Jul 24, 2010

"15 ค่ำ เดือน 11" เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ





“บั้งไฟพญานาค” เป็นงานบุญทางพุทธศาสนาที่มีตำนานเล่าขานกันมาตั้งแต่พุทธกาลว่า แต่เดิม “พญานาค” ที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาลนั้นมีนิสัยดุร้าย และเมื่อพุทธองค์ทรงลงมาโปรดสัตว์ที่เมืองบาดาล พญานาคก็เกิดความเลื่อมใสในธรรมจึงปรารถนาที่จะออกบวช แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากเป็นสัตว์จึงไม่สามารถบวชได้ พญานาคจึงขอปวารณาตัวเป็น “พุทธมามกะ” แทน

ตามตำนานยังกล่าวต่อไปอีกว่าหลังจากที่พุทธองค์ทรงเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว พระองค์ทรงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 โดยมีเหล่าเทพเทวาต่างทำบันไดแก้ว บันไดเงิน บันไดทอง ถวายเป็นพุทธบูชา ส่วนมนุษย์เราก็ทำบุญตักบาตรกราบไหว้บูชา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ตักบาตรเทโว” นั่นเองครับ

ครั้นรู้ถึงหูของพญานาค ณ เมืองบาดาล ท่านจึงได้สั่งให้ชาวบาดาลจัดทำ “บั้งไฟพญานาค” เพื่อจุดเฉลิมฉลองเป็นพุทธบูชาเช่นกันจนเป็นที่มาของประเพณีบุญบั้งไฟพญานาคในทุกวันนี้

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็น “ตำนาน” เรื่องบั้งไฟพญานาคที่ชาวริมโขงโดยเฉพาะจังหวัดหนองคายนั้นยึดมั่นเป็นประเพณีงานบุญสืบทอดกันมาช้านานแล้วนะครับ

ว่ากันว่าบั้งไฟพญานาคนั้นมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “บั้งไฟผี” ด้วยเหตุที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนได้ว่ามาจากอะไรกันแน่

โดยเจ้าปรากฏการณ์ประหลาดที่ลูกไฟสีชมพู ไม่มีทั้งกลิ่น ควัน หรือแม้แต่เสียง พุ่งขึ้นเหนือลำน้ำโขงนั้น ได้กลายเป็นที่โจษขานของชาวบ้านและก่อให้เกิด “ศรัทธา” ต่อสัตว์ในตำนานอย่าง “พญานาค” มาช้านาน บางพื้นที่พบรอยพญานาค บางคนบอกว่าเคยเจอพญานาคตัวเป็น ๆ ก็มี

เจ้าลูกไฟประหลาดที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขงแต่ละลูกล้วนมีระดับความสูงตั้งแต่ 1-30 เมตร บางลูกพุ่งสูงถึง 150 เมตร โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 5-10 วินาทีครับ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ บั้งไฟพญานาคนั้นจะปรากฏให้เราได้เห็นเพียงแค่ปีละครั้งในช่วง “วันออกพรรษา” หรือ “วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11”

และอย่างที่ทราบกันนะครับว่าจุดชมบั้งไฟพญานาคที่ชัดเจนที่สุดอยู่ที่ริมแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ไล่ตั้งแต่อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี อำเภอบึงกาฬ (ที่ตอนนี้กำลังจะกลายเป็นจังหวัดแล้ว) หน้าวัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ และที่อ่างปลาบึก อำเภอสังคม

“บั้งไฟพญานาค” นับเป็นที่สงสัยใคร่รู้ของเหล่านักวิทยาศาสตร์และไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มที่ทำการศึกษาลูกไฟสีชมพูที่พุ่งเหนือแม่น้ำโขงนี้เชื่อว่าน่าจะเกิดจากก๊าซมีเทน ไนโตรเจน หรือ ฟอสฟอรัสที่เกิดจากการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์ในน้ำ

อย่างไรก็ดีใช่ว่าที่หนองคายจะมีบั้งไฟพญานาคแห่งเดียวนะครับ เพราะจากข้อมูลปรากฏการณ์ประหลาดทั่วโลก พบว่า ในสหรัฐอเมริกาที่มลรัฐมิสซูรี่และเท็กซัส ก็พบเจ้าแสงประหลาดนี้เช่นกันโดยฝรั่งเขาเรียกว่า Marfa Light นอกจากนี้ที่เมืองเจดดาห์ ริมฝั่งทะเลแดง ซาอุดิอาระเบีย ยังพบเห็นเจ้าแสงประหลาดนี้เช่นกัน

ความเชื่อตามตำนานที่ถูกพัฒนารูปแบบมาสู่งานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทยลาวสองฝั่งโขง กับ การพยายามหาคำตอบตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ของคนที่ไม่อาจจะเชื่ออะไรง่าย ๆ ได้กลายเป็น “จุดปะทะ” กันระหว่างผู้คนที่มีชีวิตผูกพันกับวัฒนธรรมดั้งเดิมกับผู้คนที่ยืนยันหนักแน่นว่าทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีที่มาและพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

จุดปะทะกันที่ว่านี้ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” หรือชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า Mekhong Full Moon Party (2002) ของคุณเก้ง “จิระ มะลิกุล” กลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์” เรื่องหนึ่งของเมืองไทยเมื่อประมาณแปดปีก่อนครับ

ถ้าท่านใดได้ดูหนังเรื่องนี้คงจะเข้าใจคล้าย ๆ กันนะครับว่าจุดประสงค์ของหนังเรื่องนี้มิใช่เป็นการลบหลู่ดูถูกตำนานดั้งเดิมแต่อย่างใด หากแต่พยายามชี้ให้เห็น “ความเชื่อ” และ “ความศรัทธา” ของผู้คนที่ตั้งอยู่บนฐานคิดคนละแบบ

ศรัทธาหนึ่งอยู่บนฐานคิดที่เรียกว่า “ศาสนา” และ “ประเพณี” รวมไปถึงความเชื่อของภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนเฒ่าคนแก่ที่แม้จะดูตลกและไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่บางสิ่งบางอย่างล้วนแล้วมีเหตุผลตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกระทำนั้น

ในขณะเดียวกันศรัทธาที่อยู่ขั้วตรงข้ามเป็นศรัทธาที่อยู่บนฐานของพลังความรู้ การพิสูจน์ภายใต้กรอบแนวคิดทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์โดยมีเครื่องมือทางสถิติรองรับด้วยความสมเหตุสมผล

ในแง่ของตัวหนังผมขออนุญาตไม่วิจารณ์หรอกนะครับ เนื่องจากหนังเรื่องนี้เป็นหนังไทยคุณภาพเรื่องหนึ่งที่ทางค่ายหนังอย่าง GTH เปิดตัวออกมาได้ยอดเยี่ยม

โดยส่วนตัวขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นที่ผู้สร้างอยากสื่อสารออกมาให้เห็น คือ เรื่องความเชื่อและการลงมือทำตามความเชื่อนั้น หรือ ถ้าพูดตามประโยคคลาสสิคของ “หลวงพ่อโล่ห์” (นำแสดงโดย นพดล ดวงพร หรือ ลุงแนบ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีเพชรพิณทองอันโด่งดังในอีสาน) ก็คงต้องใช้ว่า

“เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด แล้วก็เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ” ครับ

ใช่แล้วครับ องค์ประกอบหนึ่งของการทำอะไรให้สำเร็จและบรรลุเป้าหมายนั้น “ศรัทธา” คือสิ่งสำคัญ เพราะศรัทธาจะถูกแปลงเป็น “ความเชื่อ” ก่อนจะผลักให้เราต้อง “ลงมือทำ”

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประหลาดนะครับ เพราะมนุษย์เรามีความฝัน มีจินตนาการ แต่ทั้งความฝันและจินตนาการของเราจะไม่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมได้หากเราไม่ลงมือทำเลย หรือทำไปแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ

เช่นเดียวกันกับในเรื่องที่พระกลุ่มหนึ่งที่มี “ศรัทธา” ในประเพณีบุญบั้งไฟพญานาคยังเห็นว่า “กุศโลบาย” เรื่องบั้งไฟยังทำให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนหันหน้าเข้าวัดทำบุญประพฤติตัวอยู่ในร่องในรอย ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์กลุ่มนี้จึงเลือกที่จะทำในสิ่งที่ตัวท่านเชื่อเพื่อทำให้ประเพณีบุญบั้งไฟนี้ยังอยู่ และเพื่อทำให้ศรัทธาของชาวพุทธยังอยู่

“ศรัทธา” คือ ทุกสิ่งที่อย่างที่ทำให้คนเรามีเรี่ยวแรงจะทำอะไรก็ได้นะครับ พิสูจน์ให้เห็นแล้วทั้งสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ทั้งหลายหรือสิ่งประดิษฐ์หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มนุษย์เราร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา

โดยส่วนตัวผมชอบเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ เพลง “ผู้ชนะ” ซึ่งร้องโดยคุณเสก โลโซ ทั้งเนื้อร้องและทำนองนับได้ว่าสร้างกำลังใจอย่างดีเวลาคิดจะลงมือทำงานอะไรให้สำเร็จ

ท้ายที่สุดผมคิดว่าหากเรายังมีศรัทธาในเป้าหมายของเราอยู่ บางทีศรัทธานั้นมันจะหล่อเลี้ยงให้เราเดินไปสู่สิ่งที่เราฝันไว้ได้ แม้ว่าจะเจออุปสรรคมากมายเพียงใดแต่เราก็พร้อมจะเดินไปอย่างไม่ลดละไงล่ะครับ

Hesse004

Jul 4, 2010

“ชีวิตโสด” กับ "ข้ออ้างเรื่องความฝัน"





ผมนึกถึงจั่วหัวเอนทรี่นี้แบบ “วาบความคิด” ขอใช้สำนวนของบรมครูนักเขียนอย่างครู “อาจินต์ ปัญจพรรค์” เสียหน่อยนะครับ

บ่อยครั้งไอ้อาการ “วาบความคิด” นี้เองที่ทำให้ผมนั่งเขียนโน่นเขียนนี่ได้เป็นตุเป็นตะ

ลองนั่งย้อนกลับไปดูตัวเองถึงวันแรกที่เริ่มต้นเขียนบล็อกกับวันนี้ ผมเองรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในความคิดของตัวเองไม่น้อย

จริง ๆ แล้ว กัลยาณมิตรหลายท่านแนะนำให้ผมเขียนเรื่องอะไรใกล้ตัวบ้างหรือออกไปในแนว “เบาสมองแต่ออกกำลังความคิด” ไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งผมเองก็หมั่นพยายามฝึกฝนการเขียนแนวนี้อยู่เหมือนกันนะครับ

ที่ว่าวาบความคิดถึงหัวเรื่องที่ว่า “ชีวิตโสด กับ ข้ออ้างเรื่องความฝัน” เกิดขึ้นเพราะผมกับเพื่อนอีกท่านหนึ่งที่เผอิญเป็น “โสด” ด้วยกันทั้งคู่นั่งคุยกันถึงเรื่องการมีครอบครัว การมีชีวิตคู่ การมีลูก ที่ต่างคนพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนไอ้อาการ “องุ่นเปรี้ยว” ของตัวเองว่าไอ้ชีวิตโสดที่พวกตรูเหลืออยู่นั้นมันช่างวิเศษเพียงใด

ผมแอบเปรียบเทียบให้ไอ้เพื่อนท่านนั้นฟังสั้น ๆ ว่า “ก็ยังดีที่กูกับมึงยังไม่หลงเข้าไปในกับดัก”

คงเป็นเรื่อง “ตาบอดคลำช้าง” แน่ ๆ ที่คนไม่เคยใช้ชีวิตคู่อย่างพวกกระผมจะมา “ด่วนสรุป” กันเอาเองว่าการมีชีวิตครอบครัวนั้นมันดูจะ “น่ากลัว” มากกว่า “น่าพิสมัย”

จะว่าไปแล้วคนโสดนั้นมีเพลงประจำชาติอยู่หลายเพลงนะครับ เอาตั้งแต่เพลงแรกเลยคงต้องย้อนไปถึง “สามสิบยังแจ๋ว” ของคุณยอดรัก สลักใจ ที่กลายเป็นเพลงชาติสำหรับสาวโสดอายุขึ้นต้นด้วยเลขสาม ซึ่งหากจะว่าไปพอมาถึงสมัยนี้แล้วเพลงสามสิบยังแจ๋วคงจะร้องได้ไม่เต็มปากเท่าไรนักเพราะสาวสามสิบเดี๋ยวนี้อย่าว่าแต่ “แจ๋ว” เลยครับคุณเธอยัง “เจ๋ง” กว่าผู้ชายอกสามศอกเป็นไหน ๆ

ด้วยความเคารพในเพศแม่, ผมเองรู้สึกว่าผู้หญิงนั้นมีเสน่ห์ทุกวัยแหละครับไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม

ส่วนเพลงชาติของเหล่าชายโสด ผมขอยกให้เพลง “หัวใจบ้าบิ่น” ของน้าแอ๊ด คาราบาว เลยครับ สำหรับผมแล้ว ฟังเพลงนี้ทีไรประมาณว่า “โดนใจทุกครั้ง”ไป

ในฐานะสาวกบาวคนหนึ่ง ผมชอบท่อนที่ร้องว่า “ไม่อยากให้ใครสมน้ำหน้า ว่าเป็นคนไม่มีน้ำยา ไม่อยากให้ใครเค้าดูถูก เยี่ยงสุนัขแหงนมองเครื่องบิน”

แหม่ ! ฟังแล้วเหมือนมันจะบอกให้คนทั้งโลกรู้ว่าจริง ๆ แล้วกูก็มีปัญญาหาเมียกับเค้าได้เหมือนกันนะเฟ้ย

เรื่องที่น่าถกเถียงสำหรับผู้ชายโสดที่มีวัยสมควรจะมีครอบครัวได้แล้ว คือ เอาเข้าจริง ๆ ไอ้ผู้ชายคนนั้นมันพิสมัยวิไลศักดิ์กับการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าเดียวกันหรือเปล่า?

พูดแบบไม่อ้อมก็คือ ตกลงมึงแมนจริงหรือเปล่าวะ?

ด้วยความเคารพในเพศพ่อครับ, ผมว่าใครจะแมนไม่แมน ใครจะเกย์ไม่เกย์ ล้วนแล้วแต่เป็นรสนิยมทางเพศ ซึ่งหากเราเคร่งครัดใน “ทฤษฎีการบริโภคของวิชาเศรษฐศาสตร์” แล้ว เราจะเชื่อในความหลากหลายของรสนิยมของแต่ละคนครับ ซึ่งสำหรับผมแล้วผมว่าเป็นเรื่องปัจเจกเอามาก ๆ ที่เราควรจะตัดสินใจเลือกรสนิยมเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพึงพอใจกับสิ่งที่เราบริโภคนั้นเช่นไร

กลับมาที่เพลงชาติคนโสดกันต่อดีกว่าครับ สำหรับเพลงชาติคนโสดที่มักร้องประชันกันในเวทีคาราโอเกะ เห็นจะหนีไม่พ้น “ทางเดินแห่งรัก” ของพี่แอม เสาวลักษณ์ ลีละบุตร ซึ่งได้พี่ดา ศักดา พัทธสีมา มาร่วมแจมคอรัสด้วย

“ก็ยังคงเดินทาง ยังคงเดินไป หาใครบางคน”
“ยังเต็มใจที่จะตามค้นหา และปฏิเสธที่จะท้อใจ”
“ยินดีที่จะเฝ้ารอ เพื่อเติมเต็มสิ่งที่หายไป”

ผมว่าเนื้อเพลงนี้ดีนะครับ เป็นเพลงที่เข้าอกเข้าใจชีวิตคนโสดเป็นอย่างดี… ใช่แล้วล่ะครับ การตามหาคน ๆ หนึ่งที่ “เหมาะ” หรือ “แมตช์” กับเรานั้นมันต้องใช้เวลาพอสมควร บางคนหามาตลอดชีวิตก็ยังไม่เจอ แต่ก็ยังดีนะครับที่ได้หา แต่บางคนต่างหากที่หาเจอแล้วกลับปล่อยคนที่ “ใช่” นั้นเดินจากไป ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายและเสียใจอยู่ไม่น้อย

จะว่าไปแล้วไม่ว่าชีวิตโสดหรือชีวิตคู่นั้นทุกคนล้วนมี “ต้นทุน” ด้วยกันทั้งนั้นนะครับ โดยเฉพาะหากมองแบบนักเศรษฐศาสตร์แล้วล่ะก็ การเลือกทุกครั้งย่อมมี “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” เกิดขึ้นเสมอแหละครับ

ชีวิตโสดมีต้นทุนเรื่องความเหงาในปัจจุบันและอาจพ่วงต่อไปถึงอนาคตหากวันหนึ่งต้องอยู่ดูแลตัวเองคนเดียวอย่างเงียบเหงา

ส่วนชีวิตคู่นั้นก็มีต้นทุนเช่นกันครับ ตั้งแต่การปรับตัว การปรับใจ ต้นทุนในการสร้างครอบครัว ต้นทุนในการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

ในวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นมีสาขาเศรษฐศาสตร์แขนงหนึ่งที่เรียกว่า Family Economics หรือถ้าแปลเป็นไทยคงประมาณว่า “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยครอบครัว” วิชานี้ได้รับการพัฒนาจากปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลนามว่า แกรี่ เบคเกอร์ (Gary Becker) ครับ

เบคเกอร์ อธิบายตั้งแต่ทฤษฎีการเลือกคู่ (Mate Selection) เหตุผลการแต่งงานมีครอบครัว เหตุผลในการหย่าร้าง แถมยังมองว่า “การมีลูก” เป็นการลงทุนชนิดหนึ่งซึ่งก็จะอยู่ที่ว่าผู้ผลิตคือคุณพ่อคุณแม่จะเลือกลงทุนมีลูกโดยเน้นที่ปริมาณ (Quantity) หรือจะเน้นปั๊มลูกอย่างมีคุณภาพ (Quality) นี่ยังไม่นับรวมว่าจะมีลูกอีกกี่คนดีถึงจะทำให้ฐานะครอบครัวอยู่ในสภาวะอุตมภาพ (Optimization)

แหม่ ! นี่หากคิดมากแบบปรมาจารย์เบคเกอร์ เราคงเลือกจะอยู่ครองโสดมากกว่าจะแต่งงานนะครับ แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่เบคเกอร์อธิบายนั้น คือ พฤติกรรมของมนุษย์ในการเลือกคู่ที่ยังไงก็หนีไม่พ้นเรื่องของ “การเลือก” ซึ่งก็คือหัวใจของวิชาเศรษฐศาสตร์นั่นเองแหละครับ

ถ้ามองแบบไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์บ้าง ผมว่าคนโสดหลายคนทั้งชายหญิง แม้จะมีความรักหรือแม้จะมีคนรัก แต่การเลือกที่จะอยู่คนเดียวมากกว่าจะมีครอบครัวนั้น ผมว่าชาวโสดส่วนใหญ่ยังมี “ความฝัน”ที่ตัวเองยังทำไม่เสร็จหรือยังไม่ได้ทำและก็อาจไม่แน่ใจว่าคู่ที่ตัวเองจะเลือกเข้ามาในชีวิตนั้นจะสามารถมา “เติมฝัน”หรือ”สานฝัน” พร้อมกับตัวเองได้จริงหรือเปล่า

ด้วยเหตุนี้คนโสดหลายคนจึงไม่อยากทิ้งความฝันของตัวเองไปหรอกครับ และเลือกที่จะทำฝันนั้นด้วยตัวของตัวเองดีกว่า

ขณะที่หลายท่านฝันไกลไปกว่านั้น คือ มีปณิธานตั้งมั่นใน “พระนิพพาน”ที่ไม่ต้องการกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว ซึ่งผมว่าเมื่อคนเราเข้าใจอะไรถึงจุดหนึ่งมากพอแล้ว “การไม่กลับมาเวียนว่าย” นั้นน่าจะเป็นหนทางหลุดพ้นจากความทุกข์ที่ดีที่สุดแล้วล่ะครับ

ท้ายที่สุดผมว่าคนเราทุกคนมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้นนะครับ เหตุผลที่จะเลือกมีชีวิตโสด เหตุผลที่จะเลือกมีชีวิตคู่ แม้ว่าหลายคนจะมองคนโสดว่าเอา “ข้ออ้างเรื่องความฝัน” มาเป็นเหตุกลบเกลื่อนแต่หากเอาเข้าจริงแล้วไอ้ข้ออ้างเนี่ยแหละครับที่เป็นเหตุผลให้ใครหลายคนเลือกที่จะใช้ชีวิตตามทางของตนเองที่ไม่จำเป็นต้องเดินตามทางใครหรือพูดให้นักเลงหน่อย คือ ไม่จำเป็นต้องย่ำรอยตีนใคร เข้าทำนองเพลง My Way (1969) ของ แฟรงค์ ซินาตร้า (Frank Sinatra)

เขียนมาถึงตรงนี้สงสัยผมต้องบรรจุเพลงชาติสำหรับคนโสดภาคภาษาอังกฤษเข้าไปอีกสักเพลงแล้วสิครับเนี่ย …Yes, it was my way!!

Hesse004