Jan 31, 2010

“ก้อนหินก้อนนั้น” ปรัชญาของการปล่อยวาง…แต่ไม่ใช่ทิ้งขว้าง





เอนทรี่นี้ขออนุญาตสลับมาเล่าเรื่อง “เพลง” บ้างนะครับ หลังจากเขียนถึงเรื่องหนังเสียส่วนใหญ่

จะว่าไปแล้ววงการเพลงไทยดูจะมีเพลงให้ฟัง “หลากหลาย” นะครับ มีศิลปินหน้าใหม่เกิดดับไม่เว้นแต่ละวัน อย่างไรก็ตามเพลงตลาดส่วนใหญ่มักจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ซึ่งนั่นหมายความว่า “คุณค่า” ของเพลงเหล่านี้หมดสมัยไปพร้อม ๆ กับกระแส (Hit)

ในฐานะที่ชอบฟังเพลง ผมมักจะชอบดูความหมายของเนื้อเพลงไปด้วยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมชอบอ่านอะไรบางอย่างใน “เนื้อเพลง”

แน่นอนครับว่าทุกวันนี้บ้านเรามี “คนแต่งเพลง” มากมายซึ่งคนแต่งเพลงเหล่านี้มักจะสะท้อนตัวตนของเขาผ่านเนื้อเพลงที่พวกเขาเขียน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก๋าอย่างคุณ “ดี้” นิติพงษ์ ห่อนาค ที่เขียนเพลงออกมาได้ “โดน” ใจตั้งแต่คนหนุ่มยันคนแก่ คุณ “สีฟ้า” ที่เขียนเพลงเพราะได้เป็นอมตะ หรือจะเป็นรุ่นกลาง ๆ อย่างคุณบอย โกสิยพงษ์ ที่เขียนเพลงรักได้ถูกใจยิ่งนัก ส่วนรุ่นใหม่ผมขออนุญาตยกตำแหน่งนี้ให้กับคุณบอย “ตรัย ภูมิรัตน์” ที่เขียนเพลงรักได้ “ละมุนละไม” ไม่แพ้คุณบอยใหญ่เลยทีเดียว

โดยส่วนตัวแล้วผมมีเพลงโปรดอยู่หลายเพลงนะครับ เพลงที่ชอบและโดนใจที่สุดเห็นจะเป็น เพลง “ทะเลใจ” ของน้าแอ้ด คาราบาว ที่รู้สึกว่าฟังกี่ครั้งกี่ครั้งก็รู้สึก “คิดตาม” ได้เสมอ หรือจะเป็นเพลงอย่าง “วันเวลา” ของน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ที่ฟังทุกครั้งก็รู้สึกถึง “ความเหงา” เช่นเดียวกับเพลง “คืนรัง” ของน้าหงา คาราวาน ที่ฟังแล้วรู้สึก “พ่ายแพ้” ตามคนร้องไปด้วย

ทั้งหมดที่ว่ามาเป็น “เพื่อชีวิต” เสียหมดเลยนะครับ นั่นแสดงให้เห็นว่าเพลงเพื่อชีวิตนั้นมีเนื้อหาที่ค่อนข้าง “กินใจ” และทำให้เราได้คิดมากกว่าเพลง “รัก” ทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเพลงสตริงจะไม่มีเพลงที่ให้ “ขบคิด” ด้วยเหมือนกันนะครับ ทั้งนี้เพลงอย่าง “เก็บตะวัน” ของคุณอิทธิ พลางกูร ก็เข้าขั้นว่าคลาสสิค พอ ๆ กับเพลงร็อครุ่นเก๋าอย่าง “อย่าหยุดยั้ง” ของดิโอฬาร โปรเจคต์ ที่ฟังทุกครั้งแล้วเกิดอารมณ์ฮึกเหิมขึ้นมา หรือจะเป็นเพลงอย่าง “หยุดมันเอาไว้” ของพี่หนุ่ย อำพล ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเพลงที่ตั้งคำถามสอนใจได้ดีว่าทุกวันนี้เรากำลังวิ่งตามหาอะไรกันอยู่

เพลงที่แฝงปรัชญาต่าง ๆ เหล่านี้มักจะถูกนำเสนอผ่านศิลปินที่โดยส่วนตัวแล้วผมว่าพวกเขา “เข้าใจโลก และชีวิต” มาในระดับหนึ่งแล้ว ด้วยเหตุนี้เองเนื้อหาและอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมานั้นจึงอยู่บนฐานของการ “มองโลก” อย่างที่ “เป็นอยู่” มากกว่าอย่างที่ “ควรจะเป็น”

ผมเคยนั่งถกปรัชญาชีวิตกับเพื่อนฝูง รุ่นพี่รุ่นน้องในวงเหล้า รวมไปถึงนั่งทบทวนความคิดเวลากินเหล้าคนเดียว ผมรู้สึกว่า “เหล้า” ทำให้เราสามารถ “จุดประกายความคิด”อะไรบางอย่างได้มากกว่าตอนที่เราดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่น (อ้อ! อาจจะยกเว้นกาแฟ) แต่อย่างไรก็ตาม ผมว่าการดื่มอย่างมี “สติ” ต่างหากที่น่าจะทำให้ประกายความคิดของเราชัดเจนมากกว่าที่เราจะเมาอย่างไม่มีสตินะครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมเริ่มเข้าใจมากขึ้นในวันที่อายุเลยเลขสามมาสักพักหนึ่งแล้ว คือ การรู้จักใช้ชีวิตครับ เคยมีเพื่อนคนหนึ่งบอกผมไว้ว่า “เราควรใช้ชีวิตให้เป็น แต่ไม่ใช่ใช้ชีวิตให้เปลือง” แหม่! คมดีมั๊ยครับ

ดูเหมือนว่าชีวิตคนเรามันจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของมันเองเสมอ เช่น เมื่ออยู่ในวัยเด็ก ก็ควรมีความสุขกับการเล่น เพลินกับจินตนาการของตัวเองมากกว่าจะมานั่งหลังขดหลังแข็งเรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โตเข้าสู่วัยรุ่นหน่อยก็ควรจะเรียนให้สำเร็จ รู้จักใช้ชีวิตกับเพื่อนฝูง สนุกสนานอย่างมีสติ ใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ พอเข้าสู่วัยทำงาน ก็ควรมีความรับผิดชอบดูแลหาเลี้ยงตัวเอง ดูแลครอบครัวให้ดีที่สุด

ทั้งหมดที่ว่ามานี้หากเรา “พลาด” ไปช่วงใดช่วงหนึ่งแล้ว ดูเหมือนว่าเวลามันจะไม่หมุนย้อนกลับมาให้เราได้แก้ตัวอีกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามชีวิตมีโอกาสอยู่เสมอแหละครับ ขอให้ “คิดได้”หรือ “คิดเป็น”

เช่นเดียวกับในวาบหนึ่งของความคิดตอนนั่งกินเหล้าคนเดียว ผมเริ่มคิดได้ว่าจริงๆแล้วปัญหาบางเรื่องที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นมันควรที่จะ “ปล่อยวาง…แต่ไม่ได้ทิ้งขว้าง” ซึ่งพอนึกถึงอย่างนี้แล้วก็ทำให้คิดถึงเพลง “ก้อนหินก้อนนั้น” ของคุณโรส ศิรินทิพย์ ที่ได้คุณดี้มาเขียนเนื้อให้

ผมว่าเพลงนี้ตอบปัญหาความทุกข์ได้ทุกรูปแบบเลยนะครับ โดยเฉพาะการรู้จักที่จะหัดปล่อยวาง ซึ่งคุณดี้เขียนเนื้อไว้ได้ดีว่า

“ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ ได้เท่ากับเธอทำตัวของเธอเอง ให้เธอคิดเอาเอง ว่าชีวิตของเธอเป็นของใคร ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ ถ้าเธอไม่รับมันมาใส่ใจ ถูกเขาทำร้ายเพราะตัวเธอแบกรับไว้เอง”

ผมว่าแค่ท่อนฮุคนี่ก็น่าจะสอนอะไรเราได้หลายอย่างแล้วนะครับ โดยเฉพาะการ “แบก” สิ่งต่างๆไว้กับตัวเอง

อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่า “การหัดปล่อยวาง” น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด มากกว่าที่จะทิ้งขว้างหรือหนีปัญหานั้นไปเลย พูดภาษาชาวบ้านหน่อยก็คือ “ช่างแม่งเถอะ” (อันนี้อาจจะออกแนวประชดประชัน)

ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ เราจะสร้าง “ห่วง” ให้กับตัวเองกันไม่รู้จักหยุดหย่อนนะครับ ห่วงที่ว่านี้มีตั้งแต่ ห่วงอาวรณ์ ห่วงหาอาทรณ์ เป็นห่วงเป็นใย ห่วงใยใส่ใจ ซึ่งไอ้ห่วงที่ว่านี้แหละครับ คือ สิ่งที่เราแบกกันไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ดีเราก็ยังมีความสุขอยู่กับ “ห่วง” เหล่านี้อยู่ทั้ง ๆ ที่ก็รู้ว่าวันหนึ่งห่วงเหล่านี้มันจะต้องทำให้เราทุกข์ใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าให้เรามาปลดห่วงกันหรอกนะครับ เพียงแต่ลองหันกลับมาคิดว่าหากวันหนึ่งไอ้ห่วงเหล่านี้มันทำให้เรา “ทุกข์” แล้ว เราจะลองปล่อยวางห่วงลงบ้างก็คงไม่เห็นเป็นไร แต่ไม่ใช่เราโยนห่วงเหล่านั้นทิ้งไปเสียเลย

ผมว่าคนเราทุกคนมี “ผลึกทางความคิด” ด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ ผลึกเหล่านี้มันได้สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญามุมมองหรือวิธีการที่เราจะรู้จัก “รับมือ” กับชีวิต ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วสิ่งต่างๆที่เล่ามานี้ล้วนแล้วแต่เป็น “ศิลปะของการใช้ชีวิต” ด้วยกันทั้งสิ้นนะครับ ซึ่งหากมองแบบนักเศรษฐศาสตร์แล้วผมว่าทุกสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อสนองตอบต่อ “ความพึงพอใจสูงสุด” หรือ Maximize Utility ของการมีชีวิตอยู่ภายใต้ระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดไงล่ะครับ

Hesse004

Jan 25, 2010

“มาเลน่า” สังคมขี้นินทา กับ คำพิพากษาฉบับซิซิเลี่ยน




กระบวนผู้กำกับหนังจากฝั่งยุโรปที่นับว่าทำหนังได้ “เนียน” ที่สุด เห็นทีจะต้องยกให้ผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนนะครับ เพราะดูเหมือนว่าหนังแต่ละเรื่องที่มาจากแดนมะกะโรนีนั้นส่วนใหญ่แล้วจะคว้า “กล่อง” มากกว่าทำเงิน

ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ชื่อของ “จูเซ็ปเป้ ทอนาทอเร่” (Giuseppe Tornatore) น่าจะเป็นชื่อผู้กำกับชาวอิตาเลี่ยนที่คอหนังคุ้นชื่อมากที่สุดชื่อหนึ่งนะครับ เพราะหลังจากที่เขาประสบความสำเร็จจากการทำหนังอบอุ่นอย่าง Cinema Paradiso (1988) จนได้รับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์แล้ว ทอนาทอเร่ยังฝากผลงานชั้นดีไว้กับเรื่อง The Legend of 1900 (1998) ซึ่งเป็นเรื่องของนักดนตรีที่ใช้ชีวิตอยู่แต่บนเรือเดินสมุทรและไม่เคยคิดที่จะเหยียบแผ่นดินเลย

อย่างไรก็ดีภาพยนตร์ของเขาอีกเรื่องที่สมควรจะพูดถึง คือ Malèna (2000) ครับ ซึ่งหนังเรื่องนี้เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วสองรางวัล รวมทั้งได้รับเลือกให้ไปฉายในงานเทศกาลหนังต่างๆทั่วโลกอย่างเทศกาลหนังที่เบอร์ลินปี 2001 แต่อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้มีอะไรที่น่าเก็บเอามาเล่าสู่กันฟังมากกว่าจะนั่งดูผ่านๆนะครับ

มาเลน่า (Malèna) เป็นชื่อของตัวละครเอกในเรื่องซึ่งเธอเป็นผู้หญิงสวยที่สุดของเมืองแห่งหนึ่งบนเกาะซิซิลี (Sicily) ครับ และแน่นอนที่สุดความสวยของมาเลน่าจึงตกเป็นที่หมายปองของบรรดากระทาชายทั้งหลายในเมืองนี้ไม่เว้นแม้แต่ “เรนาโต” เด็กผู้ชายอายุแค่สิบสามที่เพิ่งจะย่างเข้าสู่วัยรุ่น และด้วยความ “หลงใหล” ของไอ้หนูเรนาโตนี้เองจึงทำให้ต้องเข้าไป “สอดรู้ สอดเห็น” เรื่องราวของมาเลน่าจนกลายเป็นที่มาของเรื่องราวทั้งหมดครับ

สำหรับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง Ma L ’ Amore No ของ ลูเซียโน่ วินเซนโซนี่ (Luciano Vincenzoni) นอกจากนี้ความพิเศษของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ซาวด์แทรค ประกอบซึ่งได้ประพันธกรชั้นครูอย่าง “เอนนิโม่ มอริโคเน่” (Enimo Morrione) มาสร้างสรรค์เพลงประกอบให้

ฉากหลังของหนังเรื่องนี้ดำเนินไปในช่วงที่อิตาลีกระโดดเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองเต็มตัวเมื่อปี ค.ศ. 1941 ในฐานะมหามิตรของเยอรมนี โดยช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคที่เผด็จการเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ยังครองอำนาจอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลฟาสซิสต์ ซึ่งก็น่าสนใจนะครับว่างานของทอนาทอเร่อีกเรื่องหนึ่งคือ Cinema Paradiso นั้นก็เล่าเรื่องผ่านฉากหลังของความสูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่สองด้วยเหมือนกัน

ทอนาทอเร่ พยายามสื่อสารประเด็นหลายอย่างผ่านหนังเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ความสวยของมาเลน่าได้กลายเป็นภัยให้หล่อนต้องประสบปัญหายุ่งยากกับชีวิตอยู่เสมอ ซึ่งหนังชี้ให้เห็นว่าใช่ว่าคนสวยทุกคนจะมีความสุขนะครับ โดยเฉพาะการที่ต้องตกเป็นเป้าสายตาของผู้ชายทั้งเมือง และเป็นที่น่าหมั่นไส้ของสาวแก่แม่ม่ายจนกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของผู้คนที่คอยซุบซิบนินทา โดยเฉพาะข้อหา “มากชายหลายรัก”

ทอนาทอเร่ ยังจับประเด็นเกี่ยวกับอารมณ์ “หลง” ของเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่สามารถแยกความหมายของ “อารมณ์รัก” กับ “อารมณ์ใคร่” ออกจากกันได้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงเห็นภาพการ “ช่วยตัวเอง” ของเด็กผู้ชายที่เต็มไปด้วยจินตนาการทางเพศมากมายในหนังเรื่องนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทอนาทอเร่ได้สรุปไว้น่าสนใจว่าจริงๆแล้วเรื่องของอารมณ์ใคร่ปนความต้องการทางเพศของเด็กวัยนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ปกครองควรจะเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ทอนาทอเร่ได้ “ตบหน้า” สั่งสอนรัฐบาลฟาสซิสต์ของมุสโสลินีในสมัยนั้นด้วยการสื่อให้เห็นว่าจริงๆแล้ว “สงคราม” ต่างหากที่เป็นเหตุให้ “มาเลน่า” ต้องพลัดพรากกับสามีที่หล่อนรักเนื่องจากสามีต้องไปออกรบในฐานะวีรบุรุษของชาติ ซึ่งไอ้สงครามตัวนี้อีกนั่นแหละที่ทำให้ “ชะตากรรม” ของผู้หญิงสวยที่สุดของเมืองเปลี่ยนจาก “หน้ามือ” เป็น “หลังเท้า” ภายในไม่กี่ปี

แต่เหนืออื่นใด ทอนาทอเร่ ยังได้ตบหน้าสังคมอิตาเลี่ยนเสียฉาดใหญ่ ด้วยการฉายให้เห็นนิสัย “ขี้นินทา” ของคนในสังคมตลอดจนพฤติกรรมการเขียน “คำพิพากษา” ขึ้นมาเองโดยอาศัย “ความเชื่อ”และ “อคติ” ที่ว่าเขาจะต้องเป็นอย่างที่เราคิด หรือสรุปเอาเองว่าคนไหนถูกคนไหนผิด คนไหนดีคนไหนเลว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมันมักไม่ใช่เรื่องดีแต่อย่างใด

บางทีมันก็น่าสนใจอีกเช่นกันนะครับว่า ทำไมมนุษย์เราถึงสนใจเรื่องราวส่วนตัวของชาวบ้านกันเสียนักหนา สังเกตได้จากหนังสือซุบซิบดารา หรือหนังสือจำพวกแอบถ่ายของปาปารัซซี่ที่วางเกลื่อนกลาดอยู่บนแผงทุกวันนี้ ทั้งนี้หากมองภายใต้กรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์แล้วมันแสดงให้เห็นว่าคนในสังคมมีความกระหายในสินค้าที่เรียกว่า “เรื่องส่วนตัวของชาวบ้าน” จนยอมที่จะเสียเงินบริโภคสินค้าชนิดนี้โดยได้รับความพึงพอใจสูงสุดจาก “การสอดรู้สอดเห็น” (Maximize meddlesome utility)นั่นเองครับ

หลังจากที่ผมดูหนังเรื่องนี้จบทำให้ผมนึกถึงวรรณกรรมซีไรต์เล่มหนึ่งที่ชื่อ “คำพิพากษา” ของคุณชาติ กอบจิตติ ครับ ซึ่งผมคิดว่า “มาเลน่า” น่าจะเป็น “คำพิพากษาฉบับซิซิเลี่ยน” ได้เลยโดยเฉพาะประเด็นการถูกพิพากษาจากคนในสังคมที่พยายามตั้งตนเป็นศาลไปก่อนแล้วว่า “เธอต้องเป็นอย่างที่ชั้นคิดแน่เลย” และไอ้พฤติกรรมรวม “ตู่” เอาเองนี้แหละครับที่ทำลายคนอย่างไอ้ฟัก ทำลายคนอย่างมาเลน่า มานักต่อนักแล้ว

ฉากตอนท้ายๆของหนังเรื่องนี้ทำให้ผม “สลดหดหู่” อย่างยิ่งกับพฤติกรรมด้านมืดของคนในสังคม ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกวันนี้เราล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในสังคม “ขี้นินทา” ด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เพียงแต่ว่าถ้าวันไหนที่เรายังไม่ได้เป็น “เหยื่อ” ของการถูกนินทาก็แล้วไป แต่หากวันไหนเราตกเป็น “เหยื่อ” ขึ้นมาเมื่อไหร่แล้ว เห็นทีคงต้องพึ่งคำพระที่ว่า “ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่เคยถูกนินทา” เสียแล้วล่ะครับ

Hesse004