Sep 28, 2008

เศรษฐทรรศน์แถวอาร์ซีเอ !





โดยปกติแล้วผมไม่ใช่นักท่องแดนราตรีด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้ การเที่ยวกลางคืนของผมไม่สามารถทำได้บ่อยนัก

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นโอกาสอันดีที่ได้ไปเปิดหูเปิดตาแถวถนนกลางคืนที่ว่ากันว่าเหล่านักท่องราตรีหลายคนคุ้นเคยเป็นที่สุด…ใช่แล้วครับ เมื่อคืนนี้ผมไปเที่ยวอาร์ซีเอ (Royal City Avenue) อย่างไรก็ตามผมไม่ได้ไปเที่ยวคนเดียวหรอกครับ มีรุ่นพี่ท่านหนึ่งนำเที่ยวในฐานะมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ รวมทั้งเพื่อนสนิทของผมอีกท่านหนึ่ง ซึ่งถ้ารวมอายุของพวกเราสามคนก็ร่วมร้อยเข้าไปแล้ว นั่นก็แสดงว่าพวกเราเริ่มชราเกินไปแล้วที่จะไปเยือนสถานที่แบบนี้

ทริปของพวกเราเริ่มต้นกันเวลาประมาณ 3 ทุ่มหลังจากกินข้าวกันเสร็จที่ “ดิอิมมอร์ทัล” (The immortal) เกษตรนวมินทร์ โดยพวกเรามีจุดหมายปลายทางกันที่อาร์ซีเอ ครับ

มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ของเราพาเราฝ่ารถราที่ติดขัดเพื่อไปดูแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีแห่งแรกแถวถนนเอกมัยครับ ผมตื่นตาตื่นใจไม่น้อยกับสไตล์การแต่งร้านย่านนั้นเพราะแต่ละร้านตกแต่งได้ดีมีสไตล์มาก

หลุดจากเส้นเอกมัย เราเข้าไปเยือนซอยทองหล่อที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่าง”หรู” ของคนมีกะตังค์ พวกเราไปนั่งจิบชาร้อนกินกาแฟเย็นกันที่สตาร์บัคส์ บริเวณ Marketplace ซึ่งจะว่าไปแล้วสถานที่ตรงนั้นเปรียบเสมือนโชว์รูมรถราคาแพงดีๆนี่เอง

น่าสนใจนะครับว่า “ย่าน” หรือ “แถบ” ที่อยู่นั้นเป็นเครื่องชี้วัดฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของคนได้ดีไม่น้อย

เมื่อจิบชากินกาแฟกันจนหายเหนื่อยแล้ว พวกเราก็ออกเดินทางต่อโดยแวะไปเยือนเจเอเวนิว (J-Avenue)แหล่งชอปปิ้งกลางซอยทองหล่อซึ่งก็หนีไม่พ้นสไตล์ไฮโซตามเคย

ทะลุออกจากซอยทองหล่อ เราแอบโฉบไปแถวที่ตั้ง “โรงแรมสยาม” ในอดีต ซึ่งจะว่าไปแล้วเมื่อหลายปีก่อนเคยเป็น “ตลาดนัด” ที่ชายหนุ่มส่วนใหญ่ชอบขับรถมาชอปปิ้งกันยามค่ำคืน จริงๆแล้วคงไม่ต้องแจงรายละเอียดไปมากกว่านี้แล้วกันนะครับ

ทุกวันนี้บรรดาเหล่าแม่ค้าคนสวยทั้งหลายที่เคยหากินอยู่หน้าโรงแรมสยาม ได้ย้ายสถานที่ทำการไปอีกนิดนึงแถวริมถนนเลียบทางรถไฟ

มาถึงตรงนี้ภาพ Sex in the city ของกรุงเทพดูจะชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าเราอาจจะกระทำการกันอย่างหลบๆซ่อนๆบ้าง โจ่งแจ้งบ้าง ภายใต้การรักษากฎหมายของตำรวจไทยที่มักจะทำงานแบบปิดตาข้างเดียวอยู่เสมอ

ความสนใจของคณะทัวร์เราอยู่ที่ตรงที่ “ขนาด” ครับ อ้อ! อย่าคิดไกลนะครับ ขนาดที่ว่านี้ คือ “ขนาดของเศรษฐกิจใต้ดิน” หรือ Underground Economy

คำถามของพวกเรา คือ ขนาดของเศรษฐกิจใต้ดินเหล่านี้นั้นมีมากน้อยแค่ไหน เพราะจะว่าไปแล้วธุรกิจการค้าประเวณีตามริมถนนนั้นไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในมูลค่าที่เกิดขึ้นจริงจากกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายของระบบเศรษฐกิจทั่วไป

นอกจากนี้ในมิติของ “ความแตกต่าง” ระหว่างชนชั้นของคนเมืองหรือถ้าพูดให้โก้หน่อยก็เรียกว่า “ทวิลักษณ์” (Dualism) ของความเป็นเมืองนั้น น่าสนใจอีกเหมือนกันนะครับว่าเพียงไม่กี่เส้นถนนจากซอยทองหล่อถึงเพชรบุรี เราเห็นความแตกต่างระหว่าง “คนมีอันจะกิน”กับ “คนที่ต้องออกมาขายตัวเองกิน”

