Dec 24, 2007

“Warlords”เบื้องหลังชัยชนะมักมีซากศพกองทับถมอยู่




นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมากระแส “จีนนิยม” ได้ทำให้ภาพยนตร์จีนตื่นตัวอีกครั้งหนึ่ง การไปปรากฏโฉมของ Crouching Tiger , Hidden Dragon (2000) ของ อั้ง ลี่ (Ang Lee) ในเวทีออสการ์นั้น ได้กรุยทางให้หนังจีนกำลังภายในเรื่องต่อๆมาอย่าง Hero (2002)และCurse of the Golden flower (2006) ซึ่งเป็นผลผลิตของภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่นั้นสามารถออกไปโกยเงินต่างประเทศตลอดจนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของหนังดังจากแดนมังกรผ่านผลงานการกำกับของนักทำหนังชาวจีนอย่าง อั้ง ลี่ และจางอี้โหม่ว (Yimou Zhang)เป็นต้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่าหนังจีนที่ส่งออกขายต่างประเทศส่วนใหญ่นั้นมีเนื้อเรื่องหนักไปทางหนังย้อนยุค (Period film) ครับ ตัวอย่างเช่น Hero (2002) ของจางอี้โหม่ว ที่เล่าเรื่องการลอบสังหารจักรพรรดิจิ๋นซี ขณะที่ Curse of the Golden flower (2006)ของจางอี้โหม่วอีกเช่นกัน พี่ท่านก็ย้อนอดีตไปในสมัยราชวงศ์ถังที่ว่าด้วยเรื่องราวของการฆ่าฟันกันในราชสำนัก

อย่างไรก็ดีมิใช่ อั้งลี่ หรือจางอี้โหมว่ เท่านั้นที่จะเหมาสัมปทานทำหนังจีนย้อนยุคนะครับ เพราะช่วงปีนี้มีภาพยนตร์จีนพีเรียดอย่างน้อย 3 เรื่องที่กำกับโดยฝีมือผู้กำกับชาวจีน เริ่มจากงานของ แดเนียล ลี (Daniel Lee) กับ Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon (2008) หนังว่าด้วยเรื่องราวของ “จูล่ง”ขุนพลเอกแห่งแคว้น “จ๊กก๊ก” ในยุคตอนปลายของสามก๊ก ขณะที่ จอหน์ วู (John Woo) ก็หยิบ “ยุทธการผาแดง” (The battle of red cliff) ในสามก๊กอีกเช่นกันมาสร้างใหม่ให้อลังการเพื่ออวดโฉมหน้าของหนังจีนในปี ค.ศ.2008 ที่ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน

สำหรับเรื่องที่สามซึ่งเป็นเรื่องที่ผมอยากหยิบมาเล่านั้น คือ เรื่อง Warlords (2007) ของ ปีเตอร์ ชาน (Peter Chan) ครับ ว่ากันว่าหนังเรื่องนี้มีพลังดึงดูดอย่างน้อย 2 อย่าง คือ เนื้อหาอันเข้มข้นที่กล่าวถึงการเข่นฆ่ากันของสามพี่น้องร่วมสาบาน นอกจากนี้พลังดึงดูดจากดาราใหญ่ของเอเชียอย่าง เจ๊ท ลี หรือ หลี่ เหลียน เจี๋ย(Li Lian Jie) , หลิว เต๋อ หัว (Andy Lau) และ ทาเคชิ คาเนชิโร่ (Takeshi Kaneshiro)เพียงเท่านี้ Warlords ก็กลายเป็นหนังที่น่าดูไปในทันใดครับ

ตามธรรมเนียมครับ, ผมขออนุญาตไม่เล่าเรื่องเหมือนเดิมเพราะเกรงจะเสียอรรถรสในการชม โดยส่วนตัวแล้วผมชอบหนังเรื่องนี้มากครับและตั้งใจจะกลับไปดูซ้ำอีกรอบ

Warlords ของ ชาน นั้น กล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนช่วงราชวงศ์ชิง (แมนจู) ขณะที่พระนางซูสีไทเฮากำลังเรืองอำนาจอยู่ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์นี้ใกล้สิ้นบุญแล้ว ทั้งนี้ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินทำให้ราษฎรจีนเดือดร้อนกันทุกข์หย่อมหญ้าจนเป็นที่มาของ “กบฎไต้ผิง” (Taiping Rebellion) นั่นเองครับ

กบฎไต้ผิง กินระยะเวลานานถึง 21 ปี (1850 - 1871) กล่าวคือ กลุ่มผู้ก่อกบฏเริ่มขัดขืนอำนาจของราชสำนักตั้งแต่ปี ค.ศ.1851 กบฎได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นการต่อสู้ของมวลชนชาวจีนที่ต้องอดอยากปากแห้งจนทำให้เกิดการปล้นสะดมไปทุกหย่อมหญ้า มีการตั้งชุมนุม “โจร” เพื่อปล้นสะดมอาหารจากคนรวยหรือแม้กระทั่งจากกองทัพรัฐบาลเอง

กลุ่มกบฏสามารถยึดดินแดนทางตอนใต้ของจีนได้จนสามารถใช้เมือง “นานกิง” ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าเป็นฐานบัญชาการ ด้วยเหตุนี้เองกองทัพรัฐบาลต้องหาทางปราบกลุ่มกบฏเหล่านี้ให้ได้เพราะมิเช่นนั้นแล้วแผ่นดินจีนอาจถูกแบ่งด้วยน้ำมือของกบฏ

หนังเปิดมาด้วยภาพคนตายเป็น “เบือ” ครับ คำว่า “เบือ” เนี่ยน่าจะเห็นภาพว่าตายกันมากขนาดไหน ปีเตอร์ ชาน พยายามสื่อให้เห็นความรุนแรงและความไร้สาระของสงคราม การที่เราต้องเห็นภาพสยดสยองในฉากหนังนั้นทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าสงครามเป็นประดิษฐ์กรรมที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

ประเด็นหลักที่ดูจะขับเน้นในหนังเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่มิตรภาพของคนแปลกหน้าอย่าง “ผางชิงหยุน”ที่แสดงโดย หลี่ เหลียน เจี๋ย และชาวโจรคุณธรรมอย่าง “เฉาอี้หู” ซึ่งแสดงโดยพี่หลิวนั่นเองและ “จางเหวินเฉียง” ที่รับบทโดยทาเคชิ คาเนชิโร่ แม้ว่ามิตรภาพดังกล่าวได้พัฒนาจนถึงขั้นสาบานเป็นพี่น้องกันที่พร้อมจะตายและล้างแค้นให้กันแต่เรื่องราวทั้งหมดกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทั้งสามคาดคิดไว้ครับ

“ผาง ชิง หยุน” เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นภาพของมนุษย์คนหนึ่งที่ทะเยอทะยานและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองไปถึงเป้าหมายนั้นได้โดยไม่สนใจวิธีการว่ามันจะถูกหรือผิด ตัวละครอย่างนายพลหม่านั้นเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างอุดมคติกับการกระทำซึ่ง หลี่ เหลียน เจี๋ย เล่นบทนี้ได้สุดยอดครับ ทั้งสีหน้าแววตาและอารมณ์ที่แสดงออกมา

“เฉา อี้ หู” คือ ตัวแทนของชาวบ้านซื่อๆธรรมดาที่ต้องการรบเพื่อความอยู่รอดเท่านั้นเพราะเขาโดนอำนาจรัฐรังแกมาโดยตลอดจนต้องแปลงสภาพไปเป็นขุนโจร แม้ว่าการเข้าสู่กองทัพปราบกบฏไต้ผิงของอาเฉานั้นจะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์อะไรมากมายแต่กลับกลายเป็นเรื่องของปากท้องและความอยู่รอดของครอบครัวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีตัวละครตัวนี้กลับมีพัฒนาการในเรื่องอุดมคติและมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นหลังจากที่เขาต้องตรากตรำในสมรภูมิรบเป็นเวลานาน

“จางเหวินเฉียง” แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมเรื่องความซื่อสัตย์ต่อคำสาบานของ “พี่น้อง”แม้ว่าท้ายที่สุดเขาจะได้เรียนรู้ “ราคาของความไร้เดียงสา”จากผลพวงของคำว่า “อำนาจ” และสัจธรรมที่ว่า “เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน”

เหตุการณ์ใน Warlords เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วครับ การแก้ปัญหาของมนุษย์ยังคงเน้นไปที่สงครามการและการต่อสู้อยู่ ผู้แข็งแรงกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า มีกลยุทธ์มากกว่า คนเหล่านี้มักได้รับชัยชนะครับ อย่างไรก็ตามชัยชนะแต่ละครั้งนั้นมักมีกองซากศพของเพื่อนฝูงเรา พี่น้องเราแม้กระทั่งคนที่เรารักนั้นกองทับถมอยู่ ขณะที่ “ตีน”ของเรากำลังเหยียบคนเหล่านั้นขึ้นไปเสวยสุขจากลาภยศ สรรเสริญหรือแม้แต่มีชื่อแปะไว้ในบรรทัดประวัติศาสตร์

มาถึงวันนี้สงครามการแย่งชิงอำนาจได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้วครับจาก “สนามรบ”สู่ “สนามเลือกตั้ง” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าประชาชนคนธรรมดาอย่างเราๆจะเป็นเพียง “เบี้ยหมาก”ตัวหนึ่งในกระดานของขุนศึกนักเลือกตั้งทั้งหลายที่พอสงครามเลือกตั้งจบลงไปเมื่อไหร่ ประชาชนเช่นเราๆก็ไม่ต่างอะไรกับกองศพที่นักเลือกตั้งเหล่านั้นเหยียบขึ้นไปเถลิงอำนาจได้ในที่สุดและก็ดูเหมือนว่าเราเองก็ไม่ได้อะไรเลยกับชัยชนะเหล่านั้น...ใช่มั๊ยครับ

Hesse004

Dec 17, 2007

The Good Shepherd “เด็กเลี้ยงแกะของเจ้าโลก”




ความหมายของคำว่า “เด็กเลี้ยงแกะ”นั้นดูจะมีความหมายไปในทางลบมากกว่าทางบวกนะครับ ด้วยความที่เราคุ้นเคยกับนิทานโบราณเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ”ซึ่งให้คติสอนใจในเรื่องการพูดโกหกหรือพูดให้เป็นธรรมะหน่อยก็คือศีลข้อ “มุสา” นั่นเอง

สำหรับหัวเรื่องที่จั่วไว้นี้, เป็นชื่อหนังครับ “The Good Shepherd” โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังดีเรื่องหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้ดูในปีนี้ครับ

หนังเรื่องนี้กำกับโดยยอดนักแสดงขวัญใจใครหลายคนอย่าง “โรเบิร์ต เดอ ไนโร” (Robert De Niro) แถมด้วยพลังดาราฮอลลีวู้ดอย่าง “แมตต์ เดมอน” (Matt Damon) แองเจลีน่า โจลี่ (Angelina Jolie) รวมถึงเดอไนโรเอง ยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยแรงดึงดูดอยู่ไม่น้อยครับ

อย่างไรก็ตามผมคิดว่า “เนื้อหา”ที่สื่อสารผ่านหนังเรื่องนี้ต่างหากที่ทำให้เราได้ฉุกคิดอะไรบางอย่างกับสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์สากลร่วมสมัย”

ผมไม่แน่ใจนะครับว่า “ประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย”นั้นเริ่มต้นจากช่วงเวลาใด แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าน่าจะเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงเมื่อปี ค.ศ.1945

อย่างที่รู้กันอยู่นะครับว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง “สหรัฐอเมริกา” ได้กลายเป็นมหาอำนาจใหม่ในศตวรรษที่ 20 ผมตั้งข้อสังเกตว่าการธำรงอยู่ได้ของมหาอำนาจชาตินี้ขึ้นอยู่กับคาถาสามคำ คือ ประชาธิปไตย ทุนนิยม และ สงคราม ครับ

The Good Shepherd (2006) ของป๋าเดอไนโรนั้นได้พาให้เราไปรู้จักต้นกำเนิดขององค์กรหนึ่งที่โด่งดังที่สุดในโลกนั่นคือ CIA (The Central Intelligence Agency) ครับ ว่ากันว่าองค์นี้คือองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสอดแนมและเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งรู้จักกันในนามงานการข่าวหรือข่าวกรอง

เดอไนโร ได้สะท้อนให้เห็นภาพของความไม่มีเสถียรภาพในระดับการเมืองระหว่างประเทศนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กล่าวกันว่าสงครามที่สหรัฐอเมริกาพยายามสร้างขึ้นมานั้นเป็นสงครามอุดมการณ์ทางการเมือง หรือ “สงครามเย็น” กับค่ายคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตามทางฝั่งโซเวียตก็ไม่น้อยหน้าเพราะพวกเขาก็มีองค์กรลับอย่าง “เคจีบี”ที่เป็นคอยหาข่าวกรองของโลกสังคมนิยมเช่นกัน

หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบในแง่ของการแสวงหางานข่าวกรองและยังทำให้เราได้รู้จักหลักและทริคในการเป็น “เจ้าหน้าที่ข่าวกรอง” ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับงาน “สายลับ” จะว่าไปแล้วงานข่าวกรองสมัยใหม่นั้นน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากฝั่งยุโรปก่อนนะครับ อาทิในเยอรมันนั้นมีหน่วยงานตำรวจลับอย่าง “เก็ตตาโป” ส่วนพวกบริติชเนี่ยนับว่าเก่งกาจในเรื่อง “สายลับ” เลยทีเดียวสังเกตจากวรรณกรรมนักสืบอย่าง เชอร์ล๊อคโฮล์ม หรือ ตำรวจสก๊อตแลนด์ยาร์ด

สงครามโลกครั้งที่สองนับเป็นตัวอย่างอันดีที่เราได้เรียนรู้การ “จารกรรม” ข้อมูลในรูปแบบต่างๆ บางครั้งเหล่าจารชนสตรีอย่าง “มาตาฮารี” (Mata Hari) ก็สามารถทำงานข่าวกรองได้ดีไม่แพ้บุรุษเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามการได้มาซึ่งข้อมูลและความลับนั้นมันมี “ราคาที่ต้องจ่าย” ครับรวมไปถึงมีต้นทุนที่ต้องเสียซึ่งบางทีถึงกับต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันกันเลย

โลกร่วมสมัยหลังสงครามนั้น “สหรัฐอเมริกา” พยายามสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยและ ใส่ความคิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพร้อมกับขยายแนวรบสงครามไปในดินแดนต่างๆ

หากมองในมิติเศรษฐศาสตร์นั้นสหรัฐอเมริกาได้สถาปนาตนเองเป็นผู้ผลิต “บริการการพิทักษ์โลก”หรือ Save the world service จากภัยคุกคามต่างๆนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสงบลง อาทิ ภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษที่ 50 ถึง 90 หรือ ภัยก่อการร้ายในศตวรรษที่ 21

“บริการการพิทักษ์โลก”ของสหรัฐนั้นเปรียบประดุจดั่งสินค้าสาธารณะของโลกหรือ Global public goods ทั้งนี้คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของสินค้าสาธารณะที่ทำให้ไม่มีใครอยากผลิต คือ คุณสมบัติเรื่อง Free riders หรือ พวกชอบตีตั๋วฟรีแต่ไม่ชอบออกสตางค์

คุณสมบัติดังกล่าวนั้นได้กลายเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลทำเนียบขาวนับตั้งแต่ยุคของ “แฮรี่ เอส ทรูแมน , ดไวท์ ไอเซนฮาว์, จอห์น เอฟ เคเนดี้ , ลินดอน บี จอหน์สัน, ริชาร์ด นิกสัน ,เจอร์รัลด์ ฟอร์ด , จิมมี่ คาร์เตอร์ , โรนัลด์ เรแกน ,จอร์จ บุชผู้พ่อ , บิล คลินตัน และจอร์จ บุชผู้ลูก” นั้นนิยมส่งกองทัพไปก่อสงครามยังดินแดนต่างๆพร้อมกับส่งจารชนการข่าวกรองไปประจำยังประเทศต่างๆที่อเมริกาเชื่อว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ

รัฐบาลทำเนียบขาวที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมองว่าประเทศต่างๆในโลกนี้ (ยกเว้นอเมริกาประเทศเดียว) ต้องการความสงบแต่ไม่มีใครคิดจะจ่ายเงินเพื่อพิทักษ์โลกกัน อย่างไรก็ดีแม้ว่าสินค้าสาธารณะชนิดนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบภายนอกทางบวก (Positive Externality) ที่เรียกว่า “ความปลอดภัย” นั้นแต่ในมุมกลับกันมันได้สะท้อนให้เห็นภาพการ “ครอบงำ” ของรัฐบาลทำเนียบขาวที่เที่ยวเข้าไปจุ้นจ้าน ณ ดินแดนต่างๆโดยอาศัยพลังอำนาจทางการทหารและการเงิน

องค์กรอย่าง CIA จึงได้ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อสืบสอดการข่าวจากประเทศต่างๆทั่วโลก ทุกวันนี้ข่าวกรองและความลับจึงกลายเป็นสินค้าที่มีราคาสูงลิ่วและยังเป็นเครื่องมือเอาไว้ต่อรองทางการเมืองอีกด้วย

The Good Shepherd ได้ทำให้เราเห็นถึงความแห้งแล้งของโลกร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจกันของผู้คนดั่งคำพูดหนึ่งของฟิลิป อัลเลน ผู้อำนวยการซีไอเอคนแรก (ในเรื่อง)ที่บอกว่า “Friends can be enemies and enemies, friends” หรือ “จากมิตรกลายเป็นศัตรูและจากศัตรูกลับกลายเป็นมิตร”

The Good Shepherd ยังทำให้เราได้เห็น “ราคา”ของคนที่รักจะทำงานนี้ที่ต้องจ่ายทั้งในแง่ความรักที่ไม่สมหวัง มิตรภาพที่ต้องสูญหายและครอบครัวที่ล้มเหลว สิ่งต่างๆเหล่านี้ คือ "โลกของสายลับ" (ที่ยังไม่ไปจับบ้านเล็ก)ครับ

ผมชอบประโยคที่อดีตสายลับเคจีบีนามว่า “วาเลนติน มิโรนอฟ” (Valentin Mironov) พูดกับพวกซีไอเอในระหว่างโดนสอบสวนว่า
“Soviet power is a myth. Great show. There are no spare parts. Nothing is working, nothing, it's nothing but painted rust. But you, you need to keep the Russian myth alive to maintain your military industrial complex. Your system depends on Russian being perceived as a mortal threat. It's not a threat. It was never a threat. It will never be a threat. It's a rotted, bloated cow.”

ขออนุญาตแปลเป็นไทยแบบใส่อารมณ์นิดนึงนะครับว่า “โซเวียตของกูมันก็เป็นแค่ตำนาน เป็นแค่ปาหี่เท่านั้นเอง มันไม่มีห่าอะไรหรอก แต่พวกมึงก็พยายามเก็บไอ้ตำนานนี้ไว้เพื่อให้กองทัพของพวกมึงจะได้มีเหตุผลเอาไว้รบไงล่ะ เพื่อให้อุตสาหกรรมอาวุธของพวกมึงจะได้ขายด้วยใช่มั๊ยล่ะ มึงสร้างภาพว่าพวกกูจะคุกคามมึง มันไม่ใช่อย่างที่มึงคิดหรอก เพราะโซเวียตมันก็แค่โครงผุๆเน่าๆโครงหนึ่งเท่านั้นเอง”

ท้ายที่สุดผมชักไม่แน่ใจแล้วว่าที่ผ่านมารัฐบาลทำเนียบขาวผู้ผลิตบริการการพิทักษ์โลกนั้นได้ถูกเด็กเลี้ยงแกะที่ชื่อ CIA หลอกไปแล้วกี่ครั้ง หรือ ยินยอมพร้อมใจที่จะเป็นหัวหน้าเด็กเลี้ยงแกะเสียเอง เพราะดูเหมือนทั้งอิรักและอัฟกานิสถานน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับเรื่องนี้ใช่มั๊ยครับ?

