Oct 31, 2007

จาก Pyramid system ถึง Rotation football กับปรัชญาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป (ตอนที่1)




ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้สนใจอะไรมากมายกับเกมลูกหนังอาจจะไม่คุ้นกับคำโปรยที่ผมเอามาจั่วไว้ที่หัวเรื่องนะครับ สำหรับท่านผู้อ่านที่ชื่นชอบและฟุตบอลแล้วผมเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะเคยได้ยินคำว่า “Pyramid system” ส่วนคำหลังอย่าง “Rotation football”นั้น ผมเชื่อว่าแฟนบอลทีม Liverpool ย่อมคุ้นเคยเป็นอย่างดีครับ

ในระยะหลังของการดูฟุตบอล ผมเริ่มสนใจกีฬาชนิดนี้ในมิติอื่นๆมากขึ้นนอกเหนือจากเคยคิดจะหยิบเรื่องเศรษฐศาสตร์ภาคฟุตบอลมาเขียนแล้ว ผมยังสนใจเรื่องของสูตรการเล่นหรือแผนการทำทีมฟุตบอลด้วยครับ

ย้อนหลังไปราวๆสิบปีที่แล้วมีเกมคอมพิวเตอร์เกมหนึ่งที่ชื่อว่า CM หรือ Championship manager เกมๆนี้ทำให้ผมเริ่มเข้าใจภาพของฟุตบอลที่มากกว่าเกมๆหนึ่งที่มีผู้เล่น 22 คนมาเตะบอลกันให้เราดู

CM ทำให้ผมรู้ว่าฟุตบอลกลายเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง เกม CM ทำให้ผมเริ่มมองเห็นองค์ประกอบของทีมฟุตบอลว่าไม่ได้มีแค่นักฟุตบอล ผู้จัดการทีม สตาฟฟ์โค้ช เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังประกอบไปด้วยการบริหารจัดการทีม การวางแผนการเล่น การเสาะหาและพัฒนานักเตะ ไปจนกระทั่งวิธีการซื้อขายนักบอลและการต่อรองสัญญาและค่าเหนื่อย

ผมมองว่าความพยายามในการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลของบรรดาเหล่ามหาเศรษฐีนั้นตั้งอยู่บนเหตุผลทางธุรกิจเป็นสำคัญมากกว่าที่จะอยากเป็นเจ้าของเพราะใจรักในกีฬาชนิดนี้ เพราะฟุตบอลคือธุรกิจใหม่ที่เติบโตได้อีกไกลในโลกศตวรรษที่ 21 ด้วยเหตุที่ทุกคนในโลกนี้สามารถดูฟุตบอลแมตช์หนึ่งได้พร้อมๆกัน เท่ากับเป็นการขายบริการ “ฟุตบอลบันเทิง”ให้ตลาดทั่วโลกได้ชมกัน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจึงแพงขึ้นทุกปีและยังโยงไปถึงค่าตัวและค่าเหนื่อยของนักเตะระดับ Superstar จึงแพงหูฉี่

ผมอยากแนะนำท่านผู้อ่านลองหาหนังสือของท่านอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่เขียนเรื่อง “กีฬาในทุนวัฒนธรรม” หนังสือเล่มนี้ทำให้มิติการมองโลกฟุตบอลของผมเปลี่ยนไป บทความของอาจารย์ทำให้เราเห็นภาพกีฬาฟุตบอลมีฐานะไม่ต่างอะไรกับสินค้าและบริการโดยมีผู้ผลิตคือสโมสรฟุตบอล และองค์กรโลกบาลทางฟุตบอลอย่างฟีฟ่าหรือยูฟ่า แต่ที่ขาดไม่ได้คือคือโปรโมเตอร์หรือผู้จัดการแข่งขันครับ ซึ่งโปรโมเตอร์ฟุตบอลอย่างพรีเมียร์ชิพ (Premiership) น่าจะเป็นผู้จัดการแข่งขันที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกลูกหนังทุกวันนี้เพราะทำเงินได้มหาศาลจากการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ชิพไปยังประเทศต่างๆเกือบทั้งโลกแล้ว

อ้อ! ยังมีหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำคือ “คนไม่ใช่เศรษฐกิจ”ของอาจารย์ป้อง (ปกป้อง จันวิทย์) สหายทางปัญญาอีกท่านที่เขียนเรื่องราวเศรษฐศาสตร์กับฟุตบอลไว้ได้น่าสนใจในภาคสุดท้ายของหนังสือ

กลับมาที่เรื่องที่ผมจั่วหัวไว้ต่อครับ , ก่อนที่ผมจะเฉลยคำว่า “Pyramid system ว่าคืออะไรนั้น ผมอยากเล่าถึงพัฒนาการคร่าวๆของแผนการเล่นฟุตบอลไว้อย่างนี้ครับว่า นักประวัติศาสตร์ลูกหนังอย่าง นาย John Bluem แกได้แบ่งพัฒนาการของแผนการเล่นฟุตบอลเอาไว้ 3 ยุค ครับ

ในยุคเริ่มต้นนั้น เราต้องย้อนเวลาไป 140 กว่าปีเลยทีเดียว โดยในสมัยนั้นอังกฤษยังไม่มีฟุตบอลลีกภายในประเทศเลยด้วยซ้ำ รูปแบบการเล่นเท่าที่ผมอ่านในงานของ Bluem แกบอกว่าเกมส่วนใหญ่มักเน้นไปในเรื่องของการเลี้ยงบอล (The dribbling game) เป็นหลักครับ ด้วยเหตุนี้เองพื้นฐานของนักบอลรุ่นคุณทวดน่าจะอยู่ที่ทักษะการเลี้ยงบอลครับ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ กฎการล้ำหน้าหรือ Offside rule นั้นก็เกิดขึ้นเมื่อ140 กว่าปีที่แล้วเหมือนกัน Blume แกอธิบายแบบนี้ครับว่า เกมสมัยนั้นคาดว่าศูนย์หน้าบางคนกลัวยุงกัดเลยไปยืนกางมุ้งรอบอลอยู่หน้าประตู ดังนั้นพอเวลาบอลหลุดผ่านกองหลังฝ่ายตรงข้ามแล้ว หรือโกลเตะบอลยาวให้ ศูนย์หน้าจอมขี้เกียจเหล่านั้นก็จะโฉบเอาบอลไปยิงประตูได้สบายๆแบบไม่ต้องวิ่งแข่งกับกองหลัง นี่จึงเป็นสาเหตุให้กฎล้ำหน้าเกิดขึ้นเพราะไม่เช่นนั้นฟุตบอลจะไม่สนุกอย่างทุกวันนี้เพราะมันจะกลายเป็นยิงประตูกันง่ายเกินไปไงครับ

อย่างไรก็ตามเกมลูกหนังในศตวรรษที่ 20 ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยคราวนี้ไม่ต้องยึดกับทักษะการเลี้ยงบอลของผู้เล่นอีกต่อไปแล้วครับ ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดสูตรการเล่นขึ้น

สำหรับสูตรแรกที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมานั้น เขาเรียกว่า Pyramid system ครับ ว่ากันว่าสูตรนี้เป็นสูตรที่ทีมชาติอังกฤษสิงโตคำรามใช้เมื่อ 110 ปีที่แล้ว สูตรนี้ยึดระบบ 2-3-5 ไม่ใช่เลขเด็ดใบ้หวยนะครับ หากแต่เป็นการวางตัวผู้เล่นกองหลังไว้แค่ 2 คน กองกลาง 3 และกองหน้ายัดเข้าไป 5 เลย หัวใจของแผนการเล่นนี้อยู่ที่ตำแหน่ง Center ที่จะถูกดันขึ้นมายืนเหมือนกองกลางตัวรับครับ และยังคอยบัญชาเกมแจกบอลให้เพื่อนที่อยู่ปีกซ้ายปีกขวารวมถึงผู้เล่นหน้าประตู อย่างไรก็ตามผมใช้ได้แค่จินตนาการเท่านั้นแหละครับ เพราะสมัยนั้นไม่มีหลักฐานหลงเหลือให้เราได้ดูแล้วนอกจากอ่านหนังสือเอาเอง

ฟุตบอลในศตวรรษนี้ได้เริ่มปลูกทักษะการโหม่งบอล การครองบอล การจ่ายบอลยาว การวางกับดักล้ำหน้า การผ่านบอลสั้น ไปจนกระทั่งการรับลูก (ที่ไม่ต้องพึ่งรถโรงเรียนแบบในหนังโฆษณา )

ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้วโลกลูกหนังนั้นถือกำเนิดบนแผ่นดินยุโรปซึ่งอังกฤษมักสมอ้างเสมอว่าเป็น “บ้านของฟุตบอล” ซึ่งถ้ามองอีกด้านก็ต้องให้เครดิตเขานะครับ เพราะฟุตบอลลีกอังกฤษนั้นเข้มแข็งและพัฒนาจนเป็นลีกที่มีคนชอบดูมากที่สุดในโลก
สำหรับสูตรที่สองที่ประสบผลสำเร็จในโลกลูกหนังยุคคุณปู่นั้น พงศาวดารฟุตบอลบันทึกไว้ว่าเป็นสูตร WM ครับ สูตรนี้แหละครับที่ทำให้ทีมอย่าง “Arsenal”เกรียงไกรในยุคกลางทศวรรษที่ 20 ถึงปลายทศวรรษที่30 สูตรนี้ Herbert Chapman อดีตผู้จัดการทีมปืนโตครั้งกระโน้นเป็นผู้คิดขึ้นครับ

เหตุที่ Chapman แกคิดแผนนี้ขึ้นมานั้นเพราะมีการปรับกติกาการล้ำหน้าขึ้นใหม่ทำให้เกมลูกหนังยิงกันกระฉูดมากขึ้น ดังนั้น Chapman จึงต้องปรับผู้เล่นกองหลังเป็น 3 คน สังเกตจากตัวหัวของ W ก็ได้นะครับว่ามี 3 จุด โดยตัวผู้เล่น Center ในแผน Pyramid นั้นถูกถอยให้มาคุมพื้นที่แนวหลังซึ่งทำให้เกิดตำแหน่งใหม่ที่เรียกว่า Stopper หรือตัวชนนั่นเองครับ นอกจากนี้แผนของ Chapman ยังเป็นเน้นที่การประกบแบบตัวต่อตัวหรือ Man to man อีกด้วย ปรัชญาการทำทีมของ Chapman สะท้อนให้เห็นความสมดุลที่ปรากฏขึ้นในสนาม ไม่น่าเชื่อนะครับว่าตัวอักษรอย่าง Wและ M จะสามารถสร้างเกมที่ทรงประสิทธิภาพได้ในยุคนั้น

มีการบันทึกไว้ในพงศาวดารฟุตบอลเมืองผู้ดีไว้อย่างนี้ครับว่าสูตร WM ของ Chapman นั้นได้กลายเป็นแผนการเล่นมาตรฐานของทุกสโมสรฟุตบอลบนเกาะบริเตนใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 30

อย่างไรก็ตามในระดับนานาชาติแล้วฟุตบอลอังกฤษยังไม่ได้พิสูจน์ให้ใครได้เห็นเพราะแม้แต่ฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930 ที่อุรุกกวัยนั้นอังกฤษยังปฏิเสธเข้าร่วมการแข่งขันด้วยเหตุผลของการเดินทางไกลเพราะสมัยนั้นต้องนั่งเรือไปครับ อีกทั้งชาวเมืองผู้ดีคงยังคิดว่าฟุตบอลชาติกูนั้นเหนือกว่าชาติไหนๆในบรรณพิภพนี้แล้ว ซึ่งผมจะกลับมาเล่าในตอนต่อไปว่าสิงโตเมืองผู้ดีนั้นคิดผิดทีเดียวครับ

Hesse004

Oct 24, 2007

“I wish I had a wife” โถ! ลูกผู้ชาย ...ทำไมเกิดมาต้องมีเมีย




เรื่องที่จั่วหัวไว้ข้างต้นออกจะดูขำๆหน่อยนะครับ เหตุที่ตั้งชื่อแบบนี้ก็เพราะหลังจากที่ผมดูหนังเกาหลีเรื่อง I wish I had a wife (2000) จบเป็นรอบที่สองนั้น อารมณ์บางอย่างทำให้ผมนึกถึงเนื้อร้องวรรคหนึ่งในเพลง “วิมานดิน” ของคาราบาว ที่ร้องว่า “โถ! ลูกผู้ชาย...ทำไมเกิดมาต้องมีเมีย”

I wish I had a wife (2000) เป็นผลงานการกำกับของปาร์ค ยัง ซิก (Park Heung Sik) ครับ หนังว่าด้วยเรื่องราวของ คิม บอง ซู หนุ่มโสดวัยสามสิบกว่าปีที่อยากใช้ชีวิตคู่ อยากแต่งงาน หรือ พูดให้ชาวบ้านหน่อย ก็คือ อยากมีเมียนั่นเองครับ แต่จนแล้วจนรอดนายคิมคนนี้ก็ยังไม่พบสาวเจ้าที่ถูกใจ ด้วยเหตุนี้เองเรื่องครื้นเครงจึงเกิดขึ้นให้เราได้เห็นในหนัง

ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดมากไปกว่านี้แล้วกันนะครับ ทั้งนี้ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ผมมีต่อหนังรักเกาหลี คือ หนังส่วนใหญ่มีความเรียบง่ายแต่มีความพิถีพิถันในการนำเสนอเรื่อง “รัก” ได้อย่างสวยงาม นับตั้งแต่ Christmas in August (1998) และ One fine spring day (2001) ของ เฮอ จิน โฮ หรือแม้แต่งานอย่าง My sassy girl (2001) และ Il Mare (2000) ก็ได้ซ่อนประเด็นบางอย่างเกี่ยวกับสารของความรักได้อย่างน่าดูชม

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับตัว ปาร์ค ยัง ซิก คือ เขาเคยเป็นผู้ช่วยของเฮอ จิน โฮ เมื่อครั้งที่กำกับเรื่อง Christmas in August ซึ่งโดยส่วนตัวผมแล้วหนังเรื่องนี้คือ หนังรักที่ผมประทับใจมากที่สุดครับ แม้ว่า Chirstmas in August จะจบลงด้วยความเศร้าแต่มันกลับเป็นความเศร้าที่อยู่บนฐานของความอิ่มเอมใจ

อย่างไรก็ตามหนังของปาร์คกลับทำให้ I wish I had a wife กลายเป็นเรื่องสุขและก็จบลงด้วยความ “อิ่ม” อีกเหมือนกัน

ท่านผู้อ่านที่เป็นชายโสดและมีวัยใกล้เคียงกับ คิม บอง ซู ตัวเอกในเรื่องนี้อาจจะรู้สึก “อิน” กับอารมณ์ของนายคิมได้ไม่ยาก ทั้งนี้วัฒนธรรมของชนเกาหลีกับของบ้านเรานั้นดูไม่แตกต่างกันมาก ยิ่งถ้าเป็นเรื่องราวของหนุ่มโสดในเมืองกรุงที่ชีวิตผูกโยงกับงานออฟฟิศด้วยแล้วยิ่งทำให้หลายคนอดอมยิ้มไม่ได้กับบางฉากที่ดูจะตรงกับชีวิตเราเสียเหลือเกิน

ผมคิดว่าทัศนคติในเรื่อง “การแต่งงานและการมีครอบครัว” ของหนุ่มสาวชาวกรุงสมัยใหม่นั้นมีความคล้ายคลึงกันไม่ว่าจะในกรุงเทพหรือในกรุงโซล

สังคมเมืองภายใต้ระบบทุนนิยมได้ทำให้วิธีคิดและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปซึ่งต่างจากสังคมโบราณรุ่นปู่ย่าตาทวด ทั้งนี้การแต่งงานและการมีครอบครัวของคนสมัยก่อนที่อิงอยู่กับภาคเกษตรกรรมนั้น มีเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คือ การเพิ่มจำนวนแรงงานภายในครอบครัวซึ่งมาจากการ “มีลูก” ไงครับ จะว่าไปแล้วเหตุผลนี้สามารถอธิบายปรากฏการณ์การมีลูกเยอะของคนโบราณได้ทั้งในสังคมตะวันตกและสังคมตะวันออก

อย่างไรก็ตามหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความจำเป็นเรื่องของการใช้แรงงานในภาคเกษตรค่อยๆลดน้อยถอยลงไป และยิ่งในสังคมทุนนิยมเมืองใหญ่ด้วยแล้วการมีลูกจำนวนมากอาจจะกลายเป็น “ภาระ” และก่อปัญหาเศรษฐกิจกับครอบครัวในที่สุด

นับแต่ทศวรรษ 70 เป็นต้นมานั้น ประเด็นเรื่องการแต่งงาน การใช้ชีวิตคู่และการสร้างครอบครัวจึงเป็น Topic ใหม่ให้นักเศรษฐศาสตร์ทำการศึกษากันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของสองนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันอย่าง Gary Becker และ Jacob Mincer

สำหรับ Becker นั้น , ผลงานคลาสสิคอย่าง The Economic Approach to Family Behavior (1976) ได้ขยายพรมแดนความรู้เรื่องของเศรษฐศาสตร์กับการแต่งงาน เศรษฐศาสตร์กับการหย่าร้าง แม้กระทั่งเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการ “ทำลูก” ครับ

มิติการแต่งงานของนักเศรษฐศาสตร์ได้กลายเป็น “ธุรกรรม” (Transaction) อย่างหนึ่งที่มีดีมานด์และซัพพลายของทั้งชายหญิง รวมไปถึงการตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันหรือยุติชีวิตคู่ด้วยการหย่าร้าง (Divorce) ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานของต้นทุนและผลประโยชน์จากการทำธุรกรรมนั้น มิพักต้องเอ่ยถึงการให้กำเนิดบุตรที่ต้องมองว่าควรจะมีสักกี่คนถึงจะทำให้เกิดความเหมาะสมกับฐานะของครอบครัว พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์หน่อย คือ การหา Optimization level ของการ “ทำลูก” นั่นเองครับ

ที่ผมกล่าวมาข้างต้นดูจะทำให้เรื่อง “รัก” หมดความโรแมนติคไปเลยนะครับ เพราะดูเหมือนมนุษย์เราไม่น่าจะต้องมานั่งคิดอะไรให้มากมายกันขนาดนี้ แต่ในโลกของความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า “ความรัก” คือเงื่อนไขจำเป็น (Necessary condition) สำหรับการแต่งงาน แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ (Not sufficient condition) สำหรับการสร้างครอบครัว แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งผมก็ยังเชื่อในอานุภาพของความรักอยู่ดี

สำหรับ I wish I had a wife แบบไทยๆนั้นปรากฏให้เห็นในเพลงเพื่อชีวิตของ “บาว” หลายต่อหลายเพลงตั้งแต่ รักทรหด (1) , หัวใจบ้าบิ่น , หนุ่มสุพรรณ มาจนกระทั่ง วิมานดิน เพลงเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาในช่วงที่สังคมไทยกำลังก้าวกระโดดจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรม เกิดการหลั่งไหลของคนหนุ่มสาวจากภาคชนบทเข้าสู่เมือง

ด้วยเหตุนี้เองเนื้อร้องที่ปรากฏในเพลง “รักทรหด (1)” อย่าง “รักจนหลังอาน ดอกเบี้ยบานเบอะ ผ่อนทั้งบ้านทั้งรถยนต์ กว่าจะได้แต่งงาน เหนียงแทบยาน เนื้อแทบย่น เธอจึงเห็นใจ รักบริสุทธิ์ ให้บวชก่อนแล้วค่อยเบียด” ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามดิ้นรนของ “ไอ้หนุ่มคนหนึ่ง” ที่กว่าจะได้ทำธุรกรรมการแต่งงานนั้นต้องเหนื่อยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งดูเหมือน “น้าแอ๊ด” แกจะมาบ่นเรื่องนี้อีกครั้งผ่านเพลง “วิมานดิน”ที่ว่า “โถ! ลูกผู้ชาย....ทำไมเกิดมาต้องมีเมีย” ถูกใจคนยังไม่มีเมียดีครับ (ฮา)

Hesse004

Oct 2, 2007

“บัญญัติสิบประการ” คำประกาศอิสรภาพของ “ยิว” ยุคใหม่





ท่านผู้อ่านที่เป็นคอหนังเก่าและชื่นชอบภาพยนตร์อภิมหากาพย์หรือ Epic film นั้น ผมเชื่อว่า The Ten Commandments (1956) ของ Cecil B. Demille น่าจะเป็นหนังในดวงใจเรื่องหนึ่ง ไม่แพ้หนังอย่าง Ben-Hur (1959) ของ William Wyler หรือ Spartacus (1960) ของ Stanley Kubrick

มนต์เสน่ห์ของมหากาพย์ภาพยนตร์ที่สตูดิโอ Hollywood ทุ่มทุนสร้างนั้นอยู่ที่เนื้อหาประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอย่าง เช่นเรื่องของ Julius Ceasar แห่งโรม เรื่องสงครามกรุง Troy ในยุคกรีกโบราณ นอกจากนี้ฉากที่อลังการและจำนวนนักแสดงที่มากมายรวมถึงเครื่องแต่งกายที่โดดเด่น สิ่งต่างๆที่ว่ามานี้ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้ดูหนังอีพิค

สำหรับ The Ten Commandments หรือ “บัญญัติสิบประการ” ที่ผมหยิบมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังนี้ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่หลายประการครับ

ประการแรก หนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นในยุคที่สตูดิโอ Hollywood นิยมทำหนังย้อนยุค ลองไล่เรียงกันตั้งแต่ Ben-Hur (1959) , Spartacus (1960), Cleopatra (1963) , Jason and Argonauts (1963 ) หรือแม้แต่ Helen of Troy (1956) ภาพยนตร์เหล่านี้ถูกยกระดับให้เป็นหนังคลาสสิคไปแล้ว ประเด็นก็คือว่าสื่อภาพยนตร์นี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการสร้างมุมมองประวัติศาสตร์จากตำนานให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวได้สมจริงเสริมจินตนาการ

ท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าหากเราอ่านเรื่อง Jason and Argonauts หรือ “อภินิหารขนแกะทองคำ” ฉากที่เจสันร่องเรือผ่านช่องแคบเล็กๆโดยมีเจ้าสมุทรโพไซดอน (ที่ไม่ใช่อาบอบนวดนะครับ) มาช่วยดันภูเขาไม่ให้ถล่มลงมานั้น มันช่างอลังการแค่ไหน เฉพาะฉากนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้เทคนิคพิเศษหรือ Special effect ที่ทำให้คนดูหนังนั้นติดตาตรึงใจเป็นอย่างยิ่ง

ความน่าสนใจประการถัดมา ผมว่าหนังเรื่องนี้ได้ฉายให้เห็นภาพของคนโบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้วโดยเฉพาะเรื่องราวของอารยธรรมอิยิปต์หรือเรียกอีกชื่อว่า “ไอยคุปต์” ผมรู้จักอารยธรรมนี้จากหนังสือต่วยตูนครับ เรื่องราวของ “ฟาโรห์” เรื่องราวของ “พิระมิด” เรื่องราวของ “มัมมี่” ยังมีมนต์ขลังให้คนรักประวัติศาสตร์ได้ตามอ่านกันต่อไป

นอกเหนือจากที่เราได้เห็นวัฒนธรรมของชนชาวอิยิปต์ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางโลกเมื่อหลายพันปีมาแล้ว เราก็ได้เห็นอารยธรรมของชาวยิวซึ่งในหนังของ Cecil B. Demille นั้นเรียกว่า “อิสราเอล” ด้วยความที่ชนชาวยิวตกเป็นทาสมาชั่วนาตาปี ทำให้พวกเขาเชื่อว่าจะมี “ผู้มาปลดปล่อย” ซึ่งคนๆนั้นก็คือ “โมเสส” นั่นเองครับ

