Dec 13, 2009

ถึงเวลาเปลี่ยนแปลง “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย” แล้วหรือยัง?





สืบเนื่องมาจากความล้มเหลวของทีมฟุตบอลชายไทยในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 25 ทำให้แฟนบอลส่วนใหญ่เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย” นั้นจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อเรียก “ศรัทธา” บอลไทยให้กลับคืนมา

โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าเราควรจะตั้งคำถามต่ออีกเช่นกันว่า “แล้วเมื่อไหร่จะถึงเวลาเปลี่ยนแปลงสมาคมฟุตบอลซะที”

“สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2459 หรือเมื่อ 93 ปีที่แล้ว และเข้าเป็นสมาชิกฟีฟ่าเมื่อปี พ.ศ. 2468 โดยเป็นประเทศที่สองของทวีปเอเชียที่เป็นสมาชิกฟีฟ่า (แต่ยังไม่เคยไปเล่นฟุตบอลโลก)

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ดูแลและบริหารทีมฟุตบอลชาติไทยทั้งชายและหญิงตั้งแต่ชุดใหญ่ไปยันชุดเยาวชน ด้วยเหตุนี้เองสมาคมฟุตบอลจึงได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ

ปัจจุบันสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานของ “สภากรรมการบริหารกิจการ” โดยมีสำนักเลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยที่เปรียบเสมือนเป็นแม่บ้านคอยจัดการงานภายในสมาคม

ภายใต้การทำงานของสภากรรมการบริหารกิจการสมาคมมี “นายวรวีร์ มะกูดี” เป็นนายกสมาคมและมี “นายองอาจ ก่อสินค้า” เป็นเลขาธิการสมาคม นอกจากนี้ในสภากรรมการบริหารยังแยกฝ่ายการทำงานออกเป็น ฝ่ายจัดการแข่งขัน, ฝ่ายการตลาดและสิทธิประโยชน์, ฝ่ายต่างประเทศ, ฝ่ายสวัสดิการและพัฒนาสโมสร, ฝ่ายพัฒนาภูมิภาค, ฝ่ายพัฒนาเยาวชนระดับรากหญ้า, ฝ่ายพัฒนาเทคนิค และฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ทั้งนี้แต่ละฝ่ายจะมี “อุปนายก” เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน

นอกจากนี้สมาคมยังแต่งตั้ง “นายทะเบียน” หนึ่งคน “เหรัญญิก” หนึ่งคน และกรรมการกลางอีกแปดคน ขณะเดียวกันสมาคมยังต้องทำหน้าที่หา “ผู้จัดการทีมและผู้ฝึกสอน” ให้แก่ทีมชาติไทยแต่ละชุด

ปัจจุบันทีมชาติไทยมีทั้งหมดสิบสองชุดครับ ประกอบไปด้วย ทีมชาติไทยชุดใหญ่, ทีมชาติไทยชุดโอลิมปิค, ทีมชาติไทยชุดซีเกมส์, ทีมชาติไทยชุดเยาวชนอายุระหว่าง 18-20 ปี, ทีมชาติไทยชุดเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี, ทีมชาติไทยชุดเยาวชนอายุระหว่าง 12-14 ปี, ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดใหญ่, ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดเยาวชนอายุระหว่าง 18-20 ปี, ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี, ทีมฟุตซอลทีมชาติไทย, ทีมฟุตซอลชิงแชมป์อาเซียน และทีมฟุตซอลหญิงทีมชาติไทย (ข้อมูลจาก http://www.fat.or.th/web/commitee.php )

จะเห็นได้ว่าสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นสมาคมใหญ่ที่ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการควบคุมดูแลฟุตบอลทีมชาติไทยทั้งชายหญิงทุกชุด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตัวเลขงบประมาณล่าสุดปี 2553 ที่สมาคมได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณคือ 205 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนและพัฒนาฟุตบอลไทย

นอกจากนี้ในปีหน้าสมาคมยังได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลใน “โครงการต้นกล้าอาชีพฟุตบอล” อีก 99 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนานักฟุตบอลไทยที่มีอายุระหว่าง 15-28 ปี เพื่อก้าวสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

สมาคมฟุตบอลยังต้องทำหน้าที่จัดการแข่งขันต่างๆภายในประเทศซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้นสิบรายการได้แก่ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ, ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก , ข, ค และ ง รวมไปถึงฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก, ฟุตบอลไทยแลนด์ดิวิชั่น 1 ,ฟุตบอลอาชีพลีกภูมิภาคดิวิชั่น 2, และมูลนิธิไทยคม เอฟเอ คัพ

ขณะเดียวกันสมาคมยังต้องจัดส่งทีมฟุตบอลทีมชาติไทยทุกชุดเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติในแต่ละรายการอย่างฟุตบอลซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิคเกมส์ อาเซียนคัพ เอเชียนคัพ แต่ทัวร์นามเนต์ที่ถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของสมาคมฟุตบอลคือ “ฟุตบอลโลก”

อย่างไรก็ตามผลงานของสมาคมฟุตบอลในอดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างไรนั้น ผมว่าทุกท่านก็คงทราบกันดีอยู่แล้วนะครับ

น่าสนใจว่าเมื่อกีฬาฟุตบอลกลายเป็นกีฬาที่มีความสำคัญกับ “ความปรารถนาอย่างแรงกล้า” ของคนไทยแล้ว การติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับสมาคมฟุตบอลจึงได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ ลองเปรียบเทียบดูนะครับว่าทุกคนรู้จักชื่อ “คุณวรวีร์” ในฐานะนายกสมาคมฟุตบอลมากกว่าที่จะรู้จักชื่อของนายกสมาคมกีฬาท่านอื่นๆ

เมื่อความสำคัญมันดูจะมากมายขนาดนี้แล้ว มิพักต้องเอ่ยถึง “สปอนเซอร์” ที่ตั้งใจจะสนับสนุนเงินอัดฉีดคนละหลายสิบล้านบาท ทุกวันนี้สมาคมฟุตบอลยังสามารถให้สปอนเซอร์อย่าง “แมคโดนัลด์” เข้ามาขายของกินในสนามได้อีกด้วย และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ การห้ามไม่ให้แฟนบอลเอาเครื่องดื่มหรืออาหารที่ซื้อเตรียมไว้เข้าไปในสนามในวันที่พวกเขาต้องการไปเชียร์ทีมชาติไทยลงเตะ

ผมไม่แน่ใจว่านโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่แต่ที่แน่ๆ วันที่ทีมชาติไทยลงเตะกับลิเวอร์พูลช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แฟนบอลไม่สามารถเอาอาหารหรือน้ำดื่มเข้าไปในสนามได้ ซึ่งถ้าใครซื้อมาแล้วก็ต้องทิ้งไว้หน้าสนามโดยภายในสนามนั้นมีซุ้มขายเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์ยืนรอ “ผูกขาด” ขายน้ำและของกินอยู่แล้ว

เท่าที่ผมทราบมาเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อตอนที่บอลไทยเตะกับสิงคโปร์เมื่อช่วงเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ผมไม่คิดว่าสมาคมฟุตบอลจะหาประโยชน์กับสปอนเซอร์โดยใช้วิธีแบบนี้ผลักภาระให้กับแฟนบอล

ผมเชื่อว่าการตกรอบแรกฟุตบอลซีเกมส์หนนี้ นอกจากจะทำให้เรา “ตื่น” จากฝันลมๆแล้งแล้ว เราน่าจะเริ่มตั้งคำถามกับสมาคมผู้รับผิดชอบว่า “พวกคุณกำลังทำอะไรกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยอยู่หรือครับ”

ทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถ “ตรวจสอบ” การทำงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยได้เลย อย่างดีที่สุดก็แค่การประเมินผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่การกีฬาแห่งประเทศไทยต้องทำอยู่แล้วเพื่อดูว่าการของบประมาณแต่ละสมาคมนั้นสอดคล้องกับผลงานที่เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า

มิพักต้องเอ่ยถึง “สื่อกระแสหลัก” ของวงการกีฬาบ้านเรา ที่น่าจะรู้กันดีว่ามีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ่งกับผู้บริหารสมาคมนี้กันขนาดไหน ดังนั้นสื่อเหล่านี้จึงไม่อยากจะวิจารณ์การทำงานของสมาคมมากนัก เข้าทำนองว่าถ้า “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” ด้วย

คิดไปคิดมาค่อนข้าง “วังเวง” พอสมควรนะครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าสภาบริหารกิจการของสมาคมฟุตบอลนั้นควรจะมี “พันธะสัญญา” หรือ Commitment กับรัฐบาลที่เอาเงินภาษีประชาชนมาจัดสรรเงินงบประมาณให้

โดยในพันธะสัญญาดังกล่าวควรระบุในตอนท้ายว่า…

หากพวกกระผมไม่สามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมายที่ตัวเองสัญญาไว้กับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยแล้ว พวกกระผมและคณะยินดีที่จะแสดงความรับผิดชอบ (Accountability) ด้วยการลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นที่มีความสามารถมากกว่านี้เข้ามาทำงาน”

Hesse004

No comments: