเจดดาห์ ริมฝั่งทะเลแดง ซาอุดิอาระเบีย ยังพบเห็นเจ้าแสงประหลาดนี้เช่นกัน

ความเชื่อตามตำนานที่ถูกพัฒนารูปแบบมาสู่งานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทยลาวสองฝั่งโขง กับ การพยายามหาคำตอบตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ของคนที่ไม่อาจจะเชื่ออะไรง่าย ๆ ได้กลายเป็น “จุดปะทะ” กันระหว่างผู้คนที่มีชีวิตผูกพันกับวัฒนธรรมดั้งเดิมกับผู้คนที่ยืนยันหนักแน่นว่าทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีที่มาและพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

จุดปะทะกันที่ว่านี้ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” หรือชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า Mekhong Full Moon Party (2002) ของคุณเก้ง “จิระ มะลิกุล” กลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์” เรื่องหนึ่งของเมืองไทยเมื่อประมาณแปดปีก่อนครับ

ถ้าท่านใดได้ดูหนังเรื่องนี้คงจะเข้าใจคล้าย ๆ กันนะครับว่าจุดประสงค์ของหนังเรื่องนี้มิใช่เป็นการลบหลู่ดูถูกตำนานดั้งเดิมแต่อย่างใด หากแต่พยายามชี้ให้เห็น “ความเชื่อ” และ “ความศรัทธา” ของผู้คนที่ตั้งอยู่บนฐานคิดคนละแบบ

ศรัทธาหนึ่งอยู่บนฐานคิดที่เรียกว่า “ศาสนา” และ “ประเพณี” รวมไปถึงความเชื่อของภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเฒ่าคนแก่ที่แม้จะดูตลกและไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่บางสิ่งบางอย่างล้วนแล้วมีเหตุผลตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกระทำนั้น

ในขณะเดียวกันศรัทธาที่อยู่ขั้วตรงข้ามเป็นศรัทธาที่อยู่บนฐานของพลังความรู้ การพิสูจน์ภายใต้กรอบแนวคิดทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์โดยมีเครื่องมือทางสถิติรองรับด้วยความสมเหตุสมผล

ในแง่ของตัวหนังผมขออนุญาตไม่วิจารณ์หรอกนะครับ เนื่องจากหนังเรื่องนี้เป็นหนังไทยคุณภาพเรื่องหนึ่งที่ทางค่ายหนังอย่าง GTH เปิดตัวออกมาได้ยอดเยี่ยม

โดยส่วนตัวขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นที่ผู้สร้างอยากสื่อสารออกมาให้เห็น คือ เรื่องความเชื่อและการลงมือทำตามความเชื่อนั้น หรือ ถ้าพูดตามประโยคคลาสสิคของ “หลวงพ่อโล่ห์” (นำแสดงโดย นพดล ดวงพร หรือ ลุงแนบ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีเพชรพิณทองอันโด่งดังในอีสาน) ก็คงต้องใช้ว่า

“เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด แล้วก็เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ” ครับ

ใช่แล้วครับ องค์ประกอบหนึ่งของการทำอะไรให้สำเร็จและบรรลุเป้าหมายนั้น “ศรัทธา” คือสิ่งสำคัญ เพราะศรัทธาจะถูกแปลงเป็น “ความเชื่อ” ก่อนจะผลักให้เราต้อง “ลงมือทำ”

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประหลาดนะครับ เพราะมนุษย์เรามีความฝัน มีจินตนาการ แต่ทั้งความฝันและจินตนาการของเราจะไม่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมได้หากเราไม่ลงมือทำเลย หรือทำไปแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ

เช่นเดียวกันกับในเรื่องที่พระกลุ่มหนึ่งที่มี “ศรัทธา” ในประเพณีบุญบั้งไฟพญานาคยังเห็นว่า “กุศโลบาย” เรื่องบั้งไฟยังทำให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนหันหน้าเข้าวัดทำบุญประพฤติตัวอยู่ในร่องในรอย ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์กลุ่มนี้จึงเลือกที่จะทำในสิ่งที่ตัวท่านเชื่อเพื่อทำให้ประเพณีบุญบั้งไฟนี้ยังอยู่ และเพื่อทำให้ศรัทธาของชาวพุทธยังอยู่

“ศรัทธา” คือ ทุกสิ่งที่อย่างที่ทำให้คนเรามีเรี่ยวแรงจะทำอะไรก็ได้นะครับ พิสูจน์ให้เห็นแล้วทั้งสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ทั้งหลายหรือสิ่งประดิษฐ์หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มนุษย์เราร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา

โดยส่วนตัวผมชอบเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ เพลง “ผู้ชนะ” ซึ่งร้องโดยคุณเสก โลโซ ทั้งเนื้อร้องและทำนองนับได้ว่าสร้างกำลังใจอย่างดีเวลาคิดจะลงมือทำงานอะไรให้สำเร็จ

ท้ายที่สุดผมคิดว่าหากเรายังมีศรัทธาในเป้าหมายของเราอยู่ บางทีศรัทธานั้นมันจะหล่อเลี้ยงให้เราเดินไปสู่สิ่งที่เราฝันไว้ได้ แม้ว่าจะเจออุปสรรคมากมายเพียงใดแต่เราก็พร้อมจะเดินไปอย่างไม่ลดละไงล่ะครับ

Hesse004

Jul 4, 2010

“ชีวิตโสด” กับ "ข้ออ้างเรื่องความฝัน"





ผมนึกถึงจั่วหัวเอนทรี่นี้แบบ “วาบความคิด” ขอใช้สำนวนของบรมครูนักเขียนอย่างครู “อาจินต์ ปัญจพรรค์” เสียหน่อยนะครับ

บ่อยครั้งไอ้อาการ “วาบความคิด” นี้เองที่ทำให้ผมนั่งเขียนโน่นเขียนนี่ได้เป็นตุเป็นตะ

ลองนั่งย้อนกลับไปดูตัวเองถึงวันแรกที่เริ่มต้นเขียนบล็อกกับวันนี้ ผมเองรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในความคิดของตัวเองไม่น้อย

จริง ๆ แล้ว กัลยาณมิตรหลายท่านแนะนำให้ผมเขียนเรื่องอะไรใกล้ตัวบ้างหรือออกไปในแนว “เบาสมองแต่ออกกำลังความคิด” ไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งผมเองก็หมั่นพยายามฝึกฝนการเขียนแนวนี้อยู่เหมือนกันนะครับ

ที่ว่าวาบความคิดถึงหัวเรื่องที่ว่า “ชีวิตโสด กับ ข้ออ้างเรื่องความฝัน” เกิดขึ้นเพราะผมกับเพื่อนอีกท่านหนึ่งที่เผอิญเป็น “โสด” ด้วยกันทั้งคู่นั่งคุยกันถึงเรื่องการมีครอบครัว การมีชีวิตคู่ การมีลูก ที่ต่างคนพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนไอ้อาการ “องุ่นเปรี้ยว” ของตัวเองว่าไอ้ชีวิตโสดที่พวกตรูเหลืออยู่นั้นมันช่างวิเศษเพียงใด

ผมแอบเปรียบเทียบให้ไอ้เพื่อนท่านนั้นฟังสั้น ๆ ว่า “ก็ยังดีที่กูกับมึงยังไม่หลงเข้าไปในกับดัก”

คงเป็นเรื่อง “ตาบอดคลำช้าง” แน่ ๆ ที่คนไม่เคยใช้ชีวิตคู่อย่างพวกกระผมจะมา “ด่วนสรุป” กันเอาเองว่าการมีชีวิตครอบครัวนั้นมันดูจะ “น่ากลัว” มากกว่า “น่าพิสมัย”

จะว่าไปแล้วคนโสดนั้นมีเพลงประจำชาติอยู่หลายเพลงนะครับ เอาตั้งแต่เพลงแรกเลยคงต้องย้อนไปถึง “สามสิบยังแจ๋ว” ของคุณยอดรัก สลักใจ ที่กลายเป็นเพลงชาติสำหรับสาวโสดอายุขึ้นต้นด้วยเลขสาม ซึ่งหากจะว่าไปพอมาถึงสมัยนี้แล้วเพลงสามสิบยังแจ๋วคงจะร้องได้ไม่เต็มปากเท่าไรนักเพราะสาวสามสิบเดี๋ยวนี้อย่าว่าแต่ “แจ๋ว” เลยครับคุณเธอยัง “เจ๋ง” กว่าผู้ชายอกสามศอกเป็นไหน ๆ

ด้วยความเคารพในเพศแม่, ผมเองรู้สึกว่าผู้หญิงนั้นมีเสน่ห์ทุกวัยแหละครับไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม

ส่วนเพลงชาติของเหล่าชายโสด ผมขอยกให้เพลง “หัวใจบ้าบิ่น” ของน้าแอ๊ด คาราบาว เลยครับ สำหรับผมแล้ว ฟังเพลงนี้ทีไรประมาณว่า “โดนใจทุกครั้ง”ไป

ในฐานะสาวกบาวคนหนึ่ง ผมชอบท่อนที่ร้องว่า “ไม่อยากให้ใครสมน้ำหน้า ว่าเป็นคนไม่มีน้ำยา ไม่อยากให้ใครเค้าดูถูก เยี่ยงสุนัขแหงนมองเครื่องบิน”

แหม่ ! ฟังแล้วเหมือนมันจะบอกให้คนทั้งโลกรู้ว่าจริง ๆ แล้วกูก็มีปัญญาหาเมียกับเค้าได้เหมือนกันนะเฟ้ย

เรื่องที่น่าถกเถียงสำหรับผู้ชายโสดที่มีวัยสมควรจะมีครอบครัวได้แล้ว คือ เอาเข้าจริง ๆ ไอ้ผู้ชายคนนั้นมันพิสมัยวิไลศักดิ์กับการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าเดียวกันหรือเปล่า?

พูดแบบไม่อ้อมก็คือ ตกลงมึงแมนจริงหรือเปล่าวะ?

ด้วยความเคารพในเพศพ่อครับ, ผมว่าใครจะแมนไม่แมน ใครจะเกย์ไม่เกย์ ล้วนแล้วแต่เป็นรสนิยมทางเพศ ซึ่งหากเราเคร่งครัดใน “ทฤษฎีการบริโภคของวิชาเศรษฐศาสตร์” แล้ว เราจะเชื่อในความหลากหลายของรสนิยมของแต่ละคนครับ ซึ่งสำหรับผมแล้วผมว่าเป็นเรื่องปัจเจกเอามาก ๆ ที่เราควรจะตัดสินใจเลือกรสนิยมเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพึงพอใจกับสิ่งที่เราบริโภคนั้นเช่นไร

กลับมาที่เพลงชาติคนโสดกันต่อดีกว่าครับ สำหรับเพลงชาติคนโสดที่มักร้องประชันกันในเวทีคาราโอเกะ เห็นจะหนีไม่พ้น “ทางเดินแห่งรัก” ของพี่แอม เสาวลักษณ์ ลีละบุตร ซึ่งได้พี่ดา ศักดา พัทธสีมา มาร่วมแจมคอรัสด้วย

“ก็ยังคงเดินทาง ยังคงเดินไป หาใครบางคน”
“ยังเต็มใจที่จะตามค้นหา และปฏิเสธที่จะท้อใจ”
“ยินดีที่จะเฝ้ารอ เพื่อเติมเต็มสิ่งที่หายไป”

ผมว่าเนื้อเพลงนี้ดีนะครับ เป็นเพลงที่เข้าอกเข้าใจชีวิตคนโสดเป็นอย่างดี… ใช่แล้วล่ะครับ การตามหาคน ๆ หนึ่งที่ “เหมาะ” หรือ “แมตช์” กับเรานั้นมันต้องใช้เวลาพอสมควร บางคนหามาตลอดชีวิตก็ยังไม่เจอ แต่ก็ยังดีนะครับที่ได้หา แต่บางคนต่างหากที่หาเจอแล้วกลับปล่อยคนที่ “ใช่” นั้นเดินจากไป ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายและเสียใจอยู่ไม่น้อย

จะว่าไปแล้วไม่ว่าชีวิตโสดหรือชีวิตคู่นั้นทุกคนล้วนมี “ต้นทุน” ด้วยกันทั้งนั้นนะครับ โดยเฉพาะหากมองแบบนักเศรษฐศาสตร์แล้วล่ะก็ การเลือกทุกครั้งย่อมมี “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” เกิดขึ้นเสมอแหละครับ

ชีวิตโสดมีต้นทุนเรื่องความเหงาในปัจจุบันและอาจพ่วงต่อไปถึงอนาคตหากวันหนึ่งต้องอยู่ดูแลตัวเองคนเดียวอย่างเงียบเหงา

ส่วนชีวิตคู่นั้นก็มีต้นทุนเช่นกันครับ ตั้งแต่การปรับตัว การปรับใจ ต้นทุนในการสร้างครอบครัว ต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

ในวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นมีสาขาเศรษฐศาสตร์แขนงหนึ่งที่เรียกว่า Family Economics หรือถ้าแปลเป็นไทยคงประมาณว่า “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยครอบครัว” วิชานี้ได้รับการพัฒนาจากปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลนามว่า แกรี่ เบคเกอร์ (Gary Becker) ครับ

เบคเกอร์ อธิบายตั้งแต่ทฤษฎีการเลือกคู่ (Mate Selection) เหตุผลการแต่งงานมีครอบครัว เหตุผลในการหย่าร้าง แถมยังมองว่า “การมีลูก” เป็นการลงทุนชนิดหนึ่งซึ่งก็จะอยู่ที่ว่าผู้ผลิตคือคุณพ่อคุณแม่จะเลือกลงทุนมีลูกโดยเน้นที่ปริมาณ (Quantity) หรือจะเน้นปั๊มลูกอย่างมีคุณภาพ (Quality) นี่ยังไม่นับรวมว่าจะมีลูกอีกกี่คนดีถึงจะทำให้ฐานะครอบครัวอยู่ในสภาวะอุตมภาพ (Optimization)

แหม่ ! นี่หากคิดมากแบบปรมาจารย์เบคเกอร์ เราคงเลือกจะอยู่ครองโสดมากกว่าจะแต่งงานนะครับ แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่เบคเกอร์อธิบายนั้น คือ พฤติกรรมของมนุษย์ในการเลือกคู่ที่ยังไงก็หนีไม่พ้นเรื่องของ “การเลือก” ซึ่งก็คือหัวใจของวิชาเศรษฐศาสตร์นั่นเองแหละครับ

ถ้ามองแบบไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์บ้าง ผมว่าคนโสดหลายคนทั้งชายหญิง แม้จะมีความรักหรือแม้จะมีคนรัก แต่การเลือกที่จะอยู่คนเดียวมากกว่าจะมีครอบครัวนั้น ผมว่าชาวโสดส่วนใหญ่ยังมี “ความฝัน”ที่ตัวเองยังทำไม่เสร็จหรือยังไม่ได้ทำและก็อาจไม่แน่ใจว่าคู่ที่ตัวเองจะเลือกเข้ามาในชีวิตนั้นจะสามารถมา “เติมฝัน”หรือ”สานฝัน” พร้อมกับตัวเองได้จริงหรือเปล่า

ด้วยเหตุนี้คนโสดหลายคนจึงไม่อยากทิ้งความฝันของตัวเองไปหรอกครับ และเลือกที่จะทำฝันนั้นด้วยตัวของตัวเองดีกว่า

ขณะที่หลายท่านฝันไกลไปกว่านั้น คือ มีปณิธานตั้งมั่นใน “พระนิพพาน”ที่ไม่ต้องการกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว ซึ่งผมว่าเมื่อคนเราเข้าใจอะไรถึงจุดหนึ่งมากพอแล้ว “การไม่กลับมาเวียนว่าย” นั้นน่าจะเป็นหนทางหลุดพ้นจากความทุกข์ที่ดีที่สุดแล้วล่ะครับ

ท้ายที่สุดผมว่าคนเราทุกคนมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้นนะครับ เหตุผลที่จะเลือกมีชีวิตโสด เหตุผลที่จะเลือกมีชีวิตคู่ แม้ว่าหลายคนจะมองคนโสดว่าเอา “ข้ออ้างเรื่องความฝัน” มาเป็นเหตุกลบเกลื่อนแต่หากเอาเข้าจริงแล้วไอ้ข้ออ้างเนี่ยแหละครับที่เป็นเหตุผลให้ใครหลายคนเลือกที่จะใช้ชีวิตตามทางของตนเองที่ไม่จำเป็นต้องเดินตามทางใครหรือพูดให้นักเลงหน่อย คือ ไม่จำเป็นต้องย่ำรอยตีนใคร เข้าทำนองเพลง My Way (1969) ของ แฟรงค์ ซินาตร้า (Frank Sinatra)

เขียนมาถึงตรงนี้สงสัยผมต้องบรรจุเพลงชาติสำหรับคนโสดภาคภาษาอังกฤษเข้าไปอีกสักเพลงแล้วสิครับเนี่ย …Yes, it was my way!!

Hesse004

Jun 26, 2010

Facebook โลกส่วนตัวที่คนอื่นมองเห็น




ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ท่องเน็ตอยู่เป็นประจำ อย่างน้อยที่สุดต้องมี “อีเมล์” เป็นของตัวเองกันบ้างล่ะครับ โดยส่วนตัวผมชอบเรียกอีเมล์ว่า “จดหมายไฟฟ้า” พอ ๆ กับอาม่าของผมที่ท่านเรียกมันว่า “อีแมว” ครับ

นอกจากอีเมล์แล้ว หลายท่านนิยมที่จะเขียนบล็อก บางท่านมีบล็อกเป็นของตัวเองที่หมั่น “อัพบล็อก” ให้เพื่อนฝูงอ่านอยู่เป็นประจำ (แม้เพื่อนหมดความรำคาญไปแล้วเพราะส่งมาถี่เหลือเกิน)

สำหรับผมแล้วนิยมการเขียนบล็อกมากที่สุดครับ เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ได้ “ฝึกมือ”แล้ว การเขียนบล็อกและการอ่านบล็อกของคนอื่นยังเป็นการประดับความรู้แบบ “ลำลอง” ที่ไม่ต้องปีนกระไดทางวิชาการมากจนเกินไป

อย่างไรก็ตามตอนนี้ผมกำลังหลงเข้าไปสู่สังคมเครือข่ายออนไลน์ (Social Networking) ชื่อดังนามว่า “Facebook” ครับ

การหลุดเข้าไปในสังคม Facebook หรือ fb คงมิใช่ความบังเอิญเป็นแน่แท้ เพราะเมื่อเกือบสองปีมาแล้ว ผมรู้จัก fb จากเพื่อนชาวอินโดนีเซียเมื่อครั้งที่ไปอบรมคอร์ส Economics of Corruption ที่เยอรมัน

เพื่อนอินโดถามผมว่า Do you have Facebook account?

ผมเองทำหน้างง ๆ กับไอ้คำหลัง ก่อนถามกลับออกไปด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงแต้จิ๋วว่า

What is a Facebook?

เท่านั้นแหละครับ เพื่อนอินโดก็เริ่มสาธยายถึงสังคมเครือข่ายออนไลน์ที่มี Facebook เป็นหัวหอกในการเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ามา “จอย” กันบนโลกอินเตอร์เน็ต

ก่อนหน้านี้ผมคุ้นเคยกับเว็บลักษณะ Social Networking อย่าง “ไฮไฟว์” (Hi5) หรือ “ฮิห้า” ที่คุณโน้ต อุดม แกเรียก

ในสังคมไฮไฟว์ ผมก็แอบมีบัญชีกับเขาด้วยเหมือนกัน แต่รู้สึกไม่นิยมเล่นเพราะดูแล้วจะพ้นวัยอย่างเรา ๆ ไปแล้ว

ภาพ fb กับภาพ Hi5 ในสายตาของผมดูจะไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอกนะครับ เพราะดูเหมือนจะเป็นแหล่งรวมของเด็กวัยรุ่นเจเนอเรชั่น Y (คนที่เกิดช่วงปี 1981-1994)หรือ Z (คนที่เกิดช่วงปี 1995-2007)

อย่างไรก็ตามหลังจากพลัดหลงเข้ามาเล่นในสังคม Facebook แล้ว น่าแปลกที่ว่าคนเล่น fb ส่วนหนึ่งที่ผม Add เป็นเพื่อนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนเจเนอเรชั่น X (คนที่เกิดช่วงปี 1965-1980) เช่นเดียวกับผมครับ

Facebook นั้นถือกำเนิดจากเด็กมหาวิทยาลัย Harvard สุดเนิร์ด 4 คน คือ Mark Zuckerberg, Dustin Moskovitz, Eduardo Saverin และ Chris Hughes ครับ โดยทั้งสี่ได้สร้าง Facebook ขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อสารเฉพาะนักศึกษาของฮาวาร์ดเท่านั้น ก่อนจะขยายตัวไปสู่นักศึกษาในอเมริกาทั่วประเทศ จนกระทั่งเมื่อปี 2006 Facebook จึงปรากฏกายสู่สายตาของนักท่องเน็ตทั่วโลก

ว่ากันว่าทุกวันนี้ Facebook กำลังเดินตามรอยความสำเร็จของ Google โดยมี Sergey Brin และ Lawrence E.Page หรือ แลรี่ เพจ เป็นโมเดลของไทคูนยุคใหม่ และล่าสุดตัว Mark Zuckerberg เองก็ติดอันดับมหาเศรษฐีที่มีอายุน้อยที่สุดในโลกไปแล้วจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ครับ

