Oct 31, 2009

โศกนาฏกรรมของ “เดอะค็อป” (The Kop)





ผลการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ชิพเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างในโลกของ “ทุนวัฒนธรรมกีฬา” ได้ดีนะครับ

สามทีมบิ๊กโฟร์อย่างอาร์เซน่อล เชลซี และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ล้วนแล้วแต่กำชัยกับทีมระดับกลางๆอย่างสเปอร์ โบลตัน และแบล็คเบิรนส์ โรเวอร์ ได้ แต่สำหรับบิ๊กโฟร์ทีมสุดท้ายอย่าง “ลิเวอร์พูล” กลับฝังตัวเองอย่างหมดสภาพคาถิ่นคราเวนคอตเทจ (Craven Cottage) สนามเหย้าของ “เจ้าสัวน้อย” ฟูแล่ม

ถ้าเป็นไปเหมือนพล็อตหนัง การเอาชนะแมนยูได้ในแอนฟิลด์น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของฤดูกาลนี้เลยก็ว่าได้ เพียงแต่ว่าทั้งหมดนี้เป็น “ภาพลวงตา” เท่านั้นเองครับ

ในฐานะแฟนฟุตบอลทีมลิเวอร์พูล ผมว่าทุกคนคิดคล้ายๆกันว่า “หมดเวลา” สำหรับราฟาเอลเบนิเตซแล้ว

อย่างที่ทราบดีนะครับว่า “เดอะค็อป” (The Kop)ทุกคนเป็นกำลังใจให้กับ “เอลราฟา” เสมอมานับตั้งแต่วันที่เขาเหยียบถิ่นเมอร์ซีย์ไซด์ อย่างไรก็ตาม “ราฟา” พิสูจน์ตัวเองได้ดีแล้วว่าเขาไม่เหมาะกับฟุตบอลอังกฤษครับ

คำว่า “ไม่เหมาะ” ไม่ได้แปลว่า “ไม่เก่ง” นะครับ เพียงแต่ว่าสังเวียนแข้งพรีเมียร์ชิพเป็นสังเวียนที่เต็มไปด้วยความคาดหวังของเหล่า “แฟนบอล” และเต็มไปด้วย “ผลประโยชน์” ของนายทุนธุรกิจกีฬา

ทุกวันนี้ฟุตบอลพรีเมียร์ชิพได้กลายเป็นสินค้าออกสำคัญของอังกฤษไปแล้ว การถ่ายทอดสดและลิขสิทธิ์ต่างๆของ “บริการฟุตบอลบันเทิง” ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมภาคบริการที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเหล่านายทุนธุรกิจกีฬาซึ่งสร้างอานิสงค์ให้กับอาชีพนักฟุตบอลด้วย

“ธุรกิจกีฬา” ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ (Linkage) อาทิ ธุรกิจการรับพนันที่ถูกกฎหมาย ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์กีฬา สร้างอาชีพใหม่ๆขึ้นมาอย่างนักวิจารณ์ฟุตบอลนักพากย์ฟุตบอล มิพักต้องเอ่ยถึงการทำธุรกิจขายของที่ระลึกตั้งแต่เสื้อบอล ผ้าพันคอ สติ๊กเกอร์ พวงกุญแจ ซึ่งทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ทั้งหมดมาจาก “แฟนฟุตบอล” หรือ ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการบ้างหรือไม่เป็นทางการ (บางนัด) บ้าง

ด้วยกระแสของ “โลกาภิวัตน์” ทางฟุตบอลทำให้เราได้เห็นนักเตะต่างชาตินับร้อยรายต่างพาเหรดมาอ้วงแข้งกันในสังเวียนพรีเมียร์ชิพในทุกฤดูกาล อย่างเมื่อวานนี้ถ้าเราสังเกตให้ดีว่าทีมลิเวอร์พูลมีนักเตะอังกฤษแท้ๆคนเดียว คือ กัปตันคาราเกอร์ นอกนั้นลิเวอร์พูลเต็มไปด้วยนักเตะต่างแดนไล่ตั้งแต่ สเปน อาร์เจนติน่า บราซิล ดัตช์ กรีซ อิสราเอล นอร์เวย์ ยูเครน เป็นต้น เช่นเดียวกับผู้จัดการทีมที่เป็น “สแปนยาร์ด” (Spaniard)

โลกาภิวัตน์ฟุตบอล (Football Globalization) ทำให้เกิดกลุ่มนายทุนจากแดนไกลสนใจในธุรกิจฟุตบอลบันเทิงในเวทีพรีเมียร์ชิพ ด้วยการเชื้อเชิญของผู้จัดการแข่งขันทำให้ทุกวันนี้สโมสรฟุตบอลต่างๆในพรีเมียร์ชิพต่างเป็นที่หมายปองของเหล่านายทุนทั้งหลายไม่เว้นแม้แต่นายทุนจีน

