Dec 28, 2008

ฟุตบอลไทย กับ พัฒนาการที่หยุดยั้ง




ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ยังคงติดตามผลงานของทีมฟุตบอลชายไทยในศึกซูซูกิอาเซียนคัพครั้งนี้ คงจะเริ่มรู้สึกแล้วว่าทีมชาติไทยไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียนอย่างที่เราเคยเข้าใจมาช้านาน

คำถามที่เกิดขึ้นในใจผมหลังจากที่เราแพ้ “ทีมชาติเวียดนาม” คาสนามราชมังคลากีฬาสถาน คือ เขาดีขึ้นหรือเรายังย่ำอยู่กับที่? คำตอบอาจจะเป็นไปได้ทั้งสองประการนะครับ เพียงแต่ว่าเราอยากจะยอมรับในคำตอบไหนมากกว่ากัน

ในฐานะที่เป็นผู้ชมคนเชียร์ทีมชาติไทยมาอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่เริ่มดูฟุตบอลเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผมพบว่าพัฒนาการของฟุตบอลไทยเรานั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้ามากครับ บางทีอาจจะพอๆกับพัฒนาการของนักการเมืองบ้านเรา

ว่ากันว่าความเข้มแข็งของระบบลีกในประเทศมีผลทำให้ทีมชาตินั้นแข็งแกร่งตามไปด้วย แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ยังไม่เห็นว่าลีกของเราจะเข้มแข็งแต่ประการใดทั้งๆที่ฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก (Thailand Premier League) ก่อตั้งมาได้สิบสองปีแล้ว

อย่างที่เคยเรียนไปแล้วครับว่า ผมไม่ขอวิจารณ์การทำงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเพราะผมเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาทำงานให้กับส่วนรวมย่อมมีความตั้งใจและเสียสละเป็นพื้นฐานอยู่แล้วเพียงแต่ว่าความเสียสละดังกล่าวนั้นเคลือบแฝงไปด้วยวัตถุประสงค์ส่วนตัวหรือไม่

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมน์หรือ Football Association of Thailand ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2459 ในสมัยรัชกาลที่หกครับ มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ประเทศของเราหรือ “สยาม” ในขณะนั้นสมัครเป็นสมาชิกฟีฟ่า (FIFA) เป็นลำดับที่สองของทวีปเอเชียครับโดยเราเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ก่อนฟุตบอลโลกครั้งแรก (พ.ศ.2473) ที่อุรุกกวัยจะถือกำเนิดขึ้นเสียอีก แต่อย่างไรก็ตามทีมชาติไทยยังไม่เคยได้เป็นตัวแทนของทวีปไปอวดแข้งฟุตบอลโลกกับเขาสักที

แม้ว่าสมาคมฟุตบอลของเราจะก่อตั้งมาช้านานแต่กว่าจะฟอร์มทีมชาติเพื่อลงแข่งในระดับนานาชาติก็ปาเข้าไปเมื่อปี พ.ศ.2495 โดยการแข่งขันฟุตบอลกับทีมต่างประเทศแมตช์แรกของทีมชาติไทยเรานั้นแพ้ให้กับทีมชาติเวียดนามใต้ (ในสมัยนั้น) ไป 3 ประตูต่อ 1 ครับ

อย่างไรก็ตามก็ตามดูเหมือนฟุตบอลไทยในช่วงก่อนปี พ.ศ.2500 นั้น เรามีโอกาสได้ลับแข้งกับนานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะแมตช์โอลิมปิกเกมส์ที่ทีมชาติไทยเคยเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายในโอลิมปิกส์เกมส์ครั้งที่ 16 เมื่อปี พ.ศ.2499 ซึ่งจัดที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย นั้น ผลปรากฏว่าแค่รอบแรกเราโดนต้นตำรับบอลอย่าง “ทีมสหราชอาณาจักร” สอนเชิงไป 9 ประตูต่อ 0 ครับ ซึ่งแมตช์ดังกล่าวถูกบันทึกให้เป็นสถิติความพ่ายแพ้ยับเยินที่สุดของทีมชาติไทย

หลังจากนั้นสิบสองปีต่อมาทีมฟุตบอลชายไทยก็เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์เกมส์ครั้งที่19 เมื่อปี พ.ศ.2511 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ผลปรากฏว่าทีมชาติไทยจอดแค่รอบแรกโดยเสียประตูไป 19 ประตู และยิงคืนมาได้ประตูเดียวในเกมส์ที่พบกับกัวเตมาลา

ในระดับเอเชียนั้น ทีมชาติไทยไปได้ไกลสุดในฟุตบอลเอเชียนคัพที่เราเป็นเจ้าภาพเมื่อ ปี พ.ศ.2515 โดยคว้าตำแหน่งที่สาม ขณะที่ในระดับเอเชียนเกมส์ เราทำได้ดีที่สุดโดยทะลุถึงรอบรองชนะเลิศ 4 ครั้ง

อย่างไรก็ตามในระดับภูมิภาคอาเซียน ทีมชาติไทยของเราดูจะยึดตำแหน่งหมายเลขหนึ่งมาโดยตลอดทั้งในกีฬาแหลมทองหรือกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน ซึ่งเราคว้าแชมป์ได้ทั้งหมด 13 ครั้ง โดยซีเกมส์ใน 8 ครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา เราผูกขาดเหรียญทองมาโดยตลอด

จะว่าไปแล้วการพัฒนากีฬาฟุตบอลของแต่ละชาตินั้นต้องเริ่มต้นจากการมีฟุตบอลอาชีพภายในประเทศที่เข้มแข็งก่อน นั่นหมายถึงว่าสมาคมฟุตบอลต้องมีส่วนผลักดันให้เกิดอาชีพ “นักฟุตบอล” เกิดขึ้นให้ได้

ด้วยคำว่า “อาชีพ” (Professional) จะทำให้คนที่รักจะประกอบสัมมาอาชีพนี้ย่อมตระหนักถึง “ความเป็นมืออาชีพ” และนี่เองที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการได้ “นักฟุตบอล” จริงๆ

อย่างไรก็แล้วแต่การเกิดขึ้นของฟุตบอลอาชีพจำเป็นต้องอาศัย “คนดู” ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อสมาคมฟุตบอลคิดจะ “ผลิตบริการฟุตบอลบันเทิง” ออกมาขายให้ผู้บริโภคได้เสพแล้ว สมาคมฟุตบอลต้องมีส่วนในการสร้างคุณภาพให้กับ “ลีก” ภายในประเทศให้สมกับที่ผู้เสพบริการฟุตบอลบันเทิงยอมเสียสตางค์เข้าไปดูนักฟุตบอลยี่สิบสองชีวิตฟาดแข้งกัน

ผมเชื่อว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยย่อมรู้ซึ้งในหลักการการบริหารลีกฟุตบอลอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดีสิบสองปีที่ผ่านมาของไทยลีกกลับไม่ได้ทำให้คนรักฟุตบอลอย่างผมมีความกระหายที่จะเข้าไปดูฟุตบอลลีกภายในประเทศเลย

ครั้งหนึ่ง “คุณ บอ.บู๋” คอลัมน์นิสต์ชื่อดังจากค่ายสตาร์ซอคเกอร์ เคยให้ความเห็นทำนองว่าที่ฟุตบอลไทยไม่พัฒนา เราไม่ควรมาโทษว่าเพราะคนไทยมัวแต่สนใจบอลนอก คุณ บอ บู๋ แนะนำว่าทางที่ดีเราควรหันกลับมามองตัวเราเองก่อนว่าลีกของเรามันไม่พัฒนาตรงไหน

ผมเห็นด้วยกับคุณ บอ.บู๋ ครับ ทั้งนี้หากเราใช้กรอบการวิเคราะห์ของวิชาเศรษฐศาสตร์มองความล้มเหลวของฟุตบอลอาชีพในบ้านเรา เราก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมผู้ผลิตบริการฟุตบอลบันเทิงอย่างสมาคมฟุตบอลนั้นไม่สามารถผลิตบริการฟุตบอลบันเทิงได้เป็นที่ประทับใจชาวไทยผู้บริโภคฟุตบอล

ผลจากความล้มเหลวของฟุตบอลลีกอาชีพทำให้ “สโมสรฟุตบอล” ไม่สามารถพัฒนาตนเองจนขยับขึ้นมาเป็น “ธุรกิจการกีฬา” เมื่อสโมสรไม่พัฒนา คำว่า “นักฟุตบอลอาชีพ” ก็ไม่เกิดเพราะนักฟุตบอล คือ แรงงานที่มีทักษะ (Skill labor)ในการผลิตบริการฟุตบอลบันเทิง นอกจากนี้นักฟุตบอลที่มีฝีเท้าดีก็ย่อมหาทางเลือกที่ดีให้กับตัวเองด้วยการย้ายตัวเองไป “ค้าแข้ง” ในลีกและสโมสรที่ให้ค่าเหนื่อยในระดับที่สมน้ำสมเนื้อกับการเป็น “นักฟุตบอลอาชีพ” ด้วยเหตุนี้เองนักเตะทีมชาติไทยของเราจึงนิยมไปค้าแข้งตั้งแต่ลีกล่างๆในยุโรป เอสลีกในสิงค์โปร์ เซมิโปรลีกในมาเลเซียรวมไปถึงวีลีกในเวียดนาม

อย่างไรก็ตามปัจจัยเล็กๆที่อาจทำให้บอลลีกภายในประเทศเริ่มพัฒนาได้ คือ การสร้างความรู้สึก “จังหวัดนิยม” ขึ้นมาก่อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อความกระหายของแฟนฟุตบอลประจำจังหวัดที่อยากเข้ามาดูผลงานของจังหวัดตัวเอง เหมือนที่ครั้งหนึ่งบ้านเราเคยมีทัวร์นาเมนต์ “ยามาฮ่า ไทยแลนด์ คัพ” (Yamaha Thailand Cup) ซึ่งผมคิดว่าเป็นทัวร์นาเมนต์ที่มีสีสันมากที่สุดทัวร์นาเมนต์หนึ่งครับ

กรณีจังหวัดนิยม ผมชื่นชมการสร้างทีมของ “ชลบุรี เอฟซี” หรือ “ฉลามชล” (The Shark) ที่สามารถสร้างสีสันให้กับฟุตบอลไทยแลนด์ลีกได้ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา และเราคงแอบหวังลึกๆว่าจะมีจังหวัดต่างๆเริ่มหันมาพัฒนาและร่วมสร้างฟุตบอลลีกภายในประเทศอย่างจริงจังโดยไม่ต้องรอการชี้นำจาก “สมาคม” เพียงอย่างเดียว

ในวงการฟุตบอลอาเซียนด้วยกัน สิงค์โปร์กำลังพัฒนา “เอสลีก” (S-league) ของพวกเขาให้เจริญรอยตาม “เจลีก” (J-leauge) เช่นเดียวกับที่เวียดนามได้สร้างให้ “วีลีก” (V-league) มีความแข็งแกร่งจนทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคได้อย่างที่พวกเขาฝันไว้

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ดูการแข่งขันฟุตบอลระดับโรงเรียนประถมที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ผมสนุกไปกับเกมส์ที่เห็นเด็ก ป.5-ป.6 เล่นบอลกันด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นทุ่มเท มันเป็นภาพความสุขแบบเรียบง่ายที่ครั้งหนึ่งผมเชื่อว่าเด็กผู้ชายหลายคนคงเคยมีประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว

บางที “ฟุตบอล” อาจจะไม่ต้องการอะไรมากมายหรอกครับ ขอแค่ให้ “ใจ” ไปกับมันทั้งคนเล่น คนทำทีม หรือแม้แต่คนบริหารสมาคมฟุตบอลเองก็ตาม

Hesse004

Dec 19, 2008

เศรษฐศาสตร์แบบ “อภิสิทธิ์”





ในฐานะ “นักเรียนเศรษฐศาสตร์” ผมยินดีอยู่ไม่น้อยที่เห็นนายกรัฐมนตรีของประเทศมาจากแวดวงวิชา “เศรษฐศาสตร์” ในอดีตนั้นเรามีผู้นำประเทศที่มีพื้นฐานทางการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อยสองท่านครับ

ท่านแรก คือ ท่านอาจารย์ “ปรีดี พนมยงค์” นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย มันสมองของคณะราษฎรและผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านปรีดีจบปริญญาเอกทางด้านกฎหมายมาจากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครับ นอกจากนี้ท่านยังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือ Diplome d’Etudes Superieures d’Economic Politique ด้วยเหตุนี้เองท่านปรีดีจึงเป็นผู้วาง “เค้าโครงเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ซึ่งจะว่าไปแล้วในอดีตนั้นประเทศของเรามีบุคลากรที่เรียกว่า “นักเศรษฐศาสตร์” (Economist) น้อยมากครับ

ผู้นำประเทศคนต่อมาที่มีพื้นความรู้การศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ คือ “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ครับ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ จบการศึกษาด้านวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์และการเมือง (Philosophy, Politics and Economics-PPE) จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Oxford University) ครับ

สำหรับคุณอภิสิทธิ์นั้น นับเป็นผู้นำประเทศคนที่สามที่มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์และเคยเป็นอาจารย์ประจำที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2533-2534

อย่างที่ทราบกันว่าคุณอภิสิทธิ์นับเป็นผู้นำประเทศที่มีประวัติทางการศึกษาคล้ายคลึงกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ โดยจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดเหมือนกันแถมยังมีดีกรีเกียรตินิยมพ่วงท้ายเหมือนกันอีกด้วย

จากประวัติการศึกษาที่ดีเยี่ยมของคุณอภิสิทธิ์บวกกับความเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของ “รัฐบาลอภิสิทธิ์ 1” แม้ว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจจะไม่ได้ดำเนินการตามลำพังเพียงคนเดียวก็ตาม แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมคิดว่าความเข้าใจที่ดีพอต่อปัญหาและกลไกเศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ของเศรษฐกิจโลกที่เชี่ยวกรากนั้นนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่จะมาเป็นผู้นำประเทศทั้งในวันนี้และในวันหน้า

เมื่ออาทิตย์ก่อน ผมได้กลับไปอ่าน “บทความวิชาการ” ที่คุณอภิสิทธิ์เขียนลงในวารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 และ 4 พ.ศ.2534 โดยบทความวิชาการดังกล่าวมีชื่อว่า “ทิศทางวิชาเศรษฐศาสตร์” ซึ่งประกอบไปด้วยสองตอนครับโดยตอนที่ 1 เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์จุลภาค ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ให้คำโปรยไว้ว่า “ความพยายามที่จะปรับทฤษฎีให้เข้าหาความเป็นจริง” ส่วนตอนที่สองเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ตั้งคำถามไว้น่าสนใจว่า “ยังห่างไกลจากความเป็นเอกภาพ”

บทความชุดดังกล่าวนับเป็นบทความที่สะท้อนให้เห็นทักษะความเป็นนักวิชาการของคุณอภิสิทธิ์ได้ดีอย่างยิ่ง เนื่องจากคุณอภิสิทธิ์สามารถร้อยเรียงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในช่วงระหว่างทศวรรษแปดสิบได้เป็นเรื่องเป็นราวคล้ายกับการทบทวนวรรณกรรมแนวคิดที่ปรากฏในวิชาหลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค

แต่อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คุณอภิสิทธิ์ตัดสินใจหันหลังให้กับงานวิชาการและกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2535

โดยทั่วไปพื้นฐานความรู้ทางการศึกษาของผู้นำประเทศมีส่วนสะท้อนซึ่ง “วิธีคิด” หรือ “กระบวนการตัดสินใจ” ในการบริหารประเทศไม่มากก็น้อยนะครับ โดยส่วนตัวแล้วผมสันนิษฐานว่าผู้นำประเทศส่วนใหญ่มักมาจาก “นักกฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ รวมไปถึงอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ผู้นำประเทศที่มีพื้นฐานมาจาก “นักการทหาร” ก็สามารถพบได้ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับผู้นำประเทศที่มาจาก “นักเศรษฐศาสตร์” หรือ “นักเรียนเศรษฐศาสตร์” นั้น เท่าที่ผมจำได้ก็น่าจะมีอดีตประธานาธิบดี “โรนัลด์ เรแกน” (Ronald Reagan) ครับ เรแกนนั้นจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จาก Eureka College ในมลรัฐอิลินอยส์ (Illinois) นอกจากนี้ชื่อเสียงของเรแกนยังถูกนำไปใช้เรียกแนวคิดเศรษฐศาสตร์ของนักเศรษฐศาสตร์ฝั่งอุปทาน (Supply side economics) หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “เรแกนโนมิคส์” (Reaganomics)

เช่นเดียวกันกับนาย “จุนอิชิโร่ โคอิซูมิ” (Junichiro Koizumi) อดีตนายกรัฐมนตรีสุดเท่ห์ของชาวญี่ปุ่นก็จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคโอะ (Keio University) ครับ ในปัจจุบันยังมีผู้นำประเทศที่มีชื่อเสียงอย่างน้อยสองคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ โดยคนแรก คือ ดร.มาโมฮาน ซิงห์ (Mamohan Singh) ของอินเดีย และอีกคนคือ ดร.กลอเรีย มาร์คาลปากาล อาร์โรโย่ (Gloria Marcapagal Arroyo) แห่งฟิลิปปินส์ ครับ

“มาโมฮาน ซิงห์” (Mamohan Singh) จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกจากUniversity of Oxford Nuffield College โดย ดร.ซิงห์เคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำไอเอ็มเอฟก่อนจะกลับอินเดียมาสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ใน University of Delhi และ Jawarharal Nehru University ซึ่งจะว่าไปแล้ว “ซิงห์” คือ มือเศรษฐกิจในระดับต้นๆของแดนภารตะที่มีส่วนวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดียให้ค่อยๆเติบโตอย่างมั่นคงในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา

สำหรับ “นางอาร์โรโย่” ผู้นิยมแนวคิดเศรษฐกิจแบบ “ทักษิโนมิคส์” (Thaksinomics) นั้น จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก University of Philippines ครับ หลังจากนั้นอาร์โรโย่เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ในกรุงมนิลา ก่อนจะได้รับคำเชื้อเชิญจากอดีตประธานาธิบดีคอราซอน อาควิโน่ (Corazon Aquino) ให้เข้าสู่แวดวงการเมืองในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์

ทั้งหมดที่ผมได้เรียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบนั้นจะเห็นได้ว่า อาชีพ “นักเศรษฐศาสตร์” เริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้นโดยเฉพาะการนั่งในตำแหน่งผู้นำประเทศ

แม้ว่าความเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” จะทำให้มองเห็นปัญหาและกลไกของระบบเศรษฐกิจประเทศตัวเองและกลไกของเศรษฐกิจโลกได้แจ่มชัด ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์ล้วนได้รับการปลูกฝังสรรพวิชาจากตำราเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยม อย่างไรก็ตามเมื่อพวกเขาลงมา “กุมบังเหียน” ของจริง บางครั้งตำราอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ทั้งหมดซึ่งบางครั้งปัญหาเศรษฐกิจอาจจะไม่ซับซ้อนอะไรมากไปกว่าเรื่อง “ความเป็นอยู่หรือปัญหาปากท้องของชาวบ้าน” ไม่ว่าจะเป็นของแพง ค่าแรงถูก

ท้ายที่สุดผมแอบลุ้นลึกๆว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ท่านนี้อาจสร้างแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เผื่อวันหน้าอาจมีใครเรียกแนวคิดของท่านว่า “มาร์โคโนมิคส์” (Marconomics) หรือ “เศรษฐศาสตร์แบบอภิสิทธิ์” ไงล่ะครับ

Hesse004

Dec 10, 2008

"หมากเตะโลกตะลึง" ชัยชนะของคนขี้แพ้





นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” (2546) ออกฉาย หกผู้กำกับหนุ่มจาก “กลุ่ม 365 ฟิล์ม” ได้ออกไปสร้างสรรค์ผลงานเดี่ยวอันหน้าประทับใจหลายต่อหลายเรื่องครับ

เริ่มจาก “คุณเอส” คมกฤษ ตรีวิมล ได้ทำให้หนังเรื่อง “เพื่อนสนิท” (2548) กลายเป็นหนังรักที่ดีเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่สร้างให้ “สายลับจับบ้านเล็ก” (2550) เป็นหนังตลกที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับหัวจิตหัวใจของคนเป็น “เมียน้อย” ในอารมณ์ที่ไม่หนักจนเกินไปนัก

“คุณย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ ได้ผันตัวเองมากำกับหนังเรื่องแรกที่ชื่อ “เด็กหอ” (2549) แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีกลิ่นอายของความเป็น “หนังผี” แต่ผู้กำกับได้แทรก “ปม” ต่างๆของตัวละครไว้อย่างน่าสนใจและที่สำคัญที่สุดคือเรื่องมิตรภาพของเพื่อนต่างภพ

ต่อมา “คุณต้น” นิธิวัฒน์ ธราธร ออกมากำกับหนังวัยรุ่นภายใต้การดำเนินเรื่องโดยมี “ดนตรีคลาสสิค” เป็นแกนหลัก ด้วยเหตุนี้เอง “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” (2549) หรือ Seasons change จึงเป็นหนังที่มีความละเมียดละไมอยู่ไม่น้อย

ในเวลาไล่เลี่ยกัน “คุณบอล” วิทยา ทองอยู่ยง ทำให้หนังชื่อ “เก๋า เก๋า” (2549) กลายเป็นหนังแนวแฟนตาซีที่ดูสมจริงเพราะด้วยไมค์วิเศษสีชมพูนี้เองที่ทำให้วงดนตรี “อิมพอสสิเบิล” ต้องระหกระเหินข้ามเวลาจากปี พ.ศ. 2512 มาสู่ปี พ.ศ. 2549

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือ หนังของกลุ่มผู้กำกับแฟนฉันที่ผมมีโอกาสได้ดูครับ โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชมผลงานของพวกเขามากเนื่องจากหนังของพวกเขาเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงแบบชิลๆเหมือนนั่งคุยกับเพื่อนเก่าอย่างสบายใจ

นอกจากนี้ดูเหมือนว่าหนังของผู้กำกับกลุ่มนี้ได้กลายเป็นตัวแทนของคนที่มีช่วงวัยสามสิบถึงสี่สิบปี โดย “แฟนฉัน” คือ ภาพยนตร์นำร่องที่เปิดให้เห็นการเติบโตของคนช่วงวัยดังกล่าว ซึ่งจะว่าไปแล้ววัฒนธรรมบันเทิงยุค 80 นั้นดูจะมีอิทธิพลไม่น้อยต่อคนช่วงวัยนี้

หากไล่เรียงลำดับการทำหนังของกลุ่มผู้กำกับ 365 ฟิล์ม ให้ดี เราจะพบว่าหนังของพวกเขาสามารถถ่ายทอดช่วงเวลาชีวิตของตัวละครหลักในเรื่องได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น “เด็กหอ” ที่กล่าวถึงช่วงชีวิตของเด็กวัยรุ่นชายตอนต้น “Seasons change” ถ่ายทอดเรื่องราวของนักเรียนมัธยมปลาย “เพื่อนสนิท” เล่าชีวิตของเด็กระดับมหาวิทยาลัย

ความชัดเจนในพล็อตหนังทุกเรื่องของผู้กำกับกลุ่มนี้ทำให้ผู้ชมภาพยนตร์ที่ผ่านช่วงชีวิตเหล่านั้นมาแล้วย่อมเกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปจนกระทั่งอารมณ์ถวิลหาหรือ Nostalgia ซึ่งทำให้ผลงานของพวกเขาได้รับการยอมรับมากขึ้น

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าอีกหนึ่งผู้กำกับในกลุ่ม 365 ฟิล์ม ที่ดูจะมีอุปสรรคกับการทำหนังเรื่องแรกของเขา นั่นคือ “คุณปิ๊ง” อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณปิ๊งคิดทำหนัง “ฟุตบอล”

“หมากเตะโลกตะลึง” หรือ Lucky Looser (2549) ของ อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ตั้งใจที่จะสร้างออกมาให้เกี่ยวกระแสฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ แต่อย่างไรก็ดีหนังเรื่องนี้ได้รับการต่อต้านจาก “ลาว” ประเทศบ้านพี่เมืองน้อง ด้วยเหตุผลที่ว่าหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาไปในเชิงลบหลู่ดูถูกศักยภาพทีมฟุตบอลชาติลาว

แม้ว่าหมากเตะโลกตะลึงจะกลับมาอีกครั้งในชื่อของ “หมากเตะรีเทิร์นส์” โดยเปลี่ยนชื่อจากทีม “ลาว” เป็น “ทีมอาวี” แต่ก็ดูเหมือนว่าหนังเรื่องนี้จะหลุดกระแสไปจากบอลโลกฟีเวอร์ เสียแล้ว

ในแง่ของมิติการเมืองหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ผมขออนุญาตไม่วิจารณ์แล้วกันครับ เนื่องจากว่าทุกชาติ ทุกภาษาล้วนมีความรู้สึก “ชาตินิยม” กันอยู่ในเผ่าพันธุ์ของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

ด้วยเหตุนี้เองการนำเสนอเรื่องราวของ “ความด้อยหรือความผิดพลาด” ของเผ่าพันธุ์หนึ่งย่อมกระทบกระเทือนจิตใจของคนชาตินั้นไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม “หมากเตะโลกตะลึง” ของคุณปิ๊งนั้นได้ทำให้เราเข้าใจมุมมองของ “ผู้แพ้” มากกว่าจะชื่นชมความสำเร็จของผู้ชนะ

จะว่าไปแล้ว “ฟุตบอล” ได้กลายเป็นกีฬา “อวด” หรือ “เบ่ง” ศักยภาพของประเทศได้อย่างหนึ่ง ฟุตบอลสามารถเป็น “กลยุทธ์”หนึ่งในการสร้างชาตินิยมได้เหมือนที่ “เกาหลีใต้” เคยทำได้ในช่วงฟุตบอลโลกที่เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 2002

น่าสนใจว่าการตั้งเป้าเพื่อไป “ฟุตบอลโลก” หรือ World Cup นั้นกลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกชาติ ปัจจุบันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่จัดสี่ปีครั้งนั้นได้คัดเอา “เต้ยลูกหนัง” ในแต่ละทวีปรวมทั้งสิ้น 32 ทีม มาบรรเลงเพลงเตะกันในช่วงเวลาหนึ่งเดือน ด้วยเหตุนี้เองฟุตบอลโลกจึงเปรียบเสมือนเวทีอวดศักดาของชาติตัวเองว่ามีความสามารถในเชิงลูกหนังมากน้อยแค่ไหน

แน่นอนที่สุดครับว่า “ฝัน”ของทีมชาติไทยที่จะไปบอลโลกนั้นดูจะเป็น “ฝัน” จริงๆ แม้ว่าเราจะพยายามผลักดันส่งน้ำเลี้ยงและแรงใจก็แล้ว แต่ดีที่สุดของเราคือ รอบคัดเลือกสิบทีมสุดท้ายของเอเชีย

บางครั้งผมว่าเราต้องยอมรับ “ศักยภาพ” ของเราว่าเราไปได้เท่านี้จริงๆ การยอมรับความจริงไม่ใช่สิ่งน่าอายและยิ่งมีความฝันด้วยแล้วยิ่งเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพียงแต่ขอให้ทำอะไรก็ทำด้วยความตั้งใจจริงมิใช่แค่เข้ามาทำทีมชาติเพียงเพื่อหวังผลประโยชน์อย่างอื่นแอบแฝง

นอกจากนี้หนังของคุณปิ๊งยังสะท้อนให้เห็นการทำงานแบบ “ไทย”ๆ นั่นคือ ทำงานเป็นทีมไม่เป็นรวมไปถึงไม่ไว้ใจความสามารถของคนไทยด้วยกันเองซึ่งจะว่าไปแล้วมันคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บอลไทยของเราไปได้ไกลในระดับภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น

ผมขออนุญาตไม่วิจารณ์การทำทีมฟุตบอลชาติไทยแล้วกันนะครับ เนื่องจากผมเชื่อว่าทุกคนก็พยายามกันอย่างเต็มที่แล้ว เพียงแต่ว่าความพยายามของเราอาจจะยังไม่เพียงพอเทียบเท่ากับการเอาจริงเอาจังของชาติเอเชียด้วยกันอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิหร่าน จีน การ์ตาร์ แม้กระทั่งวันนี้อาจจะมีสิงค์โปร์ย่องมาอย่างเงียบๆ

ผมแอบเชื่อลึกๆว่า หากวันใดทีมฟุตบอลไทยของเราประสบความสำเร็จจนไปถึงฟุตบอลโลกได้ บางทีคนไทยอาจจะเลิกทะเลาะกันนั่นหมายถึงว่าเรารู้แล้วว่าจริงๆแล้วถ้าเราสามัคคีกันชาติพันธุ์ของเราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครและท้ายที่สุดเราก็จะหันมาเคารพความคิดเห็นของพวกเรากันเองโดยไม่มองว่า “มึงโง่กว่ากู” หรือ “มึงนั่นแหละคือตัวถ่วงความเจริญของชาติ”

บางครั้งการพ่ายแพ้อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนอย่างที่ทีมชาติ “อาวี” เจอนั้น อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของชัยชนะในอนาคตเมื่อเราทุกคนหันมาสามัคคีและเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เผื่อไม่แน่ทีมชาติไทยจะได้ไปบอลโลกกับเขาได้เสียทีใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

Dec 1, 2008

การเมืองเรื่องของ “สี”





ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมแทบไม่มีเวลาจะเขียนอะไรเลยครับ เนื่องจากเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการปรับปรุงโครงร่างวิทยานิพนธ์ นอกจากนี้เหตุการณ์ต่างๆทางการเมืองยิ่งทำให้ “บั่นทอน” อารมณ์และจินตนาการบางอย่างไม่มากก็น้อย

สำหรับผมแล้ว การเมืองเป็นเรื่องของ “รสนิยม” (Taste) ครับ นั่นหมายถึง การที่เราจะรักหรือศรัทธาใครก็แล้วแต่ขึ้นอยู่กับรสนิยมและฐานคติของแต่ละบุคคล

จะว่าไปแล้วการเมืองไทยวันนี้มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของรสนิยมของคนสองกลุ่มหรือถ้าจะพูดให้ถูก คือ คนกลุ่มหนึ่งชื่นชอบ “การเมืองแบบสีเหลือง” (Yellow Politic) ขณะที่คนอีกกลุ่มชื่นชม “การเมืองแบบสีแดง” (Red Politic)

การเมืองแบบสีเหลืองมุ่งเน้นไปที่อุดมการณ์ของประชาธิปไตยแบบใหม่ที่ไม่ต้องการเห็นการเมืองระบบตัวแทนแบบเดิมๆเข้าไปโกงกินฉ้อฉลหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ธนกิจการเมือง” (Money Politic) ผู้ที่นิยมบริโภคการเมืองแบบสีเหลืองจึงมีความคาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองให้กลายเป็น “การเมืองใหม่”หรือ “ประชาภิวัฒน์” ซึ่งผมขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็นครับ

สำหรับการเมืองแบบสีแดงนั้นกลับมองเห็นความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบตัวแทนแบบเดิมโดยผู้บริโภคการเมืองแบบสีแดงเชื่อว่าประชาธิปไตยจะต้องมาจากการเลือกตั้ง (Voting) และการเลือกตั้งคือกลไกที่สามารถสะท้อนความต้องการของพวกเขาผ่านตัวแทนที่เขาเลือก ผ่านรัฐบาลที่เขาไว้ใจให้บริหารราชการแผ่นดิน

มองในแง่อุดมคติและอุดมการณ์ ผมเชื่อว่าการเมืองทั้งสองสีมีเจตนาดีต่อสังคมส่วนรวมเพียงแต่ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น การที่สังคมเลือกสีใดสีหนึ่ง สังคมย่อมมีค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) สำหรับคนอีกสีหนึ่งเสมอ

นั่นหมายถึงว่าระบอบประชาธิปไตยได้สร้างต้นทุนค่าเสียโอกาสให้กับคนกลุ่มน้อยที่ไม่สามารถสื่อสารความคิดความเห็นและความต้องการของตนเองผ่านกลไกทางการเมือง

การจัดตั้งมวลชน หรือ “ม๊อบ” (Mob) ของการเมืองสีเหลืองเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพตามกติกาใหญ่ของคนในสังคมนั่นคือ “รัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกันกับการแสดงพลังมวลชนของการเมืองสีแดงในช่วงเดือนที่ผ่านมา

เพียงแต่ว่าการเมืองของคนทั้งสองสีที่คิดและเชื่อไม่เหมือนกันนั้นดูจะไม่สามารถหาจุดที่เรียกว่า “อุตมภาพ”หรือ Optimum ได้เลย

ภายใต้เงื่อนไขการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จำกัดของคนในสังคมทั้งสองสีทำให้ผู้บริโภคการเมืองทั้งสองแบบไม่สามารถข้ามพ้นหลักการที่ตัวเองยึดเหนี่ยวได้ รังแต่จะสร้างความร้าวฉานแตกแยกและชิงชังมากขึ้น และนี่เองที่เป็นที่มาของคนที่พยายามจะเสนอเรื่องของ “การเมืองสีขาว” (White Politic) ที่อยากให้คนทั้งสองหันหน้ามาคุยกันเข้าทำนองว่า “หาจุดร่วม สงวนจุดต่าง”

แม้ว่าการเมืองสีขาวจะถูกกล่าวหาว่าเป็น “พวกตีกิน” จากการเมืองทั้งสองสีแต่ถ้ามองเจตนาของการเมืองสีขาวแล้วน่าจะเข้าใจดีว่าสิ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการคือความสงบและสันติภาพของคนในสังคม

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายนะครับ ทั้งนี้ไม่มีใครสามารถยอมรับข้อเสนอการเมืองใหม่ของผู้บริโภคการเมืองสีเหลืองได้ทั้งหมด เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครสามารถยอมรับความเลวร้ายแบบเดิมๆของการเมืองสีแดงได้ทั้งหมดเช่นกัน

ในช่วงปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสบริโภคการเมืองของคนทั้งสองสีนั่นหมายถึงว่าผมมีโอกาสรับรู้การต่อสู้ของมวลชนคนเสื้อเหลืองพอๆกับการนั่งฟังเหตุผลของคนเสื้อแดง

อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วว่าผู้บริโภคการเมืองทั้งสองสีนั้นไม่สามารถก้าวพ้นปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารที่ทั้งสองฝ่ายได้บริโภค (Imperfect Information)

ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร คือ ปัญหาสำคัญที่ทำให้กลไกตลาดล้มเหลวนั่นหมายความว่าผู้ผลิตการเมืองทั้งสองสีไม่สามารถให้ข้อมูลที่ครบด้านในกระบวนการผลิตอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับผู้บริโภค

ทุกวันนี้ผู้บริโภคการเมืองทั้งสองสีแบบสุดโต่ง ได้กลายเป็นผู้บริโภคประเภท Corner Solution หรือเลือกที่เสพสินค้าการเมืองประเภทใดประเภทหนึ่งโดยไม่แบ่งใจไปยอมรับความหลากหลายของสินค้าการเมืองชนิดอื่นๆ

ในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศไทย ผมคงไม่มีอะไรเรียกร้องมากมายไปกว่าขอความสงบและสันติกลับคืนมาให้กับสังคมที่ผมเคยอาศัย ผมอาจเป็นผู้บริโภคประเภท Free Rider หรือ “ตีตั๋วฟรี” ที่ไม่ยอมออกไปเรียกร้องว่าผมจะเลือกบริโภคการเมืองของสีใด

สำหรับผมแล้ว การเมืองเป็นเรื่องของรสนิยมครับ การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่น่าเคารพนับถืออย่างยิ่ง เช่นเดียวกันกับการแสดงออกซึ่ง “อารยะขัดขืน” ก็เป็นมาตรการที่น่าประทับใจในการต่อสู้กับอำนาจที่เหนือกว่า

แต่หากการแสดงออกที่เกินขอบเขตจนถึงฆ่าฟันกันถึงแก่ชีวิตหรือปิดสนามบินโดยมีชะตากรรมของคนทั้งประเทศเป็นตัวประกันนั้นเพียงเพราะเราบริโภคการเมืองคนละสีกัน คำว่า "อารยะขัดขืน" จะกลายเป็น “อนารยะข่มขืน” ในที่สุด

ผมเองเป็นพวก “อารยะขบขัน” ครับ ผมยังอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ผมเติบโตมาด้วยความสงบสุขและสามัคคี

ลองสำรวจตัวเองดูสิครับว่า เราพอจะบริโภคการเมืองแบบหลายสี (โดยไม่ต้องสูญเสียอุดมการณ์) ได้หรือเปล่า? เผื่อบางทีเราอาจจะเข้าใจมากขึ้นว่า…ที่แท้การเมืองมันก็ไม่ได้มีแค่สีเหลืองหรือสีแดง

Hesse004

Nov 1, 2008

Chungking Express เมื่อความรักหมดอายุ




จะว่าไปแล้วภาพยนตร์เกี่ยวกับความรักนั้นถูกถ่ายทอดได้ในหลายมิติ หลายมุมมองนะครับนั่นหมายถึงว่า “ความรัก” เป็นอารมณ์หลักๆของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา

โดยส่วนตัวแล้ว, ผมคิดว่าหนังรักพันธุ์เกาหลีน่าจะเป็นหนังรักที่โรแมนติคมากที่สุดอย่างที่เคยเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบแล้วว่า Christmas in August (1998) ของ “เฮอ จิน โฮ” คือ หนังรักที่ผมประทับใจมากที่สุดครับ อย่างไรก็ตามหนังรักที่ผมคิดว่า “เท่ห์” (Cool film) ที่สุดในสายตาของผมคงต้องยกให้กับ Chunking Express ของ “หว่องกาไว” ครับ

Chunking Express (1994) เป็นผลงานการกำกับลำดับที่ 3 ของ หว่องกาไว (Kar Wai Wong) ผู้กำกับชื่อดังชาวจีนแต่ไปเติบโตที่ฮ่องกง ก่อนหน้านี้หว่องฝากผลงานที่น่าประทับใจไว้สองเรื่อง คือ As Tear goes by (1988) และ Day of being wild (1990)

หว่องกาไวยังได้สร้างดาราคู่บุญอย่างน้อยสองคนที่เล่นหนังของหว่องเป็นประจำ คือ เหลียง เฉา เหว่ย และ เลสลี่ จาง นอกจากนี้ดาราชั้นนำของฮ่องกงล้วนเคยผ่านงานมากับหว่องด้วยกันแล้วทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น หลิว เต๋อ หัว, จางม่านอี้, หลินชิงเสีย,เฟย์ หว่อง หรือแม้แต่ ทาเคชิ คาเนชิโร่

ทั้งหมดที่กล่าวมาดูจะเสริมบารมีของหว่องกาไวให้กลายเป็นยอดผู้กำกับคนหนึ่งของเอเชียในไม่ช้านี้ แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าหว่องกาไวเป็นคนทำหนังที่ค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัวคนหนึ่ง คล้ายกับว่าหลังแว่นดำของเขานั้นมีอะไรมากมายซ่อนอยู่

สำหรับ Chunking Express แล้ว หว่องกาไวมีมุมมองความรักที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากความรักปกติทั่วไป กล่าวคือ หว่องหยิบประเด็นเรื่องของ “เวลา” มาเป็นตีม (Theme) ของเรื่อง ซึ่งคำโปรยหรือ Tag line ของหนังเรื่องนี้เกริ่นไว้น่าสนใจอย่างนี้ครับว่า

“If my memory of her has an expiration date, let it be 10,000 years”
(ที่มา www.imdb.com)

โดยทั่วไปเรามักจะได้ยินคำพูดเกี่ยวกับความรักทำนองว่า “ฉันจะรักเธอชั่วฟ้าดินสลาย” หรือ “ขอให้รักเรานั้นคงอยู่นิรันดร์” คำพูดเหล่านี้แสดงให้เห็นความมั่นคงของคู่รัก คนรักและความรัก แม้ว่าผู้ที่เอ่ยวลีดังกล่าวจะรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ก็ตาม

คำเปรียบเปรยความรักเหล่านี้เปรียบเสมือน “หลักประกัน” (Collateral) ของ “สัญญารัก”ว่าจะยังไงเสียฉันก็จะรักเธอตลอดไปทั้งในชาติภพปัจจุบันและอนาคตชาติ อย่างไรก็ตามสิ่งที่หว่องกลับท้าทายดันกลายเป็นเรื่อง “การหมดอายุของความรัก” (Expiration of Love) ซึ่งเราเองก็ไม่มีวันรู้หรอกครับว่าความรักของเรามันจะหมดอายุกันเมื่อไรเพราะคนที่เรารักเขาไม่ได้ติดสลากเตือนวันหมดอายุ

เหตุที่ผมชอบหนังเรื่องนี้จนแอบขนานนามว่าเป็นหนังรักที่ “เท่ห์” ที่สุดเท่าที่เคยดูมานั้นเพราะหลายฉากของหนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าคนเขียนบท (หว่อง) “แม่งคิดได้ไงวะ”!!

ยกตัวอย่างตอนที่ ตำรวจหมายเลข 223 ที่รับบทโดยทาเคชิ คาเนชิโร่ พูดถึงความรักที่หมดอายุของเขาไว้ว่า

“Somehow everything comes with an expiry date. Swordfish expires. Meat sauce expires. Even cling-film expires. Is there anything in the world which doesn't?”
(ที่มา www.imdb.com)

ขออนุญาตแปลแบบบ้านๆอย่างนี้นะครับว่า “ดูเหมือนว่าทุกสิ่งบนโลกนี้จะมีวันหมดอายุด้วยกันทั้งนั้น แต่จะมีสิ่งไหนมั๊ยวะที่ไม่มีวันหมดอายุ”

หว่องกาไวกำกับหนังเรื่องนี้ในวัยสามสิบแปดปี นั่นหมายถึงว่าเขาได้ผ่านสังเวียนของความรักมาในระดับที่เติบโตกับเรื่องนี้พอสมควรแล้ว ขณะเดียวกันหนังรักของหว่องเต็มไปด้วยสัญลักษณ์มากมายไม่ว่าจะเป็นฉากที่ตำรวจหมายเลข 663 รับบทโดยเหลียง เฉา เหว่ย รำพันกับ “ห้อง”ตนเองว่า

“ตั้งแต่เธอทิ้งฉันไป ทุกอย่างในห้องนี้ดูจะเศร้าสร้อยไปเสียหมด ดูสิ “เจ้าสบู่” เจ้าผอมมากไปแล้วนะ ดูแลตัวเองด้วยสิ “เจ้าฝักบัว” หยุดร้องไห้เสียทีเถอะ เข้มแข็งเข้าไว้”

จะเห็นได้ว่าความเท่ห์ของหนังรักเรื่องนี้อยู่ที่บทภาพยนตร์ซึ่งหว่องกาไวเองนำเสนอมุมมองของความรักได้น่าสนใจยิ่งนัก

ในช่วงทศวรรษที่ 90 นับเป็นช่วงเวลาที่ศิลปะหลายแขนงกำลังแสวงหาความแตกต่าง จากขนบเดิมๆของงานศิลปะแบบเก่า ทั้งนี้ผมไม่แน่ใจว่างานศิลปะภาพวาดภาพถ่ายจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความแตกต่างจากงานศิลปะแบบเดิมๆหรือเปล่า ยกตัวอย่างงานศิลป์ร่วมสมัยของศิลปินชาวอเมริกันอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล์ (Andy Warhal) เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เช่นเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าวดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ (alternative) ก็ได้เริ่มต้นขึ้น ทำนองเดียวกับวงการหนังที่ หว่องกาไวได้ทำให้ Chunking Express ฉีกบริบทของหนังรักแบบเก่าๆที่ต้องมีพระเอก นางเอก ตัวอิจฉา รวมไปถึงการบูชาคุณค่าของความรักอย่างสุดซึ้งซึ่งสุดท้ายมักลงเอยด้วยความสุข (Happy Ending) แต่สำหรับ Chunking Express แล้ว หว่องกลับสะท้อนให้เห็น “ภาวะทางอารมณ์รัก” ที่ตัวละครทุกตัวมักมาลงเอยกันที่ “ความเหงา”

ผมเชื่อว่าทุกคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ล้วนมี “ความเหงา” กันทุกคน เหมือนที่ใครบางคนเคยพูดไว้ว่า “ยิ่งคนเยอะ ยิ่งเหงา” อย่างไรก็ตามหว่องได้ทำให้ความเหงาที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้มีเสน่ห์เหมือนกันนะครับ

ผมขออนุญาตปิดท้ายด้วยคำพูดเท่ห์ๆของ 223 ที่ว่า

“If memories could be canned, would they also have expiry dates? If so, I hope they last for centuries”
(ที่มา www.imdb.com)

ใช่แล้วครับ ถ้าความทรงจำของคุณบรรจุใส่กระป๋องได้ คุณอยากให้มันหมดอายุในปีไหนดีล่ะครับ

Hesse004

Oct 24, 2008

ผมแอบไปเป็นลูกศิษย์วัดไทยที่มิวนิค




ระหว่างที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ผมอยู่ที่สนามบินนานาชาติในมหานครมิวนิคครับ ผมเดินทางไปประเทศเยอรมนีตั้งแต่วันที่ 2 ตุลา ที่ผ่านมาโดยเหตุที่ไปก็เพื่อเข้าร่วมอบรมวิชาการหัวข้อเรื่อง Economics of Corruption ที่มหาวิทยาลัยพัสเซา (Passau University)

“มหาวิทยาลัยพัสเซา” ตั้งอยู่ในเมืองพัสเซา (Passau) ซึ่งเป็นเขตพรมแดนระหว่างเยอรมนีและออสเตรีย ครับ กล่าวกันว่าเมืองนี้เป็น “เมืองสามแคว” แห่งแคว้นบาวาเรีย ด้วยเหตุที่ลักษณะภูมิประเทศของพัสเซานั้นคล้ายกับสามเหลี่ยมที่ยื่นออกมาโดยเป็นจุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำดานูบ(Danube) หรือ โดนัลด์ (Donau) ตามภาษาเยอรมันและแม่น้ำอินน์ (Inn) รวมไปถึงแม่น้ำอิซ (Ilz) ครับ

ผมขออนุญาตข้ามรายละเอียดเนื้อหาการฝึกอบรมไปก่อนแล้วกันครับ เพราะมีเนื้อหาน่าสนใจเกินกว่าที่จะบรรยายภายในเอนทรี่นี้เอนทรี่เดียวได้ เนื่องจากการศึกษาเรื่อง Economics of Corruption หรือ “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่น” นั้นมีมิติที่มากกว่าการ “โกง”

กลับมาที่เรื่องการเดินทางดีกว่าครับ , ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสไปเยือนยุโรปครับ อย่างไรก็ตามการเดินทางไปเมืองพัสเซานั้นจำเป็นต้องมาขึ้นรถไฟที่มิวนิคก่อน

มิวนิค (Munich) หรือ มึนชึ่น (München) นับเป็นมหานครสำคัญของเยอรมนีและเป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นบาวาเรีย (Bavaria) มหานครแห่งนี้ดูไม่แตกต่างจากเมืองหลวงทั่วไปนะครับ กล่าวคือ มิวนิคยังคงเต็มไปด้วยความวุ่นวายจอกแจกจอแจของผู้คนมากหน้าหลายตา

สำหรับการเดินทางไปพัสเซานั้นดูเหมือนว่าการคมนาคมที่นี่จะสะดวกมากครับ เพราะเราสามารถซื้อตั๋วรถไฟจากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติได้ที่สถานีรถไฟกลางหรือ Haufbahnhof

ผมใช้เวลาอยู่ที่เมืองพัสเซาประมาณสิบวันครับ หลังจากเสร็จภารกิจการฝึกอบรมแล้ว ผมจึงถือโอกาส “เดินชมเมือง” ต้องใช้คำว่า “เดิน” จริงๆนะครับ เพราะคนที่นี่ชอบเดินมากๆ การเดินท่ามกลางอากาศดีๆนับว่าเป็น “ความสุขที่เรียบง่าย” อย่างหนึ่งของชีวิตนะครับ เพราะเราสามารถชื่นชมกับธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูใบไม้ร่วง (autumn) ภาพต้นไม้ที่กำลังริดใบตัวเองช่างน่าประทับใจยิ่งนักเปรียบเสมือนการปลดระวางของใบไม้ที่ทำหน้าที่มาตลอดช่วงหลายฤดูกาลที่ผ่านมา

พัสเซานับเป็นเมืองเก่าแก่ของแคว้นบาวาเรียครับ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ดูจะผูกพันกับออสเตรียมากกว่าเนื่องจากเป็นเมืองที่มีพรมแดนติดกับออสเตรีย แต่เดิมเมืองแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการค้าเกลือของบาวาเรียครับด้วยเหตุที่มีการคมนาคมขนส่งสะดวกเพราะมีแม่น้ำไหลผ่านทำให้ลักษณะภูมิประเทศของพัสเซาเอื้ออำนวยต่อการเป็นเมืองท่าทางการค้า

นอกจากนี้เมืองเล็กๆแห่งนี้ยังเคยเป็นที่พำนักของอดอฟ์ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยฮิตเลอร์และครอบครัวเคยอาศัยอยู่ในพัสเซาถึงสี่ปีครับ

สำหรับสถานที่สำคัญของเมืองพัสเซาที่น่าไปเยี่ยมชม คือ วิหารเซนต์สตีเฟนคาเธดรอล หรือ Der Passauer Stephansdom ซึ่งภายในวิหารแห่งนี้ยังเป็นที่เก็บออร์แกนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วยครับ

ขณะเดียวกันหากเดินข้ามสะพานที่เชื่อมระหว่างเขตเมืองเก่ากับเมืองใหม่เราก็จะเห็นภาพความคลาสสิคของตึกรามบ้านช่องของเขตเมืองเก่า รวมไปถึงปราสาท Die Veste Oberhaus ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองพัสเซา

ภายในเมืองเล็กๆแห่งนี้นั้นประชากรส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยพัสเซาครับ ทั้งนี้คณะที่ขึ้นชื่อของมหาวิทยาลัยพัสเซา คือคณะที่สอนเกี่ยวกับปรัชญาศาสนาและเทวนิยมซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นโรงเรียนสอนศาสนาสำหรับนักบวชของแคธอลิก

นอกจากนี้เพื่อนร่วมอบรมชาวเยอรมันบอกผมว่าโปรเฟสเซอร์เยอรมันส่วนใหญ่ชื่นชอบบรรยากาศในเมืองพัสเซาทำให้มหาวิทยาลัยพัสเซาสามารถดึงโปรเฟสเซอร์เก่งๆมาอยู่ที่นี่ได้ก็เพราะไม่ค่อยวุ่นวายแถมมีบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตงานวิชาการดีๆได้ด้วย

ช่วงวันท้ายๆที่อยู่พัสเซา ผมซื้อทัวร์ล่องแม่น้ำดานูบข้ามไปฝั่งออสเตรีย ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นประสบการณ์ที่ดีไม่น้อยนะครับ แม่น้ำดานูบเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของยุโรปรองจากแม่น้ำโวลก้า (Volga) ของรัสเซีย

ผมจากพัสเซามาด้วยความประทับใจทั้งสถานที่และผู้คนที่เป็นมิตร หลังจากนั้นผมใช้เวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์อยู่ที่ “มิวนิค” ครับ สำหรับที่มิวนิคแล้ว ความทรงจำที่นี่ของผมโดยส่วนใหญ่กลับอยู่ที่ “วัดไทยมิวนิค” ครับ

ผมรู้จักชื่อวัดไทยมิวนิค จากการเสิร์ชข้อมูลทางกูเกิ้ลครับ สาเหตุที่ต้องหาวัดเพราะผมไม่สามารถหาที่พักที่มีราคาเหมาะสมกับงบประมาณของผมได้ เนื่องจากที่พักในมิวนิคมีราคาค่อนข้างแพงมาก

เมื่อผมทราบอีเมล์ติดต่อวัดไทยมิวนิคแล้ว ผมลองเขียนจดหมายไฟฟ้า (อีเมล์) กราบนมัสการหลวงพ่อเพื่อขอความเมตตาเรื่องที่พัก หลังจากนั้นประมาณสองอาทิตย์ทางหลวงพ่อท่านให้ญาติโยมที่ดูแลเรื่องเอกสารส่งรายละเอียดการเดินทางมาพักที่วัด

ปัจจุบันวัดไทยมิวนิค มีท่านพระครูปลัดชน พระธรรมทูตที่ได้รับการอาราธนามาจำพรรษาที่วัดไทยมิวนิค ท่านพระครูหรือ “หลวงพ่อชน” เป็นพระที่เมตตาต่อคนไทยในมิวนิคนี้มากครับ ด้วยเหตุนี้เองวัดไทยจึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของคนไทยที่นี่

ตลอดเวลาที่ผมพักอยู่ในมิวนิคเกือบอาทิตย์นั้นผมมีโอกาสได้ช่วยงานวัดในฐานะลูกศิษย์วัดชั่วคราวนอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับพี่ป้าน้าอาชาวไทยที่มาอยู่ที่นี่ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่คนไทยที่อยู่ที่นี่ได้แต่งงานมีครอบครัวกับชาวเยอรมัน และหลายท่านอยู่เยอรมนีมาเกินสิบปีแล้วทั้งนั้น

ความน่าสนใจของชีวิตคนไทยในต่างแดนอยู่ที่ “การปรับตัว” ให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างทั้งผู้คน อาหาร ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมไปถึงสภาพอากาศ

พี่คนไทยหลายคนมาแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าด้วยการทำงานรับจ้างทั่วไปทั้งทำความสะอาด เป็นกุ๊กหรือเด็กเสิร์ฟตามร้านอาหาร

ทั้งนี้วัดไทยมิวนิคได้กลายเป็นศูนย์รวมของคนไทยที่นี่ไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานประเพณีไทย คนไทยในมิวนิคมักอาศัยวัดแห่งนี้เป็นจุดนัดหมาย

พี่ยิ่งลักษณ์ พี่สุรศักดิ์ ป้าสมพร ป้าเย็น พี่สุกัญญา พี่อุทัย พี่จันทร์ดี คือ กลุ่มคนไทยที่ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในมิวนิค คนไทยเหล่านี้อยู่เยอรมนีมานานหลายปี บางคนตั้งรกรากมีครอบครัวอยู่ที่นี่อย่างป้าสมพร ป้าเย็น พี่จันทร์ดี ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีมาตั้งแต่เป็นเยอรมนีตะวันตกคนไทยหลายคนเข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีเนื่องจากค่าแรงสูงเมื่อเทียบกับค่าแรงบ้านเรา

ตามตรรกะของการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานนั้นมีมูลเหตุจูงใจสำคัญคือ “ค่าจ้าง” โดยเปรียบเทียบที่สูงกว่าค่าจ้างที่บ้านเกิด อย่างไรก็ตามการย้ายถิ่นยังมีต้นทุนที่นอกเหนือจากต้นทุนการเดินทางอย่างค่าตั๋วเครื่องบิน หากแต่ยังมีต้นทุนที่ตีเป็นมูลค่าได้ยากลำบากอย่างต้นทุนของการคิดถึงบ้าน (Homesick cost) ต้นทุนการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในชาตินั้น สิ่งเหล่านี้ดูจะละเอียดอ่อนอยู่ไม่น้อยในการตีค่าต้นทุนเพื่อที่จะตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นของแรงงาน

ท้ายที่สุดรูปแบบชีวิตของคนไทยที่นี่ทำให้ผมนึกถึงคำว่า “การไปแสวงหาโอกาส” ที่ดีกว่าให้กับชีวิต หลายคนที่นี่มีความสุขกับชีวิตต่างแดนแต่หลายคนเริ่มรู้สึกว่าต้นทุนบางอย่างจากการย้ายถิ่นฐานดูจะสูงเกินกว่ารายได้หรือค่าแรงที่ได้รับแล้ว

ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเราพยายามแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นมนุษย์เรามักจะชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่จะได้รับกับสิ่งที่ต้องเสียไป เพียงแต่ว่าบางครั้งสิ่งที่ได้รับแม้ว่าอาจจะจับต้องเป็นรูปธรรมแต่สิ่งที่ต้องจ่ายนั้นกลับสูญเสียไปในเชิงนามธรรมที่มากกว่า

Hesse004

Sep 28, 2008

เศรษฐทรรศน์แถวอาร์ซีเอ !





โดยปกติแล้วผมไม่ใช่นักท่องแดนราตรีด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้ การเที่ยวกลางคืนของผมไม่สามารถทำได้บ่อยนัก

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นโอกาสอันดีที่ได้ไปเปิดหูเปิดตาแถวถนนกลางคืนที่ว่ากันว่าเหล่านักท่องราตรีหลายคนคุ้นเคยเป็นที่สุด…ใช่แล้วครับ เมื่อคืนนี้ผมไปเที่ยวอาร์ซีเอ (Royal City Avenue) อย่างไรก็ตามผมไม่ได้ไปเที่ยวคนเดียวหรอกครับ มีรุ่นพี่ท่านหนึ่งนำเที่ยวในฐานะมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ รวมทั้งเพื่อนสนิทของผมอีกท่านหนึ่ง ซึ่งถ้ารวมอายุของพวกเราสามคนก็ร่วมร้อยเข้าไปแล้ว นั่นก็แสดงว่าพวกเราเริ่มชราเกินไปแล้วที่จะไปเยือนสถานที่แบบนี้

ทริปของพวกเราเริ่มต้นกันเวลาประมาณ 3 ทุ่มหลังจากกินข้าวกันเสร็จที่ “ดิอิมมอร์ทัล” (The immortal) เกษตรนวมินทร์ โดยพวกเรามีจุดหมายปลายทางกันที่อาร์ซีเอ ครับ

มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ของเราพาเราฝ่ารถราที่ติดขัดเพื่อไปดูแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีแห่งแรกแถวถนนเอกมัยครับ ผมตื่นตาตื่นใจไม่น้อยกับสไตล์การแต่งร้านย่านนั้นเพราะแต่ละร้านตกแต่งได้ดีมีสไตล์มาก

หลุดจากเส้นเอกมัย เราเข้าไปเยือนซอยทองหล่อที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่าง”หรู” ของคนมีกะตังค์ พวกเราไปนั่งจิบชาร้อนกินกาแฟเย็นกันที่สตาร์บัคส์ บริเวณ Marketplace ซึ่งจะว่าไปแล้วสถานที่ตรงนั้นเปรียบเสมือนโชว์รูมรถราคาแพงดีๆนี่เอง

น่าสนใจนะครับว่า “ย่าน” หรือ “แถบ” ที่อยู่นั้นเป็นเครื่องชี้วัดฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของคนได้ดีไม่น้อย

เมื่อจิบชากินกาแฟกันจนหายเหนื่อยแล้ว พวกเราก็ออกเดินทางต่อโดยแวะไปเยือนเจเอเวนิว (J-Avenue)แหล่งชอปปิ้งกลางซอยทองหล่อซึ่งก็หนีไม่พ้นสไตล์ไฮโซตามเคย

ทะลุออกจากซอยทองหล่อ เราแอบโฉบไปแถวที่ตั้ง “โรงแรมสยาม” ในอดีต ซึ่งจะว่าไปแล้วเมื่อหลายปีก่อนเคยเป็น “ตลาดนัด” ที่ชายหนุ่มส่วนใหญ่ชอบขับรถมาชอปปิ้งกันยามค่ำคืน จริงๆแล้วคงไม่ต้องแจงรายละเอียดไปมากกว่านี้แล้วกันนะครับ

ทุกวันนี้บรรดาเหล่าแม่ค้าคนสวยทั้งหลายที่เคยหากินอยู่หน้าโรงแรมสยาม ได้ย้ายสถานที่ทำการไปอีกนิดนึงแถวริมถนนเลียบทางรถไฟ

มาถึงตรงนี้ภาพ Sex in the city ของกรุงเทพดูจะชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าเราอาจจะกระทำการกันอย่างหลบๆซ่อนๆบ้าง โจ่งแจ้งบ้าง ภายใต้การรักษากฎหมายของตำรวจไทยที่มักจะทำงานแบบปิดตาข้างเดียวอยู่เสมอ

ความสนใจของคณะทัวร์เราอยู่ที่ตรงที่ “ขนาด” ครับ อ้อ! อย่าคิดไกลนะครับ ขนาดที่ว่านี้ คือ “ขนาดของเศรษฐกิจใต้ดิน” หรือ Underground Economy

คำถามของพวกเรา คือ ขนาดของเศรษฐกิจใต้ดินเหล่านี้นั้นมีมากน้อยแค่ไหน เพราะจะว่าไปแล้วธุรกิจการค้าประเวณีตามริมถนนนั้นไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในมูลค่าที่เกิดขึ้นจริงจากกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายของระบบเศรษฐกิจทั่วไป

นอกจากนี้ในมิติของ “ความแตกต่าง” ระหว่างชนชั้นของคนเมืองหรือถ้าพูดให้โก้หน่อยก็เรียกว่า “ทวิลักษณ์” (Dualism) ของความเป็นเมืองนั้น น่าสนใจอีกเหมือนกันนะครับว่าเพียงไม่กี่เส้นถนนจากซอยทองหล่อถึงเพชรบุรี เราเห็นความแตกต่างระหว่าง “คนมีอันจะกิน”กับ “คนที่ต้องออกมาขายตัวเองกิน”

ความทวิลักษณ์ของเมืองใหญ่คงไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพเพียงแห่งเดียวหรอกครับ หากแต่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมเมืองทั่วโลก

ระหว่างที่นั่งรถต่อไปอาร์ซีเอนั้น ผมตั้งคำถามเล่นๆกับตัวเองว่า“ค่าบุหรี่ที่สาวน้อยไฮโซสูบอยู่ในผับหรูๆแถวซอยทองหล่อจะมีราคาถูกหรือแพงกว่าค่าตัวของสาวน้อยโลโซที่มาเร่ขายตัวแถวถนนเพชรบุรี”

และแล้วเราก็เดินทางมาถึงอาร์ซีเอ (Royal City Avenue) ถนนที่ว่ากันว่าเป็น “มหาวิทยาลัยของคนกลางคืน” อาร์ซีเอวันนี้ต่างจากอาร์ซีเอที่ผมเคยไปเที่ยวเมื่อหลายปีมาแล้ว เราผ่านร้านดังอย่าง Slim และRoute66 แต่เลือกที่จะไม่เข้าเพราะเห็นคนมหาศาลแล้วคงต้องเจียมต่อสังขาร

อาร์ซีเอยังเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าวัยรุ่น มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่าแม้ว่าเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ดูเหมือนภาคบริการโดยเฉพาะการเที่ยวกลางคืนยังสามารถหล่อเลี้ยงตัวมันเองได้อยู่

มองในแง่ของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว การเที่ยวกลางคืน เปรียบเสมือนเป็น “การพักผ่อน”หรือ Leisure ที่แกรี่ เบคเกอร์ (Gary Becker) ยอดปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์แรงงาน เห็นว่าเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่เราได้รับความพอใจจากการบริโภค โดยมีต้นทุนเป็นเวลาที่หายไปจากการทำงานซึ่งมันถูกสะท้อนจากค่าจ้างแรงงานนั่นเอง

อย่างไรก็ดีเมื่อมองในภาพรวมแล้ว “อุตสาหกรรมบริการการท่องเที่ยวกลางคืน” ย่อมสร้างงาน (Linkage) สร้างอาชีพให้คนในสังคมได้ไม่น้อย ตั้งแต่นายทุนเปิดผับ พ่อครัว เด็กเสริฟ์ เด็กเชียร์เบียร์ นักร้องนักดนตรี สาวโคโยตี้ นักเลงคุมผับ เด็กรับรถ เด็กนวดในห้องน้ำ คนขับแท็กซี่… อ้อ! ลืมไปอีกอาชีพ คือ ตำรวจ! ครับ

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ หากนโยบายจัดระเบียบสังคมให้ปิดผับก่อนตีหนึ่งนั้นจะทำให้เหล่าผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องธุรกิจเที่ยวกลางคืนจะออกมาต่อต้าน เพราะทำให้พวกเขามีเวลาในการทำมาหากินน้อยลง

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อในเรื่องความหลากหลายของโลกนะครับ โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่สีขาวสว่างเพียงสีเดียว หากแต่มีสีดำ สีเทา สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง จิปาถะ เพียงแต่เราจะสามารถผสมสีเหล่านั้นให้มันดูออกมาเป็น “ภาพ” ที่ดีได้หรือเปล่า

ในแง่หนึ่ง ผมรู้สึกว่าการเที่ยวกลางคืนเป็นการบริโภคสินค้าพักผ่อนอย่างที่เบคเกอร์ว่าไว้ เพียงแต่ว่าการบริโภคสินค้าประเภทนี้ทุกวัน ทุกอาทิตย์ หรือทุกเดือนสำหรับผมแล้วค่อนข้างมีข้อจำกัด ทั้งอายุขัย กำลังกาย และที่สำคัญคือ กำลังทรัพย์ครับ ฮา ฮา

คณะทัวร์ของเราไม่ได้เข้าไปนั่งดริงก์หรือแดนซ์ในผับที่ไหนหรอกครับ เพียงแค่สังเกตการณ์ก่อนจะมุ่งไปสู่จุดหมายที่แท้จริง คือ ไปขับรถโกลด์คาร์ต และร้องคาราโอเกะ

ทริปของพวกเราจบลงตอนตีสองครับ เดินออกมาจากร้านเกะแล้ว นักเที่ยวยามราตรีเริ่มทยอยออกมาจากร้านรวง บ้างเริ่มเมามาย บ้างเริ่มนั่งรวมตัวเมาท์หาที่ไปต่อ… ดูเหมือนกรุงเทพจะไม่เคยมีวันได้หลับเลยนะครับ

Hesse004

Sep 25, 2008

สำรวจแนวรบต่อต้านคอร์รัปชั่นในกลุ่มอาเซียน




เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index; CPI) ของประเทศต่างๆทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2008 ซึ่งปรากฏว่าดัชนีดังกล่าวของประเทศไทยอยู่ที่ 3.5 ขยับขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อปีที่แล้วครับ

องค์กรความโปร่งใสนานาชาติซึ่งมีชื่อย่อว่า T.I. นั้นเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1993 ครับโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี ทั้งนี้วัตถุประสงค์การก่อตั้ง T.I. นั้นปรากฏอยู่ในคำประกาศเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ว่า

“องค์กรความโปร่งใสนานาชาติเป็นองค์กรภาคประชาสังคมของโลกที่มุ่งหวังจะต่อต้านการคอร์รัปชั่น องค์กรแห่งนี้ได้นำพาผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมารวมตัวกันด้วยเจตจำนงที่จะหยุดยั้งการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ด้วยเหตุนี้เองพันธกิจขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ คือ การเปลี่ยนโลกใหม่ให้ปราศจากการคอร์รัปชั่น”

สำหรับผลงานเด่นๆที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ได้รับการยอมรับในเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่น คือ การพัฒนาดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นหรือ Corruption Perception Index โดยเจ้าดัชนีตัวนี้สะท้อนให้เห็นระดับของการรับรู้การคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นประเทศต่างๆ ซึ่งจะว่าไปแล้ว Corruption Perception Index ได้กลายเป็นเครื่องชี้วัดปัญหาการคอร์รัปชั่นของแต่ละประเทศไปพร้อมๆกันด้วย

ดัชนีตัวนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1995 ครับ โดยบุคคลที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงพัฒนาการสร้างดัชนีชี้วัดตัวนี้ขึ้นมา คือ ศาสตราจารย์ ดร.โยฮันน์ แกรฟ แลมป์สดอร์ฟ (Johann Graff Lambsdorff) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันผู้สนใจปัญหาการคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด

ตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ดัชนีตัวนี้ได้รับการเผยแพร่นั้น ศาสตราจารย์แลมป์สดอร์ฟ ได้แสดงหลักการและวิธีการสร้างดัชนีตัวนี้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาแลกเปลี่ยนตลอดจนถกเถียงในมิติของวิชาการต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้เองงานวิจัยเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมาจึงได้อ้างอิงถึงดัชนีของแลมป์สดอร์ฟอยู่เสมอ

การตีความค่า Corruption Perception Index เป็นไปอย่างง่ายๆไม่ซับซ้อนครับ กล่าวคือ ดัชนีดังกล่าวมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 10 โดยประเทศใดมีค่าดัชนีดังกล่าวมาก แสดงให้เห็นว่าประเทศนั้นมีระดับการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่นของคนในสังคมนั้นน้อยมาก เช่น ปี ค.ศ.2008 ค่า CPI ของ “เดนมาร์ก” อยู่ที่ 9.3 ยังรักษาแชมป์ความโปร่งใสเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นสมัยที่สอง

ในทางกลับกันประเทศใดที่มีค่าดัชนีดังกล่าวน้อย แสดงให้เห็นว่าประเทศนั้นมีระดับการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่นของคนในสังคมมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมนั้นเต็มไปด้วยเหล่านักการเมืองขี้ฉ้อและข้าราชการขี้โกง โดยปีล่าสุด “โซมาเลีย” เป็นประเทศที่มีค่า CPI ต่ำที่สุดเพียง 1.0 เท่านั้น ขณะที่เพื่อนบ้านของเราอย่าง “เมียนมาร์” เข้าป้ายในอันดับรองบ๊วยด้วยระดับดัชนี ที่ 1.3 ครับ

ขณะเดียวกัน “สิงค์โปร์” กลายเป็นประเทศที่สร้างชื่อให้กับกลุ่มอาเซียนมากที่สุดในแง่ของความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง โดยค่า CPI ปีล่าสุด ของสิงค์โปร์อยู่ที่ 9.2 ครับ ครองอันดับ 4 ของโลก เหนือฟินด์แลนด์ แชมป์เก่าหลายสมัยที่ปีนี้หล่นไปอยู่ที่ 5

เมื่อย้อนมองส่องดูปัญหาการคอร์รัปชั่นในภูมิภาคอาเซียนของเรานั้น ประเทศที่เกาะกลุ่มระดับความรุนแรงของปัญหาการคอร์รัปชั่นที่อยู่ในระดับสูงอีกประเทศ คือ “กัมพูชา” ครับ ทั้งนี้ค่า CPI ของเขมรนั้นอยู่ที่ 1.8 ความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่ 166 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

ถัดจากเขมรมาเป็น “ลาว” ครับ โดยค่า CPI ของลาวอยู่ที่ 2.0 พอดี ทั้งนี้ลาวเพิ่งเข้าร่วมการจัดอันดับเรื่องนี้เมื่อปี ค.ศ.2005 โดย 4 ปีที่ผ่านมาค่า CPI ของลาวยังวนเวียนอยู่ที่ระดับ 2 กว่าๆ เช่นเดียวกับน้องใหม่ในอาเซียนอย่าง “ติมอร์” ที่ค่า CPI ปีนี้อยู่ที่ 2.2

สำหรับประเทศใหญ่อย่าง “ฟิลิปปินส์” นั้น ค่า CPI ปีนี้อยู่ที่ 2.3 ครองอันดับความโปร่งใสที่ 141 ทั้งนี้ฟิลิปปินส์นับเป็นอีกประเทศที่มีปัญหาการคอร์รัปชั่นรุนแรงโดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นของเหล่าผู้นำประเทศในอดีตตั้งแต่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส, โจเซฟ เอสตราด้า แม้กระทั่งนางกลอเรีย อาร์โรโย่ ผู้นำคนปัจจุบันก็ไม่วายว่ามีข่าวการทุจริตเช่นกัน

คอร์รัปชั่นในแดนตากาล๊อกเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่ทำลายการพัฒนาเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ จากประเทศที่คาดหมายว่าจะพัฒนาได้เร็วที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงกลับกลายเป็นว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่พัฒนาได้เชื่องช้าที่สุดทั้งนี้ก็เพราะปัญหาการคอร์รัปชั่น

เช่นเดียวกับ “อินโดนีเซีย” ที่มีปัญหาการคอร์รัปชั่นเรื้อรังมาช้านานโดยเฉพาะช่วงเวลาที่รัฐบาลเผด็จการซูฮาร์โต้ ครองอำนาจยาวนานถึง 31 ปี นั้น ทำให้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในอินโดนีเซียผูกโยงกับธุรกิจของคนในครอบครัวซูฮาร์โต้ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างวัฒนธรรมการคอร์รัปชั่นในหมู่ทหารและนักการเมือง พ่อค้านักธุรกิจชาวจีน จนทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียต้องเตรียมบวกต้นทุนที่มองไม่เห็นเวลาติดต่อทำธุรกิจในแดนอิเหนา

ด้วยเหตุนี้เองค่า CPI ปีล่าสุดของอินโดนีเซียจึงยังอยู่ที่ระดับ 2.6 แม้ว่าค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆในช่วงห้าปีหลัง แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนักสำหรับประเทศที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาอย่างอินโดนีเซีย

ทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนปัญหาการฉ้อฉลอำนาจหรือ Power Corrupt ของเหล่าผู้นำประเทศอันนำมาซึ่งการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวบนตำแหน่งหน้าที่สาธารณะที่กล่าวอ้างไว้อย่างสวยหรูภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย

ในทางกลับกัน “เวียดนาม” ซึ่งกลายเป็นประเทศที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในอาเซียนนั้น ระดับค่า CPI ปีล่าสุดยังอยู่เพียง 2.7 ครับ ค่าดังกล่าวเป็นเครื่องชี้วัดถึงความโปร่งใสของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ดีว่า มีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ หากเวียดนามต้องการจะพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ พวกเขาจะจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชั่นได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดเพราะคอร์รัปชั่น คือ อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ประเทศเพื่อนบ้านเราอีกประเทศที่มีกลไกการจัดการคอร์รัปชั่นได้ดีพอสมควร คือ “มาเลเซีย” ครับ ตลอดระยะเวลาที่พรรคอัมโนครองอำนาจภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ มูฮัมหมัด มาจนกระทั่งนายอับดุลลาร์ อาหมัด บาดาวี นั้นมาเลเซียได้พัฒนาประเทศขึ้นมาเป็นเบอร์สองของอาเซียน นอกเหนือจากความเข้มแข็งของรัฐบาลแล้ว เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มาเลเซียสามารถพัฒนาขึ้นมาได้เร็ว คือ การเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามปัญหาการทุจริตโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงกับเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ขี้โกงทั้งหลาย โดยค่า CPI ปีล่าสุดของมาเลเซียอยู่ที่ 5.1 ครองอันดับความโปร่งใสที่ 47 ครับ

สำหรับประเทศไทยของเรานั้น , แม้ว่าค่า CPI จะสูงขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย แต่ค่าเฉลี่ยของดัชนีดังกล่าวตลอดระยะเวลา 14 ปี อยู่ที่ 3.29 ครับ ค่าดังกล่าวเป็นเครื่องสะท้อนที่ดีถึงระดับความรุนแรงของปัญหาการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าเหตุที่ค่า CPI ของไทยเรานั้นค่อนข้างเสถียรอยู่ที่ระดับไม่เกิน 4.0 นั้นส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้ว่าคอร์รัปชั่นนั้นเป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในกมลสันดานของคนไทยมาช้านานแล้ว เพียงแต่ว่าเราจะยอมรับกับมันได้มากน้อยหรือเปล่า

ลักษณะพิเศษของพฤติกรรมการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่นของคนไทยดูเหมือนจะยอมรับในการฉ้อฉลในระดับเล็กๆ เช่น จ่ายค่าน้ำร้อน น้ำชา ติดสินบนหรือแป๊เจี๊ยเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการอันสะดวกสบายจากเจ้าหน้าที่รัฐ การคอร์รัปชั่นในระดับนี้เรียกว่า Petty Corruption หรือ การฉ้อราษฎร์นั่นเองครับ

ในทางกลับกันคนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถยอมรับได้กับพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นของเหล่านักการเมือง ข้าราชการประจำระดับสูงที่ฉ้อฉลเงินงบประมาณแผ่นดินผ่านโครงการต่างๆซึ่งการคอร์รัปชั่นในระดับนี้เรียกว่า Grand Corruption หรือ การบังหลวง

นอกจากนี้คอร์รัปชั่นยังเป็นข้ออ้างหนึ่งของคณะรัฐประหารในการยึดอำนาจการปกครองล้มล้างรัฐบาล ซึ่งจากประวัติศาสตร์อันใกล้ “บุฟเฟ่ต์ คาบิเนต” สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เป็นเหตุผลของ คณะ รสช. ในการล้มล้างรัฐบาล เช่นเดียวกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ที่รัฐบาลทักษิณ ถูก คณะ คมช. โค่นล้มด้วยเหตุผลของการคอร์รัปชั่นเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าคอร์รัปชั่นนอกจากจะทำลายเศรษฐกิจแล้วยังมีส่วนในการทำลายระบอบประชาธิไปไตยอีกด้วย น่าสนใจนะครับว่าสังคมไทยจะจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชั่นกันอย่างไรทั้งในระดับ Petty และ Grand Corruption เพราะหากเราสามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเราในอนาคตด้วย

“คอร์รัปชั่น” ยังคงเป็นปัญหาที่อยู่คู่มนุษยชาติต่อไป เพราะสาเหตุสำคัญของการฉ้อฉลนั้นมาจาก “ความโลภ” ครับ แม้ว่าเราไม่สามารถกำจัดความโลภออกจากใจเราได้แต่เราสามารถควบคุมความโลภนั้นได้… ไม่ใช่หรือครับ

Hesse004

Sep 17, 2008

"Modern Times" บทเรียนเศรษฐศาสตร์ของชาลี แชปลิน





กล่าวกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริการอบนี้หรือ “วิกฤตซับไพร์ม” (Sub prime Crisis) น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงไม่แพ้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงเมื่อปี ค.ศ.1929 หรือที่รู้จักกันในชื่อของ The Great Depression ครับ

The Great Depression ในสหรัฐอเมริกานับว่าเป็นหายนะทางเศรษฐกิจที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ขณะเดียวกันเหตุการณ์ครั้งนี้ดูจะเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อในการพิสูจน์คุณค่าของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม (Capitalism) ที่เชื่อกันว่าเหมาะที่สุดแล้วสำหรับโลกเสรีประชาธิปไตย

ผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นทำให้กระบวนทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนไปด้วยเช่นกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์” (John Maynard Keynes) ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ไปอย่างสิ้นเชิง

หากว่า The general Theory of Employment, Interest and Money (1936) ซึ่งเป็นตำราเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ได้กลายเป็นประจักษ์พยานทางวิชาการในการบันทึกเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Modern Times (1936) ของชาลี แชปลิน (Charles Chaplin) ก็น่าจะเป็นประจักษ์พยานของความบันเทิงเริงรมย์ที่ได้สะท้อนมุมมองของคนจร (The tramp) ที่มีต่อวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว

ผมรู้จักหนังของชาลี แชปลิน มาตั้งแต่ชั้นป.4 แล้วครับ อย่างไรก็ตามความทรงจำกี่ยวกับแชปลินของผมถูกรื้อฟื้นอีกครั้งโดยอาจารย์ท่านหนึ่งในชั่วโมงแรกที่ผมได้เรียนวิชา “ทฤษฎีและกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ”

หลังจากวันนั้น ผมกลับมาหาหนังของชาลี แชปลิน ดูอีกหลายเรื่องครับ ไม่ว่าจะเป็น City Lights (1931), Gold Rush (1942), The Kid (1921) และ The Great Dictator (1940)

ข้อสรุปส่วนตัวที่ผมค้นพบคือ “ชาลี แชปลิน” เป็น “ยอดศิลปิน” ครับ อีกทั้งแชปลินยังเป็นนักทำหนังที่ถ่ายทอดความเป็น “มนุษยนิยม” ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง กล่าวคือ หนังของแชปลินทุกเรื่องนั้นสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่รวมไปถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าคุณจะกระจอกงอกง่อย ยากจนเพียงใด ทั้งนี้ข้อสังเกตหนึ่งของหนังแชปลิน คือ เขามักจะเล่นบทนำที่ส่วนใหญ่เป็น “คนจร” (The Tramp) มีฐานะยากจน โดยเฉพาะเรื่องที่ผมอ้างถึงมาทั้งหมด

Modern Times เป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 77 ของชาลี แชปลิน ครับ ซึ่งในเรื่องนี้เขาเป็นผู้เขียนบท กำกับพร้อมทั้งรับบทนำเอง และคงจะไม่เกินเลยไปนัก หากผมจะยกให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่คลาสสิคที่สุดเรื่องหนึ่ง

ชาลี แชปลิน สะท้อนภาพบิดเบี้ยวของระบบทุนนิยมในสหรัฐอเมริกาได้เจ็บแสบไม่น้อย ฉากคลาสสิคอย่างฉากที่แชปลินหลุดเข้าไปในกงล้อของเครื่องยนต์กลไกมหึมานั้นยิ่งตอกย้ำให้เห็นการกลืนกินของทุนนิยมที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass Production) ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว แชปลิรชี้ให้เห็นว่าเราเองก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักรเหล่านั้นที่ไม่ได้มีหัวจิตหัวใจอะไร

แม้ว่าทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าแรงงานเปรียบเสมือนปัจจัยการผลิตหรือ Input ชนิดหนึ่ง แต่จะว่าไปแล้วเหล่านักเศรษฐศาสตร์แรงงาน (Labor Economists) ดูจะก้าวไปไกลกว่าคำว่าปัจจัยการผลิตนะครับ นั่นคือ มองว่าแรงงานเป็น “ทุนมนุษย์” (Human Capital) ที่สามารถพัฒนาศักยภาพและความสามารถได้ ซึ่งประเด็นนี้ต่างหากที่ควรจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจ มิใช่เพียงแค่ตัวเลขที่แสดงการจำเริญเติบโตของ GDP มิใช่แค่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยให้มีเสถียรภาพ หรือมิใช่แค่จะทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีกำไรเพียงฝ่ายเดียว

ฉาก (Scene) ต่างๆ ที่ปรากฏใน Modern Times นั้นน่าจะถูกหยิบนำมาใช้เป็นบทเรียนสอนนักศึกษาให้เข้าใจความระทมทุกข์ (ปนความรื่นรมย์) ของคนอเมริกันในช่วง The Great Depression เพราะ แชปลินได้บรรจงใส่เรื่องราวให้ครบมิติทั้งในแง่ของ การแข่งขันของคนในสังคมเมืองใหญ่ที่แชปลินเปิดฉากมาด้วยฝูงแกะขาวและมีแกะดำโผล่มาตัวนึงพร้อมๆกับภาพตัดไปยังผู้คนที่กรูกันอยู่บนท้องถนน

เช่นเดียวกับฉากการเอารัดเอาเปรียบของนายทุนเจ้าของโรงงานที่แม้แต่คนงานจะขอเข้าไปปลดทุกข์สูบบุหรี่สบายอารมณ์ยังต้องถูกเฝ้ามองผ่านทีวีวงจรปิด ผมเข้าใจว่าแชปลินต้องการเสียดสีแนวคิดของนายทุนที่ต้องการประหยัดต้นทุนให้มากที่สุด (Minimized Cost) เพื่อผลกำไรสูงสุด (Maximized Profit) สังเกตได้จากฉากที่วิ่งออกมาจากห้องน้ำแล้วรีบตอกบัตรกลับเข้าทำงาน

นอกจากนี้ยังมีฉากการสไตร์กของกรรมกรแรงงานที่น่าจะเป็นบรรยากาศร้อนๆในช่วงที่คนตกงานกันเยอะ เช่นเดียวกับฉากของนางเอกในเรื่องที่พยายามหนีการจับของเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากเป็นเด็กกำพร้าที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแล

ในส่วนของประเด็นการว่างงานที่แชปลินสะท้อนออกมาในฉากการขโมยของในห้างโดยเพื่อนคนงานของแชปลินที่ตกงาน หรือ อาจจะเป็นฉากการแย่งกันเข้าทำงานในโรงงานหรือท่าเรือในฐานะลูกจ้างรายวัน เป็นต้น

ฉากเหล่านี้เป็นฉากที่แชปลินตั้งใจจะสะท้อนให้เห็นความยากลำบากอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะว่าไปแล้วน่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่แพ้ตำรา The General Theory ของเคนส์ก็ว่าได้นะครับ

ผมแอบตั้งขอสังเกตเล็กๆว่า ทั้งเคนส์และแชปลินมีบางสิ่งที่คล้ายคลึงอย่างน้อย 4 เรื่องครับ เรื่องแรก คือ หนังเรื่องนี้ของแชปลินออกฉายในปี ค.ศ.1936 ซึ่งเป็นปีที่ตำรา The General Theory ของเคนส์ตีพิมพ์ออกมาพร้อมกัน

เรื่องที่สองนั้น ทั้งคู่เป็นชาวอังกฤษเหมือนกันครับ โดยเคนส์มีอายุมากกว่าแชปลินอยู่หกปี ส่วนเรื่องที่สามเนี่ยทั้งคู่ไว้หนวดเหมือนกัน แต่ดูท่าแล้วเคนส์น่าจะสำอางกว่า The Tramp ของเรา

ส่วนประการสุดท้ายทั้งคู่นิยมมี “เมียเด็ก” ครับ อันนี้ผมว่าน่าสนใจเพราะภรรยาของเคนส์เป็นนักบัลเล่ต์สาวชาวรัสเชี่ยนนามว่า “ลิเดีย โลโปโกว่า” (Lydia Lopokova) ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าเคนส์ถึงเก้าปีครับ ส่วนแชปลินดูจะเจ้าชู้กว่าเคนส์เยอะเพราะมีภรรยาถึง 4 คน โดยภรรยาคนสุดท้าย คือ อูน่า โอนีล (Oona O’Neill) หรือ “เลดี้แชปลิน” ซึ่งมีอายุห่างจากแชปลินถึงสามสิบหกปี!! ครับ

สำหรับเอนทรี่เรื่องนี้นั้น ผมขออนุญาตเขียนขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์ เนื่องในโอกาสที่อาจารย์จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ครับ ทั้งนี้ท่านอาจารย์ดารารัตน์ คือ อาจารย์ที่สอนวิชาในหมวดเศรษฐศาสตร์การพัฒนาหรือ Development Economics ที่คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)ครับ

อาจารย์ดารารัตน์ได้แนะนำหนังเรื่อง Modern Times ของชาลี แชปลิน ให้นักศึกษาลองกลับไปดู ซึ่งผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้คือบทเรียนนอกห้องของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เราได้รู้จักคุณค่าที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมซึ่งผมคิดว่าคงไม่ใช่แค่ตัวเลขเศรษฐกิจที่สวยหรู หากแต่เป็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เหมือนที่ ชาลี แชปลินได้บอกกับเราไงล่ะครับ

Hesse004

Sep 7, 2008

“สายล่อฟ้า” หากคำว่ารักมันร้ายกับเธอมากไป!





“คุณต้อม” ยุทธเลิศ สิปปภาค นับเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยท่านหนึ่งที่ทำหนังได้น่าสนุกไม่น้อยนะครับ วานก่อนผมมีโอกาสได้ดูงานของคุณต้อมสองเรื่อง คือ บุปผาราตรี (2546) และ สายล่อฟ้า (2547)

ยุทธเลิศเป็นผู้กำกับที่ทำหนังได้หลายแนวครับ โดยเรื่องล่าสุด เป็นหนังรักที่ชื่อ รัก/สาม/เส้า (2551) ซึ่งว่ากันว่าเป็นการรีเมค “โอเนกกาทีฟ” เมื่อสิบปีที่แล้ว

ความน่าสนใจที่ปรากฏในหนังของยุทธเลิศนั้นอยู่ที่ประเด็นการนำเสนอที่มีความชัดเจนพร้อมๆกับการเหยาะความบันเทิงได้ด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ประมาณว่าบทจะฮาก็ฮาขี้แตกขี้แตน บทจะซึ้งก็ซึ้งจริงๆ ด้วยเหตุนี้เองหนังของยุทธเลิศส่วนใหญ่จึงเป็นหนังที่ดูไม่ยากแต่มีแง่คิดแฝงอยู่ตลอด

สำหรับ “สายล่อฟ้า” นั้น ยุทธเลิศได้ฉีกวิธีการนำเสนอหนังรักให้ต่างไปจากหนังรักทั่วไปนั่นคือ ให้ดาราหน้าตาดีอย่าง “คุณเต๋า” เล่นเป็นเพื่อนพระเอก ขณะที่ให้ดาวตลกหน้าทะเล้นอย่าง “คุณโหน่ง” รับบทพระเอก

การฉีกวิธีนำเสนอดังกล่าวนอกจากจะสร้างความแปลกให้กับวงการหนังไทยแล้ว ประเด็นที่ยุทธเลิศพยายามสื่อสาร คือ “คุณค่าของความรัก” ซึ่งจะว่าไปแล้วใครบางคนตีคุณค่าของความรักไว้สูงส่งจนเป็นเหตุให้ “เต่า” (รับบทโดยเต๋า สมชาย) พูดถึง “ตุ่น” (รับบทโดยโหน่ง สามช่า) ว่าเป็นคนที่บูชาและศรัทธาในความรักมาก

นอกจากนี้ยุทธเลิศยังได้พัฒนาบทหนังให้มีการผูกเงื่อนปมที่ดูเหมือนยิ่งแก้ ยิ่งมัดแน่น ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรบกวนท่านผู้อ่านลองไปหาหนังเรื่องนี้ชมดู จริงๆแล้วสไตล์การทำหนังแบบนี้ผมเชื่อว่ามีเสน่ห์อยู่ไม่น้อยนะครับ

สไตล์การทำหนังแบบผูกเงื่อนปมนั้นปรากฏในหนังแนวอินดี้ๆอย่าง Snatch (2000) ของ กาย ริชชี่ (Guy Ritchie) รวมไปถึง The Big Lebowski (1998) ของสองศรีพี่น้องตระกูลโคเอน (Cohen Brothers)

แม้ว่าหนังจะไม่ได้ปูให้เห็นถึงที่มาที่ไปในความสัมพันธ์ของ “ตุ่น” กับ “นก” (รับบทโดยเมย์ พิชนาฎ) ว่าทำไมไอ้ตุ่นเซียนพระถึงหลงรักสาวไซด์ไลน์อย่างน้องนก จนหัวปักหัวปำ แต่หลายครั้งดูเหมือนเป็นที่เข้าใจกันว่า “ความรัก” มักเป็นเรื่องของอารมณ์ที่ยากยิ่งนักจะหาเหตุผลมาอธิบาย

มีคำพูดเชยๆจากนักรักแห่งเมืองสุพรรณว่า “คนบางคนใช้ “สมอง” ที่จะรักใครคนหนึ่ง แต่คนบางคนกลับใช้ “หัวใจ” ที่จะรัก” … ขออนุญาตกลั้นหายใจสักครึ่งนาทีนะครับ

จุดที่น่าสนใจอย่างยิ่งของหนังเรื่องนี้ คือ การผูกโครงเรื่องไว้กับเพลงที่ต้องวงเล็บไว้ด้วยว่าของ “ค่ายแกรมมี่” เริ่มจากเพลงเก่าอย่าง “สายล่อฟ้า” ซึ่งเป็นเพลงดังของอัสนี-วสันต์

“สายล่อฟ้า” เป็นเพลงที่อยู่ในอัลบั้มผักชีโรยหน้า (2530) โดยในเรื่องเพลงๆนี้เป็นเพลงโปรดของบักเต่าที่เวลาไปร้องเกะที่ไหนก็จะร้องแต่เพลงนี้จนเป็นเหตุแห่งการชุมนุมสหบาทาของ ผู้หมั่นไส้ในท่าทางยียวนของหนุ่มเต่า

ความหมายของเพลงสายล่อฟ้าน่าจะสะท้อนบุคลิกของตัวละครอย่าง “เต่า” ได้ดีว่า “ไม่เคยกลัวฝน ไม่เคยกลัวฟ้า” ขณะที่เซียนตุ่น พระเอกของเรื่องกลับมีบุคลิกที่ขัดกับเต่าสิ้นเชิง กล่าวคือ ตุ่นออกจะเป็นเงียบๆ ขี้อาย ไม่ทะเล้นเหมือนกลุ่มแก๊งค์ของเขา

บุคลิกเหล่านี้ทำให้ตุ่นดูจะเป็นคนอ่อนไหวและจริงจังกับความรักแม้ว่าจะเป็นรักแรกพบก็ตาม

สำหรับอีกเพลงที่กลายเป็นหัวใจของเรื่องนี้ คือ “ฉันอยู่ตรงนี้” ของคณะแบล๊คเฮด (Black Head) ที่ว่ากันว่าคุณปู ร้องเพลงนี้ได้ซึ้งใจยิ่งนัก

“ฉันอยู่ตรงนี้” เป็นเพลงลำดับที่หกในอัลบั้มชุด Handmade (2546) ซึ่งเนื้อหาของเพลงนี้พูดถึงความรักที่จริงใจใสซื่อของคนๆหนึ่ง และหากจะว่าไปแล้ว “ฉันอยู่ตรงนี้” ก็คือตัวแทนของ “ความรักที่แท้” ซึ่งผมชักไม่แน่ใจแล้วว่ามันจะมีอยู่จริงหรือเปล่า?

บางทีคำว่า “รักแท้” อาจเปรียบเสมือนตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) ที่กลายเป็นตลาดในอุดมคติของนักเศรษฐศาสตร์ไปก็ได้นะครับ

ท่อนฮุกที่กลายเป็นที่นิยมของเหล่านักร้องเกะแถวซอยทองหล่อ คือ ท่อนที่ร้องว่า “หากคำว่ารักมันร้ายกับเธอมากไป บอกมาได้ไหม ให้ฉันช่วยซับน้ำตา ส่งใจช้ำๆของเธอมา ฉันจะรักษาเธอด้วยรักจริง…”

ใครบางคนไม่เคยเจอความรักที่แท้จริง ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังไม่เจอคนที่ใช่ บางคนเจอแต่คนที่หลอกลวง บางคนเจอแต่เรื่องเลวร้ายจากความรัก หรือสุดท้ายบางคนเชื่อว่าเป็น “เวรกรรม”ที่ทำให้เขาเหล่านั้นไม่เคยเจอกับคำว่า “รัก” เสียที

มองในมุมนักเศรษฐศาสตร์, ความรักก็เปรียบเสมือนกลไกการจัดสรรทรัพยากรแห่งความสุข สร้างผลกระทบเชิงบวก (Positive Externality) นั่นคือยิ่งบริโภครักมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สวัสดิการสังคมดีขึ้นเท่านั้น

มองในมุมนักกฎหมาย, ความรักเปรียบเสมือนการทำ “นิติกรรม” ชนิดหนึ่งซึ่งคู่สัญญาที่ร่วมทำนิติกรรมแห่งรักมักจะภาวนาไม่ให้นิติกรรมครั้งนั้นกลายเป็น “โมฆะ”

กล่าวมาถึงตรงนี้บางที “รักแท้” ในมุมมองของคุณยุทธเลิศอาจเปรียบเสมือน “สายล่อฟ้า” ก็เป็นได้นะครับเพราะหน้าที่ของสายล่อฟ้า คือ คอยถ่ายประจุไฟฟ้าจากก้อนเมฆลงสู่ดินเวลาฝนตกซึ่งถ้าเรามีสายล่อฟ้าอยู่มันก็จะถ่ายผ่านสายล่อฟ้าแทนที่ฟ้าจะหันมาผ่าเรา ซึ่งมันก็คงเหมือนกับ “รักแท้” ของใครคนหนึ่งที่พร้อมจะรองรับ “อารมณ์ฟ้าผ่า” ของอีกคนหนึ่งได้อยู่เสมอ

Hesse004

Aug 21, 2008

"The Counterfeiters" ความอยู่รอดบนเรื่องจอมปลอม





ปี ค.ศ.2008 คณะกรรมการคัดเลือกภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมแห่งเวทีออสการ์ได้พร้อมใจกันเลือก Die Fälscher (2007) ให้เป็นภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมแห่งปี (Best Foreign language Film)

Die Fälscher (2007) เป็นภาพยนตร์ออสเตรีย (Austrian Film) ครับ และเป็นผลงานการกำกับของ "สเตฟาน รูโซวิสกี้" (Stefan Ruzowitzky) ผู้กำกับหนุ่มใหญ่จากเมืองเวียนนา

สำหรับชื่อภาษาอังกฤษของ Die Fälscher (2007) นั้นค่อนข้างตรงไปตรงมานั่นคือ The Counterfeiters ซึ่งคำว่า Counterfeit นั้นแปลว่า ปลอมแปลง ครับ

บทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงจากบันทึกความทรงจำของ “อดอลฟ์ เบอร์เกอร์” (Adolf Burger) หนึ่งในเหยื่อชาวยิวที่เคยถูกฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (The Holocaust)

เบอร์เกอร์ นั้นเป็นยิวที่มีเชื้อสายสโลวัค ครับ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่เผด็จการฮิตเลอร์จุดไฟสงครามขึ้นมานั้น เบอร์เกอร์เองก็ถูกจับเป็นเชลยชาวยิวที่ค่ายนรกออสวิตส์ (Auschwitz Concentration Camp)ในโปแลนด์ อย่างไรก็ตามเบอร์เกอร์นั้นรอดมาด้วยความที่แกเป็นยอดฝีมือทางด้านช่างพิมพ์ (Typography)

เบอร์เกอร์นั้นถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการลับที่ชื่อว่า Operation Bernhard ซึ่งโครงการลับสุดยอดนี้เป็นแนวคิดของนายพลนาซีคนหนึ่งนามว่า “เบอร์นฮาร์ด ครูเกอร์” (Bernhard Krüger) ที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาด้วยการพิมพ์แบงก์ปอนด์และดอลลาร์ปลอมออกมาจำนวนมากโดยมีวัตถุประสงค์ให้ระบบการเงินของทั้งสองประเทศนี้ระส่ำระสาย

ผมเองก็เพิ่งทราบเหมือนกันครับว่ากลยุทธ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมีเรื่องการปลอมแปลงธนบัตรฝ่ายตรงข้ามกันด้วย โครงการลับของเบอร์นฮาร์ดนั้นถูกเก็บเงียบอยู่ที่ค่ายกักกันชาวยิวที่ซัคเซนฮาวเซน (Sachsenhausen Concentration Camp)

ว่ากันว่ากลยุทธ์ปลอมแบงก์ของนาซีครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งครับ เพราะเหล่ายอดฝีมือปลอมแบงก์ชาวยิวสามารถปลอมแบงก์ปอนด์ได้ถึงเก้าล้านใบ ซึ่งคิดเป็นเงินปอนด์ได้เกือบหนึ่งร้อยสามสิบห้าล้านปอนด์เลยทีเดียวครับ

แหม่! ชาวยิวเนี่ยมีพรสวรรค์หลายด้านเลยนะครับ แม้แต่การปลอมแบงก์ พระเจ้าก็ยังมอบพรสวรรค์พรรค์นี้ให้กับชาวยิวอีกแน่ะ!

สำหรับบทนำของภาพยนตร์เรื่องนี้ตกอยู่กับ “ซาโลมอน ซาโลวิทซ์” (Salomon Sorowitsch) สุดยอดนักปลอมแปลงเอกสารทางการทุกชนิด ไล่ตั้งแต่พาสปอร์ต วีซ่า บัตรประชาชนไปจนกระทั่งแบงก์ดอลลาร์

ซาโลวิทซ์ , นำแสดงโดย คาร์ล มาร์โควิทซ์ (Karl Markovics) นักแสดงชาวออสเตรียน, เป็นชาวยิวที่มีพรสวรรค์ในการวาดรูปโดยเฉพาะการลอกเลียน ด้วยเหตุนี้เองซาโลวิทซ์จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหัวเรือใหญ่ปลอมแบงก์ในโครงการลับครั้งนี้

ทั้งหมดนี้ซาโลวิทซ์และผองเพื่อนทำไปเพื่อความอยู่รอดในค่ายกักกันแถมด้วยอาหารและที่นอนดีๆซึ่งเป็นสิทธิพิเศษสำหรับเหล่านักปลอมแบงก์ชาวยิว อย่างไรก็ตามใช่ว่าทุกคนอยากจะทำบาปกันนะครับ โดยเฉพาะ "เบอร์เกอร์"แล้ว เขาต่อต้านนาซีทุกวิถีทางโดยไม่ยอมร่วมมือในโครงการลับนี้แต่โชคยังดีที่แกไม่โดนนาซีฆ่าเสียก่อน เพราะตำแหน่งช่างพิมพ์แบงก์นั้นค่อนข้างหายาก

แม้ว่าซาโลวิทซ์จะได้รับการยอมรับจากพลพรรคนาซีในฝีไม้ลายมือการปลอมแบงก์ที่ยากจะหาที่ติ พูดง่ายๆว่าแบงก์ปอนด์ของซาโลวิทซ์กับแบงก์ปอนด์ของธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษนั้นแทบจะไม่มีความแตกต่างกันแม้แต่น้อย แต่ด้วยความที่เขาเป็น “ยิว” ซาโลวิทซ์จึงถูกเหยียดหยามหลายอย่าง

ภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองครับ ซึ่งถ้าหากเรามาจัดกลุ่มภาพยนตร์คลาสสิคที่ว่าด้วยสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว Die Fälscher (2007) น่าจะเป็นอีกเรื่องที่ได้รับการบันทึกเข้าไปด้วยนะครับ

จะว่าไปแล้วความโหดร้ายในค่ายกักกันชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นถูกนำมาตีแผ่เรื่องราวบนแผ่นฟิล์มเริ่มจากภาพพยนตร์เรื่อง Schindler's List (1993) ของ “สตีเฟน สปิลเบิร์ก” (Steven Spielberg) ซึ่งสปิลเบิร์กได้ทำให้เราเห็นความเลวร้ายของเหล่านาซีที่กระทำต่อบรรพบุรุษชาวยิวของสปิลเบิร์ก

อย่างไรก็ตามความโหดร้ายในค่ายกักกันก็ไม่ได้ถูกสื่อออกมาในแง่ของความหดหู่ไปซะทีเดียวนะครับ เพราะหนังของ “โรแบร์โต้ เบนจีนี่” (Roberto Benigni) ผู้กำกับอารมณ์ดีชาวอิตาเลียนก็ได้ทำให้ La vita è bella (1997) หรือ Life is beautiful กลายเป็นหนังต่อต้านสงครามที่คลาสสิคและรื่นรมย์ที่สุดเรื่องหนึ่ง

นอกจากนี้ Jakob the Liar (1999) ของ “ปีเตอร์ คาสโซวิทซ์” (Peter Kassovitz) ก็เป็นอีกเรื่องที่กล่าวถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในเมืองเก็ตโต้ (Ghetto) โปแลนด์ โดยประเด็นหลักของเรื่องอยู่ที่การโกหกของ "ยิวจาคอบ"ที่ทำให้เพื่อนร่วมชะตากรรมในค่ายกักกันมีกำลังใจที่จะรอวันที่สงครามสงบ

น่าสนใจนะครับว่าประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือ The Holocaust นั้นได้กลายเป็นพล็อตเรื่องที่เหล่านักทำหนังนิยมนำมาสร้างกัน อาจเป็นเพราะภาพยนตร์นั้นสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความโหดร้ายรุนแรงได้เห็นภาพพจน์มากกว่าตัวหนังสือ ซึ่งทำให้ผู้ชมตระหนักถึงภัยร้ายแรงของสงครามโดยเฉพาะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างบ้าคลั่ง

หลายอาทิตย์ก่อนผมมีโอกาสได้ดู Hotel Rwanda (2004) ของ “เทอร์รี่ จอร์จ” (Terry George) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวสงครามกลางเมืองระหว่างชนเผ่าทุซซี่ (Tussi) และ ฮูตู (Hutu) ในประเทศรวันดา ซึ่งท้ายที่สุดชาวรวันดาเชื้อสายทุซซี่ที่บริสุทธิ์กว่าแปดแสนคนต้องสังเวยชีวิตไปด้วยสงครามบ้าๆที่แตกแยกกันเพียงเพราะ “เขาไม่เหมือนกับเรา”

ท้ายที่สุดผมไม่รู้ว่า “ความเกลียดชัง” ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั้นมันเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ที่แน่ๆบ่อแห่งความชังมักมาจาก “อคติ” ของมนุษย์ด้วยกันเอง ใช่หรือเปล่าครับ

Hesse004

Aug 11, 2008

"โจโฉ" นักเลงโบราณแห่งวุยก๊ก





หลังจากไปชมภาพยนตร์สามก๊ก ตอนศึกผาแดง (Red Cliff) ของจอหน์ วู (John Woo) อาการสามก๊ก มาเนีย (Three Kingdoms Mania) ของผม ก็กลับมากำเริบอีกครั้งหนึ่งครับ หลังจากที่เมื่อต้นปีเคยเป็นมาแล้วรอบหนึ่ง

มาคราวนี้ ผมกลับสนใจเรื่องของ “จอมวายร้าย” ที่อุตสาห์ล่องเรือพาทหารนับแสนบุกดินแดน “กังตั๋ง”

ใช่แล้วครับ…บุคคลที่ผมกำลังจะเขียนถึง คือ “โจ-เม้งเต้-โฉ” หรือ โจโฉ นั่นเองครับ

“โจโฉ” นับเป็นตัวละครในสามก๊กที่น่าจะมีคนพูดถึงไม่น้อยไปกว่าสามพี่น้องแห่งสวนดอกท้อและกุนซือเทวดาอย่าง “ขงเบ้ง” นอกจากนี้หนังสือสามก๊กฉบับเก็บเกร็ดตัวละครอย่าง “สามก๊ก ฉบับวณิพก” ของท่านยาขอบ, สามก๊ก ฉบับนายทุน ของท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ และสามก๊ก ฉบับคนเดินดิน ของคุณ เล่า ชวน หัว ได้วิเคราะห์ “โจโฉ” ในทุกรายละเอียดทุกซอกมุมที่หลากหลายแตกต่างกันไป

“ยาขอบ” ให้ฉายากับ “โจโฉ” ว่า “ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ” ขณะที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ดูจะนิยมโจโฉถึงกับให้เป็น “นายกตลอดกาล” ส่วนคุณเล่า ชวน หัว ก็ถึงขนาด “ผ่าสมองโจโฉ” ออกมาดูกันเลย

จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของ “โจโฉ” ซึ่งเป็นเรื่องราวของบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีนนั้น (ค.ศ.155- 220) ถูกตีความได้ในหลายแง่มุมนะครับ บ้างก็ว่าโจโฉ เป็นผู้นำที่ชั่วช้าสารเลวไม่ต่างอะไรกับ “ตั๋งโต๊ะ” บ้างก็ว่าโจโฉ คือ นักบริหารที่เก่งกาจในการวางแผนและเลือกใช้คน

ท่านยาขอบหรือ คุณ “โชติ แพร่พันธุ์” ได้บรรยายลักษณะของโจโฉไว้อย่างนี้ครับว่า

“เม้งเต้สูงไม่ถึงห้าศอก….นัยน์ตาของเขาเล็ก แต่มันกลิ้งกลอกแสดงความระวังระไวอยู่เสมอไม่ใคร่ยอมไว้วางใจต่อเหตุการณ์อันใด แม้เมื่อเขาสงสัยว่ามีความไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเขาเองปนอยู่เพียงเปอร์เซนต์เดียวก็ตาม”

ยาขอบยังได้เล่าถึงการทำงานใหญ่ครั้งแรกของโจโฉโดยเป็นโต้โผรวบรวมกองทัพธรรมสิบแปดหัวเมืองเพื่อปราบตั๋งโต๊ ทั้งที่ตอนนั้นโจโฉเพิ่งมีอายุแค่สามสิบห้า

โจ-เม้งเต้-โฉ ถึงหากจะเป็นนายพลผู้น้อยและอายุน้อย แต่ก็ได้อาศัยความที่ผู้มีอายุเห็นว่า เป็นเด็กปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมของมันนั่นแหละ ทะลึ่งบ้าง เสือกบ้าง ดันทุรังบ้าง ไกล่เกลี่ยเรื่องราวเริ่มต้นจะร้าวฉานของพวกผู้ใหญ่ได้ดีนัก มันเสนอความคิดเห็นของมันตะบมตะบันไปสิ”

ลักษณะของ “โจโฉ” ที่ยาขอบบรรยายมานี้สะท้อนให้ความเป็นคนคล่องแคล่วว่องไว ฉลาดหลักแหลม ช่างเจรจา สามารถทำงานประสานกับผู้คนทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ด้วยเหตุนี้บทบาทของโจโฉในช่วงต้นเรื่องสามก๊กจึงมีลักษณะเป็นคนหนุ่มไฟแรงที่ออกจะดันทุรังในบางครั้ง

“ความเคี่ยว” ของโจโฉค่อยๆปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากได้คำแนะนำของกุนซือเฒ่าอย่าง “ซุนฮก” ที่ให้ชูธงกองทัพธรรมพิทักษ์ปกป้องราชบัลลังก์พระเจ้าเหี้ยนเต้ ทำให้โจโฉมีสิทธิอันชอบธรรมในการปราบหัวเมืองกบฏที่คิดกระด้างกระเดื่องต่อราชสำนัก

อย่างไรก็ตามการยึดถือปรัชญาการเป็นผู้นำตลอดชีวิตของเขาที่ว่า “ข้าพเจ้าสมัครทรยศโลกมากกว่ายอมให้โลกทรยศข้าพเจ้า” (สำนวนท่านยาขอบ) ก็ยิ่งทำให้ภาพของโจโฉในช่วงที่เรืองอำนาจนั้นยิ่งน่ากลัวและมีความอำมหิตไม่แพ้ “ตั๋งโต๊” แต่สิ่งที่โจโฉแตกต่างจากตั๋งโต๊ะ คือ การรู้จักเลี้ยงคนและให้โอกาสผู้มีฝีมือได้พิสูจน์ตัวเองเหมือนที่เขาเคยให้โอกาส “กวนอู” ในวันที่กวนอูเป็นแค่พลธนูหน้าไม้พิทักษ์เล่าปี่แสดงฝีมือไปตัดหัว “ฮัวหยง”

น่าสนใจว่าทำไมคนมีปรัชญาเช่นนี้จึงสามารถผูกใจคนเก่งๆได้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าการที่โจโฉมี “ใจนักเลง” เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาสามารถครองใจคนได้ ซึ่งดูจะแตกต่างจาก "เล่าปี่" ที่ครองใจคนด้วยการเป็น “ผู้พนมมือทั้งสิบทิศ” ที่นอบน้อมถ่อมตน

ใจนักเลงของโจโฉแสดงออกมาในรูปของความกล้าได้กล้าเสียมาตั้งแต่วัยเยาว์ มีมิตรสหายมากมาย นับถือคนดีมีฝีมือ คอยส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้แสดงฝีมืออยู่เสมอ คุณลักษณะเหล่านี้ของโจโฉจึงสามารถครองใจขุนพล กุนซือ แม้กระทั่งทหารเลวได้

อย่างไรก็ตามโจโฉเป็นคนที่สร้างบาปไว้มากมายนะครับ โดยเฉพาะการฆ่าคนบริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ไล่ตั้งแต่ คุณลุงแปะเฉียและครอบครัว ที่หวังดีจะเชือดหมูให้กินแต่ด้วยความระแวงสงสัยของโจโฉทำให้เขาต้องฆ่าคน “ยกครัว” เช่นเดียวกับการฆ่า “อองเฮา” นายกองเสบียงของตนเองเพื่อขอยืมหัวอองเฮามาเป็น “แพะ” ตอนที่เสบียงใกล้หมด หรือกรณีที่ “โจโฉ” ฆ่า“เล่าฮก” ศิลปินเอกแห่งยุคในระหว่างงานเลี้ยงก่อนออกศึกเซ็กเพ็ก เพียงเพราะเล่าฮกไปวิจารณ์กลอนลำนำของท่านผู้นำว่าไม่ถูกอักขระ ทำนองเดียงกับที่ฆ่า “เอี้ยวสิ้ว” ที่ดันมารู้ทันว่าโจโฉจะถอยทัพจากการแทะโครงไก่

ทั้งหลายทั้งปวงนี้แสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ครบรสของโจโฉที่ดูจะใช้ชีวิตโลดโผนโจนทะยานและสะสมบุญพอๆกับการสร้างบาป

โดยส่วนตัวผมแล้ว, หลังจากที่อ่านเรื่องราวของโจโฉในหนังสือสามก๊กหลายเล่มรวมไปถึงดูหนังสามก๊กหลายรอบ ผมคิดว่าโจโฉเป็นมนุษย์ประเภท Practical Man หรือ พวกนักปฏิบัตินิยม ครับ ซึ่งพวกนักปฏิบัตินิยมมักมีเป้าหมายที่ชัดเจนและพยายามหาทางไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้โจโฉจึงมักเลือกใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

นอกจากนี้คนจำพวกนี้จะไม่มานั่งหมดอาลัยตายอยากร้องห่มร้องไห้ เหมือนครั้งหนึ่ง ที่เหล่าขุนนางต่างร้องไห้เมื่อเห็นตั๋งโต๊ะกระทำการหยาบช้าต่อองค์ฮ่องเต้ แต่มี “โจโฉ” เพียงคนเดียวเท่านั้นที่หัวเราะแถมยังประชดต่อด้วยว่าต่อให้ร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด แล้วไอ้ตั๋งโต๊ะมันจะตายมั๊ย

ตัวอย่างหลายๆตัวอย่างแสดงให้เห็นความเป็น “นักปฏิบัติ” หรือ “นักทำ” ของโจโฉ มากกว่าเป็น “นักพูด” อย่างไรก็ตามโจโฉยังมีความผิดพลาดอยู่หลายต่อหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้สงครามใหญ่อย่างศึกเซ็กเพ็กนั้นต้องพ่ายไปอย่างหมดรูป

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เคยวิเคราะห์โจโฉไว้ว่า แม้ว่าโจโฉจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “มหาอุปราช” หรือ “ไจเสี่ยง” แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกซึ่งเป็นตำแหน่งสูงที่สุดแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยคิดจะสถาปนาตัวเองเป็น “ฮ่องเต้” ซึ่งผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจนะครับ เพราะ “นักเลงจริง” ส่วนใหญ่จะรู้ว่าอะไร “ควร” หรืออะไร “ไม่ควร” ใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

Jul 23, 2008

Notting Hill รักของเธอมีจริงหรือเปล่า?




กล่าวกันว่าการสร้าง “หนังรัก” ให้เป็นที่ประทับใจผู้ชมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ เพราะหากผู้กำกับใส่ความโรแมนติคมากจนเกินไป หนังรักเรื่องนั้นก็จะดูจะมีรสหวานปนเลี่ยน แต่ถ้ามัวแต่เติมความรันทดมากจนเกินเหตุ หนังรักก็อาจจะมีรสเหมือนกาแฟดำผสมยาขมน้ำเต้าทอง

กระบวนผู้กำกับและมือเขียนบทที่เขียนหนังรักได้ “กลมกล่อม” ที่สุดในยุคนี้ น่าจะหนีไม่พ้น “ริชาร์ด เคอร์ติส” (Richard Curtis) นะครับ

ริชาร์ด เคอร์ติส คือ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังรักโรแมนติค คอมมิดี้ (Romantic Comedy) หลายต่อหลายเรื่องซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นหนังรักพันธุ์อิงลิชครับ

เคอร์ติส สร้างชื่อให้กับตัวเองในการเป็นมือเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Four Weddings and Funeral (1994) หนังรักที่ส่งให้ ฮิวจ์ แกรนท์ (Hugh Grant) กลายเป็นพระเอกจอมเปิ่น ผู้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากพระเอกในหนังรักทั่วไป

เคอร์ติส เป็นเพื่อนซี้กับ “โรแวน แอตกินสัน” (Rowan Atkinson) หรือ Mr. Bean นั่นเองครับ ด้วยเหตุนี้เคอร์ติสจึงมีส่วนในการสร้างสรรค์ซีรีส์ตลกสุดคลาสสิคอย่าง Mr. Bean (1990-1995) ด้วย

นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่อง Bridget Jones’s Diary ก็เป็นผลงานของเคอร์ติสในการพัฒนาบทภาพยนตร์จากนิยายขายดี ของ “เฮเลน ฟิลด์ดิ้ง” (Helen Fielding) อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า เคอร์ติสจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์รักโรแมนติค คอมมิดี้เพียงเรื่องเดียว นั่นคือ Love actually (2003) ครับ

สำหรับหนังรักโรแมนติค คอมมิดี้ อีกเรื่องที่ ริชาร์ด เคอร์ติส สร้างสรรค์บทภาพยนตร์ จนเป็นเรื่องที่มีผู้ชมจดจำกันได้มากที่สุด คือ Notting Hill (1999) ครับ

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันมาแล้ว Notting Hill (1999) เป็นผลงานการกำกับของ “โรเจอร์ มิเชล” (Roger Michell) มีเคอร์ติส เป็นผู้เขียนบท ซึ่ง Tag Line หรือคำโปรยของหนังเรื่องนี้ใช้ว่า “Can the most famous film star in the world fall for just an ordinary guy?” ถ้าแปลแบบไทยๆก็คงทำนองว่า “เจ้าดอกฟ้าจะโน้มตัวลงมาหลงรักไอ้หมาวัดได้หรือเปล่า?”

จริงๆแล้วคำว่า “Ordinary Guy” มันก็คงไม่ถึงกับต่ำต้อยมากนัก เพียงแต่ว่าสำนวนไทยๆมันก็ทำให้เราเห็นภาพพจน์ดีเหมือนกันนะครับ

ผมมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้อย่างตั้งใจจริงๆ 2 รอบ ครับ รอบแรกนั้นผ่านมานานมากแล้ว ส่วนรอบที่สองเพิ่งจะดูไม่กี่วันมานี้

ผมไม่แน่ใจว่าด้วยอายุที่มากขึ้นหรือเปล่าจึงทำให้รู้สึกว่า Notting Hill ของเคอร์ติสนั้นพยายามจะบอกอะไรกับคนดูโดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รัก”

หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นชีวิตของ “วิลเลี่ยม แทกเกอร์” (William Thacker) หนุ่มอังกฤษธรรมดาๆซึ่งมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตคู่จนทำให้ต้องหย่าร้าง

“แทกเกอร์” ซึ่งนำแสดงโดย “ฮิวจ์ แกรนท์” นั้นเล่นบทนี้ชนิดได้ใจเลยครับ เพราะเขาแสดงให้เราเห็นถีงความเจ็บปวดที่แสดงออกมาทางแววตาได้ดีพอๆกับอารมณ์ขันแบบฝืดๆที่มีอยู่เหลือเฟือ แต่โดยรวมแล้ว นายแทกเกอร์คนนี้เป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอนะครับ ซึ่งผมว่าคุณสมบัติข้อนี้แหละครับที่ทำให้ “แอนนา สก๊อต” (Anna Scott) ดอกฟ้าจากฮอลลีวู้ด มองเห็น

บางทีดารานักแสดง เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเราๆท่านๆแหละครับ เพียงแต่ว่าอาชีพของเขาคือ “การแสดง” ด้วยเหตุนี้ “ชีวิตดารา” (แหม่! ชื่อเหมือนหนังสือก๊อซซิปรายสัปดาห์เลย) จึงเป็นชีวิตที่ออกจะแตกต่างจากชีวิตคนธรรมดาสามัญ

ชีวิตส่วนตัวที่หดหายไปและการเป็นบุคคลสาธารณะนั้น คือ ราคาที่ผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายต้องจ่ายเพื่อแลกมาซึ่ง “เงินตราและชื่อเสียง” ครับ อย่างไรก็ตามผมก็ยังเชื่อว่าพวกเขาก็มีอารมณ์ความรู้สึก เจ็บเป็น เสียใจเป็น ร้องไห้เป็น อายเป็น เหมือนคนทั่วไป
ริชาร์ด เคอร์ติส ได้ทำให้หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยคำคม (Quote) หลายๆประโยค เช่น “For June who loved this garden from Joseph who always sat beside her.” Some people do spend their whole lives together. ประโยคนี้ “แอนนา สก๊อต” ได้อ่านข้อความที่จารึกบนเก้าอี้ยาวในสวนสาธารณะซึ่งแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เธอต้องการที่สุดจากความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รัก” นั้น คือ แค่หาใครสักคนที่เข้าใจและจริงใจกับเธอและพร้อมจะอยู่ร่วมกับเธอตลอดไป

ถ้าดูกันเผินๆมันเป็นเรื่องธรรมดาๆมากนะครับ เพราะใครๆก็อยากมีชีวิตคู่ยืนยาวกันทั้งนั้น แต่เอาเข้าจริงอาจมีเพียงไม่กี่คู่เท่านั้นที่ได้อยู่ร่วมหอลงโลงด้วยกันจนแก่จนเฒ่า

และที่น่าแปลกไปกว่านั้น คือ ผู้คนส่วนใหญ่ยิ่งใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนานเท่าไร ดูเหมือนความรักมันจะค่อยๆถดถอยลงตาม “กฎที่ว่าด้วยการลดน้อยถอยลงของความพึงพอใจหน่วยสุดท้ายในการบริโภคสินค้า” หรือ Diminishing marginal utility law

ที่กล่าวมานี้คงไม่ใช่ทุกคู่หรอกครับที่จะเป็นไปตามกฎดังกล่าว เพราะบางคู่ยิ่งใช้ชีวิตร่วมกันนานขึ้นเท่าไร ความรักและความผูกพันมันยิ่งแปรผันตาม ซึ่งรักแบบเนี้ยแหละครับ ที่เขาเรียกกันว่า “รักแท้” หรือ “รักกันจริง”

ตัวอย่าง “คู่รัก” ที่ผมประทับใจมากที่สุด คือ คู่ของคุณรพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) กับ คุณชูศรี พุ่มชูศรี ทั้งสองท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ

ความรักของท่านทั้งสองได้แสดงให้คนรุ่นพวกเราได้เห็นว่า “ความรักที่แท้” นั้นมันเป็นเช่นไร เมื่อปีที่แล้วคุณสุวัฒน์นั้นเสียชีวิต ขณะที่คุณชูศรีกำลังนอนป่วยอยู่ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันคุณชูศรีก็เสียตาม การครองเรือนด้วยกันมากกว่าครึ่งศตวรรษนั้นทำให้ทั้งคู่ฝ่าฟัน
ทุกอย่างมาด้วยกันซึ่งผมขออนุญาตใช้คำว่า “ทั้งสองท่านมีหัวใจดวงเดียว” กันไปแล้ว

ปัจจุบันคนหนุ่มสาวรุ่นพวกเราส่วนใหญ่มักจะ “รักง่ายหน่ายเร็ว” เข้าทำนองอยู่กันจน “หม้อข้าวไม่ทันดำ” และเหตุผลสำคัญที่ถูกนำมาใช้กล่าวอ้างบ่อยที่สุดในวันที่ทั้งสองตัดสินใจหย่าร้างกันก็คือ “เราเข้ากันไม่ได้” หรือ “เราไปด้วยกันไม่ได้” หรือ “เค้าก็มีโลกส่วนตัวของเค้า ส่วนฉันก็มีโลกส่วนตัวของฉัน”

ทั้งหมดที่กล่าวมาผมขออนุญาตไม่วิจารณ์นะครับ, เพราะยังไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตคู่ นอกจากนี้หลายคนเชื่อว่า การตัดสินใจแต่งงานเหมือนกับการแทงหวยครับ หากเจอคู่ที่ดีจริงๆก็ “ถูกหวย” แล้วแต่ว่าจะถูกรางวัลอะไร แต่หากเจอคู่ที่ไม่ดีก็ “ถูกกิน” แถมยังต้องมานั่งเจ็บปวดอีก

ด้วยเหตุนี้แหละครับที่ “วิลเลียม แทกเกอร์” ซึ่งเคยถูกหวยกินมารอบหนึ่งแล้วจากชีวิตคู่ที่ต้องหย่าร้าง จึงยังไม่มั่นใจนักว่ารักของ “แอนนา สก๊อต” นั้นจะมีให้กับเขาจริงหรือเปล่า เพราะสถานะของทั้งสองนั้นต่างกันราวฟ้ากับดิน

ขณะที่ “แอนนา สก๊อต” ก็กำลังมองหาใครสักคนที่มีความจริงใจและพร้อมจะอยู่เคียงข้างเธอตลอดไปเหมือนข้อความที่สลักอยู่บนเก้าอี้ในสวนสาธารณะ

ท้ายที่สุดผมเชื่อว่า ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงเอยใช้ชีวิตคู่กับใครนั้น เราคงต้องถามตัวเองให้แน่ใจเสียก่อนนะครับว่า “รักของเราที่มีให้เขานั้นมันมีจริงหรือเปล่า” ในทำนองเดียวกันเราก็คงต้องถามเขากลับด้วยว่า “แล้ว..รักของเธอล่ะ …มีจริงใช่มั๊ย”

Hesse004

Jul 21, 2008

“Rocky Balboa” บางครั้งชัยชนะก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ





ชื่อของ “ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน” (Sylvester Stallone) ผู้คนส่วนใหญ่มักจดจำดาราใหญ่คนนี้ในบทของ “แรมโบ้” ทหารหนุ่มนักบู๊ อย่างไรก็ตามผู้ชมยังจดจำภาพของเขาในบทบาทของ “ร๊อคกี้ บัลโบ” (Rocky Balboa) นักมวยโนเนมที่โด่งดังขึ้นมาเพียงชั่วข้ามคืน

โดยส่วนตัวแล้ว , ผมได้ดูหนังเรื่อง Rocky (1976) เพียงภาคเดียวครับ หนังเรื่องนี้ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ในปี ค.ศ.1976 รวมทั้ง “จอห์น จี อวิลด์เซ่น” (John G. Avildsen) ก็คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครองอีกด้วย

หนังเรื่องนี้ทำให้ชื่อของ “ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน” แจ้งเกิดในวงการฮอลลีวู้ดอย่างแท้จริงครับ ขณะที่ศักยภาพของสตอลโลนเองก็ไม่ได้เป็นแค่นักแสดงเจ้าบทบาทเท่านั้น หากแต่เขาคือมือเขียนบทเรื่อง “ร๊อคกี้” ภาคหนึ่งด้วยตัวเอง

จะว่าไปแล้วหนังเรื่องนี้มีพลังหลายอย่างอยู่ในตัวเองนะครับ พลังอย่างแรก คือ การปลุกกำลังใจให้เราลุกขึ้นมา “พิสูจน์ตัวเอง” เหมือนที่ร๊อคกี้นักมวยไร้อันดับได้รับโอกาสขึ้นท้าชิงกับ อพอลโล ครีท (Apollo Creed) แชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวี่เวท ผู้มีนิสัยขี้โอ่

ภาพยนตร์ “มวย” ในยุคต่อๆมามักมีแพทเทิร์นการนำเสนอคล้ายๆกับ “Rocky” ไม่ว่าจะเป็น Cinderella Man (2005) ของ รอน โฮเวิร์ด (Ron Howard) หรือแม้กระทั่ง Million Dollar Baby (2004) ของคุณปู่คลิ้นท์ อีสต์วู้ด (Clint Eastwood)

จริงๆแล้วมนุษย์เรานั้นมี “ศักยภาพ” อยู่ในตัวเองทุกคนนะครับ เพียงแต่ว่าศักยภาพดังกล่าวนั้นมันจะถูกดึงออกมาใช้ได้ถูกที่ถูกเวลาหรือเปล่า ผมเชื่อว่าทุกๆคนมี “สังเวียน” ของการพิสูจน์ตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน กีฬา หรือแม้แต่ชีวิตครอบครัว

หนังเรื่องนี้ยังสื่อให้เห็น “โอกาส” ของชีวิตคนเราที่มันไม่ใช่ว่าจะได้มากันอย่างง่ายๆนัก เช่นเดียวกับโอกาสของร๊อคกี้ที่เป็น “มวยแทน” รอให้แชมป์คอยถลุงเล่น

ครั้งหนึ่ง “ไอ้ป๋า” เพื่อนผมมันเคยพูดไว้ว่า “โอกาสมักมาเยือนกับผู้เตรียมพร้อมเสมอ”

จริงอย่างที่ไอ้ป๋ามันพูดนะครับ เพราะหลายต่อหลายครั้งเรามักปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปอย่างหน้าเสียดายเพราะความไม่พร้อมและลังเลใจของเราเอง

“ร๊อคกี้”ถูกสร้างขึ้นในช่วงปีที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีอายุครบสองร้อยปีพอดีครับ ด้วยเหตุนี้เรื่องของ “การให้โอกาส” จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาถ่ายทอดในเรื่องนี้ ด้วยเหตุที่ชาวอเมริกันเชื่อว่าแผ่นดินของพวกเขานั้นเป็นดินแดนที่ให้โอกาสกับทุกคน (ที่ได้รับอนุมัติวีซ่าจากสถานทูตอเมริกา…ฮา!)

