Sep 23, 2007

ฤดูกาลที่แตกต่าง “หากไม่รู้จักเจ็บปวด ก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ”




เพลง “ฤดูที่แตกต่าง” หรือ Seasons change ของคุณบอย โกสิยพงษ์ ได้ออกอากาศตามรายการวิทยุประมาณปี 2538 และบทเพลงนี้เองได้ทำให้ชื่อของ บอย (คนเขียนเพลง)และ นภ พรชำนิ (นักร้อง) กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะเจ้าพ่อเพลงรักและผู้ชายโรแมนติค

ผมคิดว่าทั้งภาษาและเนื้อหาที่ปรากฏในบทเพลง Seasons change นั้นจัดได้ว่าขึ้นหิ้งคลาสสิคตลอดกาลไปแล้วก็ว่าได้ครับ

ในอดีตที่ผ่านมาเพลงให้กำลังใจหลายต่อหลายเพลงมีความงดงามจับใจทั้งเนื้อหา และการเลือกใช้ถ้อยคำ อย่างเพลง “กำลังใจ” ของ Hope นั้นก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ฟังเมื่อไรก็รู้สึกดีเสมอ หรือเพลง “คงจะมีสักวัน” และ “ตะกายดาว” ของ เต๋อ เรวัต ก็จัดเป็นเพลงปลอบประโลมชีวิตให้เดินต่อไปในยามที่รู้สึกท้อเช่นเดียวกับเพลง “เธอผู้ไม่แพ้” ของป๋าเบิร์ด ที่เคยเป็นเพลงสัญลักษณ์ใช้เปิดปลอบใจน้องๆผู้พลาดหวังจากการสอบ Entrance หรือเพลง “ Live and Learn” ของคุณบอย ที่ได้คุณกมลา สุโกศล แคลป์ป มาเป็นผู้ขับร้องก็จัดเป็นเพลงปลอบประโลมการชีวิตได้ดีอีกเพลงหนึ่ง

ไม่กี่วันมานี้ผมเพิ่งเจอสภาวะที่เรียกว่า “อารมณ์เป๋ๆ” กล่าวคือ อารมณ์ที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยอันเนื่องมาจากความผิดหวังบางอย่างในชีวิต แม้จะไม่มากมายอะไรและยังพอมีโอกาสแก้ตัวได้บ้าง แต่มันก็ทำให้ช่วงเวลานั้นดูหม่นๆไป อย่างไรก็ดีผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราเรียนรู้กับความผิดพลาด และผิดหวังได้มากน้อยแค่ไหนกัน”

โดยส่วนตัวแล้ว, ผมมีความเชื่อว่ามนุษย์เราเรียนรู้อะไรหลายๆอย่างจากความทุกข์ได้มากกว่าความสุขสมหวังครับ เพราะความผิดหวังจะทำให้เราได้กลับไปทบทวนและสำนึกดูเสียว่าที่ผ่านมานั้นมันเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา

ธรรมชาติมักเป็น “ครู” ที่ดีให้กับเราเสมอครับ หากเราใคร่สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลแล้ว เราจะเข้าใจสัจธรรมบางอย่างของ “ความเปลี่ยนแปลง” และ “ความไม่จีรังยั่งยืน” เพียงแต่ว่าเราจะเข้าใจกับรหัสต่างๆที่ธรรมชาติต้องการบอกเราได้มากน้อยแค่ไหน

“ฤดูที่แตกต่าง” ขึ้นต้นด้วยเนื้อร้องที่ว่า “อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ”

ผมตั้งขอสังเกตว่ามนุษย์เรามักผูกพันกับ “ฤดูฝน” มากกว่าฤดูใดๆส่วนหนึ่งเพราะฝนทำให้เกิดน้ำและความอุดมสมบูรณ์แต่ในมุมกลับกันฝนได้สร้างความยากลำบากให้กับมนุษย์ ฝนมักมาพร้อมพายุและฟ้าร้องซึ่งเรามักมองว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถควบคุมปรากฏการณ์ฝนตก ฟ้าร้อง (อาจจะรวมถึงผู้หญิงจะคลอดลูก) ได้ ด้วยเหตุนี้เองที่มนุษย์เรายังด้อยกว่าธรรมชาติอยู่วันยังค่ำ

“อย่าไปกลัวเวลาที่ฟ้าไม่เป็นใจ อย่าไปคิดว่ามันเป็นวันสุดท้าย” หลายต่อหลายหนที่เราเหมือนจะพ่ายแพ้ หรือไม่ประสบความสำเร็จซึ่งดูเหมือนโลกของเราแทบจะสูญสลายไปต่อหน้า บางคนบอกว่ามันไม่ได้เป็น “The end of the world” บางคนบอกว่า “ท้อแท้ได้แต่อย่าท้อถอย” บางคนบอกว่า “พรุ่งนี้ยังมี” ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นคำให้กำลังใจให้คิดถึงวันใหม่ที่ดีกว่า

มันก็เป็นเช่นนั้นเอง “ประเดี๋ยวก็รุ่งเรืองประเดี๋ยวก็ร่วงโรย” ไอ้คำว่า “ประเดี๋ยว”เนี่ยมันก็เห็นภาพดีเหมือนกันนะครับว่าไม่นาน นั่นก็แสดงว่าเราจะสุขก็คงสุขไม่นาน เราจะทุกข์ก็ทุกข์กันไม่นาน

เพื่อนสนิทผมมันเคยเตือนผมว่า “ให้ประคองตัวเองไปให้ได้ เพราะความเศร้าที่เราเผชิญอยู่นี้เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” ซึ่งผมคิดว่าจริงอย่างที่เพื่อนมันพูด

หลายต่อหลายครั้งเวลาที่ผู้ใหญ่ท่านปลอบใจเราประมาณว่า “อย่าไปเอาอะไรกับมันมาก เดี๋ยวมันก็ดีเอง” คำพูดเหล่านี้หากเราคิดกันให้ดีๆมันแสดงให้เห็นถึง “ความเติบใหญ่” (Maturity) ของคนที่ผ่านชีวิตจนเข้าใจอะไรบางอย่างเหมือนที่โบราณว่าไว้ “ผ่านร้อนผ่านหนาว” ซึ่งก็อิงกับฤดูกาลอีกเหมือนกัน

สุดท้ายผมคิดว่ากำลังใจที่ดีที่สุดในการปลอบประโลมเวลาเราทุกข์ใจ คือ กำลังใจจากตัวเราเองครับ เพราะหากเราผ่านวันที่เลวร้ายเหล่านั้นไปได้ เราจะรู้สึกว่าตัวเองเข้มแข็งและอดทนอย่างประหลาด มันเหมือนได้รับการฉีดวัคซีนกันทุกข์ไปเรียบร้อยแล้วซึ่ง “หากไม่รู้จักเจ็บปวดก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ”ใช่มั๊ยครับ

Hesse004

Sep 4, 2007

"13 เกมสยอง" ทุนนิยมกินคน





กระบวนภาพยนตร์ที่สื่อสารให้เห็น “สันดานดิบ” ของมนุษย์นั้น คงต้องกล่าวถึง Se7en (1995)ของ David Fincher ที่นำเสนอสารได้อย่างน่าสนใจอีกทั้งยังแหวกผ่านรูปแบบการทำหนังในช่วงทศวรรษที่ 90 ด้วยการหยิบประเด็นบาปทั้ง 7 ของคริสเตียนมาถ่ายทอดให้เราเห็นกิเลสหนาๆของมนุษย์

สำหรับหนังไทยนั้น, งานของ “มะเดี่ยว” ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กับเรื่อง “13 เกมสยอง” (2548) นับว่าทำได้ดีเลยทีเดียวครับ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อ นอกจากนี้แล้วการแสดงของ กฤษฎา สุโกศล แคลปป์ หรือ น้อย วงพรู นั้นจัดว่ามีพลังและทำให้หนังเรื่องนี้น่าติดตามได้ไม่น้อย

13 เกมสยองหรือ 13 Beloved สร้างขึ้นจากพล็อตเรื่องการ์ตูนไทยของ “เอกสิทธิ์ ไทยรัตนะ” หนังพูดถึง “ภูชิต พึ่งนาทอง” ชายหนุ่มลูกครึ่งไทยฝรั่ง ยึดอาชีพเป็นเซลล์ขายเครื่องดนตรีโดยบุคลิกแล้วภูชิตดูเหมือนเป็นคนติ๋มๆ อ่อนโยน ใจเย็น ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร มีชีวิตอยู่ในสังคมทุนนิยมเมืองซึ่งมีสภาพไม่ต่างอะไรไปจากป่า หากแต่เป็น “ป่าคอนกรีต” ที่มนุษย์ผู้แข็งแรงกว่ามักเอาเปรียบมนุษย์ที่อ่อนแอกว่าอยู่เสมอ

หนังบอกเล่าถึงความ “ซวย”ของภูชิต ตั้งแต่ถูกเพื่อนรุ่นพี่เอาเปรียบขายของตัดหน้า จนเป็นสาเหตุให้เขาถูกไล่ออกจากงาน เท่านั้นไม่พอครับ พี่แกยังถูกFinanceยึดรถเสียอีก แถมถูกแฟนทิ้ง มีปัญหาหนี้สินบานตะไท ปัญหาต่างๆที่มารุมเร้าภูชิตไม่ผิดอะไรกับ “แมลงวัน” ที่มาวนเวียนสร้างความรำคาญให้กับเขาและนี่เองที่หนังกำลังจะเปิดให้เห็น “สันดานดิบ” ของมนุษย์คนหนึ่งที่เหมือน “หมาจนตรอก” และยอมทำทุกทางเพื่อเงิน

ผมขออนุญาตไม่เล่าเรื่อง “เกม” ทั้ง 13 เกมที่ภูชิตจะต้องเล่นเพราะหากเล่าไปคงจะเสียอรรถรสในการดูหนังเรื่องนี้ และหลังจากที่ผมดูหนังเรื่องนี้จบลง ผมรู้สึกถึงคำพูดหนึ่งที่ว่า “สุดท้ายแล้ว ทุนนิยมมักจะกลืนกินตัวมันเอง” ผมไม่แน่ใจว่าไปอ่านพบมาจากหนังสือเล่มไหน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ผมกลับเห็นว่า “ทุนนิยมนั้นมันกินคนเป็นอาหารครับ”

ภาพของนายภูชิต ที่น้อยนำแสดงนั้น เป็นตัวแทนของมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆท่านๆรวมทั้งผมคนหนึ่งด้วยครับ มีคำพูดหลายคำในหนังที่สะท้อนให้เห็นความฝันของมนุษย์เงินเดือน เช่น ปีนี้จะได้โบนัสเท่าไรนะ จะมีโอกาสขยับเป็นหัวหน้างานหรือเปล่า

มีครั้งหนึ่งที่ผมเคยหลงใหลได้ปลื้มไปกับปรัชญาของ Marxist ครับ โดยเชื่อในพลังของชนชั้นกรรมาชีพ เชื่อในความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการกระจายทรัพย์สิน แต่ความหลงใหลได้ปลื้มของผมได้หดหายไปเมื่อผมเริ่มพบว่าโลกของความเป็นจริงนั้นไม่ได้บริโภคอุดมการณ์เป็นภักษาหาร ด้วยเหตุนี้เองตำราของนาย Marx อย่าง Das Capital และ Communist Manisfesto จึงถูกยัดเก็บนอนนิ่งอยู่ด้านในสุดของชั้นหนังสือ

แม้ว่าทุนนิยมหรือ Capitalism นั้นจะทำให้มนุษย์อย่างเราๆสุขสบายแต่มันกลับพรากอะไรบางอย่างในตัวเราไป ไอ้อะไรบางอย่างที่ว่านี้ ผมไม่แน่ใจว่าเป็น “จิตวิญญาณ”หรือเปล่า เพราะบ่อยครั้งที่โลกทุนนิยมคำนึงถึง “เงิน” เป็นตัวตั้งเสมอ และสิ่งที่ตามมาคือ “การหาเงิน”ซึ่งบางครั้งก็ไม่สนใจว่ามันจะได้มาด้วยวิธีการใด

ข้อถกเถียงในเรื่องเงินนั้น นักเศรษฐศาสตร์สำนัก Classic บอกว่า Money is medium exchange. พูดง่ายๆก็คือ เงินเป็นแค่สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น แม้ว่าพลพรรค Keynesian จะมองว่าเงินทำหน้าที่ทั้งเป็นสื่อกลาง แต่ก็ยังเก็งกำไรได้ด้วย อีกทั้งถือไว้ยามฉุกเฉินแต่สถานภาพของเงินในทัศนะของพวกเขาก็ดูจะไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าใดนัก ผิดกับแนวคิดของ Monetarism ภายใต้การนำของ Milton Friedman ที่มองว่า “Money is matter” หรือ เงินนั้นมีความหมายเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าทัศนคติต่อเงินของนักเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนักมีไม่ตรงกันเลยนะครับ แต่จุดร่วมกันของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือไม่เป็นนักเศรษฐศาสตร์นั้นต่างก็เชื่อว่า “เงินนั้นสำคัญ”หรือ Money is important. บางทีอาจจะต่อด้วยซ้ำว่า “เงินนั้นเป็นสิ่งจำเป็น” Money is essential.

13 เกมสยอง ของ คุณมะเดี่ยว ได้สะท้อนภาพบิดบูดของสังคมเมืองหลวงที่แม้พัฒนาวัตถุไปเสียไกลโข แต่จิตใจกลับไม่พัฒนาแถมยังถดถอยอีกต่างหาก สังเกตได้จากเกมที่เอามาให้เล่น ผมคิดว่า“ความเห็นแก่ตัว” กำลังจะกลายเป็นทูตของพระเจ้าองค์ใหม่ นั่นคือ “เงิน” เพราะความเห็นแก่ได้นี้เองที่เชื้อเชิญให้มนุษย์เข้ามากอบโกยอะไรก็ได้ที่แปลงเป็น “เงิน”ได้โดยไม่ต้องคิดถึงความผิดชอบชั่วดี (หิริโอตัปปะ)

ชั่วชีวิตของผมคงไม่ได้เห็นพัฒนาการของทุนนิยมได้มากไปกว่านี้แน่นอนครับ ผมเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตอันใกล้นี้หลายประเทศจะถูกบีบให้เลือกเดินตามเส้นทางระบบทุนนิยม โลกอีกร้อยปีข้างหน้าเราอาจเห็นตลาดหุ้นร่างกุ้ง ในเมียนมาร์ กำลังทำสถิติทะลุ 1,000 จุด หรือไม่งั้นเราอาจได้ยินข่าวการเปิดการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลภูฎาน ซึ่งอะไรๆก็เป็นไปได้ทั้งนั้นนะครับกับทุนนิยมกินคนแบบนี้

Hesse004