ความทวิลักษณ์ของเมืองใหญ่คงไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพเพียงแห่งเดียวหรอกครับ หากแต่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมเมืองทั่วโลก

ระหว่างที่นั่งรถต่อไปอาร์ซีเอนั้น ผมตั้งคำถามเล่นๆกับตัวเองว่า“ค่าบุหรี่ที่สาวน้อยไฮโซสูบอยู่ในผับหรูๆแถวซอยทองหล่อจะมีราคาถูกหรือแพงกว่าค่าตัวของสาวน้อยโลโซที่มาเร่ขายตัวแถวถนนเพชรบุรี”

และแล้วเราก็เดินทางมาถึงอาร์ซีเอ (Royal City Avenue) ถนนที่ว่ากันว่าเป็น “มหาวิทยาลัยของคนกลางคืน” อาร์ซีเอวันนี้ต่างจากอาร์ซีเอที่ผมเคยไปเที่ยวเมื่อหลายปีมาแล้ว เราผ่านร้านดังอย่าง Slim และRoute66 แต่เลือกที่จะไม่เข้าเพราะเห็นคนมหาศาลแล้วคงต้องเจียมต่อสังขาร

อาร์ซีเอยังเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าวัยรุ่น มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่าแม้ว่าเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ดูเหมือนภาคบริการโดยเฉพาะการเที่ยวกลางคืนยังสามารถหล่อเลี้ยงตัวมันเองได้อยู่

มองในแง่ของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว การเที่ยวกลางคืน เปรียบเสมือนเป็น “การพักผ่อน”หรือ Leisure ที่แกรี่ เบคเกอร์ (Gary Becker) ยอดปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์แรงงาน เห็นว่าเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่เราได้รับความพอใจจากการบริโภค โดยมีต้นทุนเป็นเวลาที่หายไปจากการทำงานซึ่งมันถูกสะท้อนจากค่าจ้างแรงงานนั่นเอง

อย่างไรก็ดีเมื่อมองในภาพรวมแล้ว “อุตสาหกรรมบริการการท่องเที่ยวกลางคืน” ย่อมสร้างงาน (Linkage) สร้างอาชีพให้คนในสังคมได้ไม่น้อย ตั้งแต่นายทุนเปิดผับ พ่อครัว เด็กเสริฟ์ เด็กเชียร์เบียร์ นักร้องนักดนตรี สาวโคโยตี้ นักเลงคุมผับ เด็กรับรถ เด็กนวดในห้องน้ำ คนขับแท็กซี่… อ้อ! ลืมไปอีกอาชีพ คือ ตำรวจ! ครับ

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ หากนโยบายจัดระเบียบสังคมให้ปิดผับก่อนตีหนึ่งนั้นจะทำให้เหล่าผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องธุรกิจเที่ยวกลางคืนจะออกมาต่อต้าน เพราะทำให้พวกเขามีเวลาในการทำมาหากินน้อยลง

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อในเรื่องความหลากหลายของโลกนะครับ โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่สีขาวสว่างเพียงสีเดียว หากแต่มีสีดำ สีเทา สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง จิปาถะ เพียงแต่เราจะสามารถผสมสีเหล่านั้นให้มันดูออกมาเป็น “ภาพ” ที่ดีได้หรือเปล่า

ในแง่หนึ่ง ผมรู้สึกว่าการเที่ยวกลางคืนเป็นการบริโภคสินค้าพักผ่อนอย่างที่เบคเกอร์ว่าไว้ เพียงแต่ว่าการบริโภคสินค้าประเภทนี้ทุกวัน ทุกอาทิตย์ หรือทุกเดือนสำหรับผมแล้วค่อนข้างมีข้อจำกัด ทั้งอายุขัย กำลังกาย และที่สำคัญคือ กำลังทรัพย์ครับ ฮา ฮา

คณะทัวร์ของเราไม่ได้เข้าไปนั่งดริงก์หรือแดนซ์ในผับที่ไหนหรอกครับ เพียงแค่สังเกตการณ์ก่อนจะมุ่งไปสู่จุดหมายที่แท้จริง คือ ไปขับรถโกลด์คาร์ต และร้องคาราโอเกะ

ทริปของพวกเราจบลงตอนตีสองครับ เดินออกมาจากร้านเกะแล้ว นักเที่ยวยามราตรีเริ่มทยอยออกมาจากร้านรวง บ้างเริ่มเมามาย บ้างเริ่มนั่งรวมตัวเมาท์หาที่ไปต่อ… ดูเหมือนกรุงเทพจะไม่เคยมีวันได้หลับเลยนะครับ

Hesse004

Sep 25, 2008

สำรวจแนวรบต่อต้านคอร์รัปชั่นในกลุ่มอาเซียน




เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index; CPI) ของประเทศต่างๆทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2008 ซึ่งปรากฏว่าดัชนีดังกล่าวของประเทศไทยอยู่ที่ 3.5 ขยับขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อปีที่แล้วครับ

องค์กรความโปร่งใสนานาชาติซึ่งมีชื่อย่อว่า T.I. นั้นเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1993 ครับโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี ทั้งนี้วัตถุประสงค์การก่อตั้ง T.I. นั้นปรากฏอยู่ในคำประกาศเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ว่า

“องค์กรความโปร่งใสนานาชาติเป็นองค์กรภาคประชาสังคมของโลกที่มุ่งหวังจะต่อต้านการคอร์รัปชั่น องค์กรแห่งนี้ได้นำพาผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมารวมตัวกันด้วยเจตจำนงที่จะหยุดยั้งการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ด้วยเหตุนี้เองพันธกิจขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ คือ การเปลี่ยนโลกใหม่ให้ปราศจากการคอร์รัปชั่น”

สำหรับผลงานเด่นๆที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ได้รับการยอมรับในเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่น คือ การพัฒนาดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นหรือ Corruption Perception Index โดยเจ้าดัชนีตัวนี้สะท้อนให้เห็นระดับของการรับรู้การคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นประเทศต่างๆ ซึ่งจะว่าไปแล้ว Corruption Perception Index ได้กลายเป็นเครื่องชี้วัดปัญหาการคอร์รัปชั่นของแต่ละประเทศไปพร้อมๆกันด้วย

ดัชนีตัวนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1995 ครับ โดยบุคคลที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงพัฒนาการสร้างดัชนีชี้วัดตัวนี้ขึ้นมา คือ ศาสตราจารย์ ดร.โยฮันน์ แกรฟ แลมป์สดอร์ฟ (Johann Graff Lambsdorff) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันผู้สนใจปัญหาการคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด

ตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ดัชนีตัวนี้ได้รับการเผยแพร่นั้น ศาสตราจารย์แลมป์สดอร์ฟ ได้แสดงหลักการและวิธีการสร้างดัชนีตัวนี้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาแลกเปลี่ยนตลอดจนถกเถียงในมิติของวิชาการต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้เองงานวิจัยเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมาจึงได้อ้างอิงถึงดัชนีของแลมป์สดอร์ฟอยู่เสมอ

การตีความค่า Corruption Perception Index เป็นไปอย่างง่ายๆไม่ซับซ้อนครับ กล่าวคือ ดัชนีดังกล่าวมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 10 โดยประเทศใดมีค่าดัชนีดังกล่าวมาก แสดงให้เห็นว่าประเทศนั้นมีระดับการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่นของคนในสังคมนั้นน้อยมาก เช่น ปี ค.ศ.2008 ค่า CPI ของ “เดนมาร์ก” อยู่ที่ 9.3 ยังรักษาแชมป์ความโปร่งใสเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นสมัยที่สอง

ในทางกลับกันประเทศใดที่มีค่าดัชนีดังกล่าวน้อย แสดงให้เห็นว่าประเทศนั้นมีระดับการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่นของคนในสังคมมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมนั้นเต็มไปด้วยเหล่านักการเมืองขี้ฉ้อและข้าราชการขี้โกง โดยปีล่าสุด “โซมาเลีย” เป็นประเทศที่มีค่า CPI ต่ำที่สุดเพียง 1.0 เท่านั้น ขณะที่เพื่อนบ้านของเราอย่าง “เมียนมาร์” เข้าป้ายในอันดับรองบ๊วยด้วยระดับดัชนี ที่ 1.3 ครับ

ขณะเดียวกัน “สิงค์โปร์” กลายเป็นประเทศที่สร้างชื่อให้กับกลุ่มอาเซียนมากที่สุดในแง่ของความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง โดยค่า CPI ปีล่าสุด ของสิงค์โปร์อยู่ที่ 9.2 ครับ ครองอันดับ 4 ของโลก เหนือฟินด์แลนด์ แชมป์เก่าหลายสมัยที่ปีนี้หล่นไปอยู่ที่ 5

เมื่อย้อนมองส่องดูปัญหาการคอร์รัปชั่นในภูมิภาคอาเซียนของเรานั้น ประเทศที่เกาะกลุ่มระดับความรุนแรงของปัญหาการคอร์รัปชั่นที่อยู่ในระดับสูงอีกประเทศ คือ “กัมพูชา” ครับ ทั้งนี้ค่า CPI ของเขมรนั้นอยู่ที่ 1.8 ความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่ 166 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

ถัดจากเขมรมาเป็น “ลาว” ครับ โดยค่า CPI ของลาวอยู่ที่ 2.0 พอดี ทั้งนี้ลาวเพิ่งเข้าร่วมการจัดอันดับเรื่องนี้เมื่อปี ค.ศ.2005 โดย 4 ปีที่ผ่านมาค่า CPI ของลาวยังวนเวียนอยู่ที่ระดับ 2 กว่าๆ เช่นเดียวกับน้องใหม่ในอาเซียนอย่าง “ติมอร์” ที่ค่า CPI ปีนี้อยู่ที่ 2.2

สำหรับประเทศใหญ่อย่าง “ฟิลิปปินส์” นั้น ค่า CPI ปีนี้อยู่ที่ 2.3 ครองอันดับความโปร่งใสที่ 141 ทั้งนี้ฟิลิปปินส์นับเป็นอีกประเทศที่มีปัญหาการคอร์รัปชั่นรุนแรงโดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นของเหล่าผู้นำประเทศในอดีตตั้งแต่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส, โจเซฟ เอสตราด้า แม้กระทั่งนางกลอเรีย อาร์โรโย่ ผู้นำคนปัจจุบันก็ไม่วายว่ามีข่าวการทุจริตเช่นกัน

คอร์รัปชั่นในแดนตากาล๊อกเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่ทำลายการพัฒนาเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ จากประเทศที่คาดหมายว่าจะพัฒนาได้เร็วที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงกลับกลายเป็นว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่พัฒนาได้เชื่องช้าที่สุดทั้งนี้ก็เพราะปัญหาการคอร์รัปชั่น

เช่นเดียวกับ “อินโดนีเซีย” ที่มีปัญหาการคอร์รัปชั่นเรื้อรังมาช้านานโดยเฉพาะช่วงเวลาที่รัฐบาลเผด็จการซูฮาร์โต้ ครองอำนาจยาวนานถึง 31 ปี นั้น ทำให้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในอินโดนีเซียผูกโยงกับธุรกิจของคนในครอบครัวซูฮาร์โต้ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างวัฒนธรรมการคอร์รัปชั่นในหมู่ทหารและนักการเมือง พ่อค้านักธุรกิจชาวจีน จนทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียต้องเตรียมบวกต้นทุนที่มองไม่เห็นเวลาติดต่อทำธุรกิจในแดนอิเหนา

ด้วยเหตุนี้เองค่า CPI ปีล่าสุดของอินโดนีเซียจึงยังอยู่ที่ระดับ 2.6 แม้ว่าค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆในช่วงห้าปีหลัง แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนักสำหรับประเทศที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาอย่างอินโดนีเซีย

ทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนปัญหาการฉ้อฉลอำนาจหรือ Power Corrupt ของเหล่าผู้นำประเทศอันนำมาซึ่งการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวบนตำแหน่งหน้าที่สาธารณะที่กล่าวอ้างไว้อย่างสวยหรูภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย

ในทางกลับกัน “เวียดนาม” ซึ่งกลายเป็นประเทศที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในอาเซียนนั้น ระดับค่า CPI ปีล่าสุดยังอยู่เพียง 2.7 ครับ ค่าดังกล่าวเป็นเครื่องชี้วัดถึงความโปร่งใสของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ดีว่า มีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ หากเวียดนามต้องการจะพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ พวกเขาจะจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชั่นได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดเพราะคอร์รัปชั่น คือ อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ประเทศเพื่อนบ้านเราอีกประเทศที่มีกลไกการจัดการคอร์รัปชั่นได้ดีพอสมควร คือ “มาเลเซีย” ครับ ตลอดระยะเวลาที่พรรคอัมโนครองอำนาจภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ มูฮัมหมัด มาจนกระทั่งนายอับดุลลาร์ อาหมัด บาดาวี นั้นมาเลเซียได้พัฒนาประเทศขึ้นมาเป็นเบอร์สองของอาเซียน นอกเหนือจากความเข้มแข็งของรัฐบาลแล้ว เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มาเลเซียสามารถพัฒนาขึ้นมาได้เร็ว คือ การเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามปัญหาการทุจริตโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงกับเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ขี้โกงทั้งหลาย โดยค่า CPI ปีล่าสุดของมาเลเซียอยู่ที่ 5.1 ครองอันดับความโปร่งใสที่ 47 ครับ

สำหรับประเทศไทยของเรานั้น , แม้ว่าค่า CPI จะสูงขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย แต่ค่าเฉลี่ยของดัชนีดังกล่าวตลอดระยะเวลา 14 ปี อยู่ที่ 3.29 ครับ ค่าดังกล่าวเป็นเครื่องสะท้อนที่ดีถึงระดับความรุนแรงของปัญหาการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าเหตุที่ค่า CPI ของไทยเรานั้นค่อนข้างเสถียรอยู่ที่ระดับไม่เกิน 4.0 นั้นส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้ว่าคอร์รัปชั่นนั้นเป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในกมลสันดานของคนไทยมาช้านานแล้ว เพียงแต่ว่าเราจะยอมรับกับมันได้มากน้อยหรือเปล่า

ลักษณะพิเศษของพฤติกรรมการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่นของคนไทยดูเหมือนจะยอมรับในการฉ้อฉลในระดับเล็กๆ เช่น จ่ายค่าน้ำร้อน น้ำชา ติดสินบนหรือแป๊เจี๊ยเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการอันสะดวกสบายจากเจ้าหน้าที่รัฐ การคอร์รัปชั่นในระดับนี้เรียกว่า Petty Corruption หรือ การฉ้อราษฎร์นั่นเองครับ

ในทางกลับกันคนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถยอมรับได้กับพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นของเหล่านักการเมือง ข้าราชการประจำระดับสูงที่ฉ้อฉลเงินงบประมาณแผ่นดินผ่านโครงการต่างๆซึ่งการคอร์รัปชั่นในระดับนี้เรียกว่า Grand Corruption หรือ การบังหลวง