การสถาปนา “สี่ทีมบิ๊กโฟร์” เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้ “ฟุตบอลบันเทิง” ในเวทีพรีเมียร์ชิพนั้นมีความน่าติดตามชม ทำนองเดียวกันที่สี่ทีมบิ๊กโฟร์พยายามจะไปอวดแข้งในเวทียุโรปซึ่งมีโปรโมเตอร์รายใหญ่อย่าง “ยูฟ่า” ที่สร้างทัวร์นาเมนต์ “ยูฟ่าแชมป์เปี้ยนส์ลีก”ขึ้นมาเพื่อดึงคอบอลจากทั่วโลกให้มาสนใจกับ “ลีกสูงสุด” ของยุโรป ราวกับว่าเป็นการประลองยอดฝีเท้าจากทั่วแผ่นดินยุโรป

สำหรับลิเวอร์พูลแล้ว การปรับตัวในเวทีฟุตบอลและเวทีธุรกิจฟุตบอลนับว่า “ช้า” กว่าทีมบิ๊กโฟร์อื่นๆนะครับ

“แมนยู” กลายเป็นโกลบอลแบรนด์ของฟุตบอลอาชีพไปแล้ว “เชลซี”ได้อับราโมวิชและผู้จัดการทีมมืออาชีพดีๆมี “กึ๋น” ถึงมาสร้างทีมให้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ “อาร์เซน่อล” ก็เอาดีด้วยการพัฒนาทีมเยาวชนของตนเองจนประสบความสำเร็จในทางธุรกิจฟุตบอลภายใต้การทำบอลสไตล์ “เวงเกอร์เลี่ยน” ที่เล่นบอลสวยงามเพลินตา

แต่ “ลิเวอร์พูล” กลับก้าวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกฟุตบอลสมัยใหม่ที่ว่ากันว่า “ทุน” คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทีมประสบผลสำเร็จได้ (หากรู้จักใช้ทุนนั้นให้เป็นประโยชน์) บวกกับความเป็น “มืออาชีพ” ของผู้จัดการทีมที่เข้าใจถึงลักษณะของฟุตบอลอังกฤษและฟุตบอลยุโรปที่นับวันดูจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูเหมือน “ราฟาเอล เบนิเตซ” จะด้อยกว่าทั้ง เฟอร์กี้ เวงเกอร์ และอันเชลลอตติ การอ้างว่าตัวผู้เล่นต้องไปรับใช้ทีมชาติไม่ควรเป็นเหตุผลอีกต่อไปเพราะทุกทีมก็เผชิญปัญหาเดียวกัน การอ้างว่าตัวผู้เล่นบาดเจ็บก็ไม่ใช่เหตุผลอีกเช่นกันเพราะฟุตบอลสมัยใหม่เป็นฟุตบอลที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะบาดเจ็บสูง ดังนั้น การหาผู้เล่นสำรองที่ดีพอจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการทีม และยิ่งไปกว่านั้นราฟาไม่ค่อยให้โอกาสกับ “เด็ก” ท้องถิ่นจากทีมอคาเดมี่สักเท่าไรซึ่งตรงนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่าราฟาไม่เชื่อมั่นในทีมเยาวชนของตัวเองซึ่งต่างจากเวงเกอร์หรือเฟอร์กี้อย่างชัดเจน

“ราฟาเอล เบนิเตซ” เป็นกุนซือที่มากด้วย “แทคติค” ครับแต่บางครั้งแทคติคของเขากลับทำให้นักเตะสับสนเล่นไม่เป็นไปตามธรรมชาติของฟุตบอลที่ควรจะเป็นนั่นคือ “เล่นฟุตบอลด้วยความรู้สึก” และกระหายที่จะชนะมากกว่าจะคำนึงถึงผลการแข่งขันหรือแมตช์การแข่งขันที่ยังมาไม่ถึง

บางทีวันพุธที่จะถึงนี้อาจเป็น “วันพิพากษา” ราฟาเอล เบนิเตซ อย่างแท้จริง เพราะหากทีมไม่สามารถเก็บชัยชนะจากโอลิมปิค ลียง (Olympique Lyonnais) ที่สนามสต๊าด เกอร์แลนด์ (Stade Gerland) ได้นั่นหมายถึงว่า “รายได้ก้อนโต” จากการผ่านเข้ารอบต่อไปในฟุตบอลยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีก ก็จะหายไป พร้อมๆกับโอกาสที่จะกลับมาเป็นหนึ่งในสี่เหมือนฤดูกาลที่แล้วๆมานั้นก็จะลดลงไปอีก เนื่องจากมีทีมที่พร้อมจะสอดแทรกขึ้นมาอย่าง แมนเชสเตอร์ซิตี้ สเปอร์ หรือแอสตันวิลล่า

ท้ายที่สุด "ปัญหาหนี้สิน"ของสโมสรที่สองเจ้าของสโมสรทุ่มเงินให้ราฟาซื้อตัวผู้เล่นตามแผนการทำทีมก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจทำให้สโมสรล้มละลายได้ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าลิเวอร์พูลอาจต้องขายสตาร์ดังๆอย่าง เจอร์ราด ตอร์เรส หรือเบนายูน

