Oct 24, 2009

“รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ” เสรีภาพที่จะเลือกรัก





ว่ากันว่าผู้หญิงที่เข้าใกล้ “เลขสาม” มักจะกลัวเรื่องการไม่มีคู่ครอง จนมีเพลงลูกทุ่งร้องแซวอย่าง “สามสิบยังแจ๋ว” ของคุณยอดรัก สลักใจ ที่ร้องไว้จนกลายเป็นเพลงอมตะไปแล้ว

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว โดยส่วนตัวผมกลับไม่คิดอย่างนั้นนะครับ ผมว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่าง “กังวล” เรื่องของการไม่มีคู่ครองด้วยกันทุกคนเพียงแต่ว่าใครจะกังวลมากหรือน้อยกว่ากัน

เพื่อนผู้หญิงผมหลายคนไม่ค่อยจะ “ยี่หระ” เกี่ยวกับเรื่องนี้สักเท่าไรนักพอๆกับเพื่อนผู้ชายที่ยังอาลัยอาวรณ์กับชีวิต “โสด”อยู่

จริงๆแล้วโลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากนะครับ โดยสภาพสังคมเปิดที่ทำให้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชายนั้นค่อยๆน้อยลงไป วิธีคิดประเภทผู้ชายต้องเป็น “ช้างเท้าหน้า” ก็ดูจะเป็นเรื่อง “ล้าสมัย” ไปเสียแล้ว

ด้วยเหตุนี้เองประเด็นในการเลือกคู่ครองของผู้หญิงสมัยใหม่จึงอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า “ชั้นก็น่าจะสิทธิ์เลือกผู้ชาย” ได้เหมือนกัน

ภาพยนตร์เรื่อง “รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ” หรือ BTS love story (Bangkok’s Traffic Love Story) ก็พยายามสื่อให้เห็นถึงวิธีคิดของหญิงไทยในปัจจุบัน ที่ว่าพวกหล่อนเองก็ควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ชีวิตได้เหมือนกัน

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับเรื่องที่สองของ “คุณปิ๊ง” อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ครับ หลังจากที่เคยฝากผลงานไว้ในเรื่องหมากเตะโลกตะลึง (2549)

หนังเรื่องนี้ได้คุณเคน ธีรเดช วงศ์พัวพัน และคุณคริส หอวัง มารับบทนำในเรื่องครับ

ตามธรรมเนียมเดิมนะครับ ผมขออนุญาตไม่เล่าเนื้อหาสำคัญของหนังเรื่องนี้ เพียงแต่อยากเขียนถึงข้อสังเกตที่มีต่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “เสรีภาพที่จะเลือกรัก”

ทั้งนี้ผมแอบตั้งข้อสังเกตถึงการทำหนังของกลุ่มหกหนุ่มผู้กำกับจากแฟนฉัน (2546) ว่าพวกเขาพยายามไล่ซีเควนส์ (Sequence) การสร้างหนังตามช่วงเวลาสำคัญๆของชีวิต

ทั้งหกเริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” อันเป็นการหวนรำลึกถึงอดีต (Nostalgia) ของเด็กยุค “มานีมานะปิติชูใจ” ซึ่งปัจจุบันเด็กรุ่นนี้น่าจะมีอายุระหว่างยี่สิบปลายๆไปจนกระทั่งสามสิบกลางๆครับ

หลังจากนั้นทั้งหกคนได้แยกออกมาทำหนังเดี่ยวซึ่ง “คุณเอส” คมกฤษ ตรีวิมล เล่าเรื่องความรักของเด็กมหาวิทยาลัยในหนังเรื่องเพื่อนสนิท (2548) ต่อมา “คุณต้น” นิธิวัฒน์ ธราธร ย้อนอดีตความรักของเด็กมัธยมปลายกับการตามหาความฝันทางดนตรีใน Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549) ขณะเดียวกัน “คุณย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ ได้เสนอเรื่องราวชีวิตเด็ก ม.ต้น ในหนังเรื่องเด็กหอ (2549) ผ่านมิตรภาพระหว่างคนกับผี

จะเห็นได้ว่าหนังทั้งสามเรื่องที่เหล่าผู้กำกับจากแฟนฉันแยกตัวออกมากำกับเองนั้นมีซีเควนส์หรือลำดับเวลาของการใช้ชีวิตซึ่งคนรุ่นหนึ่งสามารถเข้าถึงและสัมผัสความรู้สึกเดียวกับที่ตัวละครพบเจอได้