นอกจากนี้คอร์รัปชั่นยังเป็นข้ออ้างหนึ่งของคณะรัฐประหารในการยึดอำนาจการปกครองล้มล้างรัฐบาล ซึ่งจากประวัติศาสตร์อันใกล้ “บุฟเฟ่ต์ คาบิเนต” สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เป็นเหตุผลของ คณะ รสช. ในการล้มล้างรัฐบาล เช่นเดียวกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ที่รัฐบาลทักษิณ ถูก คณะ คมช. โค่นล้มด้วยเหตุผลของการคอร์รัปชั่นเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าคอร์รัปชั่นนอกจากจะทำลายเศรษฐกิจแล้วยังมีส่วนในการทำลายระบอบประชาธิไปไตยอีกด้วย น่าสนใจนะครับว่าสังคมไทยจะจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชั่นกันอย่างไรทั้งในระดับ Petty และ Grand Corruption เพราะหากเราสามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเราในอนาคตด้วย

“คอร์รัปชั่น” ยังคงเป็นปัญหาที่อยู่คู่มนุษยชาติต่อไป เพราะสาเหตุสำคัญของการฉ้อฉลนั้นมาจาก “ความโลภ” ครับ แม้ว่าเราไม่สามารถกำจัดความโลภออกจากใจเราได้แต่เราสามารถควบคุมความโลภนั้นได้… ไม่ใช่หรือครับ

Hesse004

Sep 17, 2008

"Modern Times" บทเรียนเศรษฐศาสตร์ของชาลี แชปลิน





กล่าวกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริการอบนี้หรือ “วิกฤตซับไพร์ม” (Sub prime Crisis) น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงไม่แพ้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงเมื่อปี ค.ศ.1929 หรือที่รู้จักกันในชื่อของ The Great Depression ครับ

The Great Depression ในสหรัฐอเมริกานับว่าเป็นหายนะทางเศรษฐกิจที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ขณะเดียวกันเหตุการณ์ครั้งนี้ดูจะเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อในการพิสูจน์คุณค่าของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม (Capitalism) ที่เชื่อกันว่าเหมาะที่สุดแล้วสำหรับโลกเสรีประชาธิปไตย

ผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นทำให้กระบวนทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนไปด้วยเช่นกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์” (John Maynard Keynes) ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ไปอย่างสิ้นเชิง

หากว่า The general Theory of Employment, Interest and Money (1936) ซึ่งเป็นตำราเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ได้กลายเป็นประจักษ์พยานทางวิชาการในการบันทึกเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Modern Times (1936) ของชาลี แชปลิน (Charles Chaplin) ก็น่าจะเป็นประจักษ์พยานของความบันเทิงเริงรมย์ที่ได้สะท้อนมุมมองของคนจร (The tramp) ที่มีต่อวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว

ผมรู้จักหนังของชาลี แชปลิน มาตั้งแต่ชั้นป.4 แล้วครับ อย่างไรก็ตามความทรงจำกี่ยวกับแชปลินของผมถูกรื้อฟื้นอีกครั้งโดยอาจารย์ท่านหนึ่งในชั่วโมงแรกที่ผมได้เรียนวิชา “ทฤษฎีและกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ”

หลังจากวันนั้น ผมกลับมาหาหนังของชาลี แชปลิน ดูอีกหลายเรื่องครับ ไม่ว่าจะเป็น City Lights (1931), Gold Rush (1942), The Kid (1921) และ The Great Dictator (1940)

ข้อสรุปส่วนตัวที่ผมค้นพบคือ “ชาลี แชปลิน” เป็น “ยอดศิลปิน” ครับ อีกทั้งแชปลินยังเป็นนักทำหนังที่ถ่ายทอดความเป็น “มนุษยนิยม” ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง กล่าวคือ หนังของแชปลินทุกเรื่องนั้นสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่รวมไปถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าคุณจะกระจอกงอกง่อย ยากจนเพียงใด ทั้งนี้ข้อสังเกตหนึ่งของหนังแชปลิน คือ เขามักจะเล่นบทนำที่ส่วนใหญ่เป็น “คนจร” (The Tramp) มีฐานะยากจน โดยเฉพาะเรื่องที่ผมอ้างถึงมาทั้งหมด

Modern Times เป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 77 ของชาลี แชปลิน ครับ ซึ่งในเรื่องนี้เขาเป็นผู้เขียนบท กำกับพร้อมทั้งรับบทนำเอง และคงจะไม่เกินเลยไปนัก หากผมจะยกให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่คลาสสิคที่สุดเรื่องหนึ่ง

ชาลี แชปลิน สะท้อนภาพบิดเบี้ยวของระบบทุนนิยมในสหรัฐอเมริกาได้เจ็บแสบไม่น้อย ฉากคลาสสิคอย่างฉากที่แชปลินหลุดเข้าไปในกงล้อของเครื่องยนต์กลไกมหึมานั้นยิ่งตอกย้ำให้เห็นการกลืนกินของทุนนิยมที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass Production) ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว แชปลิรชี้ให้เห็นว่าเราเองก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักรเหล่านั้นที่ไม่ได้มีหัวจิตหัวใจอะไร

