Mar 22, 2008

“สามก๊ก” สินค้าจีนในทุนวัฒนธรรม




ซีรี่ส์ภาพยนตร์จีนชุด “สามก๊ก” ที่กำลังฉายอยู่ช่องไทยพีบีเอสนั้น นับได้ว่าเป็นการเร่งให้เกิดกระแส “จีนนิยม” เพิ่มยิ่งขึ้นนะครับ

ภาพยนตร์ชุดดังกล่าวเป็นผลงานการสร้างของ CCTV ด้วยวัตถุประสงค์ของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์จีนเมื่อ 1,800 กว่าปีมาแล้ว โดย “สามก๊ก” ฉบับ ซีรีส์นี้มีทั้งหมด 84 ตอนครับ ทั้งนี้กล่าวกันว่าสามก๊กของนาย “หลอกว้านจง” (Luo Guanzhong)นั้นเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดของวรรณกรรมจีนเลยทีเดียว

ท่ามกลางกระแส “จีนาภิวัฒน์” และ “ภารตะนิยม” หรือ Chindia นั้นได้ทำให้โลกตะวันออกเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งครับ หลังจากที่ “สหรัฐอเมริกา” ได้สถาปนาตัวเองเป็นเจ้าโลกมาช้านานนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองสงบลง

อย่างที่เกริ่นไว้ในหัวเรื่องแล้วครับว่าภาพยนต์จีนชุดสามก๊กนั้นดูจะเป็น “สินค้าวัฒนธรรมจีน” ชิ้นแรกๆที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงที่โลกทุนนิยมเริ่มหันมาสะสมทุนวัฒนธรรม (Cultural Capital) กันมากขึ้น

ในหนังสือเรื่อง “ทุนวัฒนธรรม”ของท่านอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นั้นได้กล่าวถึงการเติบโตของทุนวัฒนธรรมผ่านสินค้าประเภทกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลพรีเมียร์ชิพของอังกฤษ

เช่นเดียวกับในแง่ของความบันเทิงนั้น “วัฒนธรรมป๊อบ” (Pop Culture) ได้ถูกถ่ายทอดผ่านทางหนังดังฮอลลีวู้ด รวมไปถึงมิวสิควีดีโอที่ช่อง MTV จะเห็นได้ว่าทั้งกีฬาและความบันเทิงนั้นดูจะเป็นทุนชนิดใหม่ที่ก้าวมาตอบสนองผู้คนในศตวรรษที่ 21

ด้วยเหตุนี้เองประเด็นน่าสนใจที่ตามมาเกี่ยวกับพัฒนาการของทุนนิยม คือ รูปแบบของการสะสมทุน ครับ เพราะประวัติศาสตร์ของทุนนิยมนั้นเริ่มต้นจาก “ทุนนิยมอุตสาหกรรม”ที่สะสมเครื่องจักร เครื่องมือ ก่อนจะก้าวมาสู่ “ทุนนิยมการเงิน” ที่มุ่งเน้นการสะสมทุนทางการเงินเป็นสำคัญ และ ท้ายที่สุดทุนดังกล่าวได้รุกไปสู่ “ทุนวัฒนธรรม”

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประเทศอย่าง “เกาหลีใต้” น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาทุนวัฒนธรรมนะครับ โดยทั้งภาครัฐและเอกชนของเกาหลีใต้นั้นพยายามใช้ “ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม”ของชนชาติตัวเองเป็น “สินค้าวัฒนธรรม” ที่มุ่งขยายส่งออกไปต่างประเทศนอกเหนือจากอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์หรือรถยนต์ที่โด่งดัง

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมทุกวันนี้ ซีรีส์เกาหลีอย่าง “แด จัง กึม” “จูมง” มาจนกระทั่ง “อิมซังอ๊ก” จึงกลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมเกาหลีที่คนไทยรู้จักดีไม่แพ้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง “ซัมซุง”

สำหรับ “สามก๊ก” ฉบับ CCTV นั้นเริ่มต้นออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 1995 ครับ ทั้งนี้ CCTV ได้คัดเลือกนักแสดงที่มีฝีมือทั่วทั้งแดนมังกรมาสวมบทบาทตัวละครเด่นๆในสมัยสามก๊ก เช่น ผู้ที่รับบทเป็น “ขงเบ้ง” คือ Tang Guoqiang ซึ่งนับเป็นดาราดังของจีนแผ่นดินใหญ่เลยทีเดียว

หลังจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของ “เติ้งเสี่ยวผิง” ได้เปิดประเทศด้วยนโยบายสี่ทันสมัยแล้ว ประเทศจีนได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆทั่วโลกในฐานะที่เป็น “ตลาดสินค้า”ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยวัดจากจำนวนประชากรพันกว่าล้านคน

ขณะที่จีนเปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนก็ไม่ลืมที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจเอกชนออกไปลงทุนต่างประเทศด้วย พร้อมกันนี้บทบาทของจีนในช่วงยี่สิบปีหลังมานี้นับว่าโดดเด่นไม่น้อย

ในฐานะที่เป็นพี่ใหญ่แห่งเอเชีย จีนเองก็พยายามสร้างอิทธิพลทางการค้าการลงทุนผ่านทางประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายโดยเฉพาะในแอฟริกาหรือที่รู้จักกันในชื่อ Sino-African ครับ ทั้งนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นจีนเริ่มติดต่อกับชาวแอฟริกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงจากการเดินทางสำรวจโลกของกองเรือนายพลเจิ้งเหอ หรือ เจ้าพ่อซำปอกงที่คนไทยคุ้นเคยนั่นเอง

ปัจจุบันรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์พยายามสร้างสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับประเทศอย่าง เคนยา กานา ซูดาน หรือไนจีเรีย เป็นต้น ผมเชื่อว่าเหตุที่จีนเลือกคบแอฟริกาส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความพยายามที่จะสร้างสมดุลทางอำนาจกับโลกตะวันตก

การสร้างภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ “สามก๊ก” ของจีนในช่วงทศวรรษที่ 90 นั้นจึงดูมีนัยยะที่ต้องการสื่อให้ชาวโลกที่จะมาคบกับจีนนับต่อจากนี้ไป พึงรู้ไว้ว่า “จีนยุคใหม่” นั้นไม่เหมือนยุคสมัยที่เคยโดนชาติมหาอำนาจข่มเหงรังแกดังเช่นที่เคยทำได้ในปลายราชวงศ์ชิง

นอกจากนี้นัยยะที่แฝงมากับภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นเหมือนจะบอกให้รู้ว่า “พวกกูก็คิดกลยุทธ์ที่ล้ำลึกเป็นตั้งแต่เมื่อพันแปดร้อยปีมาแล้ว” ดังนั้น การบุ่มบ่ามทำอะไรกับจีนนั้นดูจะต้องรอบคอบและลึกซึ้งอย่างยิ่ง

ฝรั่งรู้จักสามก๊กในฐานะ Romance of the Three Kingdoms ครับ กล่าวกันว่านักปกครองของโลกตะวันตกจะต้องอ่านหนังสืออย่าง The Prince ของ นิโคโล แมคเคียวเวลลี่ (Niccolò Machiavelli) แต่สำหรับนักปกครองของโลกตะวันออกแล้วสมควรที่จะอ่าน “สามก๊ก” จนมีคนกล่าวไว้ว่าถ้าจะทำสงครามต้องอ่าน “ตำราพิชัยสงครามซุนวู” และถ้าคิดจะทำการใหญ่ต้องอ่าน “สามก๊ก”

ด้วยเหตุนี้เอง “สามก๊ก” ของหลอกว้านจง จึงถูกหยิบนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมพร้อมทั้งเติมอรรถรสทางปัญญาและสอดแทรกคุณธรรมให้กับคนดู ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูจะเป็นลักษณะพิเศษที่เรามักพบเห็นเสมอในสินค้าวัฒนธรรมจีนอย่างไซอิ๋ว หรือ เปาบุ้นจิ้น ไงล่ะครับ

Hesse004

Mar 1, 2008

"คอร์รัปชั่น" กับ การแก้ปัญหาแบบ "ปากว่าตาขยิบ"




ผมสนใจเรื่อง “คอร์รัปชั่น” ครับ แต่ไม่เคยคิดจะคอร์รัปชั่น (ฮา) คอร์รัปชั่นคืออะไรหรือครับ ผมคิดว่าคงไม่ต้องสาธยายกันมากมายแต่ที่แน่ๆ การคอร์รัปชั่นได้ทำลายสังคมโดยรวม

“คอร์รัปชั่น” ก็คือ การจี้ ปล้น ลัก ขโมย ดีๆนี่เองแหละครับเพียงแต่การคอร์รัปชั่นนั้นกระทำบนฐานของการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

สังคมไทยชาชินกับคอร์รัปชั่นมานานแสนนานจนเราแทบจะหมดหวังที่จะแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น ผมไม่แน่ใจว่าที่เราหมดหวังเพราะเราไม่พยายามที่จะแก้ไขกันหรือเราเลือกที่จะยอมรับกับประพฤติกรรมดังกล่าว

สังคมของเราเป็นสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบอุปถัมภ์หรือ Patronage- Client ดังนั้นการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เป็นไปตามไอเดียของโลกตะวันตกจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแค่ความพึงพอใจของเสียงส่วนใหญ่หากแต่เป็นการเอาใจใส่ต่อเสียงส่วนน้อยที่ไม่สามารถแสดงความเห็นและเสนอทางเลือกแบบที่เสียงส่วนใหญ่ทำได้

ด้วยเหตุนี้เองคำว่า “ประชาธิปไตย” จึงสมควรแยกออกจากคำว่า “การเมือง” ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงแค่หย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเพื่อใช้สิทธิอย่างที่ปราชญ์รัฐศาสตร์หลายท่านเคยว่าไว้ หากแต่ประชาธิปไตย คือ การมีส่วนร่วมของพลเมืองแห่งรัฐในการช่วยกันตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คำๆนี้พูดให้โก้ๆได้นะครับ แต่เอาเข้าจริงเป็นเรื่องที่ยากอีกเหมือนกัน

อย่างที่เรียนท่านผู้อ่านในเบื้องต้นครับว่า ผมสนใจเรื่องคอร์รัปชั่น ความสนใจของผมอยู่ในมิติของวิชาเศรษฐศาสตร์ซึ่งถ้าจะพูดให้เก๋ๆหน่อยก็คือ “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” หรือ Economic of Corruption ครับ

นักเศรษฐศาสตร์มอง “คอร์รัปชั่น” เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจแรงจูงใจดังกล่าวคล้ายกับ “กำไร” ที่ผู้ประกอบการต้องการ อย่างไรก็ตามคอร์รัปชั่นเป็นแรงจูงใจที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีกับระบบเศรษฐกิจครับ

นักเศรษฐศาสตร์หญิงนามว่า Ann O. Krueger เป็นคนแรกที่ออกมาอธิบายว่าการคอร์รัปชั่นนั้นเปรียบเสมือน “การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ”หรือ Economic Rent Seeking ท่านผู้อ่านคิดดูนะครับว่า “ค่าเช่า” (Rent) นั้น คือ ผลตอบแทนที่เจ้าของที่ดิน เจ้าของเครื่องจักร เจ้าของสินทรัพย์ ได้ประโยชน์โดยที่ตัวเองไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร

เช่นเดียวกับผลประโยชน์ที่ได้จากการคอร์รัปชั่นครับ เพราะ ผลประโยชน์ดังกล่าวอยู่ในรูปของ “ค่าเช่าประจำตำแหน่ง” หากเรามองตำแหน่งเป็นสินทรัพย์ที่มีไว้ให้เช่า คนที่อยู่ในตำแหน่งนั้นก็สามารถแสวงหาค่าเช่าประจำตำแหน่งได้นอกเหนือจาก “ค่าจ้าง” ที่ตัวเองได้รับ ด้วยเหตุนี้เองยิ่งตำแหน่งสูงๆ ค่าเช่าประจำตำแหน่งย่อมสูงตาม

ปัญหาการคอร์รัปชั่นได้กลายเป็น “วาระแห่งโลก” ไปแล้วครับ เพราะองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรอย่าง World Bank, IMF, OECD รวมถึง ADB เริ่มหันมาศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการคอร์รัปชั่น

นักเศรษฐศาสตร์ที่ปรากฏนามกันอยู่เป็นประจำทุกครั้งที่มีการทบทวนวรรณกรรมเรื่องนี้ได้แก่ O.E. Johnson, Susan Rose Ackerman, Paolo Mauro ,Pranab Bardhan, Daniel Kaufmann, Vito Tanzi, Hamid Davoodi และ Shang Jin Wei เป็นต้น นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากองค์กรโลกบาลสำคัญอย่าง World Bank และ IMF ครับ

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ไทยที่แทบจะอุทิศตัวให้กับการศึกษาเรื่องคอร์รัปชั่นในประเทศไทยนั้น ได้แก่ ท่านอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร , ท่านอาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ และท่านอาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ ซึ่งท่านทั้งสามนี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังมีท่านอาจารย์เมธี ครองแก้ว อดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์และ NIDA ปัจจุบันท่านเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านสนใจที่จะนำเอาวิชาเศรษฐศาสตร์มาอธิบายพฤติกรรมการคอร์รัปชั่น

ปัจจุบันนี้องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศหรือ Transparency International ได้จัดอันดับประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดไปยันน้อยที่สุด โดยใช้ดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชั่น หรือ Corruption Perception Index เป็นตัวชี้วัด

เกณฑ์การวัดนั้นให้เป็นคะแนนจากศูนย์ถึงสิบครับ ประเทศไหนได้คะแนนใกล้ๆศูนย์แสดงว่าประเทศนั้นเต็มไปด้วยนักการเมืองและข้าราชการขี้ฉ้อ แต่หากประเทศไหนมีคะแนนใกล้สิบแสดงให้เห็นสังคมที่โปร่งใสสุจริต

องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศเริ่มต้นเผยแพร่ดัชนีตัวนี้ตั้งแต่ปี 2538 ครับ ประเทศไทยของเราก็ถูกจัดอันดับไปกับเขาด้วย ท่านผู้อ่านทราบมั๊ยครับว่าประเทศเราอยู่อันดับที่เท่าไร?และได้คะแนนเท่าไร?

ขอเฉลยเลยครับว่าในปี 2538 นั้นประเทศเราได้รับการจัดอันดับความโปร่งใสในลำดับที่ 34 สูงไหมครับ แต่เอ๊ะ! อย่าเพิ่งดีใจไปครับเพราะมีประเทศเข้าร่วมจัดอันดับเพียง 41 ประเทศ เท่านั้นยังไม่พอคะแนนค่าความโปร่งใสของบ้านเราอยู่ที่ 2.79 สูงพอที่จะบอกได้หรือเปล่าครับว่ารัฐบาลของเราเป็นรัฐบาลที่ปลอดการทุจริต

ผมเฝ้าติดตามดัชนีตัวนี้โดยดูที่พัฒนาการความโปร่งใสของประเทศไทยเป็นหลัก และสิ่งที่ผมค้นพบคือ ตลอดระยะเวลา 12 ปี ตั้งแต่องค์กรแห่งนี้จัดทำดัชนีชี้วัดความโปร่งใสขึ้นมานั้น ประเทศไทยของเรามีคะแนนเฉลี่ยอยู่เพียง 3.27

แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่เหล่าฝรั่งอั้งม้อสรุปทึกทักเอาว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยนักการเมืองและข้าราชการขี้ฉ้อ ตลอดจนขาดความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ช้าก่อนครับท่านฝรั่งหัวแดงเหล่านี้เคยมาดูหรือเปล่าว่าบ้านเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการคอร์รัปชั่นมากน้อยแค่ไหน

ผมขออนุญาตสาธายายอย่างนี้ครับว่า กฎหมายการป้องปรามการคอร์รัปชั่นของประเทศไทยนั้นมีอยู่หลายฉบับครับ ฉบับแรกเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรปราบปรามการทุจริตโดยตรงคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และตอนนี้ทาง ป.ป.ช. ได้แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังต้องดูแลเรื่องพฤติกรรมการ “ฮั้ว” ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เสนอขายสินค้าและบริการให้รัฐ ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

ยังไม่หมดนะครับ ประเทศไทยเรายังมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 , พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และล่าสุด ป.ป.ช. กำลังรอลุ้น “กฎหมายเจ็ดชั่วโคตร” หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

นอกจากกฎหมายข้างต้นแล้ว ป.ป.ช. ยังต้องออกประกาศหยุบหยับเพื่อมาควบคุมประพฤติกรรมขี้ฉ้อของเหล่านักการเมืองและข้าราชการ

ขณะที่ ป.ป.ช. ดูแลเรื่องการป้องกันและปราบปราม มีองค์กรอิสระอีกหนึ่งองค์กรอย่าง สตง. ก็ดูแลเรื่องงานตรวจสอบเงินงบประมาณแผ่นดิน

กฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการตรวจสอบ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ สตง.ยังประกาศใช้ ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ. 2544 เพื่อเอาผิดทางแพ่งกับข้าราชการที่ประมาทเลินเล่อไปจนกระทั่งจงใจทุจริตเงินของหลวง

กฎหมายที่มาส่งเสริมความโปร่งใสในการบริหารงานราชการแผ่นดินอย่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 นับเป็นกฎหมายอีกตัวที่ป้องปรามการทุจริตได้ทางหนึ่ง เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้กลายเป็นกฎหมายที่เอาไว้ยึดและอายัดทรัพย์ข้าราชการและนักการเมืองขี้ฉ้อทั้งหลาย

สิ่งที่ผมสาธยายไปข้างต้นนั้น ผมไม่แน่ใจว่าองค์กร Transparency International เข้ามาพิจารณาจัดอันดับความโปร่งใสของประเทศไทยด้วยหรือเปล่าอีกทั้งรัฐบาลไทยทุกชุดที่เข้ามาบริหารประเทศก็ประกาศเป็นมั่นเหมาะว่าจะ “ขจัดคอร์รัปชั่นให้สิ้นแผ่นดินไทย”

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าดัชนีความโปร่งใสของไทยเมื่อปีที่แล้วนั้นจะอยู่ที่ 3.3 นะครับ ถึงตรงนี้ผมก็เริ่มปักใจเชื่อแล้วครับว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของบ้านเรานั้นเป็นการแก้ปัญหาแบบ “ปากว่าตาขยิบ”จริงๆ

Hesse004