Oct 24, 2008

ผมแอบไปเป็นลูกศิษย์วัดไทยที่มิวนิค




ระหว่างที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ผมอยู่ที่สนามบินนานาชาติในมหานครมิวนิคครับ ผมเดินทางไปประเทศเยอรมนีตั้งแต่วันที่ 2 ตุลา ที่ผ่านมาโดยเหตุที่ไปก็เพื่อเข้าร่วมอบรมวิชาการหัวข้อเรื่อง Economics of Corruption ที่มหาวิทยาลัยพัสเซา (Passau University)

“มหาวิทยาลัยพัสเซา” ตั้งอยู่ในเมืองพัสเซา (Passau) ซึ่งเป็นเขตพรมแดนระหว่างเยอรมนีและออสเตรีย ครับ กล่าวกันว่าเมืองนี้เป็น “เมืองสามแคว” แห่งแคว้นบาวาเรีย ด้วยเหตุที่ลักษณะภูมิประเทศของพัสเซานั้นคล้ายกับสามเหลี่ยมที่ยื่นออกมาโดยเป็นจุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำดานูบ(Danube) หรือ โดนัลด์ (Donau) ตามภาษาเยอรมันและแม่น้ำอินน์ (Inn) รวมไปถึงแม่น้ำอิซ (Ilz) ครับ

ผมขออนุญาตข้ามรายละเอียดเนื้อหาการฝึกอบรมไปก่อนแล้วกันครับ เพราะมีเนื้อหาน่าสนใจเกินกว่าที่จะบรรยายภายในเอนทรี่นี้เอนทรี่เดียวได้ เนื่องจากการศึกษาเรื่อง Economics of Corruption หรือ “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” นั้นมีมิติที่มากกว่าการ “โกง”

กลับมาที่เรื่องการเดินทางดีกว่าครับ , ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสไปเยือนยุโรปครับ อย่างไรก็ตามการเดินทางไปเมืองพัสเซานั้นจำเป็นต้องมาขึ้นรถไฟที่มิวนิคก่อน

มิวนิค (Munich) หรือ มึนชึ่น (München) นับเป็นมหานครสำคัญของเยอรมนีและเป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นบาวาเรีย (Bavaria) มหานครแห่งนี้ดูไม่แตกต่างจากเมืองหลวงทั่วไปนะครับ กล่าวคือ มิวนิคยังคงเต็มไปด้วยความวุ่นวายจอกแจกจอแจของผู้คนมากหน้าหลายตา

สำหรับการเดินทางไปพัสเซานั้นดูเหมือนว่าการคมนาคมที่นี่จะสะดวกมากครับ เพราะเราสามารถซื้อตั๋วรถไฟจากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติได้ที่สถานีรถไฟกลางหรือ Haufbahnhof

ผมใช้เวลาอยู่ที่เมืองพัสเซาประมาณสิบวันครับ หลังจากเสร็จภารกิจการฝึกอบรมแล้ว ผมจึงถือโอกาส “เดินชมเมือง” ต้องใช้คำว่า “เดิน” จริงๆนะครับ เพราะคนที่นี่ชอบเดินมากๆ การเดินท่ามกลางอากาศดีๆนับว่าเป็น “ความสุขที่เรียบง่าย” อย่างหนึ่งของชีวิตนะครับ เพราะเราสามารถชื่นชมกับธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูใบไม้ร่วง (autumn) ภาพต้นไม้ที่กำลังริดใบตัวเองช่างน่าประทับใจยิ่งนักเปรียบเสมือนการปลดระวางของใบไม้ที่ทำหน้าที่มาตลอดช่วงหลายฤดูกาลที่ผ่านมา

พัสเซานับเป็นเมืองเก่าแก่ของแคว้นบาวาเรียครับ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ดูจะผูกพันกับออสเตรียมากกว่าเนื่องจากเป็นเมืองที่มีพรมแดนติดกับออสเตรีย แต่เดิมเมืองแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการค้าเกลือของบาวาเรียครับด้วยเหตุที่มีการคมนาคมขนส่งสะดวกเพราะมีแม่น้ำไหลผ่านทำให้ลักษณะภูมิประเทศของพัสเซาเอื้ออำนวยต่อการเป็นเมืองท่าทางการค้า

นอกจากนี้เมืองเล็กๆแห่งนี้ยังเคยเป็นที่พำนักของอดอฟ์ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยฮิตเลอร์และครอบครัวเคยอาศัยอยู่ในพัสเซาถึงสี่ปีครับ

สำหรับสถานที่สำคัญของเมืองพัสเซาที่น่าไปเยี่ยมชม คือ วิหารเซนต์สตีเฟนคาเธดรอล หรือ Der Passauer Stephansdom ซึ่งภายในวิหารแห่งนี้ยังเป็นที่เก็บออร์แกนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วยครับ

ขณะเดียวกันหากเดินข้ามสะพานที่เชื่อมระหว่างเขตเมืองเก่ากับเมืองใหม่เราก็จะเห็นภาพความคลาสสิคของตึกรามบ้านช่องของเขตเมืองเก่า รวมไปถึงปราสาท Die Veste Oberhaus ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองพัสเซา

ภายในเมืองเล็กๆแห่งนี้นั้นประชากรส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยพัสเซาครับ ทั้งนี้คณะที่ขึ้นชื่อของมหาวิทยาลัยพัสเซา คือคณะที่สอนเกี่ยวกับปรัชญาศาสนาและเทวนิยมซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นโรงเรียนสอนศาสนาสำหรับนักบวชของแคธอลิก

นอกจากนี้เพื่อนร่วมอบรมชาวเยอรมันบอกผมว่าโปรเฟสเซอร์เยอรมันส่วนใหญ่ชื่นชอบบรรยากาศในเมืองพัสเซาทำให้มหาวิทยาลัยพัสเซาสามารถดึงโปรเฟสเซอร์เก่งๆมาอยู่ที่นี่ได้ก็เพราะไม่ค่อยวุ่นวายแถมมีบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตงานวิชาการดีๆได้ด้วย

ช่วงวันท้ายๆที่อยู่พัสเซา ผมซื้อทัวร์ล่องแม่น้ำดานูบข้ามไปฝั่งออสเตรีย ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นประสบการณ์ที่ดีไม่น้อยนะครับ แม่น้ำดานูบเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของยุโรปรองจากแม่น้ำโวลก้า (Volga) ของรัสเซีย

ผมจากพัสเซามาด้วยความประทับใจทั้งสถานที่และผู้คนที่เป็นมิตร หลังจากนั้นผมใช้เวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์อยู่ที่ “มิวนิค” ครับ สำหรับที่มิวนิคแล้ว ความทรงจำที่นี่ของผมโดยส่วนใหญ่กลับอยู่ที่ “วัดไทยมิวนิค” ครับ

ผมรู้จักชื่อวัดไทยมิวนิค จากการเสิร์ชข้อมูลทางกูเกิ้ลครับ สาเหตุที่ต้องหาวัดเพราะผมไม่สามารถหาที่พักที่มีราคาเหมาะสมกับงบประมาณของผมได้ เนื่องจากที่พักในมิวนิคมีราคาค่อนข้างแพงมาก

เมื่อผมทราบอีเมล์ติดต่อวัดไทยมิวนิคแล้ว ผมลองเขียนจดหมายไฟฟ้า (อีเมล์) กราบนมัสการหลวงพ่อเพื่อขอความเมตตาเรื่องที่พัก หลังจากนั้นประมาณสองอาทิตย์ทางหลวงพ่อท่านให้ญาติโยมที่ดูแลเรื่องเอกสารส่งรายละเอียดการเดินทางมาพักที่วัด

ปัจจุบันวัดไทยมิวนิค มีท่านพระครูปลัดชน พระธรรมทูตที่ได้รับการอาราธนามาจำพรรษาที่วัดไทยมิวนิค ท่านพระครูหรือ “หลวงพ่อชน” เป็นพระที่เมตตาต่อคนไทยในมิวนิคนี้มากครับ ด้วยเหตุนี้เองวัดไทยจึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของคนไทยที่นี่

ตลอดเวลาที่ผมพักอยู่ในมิวนิคเกือบอาทิตย์นั้นผมมีโอกาสได้ช่วยงานวัดในฐานะลูกศิษย์วัดชั่วคราวนอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับพี่ป้าน้าอาชาวไทยที่มาอยู่ที่นี่ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่คนไทยที่อยู่ที่นี่ได้แต่งงานมีครอบครัวกับชาวเยอรมัน และหลายท่านอยู่เยอรมนีมาเกินสิบปีแล้วทั้งนั้น

ความน่าสนใจของชีวิตคนไทยในต่างแดนอยู่ที่ “การปรับตัว” ให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างทั้งผู้คน อาหาร ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมไปถึงสภาพอากาศ

พี่คนไทยหลายคนมาแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าด้วยการทำงานรับจ้างทั่วไปทั้งทำความสะอาด เป็นกุ๊กหรือเด็กเสิร์ฟตามร้านอาหาร

ทั้งนี้วัดไทยมิวนิคได้กลายเป็นศูนย์รวมของคนไทยที่นี่ไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานประเพณีไทย คนไทยในมิวนิคมักอาศัยวัดแห่งนี้เป็นจุดนัดหมาย

พี่ยิ่งลักษณ์ พี่สุรศักดิ์ ป้าสมพร ป้าเย็น พี่สุกัญญา พี่อุทัย พี่จันทร์ดี คือ กลุ่มคนไทยที่ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในมิวนิค คนไทยเหล่านี้อยู่เยอรมนีมานานหลายปี บางคนตั้งรกรากมีครอบครัวอยู่ที่นี่อย่างป้าสมพร ป้าเย็น พี่จันทร์ดี ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีมาตั้งแต่เป็นเยอรมนีตะวันตกคนไทยหลายคนเข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีเนื่องจากค่าแรงสูงเมื่อเทียบกับค่าแรงบ้านเรา

ตามตรรกะของการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานนั้นมีมูลเหตุจูงใจสำคัญคือ “ค่าจ้าง” โดยเปรียบเทียบที่สูงกว่าค่าจ้างที่บ้านเกิด อย่างไรก็ตามการย้ายถิ่นยังมีต้นทุนที่นอกเหนือจากต้นทุนการเดินทางอย่างค่าตั๋วเครื่องบิน หากแต่ยังมีต้นทุนที่ตีเป็นมูลค่าได้ยากลำบากอย่างต้นทุนของการคิดถึงบ้าน (Homesick cost) ต้นทุนการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในชาตินั้น สิ่งเหล่านี้ดูจะละเอียดอ่อนอยู่ไม่น้อยในการตีค่าต้นทุนเพื่อที่จะตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นของแรงงาน

ท้ายที่สุดรูปแบบชีวิตของคนไทยที่นี่ทำให้ผมนึกถึงคำว่า “การไปแสวงหาโอกาส” ที่ดีกว่าให้กับชีวิต หลายคนที่นี่มีความสุขกับชีวิตต่างแดนแต่หลายคนเริ่มรู้สึกว่าต้นทุนบางอย่างจากการย้ายถิ่นฐานดูจะสูงเกินกว่ารายได้หรือค่าแรงที่ได้รับแล้ว

ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเราพยายามแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นมนุษย์เรามักจะชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่จะได้รับกับสิ่งที่ต้องเสียไป เพียงแต่ว่าบางครั้งสิ่งที่ได้รับแม้ว่าอาจจะจับต้องเป็นรูปธรรมแต่สิ่งที่ต้องจ่ายนั้นกลับสูญเสียไปในเชิงนามธรรมที่มากกว่า

Hesse004