ในปีแรกที่ Facebook เปิดตัวนั้น ยักษ์ใหญ่อย่าง Yahoo พยายามจะขอซื้อ Facebook ในราคาพันล้านเหรียญดอลลาร์แต่ตัว Zuckerberg เองแกไม่ยอมขายครับ ซึ่งก็คิดถูกแล้วเพราะทุกวันนี้มูลค่าของ Facebook พุ่งไปกว่าหมื่นล้านเหรียญแล้ว

ในเว็บไซด์ Wikipedia ได้พูดถึงที่มาของ Facebook ไว้ว่ามาจากหนังสือที่ใช้แจกสำหรับนักศึกษาฮาวาร์ดที่เรียนมหา’ลัยปีแรกครับ โดยใน Facebook นี้จะมีทั้งชื่อและรูปของเพื่อนที่เข้าเรียนด้วยเพื่อให้เด็กปีหนึ่งสามารถจดจำรูปหน้าค่าตากันได้

ปัจจุบันเจ้า Facebook เนี่ยแหละครับที่เข้ามาครองบทบาทหลักในสังคมเครือข่ายออนไลน์ เพราะลำพัง Email ธรรมดาเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารจำเพาะตัวผู้ใช้ที่ไม่สามารถแสดงออกซึ่งโลกส่วนตัวให้คนอื่นรับรู้ได้ เว้นแต่เราจะ Fwd จดหมายไฟฟ้าฉบับนั้นไปให้ใครต่อใครได้อ่าน

ความพิเศษของ Facebook คือ การเปิดโลกส่วนตัวให้คนอื่นมิตรสหายที่เรา Add เค้าเป็นเพื่อนได้มองเห็นความรู้สึก (What is in your mind?) ว่าตอนนี้เพื่อนคุณหรือคุณกำลังคิดอะไรอยู่และอยากจะแบ่งปัน (Share) ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย

นอกจากนี้เจ้า Facebook ยังสามารถหาเพื่อนและนำพาเพื่อนเก่าสมัยประถม มัธยม มหา’ลัย ที่จากกันไปนานแสนนาน ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมคนรุ่น Generation X อย่างผม จึงเริ่มติดเจ้า Facebook งอมแงม

Facebook เองยังเปิดพื้นที่ให้เราอัพโหลดคลิปที่เราชอบ บทความ ข้อเขียนต่าง ๆ หรือแม้แต่รูปภาพของเราให้คนอื่นได้เห็นกันด้วย ซึ่งจะว่าไปไอ้พื้นที่ส่วนตัวของเราและของเพื่อนเนี่ยแหละครับที่ทำให้ Facebook สามารถสร้างสังคมเครือข่ายออนไลน์ขึ้นมาได้

น่าสนใจเหมือนกันนะครับว่าหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองไทยในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา Facebook ได้กลายเป็นเวทีแสดงออกประมาณว่า “มั่นใจว่าคนไทยเกินล้าน….” ก็ว่ากันไป ซึ่งนี่คือสีสันของ Facebook ที่สามารถนำพาคนที่ไม่รู้จักกันให้เข้ามาสู่ความสนใจเดียวกันได้

โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบ Facebook ในส่วนที่ทำให้ติดต่อเพื่อนเก่าที่ร้างกันไปหลายปี แถมยังได้รำลึกถึงความรู้สึกเก่า ๆ ประมาณ “ถวิลหาอดีต” (Nostalgia) ไม่ว่าจะคลิป MV เพลงสมัยวัยรุ่น คลิปโฆษณาเก่า ๆ หรือแม้แต่ภาพเก่า ๆ ที่เพื่อน ๆ ต่างขุดมา Tag อัลบั้มส่งให้กัน ซึ่งผมว่านี่คือความพิเศษของ Facebook นะครับ

มองในแง่ของภาษาที่ใช้ใน Facebook ก็น่ารักใช่ย่อยครับ กว่าเดือนที่ผมเล่น Facebook ผมพบว่าตัวเองคุ้นเคยกับภาษาใหม่ ๆ ของเด็กยุคนี้ อย่าง ใช่ป่ะ จิงอ่ะ เทอ ช่าย หรือแม้แต่ใช้สัญลักษณ์อย่าง ^^ ^0^ ^_^ เป็นต้น

แต่มีอยู่คำนึงที่ผมว่าน่ารักเอามาก ๆ คือ คำว่า “ชิมิ ชิมิ” ครับ

ท่านผู้อ่านคิดว่าหมายถึงอะไรเหรอครับ

ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าไอ้ “ชิมิ ชิมิ” เนี่ยถ้าออกเสียงแบบแอ๊บแบ๊วนิดนึงแล้วชักสีหน้าให้ตาโตทำปากเล็ก ๆ ก่อนเอียงคอเล็กน้อย แล้วพูด “ชิมิ ชิมิ” เนี่ยมันหมายถึง “ใช่มั๊ย ใช่มั๊ย” ครับ

แหม่ ! ช่างคิดกันจริง ๆ ว่าแล้วขออนุญาตล็อคอินเข้าไปดูโลกส่วนตัวของเพื่อนฝูงเสียหน่อยครับ เผื่อมีอะไรได้เมาท์ ได้เมนท์
ชิมิ ชิมิ...หล่ะตัวเอง ^^

Hesse004

Jun 18, 2010

“เข็มทิศชีวิต” การปฏิบัติธรรมของคนยุคใหม่






กระบวนหนังสือเบสต์เซลเลอร์ที่เราเห็นวางขายตามร้านหนังสือดูเหมือนหนังสือแนวการปฏิบัติธรรมสมัยใหม่จะได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยนะครับ

และหากจะว่าไปแล้วในยุคสมัยของการบริโภคนิยม แม้ว่าเราจะมีสิ่งต่าง ๆ มาบำเรอตอบสนองความสุขของเราอยู่ตลอดเวลา แต่น่าแปลกที่ว่าทำไมเราถึงไม่รู้จักคำว่า “พอ” แถมยังพยายามโหยหาความสุขที่แท้จริงว่ามันอยู่ตรงไหนกันแน่?
ด้วยเหตุนี้แหละครับที่มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนี้มันคล้ายกับอะไรสักอย่างหนึ่งที่ “เบาหวิว” และพร้อมจะล่องลอยไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่กระแสลมจะพาไป

ไอ้ความเบาหวิวที่ว่านี้ทำให้ผมนึกถึงสัญลักษณ์ที่ปรากฏในหนังอยู่สองเรื่องครับ เรื่องแรกผมนึกถึง “ขนนก” ในหนังเรื่อง Forrest Gump (1994) ของ โรเบิร์ต เซเมคิส (Robert Zemekis) ส่วนอีกเรื่องผมนึกถึง “ถุงก๊อบแก๊บ” ที่ลอยเคว้งในหนังเรื่อง American Beauty (1999) ของ แซม เมนเดส (Sam Mendes) ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์มาครองได้

สัญลักษณ์ทั้งสองอย่างไม่ว่าจะเป็น “ขนนก” หรือ “ถุงก๊อบแก๊บ” นั้น หากพิจารณากันให้ดี ๆ แล้วมันทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้มันจำเป็นหรือเปล่าที่ต้องมี “เข็มทิศ” นำทางให้กับชีวิต

หนังสือเรื่อง “เข็มทิศชีวิต” ของคุณฐิตินาถ ณ พัทลุง นับเป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่งนะครับที่ว่าด้วยเรื่องการรู้จักใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับหลักธรรมของพุทธองค์

ทุกวันนี้การปฏิบัติธรรมของคนเมืองสมัยใหม่ดูจะให้ความสำคัญกับการรู้เท่าทันและ “ตามสติ” ของตนเองให้ทันเป็นหลัก และหากจะว่าไปแล้วในสังคมเมืองพุทธของเรา เรามี “ทุนทางธรรม” (Dhamma Capital) ที่แข็งแกร่งทั้งจากพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็น “สายพระป่า” อย่างพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงพ่อชา สุภัทโธ หรือ “สายพระวิชาการ” อย่างท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านเจ้าคุณปยุต (ป.อ. ปยุตโต) ท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ

นอกจากนี้เรายังมีพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่รับไม้ต่อในการเผยแพร่พระธรรมอย่างเข้มแข็ง อย่าง ท่าน ว.วชิรเมธี หลวงพ่อปราโมช ปาโมชโช หลวงพ่อมิตซูโอะ คเวสโก พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นต้น

ทั้งหลายทั้งปวงนี้จะเห็นได้ว่าบ้านเราเต็มไปด้วย “ทุนทางธรรม” จนเกือบจะเรียกได้ว่า “สมบูรณ์” อย่างมาก หากเราเพียงแค่หันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติอย่างตั้งใจ

ด้วยเหตุนี้เองสิ่งที่คุณฐิตินาถ นำมาถ่ายทอดลงในหนังสือ “เข็มทิศชีวิต” นั้น คือ การพยายามใช้ทุนทางธรรมเหล่านี้มาพัฒนาซอฟต์แวร์ของพวกเราที่เรียกว่า “จิตใจ” ให้มีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะอยู่บนโลกนี้ได้ด้วยฐานของความสุขอย่างแท้จริงที่เรียกว่า “ความสงบ” ไงล่ะครับ

อย่างที่หลายท่านทราบกันดีว่าทุกวันนี้เรามักจะพูดกันว่า “ยิ่งวัตถุพัฒนาไปไกล แต่จิตใจกลับเสื่อมถอยลงรวดเร็ว” ทั้งนี้ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันมาจากอานุภาพของ “ความสะดวกสบาย” หรืออานุภาพของ “ความเร็ว” หรือเปล่าที่ทำให้คนเราทุกวันนี้ไม่เรียนรู้ที่จะ “รอคอย” ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองได้รับเพราะทุกอย่างดูง่ายและสะดวกสบายไปเสียหมด

แม้ว่าจะมองอีกมุมหนึ่งว่า “ความเร็ว” ช่วยในการลดต้นทุนและประหยัดเวลาซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดของชีวิตมนุษย์นั้น แต่ก็น่าคิดนะครับว่าไอ้คำว่า “เวลา” ที่ว่ามานี้มันคือ สิ่งสมมติขึ้นมาหรือเปล่า นาฬิกาที่เราใส่ดูเวลาทุกวันนี้มันคือ “เรื่องสมมติ” ขึ้นมาอีกหรือเปล่า

แต่บางเรื่องก็ไม่น่าจะคิดไกล หรือ ตั้งคำถามกันไปเสียขนาดนั้นหรอกนะครับ เพราะทั้งหมดที่เราเผชิญอยู่บนโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการเรียนรู้และเข้าใจชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้กระทั่งวันที่เรา “ตาย”

“ความตาย” ในวันสุดท้าย ชั่วโมงสุดท้าย นาทีสุดท้ายและวินาทีสุดท้าย ก็คืออีกหนึ่งบทเรียนนะครับที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ว่าชีวิตที่เกิดมานี้แท้จริงแล้วอาจจะไม่มีอะไรมากนัก “แค่อยู่ให้ดี มีความสุข ทำความเข้าใจกับตัวเองและสังคมรอบข้าง” เพราะเดี๋ยวเราก็ไม่อยู่แล้ว เหมือนปรัชญาหนังกำลังภายในที่บอกไว้ว่า “ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า”

เมื่อเริ่มคิดได้เช่นนี้ไอ้ภาวะที่เรียกว่า “ปลงก่อนตาย” มันก็คงเกิดขึ้นนะครับ การปลงและวางอย่างเข้าใจ ดูเหมือนว่าชีวิตก็น่าจะจากไปอย่าง “สงบ” ได้

ที่เขียนมานี้ใช่ว่าผมจะทำได้หรอกนะครับ เพียงแต่จะพยายามหัดทำ เพราะถ้าไม่ฝึกหัดกันเลย เดี๋ยวเวลาจากโลกนี้ไปแบบ “กะทันหัน” เดี๋ยวมันจะคิดไม่ทันล่ะสิครับ

นี่เองมั๊งครับที่พุทธองค์ท่านถึงให้เราหมั่น “เจริญสติ” กันอยู่ตลอดเวลา การเจริญสติ คือ รู้และเท่าทันในความคิด เท่าทันในลมหายใจว่า เออตอนนี้กูกำลังคิดอะไรอยู่นะ แน่นอนที่สุดแหละครับว่าไอ้จิตใจเรานี่แหละที่มันมักจะ “ฟุ้ง” ลอยไปไหนมาไหนอยู่เสมอ

การประคับประคองจิตหรือเลี้ยงอารมณ์ให้มันคงเส้นคงวานั้น คุณประโยชน์อย่างหนึ่งมันจะทำให้เราใช้ชีวิต “ผิดพลาด” น้อยลง

หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือเรื่องเข็มทิศชีวิตของคุณฐิตินาถ ผมขออนุญาตสรุปสั้น ๆ ว่าคุณฐิตินาถพยายามจะบอกพวกเราถึงการใช้ชีวิตอย่างมี “สติ” เพราะ สติ คือ เข็มทิศสำคัญที่นำพาให้ชีวิตเราอยู่ด้วยความปรกติสุข” ครับ

ไอ้ความ “ปรกติสุข” นี้แหละครับที่คือสิ่งที่ชีวิตคนทั่วไปต้องการ ถ้าเรียกแบบนักเรียนเศรษฐศาสตร์อย่างผม ก็คงหนีไม่พ้น “ภาวะดุลยภาพ” ของการใช้ชีวิต

ท้ายที่สุดการปฏิบัติธรรมคงไม่ใช่เพียงแค่แฟชั่นของการนุ่งขาวห่มขาว เดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือพูดจาแต่ธรรมะเพียงอย่างเดียวหรอกนะครับ เพราะสิ่งที่ว่ามาทั้งหมดมันคือองค์ประกอบของการปฏิบัติธรรม แต่สาระของการปฏิบัติธรรมนั้นมันน่าจะอยู่ที่ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจตัวเองและภาวะของโลกที่เราเผชิญได้อย่างแท้จริงหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นโลกียสุขหรือโลกุตรสุข

และจะดีไม่น้อยถ้าเรารู้สึก “ปล่อย “และ “วาง” ให้เป็น และจะดียิ่งเข้าไปอีกถ้าเราสามารถ “ปลด” และ “ปลง” ให้ได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักหรอกครับ แต่มันคงไม่ช้าเกินไปหากเราจะเริ่มต้นลองฝึกดู

Hesse004

Apr 9, 2010

Downfall วาระสุดท้ายของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์”





นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ชื่อของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” (Adolf Hitler) ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้านในช่วง 6 ปีของสงคราม (ค.ศ. 1939-1945) และนับแต่นั้นเป็นต้นมาชาวเยอรมันไม่มีใครตั้งชื่อลูกชายว่า “อดอล์ฟ” อีกเลย

ขณะที่ “ฮิตเลอร์” ได้กลายเป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีชาวเยอรมันคนไหนอยากจะจดจำเช่นกัน

หลายท่านที่เคยอ่านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 คงพอจะทราบว่าทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสงครามครั้งนี้

เยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี (Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei) หรือ “พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติของเยอรมนี” มีอุดมการณ์สำคัญ คือ เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชาวเยอรมันและเชื่อว่าชาวเยอรมันนั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่ประเสริฐที่สุดหรือเป็น “อารยันบริสุทธิ์” ขณะเดียวกันนาซีก็แสดงออกด้วยการเกลียดชังยิวและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

พรรคนาซีของฮิตเลอร์เข้าปกครองเยอรมนีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933-1945 และสิ่งที่พลพรรคนาซีได้สร้างไว้ก็คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปกว่าหกล้านชีวิต!!

เรื่องราวของฮิตเลอร์ถูกถ่ายทอดในหลายแง่มุมนะครับ ทั้งแง่มุมทางอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนังสือ “การต่อสู้ของข้าพเจ้า” หรือ Mein Kampf ซึ่งฮิตเลอร์เขียนไว้ช่วงติดคุกเมื่อปี ค.ศ. 1923 นอกจากนี้เรื่องราวของฮิตเลอร์ยังถูกถ่ายทอดในรูปแบบที่พิสดาร เช่น ชีวิตส่วนตัวที่ไม่ค่อยจะปกติรวมไปถึงชีวิตบนเตียงของฮิตเลอร์ด้วย

อย่างไรก็ตามชะตากรรมสุดท้ายของจอมเผด็จการคนนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์อย่างน้อยสามเรื่องนะครับ คือ Hitler: The Last Ten Days (1973) นำแสดงโดยเซอร์อเลค กินเนส (Sir Alec Guinness) ดาราเจ้าบทบาทชาวอังกฤษ , The Bunker (1981) นำแสดงโดยเซอร์แอนโทนี ฮอบกินส์ (Sir Anthony Hopkins) ดาราชาวอังกฤษชั้นครู และ Der Untergang หรือ Downfall (2004) นำแสดงโดย บรูโน กานซ์ (Bruno Ganz) ดาราใหญ่ชาวสวิส

Der Untergang หรือ Downfall (2004) เป็นหนังเยอรมันที่ได้ โอลิเวอร์ เฮอร์ชบีเกิล (Oliver Hirschbiegel) ผู้กำกับชาวเยอรมันมาถ่ายทอดเรื่องราว “วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์” ครับ

Downfall (2004) ทำให้เราเห็นชะตากรรมของฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีคนสนิทที่หลบอยู่ใน “เบอร์ลิน บังเกอร์” (Berlin Bunker) ซึ่งฮิตเลอร์พร้อมที่จะตายอยู่ที่เบอร์ลินโดยไม่หนีไปไหน

นอกจากเราจะได้เห็นช่วงชีวิตสุดท้ายของจอมเผด็จการคนนี้แล้ว เรายังได้เห็นชีวิตผู้คนรอบข้างฮิตเลอร์ตั้งแต่คนสนิทไปยังประชาชนตาดำ ๆ ในเมืองเบอร์ลินที่กำลังเผชิญชะตากรรมจากการที่ถูก”กองทัพแดง” ของโซเวียตประชิดเข้ามา

โอลิเวอร์ เฮอร์ชบีเกิล พยายามเก็บรายละเอียดช่วงสุดท้ายของฮิตเลอร์และคนใกล้ชิดโดยได้ข้อมูลสำคัญจากอดีตเลขานุการส่วนตัวของฮิตเลอร์ คือ Traudl Junge ซึ่งเธอได้บอกเล่าทุกฉากตอนก่อนที่ฮิตเลอร์จะยิงตัวตายพร้อมภรรยานางอีวา บราวน์ (Eva Anna Paula Braun)

สภาพบรรยากาศภายในบังเกอร์ของจอมเผด็จการผู้กำลังจะแพ้สงครามชวนให้เรา “หดหู่” ไม่น้อยนะครับ และดูเหมือนว่าฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีกำลังชดใช้กรรมอย่าง “สาสม” ที่เขาได้ก่อไว้กับผู้คนนับล้าน

ภายในเบอร์ลินบังเกอร์ แต่ละวันฮิตเลอร์ต้องเจอแต่ข่าวร้าย ๆ ตั้งแต่โดนกองทัพแดงทิ้งระเบิดเกือบทุกวัน กำลังทหารที่มีอยู่ไม่สามารถมาช่วยเขาได้ ลูกน้องคนสนิทใกล้ชิดอย่าง แฮร์มาน เกอริ่ง และ ไฮริช ฮิมเลอร์ ทรยศหักหลัง รวมไปถึงการต้องยอมรับสภาพความพ่ายแพ้สงครามครั้งนี้ และท้ายที่สุดฮิตเลอร์ตัดสินใจที่จะ “ฆ่าตัวตาย” พร้อมภรรยาที่เพิ่งจะทำพิธีแต่งงานกันไม่กี่ชั่วโมงก่อนตาย

น่าสนใจนะครับว่า วัฒนธรรมการ “ปลิดชีพ” ตัวเองนั้นถูกปลูกฝังกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงคราม หากในทางการทหารพ่ายแพ้แล้ว การกระทำ “อัตวิบากกรรม” หรือ “ฮาราคีรี” ฆ่าตัวตาย คือ เกียรติอันสูงสุดที่นักรบเหล่านี้เชื่อว่าศักดิ์ศรีของพวกเขายังคงอยู่

บางคนอาจจะคิดว่า “ราคาของชีวิต” นั้น ต่ำกว่า “ราคาของศักดิ์ศรี” ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงยินยอมที่จะสละชีวิตด้วยน้ำมือของตัวเองเพื่อแลกกับ “อิสรภาพทางวิญญาณ” ที่จะไม่ยอมให้ใครพรากไปในฐานะ “เชลย”

มองแง่ร้ายหน่อยวิธีคิดแบบนี้เหมือนคนไม่ยอมรับความจริงและปฏิเสธที่จะพ่ายแพ้

วิธีคิดแบบนี้เราจะพบเห็นในหมู่คนจำพวก “ฆ่าได้แต่หยามไม่ได้” ครับ ซึ่งดูเหมือน ฮิตเลอร์ ก็เป็นหนึ่งในคนจำพวกนี้ด้วย แม้ว่าช่วงที่เขาจะฆ่าตัวตายเขายังลังเลอีกว่าการตายนั้นจะทรมานด้วยหรือเปล่าหากยิงปืนกรอกปากพร้อมกินยาพิษเข้าไปด้วย

ขณะเดียวกันพิธีกรรมการ “ฮาราคีรี” ของเหล่านักรบซามูไร ดูจะเข้าใจถึงปรัชญาของความตายได้มากกว่าการปลิดชีพตัวเองธรรมดานะครับ เพราะการกระทำฮาราครีนั้นต้องกระทำโดยสงบด้วยการ “คว้านท้อง” ตัวเองโดยที่ไม่แสดงความเจ็บปวดออกมาทางสีหน้าและแววตา ซึ่งเหล่าซามูไรเชื่อว่าหากกระทำฮาราคีรีสำเร็จนั่นหมายถึงเกียรติอันสูงสุดของชีวิตนักรบแล้ว

ในทางกลับกันครับ คนที่มีวิธีคิดแบบว่า “ราคาของชีวิต” นั้นยังสูงกว่า “ราคาของศักดิ์ศรี” แล้ว คนประเภทนี้จะพยายามตะเกียกตะกาย รักษาชีวิตของตัวเองเอาไว้อย่างน้อยที่สุดยังมีลมหายใจที่ได้เห็นอนาคตของตัวเองในวันหน้า แม้บางทีอาจจะต้องเจ็บปวดกับการสูญเสียอิสรภาพทางจิตวิญญาณก็ตาม

แน่นอนที่สุดว่าความตายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้นหรอกครับ ดังนั้นชีวิตที่เกิดมาจึงควรเป็นชีวิตที่มีคุณค่า หากจะตายอย่างไรหรือจะแลกความตายนั้นกับสิ่งใดแล้ว ก็ขออย่าให้มันต้องตายอย่าง “ไร้ค่า” เลยนะครับ

ประวัติศาสตร์มักจะ “จารึก” บุคคลไว้สองประเภทนะครับ คนหนึ่ง คือ “วีรบุรุษ” อีกคนหนึ่ง คือ “ทรราชย์” แต่ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนจารึกประวัติศาสตร์นั้น ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นผู้ชนะที่เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

Mar 19, 2010

คารวะ “จ่าเพียรขาเหล็ก นักรบแห่งเทือกเขาบูโด” อย่าให้คอร์รัปชั่นต้องทำร้ายคนดีอีกเลย




เรื่องราวการเสียสละของท่านพันตำรวจเอกสมเพียร เอกสมญา ผู้กำกับ สภอ. บันนังสตา จังหวัดยะลา จะกลายเป็น “แบบอย่างที่ดี” ให้คนไทยได้เรียนรู้ว่า แท้จริงแล้วสังคมนี้ยังไม่ขาดแคลน คนดี เพียงแต่ “ความดี” มักจะปรากฏให้เห็นกันตอนที่คนดีได้จากไปแล้ว

คงไม่ต้องกล่าวอะไรมากมายเกี่ยวกับเรื่องราวของนายตำรวจท่านนี้ เนื่องจากสื่อหลายแขนงได้นำเสนอชีวิตของท่านไปโดยละเอียดแล้ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหลือไว้จากกรณีศึกษาของผู้กำกับคนกล้าท่านนี้ คือ สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรบ้างจากปัญหาคอร์รัปชั่นในการซื้อขายตำแหน่งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งของท่านอาจารย์ศุภชัย ยาวะประภาษ ที่ศึกษาเกี่ยวกับความคิดเห็นของข้าราชการที่มีต่อการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งท่านอาจารย์ศุภชัยได้สรุปลักษณะของการซื้อขายตำแหน่งไว้ว่ามีอยู่หกแบบ คือ ใช้เงินซื้อตำแหน่งโดยตรงกับผู้บังคับบัญชา, ให้สิ่งของที่มีมูลค่าสูงเป็นครั้งคราว, ให้สิ่งของตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง, ใช้การทำธุรกิจร่วมกัน เช่น การให้หุ้นลม, ใช้ความสนิทสนมส่วนตัว, และให้บริการรับใช้ส่วนตัวแทบทุกเรื่องอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ (ประจบ หรือ เลีย)

จะเห็นได้ว่าการซื้อขายตำแหน่งนั้นเป็นการคอร์รัปชั่นประเภทหนึ่งนะครับ ซึ่งนอกจากจะทำลายขวัญกำลังใจของคนทำงานแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ยังมองว่าการซื้อขายตำแหน่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพ เพราะอาจเกิดปัญหาที่เรียกว่า Adverse Selection คือ ได้คนที่ผิดฝาผิดตัวมาทำงาน

โดยทั่วไปแล้วการคอร์รัปชั่นนั้นมีความเกี่ยวพันกันในทุกภาคส่วนของสังคม อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านคอร์รัปชั่นศึกษา (Corruption study) ได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า มีบุคคลอยู่ 3 กลุ่ม ที่ขับเคลื่อนให้กลไกการคอร์รัปชั่นนั้นทำงานได้

กลุ่มบุคคลที่ว่ามานี้ประกอบไปด้วยนักการเมือง ข้าราชการ และ นักธุรกิจ ครับ โดยทั้งสามกลุ่มนี้พยายามจัดวาง “สมดุลแห่งผลประโยชน์” (Balance of Benefit) ให้กลุ่มตนเองได้รับความพึงพอใจสูงสุด ด้วยเหตุนี้กลไกการคอร์รัปชั่นจึงหมุนไปภายใต้ความสัมพันธ์ของคนสามกลุ่มนี้ ซึ่งนักวิชาการเรียกความสัมพันธ์นี้ว่า “สามเหลี่ยมเหล็กของการคอร์รัปชั่น” หรือ Iron Triangle ครับ

Iron Triangle เป็นแนวคิดของนักรัฐศาสตร์อเมริกันที่ชื่อ Grant McConnell ซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ของนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจ ในสหรัฐอเมริกา โดยยกตัวอย่างเรื่องการจัดซื้ออาวุธของรัฐบาลอเมริกันซึ่งเกี่ยวพันกับคนสามกลุ่ม นอกจากนี้ McConnell พบว่า ยิ่งคนทั้งสามกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กัน “แนบแน่น” มากขึ้นเท่าไร โอกาสที่จะเกิดการคอร์รัปชั่นยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

หากมองในแง่ของภาคธุรกิจแล้ว การพยายามสร้างอำนาจผูกขาดทางธุรกิจและหาประโยชน์เพื่อความร่ำรวยนั้นเป็นเป้าหมายสูงสุดของนักธุรกิจทุกคน ด้วยเหตุนี้นักธุรกิจจึงจำเป็นต้องอาศัย “สายสัมพันธ์” (Connection) กับคนของภาครัฐทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำ โดยนักธุรกิจมุ่งหวังให้ธุรกิจของตนได้รับความสะดวกหรือได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากรัฐ ตลอดจนมีโอกาสได้เป็นคู่สัญญาของรัฐในอนาคต ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากในแต่ละปีภาคธุรกิจยินดีที่จะสนับสนุนทางการเงินให้กับพรรคการเมืองทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะ

อย่างไรก็ตามคนที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย เอื้อประโยชน์หรือขัดประโยชน์ให้กับนักธุรกิจได้ คือ นักการเมือง หรือ “ฝ่ายการเมือง” ซึ่งจุดมุ่งหมายของพรรคการเมืองทุกพรรค คือ ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาล ดังนั้น ฝ่ายการเมืองจึงพยายามหาทุนเข้าพรรคทุกวิถีทาง เพื่อประโยชน์ในการสร้างฐานอำนาจตลอดจนทำ “กิจกรรมทางการเมือง” ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอย่าง “ซื้อเสียง” ในการทุจริตเลือกตั้ง เป็นต้น

ขณะที่ฝ่ายการเมืองทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบาย นักการเมืองจำเป็นต้องอาศัย “ข้าราชการ” เป็นมือไม้ผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่ตนเองและภาคธุรกิจคิดขึ้นมาให้เกิดเป็น “โครงการ” ได้จริง ๆ ดังนั้น ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้วงจรการคอร์รัปชั่นนี้หมุนไปได้สมบูรณ์

ข้าราชการมุ่งหวังที่จะแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องโดยพยายามสร้างสายสัมพันธ์ทั้งจากฝ่ายการเมืองและภาคธุรกิจ โดยข้าราชการอาศัยฝ่ายการเมืองเพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุนในการเลื่อนตำแหน่ง ขณะที่ต้องการเงินทุนจากภาคธุรกิจเพื่อใช้เป็นปัจจัยในการซื้อตำแหน่ง

หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว การซื้อขายตำแหน่ง คือ การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic Rent Seeking) รูปแบบหนึ่งของข้าราชการ โดยข้าราชการจะพยายามแสวงหาประโยชน์จาก “ค่าเช่าประจำตำแหน่ง” ที่ตัวเองสู้อุตส่าห์เสียเงินซื้อตำแหน่งนี้มา และเมื่อเข้ามาอยู่ในตำแหน่งนี้แล้วจึงต้องพยายาม “ถอนทุนคืน” บวก “กำไร” ให้ได้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี ความแน่นแฟ้นของคนทั้งสามกลุ่มนี้จะมีมากยิ่งขึ้น หากสังคมนั้นเต็มไปด้วย “ระบบอุปถัมภ์” (Patronage) ที่แข็งแรงครับ แม้ว่าระบบอุปถัมภ์จะเป็นระบบที่มีคุณในแง่ “ต่างตอบแทนกัน” (Reciprocal) ระหว่างผู้ให้อุปถัมภ์ (Patron) และผู้รับการอุปถัมภ์ (Client) แต่อย่างไรก็ตามหากการอุปถัมภ์ถูกนำมาใช้เป็นฐานในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว โอกาสที่ระบบนี้จะเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่นย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย อีกทั้งยังทำลาย “ระบบคุณธรรม” (Merit System) ซึ่งควรจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการส่งเสริมคนดีได้ขึ้นไปใช้อำนาจรัฐ

ทุกวันนี้เราพูดเรื่อง “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) กันเสียจนเกร่อแล้วนะครับ เรามีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชั่น รวมไปถึงเราพยายามเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาหลายประการเพื่อลดการคอร์รัปชั่น

แต่สิ่งที่น่าคิด คือ แล้วเราได้ทำอย่างที่พูดหรืออย่างที่ได้ศึกษากันบ้างหรือเปล่าครับ ?

ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังมีข้าราชการอย่างผู้กำกับสมเพียรอีกเยอะนะครับ เพียงแต่ว่าคนเหล่านี้มักจะก้มหน้าก้มตาทำงานไปโดยไม่ปริปากบ่นแต่อย่างใด คนเหล่านี้ไม่ต้องการแสดงตัวกับสื่อว่าพวกเขานั้นเป็น “คนดี” มากน้อยแค่ไหน เพราะพวกเขาเชื่อว่าการทำความดีนั้นไม่จำเป็นต้อง “โอ่” หรือ “อวด” ให้ใครรู้แต่อย่างใด

ปัญหาคอร์รัปชั่นในการซื้อขายตำแหน่งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำร้ายคนดี ๆ คนที่อุทิศตนเพื่อแผ่นดินเกิดอย่างแท้จริง แม้ว่าทุกวันนี้บ้านเราจะมีตำรวจประเภท “อัปรีย์ชน” กันอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง แต่อย่างน้อยที่สุดเรายังได้เห็นตำรวจ “น้ำดี” อย่างท่านผู้กำกับสมเพียร ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ “สุจริตชน” ทั้งหลายอยากเดินตามรอยและเอาเป็นเยี่ยงอย่างในการทำงานรับใช้แผ่นดิน

เรื่องราวของท่านผู้กำกับสมเพียร นักรบแห่งเทือกเขาบูโด ทำให้ผมนึกถึงคำโบราณที่เคยสอนไว้ว่า “ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว” บางทีความตายของคนระดับนายพันดูจะยิ่งใหญ่กว่าความตายของคนระดับแม่ทัพนายกองบางคนอีกนะครับ

ท้ายสุดนี้ ผมยังอดนึกถึงภาษิตสมัยใหม่ที่เขียนไว้น่ารัก ๆ ว่า “ความดีเหมือนกางเกงใน ควรใส่ติดตัวไว้ แต่ไม่ต้องนำมาอวดในที่สาธารณะ”

แต่..แหม่! ทุกวันนี้ดูเหมือนจะมีพวกชอบใส่กางเกงในออกมาโชว์กันเสียเหลือเกินนะครับ

Hesse004

Feb 27, 2010

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในฐานะ “คุณพ่อรู้ดี”






ว่ากันว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กนักเรียนชั้น ม. 6 ปีนี้เป็นการสอบที่วุ่นวายที่สุดเท่าที่เคยมีมานะครับ เหตุที่วุ่นวายก็เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการและข้อสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

แรกเริ่มเดิมทีระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษานั้นใช้ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “การสอบเอนทรานซ์” (Entrance) ซึ่งในอดีตอยู่ภายใต้การดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือ สกอ.)

ระบบการสอบเอนทรานซ์เป็นระบบที่ใช้มาต่อเนื่องยาวนานกว่าสี่สิบปีครับ แต่อย่างไรก็ดีระบบดังกล่าวเป็นระบบการคัดเลือกที่มุ่งเน้นไปในเชิงการสอบแข่งขันมากกว่าที่จะวัดองค์ความรู้ของผู้เรียนได้ครบด้าน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยพยายามปรับปรุงระบบการคัดเลือกอยู่บ่อยครั้งเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของระบบนี้ เช่น ปรับลดการเลือกอันดับจากเดิมที่เคยให้นักเรียนเลือกได้หกอันดับ เหลือห้า และเหลือสี่อันดับในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาการเลือกคณะแบบ “เผื่อเลือก” แล้วสละสิทธิ์ซึ่งทำให้ไปกันที่นั่งของนักเรียนคนอื่นที่ต้องการเรียน นอกจากนี้ทบวงมหาวิทยาลัยยังพยายามสกัดกั้นเด็กสอบเทียบ ม.6 ไม่ให้เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยก่อนวัยอันควร ทำให้แฟชั่น “การสอบเทียบ” ม.6 ค่อย ๆ หายไปในที่สุด

ในเวลาต่อสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้พิจารณาระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐระบบใหม่โดยมีเจตนารมณ์ที่จะลดการเข่งขันแล้วหันมาใช้ระบบการพิจารณาผลการเรียนของนักเรียนในช่วง ม.ปลาย ประกอบกับการสอบวัดผลในหลักสูตร ดังนั้น ระบบการคัดเลือกจึงเปลี่ยนมาเป็นระบบการคัดเลือกแบบ “แอดมิสชั่นส์” (Admission) หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (Central Admission) ครับ

ทั้งนี้ระบบการคัดเลือกดังกล่าวถูกนำมาแทนระบบการสอบเอนทรานซ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 หรือปีการศึกษา 2548 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้นักเรียนชั้นมัธยมปลายที่ประสงค์จะเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะต้องพยายามทำเกรดในโรงเรียนให้ดีเพื่อเอา GPA มาคิดในการเลือกคณะ รวมไปถึงวางแผน “การกวดวิชา” ที่กลายเป็น “สินค้าจำเป็น” ของนักเรียนชั้นมัธยมปลายไปเสียแล้ว

ปัจจุบันผู้ดูแลเรื่องการสอบคัดเลือกภายใต้ระบบ Central Admission นี้ คือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 โดย สทศ. ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการศึกษา วิจัย พัฒนาและให้บริการประเมินผลทางการศึกษาและทดสอบทางการศึกษา ดังนั้น สทศ. จึงเต็มไปด้วยนักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแบบทดสอบ

สทศ. ยังทำหน้าที่เป็น “แม่งาน” ในการทดสอบสำคัญ ๆ อย่าง O-NET (Ordinary National Education Test), GAT (General Aptitude Test) และ PAT (Professional Aptitude Test) ซึ่งการสอบทั้งสามอย่างนี้นักเรียนชั้น ม. 6 จะต้องทำการทดสอบเพื่อนำผลสอบไปยื่นสมัครคัดเลือกในระบบ Central Admission ต่อ ด้วยเหตุนี้เอง สทศ. ในฐานะผู้จัดสอบและผู้ออกข้อสอบจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะคัดเลือกนักเรียนให้เข้าเรียนได้ตรงตามความต้องการของสถาบันอุดมศึกษา

สำหรับการสอบคัดเลือกภายใต้ระบบ Central Admission ในปีนี้ นักเรียนชั้น ม. 6 จะต้องเจอข้อสอบแบบใหม่ที่เรียกว่า GAT และ PAT ครับ ซึ่งข้อสอบทั้งสองชุดนี้ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่ข้อสอบเดิมที่เรียกว่า A-NET (Advanced National Education Test) โดย GAT เป็นการทดสอบความถนัดทั่วไป ที่ทาง สทศ. ต้องการวัดกระบวนการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยว่ามีความคิดวิเคราะห์เป็นระบบเป็นเหตุเป็นผลดีหรือเปล่า ซึ่งก็น่าสนใจนะครับว่าผลสอบ GAT ครั้งล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. 2552 นักเรียน ม.6 กว่าร้อยละ 75 ได้คะแนนสอบ GAT ไม่ถึง 150 คะแนน หรือครึ่งหนึ่งจากคะแนนเต็มทั้งหมด 300 คะแนน และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ เด็กไทยถึงร้อยละ 24.39 มีคะแนนอยู่ระหว่าง 30.01-60.00 คะแนน และร้อยละ 21.79 มีคะแนนอยู่ระหว่าง 60.01-90.00 คะแนน !!

ผลสอบดังกล่าวอาจจะอนุมานได้สองประการนะครับ ว่า หนึ่งเด็กไทยเรายังขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ดีเพราะทำคะแนนสอบของ สทศ. ได้น้อย กับ สอง สทศ. ออกข้อสอบยากเกินไปและแบบทดสอบดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะที่จะมาวัดเด็กนักเรียนไทยที่ส่วนใหญ่ถูกระบบการศึกษาสอนให้ “ท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง” มาโดยตลอด

น่าสนใจอีกเหมือนกันว่า สทศ. ออกข้อสอบ GAT ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเด็กไทยทุกคนต้องมีทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์เพราะเชื่อว่าการศึกษาในโรงเรียนนั้นสามารถสอนให้เด็กของเราคิดเป็นมากกว่าท่องเป็น

คะแนนดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาของไทยที่เราพูดเรื่องนี้กันซ้ำซากจนกลายเป็นเรื่องที่น่ารำคาญไปแล้ว มิพักต้องเอ่ยถึงการที่ สทศ. พยายาม “ดัดหลัง” เหล่า “ติวเตอร์” ไม่ให้สามารถจับทางข้อสอบ GAT ได้โดยอ้างว่านักเรียนไม่จำเป็นต้องไปกวดวิชา แต่เรื่องที่น่าขันไปกว่านั้นคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นพรีเซนเตอร์สนับสนุนให้เด็กไทยได้ดูช่อง Tutor Channel ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นการทำงานที่มันไปกันคนละทิศละทางอย่างสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับการออกข้อสอบ O-NET ที่ผ่านมา ที่ทำให้นักเรียนชั้น ม.6 ออกมาตั้งคำถามถึงมาตรฐานการออกข้อสอบของ สทศ. ว่า “เหมาะสม” แล้วหรือที่จะให้เด็กเลือกคำตอบที่ถูกที่มากกว่าหนึ่งข้อ เหมาะสมแล้วหรือที่จะให้นักเรียนต้องมานั่ง “เดาใจ” คนออกข้อสอบว่าจะจัดงานเลี้ยงต้องใช้ผ้าปูโต๊ะสีอะไร? ใช้ดอกไม้สีอะไร? หรือ แม้แต่หากเจอเหตุการณ์ทำนองว่า “ท้องในวัยเรียน” แล้วจะต้องเลือกทางเลือกอะไร?

คำถามประเภทนี้ไม่น่าจะเป็นคำถามที่มาวัดความรู้พื้นฐานของนักเรียนชั้นมัธยมปลายเพื่อเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย คำถามประเภทนี้มีลักษณะเป็นคำถาม “เปิด” มากกว่าคำถามปิด

ส่วนกรณีที่วิชาสังคมศึกษาให้นักเรียนเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้หลายชอยส์แต่หากเลือกผิดไปหนึ่งชอยส์ก็จะไม่ได้คะแนนนั้น สทศ. บอกว่า ในชีวิตจริงคนเรามีทางเลือกได้หลายทางไม่ได้มีทางเลือกทางเดียว ซึ่งก็ถือว่ามีเหตุผลแต่จะว่าไปแล้วเวลาที่คนเราตัดสินใจทำอะไรสักอย่างนั้นเราจำเป็นต้องหา “ทางเลือกที่ดีที่สุด” ให้กับตัวเองไม่ใช่หรือครับ ดังนั้นปรัชญาในการทำข้อสอบปรนัยจึงต้องเลือกคำตอบที่ดีที่สุด ไม่ใช่เลือกหลาย ๆ คำตอบที่ถูก

คำถามที่เด็ก ๆ ออกมาถามถึง “ความเหมาะสม” ที่ สทศ. ผลิตข้อสอบเหล่านี้ออกมาเป็นคำถามที่ไม่ควรมองข้ามและสมควรอย่างยิ่งที่จะต้อง “รับฟัง” เด็ก ๆ นะครับ เพราะพวกเขาก็คือเสียงหนึ่งในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของพวกท่าน คะแนนแต่ละคะแนนที่หายไปหรือคลุมเครือล้วนกำหนดชะตาชีวิตของนักเรียนแต่ละคนว่าสมควรจะได้เรียนคณะที่พวกเขาปรารถนาหรือไม่

