Apr 30, 2009

"สาระแนห้าวเป้ง" ลับ ลวง (อำ) พราง





ไม่บ่อยนักนะครับที่เราจะได้เห็นการ “แกล้ง” หรือ “อำ” คนในรูปแบบภาพยนตร์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมันเสี่ยงต่อการถูกแจ้งความดำเนินคดีหากคนที่ถูกอำเขาไม่ตลกกับเราด้วย

ผมเชื่อว่าในบ้านเรานั้นรายการทีวีที่ “อำ” คนได้อารมณ์มากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นรายการ “สาระแน” นะครับ

จริงๆแล้วคำว่า “สาระแน” หมายถึง อาการที่เข้าไปยุ่งเรื่องชาวบ้านหรือเรื่องที่ไม่ใช่ธุระของตนเอง โดยส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นกับคำอย่าง “สาระแนจัดแจงไปเสียทุกเรื่อง” ซึ่งหากพูดง่ายๆตามภาษาบ้านๆคือ แม่งชอบ เ..ือกเรื่องชาวบ้าน (ขออนุญาตเซนเซอร์แล้วกันครับ)

สำหรับรายการสาระแนนั้นออกอากาศครั้งแรกภายใต้ชื่อ “สาระแนโชว์” เมื่อต้นปี พ.ศ.2541 ครับ หลังจากนั้นรายการนี้ก็เปลี่ยนชื่อมาเรื่อยๆ เช่น สาระแนริงไซด์ (2544) สาระแนกลางแปลง (2545) สาระแนจัง (2547-2548) เป็นต้น

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่ารายการสาระแนน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากรายการวาไรตี้ตลกในอดีตอย่าง “ยุทธการขยับเหงือก” ของ เจเอสแอล ซึ่งรายการนี้ได้สร้างเหล่า “เสนา” อารมณ์ดีขึ้นมาหลายคน อย่างคุณอรุณ คุณเปิ้ล คุณโน้ต คุณติ๊ก และคุณหอย

รูปแบบรายการอย่างยุทธการขยับเหงือกและสาระแนนั้นจะเน้นไปที่เรื่องของการ “อำ” แขกรับเชิญซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ “ดารา” แม้ว่าการอำบางครั้งดูจะเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตเนื่องจากคนโดนโดนอำไม่สนุกด้วยกับมุขของรายการ

จะว่าไปแล้วไอ้พฤติกรรมชอบ “อำ” หรือชอบ “แกล้ง” เนี่ยมันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนเรานะครับ แม้ว่าหลายคนอาจจะไม่ชอบนักแต่เมื่อเวลาเราเห็นใครโดนอำเราก็มักจะอมยิ้มอยู่เสมอ หรือแม้กระทั่งตัวเราเองเวลาที่ถูกอำก็ตาม

แม้ว่าข้อดีของการ “อำ” คือ สร้างรอยยิ้มให้กับชาวบ้านบนความเข้าใจผิดหรือความเปิ่นของตัวเราเอง แต่ข้อเสียก็คือบางครั้งการถูกอำอยู่บ่อยๆก็ทำเอาเราเสียความมั่นใจไปเหมือนกัน

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือไอ้คนที่มันคิดจะอำเราเนี่ยมันต้องเก่งมากๆ เนียนสุดๆ จนสามารถอำเราได้อยู่หมัด ซึ่งหากใครได้ดูหนังเรื่องสาระแนห้าวเป้งแล้วจะเห็นเลยว่าพวกเขามีครีเอทีฟ (Creative) มาช่วยกันคิดมุขอำ แม้ว่าหลายต่อหลายครั้งครีเอทีฟเหล่านี้อาจจะโดนคนถูกอำ “ถีบ” เอาง่ายๆ


ท่านผู้อ่านทราบมั๊ยครับว่า รายการลักษณะแบบสาระแนนั้นมีมานานกว่า 70 ปีแล้ว โดยจุดเริ่มต้นของรายการประเภทนี้อยู่ที่สหรัฐอเมริกาครับ

ในทศวรรษที่ 40 มีโปรดิวเซอร์โทรทัศน์ชาวอเมริกันคนหนึ่งนามว่า “อัลเลน ฟันต์” (Allen Funt) ได้ทำรายการในลักษณะเอากล้องไปแอบถ่ายชีวิตประจำวันของชาวบ้านเขาหรือที่เราเรียกว่า แคนดิด (Candid)

การแคนดิดก็คือการซ่อนกล้อง (Hidden Camera) แบบหนึ่งโดยวัตถุประสงค์ของรายการประเภทนี้คือต้องสอดรู้สอดเห็นเรื่องราวของคนเดินถนนทั่วไป

