Jul 30, 2007

โลกรื่นรมย์ของ Forrest Gump



นวนิยายของนาย Winston Groom ได้ทำให้ชื่อของ Forrest Gump ดังกระฉ่อนเมื่อ 13 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามเวลาเราพูดถึง Forrest Gump ภาพแรกที่เรานึกถึง คือ Tom Hanks ในบุคลิกที่ใสซื่อ จริงใจ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แต่บุคลิกเหล่านี้คนส่วนใหญ่ในสังคมทุนนิยมเมือง กลับมองว่าเป็นเรื่องของความทึ่ม บื้อ โง่ รวมไปถึงปัญญานิ่ม ผมไม่แน่ใจว่า Groom ต้องการจะสื่ออะไรผ่านตัวละครอย่าง Forrest Gump แต่ที่แน่ๆ Forrest Gump ในภาคของภาพยนตร์ก็คว้ารางวัลออสการ์มาครองได้เมื่อปี 1994ในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี

Forrest Gump(1994) กำกับโดย Robert Zemeckis ซึ่งได้ทำให้ภาพของ Tom Hanks กลายเป็นภาพของ Forrest Gump ไปอย่างสมบูรณ์แบบ Zemeckis สร้างหนังเรื่องนี้โดยเลือกถ่ายทอดเรื่องราวของอเมริกันชนที่มีชีวิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงไม่นาน โดยเริ่มต้นเรื่องราวใน Green Bowl เมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในรัฐ Alabama
เด็กชาย Forrest Gump เป็นเด็กที่เกิดในช่วงที่สงครามใกล้สงบแล้ว ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถูกเรียกว่า Baby Boom Era นั่นหมายถึงช่วงที่ประชากรในโลกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ในปี 2006เด็กที่เกิดในยุค Baby Boom รุ่นแรกมี อายุครบ 60 ปีไปเรียบร้อยแล้วซึ่งหนึ่งในนั้น คือ Geroge W Bush ผู้ลูก

หนังเรื่องนี้ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์อเมริการ่วมสมัย เริ่มตั้งแต่ ปัญหากีดกันคนผิวสีเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในรัฐที่เหยียดผิวอย่าง Alabama, สงครามเวียดนามในทศวรรษที่ 60-70 , การกระชับความสัมพันธ์กับจีนโดยใช้การทูตด้วยกีฬาปิงปอง (Ping Pong Diplomacy)เมื่อปี 1971 , การเคลื่อนไหวของเหล่าบุปผาชนหรือฮิปปี้ นอกจากนี้หนังยังกล่าวถึงบุคคลสำคัญหลายคนอย่าง Elvis Presley , John F. Kenedy , Lindon B.Johnson , Richard M Nickson , John Lennon เป็นต้น

จะว่าไปแล้วเมื่อ 5 ปีก่อนมีหนังฮ่องกงเรื่อง The golden chicken (2002)หรือ Gum Gai ก็ได้ใช้แนวทางการเล่าเรื่องลักษณะเดียวกับ Forest Gump โดยตัวเอกมีอาชีพเป็นหมอนวด ในเกาะฮ่องกงที่เล่าถึงฮ่องกงในยุค 80 ถึง ยุคสองพัน โดยความโดดเด่นของหนังแนวนี้อยู่ที่การนำข่าวเก่าๆทั้งข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ปรากฏในทีวีตลอดจนเพลงที่คุ้นหูในช่วงเวลานั้นมาเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่อง

กลับมาที่ Forrest Gump ต่อครับ , หนังให้ Forrest เป็นคนเล่าเรื่องชีวิตตัวเองให้คนแปลกหน้าฟังระหว่างนั่งรอรถเมล์ โดยประโยคเปิดเรื่องได้กลายเป็นประโยคอมตะไปแล้ว คือ “Life's a box of chocolates , you never know what you're gonna get.” ซึ่งประโยคนี้เรามาได้ยินอีกครั้งตอนที่คุณนาย Gump แม่ของ Forest กำลังจะตาย และตลอดทั้งเรื่องของหนังก็พยายามสื่อให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า Never know ซึ่งในที่นี้มีอีกคำหนึ่งที่ใช้ คือ Destiny หรือ โชคชะตา นั่นเองครับ

ผมเชื่อว่าเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงคำพูดที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยแง่คิดมากมาย คำพูดที่ว่าชีวิตก็เหมือนกล่องช็อกโกแลต เราไม่มีวันรู้หรอกว่าข้างในกล่องเราจะเจออะไร มันก็เหมือนกับอนาคตของคนเราที่เราเองก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าชีวิตเราจะดำเนินไปในรูปไหน

Zemeckis ใช้“ขนนก” เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บอกถึง “ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต”ที่พัดผ่านไปตามลมซึ่งในหนังสะท้อนให้เห็นภาพของ Jenny Curran ,หญิงสาวของ Forrest, เธอเชื่อในความอิสระของชีวิต แม้ดูแล้ว Jenny จะล้มเหลวกับความฝันที่อยากเป็นเหมือน Joan Biaz นักร้องสาวชาวบุปฝาชน Jenny ปล่อยชีวิตให้พัดไปกับกระแสสังคมอเมริกันในยุค 60 – 70 เริ่มจากถ่ายภาพโป๊ลง Playboy , โชว์กีตาร์เปลือยในผับ ตลอดจนเข้าร่วมขบวนการฮิปปี้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ต่อต้านสงครามเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีฉากอัพยาให้เห็นกันอยู่หลายฉาก อาจเรียกได้ว่าชีวิตของ Jenny นั้นผ่านอะไรมามากกว่า Forrest แต่จนแล้วจนรอดดูเหมือน Jenny ก็ยังไม่พบชิ้นช็อคโกแลตที่ถูกใจสักที ผมนึกถึงคำพูดหนึ่งที่ว่า “ชีวิตมีไว้ให้ใช้” ขณะเดียวกันอีกคำพูดที่ออกมาแย้งรูหูอีกข้างก็คือ “แล้วมึงจะรีบใช้ชีวิตไปถึงไหนกัน”

ตัวละครที่สำคัญอีกคนหนึ่งในหนังเรื่องนี้ คือ ผู้หมวด Dan Taylor , แสดงโดย Gary Sinise,หมวด Dan เป็นตัวแทนของคนที่เชื่อว่าชีวิตลิขิตได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าโชคชะตาจะลิขิตให้หมวด Dan เป็นคนพิการจากสงครามเวียดนาม แต่ท้ายที่สุดแล้วการได้เป็นเพื่อนกับ Forrest ทำให้เขามองเห็นแง่มุมบางอย่างจากความซื่อของชายคนนี้ ชายผู้ไม่คิดอะไรมากมาย ไม่มีอุดมการณ์สูงส่ง ชายที่ดูเหมือนจะโง่ทึ่มแต่ก็สามารถนำพาตัวเองไปสู่จุดสูงสุดในหลายเรื่องๆโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้ยี่หร่ะกับความสำเร็จเหล่านั้น ท้ายที่สุดหมวด Dan ขอบคุณ Forrest ที่ช่วยชีวิตเขาไว้ แม้ว่าครั้งแรกเขาจะเกลียดการมีชีวิตอยู่เยี่ยงผู้พิการ

สำหรับตัว Forrest Gump นั้น , ผมเชื่อว่าโลกที่รื่นรมย์ของเขาอยู่ที่การได้เห็นความสุขของคนอื่นเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ แม่ ,Jenny, Bubba, หมวด Dan ไปจนกระทั่งลูกชายตัวน้อย โลกรื่นรมย์ที่ว่านี้ คือ โลกที่คิดถึงคนอื่นในมุมที่เอื้ออาทรโดยไม่นึกถึงผลตอบแทนว่าเราจะต้องได้อะไรกลับมา

ความรื่นรมย์ของชีวิตอยู่ที่การมองเห็นโลกในมุมที่มันควรจะเป็น Forrest Gump อาจจะไม่ใช่นักบวช นักบุญ แต่หนังทำให้เขาดูคล้ายเป็นนักบุญผู้นำแห่งลัทธิการวิ่ง (Jogging Craze)เขาอาจจะไม่ใช่ศิลปินนักคิดแบบ John Lennon แต่หนังก็ทำให้เขาเป็นแรงบันดาลใจให้ Lennon แต่งเพลง Imagine เขาอาจจะไม่ใช่ทหารนักรบที่มีอุดมการณ์สูงส่งอะไร แต่หนังก็ยังทำให้ชายคนซื่อกลายเป็นวีรบุรุษสงคราม เขาอาจจะไม่ใช่พ่อค้านักธุรกิจที่เก่งกาจแต่หนังก็สร้างให้เขาประสบความสำเร็จจนร่ำรวยเงินทอง ความสำเร็จทั้งหมดนี้เขาไม่ได้สนใจอะไรกับมันมากมายนอกจากจะมีความสุขกับการเป็นคนตัดหญ้าในเมืองเล็กๆที่เขาอยู่แค่นั้น เพียงเท่านี้ความรื่นรมย์ของชีวิตก็บังเกิดแล้วมิใช่หรือ

Hesse004

Jul 20, 2007

เศรษฐศาสตร์ของชนชั้นกระฎุมพี



หลายวันมานี้ผมติดตามเรื่องราวการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ ยิ่งกระแสของการปิดโรงงานถูกนำเสนอผ่านสื่อออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้หลายคนกำลังนึกถึงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจรอบใหม่อันเนื่องมาจากค่าเงินบาท (อีกแล้วครับท่าน)