Hesse004

Dec 14, 2007

Mr.Bean ’s Holiday “สุขกันเถอะเรา!”




นับตั้งแต่ซีรีส์ตลกชุด “มิสเตอร์บีน” (Mr. Bean) เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกนั้น ชื่อ “บีน”ได้กลายเป็นชื่อเรียกของ “นายโรแวน แอตกินสัน” (Rowan Atkinson) ยอดดาวตลกแห่งเกาะอังกฤษไปโดยปริยาย

ปัจจุบันนี้มิสเตอร์บีนของเรามีอายุ 52 ปีแล้ว ทั้งนี้พื้นเพของแกนั้นเป็นชาวเมืองนิวคาสเซิลครับ สำหรับประวัติการศึกษานั้นมิสเตอร์บีนเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University )และจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด (Oxford University) นับว่าประวัติการศึกษาของพี่ท่านไม่ธรรมดาเลยนะครับ

“บีน” ก้าวเข้าสู่วงการแสดงโดยเริ่มต้นจากละครเวทีสมัยที่เรียนอ๊อกฟอร์ดและพัฒนาตัวเองกลายเป็นมือเขียนบทละครตลก

ที่อ๊อกฟอร์ดเขาได้พบกับคู่หูคอเดียวกันอย่าง “ริชาร์ด เคอร์ติส”(Richard Curtis)เจ้าพ่อมือเขียนบทหนังรักโรแมนติคคอมมาดี้ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันซึ่งทั้งบีนและเคอร์ติส ต่างเคยร่วมงานกันในภาพยนตร์จอใหญ่อย่างเรื่อง Four Weddings and a Funeral (1994) และ Love Actually (2003)

สำหรับ “บีน” แล้ว เขามีพรสวรรค์ทางการแสดงตลกเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับยอดดาวตลกแห่งเกาะอังกฤษในอดีตอย่าง “เซอร์ชาร์ล แชปลิน” (Sir Chalres Chaplin)

ผมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “หนังตลก” จากเมืองผู้ดีหลายเรื่องว่างานส่วนใหญ่นั้นดูจะมีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เรื่องราวมักเล่าถึงวิถีชีวิตทั่วไปของอิงลิชชน อย่าง The Full Monty (1997) ที่มีฉากพ่อพาลูกไปดูฟุตบอลในวันหยุดสุดสัปดาห์

กลับมาที่ “บีน” กันต่อครับ , ซีรีส์ชุด Mr. Bean นั้นเริ่มออกอากาศครั้งแรกทางโทรทัศน์ไอทีวีของอังกฤษเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี1990 โดยซีรีส์ชุดดังกล่าวออกอากาศติดต่อกันจนกระทั่งสิ้นเดือนตุลาคม ปี1995 โดยจำนวนองก์ (Episode) ที่ออกอากาศนั้นมีทั้งสิ้น 14 องก์ ดูเหมือนลักษณะการนับนั้นจะคล้ายกับละครเวทีเลยนะครับ

ในซีรีส์ชุดบีนนั้นมีมือเขียนบท 3 คน ครับ คือ โรแวน แอตกินสัน , ริชาร์ด เคอร์ติส และ เบน เอลตัน ซึ่งแอตกินสันรับบทเป็น “มิสเตอร์บีน” เอง

มิสเตอร์บีนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของซีรีส์คอมเมดี้ในยุค 90 และส่งผลให้ชื่อของ “โรแวน แอตกินสัน” โดดเด่นขึ้นมาในฐานะยอดดาวตลกของโลกปัจจุบัน แอตกินสันนั้นจัดเป็นนักแสดงคุณภาพที่เล่นได้หลายบทบาทจริงๆ แต่ด้วยหน้าตาท่าทางของพี่แกแล้วดูยังไงก็ “ขำ” ครับ พูดง่ายๆ คือแกเป็น “ตลกโดยธรรมชาติ”

“บีน” ขยับขึ้นมาเป็นหนังใหญ่ครั้งแรกเมื่อปี 1997 ครับโดยใช้ชื่อตรงตัวว่า Bean ซึ่งภาพของแอตกินสันก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวละคร “มิสเตอร์บีน” สมัยที่อยู่ในจอโทรทัศน์

ต่อมาเมื่อแอตกินสันมารับเล่นเป็น Johny English ในภาพยนตร์ชื่อเดียวกันเมื่อปี 2003 พี่แกได้สลัดภาพ “นายบีน” ให้หลุดไปจากภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะบทพูดหรือการแสดงที่ดูจะยียวนน่าหมั่นไส้แต่ก็ให้อารมณ์ขันไม่แพ้นายบีนเลยทีเดียว

และเมื่อแอตกินสันมารับบทเป็นพระนักเทศน์ใน Keeping Mom (2005) แกก็เล่นได้ดีตีบทแตกเสียกระจายซึ่งจะว่าไปแล้วมันน่าจะมาจากพื้นฐานการแสดงละครเวทีของเขาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาด้วย

สำหรับ Mr. Bean Holiday (2007) นั้นเป็นผลงานกำกับของนายสตีฟ เบนเดแลค ครับ (Steve Bendelack) หนังว่าด้วยเรื่องการผจญภัยของนายบีนในดินแดนฝรั่งเศส ซึ่งเกี่ยวพันกับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ด้วย

ดูเหมือนหนังเรื่องนี้ผู้กำกับเองเหมือนจะแฝงฉากประชดประชันถึงรสนิยมการดูหนังอาร์ตของเหล่าชาวคานส์อยู่เหมือนกัน เพราะทุกวันนี้หนังที่ฉายเทศกาลนี้ส่วนใหญ่เป็นหนังอาร์ตที่ดูยากจนแทบจะต้องปีนกระไดดูกัน

ทุกวันนี้ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่า “ความสุข”เป็นอารมณ์ที่เราควรพึงสงวนไว้ให้ดีที่สุดครับ ท่านพุทธทาสเคยเขียนไว้ว่า “ความสุขกับความเพลิน” มันเป็นอารมณ์ที่ต่างกัน ซึ่งแต่ละคนก็ดูเหมือนจะมีระดับของความสุขที่แตกต่างกันไปและตรงนี้เองที่วิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคขอมีเอี่ยวอธิบายเรื่องนี้กับเขาด้วยในเรื่อง “อรรถประโยชน์” หรือ Utility

หลายปีมาแล้วที่ผมรู้สึกเครียดจนอยากหาหนังตลกของโจว ชิง สือ หรือเช่าวีดีโอตลกมาดูแต่อารมณ์ที่ได้รับกลับไม่มีความสุขอย่างที่คิดครับ ซึ่งมันเหมือนเราตั้งใจเกินไปหรือเปล่าที่อยากจะให้มีความสุขหรือสนุก และเมื่อไอ้ความตั้งใจนั้นมันไม่บรรลุผล อรรถประโยชน์จากการดูหนังตลกของผมก็เลยไม่ได้รับความพึงพอใจสูงสุด

ในทางกลับกันมีบางสถานการณ์ที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีความสุขอะไรเอาซะเลยแต่ก็กลับเกิดอารมณ์สุขสนุกขึ้นมากะทันหันได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่งผมใส่เสื้อเชิ้ตสีฟ้าขึ้นรถเมล์ ทันใดนั้นก็มีคนยื่นเงินค่าโดยสารให้ผมกันยกใหญ่เลย เพราะคิดว่าผมเป็นกระเป๋ารถเมล์ ผมเองอดอมยิ้มกับอารมณ์“เหวอ”ครั้งนั้นไม่ได้

หนังเรื่อง Mr. Bean Holiday หรือหนังสกุล “บีน” หลายๆเรื่องนั้นดูแล้วอาจไม่มีปรัชญาสาระอะไรมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เสมอ คือ “รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ” ครับ ท้ายที่สุดผมเชื่อว่าความสุขนอกจากจะอยู่ที่การมองเห็นแล้วยังอยู่ที่ใจคิดด้วยใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

Dec 2, 2007

“โรบินสัน ครูโซ” คำสารภาพของจักรวรรดินิยม





“โรบินสัน ครูโซ” (Robinson Crusoe)เป็นบทประพันธ์ชิ้นเอกของ “ดาเนียล เดโฟ” (Daniel Defoe) นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ครับ กล่าวกันว่าหนังสือเล่มนี้ถูกตีความได้หลายมิติทั้งในแง่ของความบันเทิง จิตวิทยา ตลอดจนปรัชญาการเมือง

ดาเนียล เดโฟ นั้นเป็นนักเขียนที่อยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ซึ่งอังกฤษกำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ด้วยแรงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) นอกจากนี้ลัทธิการล่าอาณานิคมได้แผ่ขยายไปทั่วทั้งทวีปยุโรปไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส ฮอลแลนด์ ที่ล้วนมุ่งขยายดินแดนโดยเที่ยวไปยึดแผ่นดินชาวบ้านเขา ซึ่งว่าไปแล้วนี่ก็คือคลื่น “โลกาภิวัตน์” ลูกแรกที่เชื่อมโลกหลายดินแดนเข้าด้วยกันผ่านการล่าอาณานิคม

ผมตั้งข้อสังเกตต่องานเขียนของนักประพันธ์สายสกุลบริติช ไว้ว่านักเขียนชื่อดังส่วนใหญ่พยายามสะท้อนสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปซึ่งมีผลพวงสืบเนื่องมาจากลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) และการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั่นเองครับ

งานอย่าง “กัลลิเวอร์ ทราเวล” (Gulliver’s Travels) ของโจนาธาน สวีฟ (Jonathan Swift) ก็เป็นนิยายอีกเรื่องที่แสดงให้เห็นการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมในอีกรูปแบบหนึ่งหรือแม้แต่ “โอลิเวอร์ ทวิสต์” (Oliver Twist) ของคุณปู่ชาร์ล ดิคเก้น (Charles Dicken) ที่นำเสนอสภาพถูกเอารัดเอาเปรียบของ “เด็ก” ในโลกของทุนนิยมเมืองอย่างลอนดอน

งานเขียนเหล่านี้เต็มไปด้วยเรื่องราวของการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นในดินแดนต่างๆซึ่งท้ายที่สุดดูเหมือนว่าตัวเอกของเรื่องไม่ว่าจะเป็น “โรบินสัน ครูโซ” คุณหมอกัลลิเวอร์ หรือหนูน้อยโอลิเวอร์ ต่างต้องพยายามเอาตัวให้รอดในสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่นั้น
สำหรับ Robinson Crusoe (1954)ในภาคของภาพยนตร์นั้น “หลุยส์ บูเยล” Luis Buñuel) ผู้กำกับชั้นครูชาวสเปนได้ทำให้นิยาย โรบินสัน ครูโซ ดูมีเสน่ห์ไม่น้อยเลยครับไม่ว่าจะเป็นฉากหรือ เนื้อหาที่นำเสนอ และด้วยความที่บูเยลนั้นเป็นผู้กำกับที่ขึ้นชื่อในเรื่องของ “Surrealism” หรือแนวเหนือจริงอยู่แล้ว ทำให้สารที่ถ่ายทอดออกมานั้นมี “มิติ” ที่มากกว่าภาพยนตร์ผจญภัยทั่วๆไป

อย่างที่ผมกล่าวไปตอนต้นแล้วว่า โรบินสัน ครูโซ นั้นสามารถตีความได้หลายเชิงซึ่งในแง่ของความบันเทิงนั้นแน่นอนว่าเราได้เห็นสภาพของนายโรบินสันต้องอยู่คนเดียวโดยไม่ได้พูดจากับใครกว่า 20 ปี สภาพติดเกาะคนเดียวและต้องเอาตัวรอดด้วยหนึ่งสมองสองมือจึงเป็นความทุกข์ทรมานอยู่ไม่น้อย เหมือนที่แกพูดกับตัวเองว่าเกาะๆนี้มันก็ “คุก” ดีๆนี่เอง

ในเชิงจิตวิทยาแล้ว โรบินสัน ครูโซ ได้ทำให้เราเห็นการปรับตัวของมนุษย์เมื่ออยู่คนเดียวในโลกของเขา

วันที่โรบินสันไม่มีโทรศัพท์มือถือสัญญาณแรง เขาไม่สามารถติดต่อกับใครได้นอกจากติดต่อกับจิตวิญญาณภายในของตัวเอง ด้วยเหตุนี้เขาจึงเข้าใจความหมายของมิตรภาพระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหมา แมว ที่รอดจากเรือล่มด้วยกัน รวมไปถึงความเข้าใจต่อสัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่างมดแมลง เพราะทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่พอจะมีปฏิสัมพันธ์กับเขาได้บ้าง

ประเด็นนี้ดูจะต่างกับ Cast Away (2000) ของโรเบิร์ต เซเมคคิส (Robert Zemeckis) ที่ได้ดาราเจ้าบทบาทอย่าง ทอม แฮงก์ (Tom Hank) มาเล่นเป็นคนติดเกาะ ตัวละครอย่างChuck Noland นั้นต้องไปติดเกาะที่ไม่มีแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตจะพูดคุยด้วย นอกจากลูกวอลเลย์ที่ตะแกสมมติให้ชื่อวิลสัน (Wilson)

แม้ว่า Cast Away จะมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับ Robinson Crusoe แต่ประเด็นที่สื่อสารนั้นกลับแตกต่างกัน Cast Away ดูเหมือนจะนำเสนอภาพความเป็น “ปัจเจก”ของมนุษย์มากกว่า Robinson Crusoe อย่างไรก็ดีทั้งสองเรื่องมีจุดร่วมกัน คือ ความเงียบเหงาในโลกที่ไม่สามารถหลุดรอดออกไปได้ และสิ่งที่น่าแปลก คือ ทั้ง Noland และ Crusoe ไม่เคยคิดที่จะฆ่าตัวตายเลยครับ

ประเด็นของ Robinson Crusoe มาถูกขยายไปในบริบททางการเมืองมากขึ้นเมื่อเดโฟเพิ่มตัวละครอย่าง “ฟรายเดย์” (Friday) ซึ่งเป็นคนป่าที่โรบินสันช่วยชีวิตไว้จากการถูกคนป่าอีกเผ่าหนึ่งตามฆ่า

ด้วยเหตุนี้เองฟรายเดย์จึงเปรียบเสมือน “ทาส” ของโรบินสัน ครูโซ ไปกลายๆ เพราะบนเกาะแห่งนี้นอกจากเขาแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” เพิ่มขึ้นมาอีก โชคดีที่ฟรายเดย์มิใช่ผู้หญิง มิฉะนั้นผมว่าเรื่องของเดโฟ คงมีลักษณะคล้ายกับ “บลู ลากูน” (Blue Lagoon) ไป

เมื่อครูโซได้ฟรายเดย์มาเป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมเกาะ เขาได้สอนให้ฟรายเดย์พูดภาษาอังกฤษ สอนให้ฟรายเดย์ยิงปืน สอนให้ฟรายเดย์ได้คิดจนกระทั่งมานั่งถกเถียงปรัชญากัน พูดง่ายๆคือ ครูโซทำตัวเป็นครูหรือ Master ของฟรายเดย์

การที่ทั้งเดโฟและบูเยลได้เสนอภาพความสัมพันธ์ของมนุษย์สองคนบนเกาะร้างแห่งหนึ่งในฐานะศิษย์กับอาจารย์นั้น เมื่อเรามองกว้างออกไปเราจะเห็นความสัมพันธ์ในรูปแบบตัวแทนของ “ประเทศจักรวรรดินิยม”ที่สื่อผ่านทางโรบินสัน ครูโซ ซึ่งเป็นชาวตะวันตก กับ “ประเทศอาณานิคม” ซึ่งแสดงโดยชาวป่าอย่าง “ฟรายเดย์”

ยิ่งไปกว่านั้นเจตนาที่ผู้ประพันธ์ต้องการถ่ายทอดยังชี้ให้เห็น “การครอบงำ”ของโลกจักรวรรดินิยมในด้านต่างๆตั้งแต่ สอนให้พูด สอนให้ทำ สอนให้คิด เหมือนกับที่ครูโซสอนฟรายเดย์ให้เป็นอย่างที่ชาวตะวันตกเป็น

ในสายตาของชาวตะวันตกแล้วพวกเขามองว่าตัวเองนั้นศิวิไลซ์กว่าผู้อื่นเสมอ ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตว่าภาพยนตร์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา ดูเหมือนจะฉีกแนวความคิดนี้ออกไป เช่น Dances with Wolves (1990) , Instinct (1999)และ The last samurai (2003) ที่แสดงภาพของคนตะวันตกที่หลุดเข้าไปอยู่ในดินแดนที่ดูจะด้อยศิวิไลซ์กว่าไม่ว่าจะเป็นเผ่าอินเดียแดง ญี่ปุ่นสมัยเมจิ หรือแม้กระทั่งในฝูงลิง ตัวละครเหล่านั้นกลับเลือกที่จะปรับตัวและเรียนรู้อารยธรรมใหม่มากกว่าที่จะไปครอบกลืนสังคมดั้งเดิมนั้น

ผมขอยกตัวอย่างโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่โมเดลหนึ่งที่ได้กล่าวถึง “ความด้อยพัฒนา” ไว้ว่า สาเหตุสำคัญของการไม่พัฒนานั้นมาจากการพึ่งพาโลกที่ศิวิไลซ์กว่าตัวเองโดยเฉพาะพึ่งพาทางการค้าการลงทุน จนถูกประเทศเหล่านี้ “กระทำชำเรา” ด้วยการขูดรีดทรัพยากรไปใช้ในราคาถูกๆและกลายเป็นแหล่งระบายสินค้าออกราคาแพง เปรียบเสมือนเป็นเมืองขี้ข้าบริวารของประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย

โมเดลนี้รู้จักกันในชื่อ The Neocolonial Dependence Model ครับ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เด่นๆของสำนักนี้ คือ “ธีโอโทนิโอ ดอส ซานโตส” (Theotonio Dos Santos) นักเศรษฐศาสตร์ชาวบราซิล สาย Neo-Marxist สำนัก International Dependence

ดอส ซานโตส แกเชื่อว่าวิธีเดียวที่จะหลุดพ้นจากความด้อยพัฒนานี้ไปได้ คือ ตัดความสัมพันธ์กับไอ้ประเทศที่ศิวิไลซ์เหล่านี้ซะ มันจะได้ไม่มาเอาเปรียบเราอีกต่อไป

ดูเหมือนแนวคิดนี้จะขัดกับน้ำมนต์ของ “เดวิด ริคาร์โด้” (David Ricardo) ที่อ้างเรื่อง “การค้าเสรี”เลยนะครับ เพราะริคาร์โด้แกเชื่อว่าการค้าเสรีทำให้โลกได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์

แม้ว่าโรบินสัน ครูโซ จะมีมุมมองในหลากหลายมิติโดยเฉพาะมิติการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจในช่วงศตวรรษที่ 18 แต่ก็ดูเหมือนว่าภาพยนตร์ของบูเยลจะปิดท้ายเรื่องได้ดีว่าโรบิสัน ครูโซมอง “ฟรายเดย์” เป็นเหมือนเพื่อนเหมือนมิตรมากกว่าทาสรับใช้คนหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันจะเป็นเพียงคำสารภาพหรือข้ออ้างของลัทธิจักรวรรดินิยมที่มีต่อโลกอาณานิคมกันแน่ครับ

Hesse004

Nov 28, 2007

“Political Economy”การเมืองเรื่องของเศรษฐศาสตร์




ช่วงเวลาสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมนั่งอ่านบทความวิชาการเกี่ยวกับ Political Economy หลายเรื่องครับ โดยทั่วไปแล้วสำนึกของนักเรียนเศรษฐศาสตร์มองเรื่อง Political Economy เป็นเรื่องไกลตัว เพราะไม่ค่อยมีโมเดลประหลาดหรือกราฟพิสดารสักเท่าไร

