Apr 26, 2008

ข้าชื่อ “จูล่ง”แห่งเสียงสัน




จะว่าไปแล้วฮ่องกงพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปได้ไกลไม่น้อยนะครับ ประกอบกับความรุ่งเรืองของจีนแผ่นดินใหญ่ในศตวรรษที่ 21 นั้น ก็มีส่วนทำให้หนังฮ่องกงสามารถหยิบวัตถุดิบทางประวัติศาสตร์ชนชาติจีนมาเล่นได้มากมาย

เฉพาะปีนี้วรรณกรรม “สามก๊ก” ได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวบนแผ่นฟิล์มอย่างน้อยสองเรื่อง คือ Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon และ Red Cliff (2008) หรือ The battle of red cliff ของ “จอห์น วู” (John Woo) ที่หยิบเอายุทธการผาแดงในตอนที่โจโฉนำทัพเรือจำนวนมหาศาลมาตีกังตั๋งก่อนจะปราชัยไปอย่างหมดรูป

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon” (2008) นั้น เป็นผลงานการกำกับของ “แดเนียล ลี” (Daniel Lee) ผู้กำกับชาวฮ่องกงโดย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กล่าวถึงวีรบุรุษในยุคสมัยสามก๊กท่านหนึ่งนามว่า “เตียวจูล่ง” ครับ

ผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกที่ลงโรงฉาย ยอมรับว่าตั้งความหวังไว้สูงครับ โดยเฉพาะการที่จะได้เห็นบทบาทของ “หลิวเต๋อหัว” (Andy Lau) ในบทของ “จูล่ง”ขุนพลพยัคฆ์เดชของ “เล่าปี่”แห่งจ๊กก๊ก

อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำให้ “สามก๊ก” ที่ผมเคยคุ้นเคยนั้นผิดแผกไปจากอรรถรสที่เคยได้อ่านหรือได้ดูมา โดยเฉพาะการเพิ่มตัวละครใหม่ๆเข้ามาอย่าง “หลอผิงอัน”ในฐานะที่เป็นพี่ร่วมสาบานของจูล่งที่มาจากเมืองเสียงสันด้วยกัน หรือเพิ่มชื่อของแม่นาง “โจอิม”จอมทัพหญิงแห่งแคว้นวุยแถมยังเป็นหลานสาวของโจโฉอีกด้วย

ผมเองตั้งตารอคอยหนังทั้งสองเรื่องนับตั้งแต่ได้ข่าวการสร้างเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่า Three Kingdoms: Resurrection of the Dragon ของแดเนียล ลี จะไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกประทับใจสักเท่าไรนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากการดูหนังเรื่องนี้ คือ “มนุษย์เราจะรบกันไปเพื่ออะไร” ครับ

“จูล่ง” นับเป็นตัวละครในประวัติศาสตร์ที่น่าเคารพบูชาอย่างยิ่งครับโดยเฉพาะเรื่องของคุณธรรมความซื่อสัตย์และจงรักภักดี

ตามประวัติแล้วขุนพลเตียวท่านนี้เป็นชาวเมืองเสียงสัน มีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 700 ถึง พ.ศ.772 นับได้ว่าเป็นแม่ทัพที่มีอายุยืนท่านหนึ่งเลยทีเดียวแถมตอนตายยังได้ตายอย่างสงบบนเตียง ผิดกับขุนศึกหลายคนที่ตายกลางสนามรบบ้าง หรือ ถูกประหารชีวิตบ้าง

จูล่งเข้าสู่สมรภูมิรบด้วยการเป็นทหารชั้นผู้น้อย(ภาษาหนังสือสามก๊กเรียก “ทหารเลว”) ของกองทัพ “อ้วนเสี้ยว” ก่อนจะเลือกมาอยู่กับนายพล “กองซุนจ้าน” หลังจากที่กองซุนจ้านฆ่าตัวตายแล้ว จูล่งระหกระเหินไปเป็นหัวหน้าโจรป่าอยู่ที่ “เขาโงจิวสัน”พักหนึ่งก่อนจะมาเข้าร่วมเป็นกับกองทัพของเล่าปี่

วีรกรรมที่ทำให้จูล่งแจ้งเกิดในประวัติศาสตร์สมัยสามก๊ก คือ การฝ่ากองทัพนับหมื่นของโจโฉเพื่อไปช่วยทารกน้อย “อาเต๊า” รัชทายาทคนเดียวของพระเจ้าเล่าปี่

กล่าวกันว่าวีรกรรมที่ “ทุ่งเตียงปันโบ๋”ครั้งนั้นได้ทำให้ชื่อเสียงของจูล่งนั้นขจรไกลไปทั่วแผ่นดินจีน หลังจากนั้นจูล่งก็ได้รับตำแหน่งเป็นองครักษ์พิทักษ์เล่าปี่และครอบครัวตลอดมาโดยทำหน้าที่อารักขานายใหญ่ไปทุกหนแห่งตั้งแต่เล่าปี่เดินทางไปเข้าถ้ำเสือกังตั๋งในฐานะเขยแคว้นง่อของก๊กซุนกวน หรือ แม้แต่บุกช่วยอาเต๊าอีกครั้งตอนที่ซุนฮูหยินถูกลวงให้กลับไปยังกังตั๋ง

เกียรติประวัติสูงสุดของจูล่ง คือ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในห้าขุนพลพยัคฆ์ของพระเจ้าเล่าปี่ ร่วมกับขุนศึกแห่งยุคอย่าง กวนอู เตียวหุย ม้าเฉียว และฮองตง

สำหรับ “จูล่ง”ในสามก๊กฉบับของแดเนียล ลี นั้น มีบุคลิกของตัวละครไม่ต่างจากที่หนังสือบรรยายไว้ แม้ว่าบางฉากจะไม่เคยปรากฏในวรรณกรรมสามก๊กของหลอกว้านจง (Luo Guanzhong) เลยก็ตาม แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในตัว “จูล่ง” เวอร์ชั่นนี้คือเรื่องความคิดในเรื่องการ “ต่อต้านสงคราม” ครับ

ผมตั้งข้อสังเกตว่า “ศิลปะทุกแขนง” สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับความน่าหดหู่ของสงครามได้ดีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออย่าง All Quiet on the Western Front (1929) ของ “อิริค มาเรีย เลอมาร์ค” (Erich Maria Remarque) ที่ว่าด้วยความรันทดของทหารแนวหน้าในสงครามโลกครั้งที่ 1

เช่นเดียวกับ “ภาพยนตร์สงคราม” แม้ว่าหนังส่วนใหญ่จะพยายามเสนอมิติทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการรบราฆ่าฟันของมนุษย์ หรือยกย่องเกีรติภูมิของชนชาติตน แต่ก็มีบางแง่ที่หนังได้สะท้อนให้เห็นความรุนแรงและความไร้สาระของสงครามตั้งแต่ ความตาย ความพิกลพิการ การข่มขืนผู้หญิงและเด็กหรือแม้กระทั่งความอดอยาก

ผมชอบคำพูดช่วงท้ายที่ “จูล่ง”พูดกับ “หลอผิงอัน”ว่า “ข้าอยู่กองทัพนี้มาสามสิบสองปีแล้ว ก่อนเข้ากองทัพข้าคิดว่าอีกไม่กี่ปีแผ่นดินนี้ก็คงสงบสุข แล้วข้าก็จะได้กลับไปยังบ้านเล็กๆที่เสียงสันได้อยู่กับคนที่ข้ารัก แต่ทุกวันนี้ความทรงจำเหล่านั้นมันหายไปหมดแล้ว ทุกวันนี้เรารบกันไปเพื่ออะไรล่ะท่าน”

น่าสนใจที่หลอผิงอันบอกกับจูล่งว่า “เราทุกคนล้วนรบกันเพื่อตัวเองทั้งนั้น”

แม้ว่าตลอดทั้งเรื่องผมจะรู้สึกไม่ค่อยดีกับหนังเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่บทสนทนาตอนท้ายเรื่องกลับทำให้ผมเปลี่ยนความคิดนี้ไป

บางทีมันอาจจะเป็นความพยายามของ “แดเนียล ลี” ที่ต้องการตั้งคำถามถึงชนชั้นปกครองในทุกยุคทุกสมัยว่า “พวกคุณจะแสวงหาอำนาจไปเพื่ออะไร? พวกคุณทำสงครามกันไปทำไม? ใช่เพราะความต้องการจะเห็นราษฎรร่มเย็นแผ่นดินสงบสุขหรือเปล่า? หรือเป็นเพียงแค่ความกระสันในอำนาจของพวกคุณเพียงไม่กี่คนเท่านั้นเอง”

Hesse004

Apr 23, 2008

“ราคาอาหารเฟ้อ” กับ “Agflation”



คุณหมี Apooh ผู้น่ารัก, กัลยาณมิตรผู้แสนดีแห่งบล็อกโอเคเนชั่นส่งจดหมายไฟฟ้าฉบับน้อยมาถามว่า “ทำไมทุกวันนี้ราคาอาหารของบ้านเราแพงจังเลย”โดยเฉพาะราคาข้าวที่พุ่งสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

โดยส่วนตัวแล้วผมก็สงสัยคล้ายๆกับคุณหมีนะครับ ด้วยเหตุนี้เองผมจึงลองไปค้นข้อมูลในสมุดจดความรู้เล่มใหญ่อย่าง Wikipedia.org

ในสารานุกรมเสรีวิกิพีเดียนั้น, เขาตั้งชื่อหัวข้อของเรื่องนี้ไว้น่าสนใจว่า “2007-2008 World Food rises crisis” ครับ นั่นเริ่มสะท้อนให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของปัญหาราคาอาหารที่แพงขึ้นในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผมยังแวะไปเยือนเว็บของสำนักข่าวบีบีซีหรือ BBC News online ซึ่งได้เกาะติดสถานการณ์นี้มาซักระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน

นักเศรษฐศาสตร์เกษตรหลายคนมองว่าวิกฤตการณ์ราคาอาหารแพงตั้งแต่ปีที่แล้วนั้นเกิดจากสาเหตุหลายประการที่ผูกโยงกันอย่างไม่น่าเชื่อครับ และวิกฤตครั้งนี้กำลังเผยให้เห็นด้านลบของทุนนิยมเสรีในยุคสมัยโลกาภิวัฒน์ (Capitalism in Globalization)

ผมเองประหลาดใจไม่น้อยที่เหล่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นคล้ายกันว่าราคาสินค้าเกษตรที่แพงขึ้นนั้นมาจากความพยายามของมนุษย์ที่กำลังแสวงหาพลังงานทดแทนจากผลผลิตทางการเกษตรหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “Biofuel” นั่นเองครับ

อย่างที่รู้กันนะครับว่าทุกวันนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้นพุ่งเพิ่มเกินร้อยดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ประเทศต่างๆต้องกล้ำกลืนใช้น้ำมันราคาแพงมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยเหตุนี้เองหลายประเทศจึงเริ่มหันมาวิจัยและพัฒนาเพื่อหาพลังงานทดแทนมารองรับน้ำมันที่กำลังแพงอยู่ขณะนี้

แล้วน้ำมันแพงมันส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรแพงยังไงเหรอครับ? คำตอบคือ เมื่อปีสองปีที่ผ่านมานี้เกษตรกรในหลายๆประเทศได้เริ่มปลูกพืชเพื่อสนองต่อนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนของรัฐบาล นอกจากนี้รัฐบาลของหลายๆประเทศต่างมีนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ด้วย (Subsidy)

ด้วยเหตุนี้เองเกษตรกรในประเทศเหล่านี้เลยเริ่มหันมาปลูกพืชเพื่อพัฒนาพลังงานทดแทนกันมากขั้นแทนที่จะปลูกพืชเพื่อการบริโภคดังเช่นอดีตที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นี้เขาเรียกว่า “Food for Fuel” ครับ ดังนั้นพื้นที่ทางเกษตรส่วนใหญ่จึงถูกแบ่งไปปลูกพืชที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนนั่นเอง

อย่าลืมนะครับว่าที่ดินบนโลกใบนี้จัดเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด การที่เกษตรกรเลือกปลูกพืชชนิดหนึ่งย่อมมีค่าเสียโอกาสที่จะไม่ได้ปลูกพืชอีกชนิดหนึ่ง กรณีนี้ก็เช่นกันหากต้องการปลูกพืชไว้สำหรับทำพลังงานทดแทนก็ต้องเสียพื้นที่ปลูกพืชไว้สำหรับบริโภค

นอกเหนือจากพื้นที่เพาะปลูกสำหรับการบริโภคจะลดลงแล้ว เรื่องของหายนะ “โลกร้อน” ก็ทำให้ฤดูกาลเพาะปลูกนั้นผิดเพี้ยนไปครับ แม้ว่าเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่จะช่วยแบ่งเบาปัญหานี้ได้แต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติตั้งแต่ “ลานินย่า” หรือ “เอลนินโย่” ก็ย่อมส่งผลต่อปริมาณพืชผลทางการเกษตรที่ลดลงอย่างน่าใจหาย

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจของจีนและอินเดียจำเริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมานั้นก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการบริโภคอาหารมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นั่นหมายถึงเมื่อคนเกือบสองพันล้านคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เขาก็ยิ่งต้องการบริโภคมากขึ้น นอกจากจะบริโภคอาหารมากขึ้นแล้วการบริโภคพลังงานก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

น่าสนใจไม่น้อยนะครับ! ที่เมื่อประเทศต่างๆในโลกเลือกเดินตามรอยทุนนิยมเสรีแบบเต็มสูบแล้ว ปัญหาการ “แย่งกันกิน แย่งกันใช้” กำลังเป็นปัญหาที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อซัพพลายของสินค้าใดมีอยู่อย่างจำกัดแล้ว ขณะที่ดีมานด์มีมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนสิครับว่าราคาสินค้านั้นย่อมแพงขึ้นไม่หยุด กรณีที่เห็นได้ชัด คือ “น้ำมัน” ไงครับ

ขณะที่อาหารการกินที่เราเคยเชื่อกันว่าไม่น่าจะอดอยากนั้น การณ์กลับเป็นว่าธรรมชาติที่เคยสนับสนุนให้เราได้กินได้ใช้ตามความต้องการนั้น ทุกวันนี้ธรรมชาติไม่ได้เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับมนุษย์อีกต่อไปแล้วครับ ด้วยเหตุที่เรามัวแต่มุ่งทำลายสิ่งแวดล้อม ตักตวง
ทุกอย่างจากธรรมชาติ ถลุงใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่ถนอมรักษา

ถึงวันนี้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่แย่ลงได้ลงโทษต่อการกระทำที่ผ่านมาของมนุษย์จนทำให้ อุณหภูมิบนโลกร้อนขึ้น ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดภัยธรรมชาติแทบทุกปี สิ่งต่างๆเหล่านี้ยิ่งทำให้เกิดภาวะชะงักงันในการผลิตอาหารเข้าไปอีก

เมื่อต้นปี ค.ศ.2007 นักวิเคราะห์จาก “เมอร์ลิน ลินช์” (Merrill Lynch) ได้ประดิษฐ์ศัพท์เศรษฐศาสตร์คำใหม่ว่า “Agflation” ขึ้นมาครับ โดย Agflation เป็นเงินเฟ้อในสกุลเดียวกับ “Inflation” แต่ Agflation นั้นเกิดขึ้นจาก “ราคาพืชผลทางการเกษตร”ที่แพงขึ้นจนส่งผลต่อราคาสินค้าต่างๆที่ใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบแพงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาหาร” นี่แหละครับคือต้นเหตุที่ว่าทำไมทุกวันนี้ราคาอาหารบ้านเรามันถึง “เฟ้อ” จังเลยครับ

Hesse004

Apr 15, 2008

ฟุตบอลละเมียดของ “อาร์แซน เวงเกอร์”




แม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นสาวกเดอะกันเนอร์ (The Gunner) ที่ชื่นชอบทีมอาร์เซนอล (Arsenal) เป็นชีวิตจิตใจ แต่ผมเองกลับรู้สึกชอบฟุตบอลสไตล์เวงเกอร์ (Wengerian Style) ที่ทำให้ขุนพลหนุ่มอาร์เซนอลชุดนี้เล่นฟุตบอลได้เพลินตาจริงๆครับ

“อาร์แซน เวงเกอร์” (Arsène Wenger) หรือที่สื่อบางสำนักอ่านว่า “วองแจร์” นั้น นับเป็นยอดผู้จัดการทีมในพรีเมียร์ชิพนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 90 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในบ้านเรานั้น “เวงเกอร์” ได้รับฉายาหลายอย่างครับโดยเฉพาะ “คุณป้า” “น้าแหวง” หรือแม้กระทั่ง “เหี่ยวฟ้า”ก็ยังเคยโดนเรียก… เอาเข้าไป…นั่น

ผมว่าสื่อกีฬาไทยเข้าใจตั้งฉายาผู้จัดการทีมดีนะครับ ผู้จัดการทีมอย่าง “ท่านเซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน” (Sir Alex Ferguson) นั้นนิคเนมที่อังกฤษเรียกแกว่า “เฟอร์กี้” ส่วนสื่อไทยเรียกแกว่า “ป๋า” บางทีก็แอบเติม “แพนด้า” เข้าไปด้วย

ส่วนกุนซือที่ดู “อาภัพ” มากที่สุดในการถูกตั้งชื่อเล่นดูเหมือนจะเป็น “สเวน โกรัน อิริคสัน” (Sven Goran Ericson) และ “เชราร์ อุลลิเยร์” (Gérard Houllier) ครับ ในรายแรกนั้นชื่อเล่นถูกเรียกตามความบางของเส้นผมบนกระหม่อมจึงมีชื่อเล่นเก๋ๆว่า “เถิก” ส่วนรายหลังนั้นนิคเนมถูกเรียกตามลักษณะของดวงตาว่า “โปน”ไงครับ

สำหรับเวงเกอร์แล้ว ฉายาคุณป้า หรือ หม่อมป้า นั้นน่าจะมาจากบุคลิกบางอย่างที่อาจถูกสื่อตีความว่าป้าแหวงของเรานั้นอาจจะเป็น “เกย์” จะว่าไปแล้วเรื่องรสนิยมทางเพศนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลยังไงขออนุญาตไม่ออกความเห็นแล้วกันนะครับ

ว่ากันว่า วันที่บอร์ดบริหารอาร์เซนอลภายใต้การนำของเดวิด ดีน (David Dein) ประกาศชื่อ “อาร์แซน แวงเกอร์” ในฐานะผู้จัดการทีมคนใหม่ต่อจาก “บรูซ ริอ๊อค” (Bruce Rioch)กุนซือคนเก่าที่ไขก๊อกลาไปตั้งแต่ต้นฤดูกาล 1996 – 1997 นั้น แฟนบอลปืนโตหลายคนถึงกับอุทานเป็นภาษาปะกิตว่า “Who’s the hell Arsène Wenger” หรือประมาณว่า ไอ้หมอนี้มันเป็นใครกันวะ?

