Mar 19, 2010

คารวะ “จ่าเพียรขาเหล็ก นักรบแห่งเทือกเขาบูโด” อย่าให้คอร์รัปชั่นต้องทำร้ายคนดีอีกเลย




เรื่องราวการเสียสละของท่านพันตำรวจเอกสมเพียร เอกสมญา ผู้กำกับ สภอ. บันนังสตา จังหวัดยะลา จะกลายเป็น “แบบอย่างที่ดี” ให้คนไทยได้เรียนรู้ว่า แท้จริงแล้วสังคมนี้ยังไม่ขาดแคลน คนดี เพียงแต่ “ความดี” มักจะปรากฏให้เห็นกันตอนที่คนดีได้จากไปแล้ว

คงไม่ต้องกล่าวอะไรมากมายเกี่ยวกับเรื่องราวของนายตำรวจท่านนี้ เนื่องจากสื่อหลายแขนงได้นำเสนอชีวิตของท่านไปโดยละเอียดแล้ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหลือไว้จากกรณีศึกษาของผู้กำกับคนกล้าท่านนี้ คือ สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรบ้างจากปัญหาคอร์รัปชั่นในการซื้อขายตำแหน่งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งของท่านอาจารย์ศุภชัย ยาวะประภาษ ที่ศึกษาเกี่ยวกับความคิดเห็นของข้าราชการที่มีต่อการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งท่านอาจารย์ศุภชัยได้สรุปลักษณะของการซื้อขายตำแหน่งไว้ว่ามีอยู่หกแบบ คือ ใช้เงินซื้อตำแหน่งโดยตรงกับผู้บังคับบัญชา, ให้สิ่งของที่มีมูลค่าสูงเป็นครั้งคราว, ให้สิ่งของตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง, ใช้การทำธุรกิจร่วมกัน เช่น การให้หุ้นลม, ใช้ความสนิทสนมส่วนตัว, และให้บริการรับใช้ส่วนตัวแทบทุกเรื่องอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ (ประจบ หรือ เลีย)

จะเห็นได้ว่าการซื้อขายตำแหน่งนั้นเป็นการคอร์รัปชั่นประเภทหนึ่งนะครับ ซึ่งนอกจากจะทำลายขวัญกำลังใจของคนทำงานแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ยังมองว่าการซื้อขายตำแหน่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพ เพราะอาจเกิดปัญหาที่เรียกว่า Adverse Selection คือ ได้คนที่ผิดฝาผิดตัวมาทำงาน

โดยทั่วไปแล้วการคอร์รัปชั่นนั้นมีความเกี่ยวพันกันในทุกภาคส่วนของสังคม อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านคอร์รัปชั่นศึกษา (Corruption study) ได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า มีบุคคลอยู่ 3 กลุ่ม ที่ขับเคลื่อนให้กลไกการคอร์รัปชั่นนั้นทำงานได้

กลุ่มบุคคลที่ว่ามานี้ประกอบไปด้วยนักการเมือง ข้าราชการ และ นักธุรกิจ ครับ โดยทั้งสามกลุ่มนี้พยายามจัดวาง “สมดุลแห่งผลประโยชน์” (Balance of Benefit) ให้กลุ่มตนเองได้รับความพึงพอใจสูงสุด ด้วยเหตุนี้กลไกการคอร์รัปชั่นจึงหมุนไปภายใต้ความสัมพันธ์ของคนสามกลุ่มนี้ ซึ่งนักวิชาการเรียกความสัมพันธ์นี้ว่า “สามเหลี่ยมเหล็กของการคอร์รัปชั่น” หรือ Iron Triangle ครับ

Iron Triangle เป็นแนวคิดของนักรัฐศาสตร์อเมริกันที่ชื่อ Grant McConnell ซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ของนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจ ในสหรัฐอเมริกา โดยยกตัวอย่างเรื่องการจัดซื้ออาวุธของรัฐบาลอเมริกันซึ่งเกี่ยวพันกับคนสามกลุ่ม นอกจากนี้ McConnell พบว่า ยิ่งคนทั้งสามกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กัน “แนบแน่น” มากขึ้นเท่าไร โอกาสที่จะเกิดการคอร์รัปชั่นยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

หากมองในแง่ของภาคธุรกิจแล้ว การพยายามสร้างอำนาจผูกขาดทางธุรกิจและหาประโยชน์เพื่อความร่ำรวยนั้นเป็นเป้าหมายสูงสุดของนักธุรกิจทุกคน ด้วยเหตุนี้นักธุรกิจจึงจำเป็นต้องอาศัย “สายสัมพันธ์” (Connection) กับคนของภาครัฐทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำ โดยนักธุรกิจมุ่งหวังให้ธุรกิจของตนได้รับความสะดวกหรือได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากรัฐ ตลอดจนมีโอกาสได้เป็นคู่สัญญาของรัฐในอนาคต ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหากในแต่ละปีภาคธุรกิจยินดีที่จะสนับสนุนทางการเงินให้กับพรรคการเมืองทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะ

อย่างไรก็ตามคนที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย เอื้อประโยชน์หรือขัดประโยชน์ให้กับนักธุรกิจได้ คือ นักการเมือง หรือ “ฝ่ายการเมือง” ซึ่งจุดมุ่งหมายของพรรคการเมืองทุกพรรค คือ ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาล ดังนั้น ฝ่ายการเมืองจึงพยายามหาทุนเข้าพรรคทุกวิถีทาง เพื่อประโยชน์ในการสร้างฐานอำนาจตลอดจนทำ “กิจกรรมทางการเมือง” ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอย่าง “ซื้อเสียง” ในการทุจริตเลือกตั้ง เป็นต้น

ขณะที่ฝ่ายการเมืองทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบาย นักการเมืองจำเป็นต้องอาศัย “ข้าราชการ” เป็นมือไม้ผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่ตนเองและภาคธุรกิจคิดขึ้นมาให้เกิดเป็น “โครงการ” ได้จริง ๆ ดังนั้น ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้วงจรการคอร์รัปชั่นนี้หมุนไปได้สมบูรณ์

ข้าราชการมุ่งหวังที่จะแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องโดยพยายามสร้างสายสัมพันธ์ทั้งจากฝ่ายการเมืองและภาคธุรกิจ โดยข้าราชการอาศัยฝ่ายการเมืองเพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุนในการเลื่อนตำแหน่ง ขณะที่ต้องการเงินทุนจากภาคธุรกิจเพื่อใช้เป็นปัจจัยในการซื้อตำแหน่ง

หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว การซื้อขายตำแหน่ง คือ การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic Rent Seeking) รูปแบบหนึ่งของข้าราชการ โดยข้าราชการจะพยายามแสวงหาประโยชน์จาก “ค่าเช่าประจำตำแหน่ง” ที่ตัวเองสู้อุตส่าห์เสียเงินซื้อตำแหน่งนี้มา และเมื่อเข้ามาอยู่ในตำแหน่งนี้แล้วจึงต้องพยายาม “ถอนทุนคืน” บวก “กำไร” ให้ได้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี ความแน่นแฟ้นของคนทั้งสามกลุ่มนี้จะมีมากยิ่งขึ้น หากสังคมนั้นเต็มไปด้วย “ระบบอุปถัมภ์” (Patronage) ที่แข็งแรงครับ แม้ว่าระบบอุปถัมภ์จะเป็นระบบที่มีคุณในแง่ “ต่างตอบแทนกัน” (Reciprocal) ระหว่างผู้ให้อุปถัมภ์ (Patron) และผู้รับการอุปถัมภ์ (Client) แต่อย่างไรก็ตามหากการอุปถัมภ์ถูกนำมาใช้เป็นฐานในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว โอกาสที่ระบบนี้จะเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่นย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย อีกทั้งยังทำลาย “ระบบคุณธรรม” (Merit System) ซึ่งควรจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการส่งเสริมคนดีได้ขึ้นไปใช้อำนาจรัฐ

ทุกวันนี้เราพูดเรื่อง “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) กันเสียจนเกร่อแล้วนะครับ เรามีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชั่น รวมไปถึงเราพยายามเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาหลายประการเพื่อลดการคอร์รัปชั่น

แต่สิ่งที่น่าคิด คือ แล้วเราได้ทำอย่างที่พูดหรืออย่างที่ได้ศึกษากันบ้างหรือเปล่าครับ ?

ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังมีข้าราชการอย่างผู้กำกับสมเพียรอีกเยอะนะครับ เพียงแต่ว่าคนเหล่านี้มักจะก้มหน้าก้มตาทำงานไปโดยไม่ปริปากบ่นแต่อย่างใด คนเหล่านี้ไม่ต้องการแสดงตัวกับสื่อว่าพวกเขานั้นเป็น “คนดี” มากน้อยแค่ไหน เพราะพวกเขาเชื่อว่าการทำความดีนั้นไม่จำเป็นต้อง “โอ่” หรือ “อวด” ให้ใครรู้แต่อย่างใด

ปัญหาคอร์รัปชั่นในการซื้อขายตำแหน่งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำร้ายคนดี ๆ คนที่อุทิศตนเพื่อแผ่นดินเกิดอย่างแท้จริง แม้ว่าทุกวันนี้บ้านเราจะมีตำรวจประเภท “อัปรีย์ชน” กันอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง แต่อย่างน้อยที่สุดเรายังได้เห็นตำรวจ “น้ำดี” อย่างท่านผู้กำกับสมเพียร ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ “สุจริตชน” ทั้งหลายอยากเดินตามรอยและเอาเป็นเยี่ยงอย่างในการทำงานรับใช้แผ่นดิน

เรื่องราวของท่านผู้กำกับสมเพียร นักรบแห่งเทือกเขาบูโด ทำให้ผมนึกถึงคำโบราณที่เคยสอนไว้ว่า “ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว” บางทีความตายของคนระดับนายพันดูจะยิ่งใหญ่กว่าความตายของคนระดับแม่ทัพนายกองบางคนอีกนะครับ

ท้ายสุดนี้ ผมยังอดนึกถึงภาษิตสมัยใหม่ที่เขียนไว้น่ารัก ๆ ว่า “ความดีเหมือนกางเกงใน ควรใส่ติดตัวไว้ แต่ไม่ต้องนำมาอวดในที่สาธารณะ”

แต่..แหม่! ทุกวันนี้ดูเหมือนจะมีพวกชอบใส่กางเกงในออกมาโชว์กันเสียเหลือเกินนะครับ

Hesse004