ในทำนองเดียวกันกับ “รถไฟฟ้า…มาหานะเธอ” ที่คุณปิ๊งนำเสนอนั้นก็เป็นฉากตอนที่คนรุ่นนี้เติบโตขึ้นและเริ่มเข้าสู่วัย “เลือกคู่ครอง” แล้วโดยคุณปิ๊งเลือกที่จะเล่าเรื่องของ “เหมยลี่” สาววัยสามสิบที่กำลังเฝ้ารอผู้ชายดีๆสักคนเข้ามาเป็นคู่ชีวิต

จะว่าไปแล้วหนังเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับหนังเกาหลีอารมณ์ดีอย่าง I Wish I Had a Wife (2001) ผลงานกำกับของปาร์ค ซุง ชิค (Park Heung-shik) ที่ว่าด้วยเรื่องชายโสดวัยสามสิบที่อยากจะแต่งงานมีชีวิตครอบครัวหลังจากเห็นเพื่อนฝูงเป็นฝั่งเป็นฝาไปหมดแล้ว

น่าสนใจนะครับว่าการมี “ชีวิตคู่”นั้นเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตเลยทีเดียว เป้าหมายที่ว่านี้อาจจะแฝงไปด้วยปรัชญาเรื่องการดำรงอยู่และสืบต่อเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ซึ่งทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตัวเองเป็น “อมตะ” อยู่ตลอดเวลาเพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีลูกหลานธำรงสกุลตัวเองไว้

ทั้งนี้หากมองในมุมของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว การมีชีวิตคู่หรือ “การแต่งงาน” นั้นเปรียบเสมือนเป็นผลผลิตของการบริโภคสินค้าที่เรียกว่า “รัก” ครับ

เหมือนที่ผมเคยเขียนไปหลายครั้งแล้วว่าถ้าเราเอาวิธีคิดของนักเศรษฐศาสตร์มาอธิบายความรักของมนุษย์นั้น นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักจะหยิบเรื่อง “ตลาด” ซึ่งมีผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้ามาเป็นเครื่องมืออธิบาย

แน่นอนครับว่าการที่เราจะบริโภคสินค้าอะไรสักอย่างหนึ่งนั้นเราต้องมี “เสรีภาพ”ในการที่จะเลือกบริโภคก่อน (Free to Choose) ซึ่งสินค้าที่เรียกว่า “รัก” ก็เช่นเดียวกันควรเป็นสินค้าที่มาจาก “ความเต็มใจ”ที่จะบริโภคและผลิตของคนสองคนก่อน

การที่คนสองคนจะมาลงเอยเป็น “คู่รัก” หรือเป็น “แฟน” กันนั้นส่วนหนึ่งมันเกิดจาก “กลไกตลาดรัก” ทำงานแล้วประสบผลสำเร็จครับ เพียงแต่ว่าเวลาที่คนมันเลิกรา ร้างรักกันไปแล้วส่วนหนึ่งก็ต้องโทษว่าไอ้กลไกตัวนี้มันล้มเหลวเหมือนที่กลไกตลาดล้มเหลว (Market Failure) จนไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นอธิบายเหตุของกลไกตลาดล้มเหลวไว้หลายประการนะครับ แต่สาเหตุประการหนึ่งที่น่าจะอธิบายเรื่อง “การล้มเหลวของกลไกตลาดรัก” ได้ดีที่สุดคือเรื่องความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร (Asymmetric Information)

ใช่แล้วครับ ระหว่างที่รักกันเป็นแฟนกันนั้น เรามักจะปกปิดเรื่องไม่ใคร่จะดีของตัวเองไว้และมาเปิดเผยทีหลังก็เมื่อ “ลงเอย” เป็นคู่ผัวตัวเมียกันแล้ว อย่างที่เพื่อนสนิทคนหนึ่งบอกกับผมว่า “อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น หลังจากแต่งงานกันแล้ว”

ผมว่าหลายคู่ตัดสินใจหย่าร้างกันก็เพราะการที่ต่างฝ่ายต่างไม่เปิดเผยความเป็นตัวตนที่แท้จริงให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้จึงทำให้การตัดสินใจที่จะเลือกบริโภคสินค้ารักหรือลงเอยด้วยการใช้ชีวิตคู่นั้นผิดไป เข้าทำนองปัญหาทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง “เลือกผิดคน” หรือ “เลือกคนผิด” (Adverse Selection) ครับ

จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่กำลังมีความรักหรือกำลังค้นหาความรักอยู่นะครับ เพราะอย่างน้อยมันแสดงให้เห็นถึง “เสรีภาพ”ของหญิงชายยุคนี้ที่เลือกจะรักใครด้วยตัวของตัวเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเกิดปัญหา Adverse Selection ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หรือเปล่านั้นก็สุดแล้วแต่คนที่เลือกนะครับ

Hesse004

No comments: