Nov 15, 2009

2012 เรือโนอาห์ลำสุดท้าย





โหมโรงกันมาพอสมควรนะครับสำหรับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง 2012 ผลงานการกำกับของ โรแลนด์ เอมเมอริช (Roland Emmeich) ผู้กำกับชาวเยอรมันที่เคยฝากผลงานไว้กับภาพยนตร์ดังอย่าง Independence Day (1996) และ The Day After Tomorrow (2004)

หนังเรื่องนี้เปรียบเสมือนตัวแทนคำทำนายอนาคตว่าโลกใบนี้ใกล้จะถึง “กาลอวสาน” ในวันที่ 21 เดือน 12 ปี 2012 ตามคำทานายของชนเผ่ามายา ขณะเดียวกันเอมเมอริชเองก็พยายามหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายโอกาสที่โลกใบนี้จะแตกสลาย ซึ่งถ้าท่านใดที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็คงจะร้อนๆหนาวๆได้เหมือนกัน

ทั้งนี้หากเราย้อนดู “ภาพยนตรานุกรม” (Filmography) ของเอมเมอริชจะพบว่าเอมเมอริชได้พูดถึงความเชื่อเกียวกับเรื่อง “วันสิ้นโลก” ไว้ในภาพยนตร์ของเขาอย่างน้อยสองเรื่องครับ คือ The Noah's Ark Principle (1984) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา อย่างไรก็ตามเอมเมอริชได้เนรมิตให้ “วันสิ้นโลก” ตามจินตนาการของเขานั้นปรากฏในหนังเรื่อง The Day After Tomorrow (2004) ซึ่งว่ากันว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด

นับตั้งแต่เปิดฉากศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาดูเหมือนว่าโลกของเราต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงแทบทุกปีก็ว่าได้ โดยเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่คนไทยจดจำได้ดีคือ ปรากฏการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับแสน

จะว่าไปแล้วหนังของเอมเมอริชนั้นทำให้เราต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนะครับเพราะเหตุที่ทำให้โลกต้องถึง “หายนะ” นั้นก็มาจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเองแหละครับ

ทุกวันนี้ประเด็นเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ได้กลายเป็นวาระแห่งโลกไปแล้วโดยเฉพาะปัญหาเรื่องโลกร้อน (Global Warming) ที่ถูกจุดกระแสขึ้นจากนายอัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าปัญหาภาวะโลกร้อนเนี่ยมันดูเหมือนจะแปรผันตรงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศพูดง่ายๆก็คือยิ่งเจริญมากก็ยิ่งร้อนมาก ซึ่งถ้าจะกล่าวไปแล้วมันก็คือ “ต้นทุนอย่างหนึ่งของการพัฒนา” นั่นไงล่ะครับ

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนและการบริโภคนั้นดูเหมือนยิ่งทำให้มนุษย์ต้อง “รังแก” สิ่งแวดล้อมอยู่เสมอๆ เพียงเพื่อแลกกับอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สวยหรูโดยหารู้ไม่ว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้กำลังย้อนกลับมาเล่นงานเราในอนาคต

ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เหมือน “ปัญหาการก่อหนี้สาธารณะ”แหละครับ เพราะคนที่สร้างปัญหา (ก่อหนี้) คือคนยุคเราที่ “ถลุง” ใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่บันยะบันยังแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมนั้นกลับไปตกกับรุ่นลูกรุ่นหลานแทน

ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมจึงเสนอให้มีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (Green Tax) ขึ้นเพื่อเป็นการสร้างต้นทุนให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้สินค้าที่มีส่วนทำลายสภาพแวดล้อมและอย่างน้อยที่สุดจะทำให้คนเหล่านี้ได้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น

กลับมาที่หนังกันต่อดีกว่าครับ, โดยส่วนตัวแล้วผมว่าหนังเรื่องนี้มีจุดเด่นอยู่ที่โปรดักชั่นและเอฟเฟคนะครับ ประเภทว่าดูแล้วเกิดจินตนาการได้เลยว่าหาก “วันสิ้นโลก” เกิดขึ้นจริงๆแล้วมันจะมีโลกเราจะมีสภาพอย่างไร

ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดการได้ดูหนังแนวนี้ก็ทำให้เราสามารถ “เผื่อใจ” หรือ “ซ้อม” ไปกับหายนะหมู่ที่กำลังจะมาถึงซึ่งดูเหมือนว่าคนทำหนังเรื่องนี้จะสอนให้เรามี “สติ” เสมอในการเอาชีวิตรอดภายใต้ภาวะคับขันต่างๆ

เอมเมอริชวางพล็อตเรื่องไว้ค่อนข้างลงตัวนะครับโดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เราได้เห็นว่าถึงที่สุดแล้วเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็ฉลาดพอที่จะเอาตัวรอดโดยไม่ยอมจำนนกับฟ้าดินแต่อย่างใดซึ่งวิธีการเอาตัวรอดจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรบกวนท่านผู้อ่านลองไปหาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ดูแล้วกันนะครับ

อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวันสิ้นโลกนั้น คือ โดยทั่วไปแล้วเรามักจะอิงอยู่กับความเชื่อทางศาสนาว่าด้วยจุดจบของโลก อย่างศาสนาฮินดูที่เชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้ทำลายล้างโลก ขณะที่ศาสนาคริสต์ก็เชื่อว่าพระเจ้านั้นเคยทำลายล้างมนุษย์มารอบหนึ่งแล้วโดยใช้น้ำท่วมโลก

เรื่องน้ำท่วมโลกตามความเชื่อของชาวคริสต์นั้นปรากฏอยู่ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 6 เรื่องเรือโนอาห์หรือ Noah‘s Ark ครับ
ทั้งนี้ในพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าพระเจ้าทรงพิโรธมนุษย์เนื่องจากมนุษย์ไม่อยู่ในศีลในธรรมอันดีประพฤติตนชั่วช้า ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงดลบันดาลให้เกิดน้ำท่วมโลกเพื่อทำลายล้างมนุษย์ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงเมตตาให้โอกาสมนุษย์ได้สืบเผ่าพันธุ์ใหม่โดยเลือก “โนอาห์” ซึ่งเป็นคนดีมีศีลธรรมนั้นต่อเรือขึ้นหนึ่งลำแล้วขนครอบครัวลงเรือรวมทั้งสัตว์จำพวกต่างๆชนิดละคู่ลงเรือไปด้วย

ตามตำนานบอกว่าเมื่อโนอาห์ต่อเรือเสร็จพระเจ้าได้บันดาลให้ฝนตกหนักถึงสี่สิบวันและเกิดน้ำท่วมแผ่นดินอีกร้อยห้าสิบวัน ส่วนเรือของโนอาห์นั้นไปค้างอยู่บนยอดเขาอารารัต (ปัจจุบันอยู่บริเวณพรมแดนตุรกี) และเมื่อน้ำแห้งโนอาห์และครอบครัวจึงรอดชีวิตและพระเจ้าได้มอบ “รุ้งกินน้ำ” ให้กับโนอาห์ไว้เป็นพันธสัญญาว่าจะไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมโลกอีกต่อไปแล้ว

ผมไม่รู้ว่าโลกใบนี้จะแตกสลายไปดังคำทำนายของชาวมายาหรือเปล่านะครับ แต่ผมเองก็ยังเชื่อลึกๆว่ามนุษย์จะสามารถธำรงเผ่าพันธุ์ของตัวเองไว้ได้ ซึ่งบางทีอาจจะมีใครคิดต่อเรือโนอาห์ขึ้นมาใหม่ก็ได้นะครับ แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า “ตั๋วขึ้นเรือ” ลำสุดท้ายเนี่ยเขาจะเอาอะไรมาวัดล่ะครับระหว่างคุณธรรมหรือเงินตรา

Hesse004

Nov 6, 2009

“เซฟทีคัท”กับ “การดูจิตตัวเอง”






ผมว่าคนเมืองสมัยนี้พยายามหาวิถีทางที่จะจัดการกับ “อารมณ์” ตัวเองในวันที่ชีวิตไม่ปกติสุข