อย่างไรก็ตามวิชาเศรษฐศาสตร์ในช่วงที่ภูมิปัญญายุโรปเบ่งบานนั้นก็ถือกำเนิดมาจาก Political Economy เนี่ยล่ะครับ ด้วยความที่เศรษฐกิจกับการเมืองมันมีความใกล้ชิดกันอย่างมาก จะเห็นได้จากหนังสือคลาสสิคทางเศรษฐศาสตร์อย่าง The Wealth of Nation (1776) ที่เนื้อหาส่วนหนึ่งได้พูดถึงเรื่องบทบาทของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจด้วย

ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นั้น Political Economy นั้นถูกบดบังด้วยอิทธิพลของเหล่านักเศรษฐศาสตร์สาย Neoclassical หรือ สำนัก Cambridge school ภายใต้การนำของซือแป๋ อัลเฟรด มาร์แชล (Alfred Marshall) ที่เริ่มนำเอากราฟและสมการคณิตศาสตร์มาใช้อธิบายทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ จนทำให้ภาพของ Political Economy นั้นดูจางหายไป

อย่างไรก็ดีการศึกษา Political Economy ก็ยังคงมีอยู่ครับแม้ว่านักเรียนเศรษฐศาสตร์ด้านนี้จะถูกมองเป็นพวก “กระแสรอง” หรือ “นอกคอก”ก็ตามที

ผมเองมิได้สันทัดเรื่อง Political Economy เท่าใดนัก แต่สิ่งที่พอจะจับประเด็นได้ คือ Political Economy ได้กล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลที่ควรจะเป็น (The proper role of government ) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เหล่านักคิดล้วนถกเถียงกันตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว

อย่างไรก็ตามดูเหมือนเราเองคงจะไม่สามารถปฏิเสธการดำรงอยู่ของรัฐและรัฐบาลได้ เพียงแต่ว่าเราจะให้คนที่มาเป็นตัวแทนเรานั้นใช้อำนาจอย่างไรให้ถูกที่ถูกทาง อย่างที่ผมเคยเล่าไปในเรื่อง “บัญญัติสิบประการ”ของ “ซีซิล บี เดอมิล” ( Cecil B. Demille)แล้วว่า มนุษย์เราเป็นเพียงสมบัติของรัฐ (Property of state) หรือ เป็นมนุษย์ที่ได้รับเสรีภาพจากพระเจ้า

ผมว่าแค่เรื่องถกกันถึงบทบาทของรัฐที่ควรจะเป็นนั้นก็เรียกว่าเขียนตำราออกมาชนกันได้หลายเล่มเลย สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ในคอกแล้วมองว่ารัฐจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจเนื่องจากกลไกตลาดมันล้มเหลว (Market Failure) ซึ่งสะท้อนให้เห็น “มือที่มองไม่เห็น”ของอดัมส์ สมิธ (Adam Smith) นั้นไม่สามารถช่วยจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพเหมือนที่เคย

อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์นอกคอกหลายสำนักกลับไม่เชื่อมั่นในการแทรกแซงของรัฐครับ พวกนอกคอกเหล่านั้นนำโดย สำนัก Public Choice ของ James M. Buchanan ซึ่งมองว่ารัฐบาล นักการเมืองก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้เองการผลิตนโยบายอะไรขึ้นมาแต่ละอย่างมักถูกกำหนดโดยกลุ่มผลประโยชน์ (Interest group)

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์สาย Neoclassical Poitical Economy ซึ่งหยิบเอาบทบาทของรัฐมาเป็นตัวแปรภายในร่วมวิเคราะห์ในระบบเศรษฐกิจ จนเป็นที่มาของคำว่า “Invisible foot” หรือ “เท้าที่มองไม่เห็น” คำๆนี้เป็นประดิษฐกรรมทางภาษาของ นายสตีเฟน มากี (Stephen Magee) ที่เชื่อว่าแทนที่รัฐจะเข้ามาช่วยให้สวัสดิการสังคมดีขึ้นกลับกลายเป็นว่าเข้ามาสร้างปัญหาและแสวงหาประโยชน์เข้าตัวเอง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่เชื่อใน “ความล้มเหลวของรัฐ”หรือ Government failure ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่ค่อยชอบเห็นรัฐเข้ามายุ่มย่ามกับเศรษฐกิจมากนัก

ผมคิดว่าข้อเขียนของอาจารย์ป๋วยเรื่อง “จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน”(2516) นั้นนับเป็นบทสรุปที่กระชับและชัดเจนอย่างยิ่ง ที่ท่านอาจารย์ป๋วยต้องการจะสื่อสารว่า “รัฐบาลนั้นควรจะมีบทบาทเช่นไรในการพัฒนาประเทศ” ซึ่งดูเหมือนเรียบง่ายไม่มีอะไรมากนัก แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยนั้นไม่มีใครสามารถทำได้

ผมไม่แน่ใจว่าความเรียบง่ายมันเป็นเรื่องที่ยากเกินไปหรือเปล่าสำหรับนักการเมืองไทย เพราะทุกวันนี้ผมนั่งฟังนักการเมืองต่างเร่ขายฝันกันเต็มไปหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยพบในฝันเหล่านั้น คือ “ความเรียบง่าย”อย่างที่ปรากฏในข้อเขียนของอาจารย์ป๋วยเลย

ท้ายที่สุดผมมีงานวิจัยที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังครับ งานวิจัยชิ้นนี้ทำโดย “สมตุ้ย” เด็กนวดบ่าในห้องน้ำชายของร้านเหล้าแห่งหนึ่ง ด้วยความที่แกสนใจพฤติกรรมการฉี่กับบุคลิกภาพลูกค้า แกเลยแอบสังเกตลูกค้าชาย 100 คนที่เข้ามายืนฉี่ที่โถ ผลการศึกษาบอกอย่างนี้ครับว่า

1.หนุ่มชอบสังคม เข้าห้องสุขาพร้อมกันหลายคน คนที่ไม่ปวดก็เข้าช่องยืนฉี่เป็นเพื่อนกันด้วย มักส่งเสียงคุยกันเสียงดังเหมือนตลาดสด ไม่ค่อยปกปิดสิ่งสงวน
2.หนุ่มขี้อาย ถ้ามีใครเดินเข้ามาฉี่ข้าง ๆ จะกดน้ำและเก็บช้างน้อยทันที เดินออกจากห้องสุขา แล้วค่อยกลับเข้าไปใหม่เมื่อปลอดคน
3.หนุ่มขี้ตกใจ ฉี่เป็นจังหวะสั้น ๆ พร้อมกลั้นหายใจ เหลียวมองคนรอบข้าง
4.หนุ่มสอดรู้สอดเห็น มองช้างน้อยของคนข้าง ๆ เปรียบเทียบกับตัวเอง ทำหน้าเศร้า
5.หนุ่มเปิดเผย ยืนห่างจากโถฉี่สองศอก ไม่ใช้มือบังช้างน้อย คุยเสียงดัง
6.หนุ่มซื่อตรง ไม่ใช้มือประคองช้างน้อย ฉี่ประทบจุดศูนย์กลางของโถอย่างต่อเนื่อง ความคลาดเคลื่อนต่ำกว่า ร้อยละ 0.5
7.หนุ่มมักง่าย หากโถฉี่ไม่ว่าง จะฉี่ใส่อ่างล้างหน้าแทน
8.หนุ่มขี้เล่น ฉี่โค้ง ฉี่สูงต่ำ ทดลองฉี่ข้ามไปโถข้าง ๆ
9.หนุ่มไม่รู้จักโต ฉี่แรง ๆ ไปที่ตะแกรงก้นโถพยายามทำให้เกิดฟองมาก ๆ
10.หนุ่มใจลอย ยืนชิดโถ ปลดเข็มขัด รูดซิปแล้วฉี่ราดชั้นใน
11.ทหารม้า ฟาดงวง ฟาดงา ใส่โถฉี่ หลังฉี่เสร็จ
12.หนุ่มประณีต ใช้กระดาษทิชชูซับเมื่อฉี่เสร็จ หรือเดินไปล้างที่อ้างหน้ามือ
13.คนไข้ ยืนฉี่นานกว่าปกติ เพราะรอให้แผ่นวัดน้ำตาลในเลือดแห้ง ยกเทียบกับชาร์ตสีข้างขวด
14.คนเมา ใช้มือขวาจับนิ้วโป้งด้านซ้าย เล็งตรงไปที่โถแล้วฉี่ราดกางเกง
15.คนขี้แพ้ ยืนนิ่งพักหนึ่ง รูดซิบลง ยืนนิ่งพักหนึ่งรูดซิปขึ้น สะอื้นไห้ แล้วเดินจากไปโดยไม่ได้ฉี่
16.คนเจ้าเล่ห์ ผายลมเงียบเชียบขณะฉี่ ทำหน้าไร้เดียงสา
17.แพทย์ ล้างมือ 1 ครั้ง เดินไปที่โถกดน้ำ 1 ครั้งฉี่กดน้ำ 2 ครั้ง ล้างมือด้วยสบู่ถึงข้อศอกนาน 2 นาที เช็ดช้างน้อยด้วยแอลกอฮอล์
18.จิตรกร จิตรกรรมฝาผนัง
19.สถาปนิก ฉี่สะพานโค้งกลมก้นหอยเกลียว
20.กวี เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวจนเยี่ยวหด บรรจงตดเบา ๆ อย่างเศร้าหมอง
21.ชายรักสนุก ทุกข์ถนัด ยืนถ่างขา หน้าผากชนฝาผนัง ฉี่แรกสะดุ้งโหยง น้ำตาร่วงหลังพวงมาลัย
22.นักการเมือง ประชาธิปไตยอยู่ในมือท่านแล้ว ลองก้มดูสิ

ปล. งานวิจัยชิ้นนี้อ้างอิงมาจากForward mail ครับ อ้อ! แล้วก็อย่าลืมนะครับว่าวันที่ 23 ธ.ค. นี้ “ประชาธิปไตยอยู่ในมือท่าน” แล้วครับ

Hesse004

Nov 22, 2007

“ราโชมอน” เรื่องลวงๆในโลกกลมๆ





ผมมีโอกาสได้อ่าน “ราโชมอน” ฉบับละครเวทีที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ท่านได้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปี 2508 โดย “ราโชมอน” เป็นนิยายเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ ริวโนสุเกะ อากิตางาวะ นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า ราโชมอนจัดเป็นวรรณกรรมคลาสสิคเรื่องหนึ่งของโลกตะวันออกเลยก็ว่าได้ครับ

สำหรับ “Rashomon” (1950)ในภาคภาพยนตร์นั้นก็ขึ้นชั้นเป็นหนังคลาสสิคเช่นเดียวกัน ด้วยฝีมือการกำกับของจักรพรรดิแห่งโลกภาพยนตร์ญี่ปุ่นอย่าง “อากิระ คูโรซาว่า” (Akira Kurosawa) คูโรซาว่าทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความลุ่มลึกมากขึ้นเพราะแม้เรื่องราวจะเรียบง่ายแต่กลับเต็มไปด้วยมิติด้านมืดของมนุษย์

ราโชมอนของคูโรซวานั้นมี Tagline เป็นภาษาอังกฤษที่กระชับว่า The husband, the wife...or the bandit? ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านที่เคยอ่านหนังสือหรือเคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้วย่อมเข้าใจความหมายคำโปรยของหนังเรื่องนี้ดีครับ

หนังเรื่องนี้มีท้องเรื่องอยู่ที่ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 12 โดยคูโรซาวาเลือกที่จะเปิดบทหนังด้วยบทสนทนาระหว่างพระกับคนตัดฟืน ซึ่งทั้งคู่กำลังติดฝนอยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง ใกล้ประตูราโชมอนหรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ประตูผี” นั่นเอง

จากนั้นก็มีชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งในหนังสือของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ใช้ว่า “คนทำช้อง” เข้ามาร่วมแจมด้วย โดยระหว่างรอฝนหยุดตกนั้นทั้งสามได้พูดถึงเรื่อง การตายของซามูไรคนหนึ่ง และการจับมหาโจรอย่าง “โทโจมารุ”ได้ รวมไปถึงเรื่องของเมียซามูไรผู้ตายนั้น

จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ใช้ตัวละครไม่มากเลยครับ แต่จุดเด่นกลับอยู่ที่บทสนทนาของตัวละครซึ่งจะว่าไปแล้วมันสะท้อนให้เห็นความคิดของมนุษย์เราได้ดี

ตามธรรมเนียมเดิมครับ, ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดมากไปกว่านี้เนื่องจากเกรงจะเสียอรรถรสในการชมหรือการอ่าน อย่างไรก็ตามผมว่าประเด็นที่น่าสนใจใน “ราโชมอน” นั้นอยู่ที่ความอ่อนแอของมนุษย์เราที่จะพูด “ความจริง” หากความจริงนั้นไม่เป็นประโยชน์กับเรา หากความจริงนั้นอาจทำให้เราต้องเดือดร้อน หรือ หากความจริงนั้นจะกลับมาทำร้ายเราภายหลัง ด้วยเหตุนี้เองที่คูโรซาว่าได้ชำแหละถึงด้านมืดของความเป็นมนุษย์ออกมาให้เห็นผ่านบทสนทนาของตัวละครทั้งหมด

คูโรซาวาใช้เทคนิคที่ชาญฉลาดในการถ่ายทำโดยให้ตัวละครแต่ละคนเล่าเรื่องของตัวเองเหมือนกำลังจะสารภาพอะไรบางอย่างกับคนดูตัดสิน โดยใช้กล้องจับไปที่ใบหน้าของตัวละคร ทำให้รู้สึกได้ว่าเขากำลังพูดอยู่กับเราสองต่อสอง

ผมเชื่อว่าตัวละครทุกคนในเรื่องมีเหตุผลของการเล่าเรื่องลวงซึ่งแตกต่างกันไป หรือ บางทีเรื่องนั้นอาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้ซึ่งคูโรซาวาแกก็ไม่ได้เฉลยหมดว่าความจริงมันคืออะไร

มหาโจรอย่างโทโจมารุก็ย่อมมีเหตุผลในการเล่าเรื่องของตัวเองให้ดูยิ่งใหญ่ เก่งกาจ น่าเกรงขาม ซามูไรผู้ตายก็ยังอุตส่าห์เข้าร่างทรงมาเล่าเรื่องของการตายของตัวเองให้ดูมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เมียซามูไรก็ต้องพยายามชี้ให้เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมตนเองถึงตกอยู่ในสภาพ “หนึ่งหญิงสองชาย” ขณะที่คนนอกอย่างคนตัดฟืนซึ่งคูโรซาว่าต้องการจะให้เป็นคนเฉลยเรื่องนี้นั้นก็ยังเล่าความจริงที่ตนเองเห็นแบบกั๊กๆ ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ดูเหมือนพี่แกจะพูดความจริงออกมาไม่หมดโดยเล่าแต่เรื่องที่จะไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนภายหลัง

จะว่าไปแล้วการไม่พูดความจริงเนี่ยมันมีหลายระดับดีนะครับตั้งแต่ “อำ” “โกหก” “ขี้ตู่” ขี้ตั๊ว” “ขี้ฮก” “โป้ปดมดเท็จ” ไปจนกระทั่ง ตอ...อะไรทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่เป็นด้านมืดของมนุษย์เราทุกคนเลยก็ว่าได้ซึ่งไม่จำกัดเพศ ชนชั้น หรือ ชาติพันธุ์

เพียงแต่เราจะกล่าวสิ่งเหล่านั้นได้อย่างแนบเนียนหรือถูกที่ถูกเวลาหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “อำ” กับ “โป้ปดมดเท็จ” นั้น ถูกนำมาใช้คนละบริบทกันเลย อำนั้นให้อารมณ์ขำๆสนุกๆ แต่โป้ปดมดเท็จนั้นแสดงให้เห็นถึงความชั่วช้าสามานย์ทั้งที่มันก็อยู่ในตระกูล “โกหก”เหมือนกัน

ในทฤษฎีเกม (Game theory)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคนั้น มีเกมหนึ่งที่ชื่อว่า Prisoner Dilemma หรือเกมที่คิดขึ้นเพื่อป้องกันการฮั้วของคนสองคน ซึ่งเกมนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือของตำรวจในการแยกสอบปากคำคนร้ายเพื่อเค้นความจริงออกมาโดยใช้ “ขนาดของการลงโทษและความไม่เชื่อใจกันของคนร้ายเวลาแยกสอบปากคำ”เป็นกลไกในการสอบสวน

คนบางคนโกหกจนลืมไปแล้วว่าตัวเองเคยโกหกอะไรไว้บ้าง คนบางคนพยายามปกปิดเรื่องที่ตัวเองโกหกคนอื่นและพยายามหาเหตุผลมากลบเกลื่อนหักล้างแต่จนแล้วจนรอด “ความจริงก็คือความจริง” ความจริงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นความเท็จได้

พูดถึงเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงประเด็นการโกหกได้ดีมากๆ นั่นคือ Infernal Affairs (2002) ของ แอนดรูว์ เลา (Andrew Lau ) และ อลัน มัก (Alan Mak) ครับ หนังกล่าวถึง โจรปลอมตัวมาเป็นตำรวจ และ ตำรวจก็ปลอมตัวไปเป็นโจร ผมชอบหนังเรื่องนี้ครับเนื่องจากเป็นหนังมาเฟียที่ว่ากันว่าดีที่สุดเรื่องหนึ่งไม่แพ้ The God Father เลยทีเดียว

ยิ่งดูหนังเรื่องนี้มากครั้งเท่าไร ผมยิ่งเห็นใจ “อาหมิง”ที่แสดงโดยพี่หลิวเต๋อหัว ซึ่งโกหกทุกคนมาตลอดตั้งแต่ภาคแรกยันภาคสุดท้าย พูดง่ายๆ คือ “โกหกมาทั้งชีวิต” จนท้ายที่สุดแล้วแกก็ไม่สามารถโกหกตัวเองได้อีกต่อไป ดูเหมือนว่ายิ่งโกหกมากขึ้นเท่าไร ยิ่งกลายเป็นนิสัยและสันดานไปในที่สุด และวันหนึ่งเราอาจจะมองเห็นตนเองในสายตาที่แปลกไปเพราะเราจะไม่มีวันรู้ว่าตัวตนที่แท้ของเรานั้นเป็นใครกันแน่

กลับมาที่ “ราโชมอน” ต่อครับ, ทุกวันนี้เหตุการณ์แบบราโชมอนมีอยู่ให้เห็นเต็มไปหมดตั้งแต่บนโรงพัก ในชั้นศาล งานการเมือง แม้กระทั่งวงการบันเทิงก็ยังเล่นราโชมอนกันเลย

อย่างที่ผมเรียนไปตอนต้นแล้วว่าจุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ที่บทพูด ด้วยเหตุนี้เองบทพูดหลายตอนนั้นมีความน่าประทับใจมาก แม้จะเป็นบทง่ายๆแต่มันกลับมีความลึกซึ้งอยู่ภายในตัวเองอย่างที่คนทำช้องพูดไว้ว่า “มนุษย์ชอบโกหก ผู้คนเขาไม่พูดความจริงกันหรอก” ซึ่งบทภาษาอังกฤษบอกไว้อย่างนี้ครับว่า “No one tells a lie after he's said he's going to tell one”หรือลองอีกประโยคมั๊ยครับ “It's human to lie. Most of the time we can't even be honest with ourselves.” จะเห็นได้ว่าทัศนะการมองโลกของตาคนทำช้องนั้นดูจะขวางกับความคิดเชิงอุดมคติซึ่งต่างจากตัวละครอย่างพระโดยสิ้นเชิง แต่ก็ดูเหมือนสิ่งที่ตาคนนี้พูดมันก็มีส่วนถูกบ้างไม่ใช่หรือครับ เพราะไม่งั้นแกจะไม่พูดประโยคอย่าง “Maybe goodness is just make-believe.” ท่านผู้อ่านเห็นว่ายังไงครับที่ “บางทีความดีก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างกันขึ้นมาเองทั้งนั้น”

Hesse004

Nov 14, 2007

ความตายที่อยู่รอบตัวเรา(Death is all around)




ผมขึ้นหัวเรื่องได้น่า “หดหู่” ดีมั๊ยครับ เหตุผลหนึ่งที่อยากเขียนวันนี้ คือ การไว้อาลัยให้กับรุ่นพี่ที่สนิทกันท่านหนึ่งที่เพิ่งด่วนจากไปอย่างกะทันหันด้วย “อุบัติเหตุ”

พลันที่ผมทราบข่าวร้าย ความรู้สึกแรกคือ ตกใจและเสียใจครับ การจากไปของคนวัยสามสิบกว่าๆนั้นนับเป็นการจากไปก่อนวัยอันควร ผมเชื่อว่าถ้าพี่คนนี้ยังมีชีวิตอยู่ต่อเขาจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคมได้

ในช่วงวันสองวันมานี้ผมนั่งใคร่ครวญ ไตร่ตรองอะไรมากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ความตาย” ใจหนึ่งอยากจะหาหนังที่เกี่ยวกับห้วงสุดท้ายของชีวิตคนมาดูแล้วก็เขียนแต่ ก็นึกขึ้นได้ว่าเคยเขียนเรื่องของ Babarian Invasion และ Christmas in august ไปแล้ว ท้ายที่สุดผมจึงอยากเขียนถึง “ความตายที่อยู่รอบตัวเรา”

“ความตาย” เป็นธรรมชาติของทุกชีวิตครับ ด้วยเหตุนี้เองการ “ดับสูญ” จึงเป็นกลไกหนึ่งของธรรมชาติที่ไม่ให้เกิดภาวะสิ่งมีชีวิตล้นโลก ซึ่งความตายก็มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ตายดี ตายสงบ ตายทรมาน หรือแม้แต่ตายกะทันหันโดยไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุนี้เอง “ความตาย” จึงเสมือนจุดสิ้นสุดของชีวิต ถ้ามองแบบเศรษฐศาสตร์ความตายคือภาวะสถิตย์หยุดนิ่งที่ไม่มีการพลวัตรเคลื่อนไหวอีกต่อไปแล้ว

จะว่าไปแล้วความตายของคนหลายคนกลับเป็นการสร้างอะไรบางอย่างที่มันยังคงจีรังยั่งยืนหรือที่เราเรียกว่า ความเป็น “อมตะ” อย่างเช่น ความตายของพระพุทธองค์ที่เรียกว่าเสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพาน ความตายของเจซัส (พระเยซู) ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการไถ่บาปให้มวลมนุษย์ หรือแม้แต่ความตายของเชกูวาร่า นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งแดนละตินช่วงทศวรรษที่ 60 นั้นก็เป็นความตายที่มีอิทธิพลต่อการปลดแอกประเทศต่างๆในอเมริกาใต้หลายประเทศ

หากท่านผู้อ่านมีโอกาสได้อ่านหนังสือชุดพระไตรปิฎกศึกษาชุดที่ 2 ซึ่งท่านราชบัณฑิต เสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้เรียบเรียงเรื่อง “วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์” ขึ้นมานั้น ผมคิดว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เราชาวพุทธควรนำมาศึกษากันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจฉิมโอวาทของพุทธองค์ที่ตรัสไว้ว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

เวลาไป “งานศพ” ผมอดนึกไม่ได้ว่าวันหนึ่งก็ต้องมีคนมามัดตราสังเรา รดน้ำศพเรา แบกเราใส่โลง มีพิธีสวดศพ เอาเราขึ้น “เชิงตะกอน” แล้วก็เผาร่างของเราในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้ย่อมเกิดขึ้นแน่กับชีวิตเราไม่ช้าก็เร็ว

ความตายทำให้เราพลัดพรากจากคนที่เรารัก จากของที่เราหวง จากสมบัติที่เราสะสม แม้กระทั่งตัวตนที่เราเคยมีซึ่งทั้งหมดดูเหมือน “ไม่มีอะไรเลย “ว่างเปล่า” “อนัตตา” แต่สิ่งที่เหลือไว้ คือ ชื่อ (เสียง) หรือ ชื่อ (เสีย) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนคนรุ่นหลังจะเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้แทนเรา พูดถึงเรื่องนี้ทีไรผมอดนึกถึงอมตะวาจาของท่านเซอร์จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (Sir John Maynard Keynes) คำพูดหนึ่งที่ว่า “In the long run we are dead” คำพูดของเคนส์คำนี้ได้กลายเป็นเหตุผลและข้ออ้างที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังต้องมานั่งถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ แม้ว่าเคนส์อาจจะต้องการสื่อเพียงว่า “ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า” ก็ตามที

“ความตายที่อยู่รอบตัวเรา”นั้น มีตั้งแต่ตายเองตามธรรมชาติ ตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ตายโดยประสบอุบัติเหตุ หรือแม้แต่ตายโดยถูกฆาตกรรมและสงคราม แต่ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ความตายล้วนเป็นเรื่องของ “ภาวะดับสูญ” ซึ่งเราจะเข้าใจมันได้มากน้อยได้แค่ไหน

ผมเคยอ่านเรื่องราวของคุณหมอ “ประสาน ต่างใจ” ที่ท่านได้สร้าง “ศุขเวชเนอสซิ่งโฮม” ไว้สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และนอนรอความตายเพียงอย่างเดียว สถานที่แห่งนี้คุณหมอต้องการให้ความรู้กับคนใกล้ตายว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตซึ่งเราควรรู้จักที่จะรับมือกับมันอย่างสงบ ด้วยเหตุนี้เองการตายอย่างสงบนับเป็นบุญอันประเสริฐอย่างหนึ่งของชีวิต

ผมขออนุญาตหยิบตอนหนึ่งในหนังสือของคุณหมอประสานเรื่อง “ชีวิตหลังความตาย วิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์” มาถ่ายทอดดังนี้ครับ

“พื้นฐานทางจิตวิทยาถือว่าความตายเป็นการจำพรากอย่างถาวรนิรันดร คือ ความไม่รู้ และความสงสัยอยากรู้ เมื่อไม่สามารถรู้จริงโดยตรรกะและเหตุผล เรื่องความตายจึงจัดไว้ด้วยกันกับเรื่องลี้ลับ ความไม่รู้และความลึกลับก็เลยกลายเป็น ความกลัว ความคิด ความเชื่อ ความหวังจึงเป็นหนทางเดียวของมนุษย์ที่จะพยายามหาทางออก เพื่อทำความเข้าใจความตาย และทฤษฎีทางจิตวิทยาหรือทางศาสนาก็เป็นหนทางที่จะช่วยแบ่งเบาความกลัวตายลงมาบ้าง ทฤษฎีต่างๆสรุปแล้วก็มีอยู่เพียง 2 แนวทาง คือ ตายแล้วก็หมดเรื่องหมดราว กับ ตายแล้วไปเกิดใหม่อีก หรือตายแต่ตัว แต่ร่างกายโดยจิตและวิญญาณยังไม่ตาย”

ผมสารภาพท่านผู้อ่านเลยครับว่า “ผมยังกลัวตายอยู่” ไอ้ความกลัวที่ว่ามันบวกไปด้วยความไม่รู้เหมือนที่คุณหมอประสานท่านบอก ไอ้ความกลัวที่ว่ามันยังปะปนไปถึงอารมณ์ที่เกิดจากความเจ็บปวดทรมานของร่างกาย

ผมไม่แน่ใจว่าลมหายใจสุดท้ายของตัวเองจะเป็นอย่างไร มันคงมีค่ามากพอที่จะทำให้ความคิดคำนึงของผม ณ ช่วงเวลานั้น ได้นึกถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่จำความได้จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต มันคงเป็นช่วงเวลาที่ได้ทบทวนสิ่งต่างๆที่อาจจะเป็น “แก่นสารสุดท้าย”ของชีวิตซึ่งทำให้เราเข้าใจและ “ปลดปลง” ไปกับมัน รวมไปถึงการอโหสิกรรมและขออโหสิกรรมกับบาปเวรที่เคยก่อไว้ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ มันจะเป็นช่วงสุดท้ายที่ความทรงจำจากผู้คนทั้งหลายตั้งแต่คนในครอบครัวที่รักและมิตรสหายที่ผูกพันได้พรั่งพรูไหลผ่านเหมือนม้วนฟิล์มที่ถูกกรอกลับอย่างรวดเร็ว แต่ห้วงเวลานั้นมันจะเพียงพอหรือเปล่าที่จะอนุญาตให้เราได้รื่นรมย์และอิ่มเอมกับลมหายใจสุดท้ายนั้น

Hesse004

Nov 8, 2007

“เตะแหลกแล้วแหกค่าย” สงครามในเกมลูกหนัง




ผมชอบการตั้งชื่อแบบไทยๆครับ โดยเฉพาะหนังฝรั่งที่แปลเป็นชื่อภาษาไทย ยกตัวอย่างเช่น อภิมหาอมตะซีรีส์ภาพยนตร์อย่าง เจมส์ บอนด์ (James Bond) คุณปู่เสาว์ บุญเสนอ ท่านก็ตั้งชื่อหนังเรื่องนี้จนเป็นตำนานว่า “พยัคฆ์ร้าย007” หรือถ้าเป็นหนังเกรดบี อย่าง Nighteyes หลายท่านคงเกาหัวแกรกๆ แต่ถ้าบอกชื่อเป็นไทยว่า “แอบ” ที่นำแสดงโดย ทันย่า โรเบิร์ต (Tanya Robert) ดาราสาวทรงโตยุคต้น 90 ผมว่าหลายท่านคงร้อง อ๋อ! เป็นแน่แท้ โดยเฉพาะท่านชายทั้งหลาย (ภายหลังมีออกมาอีกหลาย “แอบ” จนผมจำไม่หวาดไม่ไหวเลยครับ)

การตั้งชื่อหนังต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักและจดจำได้ง่ายในบริบทของคนท้องถิ่นนั้นนับได้ว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งก็ว่าได้นะครับ ซึ่งเรื่องที่ผมอยากเขียนถึงในวันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการตั้งชื่อหนังแบบไทยๆได้มีเสน่ห์เรื่องหนึ่ง ใช่แล้วครับผมกำลังพูดถึง “เตะแหลกแล้วแหกค่าย”

ผมแปลกใจอยู่เหมือนกันว่ามีอะไรดลใจให้นักตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ตั้งชื่อหนังแบบนี้เพราะชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้คือ Victory ซึ่งหมายถึง “ชัยชนะ” นั่นเอง

Victory (1981) เป็นผลงานการกำกับของ จอห์น ฮูสตัน (John Huston) ผู้กำกับชั้นครูท่านหนึ่งแห่งวงการหนังอเมริกา Victory นับเป็นผลงานช่วงท้ายๆของผู้กำกับท่านนี้

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ผมสันนิษฐานว่าหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง “ฟุตบอล” คงมีน้อยมากซึ่งต่างจากสมัยนี้ที่มีหนังอย่าง Goal (ที่คาดว่าจะทำออกมาเป็นไตรภาคด้วย) หรือ Mean Machine (2001) หนังที่นำแสดงโดยอดีตนักบอลชื่อดังอย่าง วินนี่ โจนส์ (Vinnie Jones)

อย่างไรก็ดีการทำหนังฟุตบอลของชาวฮอลลีวู้ดนั้นอาจจะดูขัดเขินไปเสียหน่อยนะครับ สาเหตุหนึ่งคงเพราะชนชาติอเมริกาไม่ได้มีรากรักกีฬาประเภทนี้สักเท่าไร ฟุตบอลหรือ Soccer ในอเมริกาจึงเป็นแค่กีฬาของสุภาพสตรี ว่ากันว่าทีมบอลหญิงอเมริกานั้นประสบความสำเร็จมากกว่าทีมบอลชายเสียอีกครับ

ดังนั้นการสร้างหนังเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยนักฟุตบอลระดับ “ราชาลูกหนัง”อย่าง เปเล่ (Pele) มาเล่นด้วย นอกจากนี้ Victory ยังเต็มไปด้วยนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ในทศวรรษที่ 70 -80 อย่าง บ๊อบบี้ มัวร์ (Bobby Moore) อดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษผู้ชูถ้วยบอลโลกเมื่อปี 1966 , ออสวัลโด้ อาดิเลส (Osvaldo Ardiles) อดีตขุนพลลูกหนังทีมชาติอาร์เจนติน่าและทีมไก่เดือยทอง เป็นต้น

หนังเรื่องนี้มีสูตรสำเร็จคล้ายกับหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วๆไปครับ กล่าวคือ มีชาติพันธมิตรอย่างอังกฤษ อเมริกา เป็นพระเอกและมีเยอรมันเป็นวายร้าย ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ก็เหมือนกันที่แม้แต่ในเกมฟุตบอลเองทีมเยอรมันยังถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายอีกเหมือนเดิม

ผมว่ามิตินี้น่าสนใจยิ่ง เพราะหนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงเกินกว่า 40 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนยังมีการ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” กันอยู่แม้ว่าจะเบี่ยงโยงไปที่เกมลูกหนังก็ตามแต่

Victory มีพล็อตเรื่องคล้ายๆกับ The great escape (1963) หรือ “แหกค่ายมฤตยู” ในชื่อไทย งานของผู้กำกับชั้นครูอีกท่านอย่าง จอห์น สเตอ์จ (John Sturges) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลิกที่คล้ายกันของ Hatch ที่นำแสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) ใน Victory กับ Hilt ที่แสดงโดย สตีฟ แมคควีน (Steve Mcqueen) ใน The great escape นั้น ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นความเหมือนโดยบังเอิญหรือเหมือนโดยจงใจเพราะตัวละครทั้ง Hatch กับ Hilt มีความคล้ายคลึงกันในฐานะเป็นเชลยศึกคนเดียวในค่ายกักกันที่มาจากทวีปอเมริกา

ยิ่งไปกว่านั้นการแสดงออกของทั้งสองคนก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยเฉพาะมุมมองในความเป็นปัจเจกที่คิดจะแหกค่ายหนีไปคนเดียว ซึ่งต่างจากมุมมองของเชลยศึกจากพันธมิตรสายยุโรปที่คิดจะแหกค่ายออกไปเป็นกลุ่มหรือเป็นร้อยคนอย่างใน The great escape

นอกจากนี้ดูเหมือน “ฮุสตัน” จะจงใจบอกอะไรบางอย่างผ่านในหนังเรื่องนี้ว่าอเมริกันชนนั้นเล่นกีฬาด้วยเท้าไม่ค่อยได้เรื่อง แต่ถ้ากีฬาที่เล่นด้วยมือแล้วพวกเขาก็ไม่เป็นรองใคร ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็นพี่แรมโบ้ของเราไปยืนเป็นผู้รักษาประตูในเรื่องนี้ครับ

หนังเรื่องนี้ถูกออกฉายก่อนฟุตบอลโลกปี 1982 ที่สเปน จะระเบิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เองหนังจึงพยายามใช้อดีตซูเปอร์สตาร์จากนานาชาติ (ยกเว้นเอเชียและแอฟริกา) มาเป็นตัวชูโรง ผมว่าการได้ เปเล่และบ๊อบบี้ มัวร์ มาเป็นดารานำนั้นก็เรียกว่าคุ้มแล้วล่ะครับที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะทั้งสองดูจะเป็นดาราที่ดีทั้งในสนามและบนแผ่นฟิล์มโดยเฉพาะคุณลุง “เปเล่” เนี่ยสุดยอดเลยครับ

ปัจจุบันเกมฟุตบอลก็ไม่ต่างอะไรกับสงครามชนิดหนึ่งที่มีการ “ยิง” เหมือนกันแต่เป็นการยิงประตูครับ... หุหุ ...ทั้งนี้กีฬาฟุตบอลได้กลายเป็นมาตรวัดศักยภาพของคนในชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้แฝงคำพูดบางคำไว้น่าสนใจตอนที่นายพลเยอรมันบอกกับลูกน้องว่านี่จะเป็นโอกาสที่ดีที่เยอรมันจะเอาชนะพวกอังกฤษในเกมลูกหนังได้เสียที

ฟุตบอลจึงกลายเป็นทั้งเรื่องของการเมืองและ การทำสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านจำได้ เหตุการณ์ฟุตบอลโลกปี 1986 ที่เม๊กซิโก รอบแปดทีมสุดท้ายอังกฤษต้องเผชิญหน้ากับอาร์เจนติน่าของ “มาราโดน่า” ประเด็นเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ก็ถูกนำมาหยิบยกในเกมสงครามลูกหนังครั้งนั้นด้วย

นอกจากนี้ถอยไปเมื่อปี 1998 ฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส เกมระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านก็ถูกมีการหยิบประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองของสองประเทศนี้เมื่อครั้งสมัยต้นทศวรรษ 80 มาพูดกันอีก

มิพักต้องเอ่ยถึงตัวอย่างอันใกล้เมื่อต้นปีนี้ที่ทีมฟุตบอลไทยลงเผชิญหน้ากับทีมชาติสิงค์โปร์ กระแสแอนตี้“เทมาเสก”ก็ทำให้เกมไทเกอร์ คัพ นัดชิงเหมือนสงครามย่อยๆดีนี่เอง

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกถึงคุณค่าของชาติพันธุ์ พวกพ้อง หมู่เหล่า ซึ่งจะว่าไปแล้วการแสดงออกผ่านทางเกมลูกหนังได้ช่วยปลดปล่อยความคั่งแค้นเก็บกดบางอย่างของมนุษย์เราออกมา

Victory คือ ตัวอย่างอันดีที่ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์อันแยกออกจากกันได้ยากระหว่าง “กีฬา การเมือง และสงคราม” แม้ว่าเกมกีฬาสอนให้คนรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย แต่สงครามกลับไม่ได้สอนเช่นนั้นใช่มั๊ยครับ

Hesse004

Nov 6, 2007

จาก Pyramid system ถึง Rotation football กับปรัชญาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป (ตอนที่ 3)





ตอนที่แล้ว ผมเล่าถึง Danubian school และ Metodo style ซึ่งทำให้ทีมในแถบยุโรปตอนกลางอย่าง ฮังการี ออสเตรียและเชคนั้นประสบความสำเร็จ ส่วนฟุตบอลแบบ Metodo ก็ทำให้ อิตาลีครองแชมป์โลกติดต่อกันสองสมัย และยังเป็นต้นกำเนิดของเกม Counterattack อีกด้วย

ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ประเทศในยุโรปต่างได้รับความบอบช้ำจากสงครามไปตามๆกัน ด้วยเหตุนี้เองฟุตบอลโลกเลยต้องย้ายวิกไปเตะในอเมริกาใต้ และในทศวรรษที่ 50 นี้เองครับที่ผมเกริ่นไปแล้วว่าเทพเจ้าลูกหนังได้ลงมาจุติแล้ว เทพเจ้าองค์นั้นก็คือ “บราซิล” ซึ่งมาพร้อมกับร่างทรงนามว่า “เปเล่” นั่นเองครับ

ผมตั้งข้อสังเกตว่าความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลนั้นน่าจะเริ่มเป็นจริงเป็นจังเมื่อ 50 กว่าปีมานี้ ส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลจากสนามไปยังครัวเรือนได้ นอกจากนี้ผมเชื่อว่ามนุษย์เริ่มเบื่อสงครามกันแล้ว ดังนั้นการหันมาพัฒนาเกมลูกหนังก็เป็นการแสดงออกถึงศักยภาพของคนในชาตินั้นๆได้อีกทางหนึ่ง

ฟุตบอลโลกครั้งที่ 4 (1950) ที่จัดขึ้นบนแผ่นดิน “บราซิล” นั้น นับเป็นครั้งแรกที่ต้นตำรับลูกหนังอย่าง “อังกฤษ”ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันหลังจากเล่นตัวอยู่นาน ว่ากันว่าฟุตบอลโลกในครั้งนั้นทำให้โลกได้เห็น “ลีลาแซมบ้า” ขนานแท้ด้วยรูปแบบการเล่นฟุตบอลบนพื้นที่สวยงามประกอบกับทักษะเฉพาะตัวที่สุดยอดของนักเตะบราซิล