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นหูกับชื่อของ “โมเสส” และเมื่อเราพูดถึงโมเสสอย่างแรกที่เราจะนึกถึง คือ “บัญญัติสิบประการ” ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้ทำให้เราได้เห็นที่มาที่ไปของ “โมเสส” จากเจ้าชายอิยิปต์ผู้เก่งกาจกลับกลายเป็นผู้ปลดปล่อยชนชาวยิวจากการกดขี่ของอาณาจักรไอยคุปต์

ประเด็นที่ผู้กำกับชั้นบรมครูอย่าง Cecil B. Demille พยายามสื่อผ่านอภิมหากาพย์บนแผ่นฟิล์มนั้นอยู่ที่เรื่องของ “เสรีภาพความเป็นมนุษย์” ที่พระเจ้าเป็นคนประทานมาให้ครับ เหมือนที่ฉากแรกที่ Demille ออกมาตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์เราเป็นเพียงสมบัติของรัฐ (Property of state) หรือเป็นมนุษย์ที่ได้รับเสรีภาพจากพระเจ้า

The Ten Commandments นับเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของ Cecil B. Demille ทั้งนี้เขาเคยสร้างหนังเรื่องนี้มาครั้งหนึ่งเมื่อปี 1923 โดยสมัยนั้น The Ten Commandments เป็นหนังเงียบ ผมว่าเหตุผลหนึ่งที่ Cecil B. Demille เลือกกลับมาทำใหม่ให้มันอลังการกว่าเดิมน่าจะมาจาก “บารมี”ของเขานั่นเองนอกจากนี้ Cecil B. Demille ยังมีเชื้อสายยิวจากทางแม่ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำหนังขึ้นเพื่อคารวะบรรพชนชาวยิว

The Ten Commandments ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงความยากลำบากของการเป็นทาสที่ชนชาวยิวเมื่อครั้งโบราณกาลต้องเผชิญ เหมือนที่ Stanley Kubrick ได้แสดงให้เห็นความเป็นทาสของ Spartacus ที่ถูกชาวโรมันข่มเหง เหมือนที่ Steven Spielberg ตั้งคำถามถึงความคิดของอเมริกันชนในอดีตเกี่ยวกับทาสแอฟริกันที่มาพร้อมกับเรือ Amistad

ผมตั้งข้อสังเกตในระหว่างที่ดูหนังมหากาพย์หลายเรื่อง สิ่งหนึ่งที่พบ คือ รูปแบบในการดำเนินเรื่องนั้นมีลักษณะคล้ายกัน คือ มีบทโหมโรง (Overture) ช่วงพักกลางเรื่อง (Intermission) และบทส่งท้าย ด้วยเหตุนี้เองดนตรีจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของหนังอิพิค

กลับมาที่ความน่าสนใจใน The Ten Commandments กันต่อครับ , Cecil B. Demille เองได้ทำให้ภาพของ “โมเสส” มีชีวิตขึ้นจริงโดยมี Charlton Heston รับบทเป็นโมเสส นอกจากนี้การฉายให้เห็นที่มาของแผ่นหินที่จารึกบัญญัติสิบประการนั้นก็ทำได้น่าดูชมโดยผ่านเสียงของ “พระเจ้าของชาวฮิบรู” ซึ่งเมื่อดูข้อบัญญัติทั้งสิบข้อแล้ว ปรากฏว่ามีหลายข้อที่คล้ายกับศีล 5 ของพระพุทธองค์ ไม่ว่าจะเป็น “จงอย่าฆ่าคน” จงอย่าประพฤติผิดลูกเมีย” “จงอย่าลักขโมย” “จงอย่าใส่ความนินทาว่าร้ายผู้อื่น” หรือ “จงอย่ามีความมักได้ในทรัพย์ผู้อื่น”

เราจะเห็นได้ว่าทั้ง “บัญญัติสิบประการ”และ “เบญจศีล” มีความคล้ายคลึงกันมากและสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การยึดหลักธรรมคำสอนมากกว่ารูปปั้นวัตถุบูชา เหมือนที่พุทธองค์ทรงดำรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” เหมือนที่โมเสสบอกกับชาวยิวทั้งปวงว่า “จงยึดมั่นปฏิบัติตามบัญญัติสิบประการของพระเจ้าโดยไม่ต้องมีรูปเคารพบูชา”