น่าสนใจถึงวิธีคิดของ “คนออกข้อสอบ” ที่พยายามจะสกัดกั้นไม่ให้เด็กเรียนพิเศษทุกวิถีทางซึ่งหากมองด้วยใจที่เป็นธรรมแล้ว การเรียนพิเศษเป็นสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียนและผู้ปกครองที่ สทศ. ไม่สมควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือจัดการกับปัญหานี้ หากแต่ สทศ. และกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะ “สำเหนียก” ข้อเท็จจริงได้แล้วว่า เพราะเหตุใดการศึกษาในระบบมันถึงล้มเหลวมากจนกระทั่งเด็กนักเรียนต้องหันไปพึ่งการศึกษานอกระบบ เพราะเหตุใดครูในโรงเรียนจึง “กั๊ก” บทเรียนบางเรื่องเพื่อเก็บไว้สอนนักเรียนที่มาเรียนพิเศษกับตัวเองนอกเวลาเรียน

การแสดงบทบาทของ สทศ. ที่เป็นมากกว่าผู้จัดสอบ ออกข้อสอบ และมีรายได้ผูกขาดจากการจัดสอบอย่างเป็นกอบเป็นกำนั้นทำให้อดคิดไม่ได้ว่า สทศ. พยายามจะทำตัวเป็น “คุณพ่อคุณแม่รู้ดี” ไปเสียทุกเรื่อง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วหากต้องการจะวัดความรู้ของเด็กไทยว่ามีกระบวนการคิดวิเคราะห์เป็นหรือไม่ มีองค์ความรู้ที่ครบตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาหรือเปล่านั้น สทศ. ควรจะออกข้อสอบแบบ “อัตนัย” ไปเลยนะครับ เพราะข้อสอบประเภทนี้สามารถวัดตรรกะความคิดของเด็กรวมทั้งการใช้เหตุผลได้มากกว่าต้องมานั่งกาชอยส์กัน

เผื่อบางที สทศ. อาจจะได้ความคำตอบของเด็กที่แตกต่างไปจากสี่ชอยส์ที่ว่า “ถ้านางสาวนิดท้องในวัยเรียนแล้วจะต้องทำอย่างไร? ระหว่างลาออกไปคลอดลูก แจ้งความหาผู้รับผิดชอบ หรือ ไปทำแท้งเอาเด็กออก

Hesse004

Jan 31, 2010

“ก้อนหินก้อนนั้น” ปรัชญาของการปล่อยวาง…แต่ไม่ใช่ทิ้งขว้าง





เอนทรี่นี้ขออนุญาตสลับมาเล่าเรื่อง “เพลง” บ้างนะครับ หลังจากเขียนถึงเรื่องหนังเสียส่วนใหญ่

จะว่าไปแล้ววงการเพลงไทยดูจะมีเพลงให้ฟัง “หลากหลาย” นะครับ มีศิลปินหน้าใหม่เกิดดับไม่เว้นแต่ละวัน อย่างไรก็ตามเพลงตลาดส่วนใหญ่มักจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ซึ่งนั่นหมายความว่า “คุณค่า” ของเพลงเหล่านี้หมดสมัยไปพร้อม ๆ กับกระแส (Hit)

ในฐานะที่ชอบฟังเพลง ผมมักจะชอบดูความหมายของเนื้อเพลงไปด้วยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมชอบอ่านอะไรบางอย่างใน “เนื้อเพลง”

แน่นอนครับว่าทุกวันนี้บ้านเรามี “คนแต่งเพลง” มากมายซึ่งคนแต่งเพลงเหล่านี้มักจะสะท้อนตัวตนของเขาผ่านเนื้อเพลงที่พวกเขาเขียน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก๋าอย่างคุณ “ดี้” นิติพงษ์ ห่อนาค ที่เขียนเพลงออกมาได้ “โดน” ใจตั้งแต่คนหนุ่มยันคนแก่ คุณ “สีฟ้า” ที่เขียนเพลงเพราะได้เป็นอมตะ หรือจะเป็นรุ่นกลาง ๆ อย่างคุณบอย โกสิยพงษ์ ที่เขียนเพลงรักได้ถูกใจยิ่งนัก ส่วนรุ่นใหม่ผมขออนุญาตยกตำแหน่งนี้ให้กับคุณบอย “ตรัย ภูมิรัตน์” ที่เขียนเพลงรักได้ “ละมุนละไม” ไม่แพ้คุณบอยใหญ่เลยทีเดียว

โดยส่วนตัวแล้วผมมีเพลงโปรดอยู่หลายเพลงนะครับ เพลงที่ชอบและโดนใจที่สุดเห็นจะเป็น เพลง “ทะเลใจ” ของน้าแอ้ด คาราบาว ที่รู้สึกว่าฟังกี่ครั้งกี่ครั้งก็รู้สึก “คิดตาม” ได้เสมอ หรือจะเป็นเพลงอย่าง “วันเวลา” ของน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ที่ฟังทุกครั้งก็รู้สึกถึง “ความเหงา” เช่นเดียวกับเพลง “คืนรัง” ของน้าหงา คาราวาน ที่ฟังแล้วรู้สึก “พ่ายแพ้” ตามคนร้องไปด้วย

ทั้งหมดที่ว่ามาเป็น “เพื่อชีวิต” เสียหมดเลยนะครับ นั่นแสดงให้เห็นว่าเพลงเพื่อชีวิตนั้นมีเนื้อหาที่ค่อนข้าง “กินใจ” และทำให้เราได้คิดมากกว่าเพลง “รัก” ทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเพลงสตริงจะไม่มีเพลงที่ให้ “ขบคิด” ด้วยเหมือนกันนะครับ ทั้งนี้เพลงอย่าง “เก็บตะวัน” ของคุณอิทธิ พลางกูร ก็เข้าขั้นว่าคลาสสิค พอ ๆ กับเพลงร็อครุ่นเก๋าอย่าง “อย่าหยุดยั้ง” ของดิโอฬาร โปรเจคต์ ที่ฟังทุกครั้งแล้วเกิดอารมณ์ฮึกเหิมขึ้นมา หรือจะเป็นเพลงอย่าง “หยุดมันเอาไว้” ของพี่หนุ่ย อำพล ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเพลงที่ตั้งคำถามสอนใจได้ดีว่าทุกวันนี้เรากำลังวิ่งตามหาอะไรกันอยู่

เพลงที่แฝงปรัชญาต่าง ๆ เหล่านี้มักจะถูกนำเสนอผ่านศิลปินที่โดยส่วนตัวแล้วผมว่าพวกเขา “เข้าใจโลก และชีวิต” มาในระดับหนึ่งแล้ว ด้วยเหตุนี้เองเนื้อหาและอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมานั้นจึงอยู่บนฐานของการ “มองโลก” อย่างที่ “เป็นอยู่” มากกว่าอย่างที่ “ควรจะเป็น”

ผมเคยนั่งถกปรัชญาชีวิตกับเพื่อนฝูง รุ่นพี่รุ่นน้องในวงเหล้า รวมไปถึงนั่งทบทวนความคิดเวลากินเหล้าคนเดียว ผมรู้สึกว่า “เหล้า” ทำให้เราสามารถ “จุดประกายความคิด”อะไรบางอย่างได้มากกว่าตอนที่เราดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่น (อ้อ! อาจจะยกเว้นกาแฟ) แต่อย่างไรก็ตาม ผมว่าการดื่มอย่างมี “สติ” ต่างหากที่น่าจะทำให้ประกายความคิดของเราชัดเจนมากกว่าที่เราจะเมาอย่างไม่มีสตินะครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมเริ่มเข้าใจมากขึ้นในวันที่อายุเลยเลขสามมาสักพักหนึ่งแล้ว คือ การรู้จักใช้ชีวิตครับ เคยมีเพื่อนคนหนึ่งบอกผมไว้ว่า “เราควรใช้ชีวิตให้เป็น แต่ไม่ใช่ใช้ชีวิตให้เปลือง” แหม่! คมดีมั๊ยครับ

ดูเหมือนว่าชีวิตคนเรามันจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของมันเองเสมอ เช่น เมื่ออยู่ในวัยเด็ก ก็ควรมีความสุขกับการเล่น เพลินกับจินตนาการของตัวเองมากกว่าจะมานั่งหลังขดหลังแข็งเรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โตเข้าสู่วัยรุ่นหน่อยก็ควรจะเรียนให้สำเร็จ รู้จักใช้ชีวิตกับเพื่อนฝูง สนุกสนานอย่างมีสติ ใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ พอเข้าสู่วัยทำงาน ก็ควรมีความรับผิดชอบดูแลหาเลี้ยงตัวเอง ดูแลครอบครัวให้ดีที่สุด

ทั้งหมดที่ว่ามานี้หากเรา “พลาด” ไปช่วงใดช่วงหนึ่งแล้ว ดูเหมือนว่าเวลามันจะไม่หมุนย้อนกลับมาให้เราได้แก้ตัวอีกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามชีวิตมีโอกาสอยู่เสมอแหละครับ ขอให้ “คิดได้”หรือ “คิดเป็น”

เช่นเดียวกับในวาบหนึ่งของความคิดตอนนั่งกินเหล้าคนเดียว ผมเริ่มคิดได้ว่าจริงๆแล้วปัญหาบางเรื่องที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นมันควรที่จะ “ปล่อยวาง…แต่ไม่ได้ทิ้งขว้าง” ซึ่งพอนึกถึงอย่างนี้แล้วก็ทำให้คิดถึงเพลง “ก้อนหินก้อนนั้น” ของคุณโรส ศิรินทิพย์ ที่ได้คุณดี้มาเขียนเนื้อให้

ผมว่าเพลงนี้ตอบปัญหาความทุกข์ได้ทุกรูปแบบเลยนะครับ โดยเฉพาะการรู้จักที่จะหัดปล่อยวาง ซึ่งคุณดี้เขียนเนื้อไว้ได้ดีว่า

“ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ ได้เท่ากับเธอทำตัวของเธอเอง ให้เธอคิดเอาเอง ว่าชีวิตของเธอเป็นของใคร ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ ถ้าเธอไม่รับมันมาใส่ใจ ถูกเขาทำร้ายเพราะตัวเธอแบกรับไว้เอง”

ผมว่าแค่ท่อนฮุคนี่ก็น่าจะสอนอะไรเราได้หลายอย่างแล้วนะครับ โดยเฉพาะการ “แบก” สิ่งต่างๆไว้กับตัวเอง

อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่า “การหัดปล่อยวาง” น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด มากกว่าที่จะทิ้งขว้างหรือหนีปัญหานั้นไปเลย พูดภาษาชาวบ้านหน่อยก็คือ “ช่างแม่งเถอะ” (อันนี้อาจจะออกแนวประชดประชัน)

ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ เราจะสร้าง “ห่วง” ให้กับตัวเองกันไม่รู้จักหยุดหย่อนนะครับ ห่วงที่ว่านี้มีตั้งแต่ ห่วงอาวรณ์ ห่วงหาอาทรณ์ เป็นห่วงเป็นใย ห่วงใยใส่ใจ ซึ่งไอ้ห่วงที่ว่านี้แหละครับ คือ สิ่งที่เราแบกกันไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ดีเราก็ยังมีความสุขอยู่กับ “ห่วง” เหล่านี้อยู่ทั้ง ๆ ที่ก็รู้ว่าวันหนึ่งห่วงเหล่านี้มันจะต้องทำให้เราทุกข์ใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าให้เรามาปลดห่วงกันหรอกนะครับ เพียงแต่ลองหันกลับมาคิดว่าหากวันหนึ่งไอ้ห่วงเหล่านี้มันทำให้เรา “ทุกข์” แล้ว เราจะลองปล่อยวางห่วงลงบ้างก็คงไม่เห็นเป็นไร แต่ไม่ใช่เราโยนห่วงเหล่านั้นทิ้งไปเสียเลย

ผมว่าคนเราทุกคนมี “ผลึกทางความคิด” ด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ ผลึกเหล่านี้มันได้สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญามุมมองหรือวิธีการที่เราจะรู้จัก “รับมือ” กับชีวิต ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วสิ่งต่างๆที่เล่ามานี้ล้วนแล้วแต่เป็น “ศิลปะของการใช้ชีวิต” ด้วยกันทั้งสิ้นนะครับ ซึ่งหากมองแบบนักเศรษฐศาสตร์แล้วผมว่าทุกสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อสนองตอบต่อ “ความพึงพอใจสูงสุด” หรือ Maximize Utility ของการมีชีวิตอยู่ภายใต้ระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดไงล่ะครับ

Hesse004

Jan 25, 2010

“มาเลน่า” สังคมขี้นินทา กับ คำพิพากษาฉบับซิซิเลี่ยน




กระบวนผู้กำกับหนังจากฝั่งยุโรปที่นับว่าทำหนังได้ “เนียน” ที่สุด เห็นทีจะต้องยกให้ผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนนะครับ เพราะดูเหมือนว่าหนังแต่ละเรื่องที่มาจากแดนมะกะโรนีนั้นส่วนใหญ่แล้วจะคว้า “กล่อง” มากกว่าทำเงิน

ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ชื่อของ “จูเซ็ปเป้ ทอนาทอเร่” (Giuseppe Tornatore) น่าจะเป็นชื่อผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนที่คอหนังคุ้นชื่อมากที่สุดชื่อหนึ่งนะครับ เพราะหลังจากที่เขาประสบความสำเร็จจากการทำหนังอบอุ่นอย่าง Cinema Paradiso (1988) จนได้รับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์แล้ว ทอนาทอเร่ยังฝากผลงานชั้นดีไว้กับเรื่อง The Legend of 1900 (1998) ซึ่งเป็นเรื่องของนักดนตรีที่ใช้ชีวิตอยู่แต่บนเรือเดินสมุทรและไม่เคยคิดที่จะเหยียบแผ่นดินเลย

อย่างไรก็ดีภาพยนตร์ของเขาอีกเรื่องที่สมควรจะพูดถึง คือ Malèna (2000) ครับ ซึ่งหนังเรื่องนี้เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วสองรางวัล รวมทั้งได้รับเลือกให้ไปฉายในงานเทศกาลหนังต่างๆทั่วโลกอย่างเทศกาลหนังที่เบอร์ลินปี 2001 แต่อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้มีอะไรที่น่าเก็บเอามาเล่าสู่กันฟังมากกว่าจะนั่งดูผ่านๆนะครับ

มาเลน่า (Malèna) เป็นชื่อของตัวละครเอกในเรื่องซึ่งเธอเป็นผู้หญิงสวยที่สุดของเมืองแห่งหนึ่งบนเกาะซิซิลี (Sicily) ครับ และแน่นอนที่สุดความสวยของมาเลน่าจึงตกเป็นที่หมายปองของบรรดากระทาชายทั้งหลายในเมืองนี้ไม่เว้นแม้แต่ “เรนาโต” เด็กผู้ชายอายุแค่สิบสามที่เพิ่งจะย่างเข้าสู่วัยรุ่น และด้วยความ “หลงใหล” ของไอ้หนูเรนาโตนี้เองจึงทำให้ต้องเข้าไป “สอดรู้ สอดเห็น” เรื่องราวของมาเลน่าจนกลายเป็นที่มาของเรื่องราวทั้งหมดครับ

สำหรับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง Ma L ’ Amore No ของ ลูเซียโน่ วินเซนโซนี่ (Luciano Vincenzoni) นอกจากนี้ความพิเศษของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ซาวด์แทรค ประกอบซึ่งได้ประพันธกรชั้นครูอย่าง “เอนนิโม่ มอริโคเน่” (Enimo Morrione) มาสร้างสรรค์เพลงประกอบให้

ฉากหลังของหนังเรื่องนี้ดำเนินไปในช่วงที่อิตาลีกระโดดเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองเต็มตัวเมื่อปี ค.ศ. 1941 ในฐานะมหามิตรของเยอรมนี โดยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคที่เผด็จการเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ยังครองอำนาจอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลฟาสซิสต์ ซึ่งก็น่าสนใจนะครับว่างานของทอนาทอเร่อีกเรื่องหนึ่งคือ Cinema Paradiso นั้นก็เล่าเรื่องผ่านฉากหลังของความสูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่สองด้วยเหมือนกัน

ทอนาทอเร่ พยายามสื่อสารประเด็นหลายอย่างผ่านหนังเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ความสวยของมาเลน่าได้กลายเป็นภัยให้หล่อนต้องประสบปัญหายุ่งยากกับชีวิตอยู่เสมอ ซึ่งหนังชี้ให้เห็นว่าใช่ว่าคนสวยทุกคนจะมีความสุขนะครับ โดยเฉพาะการที่ต้องตกเป็นเป้าสายตาของผู้ชายทั้งเมือง และเป็นที่น่าหมั่นไส้ของสาวแก่แม่ม่ายจนกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของผู้คนที่คอยซุบซิบนินทา โดยเฉพาะข้อหา “มากชายหลายรัก”

ทอนาทอเร่ ยังจับประเด็นเกี่ยวกับอารมณ์ “หลง” ของเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่สามารถแยกความหมายของ “อารมณ์รัก” กับ “อารมณ์ใคร่” ออกจากกันได้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงเห็นภาพการ “ช่วยตัวเอง” ของเด็กผู้ชายที่เต็มไปด้วยจินตนาการทางเพศมากมายในหนังเรื่องนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทอนาทอเร่ได้สรุปไว้น่าสนใจว่าจริงๆแล้วเรื่องของอารมณ์ใคร่ปนความต้องการทางเพศของเด็กวัยนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ปกครองควรจะเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ทอนาทอเร่ได้ “ตบหน้า” สั่งสอนรัฐบาลฟาสซิสต์ของมุสโสลินีในสมัยนั้นด้วยการสื่อให้เห็นว่าจริงๆแล้ว “สงคราม” ต่างหากที่เป็นเหตุให้ “มาเลน่า” ต้องพลัดพรากกับสามีที่หล่อนรักเนื่องจากสามีต้องไปออกรบในฐานะวีรบุรุษของชาติ ซึ่งไอ้สงครามตัวนี้อีกนั่นแหละที่ทำให้ “ชะตากรรม” ของผู้หญิงสวยที่สุดของเมืองเปลี่ยนจาก “หน้ามือ” เป็น “หลังเท้า” ภายในไม่กี่ปี

แต่เหนืออื่นใด ทอนาทอเร่ ยังได้ตบหน้าสังคมอิตาเลี่ยนเสียฉาดใหญ่ ด้วยการฉายให้เห็นนิสัย “ขี้นินทา” ของคนในสังคมตลอดจนพฤติกรรมการเขียน “คำพิพากษา” ขึ้นมาเองโดยอาศัย “ความเชื่อ”และ “อคติ” ที่ว่าเขาจะต้องเป็นอย่างที่เราคิด หรือสรุปเอาเองว่าคนไหนถูกคนไหนผิด คนไหนดีคนไหนเลว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมันมักไม่ใช่เรื่องดีแต่อย่างใด

บางทีมันก็น่าสนใจอีกเช่นกันนะครับว่า ทำไมมนุษย์เราถึงสนใจเรื่องราวส่วนตัวของชาวบ้านกันเสียนักหนา สังเกตได้จากหนังสือซุบซิบดารา หรือหนังสือจำพวกแอบถ่ายของปาปารัซซี่ที่วางเกลื่อนกลาดอยู่บนแผงทุกวันนี้ ทั้งนี้หากมองภายใต้กรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์แล้วมันแสดงให้เห็นว่าคนในสังคมมีความกระหายในสินค้าที่เรียกว่า “เรื่องส่วนตัวของชาวบ้าน” จนยอมที่จะเสียเงินบริโภคสินค้าชนิดนี้โดยได้รับความพึงพอใจสูงสุดจาก “การสอดรู้สอดเห็น” (Maximize meddlesome utility)นั่นเองครับ

หลังจากที่ผมดูหนังเรื่องนี้จบทำให้ผมนึกถึงวรรณกรรมซีไรต์เล่มหนึ่งที่ชื่อ “คำพิพากษา” ของคุณชาติ กอบจิตติ ครับ ซึ่งผมคิดว่า “มาเลน่า” น่าจะเป็น “คำพิพากษาฉบับซิซิเลี่ยน” ได้เลยโดยเฉพาะประเด็นการถูกพิพากษาจากคนในสังคมที่พยายามตั้งตนเป็นศาลไปก่อนแล้วว่า “เธอต้องเป็นอย่างที่ชั้นคิดแน่เลย” และไอ้พฤติกรรมรวม “ตู่” เอาเองนี้แหละครับที่ทำลายคนอย่างไอ้ฟัก ทำลายคนอย่างมาเลน่า มานักต่อนักแล้ว

ฉากตอนท้ายๆของหนังเรื่องนี้ทำให้ผม “สลดหดหู่” อย่างยิ่งกับพฤติกรรมด้านมืดของคนในสังคม ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกวันนี้เราล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในสังคม “ขี้นินทา” ด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เพียงแต่ว่าถ้าวันไหนที่เรายังไม่ได้เป็น “เหยื่อ” ของการถูกนินทาก็แล้วไป แต่หากวันไหนเราตกเป็น “เหยื่อ” ขึ้นมาเมื่อไหร่แล้ว เห็นทีคงต้องพึ่งคำพระที่ว่า “ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่เคยถูกนินทา” เสียแล้วล่ะครับ

Hesse004