May 27, 2009

"เจมส์ บอนด์" พยัคฆ์ร้าย 007 เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ






กระบวนภาพยนตร์ซีรีส์ฝรั่งที่คลาสสิคที่สุดเรื่องหนึ่งเห็นจะหนีไม่พ้นซีรีส์ชุด “เจมส์ บอนด์ พยัคฆ์ร้าย 007” นะครับ

เจมส์ บอนด์ 007 เป็นพระเอกในนิยายสายลับ (Spy Fiction) ของ “เอียน เฟลมมิ่ง” (Ian Flemming) อดีตราชนาวีอังกฤษก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนักเขียนนิยายสายลับ

เฟลมมิ่งสร้างเจมส์ บอนด์ ออกมาให้เป็นพระเอกที่มีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นหน้าตาอันหล่อเหลา ร่างกายกำยำแข็งแรง มีทักษะการต่อสู้เป็นเลิศ มีสติปัญญาไหวพริบปฏิภาณยอดเยี่ยม สามารถเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์คับขัน แถมยังสามารถบริหารเสน่ห์จนสาวๆหลงรักอีก

ว่ากันว่าเฟลมมิ่งได้แรงบันดาลใจในการสร้างเจมส์ บอนด์ มาจากสายลับของสก็อตแลนด์ยาร์ดนามว่า ซิดนีย์ ไรลีย์ (Sidney Reilly) ครับ

เฟลมมิ่งเขียนเรื่องเจมส์ บอนด์ 007 ออกมาทั้งหมด 14 ตอนครับ โดยตอนแรก คือ Casino Royale (1953) และตอนสุดท้าย คือ Octopussy and the living Daylights (1966)

ความสำเร็จของนิยาย James Bond 007 ทำให้ฮอลลีวู้ดสนใจหยิบไปทำหนังโดย James Bond 007 ตอนแรกที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ คือ Dr.No (1962) ครับ

Dr. No เป็นผลงานการกำกับของ เทอเรนซ์ ยัง (Terence Young) ซึ่งต่อมา “ยัง” ได้กำกับหนังเรื่องนี้อีกสองตอน คือ From Russia with Love (1963) และ Thunderball (1965)

อย่างไรก็ตามความพิเศษของหนัง James Bond 007 อยู่ที่คนมารับบทเป็น “บอนด์” ครับ ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่า บอนด์คนแรก คือ ฌอน คอนเนอรี่ (Sean Connery) ดาราหนุ่มโนเนม (ในสมัยนั้น) จาก สก๊อตแลนด์

ณอน คอนเนอรี่ เป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่มารับบทเป็น เจมส์ บอนด์ 007 ว่ากันว่าเหตุที่เขาได้สวมบทเป็นบอนด์ก็เพราะความที่เป็นคนในสหราชอาณาจักรแม้ว่าจะไม่ใช่อิงลิชชนก็ตาม

ก่อนมารับบทนำเป็นเจมส์ บอนด์ ฌอน คอนเนอรี่ เคยคิดจะเอาดีในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพถึงขนาดที่ยอดปรมาจารย์เซอร์แมตท์ บัสบี้ (Matt Bustby) ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยเสนอสัญญานักเตะอาชีพให้ฌอน คอนเนอรี่ เป็นพลพรรคปีศาจแดงในยุค 60 เลยทีเดียวครับ

ฌอน คอนเนอรี่ รับบทเป็นสายลับรหัส 007 อยู่ทั้งหมด 6 ตอนครับโดยตอนสุดท้ายที่เขาเล่น คือ Diamond are Forever (1971) ผลงานการกำกับของ กาย แฮมิลตัน (Guy Hamilton)

หลังจากที่ป๋าฌอน เกษียณตัวเองจากสายลับเจ้าเสน่ห์ไปแล้ว บอนด์คนต่อมา คือ โรเจอร์ มัวร์ (Roger Moore) นักแสดงชาวอังกฤษ ครับ มัวร์ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังเรื่อง James Bond 007 ตอน Live and Let Die (1973)

