Sep 28, 2009

คอร์รัปชั่นในภาษาต่างๆ





ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่าจริงๆแล้ว “Corruption” ในภาษาอังกฤษนั้นมีความหมายหลายอย่างนะครับ Corruption ยังสามารถแปลว่า “เน่าเปื่อย ผุพัง” ก็ได้ครับอย่างไรก็ตาม “คอร์รัปชั่น” ในความเข้าใจของเราก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการทุจริตฉ้อฉล ครับ ด้วยเหตุนี้เองผมจึงมีความอยากรู้เกี่ยวกับคำว่า “คอร์รัปชั่น” ในภาษาต่างๆว่าเขาอ่านและเขียนคำๆนี้ว่าอย่างไรกันบ้าง

เริ่มจาก “ภาษาไทย”ใกล้ตัวเราก่อนแล้วกันนะครับ ภาษาไทยของเราเรียกการคอร์รัปชั่นว่า “การทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ” ชื่อคอร์รัปชั่นในภาษาของเราดูเป็นทางการและเห็นภาพทั้งในแง่การกระทำและผู้กระทำผิด ทั้งนี้ก่อนเราจะใช้คำว่า “ทุจริตประพฤติมิชอบ” นั้นสมัยโบราณพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นถูกเรียกในเชิงประจานว่า “ฉ้อราษฏร์” และ “บังหลวง” ครับ

นอกจากนี้คำต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นของบ้านเรายังมีอีกหลายคำ อาทิ “กิน” ซึ่งก็ยังแยกออกเป็น “กินตามน้ำ” กับ “กินทวนน้ำ” คำว่า “กินตามน้ำ” เนี่ย ชื่อก็บอกแล้วนะครับว่าไม่ต้องออกแรงมากแค่ปล่อยหรือรู้เห็นว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบเกิดขึ้น ขณะที่ “กินทวนน้ำ” นั้นผู้กินต้องออกกำลังมากหน่อยเนื่องจากต้องขัดขวางไม่ให้ใครมาแย่ง “ของกิน” หรือ “ชิ้นเค้ก” ตัวเอง

ขณะเดียวกันคำว่า “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ก็เป็นอีกคำที่เอาไว้ใช้เรียก “เงินสินบน” ครับ ส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินเรื่อง “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” เวลาเราไปติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานราชการทั้งหลายแล้วเราต้องการความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ เราจึงจำเป็นต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้ให้บริการ

จะว่าไปแล้ว “ค่าน้ำร้นน้ำชา” ได้กลายเป็น “เงินพิเศษ” บางวงการเรียก “ค่าคอมมิชชั่น”ครับโดยเฉพาะวงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีงบประมาณมหาศาล ค่าคอมมิชชั่นย่อมสูงตามความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ และหากอยู่ในวงการศึกษาเงินพิเศษเรามักจะเรียกว่า “ค่าแป๊เจี๊ย” ครับ อย่างไรก็ตามการจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา เงินพิเศษ หรือ แป๊เจี๊ย นั้นไม่ต้องออกใบเสร็จรับเงินนะครับ เพราะขืนใครอุตริออกใบเสร็จรับเงินมีอันได้ติดคุกเป็นแน่

ค่าน้ำร้อนน้ำชาเหล่านี้ทำให้ข้าราชการผู้ให้บริการมีความกระตือรือร้นและมีแรงจูงใจในการให้บริการประชาชนมากขึ้น แต่บ่อยครั้งผู้ให้บริการเหล่านี้มักจะรีบร้อนมูมมามกินน้ำร้อนน้ำชาจนโดนน้ำร้อนน้ำชาลวกปากเอาก็มี

คำว่า “สินบน” ในภาษาไทยยังรวมไปถึงคำโบราณอย่าง “ส่วย” ซึ่งเป็นการเก็บรายได้ชนิดหนึ่งของรัฐตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแล้วครับ แต่ปัจจุบัน “ส่วย” ถูกใช้เรียก “รายได้” นอกระบบที่เหล่าเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะ “ตำรวจ” เรียกเก็บจากธุรกิจร้านค้า หาบเร่แผงลอย คนขับรถบรรทุก รวมไปถึงอาบอบนวด แม้ว่าบางครั้งจะพยายามเรียกคำพูดเหล่านี้ให้ดูหรูว่า “ค่าคุ้มครอง” ก็ตาม

โดยทั่วไปแล้วการจ่ายเงินสินบนนั้นจะกระทำกันอย่างลับๆ ครับ จึงทำให้ไม่มีใบเสร็จรับเงิน แต่คนเก็บส่วยจะมี “สมุดจดโพยลูกค้า” ว่าใครที่ยังไม่จ่ายเงินสินบนด้วยเหตุนี้เองเงินสินบนจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เงินใต้โต๊ะ” ครับ แม้ว่าในชีวิตจริงจะไม่มีใครยอมเอาเงินมาจ่ายเป็นสินบนใต้โต๊ะก็ตาม

พฤติกรรมการทุจริตประพฤติมิชอบก็มีชื่อเรียกอีกเช่นกันครับ โดยเฉพาะในวงการรับเหมาก่อสร้างประมูลงานของรัฐนั้น คำว่า “ฮั้ว” ซึ่งเป็นคำจีนแต้จิ๋วนั้นถูกนำมาใช้บ่อยมาก โดยรากศัพท์แล้ว “ฮั้ว” แปลว่า “สามัคคี” ทำนองเดียวกับคำว่า “ลงแขก” ครับ แต่ไปๆมาๆคำว่า “ฮั้ว” กลายพันธุ์เป็นพฤติกรรมที่ผู้รับเหมากับข้าราชการขี้ฉ้อบางคนร่วมกันรวมหัวโกงหลวงครับ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็น “คำไทย” ที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นครับ คราวนี้ลองมาดูคอร์รัปชั่นในภาษาต่างๆกันบ้างว่าเขาเรียกคำๆนี้ว่าอย่างไรกันครับ

เริ่มจากภาษาลาวครับ ชาวลาวนั้นเรียกพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นว่า “กินสินบน” ครับ จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับภาษาไทยของเราครับ ส่วนในภาษาเขมรนั้นเรียกเงินผิดกฎหมายที่มาจากการโกงนั้นว่า “มิน สแร๊บแบ๊บ” (Min Srabcbab) ครับ

ขณะที่ภาษามาเลย์เรียกเงินสินบนหรือค่าน้ำร้อนน้ำชาว่า “ดูอิท โกปี๊” (Duit Kopi) คำว่า “โกปี๊” แปลว่า “กาแฟ” นั่นเองครับ ผมแอบตั้งข้อสังเกตส่วนตัวว่า “เครื่องดื่ม” ทั้งน้ำชาและกาแฟดูจะมีส่วนเกี่ยวข้องเงินสินบนที่ผิดกฎหมาย ทั้งๆที่นักการเมืองสมัยนี้มักนิยมดื่มไวน์ชั้นดีแต่ก็ไม่มีใครยักเรียกเงินสินบนว่า “ค่าไวน์”

ส่วนภาษาตากาล๊อกของชาวฟิลิปปินส์นั้นเรียกคนขี้โกงว่า “บัวย่า” (Buaya) ซึ่ง “บัวย่า” แปลอีกอย่างว่า “จระเข้” ก็ได้ครับ ดังนั้น คำๆนี้เปรียบเปรยว่าคนขี้ฉ้อนั้นคล้ายกับ “จระเข้” ทั้งนี้การเปรียบเทียบคนคดโกงกับสัตว์นั้น ภาษาฟิจิ (Fijian) ก็เรียกพวกขี้โกงว่า “คากาคาก้า” (Cakacaka) ซึ่งหมายถึง “หมาจิ้งจอก” นั่นเองครับ

กลับไปดูศัพท์คอร์รัปชั่นในแดนชมพูทวีปกันบ้างครับ ภาษาบังคลาเรียกเงินที่มาจากการฉ้อฉลแล้วสร้างความสุขนั้นว่า “กูชิโกร่า” (Kushi Kora) ครับ ส่วนภาษาฮินดูสถาน (Hindustani) เรียกการขูดรีดหรือเก็บค่าคุ้มครองจากมาเฟียหรือตำรวจว่า “ฮาฟต้า” (Hafta) และในภาษาเปอร์เซียนนั้นเรียกเงินค่าของขวัญใต้โต๊ะว่า “บักชีท” (Baksheesh) ครับ

คราวนี้ลองดูภาษาเขียนกันบ้างครับว่า “คอร์รัปชั่น” ในแต่ละภาษานั้นเขียนกันอย่างไรบ้าง ภาษาดัตช์นั้นสะกดคอร์รัปชั่นคล้ายๆกับภาษาอังกฤษครับโดยชาวดัตช์สะกดคอร์รัปชั่นว่า “Corruptie” ส่วนภาษาสเปน (Español) นั้น คอร์รัปชั่นสะกดอย่างนี้ครับ “Corrupción” ขณะที่ภาษาโปรตุกีส (Português) สะกดว่า “Corrupção” ครับ ในภาษาโปลิช (Polski) นั้นสะกดคอร์รัปชั่นด้วยตัว K ครับโดยชาวโปลเขียนคำว่าคอร์รัปชั่นอย่างนี้ครับ “Korupcja” เช่นเดียวกับภาษาออสเตรียน(Austrian)ที่เขียนคอร์รัปชั่นว่า “Korrupció” ครับ

อย่างไรก็แล้วแต่ไม่ว่าคอร์รัปชั่นในชาติใดภาษาใดจะเรียกขานหรือสะกดแตกต่างกัน แต่ความหมายของคอร์รัปชั่นในความรู้สึกของคนทุกคนย่อมหนีไม่พ้นคำว่า “ขี้โกง” และก่อให้เกิดผลร้ายกับสังคมใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

1 comment:

Pojpanus said...

อืม น่าคิดครับ...
คำว่า corrupt ยังแปลได้อีกว่า ทำให้เสื่อมทราม ทำให้ด่างพร้อย ทำให้เลวลง ซึ่งก็สะท้อนผลของการ "คอร์รัปชั่น" ได้ดีทีเดียว และยังไปคล้อยๆกับเสียงของคำว่า collapse ที่หมายถึงพังทลาย ล่มสลาย ซะอีกด้วย...
ที่อเมริกา มีแสลงเรียกการ "คอร์รัปชั่น" ว่า rip off ซึ่งก็หมายความว่า ขโมย (ไปจากเรา)ดีดีนี่เองครับ อย่างนี้ถ้าจะเรียกพวกนักการเมืองที่คอร์รับชั้นว่า "ไอ้พวกหัวขโมย" ก็คงจะไม่ผิด ใช่ไหมครับ?