อย่างไรก็ตามเพื่อความบันเทิงของผู้ชมทางรายการจึงมักต้องหา “มุข” หรือ “แก๊ก” (Gags) มาหยอก หรือ อำ ชาวบ้านโดยที่ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองกับถูกแอบถ่าย

อัลเลน ฟันต์ ได้สร้างตำนานคลาสสิคของรายการแคนดิทอย่าง Camera Candid ซึ่งออกอากาศในอเมริกามายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 ก่อนจะปิดตัวเองลงไปเมื่อปี ค.ศ.2004 นอกจากนี้ยังรายการดังๆจากต่างประเทศอย่าง Just For Laugh ของแคนาดา หรือ Just Kidding ของออสเตรเลียที่มักจะอำคนด้วยมุขแปลกๆอยู่เสมอ

ปัจจุบันเราสามารถหาดูรายการประเภทนี้ได้จาก “ยูทูป” (Youtube) ซึ่งมักจะมีคลิปการอำกันแปลกๆมาอัพโหลดให้เราดูกัน อย่าง คลิปอำของชาวญี่ปุ่นที่ผมว่ามีแก๊กที่ใช้ได้ทีเดียว

อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วครับว่ารายการจำพวกสาระแนเรื่องราวชาวบ้านมักจะหนีไม่พ้นเรื่องราว “ละเมิด” สิทธิส่วนบุคคลซึ่งในต่างประเทศนั้นถึงกับขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลย

สำหรับ “สาระแนห้าวเป้ง” ที่เป็นผลงานการกำกับของ “คุณเป้” นฤบดี เวชกรรม นั้นนับว่าให้ความบันเทิงได้ไม่น้อยในยุคสมัยที่คนไทยเรายิ้มกันน้อยลง หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยการ “อำ” ซึ่งมีทั้งอำแขกรับเชิญ หรือ อำกันเอง

แต่เอ!... จะว่าไปแล้วเรื่องการอำเนี่ยคนไทยเราไม่แพ้ใครชาติใดในโลกเลยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพที่อำเก่งที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น “นักการเมือง” ที่ชอบอำประชาชนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนกระทั่งได้มาเป็นรัฐบาล เช่นอำว่าถ้าได้รับเลือกตั้งจะเอาโครงการโน้นโครงการนี้มาลงที่หมู่บ้าน อำว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลแล้วราคาพืชผลการเกษตรจะต้องสูงขึ้นแน่นอน หรือ อำว่าถ้าเป็นนายกรถจะหายติดภายในหกเดือน

แหม่… เพียงแต่ว่าพักหลังๆเนี่ยไอ้คนที่ถูกอำมันไม่ค่อยจะตลกกับมุขของพวกท่านเท่าไหร่นักหรอกครับ

Hesse004

Apr 23, 2009

"ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" ประชาธิปไตยแบบไทยๆ





หลังเหตุการณ์ “สงกรานต์วิปโยค” ผมกลับไปอ่านหนังสือเรื่อง “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” อีกครั้งครับ คอหนังสือคงทราบดีว่าหนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัลซีไรต์ (The S.E.A. Write Award) โดยเป็นผลงานของ “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2537 และ 2542

“ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” เป็นผลงานลำดับที่สามของคุณวินทร์ ครับ หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษด้วย โดยชื่อเรื่องที่เป็นภาษาอังกฤษ คือ Democracy, Shaken & Stirred

การอ่านหนังสือเล่มนี้รอบที่สามทำให้ผมเริ่มเข้าใจความเป็น “ประชาธิปไตย” ของบ้านเรามากขึ้น จริงๆแล้วตลอดระยะเวลากว่า 77 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยดูจะค่อยเป็นค่อยไปนะครับ

คำว่า “ค่อยเป็นค่อยไป” เนี่ย มันอาจจะสะท้อนวิธีคิดตลอดจนลักษณะบางอย่างของความเป็นคนไทย ซึ่งข้อดีของความเป็นไทย คือ รู้จักประนีประนอม (Compromise) ไงล่ะครับ

ตลอดทั้งเล่มของหนังสือเล่มนี้เป็นการต่อสู้กันทางความคิดและอุดมการณ์ของชายสองคน ชายคนแรก คือ “ตุ้ย พันเข็ม” นายตำรวจผู้ทำงานรับใช้รัฐบาลมาโดยตลอดตั้งแต่มีการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ชายอีกคนหนึ่งคือ “หลวงกฤษดาวินิจ” หรือ “เสือย้อย” ผู้ที่มีชีวิตพลิกผันจากคุณหลวงสู่ขุนโจรคุณธรรม

การต่อสู้ของทั้งสองคนมีจุดเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 แม้ว่าคณะราษฎรจะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของสยามได้จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงๆแล้วการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงเพียง “รูปแบบการใช้อำนาจ” เท่านั้น เพราะอำนาจได้ถูกเปลี่ยนมือจากวังไปสู่คนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเหล่าขุนทหารที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

พัฒนาการของประชาธิปไตยในเมืองไทยมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่น่าจดจำนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475

เหตุการณ์อย่าง “กบฏบวรเดช”ในปี พ.ศ.2476 นับเป็นสงครามกลางเมืองครั้งแรกที่เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจใหม่ซึ่งนำโดยคณะราษฎรกับกลุ่มอำนาจเก่าที่สูญเสียอำนาจไปและไม่พอใจคณะราษฎร

หลังจากการปราบกบฏบวรเดช อำนาจของนายทหารหนุ่มที่ชื่อ “หลวงพิบูลสงคราม” ก็เริ่มโดดเด่นขึ้นมาเรื่อยจนกระทั่งนายทหารลูกชาวบ้านผู้นี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ผู้นำชาตินิยม” ที่เปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองและเศรษฐกิจไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ชีวิตของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดูน่าอัศจรรย์ไม่น้อยนะครับ เคยผ่านจุดสูงสุดของชีวิตในฐานะผู้นำชาตินิยมที่เข้มแข็ง มาจนกระทั่งดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดในฐานะอาชญากรสงคราม และก็กลับมาเป็นนายกได้ใหม่ เคยถูกลอบสังหารหลายครั้งแต่ก็ไม่ตาย ท้ายที่สุดถูกลูกน้องคนสนิทอย่าง “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์” ปฏิวัติจนต้องหนีออกนอกประเทศ

ช่วงเวลาก่อนปี พ.ศ. 2500 ดูเหมือนว่า การเมืองไทยยังเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีการแย่งชิงอำนาจกันตลอดเวลา มีการลอบสังหารบุคคลสำคัญอยู่บ่อยครั้ง มีการจับตัวนักโทษการเมืองไปปล่อยเกาะ ความวุ่นวายต่างๆเหล่านี้มักจบลงด้วยการเข้ามาของกองทัพที่ใช้กำลังทหารในการทำรัฐประหาร แม้ว่าการปฏิวัติบางครั้งจะไม่สำเร็จจนทำให้ใครหลายคนกลายเป็น “กบฏ” ไป

ช่วงเวลาหลังปี พ.ศ.2500 ประเทศไทยถูกปกครองภายใต้ “เผด็จการทหาร” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ระบอบสฤษดิ์” เผด็จการทางทหารถูกโค่นล้มไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งแรกที่ประชาชนเริ่มเข้าใจแล้วว่าพวกเขาต่างหากที่เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

แต่อย่างไรก็ดีการเมืองไทยก็ยังตกอยู่ในวังวนเดิมๆ นั่นคือ มีการแย่งชิงอำนาจกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแย่งอำนาจกันระหว่างขุนนางกับกลุ่มทุนธุรกิจที่แฝงเข้ามาในคราบนักการเมือง หรือ การแย่งอำนาจระหว่างทหารกับนักการเมือง

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เป็นเพราะทุกคนต้องการสร้าง “ประชาธิปไตย” ในแบบที่ตัวเองเข้าใจหรือเปล่าครับ หรือเพียงแค่ประชาธิปไตยได้กลายเป็นข้ออ้างในการเข้าสู่การใช้อำนาจของคนเหล่านั้น

บางทีประชาธิปไตยอาจเป็นเพียง “คำพูดหรูหรา”ที่คล้ายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในการแสวงหาความชอบธรรมของมนุษย์ในการเข้าสู่กระบวนการใช้อำนาจในสังคมก็ได้นะครับ

ผมขออนุญาตปิดท้ายเอนทรี่นี้ด้วยคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งผมได้คัดลอกมาจากหนังสือประชาธิปไตยบนเส้นขนานอีกทีครับ เผื่อบางทีเราอาจจะเห็นภาพประชาธิปไตยแบบไทยๆได้ชัดเจนมากขึ้นไงล่ะครับ