ใช่แล้วครับ “เวงเกอร์” เป็นใครมาจากไหน? มีเรื่องเล่ากันว่าฟุตบอลพรีเมียร์ชิพเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้นนิยมพ่อค้าแข้งพันธุ์ฝรั่งเศสครับ เหล่าเฟรนช์แมนดังๆที่เข้ามาหากินบนเกาะอังกฤษช่วงนั้นก็เช่น “ดาวิด จิโนล่า” (David Ginola) พ่อรูปหล่อแห่งทีมสาลิกาดง แต่ที่เห็นจะเป็นที่กล่าวขานมากที่สุดคงนี้ไม่พ้น “อิริค เดอะเกรท คันโตน่า” (Eric Cantona) แห่งแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไงครับ

“คันโตน่า” ทำให้แมนยูยิ่งใหญ่คับเกาะอังกฤษในช่วงกลางทศวรรษที่เก้าสิบก่อนจะประกาศแขวนเกือกไปอย่างดื้อๆตามสไตล์ความเป็นศิลปินลูกหนัง โดยส่วนตัวแล้วผมชอบ “คันโตน่า” นะครับ แม้จะไม่ได้เชียร์ทีมผีแดงก็ตาม ผมว่าคันโตน่ามีความเป็น “ฟุตบอลเอนเตอร์เทนเนอร์”อยู่ในตัวนั่นทำให้เวลาที่บอลอยู่กับเท้าเขาทีไร คันโตน่ามักสร้างสรรค์ความงามให้กับเกมลูกหนังได้เสมอ

กลับมาที่เวงเกอร์ต่อครับ , อาร์แซน เวงเกอร์ นั้นข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากญี่ปุ่นเพื่อมารับงานต่อจาก “ริอ๊อค” ทั้งนี้เวงเกอร์ได้สร้างให้ “นาโกย่า แกรมปัส เอ๊ค” (Nagoya Grampus Eight) ทีมในเจลีกนั้นครองแชมป์เจลีก 1 ครั้ง แถมเบิ้ลด้วยถ้วย The Emperor Cup ในฤดูกาล 1995-1996 ซึ่งทำให้เวงเกอร์ได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมของเจลีกไปครอง

อย่างไรก็ตาม “เวงเกอร์”นั้นสร้างชื่อตัวเองมาตั้งแต่คุมทีม “เอเอส โมนาโก” (AS Monaco) แล้วครับ เขาจัดเป็นผู้จัดการทีมชาวฝรั่งเศสรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับ “เชราร์ อุลลิเยร์” โดยเวงเกอร์นั้นเคยได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1988 สมัยที่คุมโมนาโกอยู่

ความยอดเยี่ยมของฟุตบอลแบบเวงเกอร์ นั้นอยู่ที่การต่อบอลสั้นๆโดยอาศัยการชิ่งบอลกันน้อยจังหวะ ทำให้เกมมีความลื่นไหลเพลินตานอกจากนี้ยังผสมกลิ่นอายของโททั่ลฟุตบอล (Total Football) แบบดัตช์ปนอยู่ด้วย

ทั้งนี้เวงเกอร์พยายามพัฒนารูปแบบการเล่นฟุตบอลตามสไตล์ของเขาเองและดูเหมือนว่าสิ่งที่เขาคิดค้นมาตลอดชีวิตการเป็นผู้จัดการทีมนั้นจะมาประสบความสำเร็จมากที่สุดกับทีมปืนใหญ่อาร์เซนอลครับ

“เวงเกอร์” นับเป็นผู้จัดการทีมสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ชิพคนแรกที่ไม่ได้อยู่ในสหราชอาณาจักร ครับทั้งนี้ฟุตบอลเมืองผู้ดีนั้นขึ้นชื่อในเรื่องอนุรักษ์นิยมอยู่แล้วด้วยเหตุที่พวกเขาเชื่อว่าฟุตบอลของชาวอังกฤษนั้นดีที่สุดในโลก แต่หารู้ไม่ว่าฟุตบอลที่เขาเล่นกันนอกเกาะอังกฤษนั้นได้พัฒนาศาสตร์ลูกหนังกันไปไหนต่อไหนแล้ว

กล่าวกันว่า “ฝรั่งเศส” กลายมาเป็นชาติมหาอำนาจฟุตบอลช่วงปลายทศวรรษที่เก้าสิบต่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนั้นก็ด้วยผลงานการพัฒนาทีมเยาวชนของสโมสรฟุตบอลในลีกเอิง พร้อมๆกับการพัฒนาเทคนิคฟุตบอลสมัยใหม่

ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องยกความดีนี้ให้กับ “เชราร์ อุลลิเยร์” ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างทีมเยาวชนฝรั่งเศสให้แข็งแกร่ง นอกจากป๋าโปนแล้วยังมี “เอมเม่ ฌักเก่ต์” ผู้จัดการทีมคนแรกที่ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกเมื่อปี ค.ศ.1998

ในฤดูกาลแรกบนเกาะอังกฤษนั้น เวงเกอร์ได้เซ็นสัญญาคว้าตัวหนุ่มน้อยนามว่า “พาทริก วิเอร่า” (Patrick Viera) หรือ “เดอะปั๊ต” ของสาวกปืนโต “วิเอร่า”นับเป็นตัวอย่างของการ “ปั้นเด็ก” ที่อาร์แซน เวงเกอร์ ทำได้ดีไม่แพ้เฟอร์กี้

ในฤดูกาลที่สองของเขา (1997-1998) เวงเกอร์ทำในสิ่งที่อาร์เซนอลไม่ได้ทำมานานแล้วนั่นคือคว้าดับเบิ้ลแชมป์มาครองทั้งพรีเมียร์ชิพและเอฟเอคัพ การคว้าดับเบิ้ลแชมป์ในปีนั้นนับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์สโมสร (ครั้งแรกทำได้ในสมัยปรมาจารย์ลูกหนังเฮอร์เบิร์ต แชปแมน) โดยทีมปืนใหญ่ได้ถีบ “แมนยู” กระเด็นจากการผูกขาดบัลลังก์แชมป์พรีเมียร์ชิพมายาวนาน

กล่าวกันว่าหัวใจแห่งความสำเร็จของอาร์เซนอลชุด 1997-1998 นั้นอยู่ที่แบ๊คโฟร์ซึ่งมีอายุรวมกันมากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดากองหลังของทีมในพรีเมียร์ชิพด้วยกัน โดยปราการหลังทั้งสี่ของเวงเกอร์ประกอบไปด้วย “โทนี่ อดัมส์ (Tony Adam), สตีฟ โบว์ (Steve Bould), ไนเจล วินเทอร์เบิร์น (Nigel Winterburn)และ ลี ดิกซัน (Lee Dixon) ครับ และเมื่อภายหลังสตีฟ โบว์ปลดระวางไป เวงเกอร์ก็ได้ มาร์ติน คีโอว์น (Martin Keown) มายืนเซนเตอร์คู่กับอดัมส์

ความแกร่งของกองหลังอาร์เซนอลชุดนั้นเมื่อบวกกับความสดของกองกลางที่เวงเกอร์สร้างขึ้นมาโดยมี “เอ็มมานูเอล เปอตีต์” (Emmanuel Petit) ไอ้หนุ่มผมยาวเป็นมิดฟิลด์เกมรับที่ครองบอลได้เหนียวแน่นแถมได้ลูกหาบอย่าง “วิเอร่า” มาช่วยอีกยิ่งทำให้แดนกลางของทีมปืนโตนั้นมั่นคงไม่น้อย

ขณะที่เกมรุกเวงเกอร์ใช้ปีกตัวจิ๊ดอย่าง “มาร์ค โอเวอร์มาร์” (Marc Overmars) ประสานงานกับคู่หน้าอย่าง “ดิ ไอซ์เบิร์ก” เดนนิส เบิร์กแคมป์ (Dennis Bergkamp) และหัวหอกดาวรุ่งอย่าง “นิโคล่า อเนลกา” (Nicolas Anelka) เรียกได้ว่าอาร์เซนอลชุดนั้นได้สร้างปรากฎการณ์ความ “ละเมียด” ขึ้นในวงการฟุตบอลอังกฤษที่แต่เดิมมุ่งเน้นที่พละกำลัง หากแต่เด็กๆของเวงเกอร์ได้ทำให้ “บอริ่งอาร์เซนอล” ที่จอร์จ เกรแฮม (George Graham) เคยสร้างไว้เปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยทีเดียวครับ

แม้ว่าฤดูกาลที่สามของเวงเกอร์ (1998-1999) จะถูกกลบด้วยรัศมีความยิ่งใหญ่ของ “ผีแดง” ที่กระชากทริปเปิ้ลแชมป์แรกได้ แต่สิ่งที่เวงเกอร์ได้มานั้นกลับเป็นอนาคต “ตำนานเดอะกันเนอร์”นามว่า “เธียรี่ เดอะห้อย อองรี” (Thierry Henry) ครับ นอกจากอองรีแล้วอาร์เซนอลยังเสริมทัพด้วยผู้เล่นอย่าง “บิ๊กโซล” โซล แคมป์เบล (Sol Campbell) รวมไปถึงปีกจรวดตัวใหม่อย่าง “เฟรดริก ลุงเบิร์ก” (Fredrik Ljungberg) และ มิดฟิลด์หน้าหยกนามว่า “โรแบร์ ปิแรส” (Robert Pirès)

เวงเกอร์ค่อยๆสร้างทีมของเขาอย่างปราณีต โดยมองที่ระบบการเล่นเป็นสำคัญทั้งนี้การสร้างทีมของเขาไม่ได้เน้นที่การดึง “บิ๊กเนม”มาอย่างที่หลายทีมทำกัน เวงเกอร์ได้เปิดโอกาสให้นักเตะโนเนมอย่าง “เปอตีต์ , พาร์เลอร์, ลุงเบิร์ก, ปิแรส, จิลเบอร์โต, อเดบายอร์, ตูเร่, เอบูเอ้, ฟามินี่, ฟาเบรกัส” และอีกหลายต่อหลายคนได้แจ้งเกิดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

หากเราดูพัฒนาการฟุตบอลของอาร์เซนอลให้ดีจะพบว่า อาร์เซนอลนั้นสร้างทีมด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กหนุ่มๆที่เติบโตมาจากสถาบันอคาดามี (ที่ไม่ใช่แฟนตาเชีย) ฟุตบอลของพวกเขาทั่วทุกมุมโลกได้ลงเวทีใหญ่ในพรีเมียร์ชิพ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเวงเกอร์จึงมีนักเตะพลังหนุ่มที่กระหายในความสำเร็จมาช่วยทีมอยู่เสมอ

กล่าวกันว่าความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลสไตล์เวงเกอร์ (Wengerian Style) นั้นอยู่ในฤดูกาล 2003-2004 ครับ เมื่ออาร์เซนอลชุดนั้นกลายเป็นทีม “ไร้พ่าย” ตลอดสามสิบแปดนัดในพรีเมียร์ชิพจนทำให้พวกเขาเถลิงบัลลังก์แชมป์ได้อีกสมัย

อาร์เซนอลชุดนั้นได้บันทึกความสุดยอดของ “มหัศจรรย์อองรี” และลูกเก๋าของน้าเบิร์กแคมป์ ขณะเดียวกัน “เดอะปั๊ต” ก็กลายเป็นมิดฟิลด์เกมรับที่เล่นบอลได้แน่นที่สุดคนหนึ่งไม่แพ้ “รอย คีน”เลยทีเดียว

ทุกวันนี้ “เวงเกอร์” ทำให้อาร์เซนอลกลายเป็นหนึ่งในบิ๊กโฟร์ของฟุตบอลพรีเมียร์ชิพ เขาทำให้อาร์เซนอลกลายเป็นคู่ตุนาหงันท้าชิงบัลลังก์จ่าฝูงพรีเมียร์กับแมนยูมานานหลายปี นอกจากนี้ในเวทียุโรปทีมของเวงเกอร์ก็ทะลุไปไกลถึงรอบชิงฟุตบอลยูฟ่าแชมป์เปี้ยนส์ลีกเมื่อฤดูกาล 2005-2006 ก่อนจะพ่ายความเคี่ยวของ “บาร์เซโลน่า” ไปอย่างน่าเสียดาย

ผมชอบฟุตบอลและปรัชญาการทำทีมฟุตบอลของ “เวงเกอร์” ครับ ผมว่าเขาเป็นผู้จัดการทีมที่มีวิสัยทัศน์ไกลในการพัฒนากีฬาฟุตบอลทั้งรูปแบบและแทคติคการเล่น รวมไปถึงการพัฒนาอาชีพนักฟุตบอลโดยเปิดโอกาสให้กับนักเตะเยาวชนใหม่ๆอยู่เสมอ

แต่น่าเสียดายที่ฤดูกาลนี้ของอาร์เซนอลน่าจะไม่มีความสำเร็จอะไรติดไม้ติดมือแต่สิ่งหนึ่งที่เวงเกอร์ได้สร้างไว้ให้กับอาร์เซนอลชุดนี้ คือ “อนาคต” ของทีมที่ยิ่งใหญ่ต่อไปไงล่ะครับ

Hesse004

Apr 7, 2008

สำรวจแนวคิดนักเศรษฐศาสตร์จีน




ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์, ผมเองไม่ค่อยคุ้นเคยกับชื่อเสียงของนักเศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันออกเท่าไรนัก ด้วยเหตุที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่นั้นล้วนมาจากนักเศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันตกแทบทั้งสิ้นครับ

ยิ่งหากเปิดเข้าไปดูหอเกียรติยศนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลแล้ว ปรากฏว่ามีชาวเอเชียเพียงคนเดียว คือ “อมาตยา เซน” (Amartya Sen ) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้จากธนาคารกลางสวีเดน

ว่ากันว่าความยิ่งใหญ่ในโลกโนเบลไพรซ์ทางเศรษฐศาสตร์นั้นถูกผูกขาดอยู่กับนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน (เชื้อสายยิว) โดยเฉพาะจาก “สำนักชิคาโก” (Chicago school) ที่แทบจะครองความยิ่งใหญ่ในบรรณพิภพทางเศรษฐศาสตร์เลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ดีท่านผู้อ่านทราบมั๊ยครับว่าปัจจุบันนี้นักเศรษฐศาสตร์จากจีนนั้นกำลังได้รับการจับตามองอยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุที่จีนคือประเทศที่มีอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ดังนั้นการเข้าใจแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์จีนจึงเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันตกสนใจอย่างยิ่งครับ

เมื่อปี ค.ศ.2002 มีบทความชิ้นหนึ่งของนาย “ฉี หัง กวาน” (Chi Hung Kwan) ได้เขียนถึงแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์จีนร่วมสมัยในช่วงที่จีนกำลังเปิดประเทศเต็มตัว โดยบทความดังกล่าวมีชื่อว่า “Taxonomy of Chinese Economists Beyond the dichotomy between reformists and conservative” ซึ่งอาฉีได้จำแนกประเภทนักเศรษฐศาสตร์จีนจากแนวคิดทางเศรษฐกิจและแนวคิดทางการเมืองครับ

แนวคิดทางเศรษฐกิจที่ว่านี้ อาฉี แกยึดจากความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจนั้นควรจะยึดที่เป้าหมายใดระหว่างประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยกร (Efficiency) หรือความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร (Fairness)

แหม่! พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์เนี่ยมันวิชาการเกินเหตุนะครับ เพราะไอ้คำว่า Efficiency นั้นนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักส่วนใหญ่เชื่อว่า “กลไกตลาด”หรือ “มือที่มองไม่เห็น” นั้นเป็นตัวจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจึงไม่ค่อยชอบให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์อีกสายหนึ่งโดยเฉพาะฝ่ายซ้ายที่บูชาลัทธิมาร์กซ (Marxism) กลับเชื่อว่ารัฐต่างหากที่ควรมีบทบาทในการจัดสรรทรัพยกรเพื่อเน้นความเป็นธรรมให้กับทุกคนในสังคม

จะว่าไปแล้วแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ต่างกันสุดขั้วนี้เองที่ทำให้เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อนเกิดการแบ่งขั้วแยกค่ายกันชัดเจนระหว่าง “โลกทุนนิยม”และ “โลกสังคมนิยม”

ในส่วนของแนวคิดทางการเมืองนั้น อาฉี ได้จำแนกนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ออกเป็น 4 พวก ครับ คือ พวกที่ยังอนุรักษ์เชื่อในระบอบสังคมนิยมไม่เสื่อมคลาย (Conservative), พวกที่สนับสนุนให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจก่อนจากนั้นก็ค่อยๆทำการปฏิรูปการเมืองต่อไปหรือ Pro Establishment พวกนี้เชื่อว่าหากปฏิรูปการเมืองเป็นประชาธิปไตยเร็วเกินไปจะมีปัญหาแน่นอน, พวกที่ต่อต้านปฏิรูปการเมืองหรือ Anti Establishment เพราะเชื่อว่าปฏิรูปไปยังไงก็มีปัญหาเหมือนเดิม เพราะพวกนี้ก็ไม่เชื่อน้ำยารัฐบาลคอมมิวนิสต์เท่าใดนักเนื่องจากการบริหารงานที่ผ่านมาเต็มไปด้วยปัญหาโดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นของคนในพรรคเอง สำหรับพวกสุดท้าย คือ พวกที่เชื่อว่าจีนต้องปฏิรูปการเมืองเป็นประชาธิปไตยทันทีหรือพวก Reformist ครับ

คราวนี้ลองมาไล่ดูว่านักเศรษฐศาสตร์จีนดังๆนั้นถูกจัดอยู่ในประเภทใดบ้าง เริ่มจากกลุ่มที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเวลานี้ นั่นคือ กลุ่ม Pro-Establishment ครับ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์สำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่ หวู จิงเหลียน (Wu Jing Lian) , หลิน อี้ฟู่ (Lin Yifu) และฟานกัง (Fan Gang) ครับ นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามท่านนี้ล้วนติดอันดับท๊อปเทนของนักเศรษฐศาสตร์จีนในปัจจุบัน


“หวู จิงเหลียน” นับเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก๋าที่มีแนวคิดเอนไปทางทุนนิยมตลาดแต่ไม่ถึงกับสุดโต่ง ทั้งนี้ แนวคิดของหวูมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจจีนช่วงที่จีนกำลังเริ่มต้นเปิดประเทศเต็มตัวโดยเฉพาะการนำกลไกตลาดมาจัดสรรทรัพยากรในระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมจนสื่อของจีนเรียกระบบแบบนี้ว่า Wu Shichang หรือระบบตลาดแบบหวู (Market Wu) นั่นเองครับ

นอกจาก “หวู” แล้ว ว่ากันว่านักเศรษฐศาสตร์จีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเวลานี้ คือ “หลิน อี้ฟู่” ครับ ด้วยเหตุที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาหลินได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Chief Economist ของธนาคารโลกนับเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้เป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก หลิน อี้ฟู่นั้นจบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ครับ หลินนั้นเคยเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งและได้รับการทาบทามจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนให้เข้ามามีส่วนในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจจีนช่วงสมัยรัฐบาลของนายจู หรงจี

สำหรับกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในการปฏิรูปเศรษฐกิจพร้อมๆกับการปฏิรูปการเมืองนั้น ได้แก่ สตีเวน เจียง (Steven Cheung) และ หยาง เสี่ยวไข (Yang Xiaokai) ซึ่งแนวคิดของพวก ปฏิรูปหรือ Reformist นี้ต้องการเห็นจีนเป็นประเทศทุนนิยมที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มตัวครับ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าแนวคิดของพวกปฏิรูปนี้จะเป็นไปได้แค่แนวคิดปฏิรูปด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในส่วนของการปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยนั้นเห็นจะยากเต็มทีครับตราบใดที่รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ยังครองอำนาจในจีนอยู่

ทั้งนี้ลองดูภูมิหลังของนักเศรษฐศาสตร์จีนกลุ่มนี้ก็ไม่น่าแปลกนักที่ทำไมพวกเขาจึงเชื่อในการปฏิรูป เพราะ สตีเวน เจียง เป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงซึ่งเป็นพวกเสรีนิยมเต็มตัว ส่วนโปรเฟสเซอร์หยางนั้นสอนเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยโมแนชในออสเตรเลีย ครับ

คราวนี้ลองมาดูพวกสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ครับ กลุ่มอนุรักษ์นิยมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองนั้น ทุกวันนี้ดูเหมือนจะมีเพียง “หู อันกัง” (Hu Angang) อาจารย์เศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) เป็นหัวขบวน พวกนี้เชื่อว่ายังไงซะรัฐยังคงต้องมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นธรรมของคนในสังคมอยู่ดี อย่างไรก็ตามโปรเฟสเซอร์หูนั้นถูกจัดว่าเป็น “พวกซ้ายใหม่” (New left) ครับ ซึ่งมีมุมมองคล้ายกับพวกสังคมนิยมประชาธิปไตยในยุโรป (Social Democracy) พวกนี้ไม่ได้เคร่งตำรา Marx และ Lenin อีกต่อไปแล้ว หากแต่พยายามหาหนทางประนีประนอมกับโลกความจริงมากขึ้น

สำหรับพวกสุดท้ายที่ถูกเรียกว่า Anti- Establishment นั้น นักคิดคนสำคัญในกลุ่มนี้เป็นนักหนังสือพิมพ์หญิงนามว่า “เห ฉิ่งเหลียน” (He Quinglian) ถ้าอ่านผิดต้องขออภัยด้วยครับ นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ไม่เชื่อน้ำยาการบริหารงานของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะค่อยๆปฏิรูปการเมืองเป็นประชาธิปไตยก็ตาม แต่ปัญหาที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ฝากไว้อย่าง การคอร์รัปชั่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปล่อยให้มีสินค้าผิดกฎหมายเกลื่อนเมือง ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ดี นอกจากนี้แนวคิดของพวกนี้เชื่อว่ารัฐบาลที่ดีควรมีบทบาทในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมจีนก่อนเพราะนับวันปัญหาดังกล่าวดูจะก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามครับหนังสือของ “เห ฉิ่งเหลียน” นั้นถูกแบนในจีนแผ่นดินใหญ่ถึงขนาดทำให้เจ้าตัวต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ในอเมริกาเลยทีเดียว

ข้อสังเกตของผมจากการอ่านบทความนี้อยู่ที่เรื่องความพยายามที่จะหาจุดลงตัวของระบบทุนนิยมแบบจีนๆกับระบอบการปกครองสังคมนิยมภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์

หากเรามองว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนพยายามบริโภคสินค้าสองชนิด คือ “สินค้าทุนนิยม” และ “สินค้าประชาธิปไตย” นั้นน่าคิดเหมือนกันนะครับว่าสินค้าทั้งสองประเภทนี้มันเป็นสินค้าประกอบกัน (Complementary goods) ตามหลักเศรษฐศาสตร์หรือเปล่า? เพราะเมื่อตั้งใจจะเสพระบอบทุนนิยมแล้ว มันแทบจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบริโภคประชาธิปไตยเคียงเข้าไปด้วย

หรือจะเป็นเพราะว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนนั้นมองว่า “ประชาธิปไตย” ยังคงเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (Luxurious good) สำหรับประชาชนอยู่ เพราะหากรายได้ต่อหัวของชาวจีนยังไม่สูงพอก็อย่าเพิ่งคิดบริโภคสินค้าประชาธิปไตยจะดีกว่า

ท้ายที่สุด ผมยังเชื่อในภูมิปัญญาและสติปัญญาของนักเศรษฐศาสตร์จีนอยู่ครับและเชื่อว่าพวกเขาคงพยายามหาจุดสมดุลระหว่างทุนนิยมแบบจีนๆกับประชาธิปไตยแบบจีนๆได้ในไม่ช้านี้ครับ

Hesse004

Apr 5, 2008

“Yi yi”นั่งสังเกตการณ์ชีวิต




ในกระบวนหนังจีนด้วยกันแล้ว หนังจาก “ไต้หวัน” ดูจะได้รับความนิยมน้อยที่สุดนะครับ สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการแผ่อิทธิพลของหนังฮ่องกงนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมาโดยเฉพาะหนังกำลังภายในจากสตูดิโอดังอย่าง “ชอว์บราเธอร์”

อย่างไรก็ตามชื่อของผู้กำกับอย่าง อั้งลี่ (Ang Lee), ไฉ้ หมิง เหลียง(Ming-liang Tsai) และ เอ็ดเวิร์ด หยาง (Edward Yang) ได้ปลุกกระแสหนังพันธุ์ไต้หวันให้ได้รับความนิยมในหมู่คอหนังอาร์ต โดยเฉพาะในรายของของ “อั้งลี่” แล้ว การบุกเบิกฮอลลีวู้ดด้วย Crouching Tiger hidden Dragon (2000) เมื่อแปดปีก่อนได้ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ทรงอิทธิพลที่สุดของฮอลลีวู้ดในเวลานี้เลยก็ว่าได้

สำหรับ “ไฉ้ หมิง เหลียง” นั้นโด่งดังมาจาก What time is it there? (2001) ครับ หนังเรื่องนี้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ
ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) เมื่อปี ค.ศ.2001 กล่าวกันว่าหนังของอาไฉ้นั้นเป็นหนังที่ดูยากมาก มัธยัสถ์บทพูด แต่เต็มไปด้วยประเด็นและสัญลักษณ์ที่ผู้ชมต้องไปตีความกันเอาเอง

ส่วน “เอ็ดเวิร์ด หยาง” นั้น สร้างชื่อมาจากเทศกาลหนังเมืองคานส์เช่นกันครับ ซึ่งงานของ เขา เรื่อง Yiyi(2000) นั้นเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำและ “หยาง” เองก็ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไปเมื่อปี ค.ศ.2000

Yiyi หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า A One and A Two ได้กล่าวถึงครอบครัวชาวจีนไต้หวันครอบครัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใน “ไทเป” ครอบครัวนี้ประกอบไปด้วย อาม่า (ยาย) , อาเจี้ยน (พ่อ) , อาหมิง (แม่) , ผิง ผิง (ลูกสาวคนโต) และ หยาง หยาง (ลูกชายคนเล็ก)

หนังเปิดฉากด้วย “งานแต่งงาน” ของน้องชายอาหมิงซึ่งจะว่าไปแล้วเสมือนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่กำลังบอกถึง“ชีวิตครอบครัว” จริงๆ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

หลังจากนั้น เอ็ดเวิร์ด หยาง ได้ค่อยๆฉายภาพชีวิตของแต่ละคนในครอบครัวนี้โดยสลับฉากชีวิตของแต่ละคนที่ใช้ชีวิตธรรมดาทั่วไปคล้ายกับเรากำลังนั่งสังเกตการณ์หลายชีวิตในครอบครัวนี้อยู่

จะว่าไปแล้วหนังแนวครอบครัวทำนองเดียวกับ Yiyi ที่ทำออกมาได้น่าชมเท่าที่นึกออกน่าจะเป็น Little Miss Sunshine (2006)ของ โจนาธาน เดย์ตัน (Jonathan Dayton)และ วาเลรี่ ฟารีส (Valerie Faris) หนังฟอร์มเล็กเรื่องนี้นับว่าไม่ธรรมดาเลยนะครับเพราะเข้าชิงรางวัลอคาดามี (ออสการ์)เมื่อปี ค.ศ.2006 ด้วย

“เอ็ดเวิร์ด หยาง” พยายามกล่าวถึงปัญหาของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยครับ ซึ่งจะว่าไปแล้วเราทุกคนล้วนมีปัญหาให้ขบกันอยู่ตลอดเวลาเริ่มจาก “หยาง หยาง” ลูกชายคนเล็กขี้สงสัยที่กำลังอยู่ในวัยตั้งคำถามและเรียนรู้โลกของผู้ใหญ่

ผมแอบติดใจคำพูดของเจ้าหนูน้อยตอนที่พูดกับ “อาเจี้ยน” ผู้พ่อว่า “สิ่งที่ผมเห็น พ่อจะไม่เห็น สิ่งที่ผมไม่เห็น พ่อจะเห็น” น่าแปลกมั๊ยครับ คำพูดของเด็กเจ็ดแปดขวบดูมีปรัชญาอะไรแฝงอยู่ และยิ่งเราดูบทบาทของเจ้าหนูคนนี้ไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าเด็กคนนี้ช่างคิดอยู่ไม่น้อย อย่างเช่นเอากล้องที่พ่อซื้อให้มาถ่ายรูป “ยุง” เพียงเพื่อพิสูจน์ให้คนเห็นว่ามันมียุงอยู่ในคอนโดจริง

นอกจากนี้ความแปลกของเจ้าหนูในเรื่องหัดถ่ายรูปยังอยู่ที่การถ่ายรูปคนจากข้างหลัง ทั้งนี้เจ้าหนูหยาง หยาง ให้เหตุผลว่าคนส่วนใหญ่ถ่ายรูปข้างหน้ากันอยู่อย่างเดียวทำให้เรามองเห็นแต่ข้างหน้าจนเรามองไม่เห็นข้างหลัง ดังนั้น ผม (เจ้าหนู) ขอเป็นคนถ่ายรูปข้างหลังดีกว่าจะได้มองเห็นคนอีกด้านหนึ่ง

ผมแอบตั้งข้อสังเกตในใจไว้ว่าสงสัยเรื่องนี้ “เอ็ดเวิร์ด หยาง” คงต้องการสื่อสารความเป็นตัวเองผ่านเจ้าหนูน้อย “หยาง หยาง” เป็นแน่แท้ เพราะดูจากชื่อเจ้าหนูก็พ้องกับสกุลของผู้กำกับแล้ว

นอกจากความช่างคิดของหยาง หยาง แล้ว ประเด็น “วัยรุ่น” ในหนังเรื่องนี้ก็สื่อได้ดีเช่นเดียวกันครับ ซึ่ง “ผิง ผิง” ลูกสาวคนโตของบ้านกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น

ในเรื่องนั้น, ผิง ผิง ดูจะเป็นเด็กดีเรียบร้อย ขยันเรียน และละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตามปัญหาในวัยรุ่นก็ไม่พ้นเรื่อง “ความรัก” แหละครับ ซึ่งรักแรกของผิงผิงกลับกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่ไม่น่าจดจำนัก

สำหรับชีวิตของ “อาเจี้ยนและอาหมิง” นั้นก็อยู่ในวัยที่กำลังก่อร่างสร้างตัวให้มั่นคงเลี้ยงลูกสองคนอีกทั้งดูแลแม่ที่นอนป่วยไม่รู้สึกตัว เราได้เห็นภาพชีวิตมนุษย์เงินเดือนของผัวเมียคู่นี้ที่ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ จนวันหนึ่ง “อาหมิง” มานั่งร้องไห้อย่างไม่รู้สาเหตุว่า
“เฮ้ ! ฉันตื่นแต่เช้าไปทำงาน อยู่ที่ทำงานจนดึกดื่น กลับมาบ้านนอน แล้วก็ตื่นแต่เช้าไปทำงาน ทำไมชีวิตฉันมันหมุนเวียนจำเจเป็นวงจรอย่างนี้”

บางทีคำถามของ “อาหมิง” ก็ไม่ต่างกับคำถามของพวกเราในฐานะมนุษย์เงินเดือน ที่จู่ๆวันหนึ่งเรามานั่งตั้งคำถามกับตัวเองว่า “กูกำลังทำอะไรอยู่วะ” โชคดีที่อาหมิงได้อาเจี้ยน ซึ่งเป็นสามีที่เข้าใจความรู้สึกของภรรยาดีจึงค่อยๆปลอบใจและให้กำลังใจกันไป

ตัวละครอย่าง“อาเจี้ยน” แสดงออกซึ่งความเข้มแข็งและความเข้าใจในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างดีครับ ตัวอาเจี้ยนเองก็มีปัญหาเรื่องงานแถมยังเจอเรื่อง “คนรักเก่า” อีกก็ทำให้อาเจี้ยนเขวไปเหมือนกัน แต่อาเจี้ยนก็ค่อยๆใช้สติในการแก้ปมปัญหาต่างๆไปได้ด้วยดี ผมว่าอาเจี้ยนเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็น “สามีและพ่อ” ที่ค่อยๆประคับประคองครอบครัวและแก้ปัญหาชีวิตไปอย่างมีสติ

ผมนั่งดูหนังเรื่องนี้พลางนึกถึง “ชีวิตและความเป็นมนุษย์” ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีประสบการณ์แบบในหนังเรื่อง Yiyi ไม่ว่าจะเป็นความสงสัยอยากรู้ในวัยเด็ก การปรับตัวในวัยรุ่น การตั้งคำถามถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ในวัยทำงาน แม้กระทั่งความพยายามประคับประคองชีวิตครอบครัวให้รื่นรอดในวันที่เผชิญมรสุมชีวิต

หนังเรื่องนี้ปิดท้ายด้วย “งานศพ”ของอาม่า ครับ ในบทหนังนั้น “อาม่า”ดูจะเป็นศูนย์กลางของครอบครัวเพราะตั้งแต่อาม่าป่วยนอนไม่รู้เรื่อง “อาเจี้ยนและอาหมิง” พยายามให้คนในครอบครัวมาพูดคุยกับอาม่าเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้แกฟังทั้งๆที่แกไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว ด้วยเหตุนี้เองเราจึงได้เห็นภาพอาม่าในฐานะผู้ที่รับฟังเรื่องราวทุกอย่างของลูกหลานแต่ไม่สามารถรับรู้อะไรได้อีกแล้ว

ฉากสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ “เอ็ดเวิร์ด หยาง” ได้สื่อให้เห็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดชีวิตจากพิธีกรรมในงานศพซึ่งดูเหมือนว่าชีวิตบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรเลย สุดท้ายแล้วก็ว่างเปล่าใช่มั๊ยครับ

Hesse004