Jul 12, 2009

ระยะห่างที่เรียกว่า “ที่ว่าง”





ไม่ได้เขียนบล็อกมาเดือนกว่าๆรู้สึกว่า “สนิม” ที่เกาะอยู่ในสมองของผมจะหนาขึ้นทุกที ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมมัวแต่วุ่นวายกับการเขียน Dissertation ที่ดูเหมือนยังไม่ลงตัวเสียที ด้วยเหตุนี้งานอดิเรกอื่นๆเป็นอันต้องพักไว้ก่อนครับ

ช่วงเวลาสองปีกว่าๆที่เขียนบล็อก ผมรู้สึกเหมือนได้นั่งทบทวนความคิดของตัวเองพร้อมๆกับการได้แสวงหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมซึ่งกว่าจะเขียนแต่ละเอนทรี่ (Entry) ได้นั้นมันต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว

ว่ากันว่า “บล็อก”ได้สะท้อนตัวตนของ “บล็อกเกอร์” (Blogger) หรือคนเขียนบล็อกนั้น ซึ่งตลอดสองปีที่ผ่านมาผมพยายามค้นหาตัวเองผ่านเรื่องที่เขียนไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ภาพยนตร์ ดนตรี ฟุตบอลรวมไปถึงวิชาเศรษฐศาสตร์

กลับมาเรื่องที่อยากจะเขียนดีกว่าครับ, จั่วหัวเอนทรี่นี้ไว้ด้วยเหตุที่ได้แรงบันดาลใจบางอย่างจากเพลง “ที่ว่าง” ของวงพอส (Pause)

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า “Pause” ได้กลายเป็นตำนานในวงการเพลงไทยสมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Pause” คือ ศิลปินอินดี้กลุ่มแรกๆที่เติบโตมาพร้อมๆกับ “หมาทันสมัย” (Modern Dog) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90

วงพอส มี “โจ้” อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ เป็นนักร้องนำ แม้ว่าโจ้จะจากพวกเราไปหลายปีแล้วแต่เพลงที่เขาร้องแทบทุกเพลงได้กลายเป็นอมตะไปแล้วไม่ว่าจะเป็น ความลับ, ข้อความ, สัมพันธ์, รักเธอทั้งหมดของหัวใจ, ใจบางบาง และที่จะลืมไม่ได้เลย คือ เพลง “ที่ว่าง” ครับ

เพลงที่ว่าง หรือที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Empty Space นั้นอยู่ในอัลบั้มของ Pause ที่ชื่อ Push (Me) Again ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของ Pause ที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2539 ในสังกัดเบเกอรี่มิวสิค (Bakery Music) ครับ

จะว่าไปแล้วเพลงที่ว่างเป็นเพลงแรกที่ทำให้คนรู้จัก “Pause” และ “โจ้” ด้วยเสน่ห์ของเพลงนี้อยู่ที่ “เนื้อหา” และน้ำเสียงของโจ้ที่ร้องเพลงนี้ได้กินใจยิ่งนัก

“ที่ว่าง” กล่าวถึง ความสัมพันธ์ที่ต้องการ “อิสระ”และ “ระยะห่าง” ของความรัก

ลองคิดเล่นๆแบบนักคณิตศาสตร์ดูบ้างนะครับว่า ถ้าความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ความรัก” เป็นฟังก์ชั่นชนิดหนึ่งที่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ “รัก” นั้นคงอยู่ได้ยั่งยืน ปัจจัยที่ว่านี้ก็คงเริ่มตั้งแต่ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความเข้าใจ การเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ความสม่ำเสมอ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอีกตัวที่เรามักหลงลืมกันไปนั่นคือ การจัดวางระยะห่างของความสัมพันธ์ให้เหมาะสมไงล่ะครับ ซึ่งระยะห่างที่ว่านี้มันก็แล้วแต่ข้อตกลงของคนสองคนว่าระยะห่างขนาดไหนมันถึงจะเหมาะสมดี

หากหยิบปัจจัยตัวนี้มาพิจารณาแล้ว เราจะเห็นว่า การจัดวางระยะห่างของความสัมพันธ์ในฐานะเป็นตัวแปรต้น (Independence Variable) มักจะมีเครื่องหมายหน้าสัมประสิทธิ์ของตัวแปร (Coefficient) แตกต่างกับ ตัวแปรต้นอีกตัวที่เรียกว่า “การแสดงความเป็นเจ้าของ” ครับ

นั่นหมายถึงว่า “ความรัก” ในฐานะที่เป็นตัวแปรตาม (Dependence Variable) นั้น มันขึ้นอยู่กับตัวแปรต้นหลายตัวที่บ่อยครั้งบางตัวมันก็ทำให้ความรักมันถดถอยลงได้เหมือนกัน

เนื้อหาของเพลงที่ว่างให้ความหมายไว้ดีมากนะครับ โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับความรักที่ไม่พยายามจะครอบครองหรือเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใคร

เขียนถึงตรงนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงเพลง “เต็มใจให้” ของ ศุ บุญเลี้ยง ที่เคยฮิตเมื่อสิบสี่สิบห้าปีก่อน เพลงนี้ก็พูดถึงการให้ความรักที่บริสุทธิ์ใจ ที่ไม่หวังจะได้อะไรตอบแทนกลับคืน เพลงนี้น่าจะเป็น “อุดมคติ” ของใครหลายคนที่บูชาความรัก

จริงๆแล้วความรักทุกอย่างต้องการ “อิสระ” อยู่เสมอนะครับ นั่นคือ อิสระที่จะเลือกรัก อิสระที่จะเลือกผูกพัน แม้แต่อิสระที่เลือกจากไป ทั้งหมดนี้มันครอบคลุมความรักในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นรักของหนุ่มสาว รักของเพื่อนฝูง แม้กระทั่งรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก

“ที่ว่าง” จึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รัก” มีคุณค่ามากขึ้น แม้ว่าบางคนอาจรู้สึกว่าการหาที่ว่างให้กับความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนรักเป็นเรื่องที่ยากลำบากเอาการ

ด้วยเหตุนี้การจัดวางความสัมพันธ์ให้เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้เรารักแบบไม่ทุกข์…เข้ากับเนื้อร้องที่ว่า “ประโยชน์ที่ใดหากรักทำร้ายตัวเอง”

ผมชอบเนื้อหาของเพลงนี้ที่บอกว่า

“ก่อนเคยคิดว่ารักต้องอยู่ด้วยกันตลอด เติบโตจึงได้รู้ความจริง”

ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า “เติบโตจึงได้รู้ความจริง” นั้น มันหมายถึงว่า ยิ่งเมื่อเราโตขึ้นมันมีอะไรที่ควรคิดมากกว่า “การแสวงหาความรัก” หรือเปล่า?

ความรักเป็นความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่ซับซ้อน จนบางครั้งเราเองก็ไม่อาจจะเข้าใจมันได้ทั้งหมด แต่ไอ้ความซับซ้อนดังกล่าวมันกลับตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่ายนั่นคือความจริงใจและความซื่อสัตย์ต่อคนที่เรารัก

และท้ายที่สุดมันอาจจะต้องการเพียงระยะห่างที่เรียกว่า “ที่ว่าง” เพื่อให้คนทั้งสองได้มีอิสระในการค้นหาความฝันของตัวเองบนหนทางที่เดินไปพร้อมๆกันไงล่ะครับ

Hesse004

4 comments:

Unknown said...

รู้สึกว่าเป็นคนร่วมสมัยเหมือนกันแฮะ *_*
อย่างน้อยก็ยังรู้จักเพลงของ Pause ย้อนไปถึงพี่จุ้ย

อยากแซวว่า ออกจากฌาณ (Dissertation) มาก็คิดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกรึเปล่านี่ ??

No comment จ้า แค่รู้สึกว่า "เรื่องรัก" แม้เป็นเรื่องสำคัญในชีวิต แต่ชีวิตคนเรามีเป้าหมายที่สำคัญกว่านั้น และ...ความรัก ก็อาจฉุดรั้งให้ใครบางคนละล้าละลังกับการเดินทางไกลโดยไม่ทันเฉลียวใจก็ได้

ร้ายเหมือนกันนะ ความรักนี่น่ะ ^_^

ปรีดีโดม said...

ลองคิดเล่นๆ นะครับพี่ต้วน ผมเมาเล็กน้อยจากการทำงานหนักแบบหาเช้ากินค่ำ

อิสระ หรืออิสรภาพ เป็นสิ่งที่ผมไม่มั่นใจว่ามนุษย์ทุกยุคทุสมัยนั้นต้องการร่วมกันหรือไม่ครับพี่ต้วน อย่างน้อยในกรีกช่วง5ศตวรรษก่อนค.ศ.ย้อนกลับไป ความเข้าใจเรื่องอิสรภาพและอิสระ นั้นต่างจากเราตรงที่ไม่ใช่เราเลือกได้อย่างที่ต้องการ แต่อิสรภาพในที่นี่คือการที่เราอุทิศตัวเราเข้ากับระบบอะไรสักอย่าง ถ้าไม่ใช่ชุมชน-เมือง ก็เป็นระเบียบที่อยู่ภายใต้การทำงานของระบบจักรวาล ถ้ามนุษย์ก่อนหน้าเราหลายศตวรรษไม่เข้าใจอิสรภาพดังกล่าวเหมือนเรา น่าคิดมั้ยครับว่าเขาต้องการความรักในที่มีอิสระอย่างที่เราคิด เขาต้องการ my space การทำตามความฝันเหมือนอย่างพวกเรา

แม้แต่ในสังคมแบบเรา ช่วงอายุนั้นเปลี่ยนความคิดที่เรามีต่อความรักหรือไม่? ผมว่า Rilke ใน the letters to a young poet ได้เตือนนักเขียนหนุ่มไว้เช่นนั้น ว่าอย่าเขียนเกี่ยวกับความรักจนกว่าคุณจะแก่ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะครับ) อาจสะท้อนความคิดเรื่องของความรักที่มนุษย์ในวัยที่แตกต่างกันมองเห็นต่างกัน

หากเรามองเล่นๆในความแตกต่างของพื้นที่ หลายชนเผ่าใน Ladakh ของอินตรเดีย ทิเบต เนปาล ภูฏาน หรือเผ่ามาไซในเคนยา ที่แต่งงานแบบ polyandry ที่พี่น้องร่วมแชร์เมียคนเดียวกัน การแสดงความเป็นเจ้าของในความรักมันคงน่าคิดนะครับว่ามันจะเป็นยังไง

เราอาจคุ้นเคยกับความรักในแบบผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งผมว่ามันเป็นฝรั่งเอามากๆทีเดียว ที่เชื่อเรื่องของการมีคู่ตุนาหงันที่เป็นคู่แท้ หรือการมี soulmate แทนที่จะเป็น คี่แท้หรือ สองคู่แท้สลับคู่ชูชื่นกันไป หรือเราสามคนกับผู้หญิงของพวกเราและสัตว์เลี้ยงของเธอ

ทั้งผมและพี่ที่มีภาวะ การเป็นคนสมัยใหม่ ความเป็นชนชั้นกลาง ความเชื่อที่ฝังในตัวเราไม่ว่าเรื่อง autonomy อิสรภาพ ความเป็นส่วนบุคคล ผัวเดียวเมียเดียว คู่แท้ อาจเป็นสิ่งที่เรามองเห็นว่ามันมีตัวอะไร หรือมันมีแว่นอะไรบางอย่างที่ซ้อนอยู่ที่ทำให้เราเห็นอย่างนั้น (มันเปลี่ยนไม่ได้เสียง่ายซะด้วยสิ) และพยายามหาคำตอบโดยฐานของแว่นตานี้ เราตกอยู่ในแว่นตาการมองดังกล่าว ที่เราอาจถอดมันได้ แต่ขณะที่ถอดมันได้ เรารู้ว่าเราถอดอันเก่าแล้ว แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าเราถอดมันหมดหรือยัง กล่าวคือ เรารู้ได้เท่าที่เรารู้เท่านั้น แต่ไม่เคยรู้ถึงที่สุด มันเป็น a priori ครับ และส่วนที่เหลือหรือ ไอ้เงื่อนไขของวัฒนธรรมต่างๆเหล่านี้ดูจะหลอมรวมอยู่ในตัวเรา เกินกว่าที่เราคิดจะตั้งคำถามกับมัน ณ ปัจจุบัน แต่ยังอยู่ในความสงสัยในฐานะที่มันคือพื้นฐานของการแสวงหาคำถามและคำตอบเกี่ยวกับความรักที่เราพยายามถามอยู่ ถ้าคิดเล่นๆต่อในแง่นี้นะครับพี่ ความมืดงำเกี่ยวกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรัก ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนที่สำคัญมากก็คือความมืดงำเกี่ยวกับตัวเราเอง

ดังนั้นการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรัก มันจึงอาจเป็นเป็นการตั้งคำถามบนฐานของการดำรงอยู่ของชีวิตเรามั้งครับ ดังนั้นคนที่ตั้งถามเกี่ยวกับความรักอาจไม่ใช่ชายหนุ่มที่โรแมนติก แสวงหารักแท้ แต่อาจเป็นคนบ้าที่อันตรายต่อสังคมที่ใครบางคนเรียก philosopher (ที่ไม่ใช่นักปรัชญา=นักปราชญ์)เพราะมันยังไม่รู้หมด แต่แสวงหามันเรื่อยไป มั้งครับ 555 (ความเครียดทำให้คนบ้าได้ครับ)

Tigg said...

อาจารย์ต้วน เราว่า ณ ตอนนี้ ไขมันรอบพุงน่าจะต้องระวังมากกว่า สนิมเกาะสมองนา..รึว่าไง??55

Tigg said...

ถึงคุณปรีดีโดม
..อยากลอง "เราสามคนกับผู้หญิงของพวกเราและสัตว์เลี้ยงของเธอ"บ้างจัง ไม่รู้ว่ามีแบบนี้อยู่แถวไหนบ้าง บอกกันมั่งนะ..