วิถีทางที่ว่านั้นมีทั้งฝั่ง “โลกุตตระ” และฝ่าย “โลกียะ”ครับ โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะหัน “พึ่งพระ” ก็ต่อเมื่อเรารู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจหรือร้อนใจ ด้วยเหตุนี้ “พระ” ในบริบททางสังคมจึงคล้ายกับอาชีพนักจิตวิทยาไปในตัว

นอกจากพระแล้วยังมี “หมอดู” ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วในสังคมที่คนรู้สึกสับสนกับชีวิตหรือหาทางออกในชีวิตไม่ได้นั้น การหา “หมอดู” ก็เปรียบเสมือนการซื้อสินค้าที่เรียกว่า “อยากรู้อนาคต” โดยได้รับความพึงพอใจจากการบริโภคเป็นความสบายใจ หรือหากหาแล้วไม่สบายใจมากกว่าเดิมก็ต้องบริโภคสินค้าอย่าง “การสะเดาะเคราะห์” เพื่อแลกกับความสบายใจอีกรอบหนึ่ง

ผมว่าจริงๆแล้วโลกนี้ไม่มีใครช่วยใครได้ทั้งหมดหรอกครับ คนที่จะช่วยเราได้ดีที่สุดจริงๆ คือ “ตัวเราเอง” ไงล่ะครับเหมือนคำพระท่านว่า “อัตตาหิ อตตโนนาโถ” หรือ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”

“ตนแลเป็นที่พึงแห่งตน”นั้นน่าจะมีนัยยะที่มากกว่าการช่วยเหลือตัวเองนะครับ นัยยะที่ว่านี้แฝงไปด้วยเรื่องการจัดการกับอารมณ์ของตนเองทั้งเวลาสุขหรือเวลาทุกข์

อารมณ์คนเรามันก็เหมือนกับ “น้ำ” แหละครับ นั่นคือไม่ค่อยจะนิ่งสักเท่าไร มีขึ้นมีลง มีเกรี้ยวกราด มีสงบ จนบางครั้งเราก็รู้สึกตาม “อารมณ์” ตัวเองไม่ทันเหมือนกัน

“อาม่า” ท่านเคยสอนผมว่าเราควรจะมี “เซฟทีคัท” (Safety Cut) ประจำจิต เพราะจะได้รู้ว่าตอนไหนที่เราควรจะรีบตัดอารมณ์ไม่ดีออกจากจิตของเราก่อนที่ปัญหาอื่นๆจะบานปลายตามมา

ผมว่าอาม่าท่านพูดถูกครับ เพราะทุกวันนี้ปัญหาส่วนใหญ่ของมนุษย์เราคือการที่เราไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ไม่ดีของตัวเองได้

ไอ้เจ้า “อารมณ์เสีย” หรือที่เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่า “จิตตก” นั้นมันเป็นสภาวะที่ไม่มีใครอยากจะรู้สึกเท่าไรนักหรอกครับ เพียงแต่ว่าชั่วขณะนั้นเราจะสามารถ “คุมสติ” ตัวเองได้ดีหรือเปล่า

ในช่วงห้าหกปีมานี้ ผมเริ่มเห็นคนเมืองสนใจเข้าวัดปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น อาจเพราะสภาพสังคมที่บีบรัด แก่งแย่งแข่งขันในทุกเรื่องทำให้คนอยากหาที่พึ่งทางจิตหรือที่พักทางใจไว้เวลาสับสน ทุกวันนี้มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมโดย “ฆราวาส” มากขึ้นนะครับ ยกตัวอย่างเช่นหนังสือเรื่อง “เข็มทิศชีวิต” ของคุณฐิตินาถ ณ พัทลุง, หนังสือของทันตแพทย์สม สุจีรา อย่าง “ทวาร 6: ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง”, หรือหนังสือของคุณดังตฤณอย่าง “เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน” เป็นต้น

ขณะเดียวกันหนังสือธรรมะที่เขียนโดย “พระสงฆ์” ที่น่าเคารพศรัทธาก็มีอยู่หลายเล่มนะครับไล่ตั้งแต่งานคลาสสิคของท่านอาจารย์พุทธทาส หรือ คำสอนของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต)เช่นเดียวกับพระสงฆ์สายปฏิบัติสมัยใหม่อย่างหลวงพ่อมิตซูโอะ คเวสโก หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

คำสอนของทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสนั้นเป็นคำสอนที่ทำให้เรารู้สึก “สบายใจ” ครับ จริงๆแล้วไอ้คำว่าสบายใจเนี่ย หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์แล้วมันเป็นการได้รับอรรถประโยชน์ (Utility) อย่างหนึ่งของการบริโภคสินค้าที่เรียกว่า “ธรรมะ” ครับ

คำสอนในพุทธศาสนามักจะเน้นไปที่เรื่องของ “การดูจิต” ตนเองเป็นหลักนะครับ การดูจิตตนเองก็เหมือนการทำความรู้จักกับ “ตัวเอง” หรือหากเรียกแบบชาวพุทธก็คือการมี “สติ” อยู่ตลอดเวลานั่นเองครับ

เวลาที่เราเริ่มรู้สึก “จิตตก” นั้นดูเหมือนใจเราจะ “ร้อน” ผิดปกตินะครับ ไอ้ความร้อนที่ว่านี้หากไม่มี “เซฟทีคัท”ในใจไว้ตัดก่อนเนี่ยอาจนำมาซึ่งความ “ฉิบหาย” ของชีวิตได้เหมือนกัน ดังนั้นการมีสติจึงเหมือนการติดเซฟทีคัทให้กับใจของเรา

สองสามปีหลังมานี้การเจริญสติของผมได้รับคำแนะนำจาก “มิตรสหาย” หลายท่าน หนึ่งในคำแนะนำของกัลยาณมิตรเหล่านี้ก็คือ การสวดมนต์ไหว้พระให้เป็นกิจวัตร การเข้าวัดฟังธรรมหรือการหัดนั่งสมาธิเพื่อดูสติตัวเองซึ่งบ่อยครั้งผมมักจะ “หลับสมาธิ” ไปเลยก็มี

คำแนะนำต่างๆเหล่านี้ผมคิดว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตนะครับ นอกจากนี้การหัดบริหารสติด้วยการ “ดูจิต” ตัวเองตลอดเวลา ประมาณว่ารู้ว่าตอนนี้ “สุข” อยู่ “เจ็บ” อยู่ “เสียใจ” อยู่ “โกรธ” อยู่ “โมโห” อยู่ หรือ “ฟุ้งซ่าน” อยู่ ก็ทำให้รู้สึกว่าเรา “นิ่ง” ขึ้นบ้างแม้จะไม่ได้นิ่งอยู่ตลอดเวลาก็ตาม

สิ่งต่างๆเหล่านี้ผมคิดว่าเราควรจะเรียนรู้ที่จะบริหารอารมณ์หรือดูจิตตัวเองนะครับ เพราะความสุขที่แท้จริงของการใช้ชีวิตนั้นคือ “ความสงบร่มเย็น” สงบในที่นี้ไม่จำเป็นต้องอยู่แบบเงียบๆคนเดียวหรอกครับ แต่สงบน่าจะหมายถึงการที่เราพยายามไม่ “ยึดติด” อะไรมากจนเกินไปนักในชีวิต สงบในที่นี้อาจจะรวมความไปถึงการหัดรู้จัก “ปล่อยวาง”อะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันเป็น “ขื่อคา” ที่เราแบกไว้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่คิดที่จะวางลงเลย

ยิ่งอายุมากขึ้น ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่าการใช้ชีวิตให้มีความสุขนั้นเป็น “ศิลปะ” อย่างหนึ่งครับแต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้หากเราขาดซึ่งความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว บางทีความสุขที่ว่ามานี้มันก็อาจเป็นแค่ความสุขแบบ “เพลิน”ๆ เหมือนที่พระท่านว่าไว้ไงล่ะครับ

Hesse004