Oct 12, 2009

Que Sera, Sera กับ นิทานหิ่งห้อยของเฉลียง





ไม่กี่วันมานี้มีโฆษณาในเมืองไทยอย่างน้อยสองชิ้นที่ได้รับการกล่าวถึงในทางชื่นชม โฆษณาชิ้นแรกเป็นโฆษณาเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งที่เปิดตัวคุณเพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกที่เป็น “ตำนานอมตะ”ขวัญใจแฟนภาพยนตร์ไทย

สำหรับโฆษณาอีกชิ้นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมาก คือ โฆษณาของบริษัทประกันชีวิตชื่อดังที่มักจะออกสปอตโฆษณากินใจผู้ชมจนน้ำหูน้ำตาไหลกันมาแล้ว และโฆษณาชิ้นล่าสุดนี้ก็ไม่ได้ทำให้แฟนคอหนังโฆษณาผิดหวังเนื่องจากหลังสปอตตัวนี้ถูกยิงออกมาทำให้หลายคนถึงกับ “อึ้ง” ไปตามๆกัน

การสร้างสรรค์งานโฆษณาที่สามารถสร้าง “อารมณ์ร่วม” ให้กับผู้ชมได้นั้นนับเป็นความสุดยอดของเหล่าครีเอทีฟก็ว่าได้นะครับ

โฆษณาของบริษัทประกันชีวิตชิ้นนี้มีชื่อว่า “Que Sera Sera” ครับ โดยงานชิ้นนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์ของบริษัทสุดยอดโฆษณาแห่งยุคอย่าง Ogilvy & Mather Advertising (Thailand)

ความพิเศษของโฆษณาชิ้นนี้อยู่ที่การนำเด็กๆกว่า 30 คนมาร่วมกันร้องเพลง Que Sera Sera (Whatever will be, will be) อย่างไรก็ตามเด็กในโฆษณาชิ้นนี้เป็นเด็กพิเศษที่เกิดมามีอวัยวะไม่ครบสามสิบสองเหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็กเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เรารู้สึก “ซึ้งและสะเทือนใจ”

ไม่น่าเชื่อว่าเวลาเพียงสองนาทีของโฆษณาชิ้นนี้จะทำให้ใครหลายคนน้ำตาไหลได้โดยไม่รู้ตัว นับว่างานชิ้นนี้มีพลังอย่างมากนะครับ

น่าสนใจว่าทีมครีเอทีฟของงานชิ้นนี้เลือกเพลง Que Sera Sera (Whatever will be, will be) มาใช้ตีม (Theme) หลักของเรื่องแม้ว่าเนื้อหาของเพลงนี้จะดูเรียบง่ายแต่ก็แฝงไปด้วย “ปรัชญา” ที่ลึกซึ้ง

Que Sera Sera Que Sera Sera (Whatever will be, will be) เป็นผลงานการทำดนตรีของเจย์ ลิฟวิงสตั้น (Jay Livingston) ส่วนเนื้อเพลงนั้นได้ เรย์ อีแวนส์ (Ray Evans) มาช่วยเขียนให้

เพลงๆนี้ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1956 ครับโดยฉบับออริจินัลนั้นได้นักร้องสาวนามว่า ดอริส เดย์ (Doris Day) มาเป็นผู้ขับร้องในฉากภาพยนตร์คลาสสิคเรื่อง The Man Who know Too Much (1956) ผลงานการกำกับของ“อัลเฟรด ฮิทคอกช์” (Alfred Hitchcock) ยอดผู้กำกับหนังแนวลึกลับสยองขวัญและเพลงนี้เองก็ได้รับรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีอคาเดมี่อวอร์ด (Academy Award) หรือรางวัลออสการ์นั่นเองครับ

กล่าวกันว่า Que Sera Sera Que Sera Sera (Whatever will be, will be) กลายเป็นตำนานเพลงที่อยู่ในกระแสวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) ของศตวรรษที่ 20 มีการนำไปโคเวอร์ใหม่หลายเวอร์ชั่น หลายภาษา และเมื่อพูดถึงภาษาแล้วมีคำถามว่าเพลงนี้เป็นเพลงภาษาใดกันแน่ เพราะมีทั้งฝรั่งเศส อิตาเลียน โปรตุกีส หรือ สเปน แต่ท้ายที่สุดเพลงนี้เป็นภาษาอังกฤษที่มีคนแต่งเพลงเป็นชาวอเมริกันครับ

จะว่าไปแล้วเพลงๆนี้เป็นเพลงที่มีเนื้อหาแบบเด็กๆแต่สามารถสอนใจผู้ใหญ่ให้รู้จักการมองโลกว่า “โลกนี้มันไม่มีอะไรแน่นอนหรอก” บางทีไอ้ที่เราวาดหวังไว้มันอาจไม่ได้ดั่งหวังก็ได้ เพราะอนาคตคือสิ่งที่มองไม่เห็น (The future's not ours, to see) ดังนั้น “อะไรจะเกิดก็ให้ปล่อยมันเกิด” (Whatever will be, will be)

โดยส่วนตัวผมมองว่าเพลงนี้นอกจากจะสอนเด็กได้แล้วก็ยังเป็นเครื่องเตือนสติ “ผู้ใหญ่” ได้เหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะเราๆที่เป็นผู้ใหญ่มักจะไม่ค่อย whatever will be, will be กันสักเท่าไร ซึ่งหากอธิบายตามหลักพุทธศาสนาแล้วไอ้เจ้า whatever will be, will be นี่ก็คือ การปลดปลง ปล่อยวางนั่นเอง

เขียนถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงเพลงไทยเพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาแบบเด็กๆแต่สามารถสอนใจผู้ได้อย่างเพลง “นิทานหิ่งห้อย” ของวงเฉลียงไงล่ะครับ

เพลงนิทานหิ่งห้อย อยู่ในอัลบั้มเอกเขนก (2530) ของเฉลียงโดยได้คุณประภาส ชลศรานนท์ มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับอัลบั้มชุดนี้

“นิทานหิ่งห้อย” พูดถึงการสอนเด็กให้เข้าใจว่า “ความงามที่แท้จริง” คืออะไร และถ้าท่านผู้อ่านจับวรรคทองของเพลงนี้ได้ก็คงพอจะเข้าใจว่าคนเขียนเพลงนี้ต้องการสื่อสารอะไรกับคนฟัง

“อย่าขังความจริงที่เห็น อย่าขังความงาม” เป็นหัวใจของเพลงนี้เลยก็ว่าได้นะครับ เพราะหากเรายอมรับความจริงได้แล้ว ความงดงามที่มีอยู่ย่อมปรากฏ

โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าธรรมชาติได้มอบความงามมาให้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะมองมันที่มุมไหนเท่านั้นเอง

จริงๆแล้วโลกของผู้ใหญ่กับโลกของเด็กนั้นต่างกันที่ช่วงอายุห่างกัน ขณะเดียวกันมุมมองและประสบการณ์ชีวิตก็เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็น “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” แม้ว่าวัยผู้ใหญ่จะเต็มไปด้วยประสบการณ์ ความลึกซึ้ง มุมมองต่อการใช้ชีวิตเพราะอาบน้ำร้อนมาก่อน
แต่สิ่งที่วัยผู้ใหญ่อย่างเราๆขาดหายไป คือ “ความฝันและจินตนาการ” ขณะที่วัยเด็ก คือ วัยที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะถูกพรากไปตามวันเวลาที่เติบโตขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่คนไหนจะยังหลงเหลือความเป็นเด็กมากน้อยแค่ไหน

ท้ายที่สุดผมคิดว่าแม้ว่าเราจะเติบใหญ่ ผ่านร้อนผ่านฝนมาหลายฤดูแล้ว เอาเข้าจริงๆบางครั้งเราอาจจะยังไม่เข้าใจว่า “โลก” และ “ชีวิต” มากพอว่ามันคืออะไร แต่เอ! หรือว่าต้องให้เด็กๆมาสอนเราร้องเพลงQue Sera, Sera กับ นิทานหิ่งห้อยหรือเปล่าล่ะครับ

Hesse004

4 comments:

ปรีดีโดม said...

ผมมาลองคิดเล่นๆเป็นไปได้หรือไม่ในการตีความแบบอื่นของเพลงทั้งสองที่สื่อให้คนไทยฟัง โดยไม่ขอพาดพิงถึงโฆษณา

สิ่งที่เพลงทั้งสองมีเหมือนกันคือ การตั้งคำถามจากตัวละครในเพลง และการให้คำตอบที่สะท้อนไว้ในเพลง
What will be, will be.
คำถามที่เด็กถามแม่ของตน ๆลๆ เป็นคำถามชนิดหรือประเภทใด
โตขึ้นเป็นอะไร สิ่งไหนจะเกิดหรือไม่ ซึ่งคำถามทั้งหมดเกิดจากการคาดการณ์และเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคต นั่นคืออนาคตจะเกิดอะไรกับตน การตั้งคำถามอย่างนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์และการคาดการณ์แต่อย่างใด เพียงแต่ใคร่รู้เรื่องของอนาคตของตน เหมือนการหาหมอดู

คำตอบในเพลงมีว่า อะไรจะเกิด ก็จะเกิด เพราะ อนาคตไม่ได้เป็นของพวกเรา the future is not ours, to see มันน่าคิดนะครับว่าถ้าอนาคตไม่ได้เป็นของเราแล้วเป็นของใคร พระเจ้า? การเล่นจักราศีของเทพเจ้า (aion)? มือที่มองไม่เห็นในระบบทุนนิยม? ท่านผู้นำพรรคในระบอบสังคมนิยม? หรือทั้งหมดนั้นเกินเลยกว่าความรู้ของมนุษย์ (ซึ่งนั้นก็อาจเป็นไปได้) ในการเห็นและตระหนักรู้ (to see)

สิ่งที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือ จากเพลงนี้ อะไรคือบทบาทหน้าที่ที่มนุษย์ควรทำ ซึ่งตัวละครที่เด่นชัดในเพลงคือมนุษย์เพศหญิงที่ฉายให้เห็นตอนเด็ก-สาว-สู่การเป็นเมียและแม่ ความคิดที่สะท้อนได้จากเนื้อเพลง-จากตอนเด็กถามแม่-โตขึ้นถามแฟน (ทั้งๆที่อายุเท่ากัน นั่นคือผู้ชายมีความรู้กว่าผู้หญิง?)-จนกระทั้งมีลูกหลายคน (children) แล้ว จึงสามารถตอบคำถามลูกด้วยประโยคที่เคยได้รับการขัดเกลาทางสังคมมา หรือภาษาชาวบ้านคือถูกฝึกกรอกหูมา (ทั้งๆที่ผู้ชายสามารถตอบได้ตั้งนานแล้ว) สถานะของสตรีที่สะท้อนในเพลงนี้ช่างดูสิ้นคิดและเป็นฝ่ายรับ passive เสียเหลือเกิน (มันทำให้อยากใคร่ถามต่อว่า แม่ของเธอตอนตอบเธอตอนเป็นเด็ก นั้นก็เป็นอีรอบเดียวกันนี้หรือไม่จ??) เราอาจคิดได้ถึงความคิดเรื่อง Pavlovian conditioning ที่โต้ตอบกลับอย่างที่ถูกฝึกมาอย่างในแบบการฝึกสุนัข คิดในแง่(ร้าย)นี้เพลงนี้ดูถูกภูมิปัญญาสตรีอยู่ไม่น้อย ตามความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ

ปรีดีโดม said...

อันนี้ผมตั้งใจตีความแบบหนอนแหยะๆเลยนะครับ (หวังว่าคงตลกมากกว่าจะเป็นการไม่สุภาพนะครับ ถ้าเป็นกรณีหลังผมต้องขอโทษด้วยครับ) ซึ่งคงเป็นด้านตรงกันข้ามกับแสงสว่างอันงดงามของหิ่งห้อยจากมุมองของพี่ต้วนนะครับ

คราวนี้ดูคำถามและการตอบในเพลงนิทานหิ้งห้อยบ้าง (บอกตามตรงครับว่าผมไม่เคยฟังเพลงนี้ นึกไม่ออกว่าร้องอย่างไร ใช้เปิดเวปเฉลียงดูเนื้อเพลงเอา)
มันเริ่มต้นจาก “เด็กน้อยได้ยินเรื่องราว กล่าวขานมานาน” มันเป็นเรื่องเล่าที่มีมานาน เจ้าหญิงและเจ้าชาย (เมืองใดแคว้นใดไม่ทราบ) คือไม่ระบุทั้งพื้นที่และเวลา เสมือน once upon a time แต่ไม่รู้เมื่อไหร่? การเล่าเรื่องแบบนี้มันคือ myth ดีๆนี่เอง ต่อมา เด็กน้อยจึงไต่ถามความจริง
อยากเห็นจริง (ซึ่งเราอาจตีความได้ว่าทั้ง อยากเห็นสิ่งนั่นในความฝันจริงๆ หรือเราอาจตีความได้ว่าอยากรู้เห็นจริงว่า myth ดังกล่าวถูกต้องหรือไม่) จึงเอามาใส่ใต้หมอน
ทำไมมาใส่ใต้หมอน กล่าวคือ ถ้านี่ไม่ใช่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยมันมีการสงสัย การถามจากผู้รู้ และการปฏิบัติทดลองดูว่าเห็นผลจริงหรือไม่ การคิดทบทวน อันแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ ซึ่งอาจเป็น pre-scientific แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น ซึ่งเท่านี้เราเห็นความแตกต่างทีเดียวจาก Que sera sera ซึ่งผู้หญิงฝรั่งคนดังกล่าวล้วนขาดคุณลักษณะ เธอคือคนที่ถามและคอยรับฟัง แต่เด็กน้อยไทย(? คงใช่มั้งครับ?) กลับ active สู่การเคลื่อนตัวในการกระทำการค้นหา เป็นโคลัมบัสแห่งการอยากเห็นจริงดังกล่าว โลกของเธอคือการออกค้นก็ว่าได้ครับ

การตอบ ยายตอบกลับแบบปรัชญามากๆ ตกลงว่า “จะมองเห็นความจริง
อย่าขังความจริงที่เห็น อย่างขังความงาม” หมายถึง ความจริงที่เห็นการปล่อยให้มันเป็นไปในสิ่งที่มันเป็นตามการตีความในด้านบวกแบบพี่ต้วน

หรือทว่า โลกนี้มันพร้อมจะเปิดเผยในสิ่งที่ถูกปกปิดโดย myth หรือ มายาคติ (อันเป็นคำแปลที่อ.ปริตตา กออนันตกูลแปลไว้) หากเราไม่ปิดกันสายตาแห่งการมองความจริง อย่างขังความงาม เก็บไว้เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง คือประมาณ ความงามที่เห็นคือด้านหนึ่งของเหรียญที่มีด้านน่าเกลียดอยู่ และนั้นคือสิ่งที่เรียกชีวิตที่ทั้งสองด้านล้วนเล่นบทบาทในการมีลมหายใจ นั้นคือมองเห็นทั้งสองด้านในชีวิตมนุษย์
เอ๊ะ หรืออาจเป็นไปได้ว่า ในอีกมุมองหนึ่ง ความไม่งาม อย่างหนอนน้อยคือฐานของความงามในด้านกลับ เสมือนคนหน้าตาอุบาทว์คือคนที่ทำให้คนหน้าตาดี ดีได้ ความจริงที่เห็นคือ ความจริงของความงาม คือระบบของความสัมพันธ์ของความแตกต่าง ความงามเป็นความงามได้ไม่ใช่โดยตัวมันเอง แต่เป็นเพราะความแตกต่างที่มันมีกับสิงอื่น ความหมายและอัตลักษณ์ของความงามจึงก่อเกิดได้ เพราะความเป็นอื่นที่แตกต่างจากความงาม ความสำคัญคือไม่ใช่การเข้าใจสองด้านเหรียญ แต่คือการเข้าใจระบบความสัมพันธ์ที่สร้างความหมายดังกล่าวที่มนุษย์ควรตระหนัก?

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยายบอกคือ หลานเอ๋ยเปิดตาดูโลกซะ! การยิ้มและสอนของยายแสดงได้ทั้งมุมของความมีภูมิรู้เท่าทันหลานทั้งหมด หรือการเจ้าเล่ห์ พูดผิดครับ ฉลาดในทางเลือกของการตีความที่เธอทิ้งปริศนาให้หลานว่า จะตีแบบหนอนหรือหิ้งห้อยในการดำรงชีวิต หรือกระทั้งการทำความเข้าใจระบบความสัมพันธ์ว่าด้วยคุณค่าและความหมาย (แบบสัญญวิทยาเลย)

ที่เด็ดขาดคือยาย แน่นอนคงเป็นผู้หญิง (คงไม่ใช่ postmodern family มั้งครับ) และเด็กน้อยอาจเป็นได้ทั้งชายและหญิง (จากเนื้อเพลงเท่านั้นนะครับ มิวสิควิดีโอไม่เกี่ยว) และถ้าเราเลือกตีความเป็นหญิงแล้ว
เราจะพบได้ว่า
Que sara sera: ผู้หญิง อยู่บนฐานของความเชื่อ ประเพณีที่สืบทอดกันมา passive
นิทานหิ่งห้อย: ผู้หญิง มีเหตุมีผล เป็นวิทยาศาสตร์ active

เราจะเห็นได้ว่าทั้งสองเพลงคือความแตกต่างที่ชี้ให้เห็นว่า ทำไมสตรีนิยมจึงต้องเกิดในตะวันตก และในขณะเดียวกัน มันอาจตั้งคำถามได้ว่าสตรีนิยมควรมีในไทยหรือไม่ (อย่าจริงจังนะครับ) และอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นได้ในการเปรียบเทียบแบบเลอะเทอะหลังสองยามครับ

ยังคงติดตามอ่านครับพี่ต้วน อ่านเพลินดีครับ

ปรีดีโดม said...

พิมพ์ตอนตีสี่กว่า ทำไมเวลาที่โชว์ comments บอกบ่านสองโมงกว่าครับ?

Tuan said...

น้องโดมครับ,

เป็นมุมมองที่น่าสนใจมากครับโดยเฉพาะหากเราวิเคราะห์ในฐานคิดของสังคมวิทยา ขอบคุณมากครับ