ทั้งหมดนี้ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหากวันนั้นมาถึงจริงๆมันคงเป็น “โศกนาฏกรรม” ในวงการฟุตบอลครั้งใหญ่ที่ทำให้เดอะค็อปหลายชีวิตต้องเสียน้ำตากับทีมที่ตัวเองรักเพราะนอกจากจะพ่ายแพ้ในเกมฟุตบอลแล้วลิเวอร์พูลอาจจะพ่ายแพ้ในโลกธุรกิจฟุตบอลอีกด้วย

ถึงวันนั้นชื่อของลิเวอร์พูลอาจจะหล่นหายไปอยู่เดอะแชมเปี้ยนชิพเช่นเดียวกับสโมสรยักษ์ใหญ่ที่พ่ายแพ้ในโลกธุรกิจฟุตบอลอย่าง นิวคาสเซิล หรือ นอตติ้งแฮม ฟอร์เรสต์ หรือหากแย่กว่านั้นอาจลงไปอยู่ลีกวันเฉกเช่นเดียวกับ “ลีดส์ ยูไนเต็ด” ก็เป็นได้นะครับ

Hesse004

Oct 24, 2009

“รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ” เสรีภาพที่จะเลือกรัก





ว่ากันว่าผู้หญิงที่เข้าใกล้ “เลขสาม” มักจะกลัวเรื่องการไม่มีคู่ครอง จนมีเพลงลูกทุ่งร้องแซวอย่าง “สามสิบยังแจ๋ว” ของคุณยอดรัก สลักใจ ที่ร้องไว้จนกลายเป็นเพลงอมตะไปแล้ว

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว โดยส่วนตัวผมกลับไม่คิดอย่างนั้นนะครับ ผมว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่าง “กังวล” เรื่องของการไม่มีคู่ครองด้วยกันทุกคนเพียงแต่ว่าใครจะกังวลมากหรือน้อยกว่ากัน

เพื่อนผู้หญิงผมหลายคนไม่ค่อยจะ “ยี่หระ” เกี่ยวกับเรื่องนี้สักเท่าไรนักพอๆกับเพื่อนผู้ชายที่ยังอาลัยอาวรณ์กับชีวิต “โสด”อยู่

จริงๆแล้วโลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากนะครับ โดยสภาพสังคมเปิดที่ทำให้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชายนั้นค่อยๆน้อยลงไป วิธีคิดประเภทผู้ชายต้องเป็น “ช้างเท้าหน้า” ก็ดูจะเป็นเรื่อง “ล้าสมัย” ไปเสียแล้ว

ด้วยเหตุนี้เองประเด็นในการเลือกคู่ครองของผู้หญิงสมัยใหม่จึงอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า “ชั้นก็น่าจะสิทธิ์เลือกผู้ชาย” ได้เหมือนกัน

ภาพยนตร์เรื่อง “รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ” หรือ BTS love story (Bangkok’s Traffic Love Story) ก็พยายามสื่อให้เห็นถึงวิธีคิดของหญิงไทยในปัจจุบัน ที่ว่าพวกหล่อนเองก็ควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ชีวิตได้เหมือนกัน

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับเรื่องที่สองของ “คุณปิ๊ง” อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ครับ หลังจากที่เคยฝากผลงานไว้ในเรื่องหมากเตะโลกตะลึง (2549)

หนังเรื่องนี้ได้คุณเคน ธีรเดช วงศ์พัวพัน และคุณคริส หอวัง มารับบทนำในเรื่องครับ

ตามธรรมเนียมเดิมนะครับ ผมขออนุญาตไม่เล่าเนื้อหาสำคัญของหนังเรื่องนี้ เพียงแต่อยากเขียนถึงข้อสังเกตที่มีต่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “เสรีภาพที่จะเลือกรัก”

ทั้งนี้ผมแอบตั้งข้อสังเกตถึงการทำหนังของกลุ่มหกหนุ่มผู้กำกับจากแฟนฉัน (2546) ว่าพวกเขาพยายามไล่ซีเควนส์ (Sequence) การสร้างหนังตามช่วงเวลาสำคัญๆของชีวิต

ทั้งหกเริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” อันเป็นการหวนรำลึกถึงอดีต (Nostalgia) ของเด็กยุค “มานีมานะปิติชูใจ” ซึ่งปัจจุบันเด็กรุ่นนี้น่าจะมีอายุระหว่างยี่สิบปลายๆไปจนกระทั่งสามสิบกลางๆครับ

หลังจากนั้นทั้งหกคนได้แยกออกมาทำหนังเดี่ยวซึ่ง “คุณเอส” คมกฤษ ตรีวิมล เล่าเรื่องความรักของเด็กมหาวิทยาลัยในหนังเรื่องเพื่อนสนิท (2548) ต่อมา “คุณต้น” นิธิวัฒน์ ธราธร ย้อนอดีตความรักของเด็กมัธยมปลายกับการตามหาความฝันทางดนตรีใน Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549) ขณะเดียวกัน “คุณย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ ได้เสนอเรื่องราวชีวิตเด็ก ม.ต้น ในหนังเรื่องเด็กหอ (2549) ผ่านมิตรภาพระหว่างคนกับผี

จะเห็นได้ว่าหนังทั้งสามเรื่องที่เหล่าผู้กำกับจากแฟนฉันแยกตัวออกมากำกับเองนั้นมีซีเควนส์หรือลำดับเวลาของการใช้ชีวิตซึ่งคนรุ่นหนึ่งสามารถเข้าถึงและสัมผัสความรู้สึกเดียวกับที่ตัวละครพบเจอได้

ในทำนองเดียวกันกับ “รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ” ที่คุณปิ๊งนำเสนอนั้นก็เป็นฉากตอนที่คนรุ่นนี้เติบโตขึ้นและเริ่มเข้าสู่วัย “เลือกคู่ครอง” แล้วโดยคุณปิ๊งเลือกที่จะเล่าเรื่องของ “เหมยลี่” สาววัยสามสิบที่กำลังเฝ้ารอผู้ชายดีๆสักคนเข้ามาเป็นคู่ชีวิต

จะว่าไปแล้วหนังเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับหนังเกาหลีอารมณ์ดีอย่าง I Wish I Had a Wife (2001) ผลงานกำกับของปาร์ค ซุง ชิค (Park Heung-shik) ที่ว่าด้วยเรื่องชายโสดวัยสามสิบที่อยากจะแต่งงานมีชีวิตครอบครัวหลังจากเห็นเพื่อนฝูงเป็นฝั่งเป็นฝาไปหมดแล้ว

น่าสนใจนะครับว่าการมี “ชีวิตคู่”นั้นเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตเลยทีเดียว เป้าหมายที่ว่านี้อาจจะแฝงไปด้วยปรัชญาเรื่องการดำรงอยู่และสืบต่อเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ซึ่งทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตัวเองเป็น “อมตะ” อยู่ตลอดเวลาเพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีลูกหลานธำรงสกุลตัวเองไว้

ทั้งนี้หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว การมีชีวิตคู่หรือ “การแต่งงาน” นั้นเปรียบเสมือนเป็นผลผลิตของการบริโภคสินค้าที่เรียกว่า “รัก” ครับ

เหมือนที่ผมเคยเขียนไปหลายครั้งแล้วว่าถ้าเราเอาวิธีคิดของนักเศรษฐศาสตร์มาอธิบายความรักของมนุษย์นั้น นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักจะหยิบเรื่อง “ตลาด” ซึ่งมีผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้ามาเป็นเครื่องมืออธิบาย

แน่นอนครับว่าการที่เราจะบริโภคสินค้าอะไรสักอย่างหนึ่งนั้นเราต้องมี “เสรีภาพ”ในการที่จะเลือกบริโภคก่อน (Free to Choose) ซึ่งสินค้าที่เรียกว่า “รัก” ก็เช่นเดียวกันควรเป็นสินค้าที่มาจาก “ความเต็มใจ”ที่จะบริโภคและผลิตของคนสองคนก่อน

การที่คนสองคนจะมาลงเอยเป็น “คู่รัก” หรือเป็น “แฟน” กันนั้นส่วนหนึ่งมันเกิดจาก “กลไกตลาดรัก” ทำงานแล้วประสบผลสำเร็จครับ เพียงแต่ว่าเวลาที่คนมันเลิกรา ร้างรักกันไปแล้วส่วนหนึ่งก็ต้องโทษว่าไอ้กลไกตัวนี้มันล้มเหลวเหมือนที่กลไกตลาดล้มเหลว (Market Failure) จนไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นอธิบายเหตุของกลไกตลาดล้มเหลวไว้หลายประการนะครับ แต่สาเหตุประการหนึ่งที่น่าจะอธิบายเรื่อง “การล้มเหลวของกลไกตลาดรัก” ได้ดีที่สุดคือเรื่องความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร (Asymmetric Information)

ใช่แล้วครับ ระหว่างที่รักกันเป็นแฟนกันนั้น เรามักจะปกปิดเรื่องไม่ใคร่จะดีของตัวเองไว้และมาเปิดเผยทีหลังก็เมื่อ “ลงเอย” เป็นคู่ผัวตัวเมียกันแล้ว อย่างที่เพื่อนสนิทคนหนึ่งบอกกับผมว่า “อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น หลังจากแต่งงานกันแล้ว”

ผมว่าหลายคู่ตัดสินใจหย่าร้างกันก็เพราะการที่ต่างฝ่ายต่างไม่เปิดเผยความเป็นตัวตนที่แท้จริงให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้จึงทำให้การตัดสินใจที่จะเลือกบริโภคสินค้ารักหรือลงเอยด้วยการใช้ชีวิตคู่นั้นผิดไป เข้าทำนองปัญหาทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง “เลือกผิดคน” หรือ “เลือกคนผิด” (Adverse Selection) ครับ

จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่กำลังมีความรักหรือกำลังค้นหาความรักอยู่นะครับ เพราะอย่างน้อยมันแสดงให้เห็นถึง “เสรีภาพ”ของหญิงชายยุคนี้ที่เลือกจะรักใครด้วยตัวของตัวเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเกิดปัญหา Adverse Selection ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หรือเปล่านั้นก็สุดแล้วแต่คนที่เลือกนะครับ