แม้ว่าทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าแรงงานเปรียบเสมือนปัจจัยการผลิตหรือ Input ชนิดหนึ่ง แต่จะว่าไปแล้วเหล่านักเศรษฐศาสตร์แรงงาน (Labor Economists) ดูจะก้าวไปไกลกว่าคำว่าปัจจัยการผลิตนะครับ นั่นคือ มองว่าแรงงานเป็น “ทุนมนุษย์” (Human Capital) ที่สามารถพัฒนาศักยภาพและความสามารถได้ ซึ่งประเด็นนี้ต่างหากที่ควรจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจ มิใช่เพียงแค่ตัวเลขที่แสดงการจำเริญเติบโตของ GDP มิใช่แค่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยให้มีเสถียรภาพ หรือมิใช่แค่จะทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีกำไรเพียงฝ่ายเดียว

ฉาก (Scene) ต่างๆ ที่ปรากฏใน Modern Times นั้นน่าจะถูกหยิบนำมาใช้เป็นบทเรียนสอนนักศึกษาให้เข้าใจความระทมทุกข์ (ปนความรื่นรมย์) ของคนอเมริกันในช่วง The Great Depression เพราะ แชปลินได้บรรจงใส่เรื่องราวให้ครบมิติทั้งในแง่ของ การแข่งขันของคนในสังคมเมืองใหญ่ที่แชปลินเปิดฉากมาด้วยฝูงแกะขาวและมีแกะดำโผล่มาตัวนึงพร้อมๆกับภาพตัดไปยังผู้คนที่กรูกันอยู่บนท้องถนน

เช่นเดียวกับฉากการเอารัดเอาเปรียบของนายทุนเจ้าของโรงงานที่แม้แต่คนงานจะขอเข้าไปปลดทุกข์สูบบุหรี่สบายอารมณ์ยังต้องถูกเฝ้ามองผ่านทีวีวงจรปิด ผมเข้าใจว่าแชปลินต้องการเสียดสีแนวคิดของนายทุนที่ต้องการประหยัดต้นทุนให้มากที่สุด (Minimized Cost) เพื่อผลกำไรสูงสุด (Maximized Profit) สังเกตได้จากฉากที่วิ่งออกมาจากห้องน้ำแล้วรีบตอกบัตรกลับเข้าทำงาน

นอกจากนี้ยังมีฉากการสไตร์กของกรรมกรแรงงานที่น่าจะเป็นบรรยากาศร้อนๆในช่วงที่คนตกงานกันเยอะ เช่นเดียวกับฉากของนางเอกในเรื่องที่พยายามหนีการจับของเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากเป็นเด็กกำพร้าที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแล

ในส่วนของประเด็นการว่างงานที่แชปลินสะท้อนออกมาในฉากการขโมยของในห้างโดยเพื่อนคนงานของแชปลินที่ตกงาน หรือ อาจจะเป็นฉากการแย่งกันเข้าทำงานในโรงงานหรือท่าเรือในฐานะลูกจ้างรายวัน เป็นต้น

ฉากเหล่านี้เป็นฉากที่แชปลินตั้งใจจะสะท้อนให้เห็นความยากลำบากอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะว่าไปแล้วน่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่แพ้ตำรา The General Theory ของเคนส์ก็ว่าได้นะครับ

ผมแอบตั้งขอสังเกตเล็กๆว่า ทั้งเคนส์และแชปลินมีบางสิ่งที่คล้ายคลึงอย่างน้อย 4 เรื่องครับ เรื่องแรก คือ หนังเรื่องนี้ของแชปลินออกฉายในปี ค.ศ.1936 ซึ่งเป็นปีที่ตำรา The General Theory ของเคนส์ตีพิมพ์ออกมาพร้อมกัน

เรื่องที่สองนั้น ทั้งคู่เป็นชาวอังกฤษเหมือนกันครับ โดยเคนส์มีอายุมากกว่าแชปลินอยู่หกปี ส่วนเรื่องที่สามเนี่ยทั้งคู่ไว้หนวดเหมือนกัน แต่ดูท่าแล้วเคนส์น่าจะสำอางกว่า The Tramp ของเรา

ส่วนประการสุดท้ายทั้งคู่นิยมมี “เมียเด็ก” ครับ อันนี้ผมว่าน่าสนใจเพราะภรรยาของเคนส์เป็นนักบัลเล่ต์สาวชาวรัสเชี่ยนนามว่า “ลิเดีย โลโปโกว่า” (Lydia Lopokova) ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าเคนส์ถึงเก้าปีครับ ส่วนแชปลินดูจะเจ้าชู้กว่าเคนส์เยอะเพราะมีภรรยาถึง 4 คน โดยภรรยาคนสุดท้าย คือ อูน่า โอนีล (Oona O’Neill) หรือ “เลดี้แชปลิน” ซึ่งมีอายุห่างจากแชปลินถึงสามสิบหกปี!! ครับ

