Feb 22, 2009

ลิเวอร์พูล กับ แชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 18 (ครึ่ง)





ปัจจุบันผมเชื่อว่ารายการฟุตบอลบาร์เคลย์พรีเมียร์ลีก (Barclay Premier League) เป็นรายการฟุตบอลที่มีแฟนบอลติดตามชมมากที่สุดในโลกก็ว่าได้นะครับ ผลพวงจากการเฟื่องฟูของฟุตบอลรายการนี้ทำให้สร้าง “วัฒนธรรมการเชียร์บอล” ขึ้นมาในหมู่ผู้คนที่หลงใหลในเกมส์ลูกหนังอังกฤษ

สำหรับผมแล้ว ผมติดตามเชียร์ทีมลิเวอร์พูล (Liverpool F.C.) มาตั้งแต่ชั้นประถมห้าครับซึ่งนั่นก็เป็นเวลาเกินกว่ายี่สิบปีมาแล้ว แน่นอนที่สุดครับคำถามยอดฮิตในหมู่แฟนบอลด้วยกัน คือ ทำไมถึงชอบเชียร์ทีมนั้น?

เหตุผลการเชียร์บอลของคนส่วนใหญ่อาจจะเริ่มมาจากความประทับใจในความสำเร็จ เกรียงไกรของทีมต่างๆในช่วงเวลานั้น นอกจากนี้เราอาจจะชื่นชอบนักบอลคนโปรดจนทำให้ไม่อาจแบ่งใจไปเชียร์ทีมอื่นได้ เหมือนที่ใครชอบ “เดอะตุ๊ก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อนแล้ว ก็ต้องรักทีมลูกทัพฟ้าทหารอากาศเป็นธรรมดา

“ลิเวอร์พูล” คือ ทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเกาะอังกฤษ นั่นได้กลายเป็นความภูมิใจของกองเชียร์หงส์แดง (The Reds) ที่มักเรียกขานตัวเองว่า เดอะค็อป (The Kop) ไงล่ะครับ

แฟนพันธุ์แท้ทีมเครื่องจักรสีแดง (Red Machine) ส่วนใหญ่รู้ดีว่าลิเวอร์พูลนั้นครองแชมป์ลีกสูงสุดเมืองผู้ดีทั้งหมด 18 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายที่ลิเวอร์พูลสัมผัสถ้วยแชมป์ดิวิชั่นหนึ่ง คือ ฤดูกาล 1989-1990 ภายใต้การทำทีมของ “คิงเคนนี่” เคนนี่ ดัลกลิช (Kenny Dalglish)

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ดัลกลิชวางมือจากการคุมทีมหงส์แดงไปอย่างกระทันหัน การเข้ามาสานต่อการทำทีมของ “แกรม ซูเนสส์” (Graeme Souness) กลับไม่สามารถทำให้หงส์แดงครองถ้วยลีกสูงสุดสมัยที่ 19 ได้

“ซูอี้” พาหงส์แดงของเขาบินได้ไกลที่สุดในอันดับที่ 2 ของตารางในฤดูกาล 1990-1991 ขณะที่ผู้ท้าชิงหน้าใหม่ในตอนต้นทศวรรษที่ 90 ได้กลายเป็น ปืนโต อาร์เซน่อล (Arsenal), ยูงทอง ลีดส์ ยูไนเต็ด (Leeds United) และ ปีศาจแดง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United)

แม้ว่าความสำเร็จส่วนใหญ่ในฟุตบอลลีกสูงสุดเมืองผู้ดีมักจะตกอยู่กับทีมสีแดง แต่ทีมที่ได้สร้างความเกรียงไกรตลอดช่วงทศวรรษที่ 90 และ เริ่มต้นศตวรรษใหม่กลับกลายเป็นทีมสีแดงที่อยู่ในเมืองแมนเชสเตอร์ครับ

“แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ของ อเล็ก เฟอร์กูสัน (Alex Ferguson) ค่อยๆสร้างพลพรรคอสูรแดงให้เติบใหญ่จนกลายเป็นที่น่าเกรงขามทั่วทั้งแผ่นดินยุโรป อย่างไรก็ตามสิ่งที่เฟอร์กูสันทำนั้นไม่ได้เนรมิตได้ภายในวันเดียว หรือ ฤดูกาลเดียว หากแต่เขาต้องใช้เวลาปลุกปั้น “แมนยู” ของเขาร่วมห้าปีเลยทีเดียว

“เฟอร์กี้” เข้ามากุมบังเหียน “ทีมปีศาจแดง” ในฤดูกาล 1986-1987 ซึ่งผู้จัดการทีมเลือด สก๊อตคนนี้พาผีแดงเข้าป้ายอันดับที่ 11 ในฤดูกาลแรกบนเกาะอังกฤษของเขา ขณะที่ฤดูกาลต่อมา (1987-1988) เฟอร์กี้สร้างเซอร์ไพร์สเข้าป้ายเป็นอันดับ 2 โดยตามทีมแชมป์อย่างลิเวอร์พูลอยู่ห่างๆ 9 แต้ม

ฤดูกาล 1988-1989 แมนยูหล่นลงไปอันดับที่ 11 เหมือนเดิม โดยคราวนี้ลิเวอร์พูลต้องช่วงชิงตำแหน่งแชมป์ลีกกับทีม “ปืนโต” ของจอร์จ เกรแฮม (George Graham) ซึ่งท้ายที่สุดพลพรรคเดอะกันเนอร์สามารถฉลองถ้วยแชมป์ได้ในถิ่นแอนฟิล์ดเมื่อ “ไมเคิล โทมัส” (Michael Thomas) ยิงประตูให้อาร์เซนอลแซงกลับมาชนะลิเวอร์พูลได้ในช่วงนาทีสุดท้าย

สำหรับเฟอร์กี้แล้ว “การรอคอยอย่างอดทน” เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างทีมชุดใหม่ของเขาขึ้นมา ในฤดูกาล 1989-1990 เฟอร์กี้พาแมนยูร่วงไปอยู่ที่ 13 ของตารางขณะที่ “หงส์แดง”ประกาศศักดาคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นสมัยที่ 18

ฤดูกาล 1990-1991 เฟอร์กี้ดึงแมนยูให้กลับเข้าสู่ท๊อปเท็นได้อีกครั้งโดยคราวนี้แมนยูอยู่ลำดับที่ 6 ของตาราง และฤดูกาลสุดท้ายที่ฟุตบอลลีกอังกฤษใช้ชื่อว่า “ดิวิชั่นหนึ่ง” (1991-1992) แมนยูของเฟอร์กี้ขยับขึ้นไปอยู่อันดับสองโดยเป็นรองลีดส์ ยูไนเต็ด ของฮาวเวิร์ด วิลกินสัน (Howard Wilkinson) ที่คว้าถ้วยแชมป์ดิวชั่นหนึ่งครั้งสุดท้ายไปครอง

อย่างไรก็ตาม “การรอคอยอันแสนยาวนาน” ถึง 26 ปี ก็สิ้นสุดลงในฤดูกาล 1992-1993 เมื่อฟุตบอลพรีเมียร์ลีก สถาปนาขึ้นแทนฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่งเดิม และนับตั้งแต่นั้นมา “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” คือทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเกาะอังกฤษครับ

“เฟอร์กี้” รอคอยจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของเขาที่ชื่อ “อิริค คันโตน่า” (Eric Cantona) การมาของ “ก๊องโต้” ทำให้เสื้อเบอร์ 7 ของแมนยูกลายเป็นตำนานอีกครั้งหนึ่ง และคันโตน่าคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญจุดหนึ่งของยูไนเต็ด เขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่า “เฟอร์กี้เบบส์” อย่าง ไรอัน กิกส์ พี่น้องเนวิลล์ เดวิด เบ๊คแฮม พอล สโคล์ล ในเรื่องกระหายความสำเร็จกับทีมอสูรแดง

นับแต่นั้นเป็นต้นมา “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ของ เซอร์อเล็ก เฟอร์กูสัน ก็สร้างความเกรียงไกรเทียบเคียงทีมสีแดงจากเมืองลิเวอร์พูล เฟอร์กี้ทำให้แมนยูของเขากลายเป็นทีมที่ดีที่สุดทีมหนึ่งของโลกในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 จนถึงศตวรรษใหม่

เฟอร์กี้ประสบความสำเร็จกับยูไนเต็ดในฐานะแชมป์ลีกสูงสุดของเมืองผู้ดีถึง 11 ครั้ง ในฤดูกาล 1992-1993, 1993-1994, 1995-1996, 1996-1997,1998-1999, 2000-2001, 2002-2003, 2006-2007 และ 2007-2008

ตลอดเวลาสิบห้าปีที่ผ่านมาเฟอร์กี้เจอคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับเขามาโดยตลอด ตั้งแต่ “คิงเคนนี่”ที่หันกลับมาคุมแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส และเอาชนะทีมของเฟอร์กี้ได้ในฤดูกาล 1994-1995 “อาร์แซน เวงเกอร์” ที่ทำให้อาร์เซน่อลกลายเป็นคู่ตุนาหงันที่แท้จริงของแมนยูในช่วงหลายปีที่มา หรือแม้แต่ “เดอะสเปเชี่ยล วัน” อย่าง “โจเซ่ มูรินโญ่” ที่อาศัยเม็ดเงินของเสี่ยหมีอับราโมวิชสร้าง “เชลซี” ขึ้นมาทาบรัศมีของแมนยูในช่วงไม่กี่ปีมานี้

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็น “คู่ต่อกร” ที่สมน้ำสมเนื้อกับเฟอร์กี้มากที่สุดครับ ซึ่งท่านผู้อ่านอย่าแปลกใจนะครับว่า ทำไมถึงไม่มีผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลเลยสักคน

สำหรับลิเวอร์พูลแล้ว ทีมที่จ่อมเจ้าอยู่กับความสำเร็จในอดีตทำให้แฟนบอลคาดหวังต่อผลงานทีมรักอย่างช่วยไม่ได้ บ่อยครั้งที่เราฉุนฉียวกับผลงานของนักเตะและผู้จัดการทีม ลองนับดูมั๊ยครับว่าเราเบื่อและเซ็งกับใครมาแล้วบ้าง

เช่น เรามักบ่นในความนุ่มนิ่มของ “รอย อีแวนส์” ที่ไม่สามารถทำให้หงส์แดงชุดสไปซ์บอยบินไปไกลได้ เราเบื่อกับความไร้กึ๋นในการซื้อตัวผู้เล่นของ “เชราด์ล อุลลิเยร์” ที่มักจะสรรหานักเตะประเภท “นิวเนม” แต่ “โนฟอร์ม” อยู่เสมอๆ

และล่าสุด เรากำลังเบื่อกับการทำทีมแบบ “แปลกๆ” ของ “ราฟาเอล เบเนเตซ” บุรุษผู้เชื่อมั่นในระบบเข้ากะออกกะ (Rotation) ในการใช้งานนักเตะหงส์แดง

สิ่งต่างๆที่เราบ่นเบื่อนี้ส่วนหนึ่งมาจากความไม่คงเส้นคงวาของทีมรัก การไม่สามารถเก็บแต้มง่ายๆจากทีมที่สมควรจะเก็บแต้มได้

ผมเชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นอีกปีที่ลิเวอร์พูลทีมรักของผมไม่ประสบผลสำเร็จอะไรเลยในฟุตบอลรายการใดๆ (แม้ว่าในใจอยากให้ตัวเองคิดผิด) เพราะเท่าที่ผ่านมาผมประหลาดใจกับการสร้างทีมของ “ราฟา” พอๆกับการที่ตะแกเคี่ยวเข็นนักเตะอย่าง “ลูคัส เลว่า”, อังเดรีย ดอสเซน่า หรือแม้แต่อาเบลโล่ อาเบลัวร์ ลงอยู่อย่างสม่ำเสมอทั้งๆที่รู้ว่านักเตะที่เอ่ยนามมานี้ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของทีมได้ในยามที่ทีมกำลังเข้าสู่สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน

สำหรับข้ออ้างหรือเหตุผลของการไม่ได้แชมป์ลีกสูงสุดในปีนี้ไม่ใช่ว่า “เราแพ้บิ๊กโฟร์” นะครับ หากแต่เป็น “เราไม่ชนะทีมลิตเติ้ลโฟร์” ต่างหาก เพระทีมอย่าง สโตค ซิตี้, ฮัลล์ ซิตี้, วีแกนฯ หรือแม้แต่เวสต์แฮมฯคือ ทีมที่หงส์แดงพร้อมจะไม่ชนะในฤดูกาลนี้เนื่องจาก “ราฟา” ยังนิยมใช้งานระบบเข้ากะออกกะในการทำทีมอยู่

อย่างไรก็ตามมาถึงวันนี้เดอะค็อปอย่างเราๆก็น่าจะ “เฮ” ได้บ้างนะครับเพราะว่าลิเวอร์พูลทีมรักของพวกเราสามารถครองแชมป์พรีเมียร์ชิพได้ในครึ่งฤดูกาลแรก (สิ้นสุดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคมปีที่แล้ว) นั่นหมายถึง หงส์แดงได้แชมป์สมัยที่สิบแปดครึ่งไปแล้ว…แต่พอสิ้นสุดฤดูกาล 2008-2009 ผมก็ยังเชื่อว่าถ้วยแชมป์สมัยที่ 18 (เต็มๆ) ของแมนยูคงจะไปประดับอยู่ที่โอล์ด แทรฟฟอร์ด แล้วสิครับ

Hesse004

Feb 13, 2009

The Curious Case of Benjamin Button โลกหมุนย้อนของ “เบนจามิน”



“You can be as mad as a mad dog at the way things went. You could swear, curse the fates, but when it comes to the end, you have to let go.”
Captain Mike in “The Curious Case of Benjamin Button”


เอนทรี่นี้ขออนุญาตขึ้นต้นด้วยคำคมภาษาอังกฤษจากหนังเรื่อง The Curious Case of Benjamin Button (2008) ครับ

เหตุที่อยากเขียนถึงหนังเรื่องนี้ก็เนื่องด้วยความน่าสนใจของเนื้อหาที่ “เดวิด ฟินช์เชอร์” (David Fincher) ผู้กำกับหยิบเรื่องสั้นของ “เอฟ สก๊อตต์ ฟิตเจอร์รัลด์” (F. Scott Fitzgerald) มาถ่ายทอดเรื่องราว “พิสดาร” ลงบนแผ่นฟิล์มได้อย่างน่าดูชมครับ

ก่อนจะไปถึงตัวหนัง, ผมขออนุญาตแนะนำ “เอฟ สก๊อตต์ ฟิตเจอร์รัลด์” สักเล็กน้อยครับ เอฟ สก๊อตต์ ฟิตเจอร์รัลด์ เป็นนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันที่มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ (1886-1940) ด้วยเหตุนี้เองงานของฟิตเจอร์รัลด์มักจะเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความรุ่งเรืองในยุค ทเวนตี้ (1920s) ซึ่งฟิตเจอร์รัลด์เรียกยุคสมัยนั้นว่า “Jazz Age” ครับ

ยุค Jazz Age นับเป็นยุคสมัยที่สหรัฐอเมริการุ่งเรืองถึงขีดสุดเนื่องจากผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-1918) ทำให้ชาติยุโรปบอบช้ำจากสงครามครั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้อเมริกาค่อยๆสร้างบารมีรอวันเป็นมหาอำนาจใหม่ในไม่ช้า

อย่างไรก็ตามยุค Jazz Age ของฟิตเจอร์รัลด์มาจบลงตรง The Great Depression หรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดของสหรัฐเมื่อปี ค.ศ.1929 ครับ

ดังนั้นงานเขียนของฟิตเจอร์รัลด์ส่วนใหญ่จึงสะท้อนความเป็น “อเมริกันชน” ยุครุ่งโรจน์ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบซึ่งนวนิยาย (Novel) เรื่องเด่นของเขาเห็นจะหนีไม่พ้น The Great Gatsby (1925) ครับ

กลับมาที่ The Curious Case of Benjamin Button (2008) กันต่อครับ, อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วว่าหนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ “เดวิด ฟินช์เชอร์” (David Fincher) ผู้กำกับชาวอเมริกันที่โด่งดังมาจาก Se7en (1995) และ Fight Club (1999) ฟินช์เชอร์ได้หยิบเอาเรื่องสั้นชุด The Curious Case of Benjamin Button (1921) ของเอฟ สก๊อตต ฟิตเจอร์รัลด์ มาปรับเป็นบทภาพยนตร์ (Screenplay) ใหม่โดยได้ อิริค รอธ (Eric Roth) และ โรบิน สวีคอร์ด (Robin Swicord) มาเป็นมือเขียนบทภาพยนตร์ให้

ขออนุญาตเสริมนิดนึงครับว่า “อิริค รอธ” มือเขียนบทเรื่องนี้เคยฝากผลงานไว้ในหนังดีอย่าง Forrest Gump (1994), Munich (2005) และ The Good Shepherd (2006) นับว่า “รอธ” เป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ที่มากฝีมือคนหนึ่งครับ

ทั้งฟินช์เชอร์และรอธ ได้ทำให้ The Curious Case of Benjamin Button เป็นหนังที่มีเสน่ห์มากเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้หนังเรื่องนี้ยังได้ซูปเปอร์สตาร์ของฮอลลีวู้ดมาประกบคู่พระนางอย่าง แบรท พิทท์ (Brad Pitt) ที่รับบทนำเป็น “เบนจามิน บัตตั้น” และ เคท บานชเลตต์ (Cate Blanchett) ที่รับบทเป็น “เดซี่ ฟูลเลอร์” คนรักของเบนจามิน

โดยส่วนตัวผมแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วย “สีสัน” และ “ข้อคิด” นะครับ ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมี “มนุษย์” คนไหนที่มีชีวิตแบบ “เบนจามิน บัตตั้น”

ท่านผู้อ่านเคยคิดมั๊ยครับว่าถ้าชีวิตของเราหมุนย้อนกับโลกปกติแล้วมันจะเป็นอย่างไร คงน่าประหลาดใจไม่น้อยที่คนๆหนึ่งเกิดมาแล้วเป็น “คนแก่” ก่อนจะค่อยๆ “เด็ก”ลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามดูเหมือนงานของเอฟ สก๊อตต์ ฟิตเจอร์รัลด์ และหนังของเดวิด ฟินช์เชอร์ เหมือนจะตั้งคำถามว่าเราไม่สามารถฝืนกฎเกณฑ์ธรรมชาติของการมีชีวิตได้นั่นหมายถึงทุกอย่างมี “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป”

บางทีหนังเรื่องนี้อาจจะต้องการสื่ออะไรบางอย่างถึง “ความไม่จีรัง” หรือ “อจีรัง” ของการมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์สิ่งของ เพราะทุกอย่างดูเหมือนจะมีอายุขัยและเมื่อถึงวันหนึ่งก็ต้องสิ้นสูญสิ่งเหล่านั้นไป

ชีวิตของเบนจามิน บัตตั้น อาจไม่ปกติเหมือนคนทั่วไปแต่เขาก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไปเพียงแต่ช่วงเวลาของการดำรงอยู่มันอาจจะสวนทางกันแต่ยังไงก็แล้วแต่ “เบนจามิน” ก็หนีไม่พ้นสภาพการดับสูญหรือจากลา

ผมคิดว่ายิ่งเมื่อเราเติบโตขึ้นการเฝ้ามองชีวิตด้วยความเข้าอกเข้าใจดูจะสำคัญไม่น้อยนะครับเพราะยิ่งเราโตขึ้นเรื่อยๆอะไรๆในชีวิตมันก็มีให้ “ยึด” ติดมากขึ้นทั้งทรัพย์สินเงินทอง ยศฐา ครอบครัว คนรัก มิตรสหาย แม้กระทั่งอุดมการณ์ความคิด มันเหมือน “ห่วง” ที่ทำให้เรารู้สึกอาลัยอาวรณ์กับสิ่งต่างๆเหล่านั้นตลอดเวลา

คำพูดของกัปตันไมค์ ที่ผมยกขึ้นมาตอนต้นเหมือนต้องการจะสอนให้เรารู้จัก “ปล่อยวาง” และ “ปลดปลง” กับการใช้ชีวิตนะครับโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่เราใกล้จะตาย แน่นอนว่าความห่วงหาอาวรณ์ การยึดติดในสิ่งต่างๆย่อมมีมากเป็นธรรมดา (when it comes to the end, you have to let go)

ดังนั้นช่วงเวลาที่เรายังมีลมหายใจอยู่นั้นเราน่าจะลองหมั่น “เจริญสติ” และปล่อยวางกับบางเรื่องดูบ้างก็ได้นะครับ เพราะถึงที่สุดแล้วชีวิตมันก็ไม่ได้มีอะไรมากมายให้เราต้องยึดติดตัวไปในวันที่เราไม่มีลมหายใจอีกต่อไปแล้ว

Hesse004

Feb 5, 2009

“สามก๊ก” ฉบับประนีประนอม ของ “จอห์น วู”





จะว่าไปแล้วช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต่อต้นเดือนมีนาคมดูจะเป็นเดือนที่ “คอหนัง” น่าจะมีความสุขมากที่สุดช่วงหนึ่งนะครับ เนื่องจากหนังแต่ละเรื่องที่ลงโรงฉายนั้นดูมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยด้วยเหตุที่ช่วงเวลาดังกล่าวใกล้ประกาศผลรางวัลออสการ์ (Academy award)

โดยส่วนตัวแล้ว ภาพยนตร์ที่ผมอยากดูมากที่สุดในช่วงเดือนนี้เห็นจะหนีไม่พ้น Red Cliff II หรือ “สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือภาค 2” ซึ่งสามก๊กตอนนี้นับเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่ทำให้เกิดการแยก “แผ่นดิน”จีนออกเป็น “สามก๊ก” ตามแผนของยอดกุนซือของเล่าปี่นามว่า “จูกัดเหลียง ขงเบ้ง”

อย่างไรก็ตามแต่ “สามก๊ก” ฉบับภาพยนตร์อภิมหาทุ่มทุนสร้างภายใต้ผลงานการกำกับของ “จอห์น วู” (John Woo) นั้นกลับสร้างความแตกต่างค่อนข้างชัดเจนในการดำเนินเรื่องที่ไม่ได้ยึดตามแบบฉบับสามก๊กของ “หลอกว้านตง”

ผมไม่แน่ใจว่าการพัฒนาบทหนังหรือการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ครั้งนี้จะทำให้ “สามก๊ก” ของ “วู” นั้นผิดแผกไปจากประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารว่าด้วยเรื่อง “สามก๊ก” หรือเปล่า อย่างไรก็แล้วแต่หากเราชมภาพยนตร์ด้วยความบันเทิงเราก็จะเข้าใจ “งาน” ชิ้นนี้มากขึ้น

ตามมารยาทเดิมนะครับ ผมขออนุญาตไม่เล่ารายละเอียดของภาพยนตร์ Red Cliff II อย่างไรก็ดี “สามก๊ก” ของ “จอห์น วู” ที่โหมโรงกันมาตั้งแต่ช่วง “ปักกิ่งเกมส์”เมื่อปีที่แล้วนั้น ในความเห็นของผม คือ เป็น “สามก๊ก” ที่แสดงความประนีประนอมระหว่างตัวละครอย่าง “จิวยี่”แห่งกังตั๋งและ “ขงเบ้ง” แห่งเขาโงวลังกั๋ง

ความประนีประนอมดังกล่าวถูกสะท้อนออกมาในภาพของการ “ช่วยกันทำงาน” มากกว่าจะมุ่ง “หักเหลี่ยมเฉือนคม”กันทั้งๆที่หนังสือสามก๊กของหลอกว้านตงจะพยายามยัดเยียดนิสัย “ริษยาจริต”ให้กับ “จิวยี่”

สามก๊กของ “วู” ดูจะละเลยฉากการ “ชิงไหวชิงพริบ” ในเชิงกลศึกซึ่งในตอน “ยุทธการเซ็กเพ็ก” นี้นับว่าเต็มไปด้วย “เล่ห์เพทุบาย” มากมาย ซึ่งจอห์น วู กลับไม่สามารถดึงจุดเด่นของตอนนี้ออกมาได้

อย่างไรก็แล้วแต่หากเราสำรวจเบื้องหลังผลงานเก่าๆของ “วู” จะพบว่า เขาอาจไม่ถนัดกับการนำเสนอมุมมองที่ลึกซึ้งเท่าใดนัก แม้ว่างานที่สร้างชื่อของเขาอย่าง “โหด เลว ดี” หรือ A Better Tomorrow (1986) จะเป็นงานที่ดีและมีความลึกซึ้งอยู่ในตัวเองโดยเฉพาประเด็นความขัดแย้งระหว่างพี่ชาย (ตี้หลุง) ที่เป็นโจรกลับใจกับน้องชาย (เลสลี่ จาง) ที่เป็นตำรวจ เข้าทำนอง “น้องต้องจับพี่”

งานถัดๆมาของ “จอห์น วู” ที่ไปปรากฏอยู่ที่สตูดิโอฮอลลีวู้ดนั้นอาจจะเน้นไปที่ความบันเทิงในเรื่องเตะต่อยเป็นสำคัญจนงานของเขาการันตีความมันส์ที่ “คิวบู๊” มากกว่าการจุดประเด็นให้คน “ขบคิด” ต่อ

เช่นเดียวกันกับ “สามก๊ก” ตอนยุทธการผาแดง ที่ “วู” อุตส่าห์ทุ่มทุนสร้างกองทัพเรือโจโฉอันเกียงไกรก่อนจะเผาพินาศให้เป็น “จุล” ในช่วงท้ายเรื่อง แม้ว่าเราอาจจะเห็นความสะใจของฉากที่อลังการและดูสมจริงสมจังแต่สิ่งที่ขาดหายไปจากงานของ “วู” คือ มิติของ “ตัวละคร”

จริงๆแล้ววรรณกรรม “สามก๊ก” เป็นวรรณกรรมคลาสสิคของโลกตะวันออก เหตุเพราะวรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนความเป็น “มนุษย์” ออกมาทุกรูปแบบ เหมือนที่ The Brothers Karamazov ของฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ (Fyodor Dostoevsky) ฉายภาพ “หลายมนุษย์” ออกมา

มิติของตัวละครนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเราจะเข้าใจ “เหตุผล” และ “การกระทำ”ของตัวละครเหล่านั้นมากกว่าที่เราจะถูกยัดเยียดว่า “โจโฉ” แม่งเป็นคนเลวต่ำช้าอย่างที่สุด หรือ คนดีที่น่ายกย่อง คือ “เล่าปี่” ผู้ประนมมือสิบทิศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแต่ “สามก๊ก” ได้สอนให้เราในฐานะผู้อ่าน ผู้เสพเข้าใจใน “ความเป็นมนุษย์” มากกว่า “เล่ห์เหลี่ยม”ที่แพรวพราว แม้ว่า “เล่ห์” เหล่านี้จะจำเป็นในบางครั้งหากเราคิดจะอยู่รอดให้ได้ในสังคมที่แก่งแย่งและซับซ้อนขึ้นทุกวัน

อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วครับว่า “สามก๊ก” ฉบับนี้ของ “จอห์น วู” สื่อให้เห็นภาพของ “ความประนีประนอม” ช่วยกันทำงานของ “ขงเบ้ง”กับ “จิวยี่” แม้ว่าภายหลัง “จิวยี่”จะกระอักเลือดตายด้วยแรงริษยาที่มีต่อ “สติปัญญา” ความฉลาดของขงเบ้ง แต่หากย้อนคิดไปที่ “วิธีการตีความ” ของจอห์น วู บางทีเราอาจจะเข้าใจได้ว่าสิ่งที่ “วู”ต้องการสื่ออาจจะเป็นแค่ “อุดมคติ” ของการทำงานใหญ่ที่จำเป็นต้องอาศัยความ “สามัคคี” เป็นสำคัญ

หากหันกลับมามองมุมนี้แล้ว อาจจะเข้าใจต่อไปได้ว่าสิ่งที่ “วู” พยายามจะพูดผ่านหนังของเขาคือ “วิธีคิดของคนเอเชีย” ต้องเปลี่ยนใหม่เสียหมด กล่าวคือประเภทข้ามาคนเดียวคงจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วหากเราจะต้องรับมือกับ “ศัตรู”ที่มีกำลังมากกว่าหลายสิบเท่า ซึ่งสิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดอาจจะเป็นการตีความแบบเข้าใจ (เข้าข้าง) จอห์น วู ในการทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา

ผมขออนุญาตปิดท้ายเอนทรี่นี้ด้วยคำพูดของ “จิวยี่” ที่พูดก่อนตายไว้อย่างน่าอนาถใจว่า “เทียนกี้แซยี่ ฮ่อปิ๊ดแซเหลียง” แปลเป็นไทยสั้นๆว่า “เมื่อฟ้าส่งข้ามาเกิดแล้ว เหตุไฉนถึงส่งขงเบ้งมาเกิดด้วย” แต่สำหรับสามก๊กฉบับ “จอห์น วู” แล้วเห็นทีคำพูดนี้คงใช้ไม่ได้ผลมั๊งครับ

Hesse004