โรเจอร์ มัวร์ รับสัมปทานเป็นเจมส์ บอนด์ ทั้งหมด 7 ตอนครับ ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับ ทิโมธี ดัลตัน (Timothy Dalton) ดาราหนุ่มจากเวลล์ มาสวมบทเป็นบอนด์ต่อในตอน The Living Daylights (1987) อย่างไรก็ดีดัลตันเล่นเป็นบอนด์ได้แค่สองเรื่องเท่านั้นก่อนจะถูก เพียรซ์ บรอสแนน (Pierce Bronan) นักแสดงหนุ่มเลือดไอริชมารับบทเป็นบอนด์ต่อในตอน GoldenEye (1995)

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า “เพียรซ์ บรอสแนน” มีลักษณะคล้ายคลึงกับ เจมส์ บอนด์ ของ เอียน เฟลมมิ่ง มากที่สุดนะครับ ไม่ว่าจะด้วยรูปร่างหน้าตา บุคลิก การพูดจา หรือการแสดงไหวพริบปฎิภาณ ซึ่งทำให้เห็นว่าสายลับที่โคตรเก่งมันน่าจะมีลักษณะแบบนี้

เพียรซ์ บรอสแนน ครองตำแหน่งเจมส์ บอนด์ อยู่ 4 ตอนครับ โดยตอนสุดท้าย คือ Die Another Day (2002) และแล้วเมื่อเพียรซ์สละตำแหน่งสายลับ 007 บอนด์คนถัดมาจึงตกมาอยู่ที่ แดเนียล เคร็ก (Daniel Craig) นักแสดงมาดนิ่งชาวอังกฤษ

แดเนียล เคร็ก มารับบทเป็นสายลับ 007 ท่ามกลางความกดดันโดยเฉพาะเรื่องของหน้าตาที่หลายคนบ่นว่า “ไม่หล่อ” เอาเสียเลยแถมดูหน้าพี่แกยังทื่อๆงงๆอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตามถ้าท่านใดได้ดู James Bond 007 ที่ แดเนียล เคร็ก แสดงสองตอน คือ Casino Royale (2006) กำกับโดย มาร์ติน แคมเบลล์ (Martin Campbell) และ Quantum of Solace (2008) กำกับโดย มาร์ค ฟอสเตอร์ (Marc Forster) จะเห็นได้ว่า แดเนียล เคร็ก เล่นเป็นเจมส์ บอนด์ ที่มีความเป็นสายลับได้สมจริงสมจังมากที่สุดคนหนึ่ง

ผมแอบตั้งข้อสังเกตถึงบทหนังเจมส์ บอนด์ ในสองตอนล่าสุดว่าทีมเขียนบทที่ประกอบด้วย พอล แฮคกิส (Paul Haggis) นีล เพอร์วิส (Neil Purvis) และ โรเบิร์ต เวท (Robert Wade) นั้น พยายามจะทำให้ เจมส์ บอนด์ คนนี้เป็นสายลับที่มีความเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่เป็นผู้วิเศษเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้เองเราจึงได้เห็นฉากที่บอนด์แทบเอาตัวเองไม่รอดจากการถูกวางยาพิษ หรือ ฉากที่ได้รับบาดเจ็บในการต่อสู้ ถูกทรมาน แม้กระทั่งฉากที่ตัดสินใจจะเลิกอาชีพสายลับเพื่อไปอยู่กินกับผู้หญิงที่ตัวเองรัก ซึ่งทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าบอนด์เองก็เป็น “คน” ที่เจ็บได้ โง่เป็น มีความรู้สึกรู้สา ผิดหวัง เจ็บปวดจากอารมณ์สูญเสียกับเขาเหมือนกัน

แม้ว่าแดเนียล เคร็ก จะเป็นบอนด์ที่ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนฌอน คอนเนอรี่ โรเจอร์ มัวร์ หรือ เพียรซ์ บรอสแนน แต่สิ่งที่เคร็กแสดงให้เราได้เห็นในบอนด์ทั้งสองภาคนี้ คือ สายลับเป็นมนุษย์ที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีเพื่อมารับงานที่มีความเสี่ยงแทบทุกเวลาแต่สิ่งหนึ่งที่สายลับยังคงต้องมีอยู่คือความเป็นมนุษย์ที่ยังรู้ร้อน รู้หนาว รู้สุข รู้ทุกข์ มีโง่บ้าง ฉลาดบ้างแล้วแต่สถานการณ์จะพาไปและที่สำคัญที่สุดก็คือ สายลับ 007 ไม่ได้เลิศเลออะไรเหมือนที่นิยายหรือหนังว่าไว้ไงล่ะครับ

Hesse004

May 18, 2009

“เพื่อนสนิท” เลือกคนที่ใช่ หรือ รอคนที่ชอบ





กระบวนหนังไทยที่ว่าด้วยเรื่องราวของความรักในช่วงมหาวิทยาลัยดูเหมือนว่า “เพื่อนสนิท” (2548) ของคุณเอส คมกฤษ ตรีวิมล มีความโดดเด่นอยู่ไม่น้อยเลยนะครับ

หนังไทยเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง “ตู้ไปรษณีย์สีแดง”ก่อนจะได้รับการพัฒนาบทภาพยนตร์โดยคุณนิธิศ ณพิชญสุทิน ซึ่งได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิงและเวทีสุพรรณหงส์

สำหรับความพิเศษของหนังเรื่อง “เพื่อนสนิท” อยู่ที่ประเด็นในการนำเสนอครับ ประเด็นที่ว่านี้คนทำหนังเขาโปรยไว้บนใบปะหนังว่า “คุณเคยแอบรักเพื่อนสนิทไหม?”

เคยมีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจว่าผู้ชายกับผู้หญิงจะกลายเป็นเพื่อนสนิทกันจริงๆได้หรือเปล่าโดยที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแอบคิด “เผลอใจ” ไปแอบรักเพื่อนตัวเองเข้า

ความรักที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้เป็นความรักของคนหนุ่มสาวในช่วงวัยรุ่นตอนปลายที่ผ่านช่วงอารมณ์หวานแหววกุ๊กกิ๊กมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ความรักของคนช่วงนี้จึงเริ่มต้องการแสวงหาความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้นกว่าเก่า

หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องความรักของคนสามคนครับโดยสองคนแรกมีความสัมพันธ์กันแบบเพื่อนสนิทมาก่อนทั้งๆที่เจ้าหนุ่มไข่ย้อยอาจจะแอบหลงรัก “ดากานดา” เพื่อนสาวมาตั้งแต่แรกเห็น

ขณะที่ความรักของ “นุ้ย” พยาบาลสาวแห่งเกาะพงันเป็นความรักที่เกิดจากความพยายามจะหาใครสักคนที่ใช่มาโดยตลอดแต่จนแล้วจนรอดรักของสาวใต้คนนี้ก็ไม่สมหวังเสียที

ผมเคยแอบตั้งข้อสังเกตในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ว่า “ความรัก” ของคนเรามันก็เหมือนสินค้าชนิดหนึ่งที่มีทั้งผู้เสนอซื้อและผู้เสนอขายนะครับ บางครั้งเราก็เป็นคนบริโภคความรักเช่นเดียวกับที่บ่อยครั้งเราก็ชอบเป็นผู้ผลิตความรักขึ้นมาเสียเอง

อย่างไรก็ตามไม่มีใครรู้ว่า “มือที่มองไม่เห็น” (Invisible hand) ของใครกันแน่ที่เป็นคนจับชนให้คนสองคนมารักกันและท้ายที่สุดคนทั้งคู่ก็กลายเป็นทั้งผู้ผลิตและบริโภคความรักไปพร้อมๆกัน แหม่! ผมเขียนเสียเคลิ้มเชียว…

บางทีชีวิตคนเรามันมักมีเรื่อง “ตลก” แบบไม่คาดฝันเข้ามาอยู่เสมอนะครับ และไอ้ความไม่คาดฝันนี้เองที่ทำให้เราอาจได้พบใครบางคนซึ่งท้ายที่สุดกลับกลายมาเป็น “คู่ชีวิต”ของเรา

แต่บ่อยครั้งนะครับที่มี “ตีนที่มองไม่เห็น” (Invisible foot) มาถีบให้กลไกที่ว่านี้มันล้มเหลวหรือไม่ทำงาน นั่นจึงเป็นสาเหตุของการ ผิดหวัง ไม่สมหวัง อกหัก แห้ว กับ อารมณ์รัก

ไอ้การผิดหวังกับความรักเนี่ยมันทำให้ใครหลายคนเปลี่ยนแปลงไปนะครับ บางคนฟูมฟาย บางคนบ้าบอ บางคนประชด และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือทำไมเวลาเราอกหัก เรามักจะไปตัดผมกัน?? หรือจะเป็นเพราะว่าการตัดผมอาจเปรียบเสมือนการ “ตัดเยื่อ ขาดใย” ไม่ให้เราหวนไปนึกถีงเรื่องรักที่เจ็บช้ำ

“เพื่อนสนิท” ยังหยิบยกวรรณกรรมคลาสสิคอย่าง “เจ้าชายน้อย” ของอังตวน แซงเต็ก ซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) นักเขียนชาวฝรั่งเศส มาใส่ไว้ในบทหนังด้วย เจ้าชายน้อยได้กลายเป็นวรรณกรรมอมตะที่เด็กอ่านก็ได้ ผู้ใหญ่อ่านยิ่งดี เพราะหนังสทอเล่มนี้ให้ข้อคิดหลายอย่างในการมองโลกและชีวิต

อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้หยิบเพียงบางส่วนของเจ้าชายน้อยที่เกี่ยวกับเรื่อง “ความสัมพันธ์” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่เราจะกลายเป็นเพื่อนสนิทกับใครสักคนได้นั้นมันต้องเริ่มต้นมาจากการสร้างความสัมพันธ์เป็นอันดับแรกก่อนครับ

ในบทที่เจ้าชายน้อยพบหมาจิ้งจอก แล้วหมาจิ้งจอกพูดถึงความสัมพันธ์ไว้ว่า “เธอต้องทำให้ฉันเชื่องเสียก่อน แล้วฉันก็จะเป็นเพื่อนกับเธอ” นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์

จริงๆแล้วคำว่า “เชื่อง” มีความหมายไม่ต่างอะไรกับคำว่า “ไว้ใจ” หรือ “วางใจ” นะครับ ดังนั้นการที่เราจะเริ่มต้นคบหาใครเป็นเพื่อนสนิทสักคน เราคงต้องทำให้เขา “ไว้ใจและวางใจ”เราได้ก่อน

หลังจากนั้นความสัมพันธ์มันต้องอาศัยระยะเวลาและความอดทนครับ พูดง่ายๆว่ากว่าจะ “ซี้” กันได้เนี่ยมันต้องใช้เวลาพอสมควร

แต่ที่สำคัญที่สุดในเรื่องของความสัมพันธ์ก็คือ “การรักษาความสัมพันธ์” ไงล่ะครับซึ่งหมาจิ้งจอกบอกเจ้าชายน้อยว่า “เราต้องรู้จักที่จะรับผิดชอบความสัมพันธ์ที่เราสร้างขึ้นมา”

บ่อยครั้งนะครับที่ความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทจบลงด้วยความเคียดแค้น ชิงชัง จบลงด้วยโศกนาฎกรรมทั้งนี้ทั้งนั้นก็มาจากการที่เราไม่รู้จักที่จะรับผิดชอบความสัมพันธ์นั่นเอง

หนังเรื่องนี้ใช้เพลง “ช่างไม่รู้อะไรเลย” ของคุณตั้ม สมประสงค์ มาเป็นเพลงประกอบภายนตร์โดยได้คุณบอย พีซเมคเกอร์ มาร้องใหม่ ซึ่งก็เพราะไปอีกแบบหนึ่งนะครับ

ท้ายที่สุดผมคิดว่าบางทีชีวิตคนเราอาจจะต้องเลือกหนทางของความรักระหว่าง “เลือกคนที่ใช่” หรือจะ “รอคนที่ชอบ” ต่อไป ซึ่งหากท่านผู้อ่านได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วคงจะได้คำตอบแล้วว่าไข่ย้อยเลือกทางไหนนะครับ

Hesse004