“ประชาธิปไตยโกง นั่นมันร้ายกาจอย่างไร คือ ประชาชนทั้งหลายไม่มีศีลธรรม แต่ถือระบบประชาธิปไตย มันก็มีโอกาสที่จะใช้กิเลสของตนอย่างเสรี แต่ละคนๆมีเสรีภาพที่จะใช้กิเลสของตนอย่างเต็มที่ เมื่อประชาชนทุกคนมันไม่มีศีลธรรม มันโกงมันก็เลือกผู้แทนโกง เมื่อประชาชนเลือกผู้แทนโกง ก็ได้ผู้แทนโกง ผู้แทนโกงทั้งหลายไปประกอบกันเป็นรัฐสภาพก็เป็นรัฐสภาโกง รัฐสภาโกงไปตั้งคณะรัฐบาล ก็เป็นคณะรัฐบาลโกง เจ้าหน้าที่ทุกคนก็เป็นคนโกง โกงทั้งบ้านทั้งเมือง”

พุทธทาสภิกขุ


Hesse004

Apr 15, 2009

นาฬิกาชีวิต





ปลายเดือนที่แล้ว ผมต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างกะทันหันด้วยสาเหตุของอาการไส้ติ่งอักเสบ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมต้องเข้าไปนอนโรงพยาบาลครับ

อาการไส้ติ่งอักเสบเนี่ยมันมาแบบไม่ค่อยจะรู้เนื้อรู้ตัวเลยนะครับ อย่างไรก็ตามอาการบางอย่างที่เริ่มฟ้องว่าจะเป็นไส้ติ่งดูเหมือนจะเป็นอาการอาหารไม่ย่อยครับ หลังจากนั้นเราจะเริ่มปวดท้องแบบไม่สบายเนื้อสบายตัวตามมาด้วยปวดแบบหน่วงๆบริเวณท้องน้อยด้านขวา

อาการปวดท้องเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผมเลยโทรปรึกษาน้องสาวที่เป็นหมอ เจ้าน้องสาวผมแนะนำให้รีบไปโรงพยาบาลด่วนที่สุด

ประมาณตีสามของคืนวันอาทิตย์ที่ 29 หมอจัดการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบซึ่งหากช้ากว่านี้ไส้ติ่งอาจแตกได้ นับว่าโชคดีไม่น้อยที่เจ้าน้องสาวได้เตือนให้รีบเข้าโรงพยาบาลด่วน จะว่าไปแล้วไอ้อาการปวดไส้ติ่งเนี่ยมันเปลี่ยนแปลงทุกชั่วโมงเลยนะครับ

หลังจากผ่าตัดเสร็จ หมอแนะนำให้ผมพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3 วัน และแนะนำให้อย่าเพิ่งซ่าส์ยกของหนัก รวมไปถึงพักผ่อนอยู่ที่บ้านประมาณสองอาทิตย์รอให้แผลมันสมานกันเสียก่อน

เวลาเจ็บป่วยขึ้นมาอย่างกะทันหันเนี่ยมันทำให้เรา “คิค” อะไรได้เยอะเหมือนกันนะครับ

การดูแลสุขภาพนับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของการใช้ชีวิต และเมื่อเราเริ่มมีอายุมากขึ้น “สุขภาพแข็งแรง” ดูเหมือนจะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดมากกว่าทรัพย์สินเงินทอง

ช่วงระหว่างที่นอนอยู่โรงพยาบาล ผมนึกถึง “ความสมดุล” ในการใช้ชีวิตของผมที่ผ่านมา ซึ่งจะว่าไปแล้วผมได้ละเลยไอ้เจ้า “สมดุล” ของชีวิตมาโดยตลอด

ขออนุญาตเล่าเรื่องส่วนตัวเพื่อเป็นอุทาหรณ์นิดนึงนะครับ โดยปกติแล้วผมเป็นคนนอนดึกมากๆ คำว่าดึกมากๆนั่นคือ ตีสองถึงตีสี่บางทีล่วงไปถึงตีห้า เหตุที่ชอบนอนดึกก็เพราะผมชอบทำงาน อ่านหนังสือและเขียนหนังสือในเวลากลางคืนครับ

เมื่อนอนดึก เวลาในการพักผ่อนของผมจึงแตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป เวลาส่วนใหญ่ที่ผมจะตื่น คือ สิบโมงเช้า บางครั้งสิบเอ็ดโมง นั่นหมายถึงอาหารเช้าผมได้หายไปมื้อหนึ่ง เมื่อตื่นมาอาหารมื้อแรกของผมคือ “กาแฟดำ” ครับ

กว่าผมจะกินข้าวเช้าจริงๆบางทีก็ล่วงไปถึงบ่ายโมงครึ่ง บ่ายสองโมง มื้อเช้าผนวกรวมกับมื้อกลางวันทำให้ผมต้องกินมากกว่าปกติ

พูดถึงกาแฟเนี่ย ผมกินกาแฟเฉลั่ยวันละสองแก้ว วันไหนครึ้มหน่อยก็กินสามครับ เคยจดสถิติสูงสุดได้ว่ากินเจ็ดแก้วในหนึ่งวัน ซึ่งมาถึงตอนนี้แล้วผมพยายามจะเลิกกินกาแฟแล้วครับ


วงจรชีวิตของผมส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้มานานร่วมปีได้แล้วครับ ด้วยความเป็น “นักเรียนโข่ง” ที่ลางานราชการออกมาเรียนต่อทำให้เวลาในการใช้ชีวิตของผมแตกต่างไปจากเดิมที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเข้าทำงานให้ทันเก้าโมง


ระหว่างที่นอนพักผ่อน (แบบจำใจ) อยู่ที่โรงพยาบาล ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มเล็กเรื่องหนึ่งที่ชื่อ “นาฬิกาชีวิต” หนังสือเล่มนี้แต่งโดยท่านอาจารย์สุทธิวัสส์ คำภา ครับ

หนังสือเล่มนี้เล่าถึงศาสตร์ของการแพทย์ตะวันออกที่เชื่อว่ากลางวันและกลางคืนนั้นมีความสัมพันธ์กับสุขภาพของมนุษย์อย่างแยกกันไม่ออก ด้วยเหตุนี้เองช่วงเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงในหนึ่งวันนั้น ภายในร่างกายของมนุษย์เราจึงมีการไหลเวียนของพลังงานชีวิตผ่านอวัยวะต่างๆภายในร่างกายซึ่งอาจารย์สุทธิวัสส์ ท่านแบ่งออกเป็นอวัยวะตันและอวัยวะกลวงครับ

“อวัยวะตัน” ได้แก่ หัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด ม้าม ตับ ไต ขณะที่ “อวัยวะกลวง” ได้แก่ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ และระบบความร้อนในร่างกายเรา

ด้วยเหตุนี้การไหลเวียนของพลังชีวิตหรือที่เรียกว่าลมปราณ (ชี่) นั้นจะต้องผ่านอวัยวะต่างๆเหล่านี้ 12 อวัยวะในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง หรือหนึ่งวันซึ่งเรียกว่า “นาฬิกาชีวิต” (Biological Clock)นั่นเองครับ

น่าสนใจว่าตลอดระยะเวลาในหนึ่งวัน อวัยวะของเรามันมีช่วงเวลาการทำงานของมันอย่างเป็นระบบ เช่น ช่วงเวลาตีหนึ่งถึงตีสามเป็นช่วงเวลาของตับครับ ด้วยเหตุนี้เราควรนอนพักผ่อนให้หลับสนิทในช่วงเวลานี้ การที่เราสามารถหลับได้อย่างสนิทจะทำให้ตับหลั่งสารมีราโทนิน (Meratononine) เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายรวมถึงหลั่งสารเอนโดฟิน (Endophin) สร้างความสุขอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรกินอาหารในช่วงดึกเพื่อไม่ให้ตับทำงานหนักและเสื่อมเร็ว

นอกจากนี้อาจารย์สุทธิวัสส์ยังแนะนำ “เมนูอาหารสุขภาพ” ซึ่งเมนูส่วนใหญ่ทำไม่ยาก เช่นเอาสัปปะรดมาปั่นกับใบโหระพา หรือ โยเกิร์ตผสมน้ำผึ้ง มะนาวและนมสด กินทุกเช้าจะเป็นเมนูล้างลำไส้ใหญ่ไปในตัวดว้ย อ้อ !เมนูอันหลังนี้อาม่าผมท่านเรียกชื่อให้ใหม่ว่า “โยโกะ” ครับ 5 5!!

ศาสตร์การแพทย์ตะวันออกไม่ว่าจะเป็นการรักษาแบบแพทย์แผนจีนหรือการออกกำลังกายแบบโยคะเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยนะครับเพราะดูเหมือนว่า “ภูมิปัญญาตะวันออก” จะมีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้สอดคล้องกับธรรมชาติอย่างเรียบง่ายโดยไม่ต้องเบียดเบียนธรรมชาติ

หนังสือเล่มนี้เปิดโลกทัศน์เรื่องการดูแลสุขภาพแบบใกล้ตัวซึ่งจะว่าไปแล้วเราไม่ต้องไปเสียเงินทองบำรุงดูแลอะไรมากมายเลย เพียงแค่เราใช้ชีวิตให้มันสมดุลและตั้งเวลาชีวิตให้ตรงกับนาฬิกาชีวิตไงล่ะครับ

Hesse004