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์, ผมเบื่อที่จะวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นเนื่องจากเห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ไทยส่วนใหญ่นั้นเก่งกาจกันอยู่แล้ว เพราะแต่ละท่านล้วนเป็นกูรูทางเศรษฐศาสตร์ในสยาม มิพักต้องเอ่ยอ้างถึงคนของธนาคารกลางที่มีมันสมองปราดเปรื่องระดับหัวกะทิชาวเกาะเต็มไปหมด

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ , ผมตั้งข้อสังเกตตามสติปัญญาทึ่มๆของตัวเองไว้ประการหนึ่งว่า ทำไมเหล่า Policymakers หรือ Technocrats ทั้งหลายนั้น ถึงไม่ค่อยกล่าวถึงการจัดการเงินทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้น ทั้งๆที่ข้อมูลของแบงก์ชาติเองก็สรุปไว้ว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาในช่วงปี 2005 – 2006 นั้น เป็นเงินที่มาลงทุนในหลักทรัพย์ถึง 36,681 ล้านเหรียญดอลลาร์ และเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว คิดเป็นร้อยละ 54.62 ของเงินทุนที่ไหลเข้ามาทั้งหมดหรือมากกว่าเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนทางตรง (FDI) และ การก่อหนี้ต่างประเทศรวมกัน

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อ่อนด้อยทางสติปัญญาอย่างผม , ผมเหลือบไปเห็นตัวเลขชุดเดิมและพบว่าเงินลงทุนที่เข้ามาในตลาดหุ้นไทยในช่วงสองปีที่ว่านี้เพิ่มจากเมื่อปี 2002 – 2004 เกือบ 7 เท่า ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมค่าเงินบาทของเราถึงแข็งขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเหล่ากูรูเศรษฐศาสตร์หลายๆสำนักที่มองว่าเศรษฐกิจเมืองลุงแซมกำลังอยู่ในภาวะถดถอย ดังนั้น กองทัพนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่มาในรูปกองทุนจึงค่อยๆอพยพเงินดอลลาร์ออกมาหากินต่างแดน โดยเฉพาะตลาดหุ้นในเอเชีย

ย้อนกลับไปที่คำถามทึ่มๆของผมข้างต้น คือ ทำไมไม่มีใครสนใจจะจัดการไอ้เงินลงทุนในตลาดหุ้นเหล่านี้เลยหรือ ? อาทิ ออกมาตรการเก็บภาษีจากผลกำไรที่ได้จากการขายหุ้นแล้วเอารายได้ส่วนนี้ไปบริหารจัดการในกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน หรือ จริงๆแล้วกรมสรรพากรและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่สามารถกระทำการเช่นนี้ได้ เพราะขนาดเจ้าของสโมสร Man City คนปัจจุบันยังไม่ต้องเสียภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยเลย

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการกันสำรองเงินทุน 30%เมื่อปลายปีที่แล้วหรือมาตรการ 18 ธ.ค. 2549 ผลของมาตรการดังกล่าวมีกูรูตลาดทุนประมาณกันว่ามูลค่าของตลาดหุ้นหล่นหายไป 800,000 ล้านบาทและแน่นอนที่สุดแบงก์ชาติย่อมโดนด่าด้วยข้อหาฉกรรจ์ที่ว่า “ทำลายบรรยากาศการลงทุน” แต่ผมขอแถมไปด้วยว่า “ขัดขวางบรรยากาศการเก็งกำไร”

ผมเชื่อว่าสติปัญญาอย่างผมคงไม่สามารถเสนอมาตรการดูแลค่าเงินบาทอย่างเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนที่กูรูเศรษฐศาสตร์เสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1) ลงสัก 1-1.5 % เพราะเชื่อว่าเงินมันจะหยุดไหลเข้าทันที ขณะที่ท่านรัฐมนตรีคลังซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์จากสำนัก TDRI กลับเห็นว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ช่วยให้เงินมันหยุดไหลเข้าแต่อย่างใดหากแต่มันจะไหลย้อนแบบไม่ซึมเปื้อนกลับเข้ามาที่ตลาดหุ้นอยู่ดี

วิวาทะของเหล่านักเศรษฐศาสตร์แดนสยามทำให้ผมอดปลาบปลื้มใจมิได้ว่าประเทศเรานั้นจำเริญทัดเทียมอนารยะประเทศ เพราะสังคมไทยเริ่มเห็นคุณค่าของนักเศรษฐศาสตร์แล้วด้วยดัชนีชี้วัดจากความถี่ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ปรากฏตัวอธิบายปรากฏการณ์ค่าเงินบาทผ่านจอแก้ว ซึ่งบทวิเคราะห์ส่วนใหญ่แล้วก็มักมีสูตรสำเร็จคล้ายๆกัน คือ เชื่อในภูมิปัญญาของเศรษฐศาสตร์ตะวันตก ทั้งๆที่เมื่อสิบปีที่แล้วโลกาภิวัตน์ทางการเงินได้สำแดงเดชให้เห็นปรากฏการณ์ของการปล่อยให้เงินไหลเข้าไหลออกอย่างเสรีภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จนต้องเอาเงินทุนสำรองไปป้องกันค่าเงินบาทและท้ายที่สุดก็ต้องประกาศเปลี่ยนเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ แต่พอมาวันนี้โลกาภิวัตน์ทางการเงินก็สำแดงให้เห็นอีกว่าค่าเงินบาทที่แข็งตัว (อะจึ๋ย!) โดยไม่ต้องพึ่งไวอากร้านั้น มันได้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างไรกับเหล่า Policymakers

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย, ผมเชื่อว่าพวกเขาทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว เพราะหากเราพิจารณาดูจากเป้าหมายที่แบงก์ชาติต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อหรือ Inflation Targeting เป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากเงินเฟ้อย่อมกระทบกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างเราๆมากที่สุด ในขณะที่เป้าหมายเรื่องค่าเงินบาทนั้น ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการ (Managed Float) ทำให้แบงก์ชาติไม่ต้องกังวลกับการแทรกแซงมากนัก แม้ว่าระยะหลังจะแทรกแซงถี่ขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงเชื่อว่าแบงก์ชาติมิใช่เทวดาที่จะสามารถบันดาลให้เป้าหมายทั้งสองบรรลุตามความคาดหวังของการเมืองและกองเชียร์ (โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์)

จะว่าไปแล้วการบริหารนโยบายเศรษฐกิจให้เป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาพ่อยกแม่ยกนั้นนับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก แม้กระทั่งตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคสมัยใหม่อย่าง Macroeconomics ของ David Colander ยังสรุปเรื่องดังกล่าวไว้บทสุดท้ายเลยว่าการบริหารเศรษฐกิจมันเป็นเรื่องของ Art of Macroeconomic Policy แม้กระทั่งเจ้าของตำรา Macroeconomics ยอดฮิตอย่าง N.Gregory Mankiw ยังไม่ฟันธงเลยด้วยซ้ำว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคของโลกยุคใหม่นั้นมันมีสูตรสำเร็จตายตัวหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่ปัญหาเศรษฐกิจของมนุษยชาตินั้นมันมาแทบไม่ซ้ำหน้าเลย

ผมยกตัวอย่างจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 20 ที่เมื่อเริ่มต้นศตวรรษ ก็เกิดปัญหา Hyperinflation หรือ เงินเฟ้อรุนแรงในเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลงไม่นาน ต่อมาก็มีปัญหาการว่างงานมโหฬารของอเมริกันชนในช่วง The Great Depression ประมาณต้นทศวรรษที่ 30 ถัดจากนั้นช่วงทศวรรษ 60 อเมริกาก็เจอปัญหาStagflationโดยเกิดการว่างงานสูงพร้อมๆกับปัญหาเงินเฟ้อ ก่อนคนทั้งโลกจะถูกซ้ำเติมจากปัญหา Oil Shock ในช่วงทศวรรษที่ 70 เมื่อเหล่าอาบังต่างรวมหัวกันขึ้นราคาน้ำมัน ในฟากเอเชียก็เกิดปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในญี่ปุ่น (Japanese asset price bubble) ช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ต่อ 90 แม้กระทั่งปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินเปโซในเม็กซิโกเมื่อต้นทศวรรษที่ 90 ก่อนจะลามมาถึงวิกฤตการณ์ค่าเงินในเอเชียเมื่อปี 1997 เห็นมั๊ยครับว่าปัญหาเศรษฐกิจเชิงมหภาคมันเป็นปัญหาคู่โลกทุนนิยมมาตลอดศตวรรษที่20

ผมเริ่มสงสัยแล้วว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ผมกำลังเรียนอยู่นั้น มันจะแก้ปัญหาหรือตอบคำถามปรากฏการณ์เหล่านี้ได้หรือเปล่า? ไอ้โมเดลพิสดารหรือสมการที่ยุ่งเหยิงมันเพียงพอจริงเหรอ? หรือ เศรษฐศาสตร์เป็นเพียงแค่ วิชาของชนชั้นกระฎุมพีอย่างชนชั้นปกครองที่แฝงมาในคราบของนายทุนและปัจจุบันยังผนวกเอาชนชั้นกลางเป็นพวกอีก

คำถามที่ผมทิ้งไว้ว่าทำไมไม่มีใครสนใจทำอะไรกับเงินที่โฉบเข้ามาหากำไรส่วนต่างจากราคาหุ้นในตลาดทุนเลย และเงินเหล่านี้เองที่เป็นเหตุให้ค่าเงินบาทแข็งในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา หรือเหตุที่ไม่มีใครอยากเข้าไปแตะตลาดหุ้น เพราะเวลาตลาดรุ่งๆ โวลุ่มการซื้อขายมากๆดัชนีดีดแรงๆ คนได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ก็เป็นชนชั้นกระฎุมพีนั่นเอง

Hesse004

ปล. คำว่า กระฎุมพี เป็นคำบาลี หมายถึง ผู้มีทรัพย์หรือผู้มั่งมี อย่างไรก็ตามพอเอาคำว่าไพร่ไปเติมข้างหน้าเป็น ไพร่กระฎุมพี หรือ ไพร่กฎุมพี ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปในทางตรงข้ามซึ่งหมายถึง คนเคยรวย( แต่ตอนนี้จน)ครับ

Jul 15, 2007

Innocent Voice เสียงใสๆในสงคราม



“El Salvador” ผมเชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นหูกับชื่อนี้ในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งในดินแดนอเมริกากลาง อย่างไรก็ตามดูเหมือนเรื่องราวของชนชาติแถบนี้มักไม่ค่อยถูกนำเสนอเท่าใดนัก เช่นเดียวกันกับความสับสนในชื่อประเทศที่เรามักนึกรวมไปถึง “Ecuador” ประเทศเล็กๆประเทศหนึ่งในดินแดนลาติน

เหตุที่ผมหาเรื่องเขียนถึง El Salvador นั้น ก็เนื่องมาจากการได้ดูหนังเรื่อง Innocent Voice หรือ Voces inocentes ซึ่งหลังจากดูจบ ผมรีบค้นข้อมูลดูว่าไอ้เจ้าประเทศนี้มันอยู่ส่วนไหนของทวีปอเมริกา ความน่าสนใจของ Innocent Voice อยู่ตรงที่การบอกเล่าเรื่องราวของสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานถึง 12ปีตั้งแต่ปี 1980 – 1992 สงครามดังกล่าวถูกบันทึกว่าเป็นสงครามครั้งสำคัญในแถบอเมริกากลางจนทำให้ “เจ้าโลก” อย่างสหรัฐอเมริกาทนดูไม่ได้ต้องส่งกองกำลังทหารเข้าไปแทรกแซง เอ๊ยไม่ใช่! ส่งทหารไปช่วยเหลือครับ

Innocent Voice (2004) เป็นผลงานกำกับของ Luis Mandoki ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการทำหนังจากเรื่องจริงที่นาย Oskar Torres เขียนขึ้นจากประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยเด็กระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศ ที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 12 ปี สงครามดังกล่าวเป็นสงครามระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง กับ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลเผด็จการทหาร

ในช่วงทศวรรษที่ 80 ยังอยู่ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับสงครามชนิดใหม่ที่เรียกว่า “สงครามเย็น” โดยมีสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นคู่ฟัดในสงครามนี้ นอกจากสงครามเย็นจะทำให้โลกต้องแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแล้ว ยังทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศเล็กประเทศน้อยที่ยังขาดเสถียรภาพทางการเมืองโดยเฉพาะประเทศในแถบอเมริกากลาง อย่าง นิคารากัว และ เอลซาวาดอร์ เป็นต้น

เหตุผลสำคัญของสงครามกลางเมืองในประเทศเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากความยากไร้ในเรื่องเศรษฐกิจครับ โดยเฉพาะการลุกขึ้นจับอาวุธขึ้นต่อสู้ของเหล่าชาวบ้านเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองหลังจากที่ถูกรัฐบาลทหารและกลุ่มนายทุนใหญ่ 14 ตระกูล รวมทั้งสหรัฐอเมริกา กอบโกยขูดรีดผลประโยชน์มาช้านาน

จริงๆแล้ว Innocent Voice ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่กล่าวถึงสงครามกลางเมืองใน El Salvador เพราะยังมีหนังเรื่อง Salvador(1986) ผลงานกำกับของ Oliver Stone ที่กล่าวถึงสภาพมิคสัญญีของประเทศนี้ในช่วงสงคราม

Innocent Voice เปิดฉากมาด้วยภาพของเด็กผู้ชายกลุ่มหนึ่งอายุเพียง 11 – 12 ปี กำลังถูกทหารของรัฐบาลจับกุมตัวไป โดยหนังไม่ได้บอกว่าเพราะเหตุใดเด็กเหล่านี้ถึงถูกจับ หลังจากนั้นหนังค่อยๆเผยให้เห็นเรื่องราวทั้งหมดของสงครามผ่านเด็กผู้ชายตัวเล็กๆอย่าง Chava

Chava เป็นเด็กชายอายุ 11 ปี เขาอาศัยอยู่กับแม่ น้องสาวและน้องชาย Chava ก็เหมือนเด็กๆทั่วไปที่เล่นสนุกไปวันๆโดยไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่เขารบกันด้วยสาเหตุอันใด ทั้งนี้หมู่บ้านที่ Chava อาศัยอยู่นั้นนับว่าเป็นหมู่บ้านที่ “ซวย” เลยทีเดียวครับ เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตแนวรบของกองกำลังรัฐบาลกับฝ่ายผู้ต่อต้าน ผมสันนิษฐานว่าฝ่ายต่อต้านส่วนใหญ่ที่เป็นชาวบ้านนั้นน่าจะได้รับอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์โดยมีการจัดทัพคล้ายๆกับกองโจรเหมือนที่ “เชกูวารา” เคยใช้รูปแบบนี้ในอเมริกาใต้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่ากองกำลังรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้อาวุธยุทโธปกรณ์จึงมีศักยภาพมากกว่ากลุ่มต่อต้าน ในแง่ของตัวหนังแล้วไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวทางการเมืองซักเท่าไรนัก มีเพียงบางฉากที่กล่าวถึงความคับแค้นใจของชาวบ้านที่ถูกทหารของรัฐและทหารต่างชาติรังแก แต่โดยสาระที่หนังได้สื่อให้เราได้เห็นคือความยากลำบากของชาวบ้านชาวช่องที่ประสบภัยจากสงครามกลางเมืองโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก สตรี และคนชรา จำนวนผู้บริสุทธิ์ที่สังเวยชีวิตไปจากการยิงปะทะของทหารสองฝ่ายที่ดูเหมือนจะมากขึ้นทุกวัน ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจอพยพออกไปจากหมู่บ้านนี้

นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านต้องหนีก็เพราะฝ่ายรัฐบาลจะจับเด็กผู้ชายที่มีอายุครบ 12 ปี ไปเป็นทหาร ด้วยเหตุผลงี่เง่าที่สุด คือ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ไปปกป้องประเทศ ซึ่งก็แน่นอนครับ Chava พระเอกน้อยๆของเรากำลังจะโดนเกณฑ์ทหารเข้าสู่กองทัพของรัฐบาลด้วยวัยเพียง 12 ปี เท่านั้น

นาย Luis Mandoki ผู้กำกับชาว Mexican ทำหนังเรื่องนี้ได้ยอดเยี่ยมมากครับ โดยเฉพาะสารที่ต้องการจะสื่อไปยังพวกผู้นำกระหายอำนาจได้ทราบว่าทุกวันนี้มีเด็กๆอายุ 12 – 17 ปี กลายเป็นทหารตัวน้อยๆอยู่ถึง 350,000 คนทั่วโลก เด็กเหล่านี้ไม่ผิดอะไรจากเบี้ยในเกมหมากรุกที่เวลาเปิดหมากมักถูกส่งให้ไปตายก่อนเสมอ ผมไม่แน่ใจว่าเหล่าผองชนในคองเกรสทำเนียบขาวจะตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้หรือเปล่า? เพราะจากประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศยุคใหม่บันทึกไว้ว่า สหรัฐอเมริกามักทำตัวเป็นพ่อค้าส่งออกบริการประชาธิปไตยจอมปลอมไปยังประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย พร้อมกันนั้นยังส่งบริการสงครามเป็นของแถมอีกต่างหาก ไล่เรียงตั้งแต่ สงครามเกาหลี (1950-1953) สงครามปฏิวัติในคิวบา (1956-1959) สงครามเวียดนาม (1960 - 1975) สงครามกลางเมืองโดมินิกัน (1965) สงครามกลางเมืองในนิคารากัวและเอลซาวาดอร์ (1980- 1992) สงครามกลางเมืองในโซมาเลีย (1988) สงครามปานามา (1989) สงครามอ่าวเปอร์เซีย (1990-1991) สงครามในอัฟกานิสถาน (2002) และ สงครามในอิรัก (2003) เป็นต้น

หลังจากที่ดูหนังเรื่องนี้จบ ผมนึกถึงเนื้อร้องท่อนเริ่มใน “เพลงกล้วยไข่”ของเฉลียงที่ร้องว่า “เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม”

Hesse004

Jul 7, 2007

Who moved My Cheese? หนังสืออ่านนอกเวลาของผู้ใหญ่



สมัยเรียนมัธยมในแต่ละปีเรามักถูกบังคับให้อ่าน “หนังสืออ่านนอกเวลา”โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถ้าผมจำไม่ผิดหนังสืออ่านนอกเวลาที่ถูกบังคับให้อ่านสมัยเรียน ม.3 คือ จดหมายจางวางหร่ำ ผมว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่น่าสนใจเลยทีเดียวเพราะเป็นเรื่องการสอนลูกของคนโบราณ (จางวางหร่ำเป็นขุนนางสมัยรัชกาลที่ 6) พอขึ้น ม.ปลาย ก็ถูกบังคับ (อีกแล้ว) ให้อ่านหนังสืออ่านนอกเวลาภาษาอังกฤษอย่าง Shane เรื่องของคาวบอยพเนจรผู้ปราบเหล่าร้ายในแดนเถื่อน

การที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้นักเรียนต้องอ่านหนังสืออ่านนอกเวลาน่าจะเป็นเครื่องสะท้อนอะไรบางอย่างของชาวสยามอย่างเราๆนะครับ ประการแรก คือ รัฐเห็นว่าเด็กสยามนั้นควรรู้เรื่องราวนอกเหนือจากตำราซึ่งอยู่ในคาบเรียน หรือ ประการถัดมารัฐเห็นว่าเด็กๆควรได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่าน วิธีคิดของรัฐเช่นนี้นับว่าเป็นบทบาทของคุณพ่อรู้ดีอย่างหนึ่งในการจัดการศึกษาไทย อย่างไรก็ดีผมว่าเด็กๆควรมีอิสระในการเลือกอ่านหนังสือมากกว่าถูกบังคับจากรัฐ โดยครูควรจะมีบทบาทสำคัญในการแนะนำประเภทหนังสือต่างๆให้เด็กได้เลือกอ่านตามความสนใจของพวกเขา

กลับมาเรื่องที่จั่วหัวไว้ดีกว่าครับ , ผมว่าหลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อหนังสือเรื่อง Who moved My Cheese? กันมาบ้าง เพราะหนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้วในชื่อ “ใครเอาเนยแข็งฉันไป” ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดเล่มหนึ่งในยุคสหัสศวรรษนี้ สำหรับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือ Dr. Spencer Johnson ซึ่งเป็นจิตแพทย์ผู้โด่งดังในอเมริกา

หลายท่านที่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้น่าจะติดใจกับสไตล์การเขียนที่เรียบง่ายสบายๆของคุณหมอคนนี้ เพราะ เรื่องที่แกเล่าใน Who moved My Cheese? นั้นคล้ายกับนิทานสมัยใหม่มากกว่าวรรณกรรมที่ลึกซึ้ง ท่านผู้อ่านคิดเหมือนผมมั๊ยครับว่าความเรียบง่ายบางครั้งมันก็มีปรัชญาอะไรบางอย่างแฝงอยู่ในตัวของมัน

สมัยเด็กๆ เรามักได้ยินเรื่องเล่าจากนิทานอีสป นิทานของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน หรือ เรื่องเล่าจากสองพี่น้อง ตระกูลกริมม์ แม้แต่นิทานพื้นบ้านของไทยเองก็ตาม ทุกครั้งที่เราได้ฟัง เราจะพบว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่ที่เจ้าชาย เจ้าหญิง แม่มด ฤาษี ยักษ์ ฯลฯ อย่างไรก็ดีหากเรามองลึกลงไปที่สาระของเรื่องแล้วกลับพบว่า นิทานเหล่านี้ล้วนสอนให้มนุษย์เชื่อในคุณงามความดี และยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ ความลึกซึ้งที่มาจากความเรียบง่ายได้ถูกส่งต่อมายังยุคสมัยปัจจุบันเพียงแต่รูปแบบของการเล่าเรื่องอาจจะต่างไป ขณะเดียวกันสาระที่นักเล่านิทานต้องการจะสื่อก็อาจจะปรับจูนให้เข้ากับปัญหาของยุคสมัยนั้น ซึ่ง Who moved My Cheese? นับเป็นตัวอย่างที่ดีของนิทานสมัยใหม่ที่เน้นไปในเรื่องการยอมรับในกฎของอนิจจัง

Dr. Johnson แกเขียนเรื่องนี้โดยเริ่มต้นด้วยงานเลี้ยงสังสรรค์ของเพื่อนสมัยเรียนกลุ่มหนึ่งซึ่งแต่ละคนต่างเล่าถึงชีวิตหลังพ้นรั้วโรงเรียนไปแล้ว เช่น ชีวิตทำงาน ชีวิตครอบครัว และดูเหมือนแต่ละคนดูจะมีความทุกข์ มีเรื่องให้บ่นกันไปคนละแบบ แต่สำหรับ Michale แล้วเขากลับไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้เพื่อนๆฟังนั่นคือ The Story of Who moved My Cheese ?

“ ณ ดินแดนอันไกลโพ้น มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ มนุษย์จิ๋วกับหนู เจ้ามนุษย์จิ่วนั้นมีนามว่า Haw กับ Hem ส่วนไอ้เจ้าหนูสองตัวมีชื่อว่า Sniff กับ Scurry ทั้งสี่ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขโดยทั้งหมดต่างคอยค้นหา เนยแข็ง (Cheese) เพื่อมาปรนเปรอความสำราญให้กับตัวเอง อย่างไรก็ดีเจ้ามนุษย์จิ๋วต่างเชื่อว่าการค้นพบเนยแข็งนั้นเป็นตัวแทนของความสุขและความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นเมื่อ Haw กับ Hem พบว่าที่ Station C นั้นมีเนยแข็งมากพอแล้ว พวกเขาจึงเลือกที่จะปักหลักอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ในทางกลับกันไอ้เจ้าหนูสองตัวกลับใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณ (Instict) ในการเอาตัวรอดไปวันๆ ดังนั้นทั้ง Sniff และ Scurry จึงเที่ยวค้นหาเนยแข็งอยู่ตลอดเวลา หากที่เดิมหมดเมื่อไรก็เสาะแสวงหาที่ใหม่ต่อไป

แต่เด็กๆ จ๊ะ แล้ววันหนึ่งที่ Station C ก็เกิดเรื่องประหลาดขึ้นเมื่อเจ้าเนยแข็งที่เคยมีอยู่มันหายไป เจ้าจิ๋ว Hem ร้องลั่นว่า What ! No Cheese ก่อนจะกรีดร้องอย่างเสียใจว่า It ‘s not fair!ขณะที่เจ้าจิ๋ว Haw ได้แต่ยืนอึ้งไปสักพัก ก่อนจะหาสาเหตุว่าไอ้เนยแข็งที่ว่านี้มันหายไปได้ยังไง แต่เด็กๆรู้มั๊ยจ๊ะว่าเจ้าจิ๋วทั้งสองไม่เคยสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงของเนยแข็งที่กินไปว่ามันค่อยๆหร่อยหรอลงเรื่อยๆโดยยังคงเชื่อว่าที่ Station C นั้นจะมีเนยแข็งเพียงพอที่จะบำเรอความสุขของพวกเขาได้ตลอดไป

ขณะที่เจ้ามนุษย์จิ๋วต่างพร่ำรำพันฟูมฟายกับการหายไปของเนยแข็ง เจ้าหนูน้อยทั้งสองก็เริ่มออกค้นหาเนยแข็งต่อไปโดยไม่สนใจมานั่งวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมเนยแข็งมันหายไป เด็กๆรู้มั๊ยจ๊ะว่าเจ้าจิ๋ว Hem นั้นดูจะอาการหนักกว่าเพื่อนเพราะมัวแต่นั่งยึดติดกับความสุขเดิมๆจากเนยแข็งก้อนเก่าและรอให้เจ้าเนยแข็งนั้นมันกลับมาปรากฏอีกครั้งโดยไม่ไปไหน

ส่วนเจ้าจิ๋ว Haw เริ่มที่จะครุ่นคิดแล้วว่าจะเอายังไงต่อไปและท้ายที่สุด Haw ก็เลือกที่จะจากไปจาก Station C และชวน Hem ไปด้วยแต่เจ้าหมอนี่มันหัวรั้นยังดื้อด้านไม่ยอมออกจาก Station C เจ้าจิ่ว Haw เลือกที่จะไปตายเอาดาบหน้าดีกว่ารอความหวังลมๆแล้งๆว่าเนยแข็งมันจะกลับมา แล้วเด็กๆรู้มั๊ยจ๊ะว่าตอนจบเป็นยังไง เจ้าจิ๋ว Haw ได้พบ Station ใหม่ที่มีเนยแข็งมากกว่าเดิมอร่อยกว่าเดิม ส่วนเจ้า Hem นั้นหนังสือทิ้งเป็นปริศนาไว้ว่า “Haw said a little prayer and hoped – as he had many times before – that maybe, at last , his friend was finally able to...the end ...or is it a new beginning?”


เรื่องเล่าแบบง่ายๆเช่นนี้แหละครับ มีปรัชญาแฝงให้คิดอยู่เสมอโดยเฉพาะเรื่องของการยอมรับในกฎของความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง (อนิจจัง) ผมว่าที่เจ้า Hem มันทุกข์เพราะมันยึดติดในสิ่งที่มันเคยมี เคยเป็น แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อสิ่งนั้นมันหายไป Hem กลับเลือกที่จะฟูมฟายสิ้นหวังรวมถึงหวังลมๆแล้งๆว่าสิ่งที่จากไปจะกลับมา ส่วน Haw เลือกที่จะเดินหน้าต่อไปเพื่อแสวงหาเนยแข็งชิ้นใหม่ Haw ก็เหมือนมนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆท่านๆแหละครับ นั่นคือ กลัวในเรื่องของความเปลี่ยนแปลง เพียงแต่สิ่งที่ Haw ค้นพบจากความกลัวนั้นคือ When you move beyond yor fear , you feel free.

ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีเนยแข็งของชีวิตไม่เหมือนกัน บางคนกำลังแสวงหาเนยแข็งก้อนนั้นอย่างขมีขมัน บางคนเจอแล้วและกำลังลิ้มรสอย่างเอร็ดอร่อย แต่สิ่งที่ Who moved my cheese? ได้เตือนสติเราไว้ คือ จงเตรียมใจรอรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นอกจากเตรียมใจแล้วผมว่าควรเข้าใจในกฎของความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เพราะบางครั้งความเปลี่ยนแปลงมันอาจจะดำเนินไปอย่างเนิบช้าโดยกว่าเราจะรู้ตัวอีกทีเราอาจจะอุทานว่า “Who moved my power” หรือ Who moved my money? เหมือนที่ใครบางคนกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ไงครับ

Hesse004