Hesse004

Oct 19, 2009

จาก Conflict of Interest สู่การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย





ในการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ครั้งที่ 5 ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาในงานดังกล่าวด้วยครับ สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ก็เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และเปิดโอกาสให้เหล่านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันต่างๆเสนอผลงานทางวิชาการที่ตนเองสนใจ ทั้งนี้ทางผู้จัดได้แบ่งกลุ่มสาขาเศรษฐศาสตร์ออกเป็นหลายแขนง โดยส่วนตัวผมเองสนใจที่จะเข้าฟังใน “กลุ่มเศรษฐศาสตร์สถาบันและธรรมภิบาล” ครับ ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับ “การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย”

สำหรับหัวข้อที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายนั้น ผู้นำเสนอเป็นอาจารย์และศิษย์จากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุลและคุณต่อภัสสร์ ยมนาค โดยหัวข้อที่ทั้งสองท่านนำเสนอในวันนั้น คือ “ข้อสังเกตบางประการสำหรับลักษณะและความหมายของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ครับ

อย่างที่ทราบนะครับว่าช่วงระหว่างที่รัฐบาลของคุณทักษิณบริหารประเทศนั้นมีข้อสังเกตรวมไปถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ “การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” อยู่หลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นนโยบายกองทุนหมู่บ้านละล้าน, นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค, การเซ็นสัญญา FTA ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย, การให้ EXIM BANK อนุมัติเงินกู้ให้รัฐบาลพม่า หรือ การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ในธุรกิจโทรคมนาคม เป็นต้น

ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาเราจะคุ้นชินกับการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองขี้โกง ข้าราชการขี้ฉ้อผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเป็นหลัก จนอาจกล่าวได้ว่า ส.ส. ไปจนกระทั่งรัฐมนตรีนั้นส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับการทำธุรกิจกับรัฐด้วยกันทั้งนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง”ครับ

อย่างไรก็ตามในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณได้เกิดกลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาแทนที่กลุ่มทุนเดิมที่เคยหากินอยู่กับการผูกขาดงานประมูลต่างๆของรัฐ โดยกลุ่มทุนใหม่ที่ว่านี้มาพร้อมกับความพยายามที่จะผลักดันนโยบายต่างๆผ่านทางฝ่ายบริหารและพยายามจัดวาง “สมดุลแห่งผลประโยชน์” (Balance of Benefit) ระหว่างผลประโยชน์ของกลุ่มทุนตัวเองกับผลประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ครั้งหนึ่งคุณทักษิณเคยกล่าวในทำนองว่า “การบริหารประเทศก็เหมือนกับการบริหารบริษัท”

จริงๆแล้วการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย (Policy Corruption or Structural Corruption) นั้นยังไม่มีนักวิชาการท่านใดออกมาให้คำจำกัดความที่ชัดเจนมากเท่าไรนะครับ อย่างไรก็ตามในทัศนะของศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร มองว่าการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายนั้นเป็นการทุจริตที่ถูกต้องตามกฎหมายที่เกิดจากฝ่ายการเมืองตัดสินใจโครงการหรือดำเนินมาตรการใดๆแล้วส่งผลต่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องโดยไม่อาจเอาผิดทางกฎหมายได้ ซึ่งท่านอาจารย์ผาสุกมองว่าการคอร์รัปชั่นประเภทนี้เกิดขึ้นจากการทับซ้อนของผลประโยชน์ หรือ Conflict of Interest นั่นเองครับ

ในงานวิจัยของอาจารย์นพนันท์และคุณต่อภัสสร์ได้พยายามหยิบชุดความคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์สถาบันและแนวคิดทางรัฐศาสตร์มาอธิบายเรื่องคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งชุดความเหล่านี้ประกอบไปด้วยเรื่องหน่วยงานราชการสมัยใหม่ (Public Office), เรื่องผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interest), เรื่องกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups), เรื่องการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic rent seeking) และเรื่องการคอร์รัปชั่นทางการเมือง (Political Corruption)

จะว่าไปแล้วแนวทางการศึกษาและอธิบาย “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” (Economics of Corruption) นั้นสามารถอธิบายได้อย่างน้อยสองแนวทางนะครับ

แนวทางแรกนั้นเป็นแนวทางที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหยิบหลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคเรื่องทฤษฎีนาย-บ่าว (Principal-Agent Theory) มาอธิบายและยังพัฒนาไปสู่การหาระดับการคอร์รัปชั่นที่เหมาะสมในสังคมรวมไปถึงการคำนวณต้นทุนในการควบคุมการคอร์รัปชั่น ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่าการคอร์รัปชั่นนั้นเปรียบเสมือน “มลภาวะ” ที่ไม่มีวันจะทำให้หมดไปได้เพียงแต่จะหาระดับที่เหมาะสมและควบคุมมันไว้ได้อย่างไร

นอกจากนี้ชุดความคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอีกชุดหนึ่งได้พยายามหาสาเหตุ (Causes) หรือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นรวมไปถึงการคำนวณถึงผลกระทบ (Consequences) จากการคอร์รัปชั่นซึ่งงานส่วนใหญ่ศึกษาโดยนักเศรษฐศาสตร์คอร์รัปชั่นสายมหภาคที่มีความชำนาญในการสร้างโมเดลประมาณการผลกระทบของการคอร์รัปชั่น

ขณะเดียวกันแนวทางการศึกษาคอร์รัปชั่นแนวทางที่สองนั้นเป็นแนวทางของนักเศรษฐศาสตร์ที่มักเรียกตัวเองว่า “กระแสรอง” ครับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสำนักคิดเศรษฐศาสตร์สถาบัน (Institutional Economics) และสำนักคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) โดยในเมืองไทยนั้น กลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์เชิงสถาบันมีฐานที่มั่นอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (สำนักท่าพระจันทร์) ส่วนกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมีฐานที่มั่นอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา (สำนักสามย่าน)

ทั้งนี้แนวทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของสำนักสามย่านนั้นพยายามหาหลักเกณฑ์ในการจำแนกลักษณะของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายโดยพิจารณาจากเรื่องความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมหรือ Conflict of Interest เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็ยังยึดโยงกับเรื่องการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic rent seeking) ที่เป็นฐานคิดดั้งเดิมของการศึกษาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่นซึ่งนำโดยนักเศรษฐศาสตร์หญิงอย่าง แอน โอ ครูเกอร์ (Ann O. Kruger)

นอกจากนี้เกณฑ์ในการจำแนกลักษณะการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายยังมองไปที่เรื่องของการใช้กระบวนการทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรม (Political legitimacy) ซึ่งเกณฑ์ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจได้ชัดเจนว่า “ทำไมนักธุรกิจส่วนใหญ่จึงต้องลงมาเล่นการเมือง”

อย่างไรก็ตามการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายยังต้องพิจารณาถึงการกระจายตัวของผู้รับประโยชน์ (Rent Diversification) อีกด้วยครับ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายไม่ได้เป็นการ “ขโมย” เงินเข้ากระเป๋าใครคนใดคนหนึ่งเพียงอย่างเดียว หากแต่มันได้กระจายผลประโยชน์ไปยังกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งลักษณะนี้เองที่ทำให้เราสามารถเข้าใจได้อีกเช่นกันว่า “ทำไมชาวบ้านส่วนใหญ่ถึงเสพติดกับนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณ”

สุดท้ายการพิจารณาหลักเกณฑ์การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายนั้นเราอาจจะต้องดูการสร้างขึ้นหรือการรักษาไว้ซึ่งค่าเช่าทางเศรษฐกิจครับ ซึ่งตรงนี้ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้รัฐบาลประชานิยมทั้งหลายพยายามครองอำนาจให้ได้นานที่สุด

จะว่าไปแล้วการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายนั้นมีพัฒนาการมาจาก Conflict of Interest ครับ ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องคอร์รัปชั่นมองคล้ายๆกันว่าการคอร์รัปชั่นทุกกรณีเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เองการป้องกันและควบคุมการคอร์รัปชั่นได้ดีที่สุด คือ การแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม

งานวิจัยชิ้นนี้สรุปไว้น่าสนใจว่ารูปแบบการทุจริตของสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามความเหลื่อมล้ำและความก้าวหน้าของสังคมครับ

นักเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสองท่านจากสำนักสามย่านมองว่าหากระดับความเหลื่อมล้ำในสังคมมีน้อยขณะที่ระดับความก้าวหน้าของสังคมก็ยังพัฒนาไปไม่มากเท่าไร การคอร์รัปชั่นก็ยังเป็นเพียงแค่การยักยอกเงินหลวง ติดสินบนเจ้าหน้าที่ หรือเอาทรัพย์สินของหลวงไปใช้ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้เป็นเพียงการคอร์รัปชั่นระดับเล็กๆหรือ Petty Corruption ครับ

และแม้ว่าสังคมยังไม่พัฒนาไปมากนักแต่ปรากฏว่าเกิดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น รูปแบบการทุจริตก็จะเปลี่ยนไป เช่น เริ่มมีการจับจองสัมปทานให้กับตัวเองและพวกพ้อง มีการฮั้วประมูลงานหลวง เกิดการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือใช้อิทธิพลข่มขู่ เป็นต้น ซึ่งการคอร์รัปชั่นรูปแบบนี้เริ่มแพร่หลายในยุคที่สังคมไทยเต็มไปด้วยมาเฟียหรือเจ้าพ่อท้องถิ่นครองเมือง

อย่างไรก็ตามหากสังคมก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่ทันสมัยแล้วแต่ยังมีระดับความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมอยู่มาก รูปแบบการคอร์รัปชั่นก็จะเริ่มเข้าสู่การแสวงหาประโยชน์จากการใช้ข้อมูลภายใน (Insider) เช่น รู้ว่าจะตัดถนนเส้นไหนก็จะรีบไปกว้านซื้อที่ไว้เก็งกำไร, มีการบิดเบือนกฎระเบียบของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง เช่น แก้ไขกฎหมายบางอย่างเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงภาษีที่ควรจะต้องจ่ายให้รัฐ, มีการยักย้ายถ่ายเทฟอกเงินอย่างสลับซ้อน รวมไปถึงเกิดองค์กรอาชญากรรมขึ้นมาควบคุมดูแลจัดสรรผลประโยชน์จากการคอร์รัปชั่น เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมองว่ารูปแบบการทุจริตลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้นะครับโดยเฉพาะเมื่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่รวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองและอาศัยกติกาที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” เข้ามาในตลาดการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเองตลอดจนสร้างสมดุลแห่งผลประโยชน์ใหม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งทางการเมือง

และท้ายที่สุดหากสังคมที่พัฒนาทันสมัยมากขึ้นและมีระดับความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมลดลงแล้ว การคอร์รัปชั่นก็จะเป็นไปในรูปแบบของการแข่งขันนโยบายที่หวังผลทางการเมืองเป็นหลัก ซึ่งการคอร์รัปชั่นในลักษณะนี้เราจะพบได้ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรป อเมริกา หรือ ญี่ปุ่น เป็นต้นครับ

ในฐานะที่ผมสนใจเรื่องการคอร์รัปชั่นแต่ไม่คิดที่จะเอาดีด้วยการคอร์รัปชั่น ผมคิดว่าแนวทางการอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสองจากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬานั้นน่าจะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ “ทักษิณกินเมือง” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ดีนะครับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมว่าการที่เราจะใช้ “วิชา” เพื่อกำจัด “อวิชชา” หรือความไม่รู้ทั้งปวงได้นั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการไม่มีอคติกับใครคนใดคนหนึ่งนะครับ

Hesse004

Oct 12, 2009

Que Sera, Sera กับ นิทานหิ่งห้อยของเฉลียง





ไม่กี่วันมานี้มีโฆษณาในเมืองไทยอย่างน้อยสองชิ้นที่ได้รับการกล่าวถึงในทางชื่นชม โฆษณาชิ้นแรกเป็นโฆษณาเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งที่เปิดตัวคุณเพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกที่เป็น “ตำนานอมตะ”ขวัญใจแฟนภาพยนตร์ไทย

สำหรับโฆษณาอีกชิ้นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมาก คือ โฆษณาของบริษัทประกันชีวิตชื่อดังที่มักจะออกสปอตโฆษณากินใจผู้ชมจนน้ำหูน้ำตาไหลกันมาแล้ว และโฆษณาชิ้นล่าสุดนี้ก็ไม่ได้ทำให้แฟนคอหนังโฆษณาผิดหวังเนื่องจากหลังสปอตตัวนี้ถูกยิงออกมาทำให้หลายคนถึงกับ “อึ้ง” ไปตามๆกัน

การสร้างสรรค์งานโฆษณาที่สามารถสร้าง “อารมณ์ร่วม” ให้กับผู้ชมได้นั้นนับเป็นความสุดยอดของเหล่าครีเอทีฟก็ว่าได้นะครับ

โฆษณาของบริษัทประกันชีวิตชิ้นนี้มีชื่อว่า “Que Sera Sera” ครับ โดยงานชิ้นนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์ของบริษัทสุดยอดโฆษณาแห่งยุคอย่าง Ogilvy & Mather Advertising (Thailand)

ความพิเศษของโฆษณาชิ้นนี้อยู่ที่การนำเด็กๆกว่า 30 คนมาร่วมกันร้องเพลง Que Sera Sera (Whatever will be, will be) อย่างไรก็ตามเด็กในโฆษณาชิ้นนี้เป็นเด็กพิเศษที่เกิดมามีอวัยวะไม่ครบสามสิบสองเหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็กเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เรารู้สึก “ซึ้งและสะเทือนใจ”

ไม่น่าเชื่อว่าเวลาเพียงสองนาทีของโฆษณาชิ้นนี้จะทำให้ใครหลายคนน้ำตาไหลได้โดยไม่รู้ตัว นับว่างานชิ้นนี้มีพลังอย่างมากนะครับ

น่าสนใจว่าทีมครีเอทีฟของงานชิ้นนี้เลือกเพลง Que Sera Sera (Whatever will be, will be) มาใช้ตีม (Theme) หลักของเรื่องแม้ว่าเนื้อหาของเพลงนี้จะดูเรียบง่ายแต่ก็แฝงไปด้วย “ปรัชญา” ที่ลึกซึ้ง

Que Sera Sera Que Sera Sera (Whatever will be, will be) เป็นผลงานการทำดนตรีของเจย์ ลิฟวิงสตั้น (Jay Livingston) ส่วนเนื้อเพลงนั้นได้ เรย์ อีแวนส์ (Ray Evans) มาช่วยเขียนให้

เพลงๆนี้ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1956 ครับโดยฉบับออริจินัลนั้นได้นักร้องสาวนามว่า ดอริส เดย์ (Doris Day) มาเป็นผู้ขับร้องในฉากภาพยนตร์คลาสสิคเรื่อง The Man Who know Too Much (1956) ผลงานการกำกับของ“อัลเฟรด ฮิทคอกช์” (Alfred Hitchcock) ยอดผู้กำกับหนังแนวลึกลับสยองขวัญและเพลงนี้เองก็ได้รับรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีอคาเดมี่อวอร์ด (Academy Award) หรือรางวัลออสการ์นั่นเองครับ

กล่าวกันว่า Que Sera Sera Que Sera Sera (Whatever will be, will be) กลายเป็นตำนานเพลงที่อยู่ในกระแสวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) ของศตวรรษที่ 20 มีการนำไปโคเวอร์ใหม่หลายเวอร์ชั่น หลายภาษา และเมื่อพูดถึงภาษาแล้วมีคำถามว่าเพลงนี้เป็นเพลงภาษาใดกันแน่ เพราะมีทั้งฝรั่งเศส อิตาเลียน โปรตุกีส หรือ สเปน แต่ท้ายที่สุดเพลงนี้เป็นภาษาอังกฤษที่มีคนแต่งเพลงเป็นชาวอเมริกันครับ

จะว่าไปแล้วเพลงๆนี้เป็นเพลงที่มีเนื้อหาแบบเด็กๆแต่สามารถสอนใจผู้ใหญ่ให้รู้จักการมองโลกว่า “โลกนี้มันไม่มีอะไรแน่นอนหรอก” บางทีไอ้ที่เราวาดหวังไว้มันอาจไม่ได้ดั่งหวังก็ได้ เพราะอนาคตคือสิ่งที่มองไม่เห็น (The future's not ours, to see) ดังนั้น “อะไรจะเกิดก็ให้ปล่อยมันเกิด” (Whatever will be, will be)

โดยส่วนตัวผมมองว่าเพลงนี้นอกจากจะสอนเด็กได้แล้วก็ยังเป็นเครื่องเตือนสติ “ผู้ใหญ่” ได้เหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะเราๆที่เป็นผู้ใหญ่มักจะไม่ค่อย whatever will be, will be กันสักเท่าไร ซึ่งหากอธิบายตามหลักพุทธศาสนาแล้วไอ้เจ้า whatever will be, will be นี่ก็คือ การปลดปลง ปล่อยวางนั่นเอง

เขียนถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงเพลงไทยเพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาแบบเด็กๆแต่สามารถสอนใจผู้ได้อย่างเพลง “นิทานหิ่งห้อย” ของวงเฉลียงไงล่ะครับ

เพลงนิทานหิ่งห้อย อยู่ในอัลบั้มเอกเขนก (2530) ของเฉลียงโดยได้คุณประภาส ชลศรานนท์ มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับอัลบั้มชุดนี้

“นิทานหิ่งห้อย” พูดถึงการสอนเด็กให้เข้าใจว่า “ความงามที่แท้จริง” คืออะไร และถ้าท่านผู้อ่านจับวรรคทองของเพลงนี้ได้ก็คงพอจะเข้าใจว่าคนเขียนเพลงนี้ต้องการสื่อสารอะไรกับคนฟัง

“อย่าขังความจริงที่เห็น อย่าขังความงาม” เป็นหัวใจของเพลงนี้เลยก็ว่าได้นะครับ เพราะหากเรายอมรับความจริงได้แล้ว ความงดงามที่มีอยู่ย่อมปรากฏ

โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าธรรมชาติได้มอบความงามมาให้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะมองมันที่มุมไหนเท่านั้นเอง

จริงๆแล้วโลกของผู้ใหญ่กับโลกของเด็กนั้นต่างกันที่ช่วงอายุห่างกัน ขณะเดียวกันมุมมองและประสบการณ์ชีวิตก็เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็น “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” แม้ว่าวัยผู้ใหญ่จะเต็มไปด้วยประสบการณ์ ความลึกซึ้ง มุมมองต่อการใช้ชีวิตเพราะอาบน้ำร้อนมาก่อน
แต่สิ่งที่วัยผู้ใหญ่อย่างเราๆขาดหายไป คือ “ความฝันและจินตนาการ” ขณะที่วัยเด็ก คือ วัยที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะถูกพรากไปตามวันเวลาที่เติบโตขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่คนไหนจะยังหลงเหลือความเป็นเด็กมากน้อยแค่ไหน

ท้ายที่สุดผมคิดว่าแม้ว่าเราจะเติบใหญ่ ผ่านร้อนผ่านฝนมาหลายฤดูแล้ว เอาเข้าจริงๆบางครั้งเราอาจจะยังไม่เข้าใจว่า “โลก” และ “ชีวิต” มากพอว่ามันคืออะไร แต่เอ! หรือว่าต้องให้เด็กๆมาสอนเราร้องเพลงQue Sera, Sera กับ นิทานหิ่งห้อยหรือเปล่าล่ะครับ

Hesse004