ความลึกซึ้งที่ปรากฏในหนัง The Ten Commandments นั้นน่าจะเป็นอนุสติเตือนใจพวกเราชาวพุทธได้เหมือนกันนะครับว่าแท้จริงแล้ว “สาระนั้นสำคัญกว่ารูปแบบ” สาระที่บัญญัติในพระอภิธรรมคำสอนมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตมากกว่าการบูชาวัตถุมงคลโดยมุ่งเพียงร้องขอความสุขความเจริญให้กับตนเองเพียงอย่างเดียว

ความน่าสนใจประการสุดท้ายในหนังของ Cecil B. Demille นั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็น “คำประกาศอิสรภาพของชาวยิวในศตวรรษที่ 20” ครับ หลังจากชาวยิวที่ต้องระหกระเหินมานานแสนนาน โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่านายทุนที่อยู่เบื้องหลังการสร้างหนังเรื่องนี้น่าจะมีชาวยิวอย่างน้อยหนึ่งคนบ้างล่ะ ทั้งนี้ต้องยอมรับนะครับว่าชาวยิวเป็นชาติที่น่าเห็นใจชาติหนึ่งเนื่องจากเป็นที่รังเกียจของชาวยุโรปและอาหรับมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ถึงขนาดเคยโดนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์(Holocaust)ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม “ความฉลาดและความเคี่ยว”ของยิวนั้นก็คงไม่เบาเหมือนกัน มิฉะนั้นพวกเขาคงไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์จนก่อร่างสร้างชาติ “อิสราเอล” ให้เข้มแข็งมาจนทุกวันนี้ได้

The Ten Commandments น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการ “ดึงคนยิวกลับดินแดนพันธะสัญญา” ซึ่งปัจจุบันก็ยังพิพาทกันอยู่กับ “ปาเลสไตน์” เจ้าของดินแดนเดิม ทั้งนี้ประวัติศาสตร์ของชาวยิวยุคใหม่นั้นเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 1948 นี้เองครับ

“อิสราเอล” กลายเป็นรัฐใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตก แต่สำหรับพวกอาหรับแล้วยิวคือศัตรูหมายเลขหนึ่งของพวกเขา

แนวคิดการสร้างชาติของอิสราเอลนั้นมีมานานแล้วนะครับโดยเฉพาะการก่อตั้ง “ขบวนการไซออน”ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดึงคนหนุ่มสาวชาวยิวมาช่วยกันสร้างชาติ จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จในสมัยของ นาย David Ben- Gurion ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล

ว่ากันว่าในตอนนั้นชาวยิวอยากให้ “Albert Einstein” ไปเป็นประธานาธิบดีคนแรกของพวกเขา แต่ Einstien แกปฏิเสธครับ ดังนั้นตำแหน่งประธานาธิบดีหรือประมุขของประเทศจึงตกเป็นของ Dr.Chaim Weizmann ยอดนักวิทยาศาสตร์ชาวยิวอีกคนหนึ่ง

ทุกวันนี้ “ยิว” คงไม่ต้องเร่ร่อนระหกระเหินเหมือนบรรพชนในอดีตอีกแล้ว หนำซ้ำชาว ยิวกลับกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในหลายต่อหลายวงการ ยกตัวอย่างเช่น ในแวดวงการเงินนาย George Soros ก็เป็นยิว ในวงการวิทยาศาสตร์ไม่มีใครไม่รู้จัก Albert Einstein ในวงการเศรษฐศาสตร์เรายังมียิวอัจฉริยะอย่าง Milton Friedman ในวงการภาพยนตร์ก็ยังมี Steven Spielberg ไงครับ

แต่เอ๊! วงการฟุตบอลที่ผมชอบล่ะ อ้อนึกออกแล้วครับ มีหนึ่งคนเป็นนักบอลนามว่า Yossie Benayoun แห่งทีมหงส์แดง ส่วนอีกคนเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลนามว่า Avram Grant ซึ่งเก่งหรือเปล่า ? นั้นลองถามแฟนทีมเชลซีได้นะครับ (ฮา)

Hesse004