สำหรับเอนทรี่เรื่องนี้นั้น ผมขออนุญาตเขียนขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์ เนื่องในโอกาสที่อาจารย์จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ครับ ทั้งนี้ท่านอาจารย์ดารารัตน์ คือ อาจารย์ที่สอนวิชาในหมวดเศรษฐศาสตร์การพัฒนาหรือ Development Economics ที่คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)ครับ

อาจารย์ดารารัตน์ได้แนะนำหนังเรื่อง Modern Times ของชาลี แชปลิน ให้นักศึกษาลองกลับไปดู ซึ่งผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้คือบทเรียนนอกห้องของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เราได้รู้จักคุณค่าที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมซึ่งผมคิดว่าคงไม่ใช่แค่ตัวเลขเศรษฐกิจที่สวยหรู หากแต่เป็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เหมือนที่ ชาลี แชปลินได้บอกกับเราไงล่ะครับ

Hesse004

Sep 7, 2008

“สายล่อฟ้า” หากคำว่ารักมันร้ายกับเธอมากไป!





“คุณต้อม” ยุทธเลิศ สิปปภาค นับเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยท่านหนึ่งที่ทำหนังได้น่าสนุกไม่น้อยนะครับ วานก่อนผมมีโอกาสได้ดูงานของคุณต้อมสองเรื่อง คือ บุปผาราตรี (2546) และ สายล่อฟ้า (2547)

ยุทธเลิศเป็นผู้กำกับที่ทำหนังได้หลายแนวครับ โดยเรื่องล่าสุด เป็นหนังรักที่ชื่อ รัก/สาม/เส้า (2551) ซึ่งว่ากันว่าเป็นการรีเมค “โอเนกกาทีฟ” เมื่อสิบปีที่แล้ว

ความน่าสนใจที่ปรากฏในหนังของยุทธเลิศนั้นอยู่ที่ประเด็นการนำเสนอที่มีความชัดเจนพร้อมๆกับการเหยาะความบันเทิงได้ด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ประมาณว่าบทจะฮาก็ฮาขี้แตกขี้แตน บทจะซึ้งก็ซึ้งจริงๆ ด้วยเหตุนี้เองหนังของยุทธเลิศส่วนใหญ่จึงเป็นหนังที่ดูไม่ยากแต่มีแง่คิดแฝงอยู่ตลอด

สำหรับ “สายล่อฟ้า” นั้น ยุทธเลิศได้ฉีกวิธีการนำเสนอหนังรักให้ต่างไปจากหนังรักทั่วไปนั่นคือ ให้ดาราหน้าตาดีอย่าง “คุณเต๋า” เล่นเป็นเพื่อนพระเอก ขณะที่ให้ดาวตลกหน้าทะเล้นอย่าง “คุณโหน่ง” รับบทพระเอก

การฉีกวิธีนำเสนอดังกล่าวนอกจากจะสร้างความแปลกให้กับวงการหนังไทยแล้ว ประเด็นที่ยุทธเลิศพยายามสื่อสาร คือ “คุณค่าของความรัก” ซึ่งจะว่าไปแล้วใครบางคนตีคุณค่าของความรักไว้สูงส่งจนเป็นเหตุให้ “เต่า” (รับบทโดยเต๋า สมชาย) พูดถึง “ตุ่น” (รับบทโดยโหน่ง สามช่า) ว่าเป็นคนที่บูชาและศรัทธาในความรักมาก

นอกจากนี้ยุทธเลิศยังได้พัฒนาบทหนังให้มีการผูกเงื่อนปมที่ดูเหมือนยิ่งแก้ ยิ่งมัดแน่น ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรบกวนท่านผู้อ่านลองไปหาหนังเรื่องนี้ชมดู จริงๆแล้วสไตล์การทำหนังแบบนี้ผมเชื่อว่ามีเสน่ห์อยู่ไม่น้อยนะครับ

สไตล์การทำหนังแบบผูกเงื่อนปมนั้นปรากฏในหนังแนวอินดี้ๆอย่าง Snatch (2000) ของ กาย ริชชี่ (Guy Ritchie) รวมไปถึง The Big Lebowski (1998) ของสองศรีพี่น้องตระกูลโคเอน (Cohen Brothers)

แม้ว่าหนังจะไม่ได้ปูให้เห็นถึงที่มาที่ไปในความสัมพันธ์ของ “ตุ่น” กับ “นก” (รับบทโดยเมย์ พิชนาฎ) ว่าทำไมไอ้ตุ่นเซียนพระถึงหลงรักสาวไซด์ไลน์อย่างน้องนก จนหัวปักหัวปำ แต่หลายครั้งดูเหมือนเป็นที่เข้าใจกันว่า “ความรัก” มักเป็นเรื่องของอารมณ์ที่ยากยิ่งนักจะหาเหตุผลมาอธิบาย

มีคำพูดเชยๆจากนักรักแห่งเมืองสุพรรณว่า “คนบางคนใช้ “สมอง” ที่จะรักใครคนหนึ่ง แต่คนบางคนกลับใช้ “หัวใจ” ที่จะรัก” … ขออนุญาตกลั้นหายใจสักครึ่งนาทีนะครับ

จุดที่น่าสนใจอย่างยิ่งของหนังเรื่องนี้ คือ การผูกโครงเรื่องไว้กับเพลงที่ต้องวงเล็บไว้ด้วยว่าของ “ค่ายแกรมมี่” เริ่มจากเพลงเก่าอย่าง “สายล่อฟ้า” ซึ่งเป็นเพลงดังของอัสนี-วสันต์

“สายล่อฟ้า” เป็นเพลงที่อยู่ในอัลบั้มผักชีโรยหน้า (2530) โดยในเรื่องเพลงๆนี้เป็นเพลงโปรดของบักเต่าที่เวลาไปร้องเกะที่ไหนก็จะร้องแต่เพลงนี้จนเป็นเหตุแห่งการชุมนุมสหบาทาของ ผู้หมั่นไส้ในท่าทางยียวนของหนุ่มเต่า

ความหมายของเพลงสายล่อฟ้าน่าจะสะท้อนบุคลิกของตัวละครอย่าง “เต่า” ได้ดีว่า “ไม่เคยกลัวฝน ไม่เคยกลัวฟ้า” ขณะที่เซียนตุ่น พระเอกของเรื่องกลับมีบุคลิกที่ขัดกับเต่าสิ้นเชิง กล่าวคือ ตุ่นออกจะเป็นเงียบๆ ขี้อาย ไม่ทะเล้นเหมือนกลุ่มแก๊งค์ของเขา

บุคลิกเหล่านี้ทำให้ตุ่นดูจะเป็นคนอ่อนไหวและจริงจังกับความรักแม้ว่าจะเป็นรักแรกพบก็ตาม

สำหรับอีกเพลงที่กลายเป็นหัวใจของเรื่องนี้ คือ “ฉันอยู่ตรงนี้” ของคณะแบล๊คเฮด (Black Head) ที่ว่ากันว่าคุณปู ร้องเพลงนี้ได้ซึ้งใจยิ่งนัก

“ฉันอยู่ตรงนี้” เป็นเพลงลำดับที่หกในอัลบั้มชุด Handmade (2546) ซึ่งเนื้อหาของเพลงนี้พูดถึงความรักที่จริงใจใสซื่อของคนๆหนึ่ง และหากจะว่าไปแล้ว “ฉันอยู่ตรงนี้” ก็คือตัวแทนของ “ความรักที่แท้” ซึ่งผมชักไม่แน่ใจแล้วว่ามันจะมีอยู่จริงหรือเปล่า?

บางทีคำว่า “รักแท้” อาจเปรียบเสมือนตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) ที่กลายเป็นตลาดในอุดมคติของนักเศรษฐศาสตร์ไปก็ได้นะครับ

ท่อนฮุกที่กลายเป็นที่นิยมของเหล่านักร้องเกะแถวซอยทองหล่อ คือ ท่อนที่ร้องว่า “หากคำว่ารักมันร้ายกับเธอมากไป บอกมาได้ไหม ให้ฉันช่วยซับน้ำตา ส่งใจช้ำๆของเธอมา ฉันจะรักษาเธอด้วยรักจริง…”

ใครบางคนไม่เคยเจอความรักที่แท้จริง ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังไม่เจอคนที่ใช่ บางคนเจอแต่คนที่หลอกลวง บางคนเจอแต่เรื่องเลวร้ายจากความรัก หรือสุดท้ายบางคนเชื่อว่าเป็น “เวรกรรม”ที่ทำให้เขาเหล่านั้นไม่เคยเจอกับคำว่า “รัก” เสียที

มองในมุมนักเศรษฐศาสตร์, ความรักก็เปรียบเสมือนกลไกการจัดสรรทรัพยากรแห่งความสุข สร้างผลกระทบเชิงบวก (Positive Externality) นั่นคือยิ่งบริโภครักมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สวัสดิการสังคมดีขึ้นเท่านั้น

มองในมุมนักกฎหมาย, ความรักเปรียบเสมือนการทำ “นิติกรรม” ชนิดหนึ่งซึ่งคู่สัญญาที่ร่วมทำนิติกรรมแห่งรักมักจะภาวนาไม่ให้นิติกรรมครั้งนั้นกลายเป็น “โมฆะ”

กล่าวมาถึงตรงนี้บางที “รักแท้” ในมุมมองของคุณยุทธเลิศอาจเปรียบเสมือน “สายล่อฟ้า” ก็เป็นได้นะครับเพราะหน้าที่ของสายล่อฟ้า คือ คอยถ่ายประจุไฟฟ้าจากก้อนเมฆลงสู่ดินเวลาฝนตกซึ่งถ้าเรามีสายล่อฟ้าอยู่มันก็จะถ่ายผ่านสายล่อฟ้าแทนที่ฟ้าจะหันมาผ่าเรา ซึ่งมันก็คงเหมือนกับ “รักแท้” ของใครคนหนึ่งที่พร้อมจะรองรับ “อารมณ์ฟ้าผ่า” ของอีกคนหนึ่งได้อยู่เสมอ

Hesse004