Sep 23, 2009

"Life is beautiful" ชีวิตนี้งดงามยิ่งนัก





เพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยบอกผมไว้ว่า “ชีวิตคนเราทุกวันนี้มันก็เครียดจะตายอยู่แล้ว แล้วทำไมเราถึงต้องมานั่งจริงจังนั่งเครียดกันอีกล่ะ”

ผมว่าที่เพื่อนคนนี้พูดไว้มันคงจะจริงและทำให้ผมนึกถึงหนังอิตาเลียนเรื่องหนึ่งที่ชื่อ Life is beautiful (1997)ครับ

Life is beautiful หรือ La vita è bella ในชื่ออิตาเลียนนั้นเป็นผลงานการกำกับของโรแบร์โต้ เบนจินี่ (Roberto Benigni) ผู้กำกับอารมณ์ดีที่สามารถทำให้หนังสงครามกลายเป็นเรื่องรื่นรมย์ได้

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ Life is beautiful จะกวาดรางวัลจากเวทีประกวดภาพยนตร์นานาชาติอย่างรางวัล Grand Prize of the Jury จากเทศกาลหนังเมืองคานส์, ชนะเลิศรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวที European Film Award และที่ทำให้หนังเรื่องนี้โด่งดังเป็นพลุแตก คือ การได้รับรางวัล Academy Award ในฐานะภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best Foreign Language Film) เมื่อปี ค.ศ. 1999

จะว่าไปแล้วหนังอิตาเลียนนั้นมี “เสน่ห์” อยู่ไม่น้อยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพล็อตเรื่องที่นำเสนอรวมไปถึงบรรยากาศตามท้องเรื่องที่น่าประทับใจ

โดยส่วนตัวแล้วผมประทับใจกับ Cinema Paradiso (1988) หรือ Nuovo cinema Paradiso ของผู้กำกับ จูเซปเป้ ทอนาทอเร่ (Giuseppe Tornatore) ที่ว่าด้วยอารมณ์ถวิลหาอดีตของโรงภาพยนตร์และภาพยนตร์ในช่วงปลายทศวรรษที่ 40 – 50

สำหรับ Life is beautiful นั้น โรแบร์โต้ เบนจินี่ พยายามทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นตัวอย่างของการมองชีวิตในด้านบวกอยู่เสมอโดยมีโจทย์สำคัญที่ว่า “เราจะสอนเด็กอย่างไรให้รู้จักคำว่าสงคราม”

แน่นอนครับว่า “สงคราม” เป็นหายนะของมนุษยชาติมาตั้งแต่โบราณกาล โดยทั่วไปแล้วเรามักมองว่าสงครามเป็นวิธีการกำจัดความขัดแย้งระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกันเองโดยเราไม่เคยมองว่าแท้จริงแล้วสงครามนั้นเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย

Life is beautiful เป็นหนังต่อต้านสงครามโดยเฉพาะการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The Holocaust) ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองครับ

ท่านผู้อ่านที่เคยชมภาพยนตร์ Schindler’ list (1993) ของสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) คงจะได้เห็นภาพความโหดร้ายที่กองทัพนาซีได้กระทำต่อชาวยิวจนทำให้รู้สึกเลยว่าทำไมหนอมนุษย์ถึงโหดร้ายได้เพียงนี้

อย่างไรก็ตาม “เบนจินี่”กลับไม่ทำให้ภาพการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวหรือสยดสยองแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามเขากลับสอนให้ลูกชายตัวน้อยรู้ว่า “สงคราม” เป็นเพียงเกมๆหนึ่งเท่านั้น

อย่างที่เราทราบกันนะครับว่า “เด็กเหมือนดั่งผ้าขาวที่บริสุทธิ์” ดังนั้นเราจะสอนเขาให้รู้ว่าสงครามมันเป็นอย่างไรนั้นมันก็อยู่ที่วิธีการสอนของผู้ใหญ่นั่นเอง

ผมว่าบางครั้งเด็กเล็กๆอาจไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ว่า “ความจริง” ที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมานั้นมันโคตรจะโหดร้ายเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้เองหากเรารู้จักสอนให้เด็กมองโลกในแง่ดีเสียแต่ตอนต้นมันก็จะเป็น “ภูมิคุ้มกัน”ทางใจของเขาในการใช้ชีวิตรวมไปถึงการมีทัศนคติที่ดีต่อการมองโลก

กล่าวมาถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดที่ว่า “การคิดบวก” หรือ “การคิดดี” ขึ้นมา เพราะการคิดดีเป็นพื้นฐานของการพูดดีและทำดีซึ่งเป็น “บุญ” (ความปิติ) อย่างหนึ่ง

ทุกวันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเราจะสอนเด็กอย่างไรให้รู้จัก “คิดดี” หรือคิดบวก เพราะลำพังผู้ใหญ่เองก็ยังคิดลบ เคียดแค้น ชิงชัง จองเวร ก่อบาปกันอยู่จึงเป็นเรื่องยากนักที่เราจะมี “น้ำยา”ไปสอนให้เด็กมันคิดดีได้ หากเราไม่เริ่มต้นที่จะคิดดีเสียเองก่อน

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่า เบนจินี่ต้องการให้หนังเรื่องนี้สื่อสารอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการสอนให้คนๆหนึ่งรู้จักที่จะมองโลกในมุมที่งดงามมากกว่าที่จะจริงจังหรือโหดร้ายจนเกินไป

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเคยนั่งคุยกับคุณลุงคนขับแท็กซี่ คุณลุงแกเล่าให้ฟังว่าเพิ่งจะโดนปลดออกจากงานเมื่อตอนอายุ 55 เพื่อนแกสองคนคิดสั้นฆ่าตัวตาย แกยังเล่าให้ฟังอีกว่าเมียแกโดนรถสิบล้อทับทุกวันนี้เป็นคนพิการครึ่งท่อนแต่แกก็ยังดูแลเมียมาร่วมสิบปี

สำหรับแกแล้วทุกวันนี้แกยังมีความสุขอยู่เพราะยังเชื่อว่าชีวิตมันยังไม่สิ้นหวังเลยซะทีเดียวยังมีคนลำบากกว่าแกอีกเยอะแยะ

บางทีหากมนุษย์เรารู้จักมองในสิ่งที่ “มี”มากกว่ามองในสิ่งที่ “ขาด” แล้ว เราอาจจะมีความสุขหรือรื่นรมย์กับชีวิตขึ้นเยอะนะครับ

Hesse004

2 comments:

Unknown said...

พี่ว่าวิธีการสอนเด็กที่ดีที่สุด คือ การทำให้เด็กดู

เหมือนเคยอ่านที่ประภาสเขียนถึงลูกเขาว่า ถ้าอยากให้ลูกเป็นนักอ่าน พ่อแม่นั่นล่ะ ต้องเป็นนักอ่านให้ลูกดู ถ้าพ่อแม่บ้านไหนเจ้าอารมณ์ มองโลกในแง่ร้าย ลูกหลานที่ไหนจะมองโลกในแง่ดีไปได้ล่ะ (เว้นแต่พวกหล่นอยู่ไกลๆต้น *_*)

คงจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ที่ว่า มองคนที่ไม่มี แล้วเราจะรู้สึกดีขึ้นว่าเราดีกว่าคนพวกนั้นแยะ เพราะมีการเปรียบเทียบกับตัวเองขึ้นมา (หรือเปล่า?) แต่ถ้ามองโลกตามความเป็นจริงได้ ยอมรับมันได้ จะดี จะร้าย จะมาในรูปแบบไหน ก็รับได้ในสิ่งที่เกิดขึ้น มันคงดีมากๆเลยเนอะ

พูดเหมือนทำได้ ^_^ ก็กำลังทำอยู่น้า

Thi said...

ชอบหนังเรื่องนี้มาก จำได้ว่า ประทับใจกับฉากที่พ่อเดินทำท่าห้าวหาญ ขาตึง แขนตึง ก้าวฉับฉับ ส่งยิ้มให้ลูกที่แอบอยู่ในตู้เล็กๆ โดยมีทหารเยอรมันจ่อปืนตามหลัง ลูกที่แอบอยู่ในตู้ รอจนทุกอย่างนิ่งสงบ แล้วค่อยออกมา เพราะกลัวว่าจะแพ้ไม่ได้รถถังเป็นรางวัลอย่างที่พ่อบอก

ตอนดูหนังเรื่องนี้จบ บอกกับตัวเองว่า นี่แหล่ะคือความรักของพ่อที่ให้กับลูกจริงๆ ลูกปลอดภัย แม้ตัวเองตาย แถมลูกยังไม่รู้ถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นอีก