บราซิลชุดปี 1950 สามารถทะลุเข้าไปชิงชนะเลิศกับทีมจอมเก๋าอย่าง “อุรุกกวัย” มหาอำนาจลูกหนังแห่งทศวรรษที่ 30 อย่างไรก็ตามบราซิลทำได้ดีที่สุดคือ รองแชมป์โลกครับ สกอร์ 2 – 1 ทำให้อุรุกกวัยผงาดขึ้นมาเป็นแชมป์โลกสมัยที่สองเทียบเคียงอิตาลี

ผลพวงจากความพ่ายแพ้ทีมจอมโหดต่อหน้าแฟนบอลตัวเองในสนามชามยักษ์ Maracana Stadium ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของมหาอำนาจลูกหนังทีมใหม่อย่าง “บราซิล” ทีมที่เล่นฟุตบอลได้ตื่นตาตื่นใจและสร้างสีสันในฟุตบอลโลกมากที่สุด

ขณะที่บราซิลกำลังก่อร่างสร้างทีมในดินแดนลาตินนั้น ทางฟากฝั่งยุโรปเราต้องยอมรับว่าไม่มีใครสุดยอดเกินทีมชาติ “ฮังการี” แล้วครับ โดยเฉพาะฮังการีชุดปี 1954 นั้นได้สร้างตำนานลูกหนังบทใหม่ขึ้นพร้อมๆกับรูปแบบการเล่นที่เรียกว่า MW ซึ่งสลับกับ WM ของ Herbert Chapman

ฟุตบอลโลกครั้งที่ 5 เมื่อปี 1954 บนแผ่นดินสวิตเซอร์แลนด์ “ฮังการี” คือ ทีมที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดแม้ว่าจะได้รองแชมป์เพราะพ่ายเยอรมันตะวันตกไป แต่สำหรับในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วฮังการีภายใต้การกุมบังเหียนของ Gustav Sebes ได้ทำให้ขุนพลแมกยาร์แห่งลุ่มน้ำดานูบทีมนี้เกรียงไกรในยุโรปด้วยการเล่นเกมรุกที่ดุดัน โดยเฉพาะการมีผู้เล่นอย่าง ปุสกัส (Puskas) , ค๊อคซิส (Kocsis) , บ๊อซซิค (Bozzik) และ ไฮเด็กกุค (Hidegkuit)

ก่อนหน้าที่บอลโลกจะเริ่มขึ้น “ฮังการี ไดนาไมต์” ชุดนี้ได้สั่งสอนทีมสิงโตคำรามอังกฤษคาเวมบลีย์ด้วยสกอร์ 6-3 ก่อนจะมายำสิงโตกรอบอีก 7-1 ที่บูดาเปสต์ นับเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดีเลยทีเดียว

ว่ากันว่าช่วงทศวรรษที่ 50 นี้ คือ ช่วงเวลาของ “ฮังการี” และสโมสร “รีล มาดริด” อย่างแท้จริงเพราะทั้งสองครองความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินยุโรป นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ลูกหนังยังได้จารึกชื่อของ “เฟเรนซ์ ปุสกัส” ว่าเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งทศวรรษ 50 เคียงข้าง “อัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่” คู่หูพระกาฬแห่งทีมราชันชุดขาว รีล มาดริด

“ปุสกัส” เจ้าของฉายา “นายพันแห่งลุ่มน้ำดานูบนั้นมีปมด้อยตรงขาโก่ง ตัวป้อมๆตันๆดูแล้วไม่น่าจะมีพิษสงอะไร แต่พงศาวดารลูกหนังโลกบันทึกไว้ว่าชั้นบอลของท่านนายพันนั้นเข้าขั้นโคตรบอลเลยทีเดียวครับ ขอแถมนิดหนึ่งครับปุสกัสเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว นับได้ว่าเป็นักฟุตบอลที่อายุยืนคนหนึ่งเลยทีเดียว

กลับมาที่เทพเจ้าลูกหนังอย่าง “บราซิล” กันต่อครับ, บราซิลมาประสบความสำเร็จกับสูตรการเล่น 4-2-4 ซึ่งทำให้บราซิลครองแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยแรกเมื่อปี 1958 ที่สวีเดน สูตร 4-2-4 นี้ได้พลังขับเคลื่อนอย่าง วาว่า และ เปเล่ บราซิลไล่ถล่มเจ้าภาพในชิงชนะเลิศไป 5-2 พร้อมกับการแจ้งเกิดของไอ้หนูวัย 17 นามว่า “เปเล่” สำหรับ “สวีเดน” ในยุคนั้นก็จัดเป็น “เต้ย” ลูกหนังยุโรปทีมหนึ่งไม่แพ้ทีมฮังการี สวีเดนชุดนั้นมีจอมทัพอย่าง “นีลส์ ลีดโฮล์ม” อีกหนึ่งซูปเปอร์สตาร์ยุค 50 จากทีมเอซีมิลาน

สูตร 4-2-4 ถูกคิดค้นโดยสโมสรฟลามิงโก้ ตักกศิลาลูกหนังแห่งดินแดนแซมบ้า รูปแบบการเล่นดังกล่าวนับเป็นการปฏิวัติวงการฟุตบอลสมัยใหม่เลยทีเดียว การหันมาใช้กองหลัง 4 ตัวทำให้เกมรับมั่นคงมากขึ้น ขณะที่กองกลาง 2 ตัว จะคอยยืนบัญชาเกมและแจกบอลให้ปีกซ้ายขวารวมถึงแทงบอลทะลุให้กองหน้าเข้าไปพังประตู (Killing pass through) ระบบ 4-2-4 นี้เวลาเล่นเกมรุกแบ๊คสองข้างจะมาช่วยเติมเกมด้วย ทำให้ประสิทธิภาพของเกมรุกนั้นลื่นไหลยิ่งขึ้นเพราะจะมีผู้เล่นขึงอยู่ในแดนฝ่ายตรงข้ามถึง 8 คน

ขณะที่ บราซิลและฮังการี ทำให้เกมฟุตบอลนั้นมีความสนุกโดยเน้นไปที่การเล่นเกมรุกนั้น อิตาลี ต้นตำรับ Metodo football กลับไม่คิดเช่นนั้นครับ เพราะฟุตบอลจากแดนมักกะโรนีมักนิยมเน้นเกมตั้งรับโดยเฉพาะทีมในลีกกัลโช่แล้ว “อินเตอร์ มิลาน” ได้สร้างสไตล์ฟุตบอลที่ชื่อว่า “คาตาเนคโช่” (Catenaccio) ขึ้นมา

“คาตาเนคโช่” เป็นรูปแบบการเล่นที่มาจากมันสมองของ Helenio Herrera เทรนเนอร์ของอินเตอร์มิลาน ยุคต้นทศวรรษที่ 60 “คาตาเนคโช่” หมายถึง โซ่ขนาดใหญ่ (ไม่ใช่โซ่ข้อกลางนะครับ) ที่คอยขึงเกมรับไม่ให้หลุดรั่ว รูปแบบการเล่น “คาตาเนคโช่”นั้นได้พัฒนาตำแหน่งผู้เล่นขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “ลิเบอโร่” (Libero) ซึ่งหมายถึงตัวฟรีในสนาม

ปกติแล้ว “ลิเบอโร่”จะคอยปักหลักอยู่หน้าประตูตัวเอง ยืนเป็นกองหลังตัวสุดท้าย รอเพื่อนที่เป็นเซนเตอร์หรือ Stopper คอยชนให้แล้วเก็บกวาดบอลให้พ้นอันตราย ผู้เล่นที่เป็นลิเบอโร่ได้ดีนั้นต้องมีเซนส์บอลชั้นเทพเลยทีเดียวครับ อีกอย่างผมว่าคุณสมบัติของผู้เล่นลิเบอโร่นั้นต้องมีบารมีด้วยครับ เพราะตำแหน่งดังกล่าวนอกจากจะเป็นตัวสุดท้ายแล้ว ยังเป็นตัวที่คอยบงการเกม เปิดเกมได้ และที่สำคัญต้องสั่งเพื่อนได้ด้วยครับ

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมานั้นมีเพียงทีมจากแผ่นดินยุโรปและภาคพื้นลาตินเท่านั้นที่ช่วงชิงความเป็นเจ้าลูกหนังขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ฟุตบอลดูจะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย สำหรับตอนหน้าเราจะมาว่ากันถึงมหัศจรรย์บราซิลภายใต้บารมีของเปเล่และการกลับมาผงาดของทีมชาติอังกฤษกับระบบการเล่นที่เรียกว่า 4-4-2 ครับ

Hesse004

Nov 4, 2007

Christmas in August ข้างหลังภาพของ “เฮฮ จิน โฮ”




“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก” ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนหนังสือของบรมครู “ศรีบูรพา” ย่อมต้องซาบซึ้งตรึงใจกับประโยคสุดท้ายใน “ข้างหลังภาพ” (2480) อมตะนิยายรักของศรีบูรพาที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด

จะว่าไปแล้ว “ความรัก” คือ เรื่องที่มนุษย์เราดูจะให้ความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวัยเจริญพันธุ์เนี่ย ความรักดูจะกลายเป็นแรงขับไปพร้อมๆกับความใคร่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว “ความรัก คือ อะไรกันแน่ล่ะครับ ?”

ผมตั้งคำถามได้โคตรเชยเลย

ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย ผมริอ่านเขียนเรื่อง “อันเนื่องมาจากความรัก” ลงในหนังสือรุ่น ซึ่งเพื่อนหลายคนต่างลงความเห็นว่า “เสี่ยวสนิท มิตรส่ายหัว” ครับ

และเมื่อยิ่งเติบโตขึ้นผมยิ่งเข้าใจแล้วว่า “ความรักมักกินไม่ค่อยได้” ด้วยเหตุนี้ความรักจึงเป็นอารมณ์หนึ่งของคนเราที่มาเติมความรู้สึกซึ่งครั้งหนึ่งดูเหมือนจะพร่องไปให้เต็มตื่นอีกครั้ง แต่ความรักจะสร้างสรรค์อะไรที่ดีได้หากเรารู้จัก “รักเป็น”

ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมสัมผัสเรื่องราวของความรักมากมาย บางครั้งก็เป็นเรื่องรักของตัวเอง บางคราวก็เป็นของเพื่อนฝูง ซึ่งหลายต่อหลายเรื่องก็ไม่พ้นอกหัก รักคุด ส่วนเรื่องดีๆก็มีอย่างเรื่องรักที่ลงเอยถึงขั้นแต่งงานแต่งการกัน

แต่หลังจากพ้นเรื่องแต่งงานมาแล้ว หลายหนผมยังต้องมาสัมผัสเรื่องรักในอีกรูปแบบหนึ่ง ตั้งแต่เรื่องรักครอบครัว รักลูก รักภรรยา รักสามี ไปจนกระทั่งตัดสินใจที่จะรักตัวเองในวันที่คิดจะหย่าร้าง

กลับมาเรื่องที่ผมจั่วหัวไว้ดีกว่าครับ , ท่ามกลางความโรแมนติคที่ปรากฏในหนังรักเกาหลีนั้น Christmas in August (1998) ของนายเฮอ จินโฮ คือหนังรักที่ผมประทับใจมากที่สุดครับ ด้วยเหตุผลคือความเรียบง่ายที่ลงตัวที่คนทำหนังต้องการจะสื่อ นอกจากนี้การนั่งดูหนังเรื่องนี้เหมือนนั่งดูเรื่องราวชีวิตจริงของคนๆหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องไปนั่งดู “ปาหี่ Reality Show”

โดยส่วนตัวแล้วผมว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรที่คล้ายคลึงกับนวนิยายรักอย่าง “ข้างหลังภาพ”โดยบังเอิญ แม้ว่าหนังสือของศรีบูรพาจะมีอายุล่วงผ่านมา 70 ปีแล้ว แต่ตัวละครอย่างคุณหญิง “กีรติ” ก็ยังมีให้พบเห็นกันอยู่ในโลกแห่งความจริง เช่นเดียวกันกับที่ เฮอ จินโฮ พยายามสื่อให้เห็นภาพของ “จุงวอน” ที่เผชิญอารมณ์รักในห้วงวาระสุดท้ายของชีวิต

ว่ากันว่า “ความรัก” คือ ของขวัญจากพระเจ้าที่มอบให้มนุษย์แต่ละคนได้รื่นรมย์ในชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิต แม้ของขวัญชิ้นนี้จะมาในช่วงเวลาที่ทั้งคุณหญิงกีรติและจุงวอนกำลังจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ทั้งสองได้อิ่มเอมกับความทรงจำที่ดี

ผมเชื่อว่า “จุง วอน” คงรู้สึกคล้ายๆกับคุณหญิง “กีรติ” ที่ว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับทั้งสองคน คือ ของขวัญชิ้นสุดท้ายจากพระเจ้านั่นเอง แม้จะส่งมาผิดเวลาไปสักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มาเลยใช่มั๊ยครับ

ถ้ามองความรักในมิติของเศรษฐศาสตร์ บางทีมันอาจเป็นกลไกหนึ่งคล้ายกับกลไกราคาที่เป็นตัวจัดสรรทรัพยากรแห่งความสุขของคนสองคนที่มาพบกัน นั่นหมายถึงการเกิด “ดุลยภาพแห่งรัก”

และหากผมมองความรักเป็นสินค้าชนิดหนึ่งแล้ว ผมจะใช้ความยืดหยุ่นต่อความรัก (Love elasticity) มาเป็นตัวอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น คนประเภทรักเดียวใจเดียว คนจำพวกนี้เป็นพวกมีความยืดหยุ่นต่อความรักต่ำครับ (Inelasticity) กล่าวคือ ไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนไปนานแค่ไหน คนประเภทนี้ก็ยังยึดมั่นรักคนๆนั้นอยู่วันยังค่ำ แต่ในทางกลับกัน คนเจ้าชู้มักมีความยืดหยุ่นต่อความรักสูง (Elasticity) เพราะพอเวลาผ่านไปแป๊ปเดียว เขาก็จะหันไปหารักจากคนอื่นเสียแล้ว

ด้วยเหตุนี้เองผมจึงสรุปความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับความรักว่ามันควรจะแปรผันตรงกัน กล่าวคือ ยิ่งเวลาผ่านไปเนิ่นนาน เราควรจะบริโภคความรักมากขึ้น แต่ขอเป็นการบริโภคในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณแล้วกันครับ ว่าแล้วก็ลองตั้งฟังก์ชั่นและสมการชวนหัวให้ดูขลังเสียหน่อย

Love = f (Time)
L = aT+b
L แสดง คุณภาพของรัก
a แสดง สัมประสิทธิ์ของความรัก ยิ่งมากยิ่งดี
T แสดง ระยะเวลาที่รักกัน
b เป็น Error term ซึ่งอาจทำให้คุณภาพของรักมากขึ้นหรือลดลง ก็ต้องแล้วแต่ชนิดของ Error term นั้น

เอ! ว่าแต่ว่า รักตามสมการนี้มีความสัมพันธ์แบบเชิงเส้น (Linear)จริงหรือเปล่าครับ


หลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้นและสมการเพ้อเจ้อที่มาอธิบายความรักนั้นดูจะขำๆเหมือนกันนะครับ แต่ดูเหมือนว่ามันก็พอกล้อมแกล้มอธิบายพฤติกรรมมนุษย์กับความรักได้บ้าง

แรกเริ่มเดิมทีผมตั้งใจจะเขียนเรื่องหนังของเฮอจินโฮ กับหนังสือของศรีบูรพา แต่ไปๆมาๆกลับมาลงเอยด้วยเศรษฐศาสตร์ ผมว่ามันก็สมแล้วล่ะครับที่เพื่อนๆผมมันลงความเห็นว่าผมเขียนเรื่องรักได้ “เสี่ยวสนิท มิตรส่ายหัว” จริงๆ

Hesse004

Nov 2, 2007

จาก Pyramid System ถึง Rotation football กับปรัชญาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป (ตอนที่ 2)




เมื่อไม่กี่วันมานี้องค์กรโลกบาลทางฟุตบอลอย่าง Fifa ได้ประกาศยกเลิกกฎการหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่กำหนดให้เวียนตามทวีปละ 1 ครั้ง การยกเลิกดังกล่าวทำให้อังกฤษซึ่งอกหักจากเจ้าภาพบอลโลกครั้งล่าสุด (2006) กระดี๊กระด๊าอีกครั้ง เพราะปี 2018 อังกฤษได้กลายเป็นเต็งหนึ่งในการเป็นเจ้าภาพบอลโลกครั้งที่ 21

สำหรับประเด็นการยกเลิกกฎนี้นั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องของธุรกิจและผลประโยชน์ล้วนๆครับ ทั้งนี้ฟุตบอลโลกกลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่รองจาก Olympic game ด้วยเหตุนี้เองผลประโยชน์ทางอ้อมจากการเป็นเจ้าภาพ (Host) สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย ว่ากันว่าฟุตบอลโลกครั้งที่ 20 ในปี 2014 ที่ “บราซิล” รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพนั้น บราซิลจะได้รับอานิสงค์จากเม็ดเงินมหาศาลมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ง่อนแง่นมาหลายสิบปี

กลับมาที่เรื่องฟุตบอลดีกว่าครับ , เมื่อตอนที่แล้วผมเล่าค้างถึงความผยองของสิงโตคำรามแห่งเกาะบริเตนใหญ่ว่าไม่ยอมไปร่วมสังฆกรรมบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกกวัย (1930) อย่างไรก็ดีชาติอนุรักษ์นิยมอย่างอังกฤษหารู้ไม่ว่า เกมลูกหนังจากดินแดนต่างถิ่นนั้นเขาก็พัฒนาไปไม่น้อยหน้าเหมือนกัน

“อุรุกกวัย” คือ เจ้าลูกหนังโลกในช่วงทศวรรษที่ 30 ครับ เจ้าของฉายา “จอมโหด” ใช้สูตร Pyramid system หรือ สูตร 2-3-5 จนประสบความสำเร็จ นอกจากอุรุกกวัยจะใช้ได้ดีแล้ว รองแชมป์อย่าง “อาร์เจนติน่า” ก็ยึดระบบนี้เหมือนกัน

คราวนี้ลองข้ามกลับไปฝั่งยุโรปบ้างนะครับ ท่านผู้อ่านเชื่อมั๊ยครับว่าทีมเจ้ายุโรปในสมัยนั้นมาจากตอนกลางทวีป อย่าง ฮังการี , ออสเตรีย รวมไปถึง เชค ด้วย นักประวัติศาสตร์ลูกหนังอย่างนาย John Bleum แกเรียกสไตล์ฟุตบอลของทีมแถบนี้ว่า The Danubian school หรือโรงเรียนลูกหนังแห่งลุ่มน้ำดานูป

Danubian school เป็นฟุตบอลที่เน้นความแม่นยำในการผ่านบอลสั้นบนพื้น ราวกับการจ่ายบอลไปบนผืนพรม (Keep it on the carpet) ปรัชญาฟุตบอลง่ายๆนี้มาจากมันสมองของโค้ชสก๊อตแลนด์อย่างนาย Jimmy Hogan ครับ

ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งนะครับว่าโค้ชดีๆมีมันสมองเป็นเลิศในโลกลูกหนังนั้น เราคงต้องรวมโค้ชชาวสก๊อตเข้าไปด้วย ที่เห็นได้ชัด คือ ท่านเซอร์อล็กซ์ เฟอร์กูสัน แห่งแมนยู และ คิงเคนนี ดัลกลิช อดีตผู้เล่น ผู้จัดการทีมยุคหงส์แดงตะแคงฟ้า

สไตล์การเล่นของทีมยุโรปตอนกลางหรือ Danubian school นอกจากเน้นการผ่านบอลสั้นๆบนพื้นแล้วรูปแบบการเล่นยังคงยึดโยงกับระบบ 2-3-5 อยู่ จนอาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลา 80 กว่าปีที่แล้วนั้น สูตรการเล่นฟุตบอล 2-3-5 และ WM ของ Herbert Chapman คือสูตรที่นิยมแพร่หลายมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Danubian school จะทำให้ทีมชาติฮังการี ออสเตรียและเชคนั้นเป็น “เต้ย” ลูกหนังในดินแดนยุโรป แต่แชมป์ฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 ในปี 1934 กลับตกเป็นของทีมชาติ “อิตาลี” ครับ

นอกจากความได้เปรียบในการเป็นเจ้าภาพแล้ว “อิตาลี” ยังได้นำสไตล์การเล่นแบบใหม่ที่เรียกว่า “Metodo” มาใช้ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ด้วย ชื่อ Metodo น่าจะบอก “เลา”ๆ ได้นะครับว่าเน้นเกมรับที่เหนียวไว้ก่อน

Metodo เป็นรูปแบบการทำทีมของ Vittorio Pozzo ปรมาจารย์ลูกหนังแห่งเมืองมักกะโรนี กล่าวกันว่า Metodo ของ Pozzo นั้น คือ ต้นกำเนิดของเกมที่เรียกว่า Counterattack ครับ เหมือนที่ผมเกริ่นไปข้างต้นแล้วว่าสไตล์การทำทีมช่วงทศวรรษที่ 20-30 ต่างยึดระบบ Pyramid ซึ่งทีมของ Pozzo ก็ยังเล่น 2-3-5 เช่นเดียวกับทีมอื่น แต่พยายามเน้นเกมรับและให้ความสำคัญกับผู้เล่นตำแหน่งปีก 2 ข้างในการทำเกมรุกโต้กลับ

เรียนตามตรงครับว่า ผมเองสนุกกับตัวหนังสือของนาย John Bleum มาก ส่วนหนึ่งพยายามใช้จินตนาการและเชื่อมโยงบริบทบางอย่างในยุคนั้นมาสร้างเป็นภาพเกมลูกหนัง ฟุตบอลโบราณมีฐานะเป็น “กีฬา” ที่ใช้มันสมองของโค้ช สองขาของนักเตะ และหัวใจของคนดู ต่างจากสมัยนี้ที่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับธุรกิจ การลงทุน และผลกำไร

ปัจจุบันความสุขจาการบริโภค “ฟุตบอลบันเทิง” ในคืนวันเสาร์เต็มไปด้วยโฆษณาขายของ SMS ทายผล มิพักต้องเอ่ยถึงหนังสือพิมพ์กีฬาที่แปะอัตราต่อรองเต็มไปหมด ใช่แล้วครับนี่คือ “ฟุตบอลในศตวรรษที่ 21”

ผมบ่นมาพอแล้ว กลับสู่โลกลูกหนังต่อดีกว่า ในปี 1938 ฟุตบอลโลกครั้งที่ 3 ที่ฝรั่งเศสนั้น อิตาลี คือ ชาติแรกที่ป้องกันแชมป์รักษาถ้วย “จูริเมต์” (Jules Rimet) ไว้ได้อีกสมัย

การรักษาแชมป์ของอิตาลีสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบ Metodo ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นในปรัชญาการทำทีมฟุตบอล เพราะแต่เดิมฟุตบอล คือ “การทำประตู” สังเกตได้จาการยัดกองหน้าเข้าไปถึง 5 คนในระบบ Pyramid แต่สำหรับอิตาลีแล้ว ฟุตบอล คือ การป้องกันการเสียประตูและใช้จังหวะฉกฉวยโจมตีคู่แข่ง ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้ยินคำพูดเหน็บทีมจากแดนมักกะโรนีว่า “ตีหัวแล้วเข้าบ้าน”ไงครับ

ช่วงทศวรรษที่ 40 เกมลูกหนังต้องหยุดไป เพราะ นักบอลติดภารกิจไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุนี้เอง การชะงักงันในช่วงนั้นทำให้รูปแบบการเล่นไม่ได้รับการพัฒนาเท่าไรนัก

สำหรับตอนหน้าผมจะเล่าถึงฟุตบอลโลกตั้งตั้งทศวรรษที่ 50 ซึ่งว่ากันว่า “เทพเจ้าแห่งลูกหนังตัวจริง” ได้ลงมาจุติแล้วครับ

Hesse004

Oct 31, 2007

จาก Pyramid system ถึง Rotation football กับปรัชญาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป (ตอนที่1)




ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้สนใจอะไรมากมายกับเกมลูกหนังอาจจะไม่คุ้นกับคำโปรยที่ผมเอามาจั่วไว้ที่หัวเรื่องนะครับ สำหรับท่านผู้อ่านที่ชื่นชอบและฟุตบอลแล้วผมเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะเคยได้ยินคำว่า “Pyramid system” ส่วนคำหลังอย่าง “Rotation football”นั้น ผมเชื่อว่าแฟนบอลทีม Liverpool ย่อมคุ้นเคยเป็นอย่างดีครับ

ในระยะหลังของการดูฟุตบอล ผมเริ่มสนใจกีฬาชนิดนี้ในมิติอื่นๆมากขึ้นนอกเหนือจากเคยคิดจะหยิบเรื่องเศรษฐศาสตร์ภาคฟุตบอลมาเขียนแล้ว ผมยังสนใจเรื่องของสูตรการเล่นหรือแผนการทำทีมฟุตบอลด้วยครับ

ย้อนหลังไปราวๆสิบปีที่แล้วมีเกมคอมพิวเตอร์เกมหนึ่งที่ชื่อว่า CM หรือ Championship manager เกมๆนี้ทำให้ผมเริ่มเข้าใจภาพของฟุตบอลที่มากกว่าเกมๆหนึ่งที่มีผู้เล่น 22 คนมาเตะบอลกันให้เราดู

CM ทำให้ผมรู้ว่าฟุตบอลกลายเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง เกม CM ทำให้ผมเริ่มมองเห็นองค์ประกอบของทีมฟุตบอลว่าไม่ได้มีแค่นักฟุตบอล ผู้จัดการทีม สตาฟฟ์โค้ช เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังประกอบไปด้วยการบริหารจัดการทีม การวางแผนการเล่น การเสาะหาและพัฒนานักเตะ ไปจนกระทั่งวิธีการซื้อขายนักบอลและการต่อรองสัญญาและค่าเหนื่อย

ผมมองว่าความพยายามในการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลของบรรดาเหล่ามหาเศรษฐีนั้นตั้งอยู่บนเหตุผลทางธุรกิจเป็นสำคัญมากกว่าที่จะอยากเป็นเจ้าของเพราะใจรักในกีฬาชนิดนี้ เพราะฟุตบอลคือธุรกิจใหม่ที่เติบโตได้อีกไกลในโลกศตวรรษที่ 21 ด้วยเหตุที่ทุกคนในโลกนี้สามารถดูฟุตบอลแมตช์หนึ่งได้พร้อมๆกัน เท่ากับเป็นการขายบริการ “ฟุตบอลบันเทิง”ให้ตลาดทั่วโลกได้ชมกัน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจึงแพงขึ้นทุกปีและยังโยงไปถึงค่าตัวและค่าเหนื่อยของนักเตะระดับ Superstar จึงแพงหูฉี่

ผมอยากแนะนำท่านผู้อ่านลองหาหนังสือของท่านอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่เขียนเรื่อง “กีฬาในทุนวัฒนธรรม” หนังสือเล่มนี้ทำให้มิติการมองโลกฟุตบอลของผมเปลี่ยนไป บทความของอาจารย์ทำให้เราเห็นภาพกีฬาฟุตบอลมีฐานะไม่ต่างอะไรกับสินค้าและบริการโดยมีผู้ผลิตคือสโมสรฟุตบอล และองค์กรโลกบาลทางฟุตบอลอย่างฟีฟ่าหรือยูฟ่า แต่ที่ขาดไม่ได้คือคือโปรโมเตอร์หรือผู้จัดการแข่งขันครับ ซึ่งโปรโมเตอร์ฟุตบอลอย่างพรีเมียร์ชิพ (Premiership) น่าจะเป็นผู้จัดการแข่งขันที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกลูกหนังทุกวันนี้เพราะทำเงินได้มหาศาลจากการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ชิพไปยังประเทศต่างๆเกือบทั้งโลกแล้ว

อ้อ! ยังมีหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำคือ “คนไม่ใช่เศรษฐกิจ”ของอาจารย์ป้อง (ปกป้อง จันวิทย์) สหายทางปัญญาอีกท่านที่เขียนเรื่องราวเศรษฐศาสตร์กับฟุตบอลไว้ได้น่าสนใจในภาคสุดท้ายของหนังสือ

กลับมาที่เรื่องที่ผมจั่วหัวไว้ต่อครับ , ก่อนที่ผมจะเฉลยคำว่า “Pyramid system ว่าคืออะไรนั้น ผมอยากเล่าถึงพัฒนาการคร่าวๆของแผนการเล่นฟุตบอลไว้อย่างนี้ครับว่า นักประวัติศาสตร์ลูกหนังอย่าง นาย John Bluem แกได้แบ่งพัฒนาการของแผนการเล่นฟุตบอลเอาไว้ 3 ยุค ครับ

ในยุคเริ่มต้นนั้น เราต้องย้อนเวลาไป 140 กว่าปีเลยทีเดียว โดยในสมัยนั้นอังกฤษยังไม่มีฟุตบอลลีกภายในประเทศเลยด้วยซ้ำ รูปแบบการเล่นเท่าที่ผมอ่านในงานของ Bluem แกบอกว่าเกมส่วนใหญ่มักเน้นไปในเรื่องของการเลี้ยงบอล (The dribbling game) เป็นหลักครับ ด้วยเหตุนี้เองพื้นฐานของนักบอลรุ่นคุณทวดน่าจะอยู่ที่ทักษะการเลี้ยงบอลครับ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ กฎการล้ำหน้าหรือ Offside rule นั้นก็เกิดขึ้นเมื่อ140 กว่าปีที่แล้วเหมือนกัน Blume แกอธิบายแบบนี้ครับว่า เกมสมัยนั้นคาดว่าศูนย์หน้าบางคนกลัวยุงกัดเลยไปยืนกางมุ้งรอบอลอยู่หน้าประตู ดังนั้นพอเวลาบอลหลุดผ่านกองหลังฝ่ายตรงข้ามแล้ว หรือโกลเตะบอลยาวให้ ศูนย์หน้าจอมขี้เกียจเหล่านั้นก็จะโฉบเอาบอลไปยิงประตูได้สบายๆแบบไม่ต้องวิ่งแข่งกับกองหลัง นี่จึงเป็นสาเหตุให้กฎล้ำหน้าเกิดขึ้นเพราะไม่เช่นนั้นฟุตบอลจะไม่สนุกอย่างทุกวันนี้เพราะมันจะกลายเป็นยิงประตูกันง่ายเกินไปไงครับ

อย่างไรก็ตามเกมลูกหนังในศตวรรษที่ 20 ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยคราวนี้ไม่ต้องยึดกับทักษะการเลี้ยงบอลของผู้เล่นอีกต่อไปแล้วครับ ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดสูตรการเล่นขึ้น

สำหรับสูตรแรกที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมานั้น เขาเรียกว่า Pyramid system ครับ ว่ากันว่าสูตรนี้เป็นสูตรที่ทีมชาติอังกฤษสิงโตคำรามใช้เมื่อ 110 ปีที่แล้ว สูตรนี้ยึดระบบ 2-3-5 ไม่ใช่เลขเด็ดใบ้หวยนะครับ หากแต่เป็นการวางตัวผู้เล่นกองหลังไว้แค่ 2 คน กองกลาง 3 และกองหน้ายัดเข้าไป 5 เลย หัวใจของแผนการเล่นนี้อยู่ที่ตำแหน่ง Center ที่จะถูกดันขึ้นมายืนเหมือนกองกลางตัวรับครับ และยังคอยบัญชาเกมแจกบอลให้เพื่อนที่อยู่ปีกซ้ายปีกขวารวมถึงผู้เล่นหน้าประตู อย่างไรก็ตามผมใช้ได้แค่จินตนาการเท่านั้นแหละครับ เพราะสมัยนั้นไม่มีหลักฐานหลงเหลือให้เราได้ดูแล้วนอกจากอ่านหนังสือเอาเอง

ฟุตบอลในศตวรรษนี้ได้เริ่มปลูกทักษะการโหม่งบอล การครองบอล การจ่ายบอลยาว การวางกับดักล้ำหน้า การผ่านบอลสั้น ไปจนกระทั่งการรับลูก (ที่ไม่ต้องพึ่งรถโรงเรียนแบบในหนังโฆษณา )

ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้วโลกลูกหนังนั้นถือกำเนิดบนแผ่นดินยุโรปซึ่งอังกฤษมักสมอ้างเสมอว่าเป็น “บ้านของฟุตบอล” ซึ่งถ้ามองอีกด้านก็ต้องให้เครดิตเขานะครับ เพราะฟุตบอลลีกอังกฤษนั้นเข้มแข็งและพัฒนาจนเป็นลีกที่มีคนชอบดูมากที่สุดในโลก
สำหรับสูตรที่สองที่ประสบผลสำเร็จในโลกลูกหนังยุคคุณปู่นั้น พงศาวดารฟุตบอลบันทึกไว้ว่าเป็นสูตร WM ครับ สูตรนี้แหละครับที่ทำให้ทีมอย่าง “Arsenal”เกรียงไกรในยุคกลางทศวรรษที่ 20 ถึงปลายทศวรรษที่30 สูตรนี้ Herbert Chapman อดีตผู้จัดการทีมปืนโตครั้งกระโน้นเป็นผู้คิดขึ้นครับ

เหตุที่ Chapman แกคิดแผนนี้ขึ้นมานั้นเพราะมีการปรับกติกาการล้ำหน้าขึ้นใหม่ทำให้เกมลูกหนังยิงกันกระฉูดมากขึ้น ดังนั้น Chapman จึงต้องปรับผู้เล่นกองหลังเป็น 3 คน สังเกตจากตัวหัวของ W ก็ได้นะครับว่ามี 3 จุด โดยตัวผู้เล่น Center ในแผน Pyramid นั้นถูกถอยให้มาคุมพื้นที่แนวหลังซึ่งทำให้เกิดตำแหน่งใหม่ที่เรียกว่า Stopper หรือตัวชนนั่นเองครับ นอกจากนี้แผนของ Chapman ยังเป็นเน้นที่การประกบแบบตัวต่อตัวหรือ Man to man อีกด้วย ปรัชญาการทำทีมของ Chapman สะท้อนให้เห็นความสมดุลที่ปรากฏขึ้นในสนาม ไม่น่าเชื่อนะครับว่าตัวอักษรอย่าง Wและ M จะสามารถสร้างเกมที่ทรงประสิทธิภาพได้ในยุคนั้น

มีการบันทึกไว้ในพงศาวดารฟุตบอลเมืองผู้ดีไว้อย่างนี้ครับว่าสูตร WM ของ Chapman นั้นได้กลายเป็นแผนการเล่นมาตรฐานของทุกสโมสรฟุตบอลบนเกาะบริเตนใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 30

อย่างไรก็ตามในระดับนานาชาติแล้วฟุตบอลอังกฤษยังไม่ได้พิสูจน์ให้ใครได้เห็นเพราะแม้แต่ฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930 ที่อุรุกกวัยนั้นอังกฤษยังปฏิเสธเข้าร่วมการแข่งขันด้วยเหตุผลของการเดินทางไกลเพราะสมัยนั้นต้องนั่งเรือไปครับ อีกทั้งชาวเมืองผู้ดีคงยังคิดว่าฟุตบอลชาติกูนั้นเหนือกว่าชาติไหนๆในบรรณพิภพนี้แล้ว ซึ่งผมจะกลับมาเล่าในตอนต่อไปว่าสิงโตเมืองผู้ดีนั้นคิดผิดทีเดียวครับ

Hesse004

Oct 24, 2007

“I wish I had a wife” โถ! ลูกผู้ชาย ...ทำไมเกิดมาต้องมีเมีย




เรื่องที่จั่วหัวไว้ข้างต้นออกจะดูขำๆหน่อยนะครับ เหตุที่ตั้งชื่อแบบนี้ก็เพราะหลังจากที่ผมดูหนังเกาหลีเรื่อง I wish I had a wife (2000) จบเป็นรอบที่สองนั้น อารมณ์บางอย่างทำให้ผมนึกถึงเนื้อร้องวรรคหนึ่งในเพลง “วิมานดิน” ของคาราบาว ที่ร้องว่า “โถ! ลูกผู้ชาย...ทำไมเกิดมาต้องมีเมีย”

I wish I had a wife (2000) เป็นผลงานการกำกับของปาร์ค ยัง ซิก (Park Heung Sik) ครับ หนังว่าด้วยเรื่องราวของ คิม บอง ซู หนุ่มโสดวัยสามสิบกว่าปีที่อยากใช้ชีวิตคู่ อยากแต่งงาน หรือ พูดให้ชาวบ้านหน่อย ก็คือ อยากมีเมียนั่นเองครับ แต่จนแล้วจนรอดนายคิมคนนี้ก็ยังไม่พบสาวเจ้าที่ถูกใจ ด้วยเหตุนี้เองเรื่องครื้นเครงจึงเกิดขึ้นให้เราได้เห็นในหนัง

ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดมากไปกว่านี้แล้วกันนะครับ ทั้งนี้ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ผมมีต่อหนังรักเกาหลี คือ หนังส่วนใหญ่มีความเรียบง่ายแต่มีความพิถีพิถันในการนำเสนอเรื่อง “รัก” ได้อย่างสวยงาม นับตั้งแต่ Christmas in August (1998) และ One fine spring day (2001) ของ เฮอ จิน โฮ หรือแม้แต่งานอย่าง My sassy girl (2001) และ Il Mare (2000) ก็ได้ซ่อนประเด็นบางอย่างเกี่ยวกับสารของความรักได้อย่างน่าดูชม

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับตัว ปาร์ค ยัง ซิก คือ เขาเคยเป็นผู้ช่วยของเฮอ จิน โฮ เมื่อครั้งที่กำกับเรื่อง Christmas in August ซึ่งโดยส่วนตัวผมแล้วหนังเรื่องนี้คือ หนังรักที่ผมประทับใจมากที่สุดครับ แม้ว่า Chirstmas in August จะจบลงด้วยความเศร้าแต่มันกลับเป็นความเศร้าที่อยู่บนฐานของความอิ่มเอมใจ

อย่างไรก็ตามหนังของปาร์คกลับทำให้ I wish I had a wife กลายเป็นเรื่องสุขและก็จบลงด้วยความ “อิ่ม” อีกเหมือนกัน

ท่านผู้อ่านที่เป็นชายโสดและมีวัยใกล้เคียงกับ คิม บอง ซู ตัวเอกในเรื่องนี้อาจจะรู้สึก “อิน” กับอารมณ์ของนายคิมได้ไม่ยาก ทั้งนี้วัฒนธรรมของชนเกาหลีกับของบ้านเรานั้นดูไม่แตกต่างกันมาก ยิ่งถ้าเป็นเรื่องราวของหนุ่มโสดในเมืองกรุงที่ชีวิตผูกโยงกับงานออฟฟิศด้วยแล้วยิ่งทำให้หลายคนอดอมยิ้มไม่ได้กับบางฉากที่ดูจะตรงกับชีวิตเราเสียเหลือเกิน

ผมคิดว่าทัศนคติในเรื่อง “การแต่งงานและการมีครอบครัว” ของหนุ่มสาวชาวกรุงสมัยใหม่นั้นมีความคล้ายคลึงกันไม่ว่าจะในกรุงเทพหรือในกรุงโซล

สังคมเมืองภายใต้ระบบทุนนิยมได้ทำให้วิธีคิดและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปซึ่งต่างจากสังคมโบราณรุ่นปู่ย่าตาทวด ทั้งนี้การแต่งงานและการมีครอบครัวของคนสมัยก่อนที่อิงอยู่กับภาคเกษตรกรรมนั้น มีเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คือ การเพิ่มจำนวนแรงงานภายในครอบครัวซึ่งมาจากการ “มีลูก” ไงครับ จะว่าไปแล้วเหตุผลนี้สามารถอธิบายปรากฏการณ์การมีลูกเยอะของคนโบราณได้ทั้งในสังคมตะวันตกและสังคมตะวันออก

อย่างไรก็ตามหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความจำเป็นเรื่องของการใช้แรงงานในภาคเกษตรค่อยๆลดน้อยถอยลงไป และยิ่งในสังคมทุนนิยมเมืองใหญ่ด้วยแล้วการมีลูกจำนวนมากอาจจะกลายเป็น “ภาระ” และก่อปัญหาเศรษฐกิจกับครอบครัวในที่สุด

นับแต่ทศวรรษ 70 เป็นต้นมานั้น ประเด็นเรื่องการแต่งงาน การใช้ชีวิตคู่และการสร้างครอบครัวจึงเป็น Topic ใหม่ให้นักเศรษฐศาสตร์ทำการศึกษากันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของสองนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันอย่าง Gary Becker และ Jacob Mincer

สำหรับ Becker นั้น , ผลงานคลาสสิคอย่าง The Economic Approach to Family Behavior (1976) ได้ขยายพรมแดนความรู้เรื่องของเศรษฐศาสตร์กับการแต่งงาน เศรษฐศาสตร์กับการหย่าร้าง แม้กระทั่งเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการ “ทำลูก” ครับ

มิติการแต่งงานของนักเศรษฐศาสตร์ได้กลายเป็น “ธุรกรรม” (Transaction) อย่างหนึ่งที่มีดีมานด์และซัพพลายของทั้งชายหญิง รวมไปถึงการตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันหรือยุติชีวิตคู่ด้วยการหย่าร้าง (Divorce) ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานของต้นทุนและผลประโยชน์จากการทำธุรกรรมนั้น มิพักต้องเอ่ยถึงการให้กำเนิดบุตรที่ต้องมองว่าควรจะมีสักกี่คนถึงจะทำให้เกิดความเหมาะสมกับฐานะของครอบครัว พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์หน่อย คือ การหา Optimization level ของการ “ทำลูก” นั่นเองครับ

ที่ผมกล่าวมาข้างต้นดูจะทำให้เรื่อง “รัก” หมดความโรแมนติคไปเลยนะครับ เพราะดูเหมือนมนุษย์เราไม่น่าจะต้องมานั่งคิดอะไรให้มากมายกันขนาดนี้ แต่ในโลกของความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า “ความรัก” คือเงื่อนไขจำเป็น (Necessary condition) สำหรับการแต่งงาน แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ (Not sufficient condition) สำหรับการสร้างครอบครัว แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งผมก็ยังเชื่อในอานุภาพของความรักอยู่ดี

สำหรับ I wish I had a wife แบบไทยๆนั้นปรากฏให้เห็นในเพลงเพื่อชีวิตของ “บาว” หลายต่อหลายเพลงตั้งแต่ รักทรหด (1) , หัวใจบ้าบิ่น , หนุ่มสุพรรณ มาจนกระทั่ง วิมานดิน เพลงเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาในช่วงที่สังคมไทยกำลังก้าวกระโดดจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรม เกิดการหลั่งไหลของคนหนุ่มสาวจากภาคชนบทเข้าสู่เมือง

ด้วยเหตุนี้เองเนื้อร้องที่ปรากฏในเพลง “รักทรหด (1)” อย่าง “รักจนหลังอาน ดอกเบี้ยบานเบอะ ผ่อนทั้งบ้านทั้งรถยนต์ กว่าจะได้แต่งงาน เหนียงแทบยาน เนื้อแทบย่น เธอจึงเห็นใจ รักบริสุทธิ์ ให้บวชก่อนแล้วค่อยเบียด” ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามดิ้นรนของ “ไอ้หนุ่มคนหนึ่ง” ที่กว่าจะได้ทำธุรกรรมการแต่งงานนั้นต้องเหนื่อยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งดูเหมือน “น้าแอ๊ด” แกจะมาบ่นเรื่องนี้อีกครั้งผ่านเพลง “วิมานดิน”ที่ว่า “โถ! ลูกผู้ชาย....ทำไมเกิดมาต้องมีเมีย” ถูกใจคนยังไม่มีเมียดีครับ (ฮา)

Hesse004

Oct 2, 2007

“บัญญัติสิบประการ” คำประกาศอิสรภาพของ “ยิว” ยุคใหม่





ท่านผู้อ่านที่เป็นคอหนังเก่าและชื่นชอบภาพยนตร์อภิมหากาพย์หรือ Epic film นั้น ผมเชื่อว่า The Ten Commandments (1956) ของ Cecil B. Demille น่าจะเป็นหนังในดวงใจเรื่องหนึ่ง ไม่แพ้หนังอย่าง Ben-Hur (1959) ของ William Wyler หรือ Spartacus (1960) ของ Stanley Kubrick

มนต์เสน่ห์ของมหากาพย์ภาพยนตร์ที่สตูดิโอ Hollywood ทุ่มทุนสร้างนั้นอยู่ที่เนื้อหาประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอย่าง เช่นเรื่องของ Julius Ceasar แห่งโรม เรื่องสงครามกรุง Troy ในยุคกรีกโบราณ นอกจากนี้ฉากที่อลังการและจำนวนนักแสดงที่มากมายรวมถึงเครื่องแต่งกายที่โดดเด่น สิ่งต่างๆที่ว่ามานี้ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้ดูหนังอีพิค

สำหรับ The Ten Commandments หรือ “บัญญัติสิบประการ” ที่ผมหยิบมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังนี้ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่หลายประการครับ

ประการแรก หนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นในยุคที่สตูดิโอ Hollywood นิยมทำหนังย้อนยุค ลองไล่เรียงกันตั้งแต่ Ben-Hur (1959) , Spartacus (1960), Cleopatra (1963) , Jason and Argonauts (1963 ) หรือแม้แต่ Helen of Troy (1956) ภาพยนตร์เหล่านี้ถูกยกระดับให้เป็นหนังคลาสสิคไปแล้ว ประเด็นก็คือว่าสื่อภาพยนตร์นี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการสร้างมุมมองประวัติศาสตร์จากตำนานให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวได้สมจริงเสริมจินตนาการ

ท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าหากเราอ่านเรื่อง Jason and Argonauts หรือ “อภินิหารขนแกะทองคำ” ฉากที่เจสันร่องเรือผ่านช่องแคบเล็กๆโดยมีเจ้าสมุทรโพไซดอน (ที่ไม่ใช่อาบอบนวดนะครับ) มาช่วยดันภูเขาไม่ให้ถล่มลงมานั้น มันช่างอลังการแค่ไหน เฉพาะฉากนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้เทคนิคพิเศษหรือ Special effect ที่ทำให้คนดูหนังนั้นติดตาตรึงใจเป็นอย่างยิ่ง

ความน่าสนใจประการถัดมา ผมว่าหนังเรื่องนี้ได้ฉายให้เห็นภาพของคนโบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้วโดยเฉพาะเรื่องราวของอารยธรรมอิยิปต์หรือเรียกอีกชื่อว่า “ไอยคุปต์” ผมรู้จักอารยธรรมนี้จากหนังสือต่วยตูนครับ เรื่องราวของ “ฟาโรห์” เรื่องราวของ “พิระมิด” เรื่องราวของ “มัมมี่” ยังมีมนต์ขลังให้คนรักประวัติศาสตร์ได้ตามอ่านกันต่อไป

นอกเหนือจากที่เราได้เห็นวัฒนธรรมของชนชาวอิยิปต์ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางโลกเมื่อหลายพันปีมาแล้ว เราก็ได้เห็นอารยธรรมของชาวยิวซึ่งในหนังของ Cecil B. Demille นั้นเรียกว่า “อิสราเอล” ด้วยความที่ชนชาวยิวตกเป็นทาสมาชั่วนาตาปี ทำให้พวกเขาเชื่อว่าจะมี “ผู้มาปลดปล่อย” ซึ่งคนๆนั้นก็คือ “โมเสส” นั่นเองครับ

ผมเชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นหูกับชื่อของ “โมเสส” และเมื่อเราพูดถึงโมเสสอย่างแรกที่เราจะนึกถึง คือ “บัญญัติสิบประการ” ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้ทำให้เราได้เห็นที่มาที่ไปของ “โมเสส” จากเจ้าชายอิยิปต์ผู้เก่งกาจกลับกลายเป็นผู้ปลดปล่อยชนชาวยิวจากการกดขี่ของอาณาจักรไอยคุปต์

ประเด็นที่ผู้กำกับชั้นบรมครูอย่าง Cecil B. Demille พยายามสื่อผ่านอภิมหากาพย์บนแผ่นฟิล์มนั้นอยู่ที่เรื่องของ “เสรีภาพความเป็นมนุษย์” ที่พระเจ้าเป็นคนประทานมาให้ครับ เหมือนที่ฉากแรกที่ Demille ออกมาตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์เราเป็นเพียงสมบัติของรัฐ (Property of state) หรือเป็นมนุษย์ที่ได้รับเสรีภาพจากพระเจ้า

The Ten Commandments นับเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของ Cecil B. Demille ทั้งนี้เขาเคยสร้างหนังเรื่องนี้มาครั้งหนึ่งเมื่อปี 1923 โดยสมัยนั้น The Ten Commandments เป็นหนังเงียบ ผมว่าเหตุผลหนึ่งที่ Cecil B. Demille เลือกกลับมาทำใหม่ให้มันอลังการกว่าเดิมน่าจะมาจาก “บารมี”ของเขานั่นเองนอกจากนี้ Cecil B. Demille ยังมีเชื้อสายยิวจากทางแม่ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำหนังขึ้นเพื่อคารวะบรรพชนชาวยิว

The Ten Commandments ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงความยากลำบากของการเป็นทาสที่ชนชาวยิวเมื่อครั้งโบราณกาลต้องเผชิญ เหมือนที่ Stanley Kubrick ได้แสดงให้เห็นความเป็นทาสของ Spartacus ที่ถูกชาวโรมันข่มเหง เหมือนที่ Steven Spielberg ตั้งคำถามถึงความคิดของอเมริกันชนในอดีตเกี่ยวกับทาสแอฟริกันที่มาพร้อมกับเรือ Amistad

ผมตั้งข้อสังเกตในระหว่างที่ดูหนังมหากาพย์หลายเรื่อง สิ่งหนึ่งที่พบ คือ รูปแบบในการดำเนินเรื่องนั้นมีลักษณะคล้ายกัน คือ มีบทโหมโรง (Overture) ช่วงพักกลางเรื่อง (Intermission) และบทส่งท้าย ด้วยเหตุนี้เองดนตรีจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของหนังอิพิค

กลับมาที่ความน่าสนใจใน The Ten Commandments กันต่อครับ , Cecil B. Demille เองได้ทำให้ภาพของ “โมเสส” มีชีวิตขึ้นจริงโดยมี Charlton Heston รับบทเป็นโมเสส นอกจากนี้การฉายให้เห็นที่มาของแผ่นหินที่จารึกบัญญัติสิบประการนั้นก็ทำได้น่าดูชมโดยผ่านเสียงของ “พระเจ้าของชาวฮิบรู” ซึ่งเมื่อดูข้อบัญญัติทั้งสิบข้อแล้ว ปรากฏว่ามีหลายข้อที่คล้ายกับศีล 5 ของพระพุทธองค์ ไม่ว่าจะเป็น “จงอย่าฆ่าคน” จงอย่าประพฤติผิดลูกเมีย” “จงอย่าลักขโมย” “จงอย่าใส่ความนินทาว่าร้ายผู้อื่น” หรือ “จงอย่ามีความมักได้ในทรัพย์ผู้อื่น”

เราจะเห็นได้ว่าทั้ง “บัญญัติสิบประการ”และ “เบญจศีล” มีความคล้ายคลึงกันมากและสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การยึดหลักธรรมคำสอนมากกว่ารูปปั้นวัตถุบูชา เหมือนที่พุทธองค์ทรงดำรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” เหมือนที่โมเสสบอกกับชาวยิวทั้งปวงว่า “จงยึดมั่นปฏิบัติตามบัญญัติสิบประการของพระเจ้าโดยไม่ต้องมีรูปเคารพบูชา”

ความลึกซึ้งที่ปรากฏในหนัง The Ten Commandments นั้นน่าจะเป็นอนุสติเตือนใจพวกเราชาวพุทธได้เหมือนกันนะครับว่าแท้จริงแล้ว “สาระนั้นสำคัญกว่ารูปแบบ” สาระที่บัญญัติในพระอภิธรรมคำสอนมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตมากกว่าการบูชาวัตถุมงคลโดยมุ่งเพียงร้องขอความสุขความเจริญให้กับตนเองเพียงอย่างเดียว

ความน่าสนใจประการสุดท้ายในหนังของ Cecil B. Demille นั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็น “คำประกาศอิสรภาพของชาวยิวในศตวรรษที่ 20” ครับ หลังจากชาวยิวที่ต้องระหกระเหินมานานแสนนาน โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่านายทุนที่อยู่เบื้องหลังการสร้างหนังเรื่องนี้น่าจะมีชาวยิวอย่างน้อยหนึ่งคนบ้างล่ะ ทั้งนี้ต้องยอมรับนะครับว่าชาวยิวเป็นชาติที่น่าเห็นใจชาติหนึ่งเนื่องจากเป็นที่รังเกียจของชาวยุโรปและอาหรับมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ถึงขนาดเคยโดนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์(Holocaust)ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม “ความฉลาดและความเคี่ยว”ของยิวนั้นก็คงไม่เบาเหมือนกัน มิฉะนั้นพวกเขาคงไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์จนก่อร่างสร้างชาติ “อิสราเอล” ให้เข้มแข็งมาจนทุกวันนี้ได้

The Ten Commandments น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการ “ดึงคนยิวกลับดินแดนพันธะสัญญา” ซึ่งปัจจุบันก็ยังพิพาทกันอยู่กับ “ปาเลสไตน์” เจ้าของดินแดนเดิม ทั้งนี้ประวัติศาสตร์ของชาวยิวยุคใหม่นั้นเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 1948 นี้เองครับ

“อิสราเอล” กลายเป็นรัฐใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตก แต่สำหรับพวกอาหรับแล้วยิวคือศัตรูหมายเลขหนึ่งของพวกเขา

แนวคิดการสร้างชาติของอิสราเอลนั้นมีมานานแล้วนะครับโดยเฉพาะการก่อตั้ง “ขบวนการไซออน”ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดึงคนหนุ่มสาวชาวยิวมาช่วยกันสร้างชาติ จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จในสมัยของ นาย David Ben- Gurion ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล

ว่ากันว่าในตอนนั้นชาวยิวอยากให้ “Albert Einstein” ไปเป็นประธานาธิบดีคนแรกของพวกเขา แต่ Einstien แกปฏิเสธครับ ดังนั้นตำแหน่งประธานาธิบดีหรือประมุขของประเทศจึงตกเป็นของ Dr.Chaim Weizmann ยอดนักวิทยาศาสตร์ชาวยิวอีกคนหนึ่ง

ทุกวันนี้ “ยิว” คงไม่ต้องเร่ร่อนระหกระเหินเหมือนบรรพชนในอดีตอีกแล้ว หนำซ้ำชาว ยิวกลับกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในหลายต่อหลายวงการ ยกตัวอย่างเช่น ในแวดวงการเงินนาย George Soros ก็เป็นยิว ในวงการวิทยาศาสตร์ไม่มีใครไม่รู้จัก Albert Einstein ในวงการเศรษฐศาสตร์เรายังมียิวอัจฉริยะอย่าง Milton Friedman ในวงการภาพยนตร์ก็ยังมี Steven Spielberg ไงครับ

แต่เอ๊! วงการฟุตบอลที่ผมชอบล่ะ อ้อนึกออกแล้วครับ มีหนึ่งคนเป็นนักบอลนามว่า Yossie Benayoun แห่งทีมหงส์แดง ส่วนอีกคนเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลนามว่า Avram Grant ซึ่งเก่งหรือเปล่า ? นั้นลองถามแฟนทีมเชลซีได้นะครับ (ฮา)

Hesse004

Sep 23, 2007

ฤดูกาลที่แตกต่าง “หากไม่รู้จักเจ็บปวด ก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ”




เพลง “ฤดูที่แตกต่าง” หรือ Seasons change ของคุณบอย โกสิยพงษ์ ได้ออกอากาศตามรายการวิทยุประมาณปี 2538 และบทเพลงนี้เองได้ทำให้ชื่อของ บอย (คนเขียนเพลง)และ นภ พรชำนิ (นักร้อง) กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะเจ้าพ่อเพลงรักและผู้ชายโรแมนติค

ผมคิดว่าทั้งภาษาและเนื้อหาที่ปรากฏในบทเพลง Seasons change นั้นจัดได้ว่าขึ้นหิ้งคลาสสิคตลอดกาลไปแล้วก็ว่าได้ครับ

ในอดีตที่ผ่านมาเพลงให้กำลังใจหลายต่อหลายเพลงมีความงดงามจับใจทั้งเนื้อหา และการเลือกใช้ถ้อยคำ อย่างเพลง “กำลังใจ” ของ Hope นั้นก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ฟังเมื่อไรก็รู้สึกดีเสมอ หรือเพลง “คงจะมีสักวัน” และ “ตะกายดาว” ของ เต๋อ เรวัต ก็จัดเป็นเพลงปลอบประโลมชีวิตให้เดินต่อไปในยามที่รู้สึกท้อเช่นเดียวกับเพลง “เธอผู้ไม่แพ้” ของป๋าเบิร์ด ที่เคยเป็นเพลงสัญลักษณ์ใช้เปิดปลอบใจน้องๆผู้พลาดหวังจากการสอบ Entrance หรือเพลง “ Live and Learn” ของคุณบอย ที่ได้คุณกมลา สุโกศล แคลป์ป มาเป็นผู้ขับร้องก็จัดเป็นเพลงปลอบประโลมการชีวิตได้ดีอีกเพลงหนึ่ง

ไม่กี่วันมานี้ผมเพิ่งเจอสภาวะที่เรียกว่า “อารมณ์เป๋ๆ” กล่าวคือ อารมณ์ที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยอันเนื่องมาจากความผิดหวังบางอย่างในชีวิต แม้จะไม่มากมายอะไรและยังพอมีโอกาสแก้ตัวได้บ้าง แต่มันก็ทำให้ช่วงเวลานั้นดูหม่นๆไป อย่างไรก็ดีผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราเรียนรู้กับความผิดพลาด และผิดหวังได้มากน้อยแค่ไหนกัน”

โดยส่วนตัวแล้ว, ผมมีความเชื่อว่ามนุษย์เราเรียนรู้อะไรหลายๆอย่างจากความทุกข์ได้มากกว่าความสุขสมหวังครับ เพราะความผิดหวังจะทำให้เราได้กลับไปทบทวนและสำนึกดูเสียว่าที่ผ่านมานั้นมันเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา

ธรรมชาติมักเป็น “ครู” ที่ดีให้กับเราเสมอครับ หากเราใคร่สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลแล้ว เราจะเข้าใจสัจธรรมบางอย่างของ “ความเปลี่ยนแปลง” และ “ความไม่จีรังยั่งยืน” เพียงแต่ว่าเราจะเข้าใจกับรหัสต่างๆที่ธรรมชาติต้องการบอกเราได้มากน้อยแค่ไหน

“ฤดูที่แตกต่าง” ขึ้นต้นด้วยเนื้อร้องที่ว่า “อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ”

ผมตั้งขอสังเกตว่ามนุษย์เรามักผูกพันกับ “ฤดูฝน” มากกว่าฤดูใดๆส่วนหนึ่งเพราะฝนทำให้เกิดน้ำและความอุดมสมบูรณ์แต่ในมุมกลับกันฝนได้สร้างความยากลำบากให้กับมนุษย์ ฝนมักมาพร้อมพายุและฟ้าร้องซึ่งเรามักมองว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถควบคุมปรากฏการณ์ฝนตก ฟ้าร้อง (อาจจะรวมถึงผู้หญิงจะคลอดลูก) ได้ ด้วยเหตุนี้เองที่มนุษย์เรายังด้อยกว่าธรรมชาติอยู่วันยังค่ำ

“อย่าไปกลัวเวลาที่ฟ้าไม่เป็นใจ อย่าไปคิดว่ามันเป็นวันสุดท้าย” หลายต่อหลายหนที่เราเหมือนจะพ่ายแพ้ หรือไม่ประสบความสำเร็จซึ่งดูเหมือนโลกของเราแทบจะสูญสลายไปต่อหน้า บางคนบอกว่ามันไม่ได้เป็น “The end of the world” บางคนบอกว่า “ท้อแท้ได้แต่อย่าท้อถอย” บางคนบอกว่า “พรุ่งนี้ยังมี” ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นคำให้กำลังใจให้คิดถึงวันใหม่ที่ดีกว่า

มันก็เป็นเช่นนั้นเอง “ประเดี๋ยวก็รุ่งเรืองประเดี๋ยวก็ร่วงโรย” ไอ้คำว่า “ประเดี๋ยว”เนี่ยมันก็เห็นภาพดีเหมือนกันนะครับว่าไม่นาน นั่นก็แสดงว่าเราจะสุขก็คงสุขไม่นาน เราจะทุกข์ก็ทุกข์กันไม่นาน

เพื่อนสนิทผมมันเคยเตือนผมว่า “ให้ประคองตัวเองไปให้ได้ เพราะความเศร้าที่เราเผชิญอยู่นี้เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” ซึ่งผมคิดว่าจริงอย่างที่เพื่อนมันพูด

หลายต่อหลายครั้งเวลาที่ผู้ใหญ่ท่านปลอบใจเราประมาณว่า “อย่าไปเอาอะไรกับมันมาก เดี๋ยวมันก็ดีเอง” คำพูดเหล่านี้หากเราคิดกันให้ดีๆมันแสดงให้เห็นถึง “ความเติบใหญ่” (Maturity) ของคนที่ผ่านชีวิตจนเข้าใจอะไรบางอย่างเหมือนที่โบราณว่าไว้ “ผ่านร้อนผ่านหนาว” ซึ่งก็อิงกับฤดูกาลอีกเหมือนกัน

สุดท้ายผมคิดว่ากำลังใจที่ดีที่สุดในการปลอบประโลมเวลาเราทุกข์ใจ คือ กำลังใจจากตัวเราเองครับ เพราะหากเราผ่านวันที่เลวร้ายเหล่านั้นไปได้ เราจะรู้สึกว่าตัวเองเข้มแข็งและอดทนอย่างประหลาด มันเหมือนได้รับการฉีดวัคซีนกันทุกข์ไปเรียบร้อยแล้วซึ่ง “หากไม่รู้จักเจ็บปวดก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ”ใช่มั๊ยครับ

Hesse004

Sep 4, 2007

"13 เกมสยอง" ทุนนิยมกินคน





กระบวนภาพยนตร์ที่สื่อสารให้เห็น “สันดานดิบ” ของมนุษย์นั้น คงต้องกล่าวถึง Se7en (1995)ของ David Fincher ที่นำเสนอสารได้อย่างน่าสนใจอีกทั้งยังแหวกผ่านรูปแบบการทำหนังในช่วงทศวรรษที่ 90 ด้วยการหยิบประเด็นบาปทั้ง 7 ของคริสเตียนมาถ่ายทอดให้เราเห็นกิเลสหนาๆของมนุษย์

สำหรับหนังไทยนั้น, งานของ “มะเดี่ยว” ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กับเรื่อง “13 เกมสยอง” (2548) นับว่าทำได้ดีเลยทีเดียวครับ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อ นอกจากนี้แล้วการแสดงของ กฤษฎา สุโกศล แคลปป์ หรือ น้อย วงพรู นั้นจัดว่ามีพลังและทำให้หนังเรื่องนี้น่าติดตามได้ไม่น้อย

13 เกมสยองหรือ 13 Beloved สร้างขึ้นจากพล็อตเรื่องการ์ตูนไทยของ “เอกสิทธิ์ ไทยรัตนะ” หนังพูดถึง “ภูชิต พึ่งนาทอง” ชายหนุ่มลูกครึ่งไทยฝรั่ง ยึดอาชีพเป็นเซลล์ขายเครื่องดนตรีโดยบุคลิกแล้วภูชิตดูเหมือนเป็นคนติ๋มๆ อ่อนโยน ใจเย็น ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร มีชีวิตอยู่ในสังคมทุนนิยมเมืองซึ่งมีสภาพไม่ต่างอะไรไปจากป่า หากแต่เป็น “ป่าคอนกรีต” ที่มนุษย์ผู้แข็งแรงกว่ามักเอาเปรียบมนุษย์ที่อ่อนแอกว่าอยู่เสมอ

หนังบอกเล่าถึงความ “ซวย”ของภูชิต ตั้งแต่ถูกเพื่อนรุ่นพี่เอาเปรียบขายของตัดหน้า จนเป็นสาเหตุให้เขาถูกไล่ออกจากงาน เท่านั้นไม่พอครับ พี่แกยังถูกFinanceยึดรถเสียอีก แถมถูกแฟนทิ้ง มีปัญหาหนี้สินบานตะไท ปัญหาต่างๆที่มารุมเร้าภูชิตไม่ผิดอะไรกับ “แมลงวัน” ที่มาวนเวียนสร้างความรำคาญให้กับเขาและนี่เองที่หนังกำลังจะเปิดให้เห็น “สันดานดิบ” ของมนุษย์คนหนึ่งที่เหมือน “หมาจนตรอก” และยอมทำทุกทางเพื่อเงิน

ผมขออนุญาตไม่เล่าเรื่อง “เกม” ทั้ง 13 เกมที่ภูชิตจะต้องเล่นเพราะหากเล่าไปคงจะเสียอรรถรสในการดูหนังเรื่องนี้ และหลังจากที่ผมดูหนังเรื่องนี้จบลง ผมรู้สึกถึงคำพูดหนึ่งที่ว่า “สุดท้ายแล้ว ทุนนิยมมักจะกลืนกินตัวมันเอง” ผมไม่แน่ใจว่าไปอ่านพบมาจากหนังสือเล่มไหน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ผมกลับเห็นว่า “ทุนนิยมนั้นมันกินคนเป็นอาหารครับ”

ภาพของนายภูชิต ที่น้อยนำแสดงนั้น เป็นตัวแทนของมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆท่านๆรวมทั้งผมคนหนึ่งด้วยครับ มีคำพูดหลายคำในหนังที่สะท้อนให้เห็นความฝันของมนุษย์เงินเดือน เช่น ปีนี้จะได้โบนัสเท่าไรนะ จะมีโอกาสขยับเป็นหัวหน้างานหรือเปล่า

มีครั้งหนึ่งที่ผมเคยหลงใหลได้ปลื้มไปกับปรัชญาของ Marxist ครับ โดยเชื่อในพลังของชนชั้นกรรมาชีพ เชื่อในความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการกระจายทรัพย์สิน แต่ความหลงใหลได้ปลื้มของผมได้หดหายไปเมื่อผมเริ่มพบว่าโลกของความเป็นจริงนั้นไม่ได้บริโภคอุดมการณ์เป็นภักษาหาร ด้วยเหตุนี้เองตำราของนาย Marx อย่าง Das Capital และ Communist Manisfesto จึงถูกยัดเก็บนอนนิ่งอยู่ด้านในสุดของชั้นหนังสือ

แม้ว่าทุนนิยมหรือ Capitalism นั้นจะทำให้มนุษย์อย่างเราๆสุขสบายแต่มันกลับพรากอะไรบางอย่างในตัวเราไป ไอ้อะไรบางอย่างที่ว่านี้ ผมไม่แน่ใจว่าเป็น “จิตวิญญาณ”หรือเปล่า เพราะบ่อยครั้งที่โลกทุนนิยมคำนึงถึง “เงิน” เป็นตัวตั้งเสมอ และสิ่งที่ตามมาคือ “การหาเงิน”ซึ่งบางครั้งก็ไม่สนใจว่ามันจะได้มาด้วยวิธีการใด

ข้อถกเถียงในเรื่องเงินนั้น นักเศรษฐศาสตร์สำนัก Classic บอกว่า Money is medium exchange. พูดง่ายๆก็คือ เงินเป็นแค่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น แม้ว่าพลพรรค Keynesian จะมองว่าเงินทำหน้าที่ทั้งเป็นสื่อกลาง แต่ก็ยังเก็งกำไรได้ด้วย อีกทั้งถือไว้ยามฉุกเฉินแต่สถานภาพของเงินในทัศนะของพวกเขาก็ดูจะไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าใดนัก ผิดกับแนวคิดของ Monetarism ภายใต้การนำของ Milton Friedman ที่มองว่า “Money is matter” หรือ เงินนั้นมีความหมายเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าทัศนคติต่อเงินของนักเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนักมีไม่ตรงกันเลยนะครับ แต่จุดร่วมกันของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือไม่เป็นนักเศรษฐศาสตร์นั้นต่างก็เชื่อว่า “เงินนั้นสำคัญ”หรือ Money is important. บางทีอาจจะต่อด้วยซ้ำว่า “เงินนั้นเป็นสิ่งจำเป็น” Money is essential.

13 เกมสยอง ของ คุณมะเดี่ยว ได้สะท้อนภาพบิดบูดของสังคมเมืองหลวงที่แม้พัฒนาวัตถุไปเสียไกลโข แต่จิตใจกลับไม่พัฒนาแถมยังถดถอยอีกต่างหาก สังเกตได้จากเกมที่เอามาให้เล่น ผมคิดว่า“ความเห็นแก่ตัว” กำลังจะกลายเป็นทูตของพระเจ้าองค์ใหม่ นั่นคือ “เงิน” เพราะความเห็นแก่ได้นี้เองที่เชื้อเชิญให้มนุษย์เข้ามากอบโกยอะไรก็ได้ที่แปลงเป็น “เงิน”ได้โดยไม่ต้องคิดถึงความผิดชอบชั่วดี (หิริโอตัปปะ)

ชั่วชีวิตของผมคงไม่ได้เห็นพัฒนาการของทุนนิยมได้มากไปกว่านี้แน่นอนครับ ผมเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตอันใกล้นี้หลายประเทศจะถูกบีบให้เลือกเดินตามเส้นทางระบบทุนนิยม โลกอีกร้อยปีข้างหน้าเราอาจเห็นตลาดหุ้นร่างกุ้ง ในเมียนมาร์ กำลังทำสถิติทะลุ 1,000 จุด หรือไม่งั้นเราอาจได้ยินข่าวการเปิดการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลภูฎาน ซึ่งอะไรๆก็เป็นไปได้ทั้งนั้นนะครับกับทุนนิยมกินคนแบบนี้

Hesse004

Aug 27, 2007

กบนอกตำรากับเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยป่าชายเลน





รายการ “กบนอกกะลา” ของค่ายทีวีบูรพา นับว่าเป็นรายการที่สร้างสรรค์รายการหนึ่งในยามที่บ้านเราขาดแคลน “สาระ”บนหน้าจอทีวี

ผมเชื่อว่าเราทุกคนก็เหมือน “กบ” ตัวหนึ่งแหละครับที่ส่วนใหญ่ยังหมกอยู่ในโลกของเราเองทั้งงานที่ทำหรือวิชาที่เรียน แม้ว่าบ่อยครั้งเราอยากจะออกจากกะลาใบนี้เสียเหลือเกินแต่ด้วยเหตุผลต่างๆนานาที่ทำให้เราไม่สามารถหนีจากโลกใบเดิมไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลเรื่อง “เวลา”

นับแต่สิงหาคมปีที่แล้ว จวบจนวันนี้ ผมเองก็ไม่ต่างอะไรจาก “กบ”(อาจเข้าขั้นอึ่งอ่างด้วยซ้ำ) ตัวหนึ่งที่กระโดดโหยงเหยงไปมาในโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยตัวอักษรทางเศรษฐศาสตร์ จนแทบจะเรียกได้ว่าผมเหมือนกบตัวหนึ่งที่อยู่ในตำรา (เศรษฐศาสตร์) อย่างไรก็ตามผมยังมีความสุขดีกับกะลาอันนี้อยู่ครับ

กลับมาเรื่องที่จั่วหัวไว้ครับ , เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปเยือนเมืองสมุทรสงครามด้วยวัตถุประสงค์ไปดูพื้นที่ป่าชายเลน 5,000 กว่าไร่ที่ ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง ผมขอสารภาพอย่างหนึ่งครับว่า ผมไม่ได้มีความสนใจในเรื่องป่าชายเลน(Mangrove forest) สักเท่าไรนัก เหตุผลก็คือมันเป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกินสำหรับนักเรียนเศรษฐศาสตร์เช่นผมครับ อย่างไรก็ตามประสบการณ์เมื่อวานนี้ทำให้ “กบในตำรา” อย่างผมเริ่มเข้าใจอะไรบางอย่างระหว่างธรรมชาติและมนุษย์

กล่าวกันว่าวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของการเลือกตัดสินใจที่จะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากพูดกันตามนิยามก็ดูเหมือนง่ายดีนะครับ แต่พอลงมือปฏิบัติจริงกลับกลายเป็นว่า มนุษย์เนี่ยแหละครับที่ถลุงใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างไม่บันยะบันยัง ด้วยเหตุนี้เองเราจึงต้องกับเผชิญปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) ทั้งๆที่เคยมีคนพูดถึงเรื่องปรากฏการณ์เรือนกระจก (Green House Effect) มาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่มนุษย์อย่างเราๆก็ยังหูทวนลมกันอยู่ครับ

ผมนึกถึงหนังการ์ตูนAnimation ญี่ปุ่นของสตูดิโอGhibli เรื่อง Princess of Mononoke ผลงานของ Hayao Miyazaki การ์ตูนเรื่องนี้กล่าวถึงป่าที่กำลังจะสูญหายไปด้วยน้ำมือของมนุษย์โดยสื่อผ่าน“วิญญาณแห่งป่า” (Spirit of forest) ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากครับ ผมว่าวิธีการถ่ายทอดแบบนี้น่าจะทำให้เด็กๆเข้าใจความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ หรือ สัตว์ป่า เหมือนที่คนโบราณพูดถึงเรื่อง “เจ้าป่าเจ้าเขา” ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อให้มนุษย์พึงสังวรถึงความสำคัญของธรรมชาติ

ผมพาท่านผู้อ่านไปเสียไกลเลยครับ , วกรถกลับมาที่สมุทรสงครามกันต่อดีกว่า คณะผู้สังเกตการณ์ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ครับ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าวัตถุประสงค์สำคัญของการเดินออกจากตำราครั้งนี้ คือ ไปดูพื้นที่ป่าชายเลนนอกจากนี้พวกกระผมยังมีโอกาสได้นั่งเรือออกไปปลูกป่าโกงกาง ป่าแสม กันด้วย

ตำบล “คลองโคน” เป็นตำบลหนึ่งในเมืองสมุทรสงครามครับ ใครจะไปรู้ว่าตำบลเล็กๆแห่งนี้มีโครงการอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลนมา 16 ปี แล้ว คณะของเรามีโอกาสได้คุยกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ลุงผู้ใหญ่แกดูท่าทางใจดี และเป็นมิตรมากครับ แกเล่าให้พวกเราฟังว่าแต่เดิมนั้นบริเวณแห่งนี้มีการเลี้ยงกุ้งเลี้ยงหอยแครงกันตามธรรมชาติ ต่อมากระแสเลี้ยงกุ้งกุลาดำบูมประมาณปี 2528 – 2531 ชาวบ้านก็แห่มาเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพราะขายได้ราคาดี แต่ผลของการทำนากุ้งปรากฏว่ามีการใช้สารเคมีทำให้เกิดสารพิษตกค้างส่งผลต่อสภาพนิเวศน์ที่เคยมีอยู่เริ่มสูญเสียไป ชั่วระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี สภาพแวดล้อมของหมู่บ้านก็เปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังมีการหักร้างถางพงป่าชายเลนเพื่อแปลงมาเป็นนากุ้งกุลาดำ ท้ายที่สุดเมื่อทุกอย่างแย่ลง ฟองสบู่การทำนากุ้งกุลาดำแตก ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของพื้นที่ป่าชายเลนที่หายไป พวกเขาจึงเริ่มต้นปลูกป่าชายเลนกันใหม่เมื่อปี 2533 ครับ

ในระหว่างที่ฟังผู้ใหญ่บ้านบรรยาย, ผมยืนจดข้อมูลและคิดไปถึงเรื่องที่อ่านในตำรา Narural Resource Economics (2005)ของ Professor Barry C. Field ซึ่งแกเขียนไว้ในเรื่อง Marine resource ว่าประเด็น Open access หรือ การที่ใครก็ได้สามารถเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลมีส่วนทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลถูกทำลาย โดยเฉพาะจำนวนปลาเริ่มลดน้อยถอยลง สำหรับที่ คลองโคนแล้วปัญหาที่ชาวบ้านพบ คือ ระบบนิเวศน์ของที่นี่ได้ถูกทำลายไปเนื่องจากชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้งกุลาดำ แต่ก็น่าดีใจนะครับที่ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้และช่วยกันปลูกป่าชายเลนให้กลับมาใหม่อีกครั้ง แถมยังได้แรงเชียร์จากนักท่องเที่ยวตลอดจนคนรักธรรมชาติมาช่วยกันปลูกป่าให้ที่นี่จนวันนี้มีพื้นที่ป่ากว่า 5,000 ไร่แล้ว

ผมว่าตราบใดที่มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ความร่มเย็นก็จะกลับคืนมา แต่หากวันใดที่ธรรมชาติเริ่มเกลียดชังมนุษย์แล้ว มนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราคงอยู่บนโลกใบนี้ไม่ลำบากแน่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าคิดหลังจากที่ผมมีโอกาสคุยกับท่านอาจารย์ที่พาเราไปดูงานครั้งนี้ คือ อาจารย์ท่านให้ข้อสังเกตว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพื้นที่ป่าชายเลนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านนั้นมันควรอยู่ในสัดส่วนหรือปริมาณเท่าไรจึงจะสมดุล พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์ คือ จุดไหนที่มันจะ Optimize ระหว่างพื้นที่ป่าชายเลนกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แม้ว่าป่าชายเลนจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเลได้ดี และก่อประโยชน์มากมาย แต่อย่าลืมว่าชาวบ้านก็ยังต้องทำมาหากินกับท้องทะเลอยู่

ก่อนหน้านี้วิชาเศรษฐศาสตร์สอนให้เราหาจุดสมดุลระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ทั้งผู้บริโภค กับ ผู้ผลิต หรือ รัฐ กับเอกชนแต่นัก เศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้เลยครับ เพราะมนุษย์นั้นไม่รู้หรอกครับว่าเราควรจะขอหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน เพราะธรรมชาติไม่มีปากบอกเราว่า “เฮ้ยพอแล้ว พวกมึงเอาจากกูมากเกินไปแล้ว” บ่อยครั้งที่ความพิโรธของธรรมชาตินั่นแหละถึงจะทำให้มนุษย์เริ่มรู้แล้วว่าท่านไม่ยินดีที่จะให้เราเอาอะไรไปมากกว่านี้แล้ว

Hesse004