ผมประทับใจกับบทภาพยนตร์ที่สตอลโลนเขียนเพราะเนื้อหาของเรื่องเต็มไปด้วยเรื่องราวของ “ชีวิต” ผู้คนอย่างแท้จริง ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้จากคนใกล้ตัวแม้กระทั่งตัวเราเอง ดังนั้น บุคลิกของตัวละครจึงมีความเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่มีใครดีสุดขั้วหรือชั่วสุดขีด และความเป็น “มนุษย์” เนี่ยแหละครับที่ทำให้โลกเราดูจะมีรสชาติที่แตกต่างกันไป

สำหรับประเด็นสำคัญอีกอย่างที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ คือ บางครั้งผลการแข่งขันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก ซึ่งในหนังเรื่องนี้สตอลโลนพยายามชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายของร๊อคกี้ที่ขึ้นต่อยกับครีทนั้นเพียงแค่ประคองตัวให้ครบสิบห้ายกไม่ให้โดนน๊อคไปเสียก่อน

ด้วยเหตุนี้เอง หากเราเชื่อว่าเราได้พยายามถึงที่สุดแล้ว (Try to do the best) น่าจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าผลการแข่งขันเสียอีก

ผมเชื่อว่าเราแต่ละคนล้วนรู้จักถึงพลังของตัวเราเองเป็นอย่างดี น่าแปลกนะครับที่ความสามารถของคนเราจะได้รับการพัฒนาได้หากเราตั้งใจและฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ เพราะในโลกนี้ไม่มีใครหรอกครับที่เกิดมาแล้วจะวิ่งได้เลย, เกิดมาแล้วจะเตะบอลเป็น, เกิดมาแล้วจะว่ายน้ำได้เก่ง เกิดมาแล้วจะคิดเลขได้เร็ว, เกิดมาแล้วจะเขียนหนังสือเป็น ทุกอย่างมันอยู่ที่การฝึกฝนด้วยกันทั้งนั้น (Practice)เหมือนที่วาทยากรดนตรีคลาสสิคท่านหนึ่งเคยบอกในโฆษณาเหล้าบักจอหน์นี่ว่า “ถ้าเราอยากจะไปคาร์เนกี้ ฮอลล์ เราก็ต้อง ซ้อม ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม”

การฝึกฝนบ่อยๆ จะก่อให้เกิดความชำนาญ ความชำนาญจะสร้างทักษะ ทักษะ คือที่มาของประสบการณ์และประสบการณ์เนี่ยแหละครับจะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้

ภาพยนตร์เรื่อง “ร๊อคกี้” นับเป็นตัวอย่างภาพยนตร์ที่ให้กำลังใจคนที่กำลังหมดหวังทดท้อกับชีวิตหรือกำลังดูถูกตัวเอง เพราะหากเรามีฐานคติเช่นนั้นแล้วโลกทั้งใบของเราก็ดูจะหม่นๆไปตลอดชีวิตนะครับ ลองหันกลับมาให้กำลังใจตัวเองก่อน ด้วยความหวังที่เชื่อว่าทุกอย่างมันจะต้องดีขึ้นในวันข้างหน้า...หากเรามีความพยายามครับ

Hesse004

Jul 12, 2008

นิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ ปตท.




วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมเดินทางกลับจากนครสวรรค์โดยอาศัยรถตู้สาธารณะ สายนครสววรค์ - อนุสาวรีย์ชัยฯ และเมื่อถึงอยุธยารถตู้แวะเติมก๊าซเอ็นจีวี (NGV) ที่ปั๊ม ปตท. สารภาพตามตรงเลยครับว่าเป็นครั้งแรกที่ผมติดอยู่ในขบวนคิวรถนับสิบคันที่รอเติมก๊าซเอ็นจีวี โดยก่อนหน้านี้ผมเคยสงสัยเหมือนกันว่าเหตุใดจึงมีขบวนรถยาวเหยียดรอเติมเจ้า Natural Gas Vehicle นี้

นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2551, ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยเจอปัญหาหลายเรื่องนะครับไล่ตั้งแต่ราคาอาหารเฟ้อ (Agflation) มาจนกระทั่งวิกฤตการณ์พลังงานซึ่งผมไม่แน่ใจว่านักเศรษฐศาสตร์จะเรียกวิกฤตดังกล่าวว่า Oil Shock ครั้งที่ 3 หรือเปล่า

แต่ที่แน่ๆ วิกฤตหนนี้ทำให้ประชาชนทั่วโลกเดือดร้อนไปตามๆกัน ครับ ในเว็บไซด์ของสำนักข่าวบีบีซีได้ทำสกู๊ปติดตามเรื่องวิกฤตพลังงานซึ่งเหล่านักวิเคราะห์พยายามหาสาเหตุของราคาน้ำมันดิบ (Crude oil) ที่พุ่งเพิ่มไม่มีวันหยุด

สาเหตุแรกถูกพุ่งไปยังความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการบริโภคน้ำมันของจีนและอินเดียครับ เนื่องด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอยู่ในระดับสูงทำให้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต่างต้องการใช้พลังงานน้ำมันเพิ่มขึ้น

สาเหตุที่สองนักวิเคราะห์ได้โยนบาปอันนี้ไปยังเหล่ากองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge Fund) ด้วยเหตุผลที่ว่า “เฮ้ย! พวกเอ็งไม่มีอะไรจะให้เล่นกันแล้วเหรอวะ เลยต้องหันมาเก็งกำไรในน้ำมันดิบกัน”

สำหรับสาเหตุสุดท้ายคงหนีไม่พ้น “โอเปค” เจ้าเดิมล่ะครับที่ถูกมองว่ายังรอดูท่าทีแถมกั๊กการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันออกมาทำให้ราคาน้ำมันยังคงสูงขึ้นสร้างระดับ New High อยู่เรื่อยๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผมเชื่อว่าหน่วยงานผู้รับผิดชอบดูแลนโยบายพลังงานของบ้านเราคงเข้าใจถึงสภาพการณ์ดังกล่าวดีและคงหาเหตุผลในการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ไม่ยากเกี่ยวกับปัญหาราคาพลังงานที่แพงขึ้นทุกวัน

อย่างไรก็ตามผมยังคงสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอย่าง “ปตท.” ว่าพวกเขาจะมีส่วนช่วยบำบัดทุกข์ยากให้กับพวกเราอย่างไรบ้าง นอกเหนือจากการเป็นหัวหอกในเรื่องรณรงค์ให้คนเข้าคิวยาวเหยียดมาเติมก๊าซเอ็นจีวีของพวกเขา

ด้วยความบังเอิญหลือเกินครับ ผมมีโอกาสได้อ่านเอกสารประกอบการสัมมนาเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549

เอกสารดังกล่าวเป็นไฟล์ PowerPoint เรื่อง “การแปรรูป ปตท. เปลี่ยนรูป หรือ ปฏิรูป” ครับ ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ของคุณ “ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน” นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

หลังจากได้อ่านเอกสารดังกล่าวจบ , ผมรู้สึก “ตาส่วาง” ขึ้นเยอะเลยครับ และต้องขอบคุณรวมทั้งให้เครดิตกับคุณชื่นชมในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องดังกล่าวด้วยครับ

ปตท. หรือ ชื่อเดิม “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” นั้นเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 โดย ปตท. มีที่มาจากการรวมกันของ “องค์การเชื้อเพลิง” และ “องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย”

วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยขึ้นมาก็เพื่อ “เป็นกลไกของรัฐในการแทรกแซงการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ก๊าซและน้ำมันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม” ด้วยเหตุนี้เอง ปตท. ของเราคนไทยสมัยนั้นจึงเป็น “รัฐวิสาหกิจ”และเป็น “บริษัทน้ำมันแห่งชาติ” ครับ

อย่างไรก็ตาม ปตท. ของเราได้ถูกจับให้เป็นรัฐวิสาหกิจนำร่องในการแปรรูป ทั้งด้วยเหตุผลเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน หรือ กระแสการ Privatization ที่ยังไงซะรัฐก็หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แม้กระทั่งเหตุผลที่ว่าเราต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ (IMF) ที่สัญญาไว้ว่าจะต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ดังนั้น มติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 จึงได้สรุปออกมาโดยมีสาระสำคัญว่า “รัฐจะไม่ใช้ ปตท.เป็นกลไกในการแทรกแซงราคาน้ำมันอีกต่อไปแล้ว”

หลังจากวันนั้น ปตท. ได้ถูกแปลงสภาพเป็น “บริษัทมหาชน” ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2544 ครับ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน กระทรวงการคลังของรัฐบาลไทยถือหุ้นใหญ่ใน ปตท. ร้อยละ 52 ขณะที่เอกชนถือหุ้นร้อยละ 48

หลังจากการแปรรูป ปตท., รัฐหันมาแทรกแซงราคาน้ำมันโดยใช้ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ผลทำให้หนี้ของกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวครับ ขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็เริ่มเดินหน้าขยายตลาดในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันโดยมุ่งหวัง “กำไรสูงสุด” ตามหลักการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของวิสาหกิจเอกชนทั่วไป

ด้วยเหตุนี้เอง กำไรสุทธิของ ปตท. จึงเพิ่มพูนปรากฏตามตัวเลข ดังนี้ ครับ
ปี พ.ศ.2545 กำไร 24,507 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2546 กำไร 37,580 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2547 กำไร 62,666 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2548 กำไร 85,221 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2549 กำไร 95,260 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2550 กำไร 97,803 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าอัตรากำไรของ ปตท.ที่เติบโตนั้นเป็นไปแบบ “ก้าวกระโดด” ซึ่งแน่นอนล่ะครับว่าส่งผลดีต่อนักลงทุนผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนแห่งนี้

มองในแง่นักลงทุน, การถือหุ้นบริษัทที่มีผลกำไรมหาศาลแบบนี้ย่อมน่าชื่นใจไม่น้อยนะครับ ไม่ว่าจะรอรับเงินปันผลหรือรอขายเอาส่วนต่างจากราคาหุ้น

อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ของคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักลงทุนกันบ้าง คำถามคือ เราได้อะไรจากผลกำไรของบริษัทมหาชนแห่งนี้บ้างครับ?

ผลกำไรที่เพิ่มพูนมหาศาลนี้ส่วนหนึ่งมาจากประสิทธิภาพการบริหารจัดการของ ปตท. ที่ดีขึ้นหลังจากแปรรูปแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากราคาพลังงานของโลกที่นับวันมีแต่ถีบตัวสูงขึ้นขณะที่ความต้องการบริโภคพลังงานก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากจะเกิดผลกำไรมหาศาลกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตามคำถามถึงผลกำไรดังกล่าวน่าจะผูกโยงไปถึงเรื่องที่ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)นั้น ได้สิทธิพิเศษจากรัฐในเรื่องที่ไม่ต้องมาแข่งขันกับโรงกลั่นน้ำมันรายอื่นๆด้วยหรือเปล่าทั้งที่ค่าการกลั่นปัจจุบันสูงกว่าระดับจุดคุ้มทุนอยู่มาก

ขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท. ยังสามารถครองสัดส่วนตลาดธุรกิจโรงกลั่นเกินกว่า 80% นั่นยิ่งสะท้อนภาพความเป็น “ขาใหญ่” ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันได้ดี

มิพักต้องเอ่ยถึงเรื่องกิจการท่อก๊าซที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คือ ผู้ผูกขาดดำเนินกิจการส่งก๊าซผ่านท่อแต่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้รับการโอนสิทธิต่างๆจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการจัดหา ขนส่งและจำหน่าย , สิทธิรับซื้อปิโตรเลียมที่ผลิตได้เป็นอันดับแรกจากผู้รับสัมปทานหรือ Right of First refusal รวมไปถึงสิทธิในการสำรวจ พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมเสมือนหนึ่งเป็นผู้รับสัมปทานโดยการอนุมัติของ ครม.

นอกจากนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนอนุรักษ์เพื่อส่งเสริม NGV แถมด้วยคลังก๊าซ LPG ยังได้รับเงินอุดหนุนค่าขนส่งอีกด้วย

ขณะเดียวกันในแง่ของการเป็นวิสาหกิจเอกชน, คณะกรรมการบริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องบริหารธุรกิจโดยมุ่งเน้นผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น เช่นเดียวกับบริษัทลูกที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 50-67 นั้น ถือเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับคณะกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด

รายละเอียดที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้, ผมเพิ่งจะมา “ตาสว่าง” ก็จากการศึกษาค้นคว้าของคุณ “ชื่นชม” ที่เรียกได้ว่าเปิดให้เห็นชุดข้อมูลบางอย่างที่เราอาจจะไม่มีโอกาสได้รับรู้กันเท่าใดนัก

งานของคุณ “ชื่นชม” น่าจะได้รับเผยแพร่ผ่านทางสื่อสาธารณะนะครับ อย่างน้อยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกๆฝ่ายทั้งภาครัฐและ ปตท. เองจะได้ออกมาชี้แจงความจริงที่เกิดขึ้นในห้วงยามที่คนทั้งประเทศกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตพลังงาน

อ้อ! เพื่อเป็นการให้ข้อมูลรอบด้าน ทุกวันนี้ ผลประโยชน์ของปตท. สผ. หรือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม นั้นถูกส่งกลับคืนรัฐร้อยละ 33 ครับ

สุดท้ายนี้ผมนึกถึงสโลแกนคลาสสิคของ ปตท. เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วว่า “นิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ ปตท.” เป็นสโลแกนที่ดีมากนะครับ อย่างน้อยมันทำให้เห็นว่า คนไทยเราไม่เคยทิ้งกัน

หรือว่าสโลแกนของ ปตท. ในวันนี้จะเหลือแต่เพียงว่า “ทุกหยดน้ำมันของเรา คือ หยาดน้ำตาของคนไทยทั้งชาติ” ล่ะครับ

Hesse004

ปล. 1 .ผมต้องขอขอบคุณเอกสารของคุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน มากครับ สุดยอดจริงๆ
2. สำหรับสโลแกนในย่อหน้าสุดท้ายนั้นผมไม่แน่ใจว่าไปเจอในบล๊อกโอเคเนชั่นหรือกระทู้ในพันทิพย์ ซึ่งผมว่าเป็นสโลแกนที่ “โดน” มากครับโดยเฉพาะในเวลานี้

Jun 22, 2008

Wanee&Junah โลกที่เธอไม่ให้ฉันเข้าไป





กระบวนหนังรักเกาหลีที่ผมเลือกหยิบมาดูบ่อยที่สุดน่าจะมีดังนี้ครับ Christmas in August (1998) ดูไปแล้วสี่รอบ รองลงมาเป็นMy Sassy Girl (2001), I wish I had a wife (2000) และ Il Mare (2000) สามเรื่องนี้ดูไปแล้วสามรอบและล่าสุดผมเพิ่งหยิบ Wanee&Junah (2002) มาดูรอบสองครับ

วานีและจูน่าห์ (Wanee&Junah) เป็นผลงานการกำกับของ “คิมยองกุน” (Kim Yong-gyun) ที่เล่าเรื่องความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่เลือกแยกออกมาใช้ชีวิตคู่ก่อนแต่งงาน

“คิมยองกุน” ทำให้หนังรักเรื่องนี้มีความละเมียดละไมมากโดยเฉพาะประเด็นความรักสามเส้าระหว่าง ลี วานี (นางเอก), คิม จูน่าห์ (พระเอก) และลี ยังมิน (พี่ชายบุญธรรมของวานี) แน่นอนครับว่าไอ้สามเศร้าที่ว่ามันเป็น “เส้า” ระหว่าง วานีที่ยังไม่ลืมรักแรกกับพี่ชายบุญธรรมของตัวเอง ส่วนจูน่าห์คือรักถัดมาของเธอ

นอกจากนี้หนังยังแอบพ่วงรักสามเส้าของเพื่อนสนิทวานีที่มาหลงรักพี่ชายบุญธรรมของวานีอีก พูดง่ายๆว่าผู้หญิงในเรืองนี้มาหลงรัก “ลียังมิน” กันหมด

ผมดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อหกปีที่แล้วครับ แล้วก็หาซื้อดีวีดีเรื่องนี้มาเก็บไว้เผื่อสบโอกาสเหมาะทางอารมณ์ค่อยหยิบขึ้นมาดูใหม่

ประเด็นที่คิมยองกุนยังแทรกใส่ลงไปในหนังรักของเขา คือ การนำเสนอความรักในรูปแบบที่แตกต่างมิใช่มีเพียงแค่รักของหนุ่มสาวเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ รูปแบบความรักแบบเกย์ระหว่างหัวหน้าของวานีกับแฟนหนุ่มที่เป็นตำรวจ นอกจากนี้คิมยองกุนยังตั้งคำถามชวนอึดอัดถึงรักระหว่างพี่ชายบุญธรรมอย่าง “ลียังมิน” และน้องสาวผู้หลงรักพี่ชายอย่าง “วานี”

คำถามของผู้กำกับถึงความรักที่เป็นไปไม่ได้ของรูปแบบความรักที่ไม่ใช่ความรักปกติระหว่างหนุ่มสาวทั่วไปนี้ ทำให้ผมเริ่มมองเห็นว่าแท้จริงแล้ว “ความรัก” เป็นอารมณ์หนึ่งของมนุษย์ที่ยากยิ่งนักจะอธิบาย

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องแปลกใจหากมีวรรณกรรมคลาสสิคบางเรื่องพยายามสื่อสารให้เห็นรูปแบบความรักที่มันแตกต่างไปจากรักระหว่างสถานะหญิงชายหรือหนุ่มสาว บางทีมันกลับกลายเป็นรักประเภทผิดฝาผิดตัว ซึ่งหากเรามองด้วยสายตาเป็นกลางแล้วเราจะเข้าใจว่าทำไมผู้กำกับอย่างอั้งลี่หรือคุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จึงทำหนังเรื่อง Broke back Mountain (2006) กับรักแห่งสยาม (2007) ขึ้นมา

นอกจากนี้ คิมยองกุนได้ทำให้ “วานี”กลายเป็นผู้หญิงหัวสมัยใหม่ที่แสดงความขบถต่อสังคมเกาหลีด้วยการเลือกที่จะให้แฟนหนุ่มจูน่าห์มาอยู่กินฉันคู่ผัวตัวเมียก่อนแต่งงาน

อย่างไรก็ตามหนังเรื่องนี้ยังเลือกดำเนินเรื่องในสไตล์หนังรักเกาหลีที่เน้นความโรแมนติคของคู่พระนางโดยท้ายที่สุดหนังเรื่องนี้ก็จบลงด้วยดี

จะว่าไปแล้วความต่างระหว่างหนังเรื่องนี้กับ Christmas in August ของ “เฮอ จินโฮ” นั้นอยู่ที่สถานการณ์ของความรักที่เกิดขึ้น ใน Christmas in August นั้น เฮอ จินโฮ ได้ทำให้ความรักกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตช่วงสุดท้ายของ “จุงวอน” พระเอกของเรื่อง

ขณะที่คิมยองกุนทำให้ความรักของวานีนั้นคลี่คลายและพร้อมจะเริ่มต้นอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจกับผู้ชายคนใหม่ของเธออย่าง “คิม จูน่าห์”

ความรักที่ยากจะเป็นไปได้ระหว่างพี่ชายบุญธรรมกับน้องสาว ยังถูกขังไว้ในห้องของลียังมิน รวมไปถึงความทรงจำของวานีเอง

ในเรื่อง, จูน่าห์เองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมวานีจึงไม่ยอมให้เขาเข้าไปเหยียบห้องของยังมิน จนท้ายที่สุดเขาก็ได้ล่วงรู้ความลับในใจของวานีจากภาพสเก๊ตช์ของหล่อน

แม้ว่าเธอได้เริ่มต้นรักครั้งใหม่กับผู้ชายอีกคนหนึ่งแล้ว แต่ความทรงจำเหล่านั้นยังกลับมาเขย่าตะกอนของความสับสนให้เกิดขึ้นมาอีก โดยที่จูน่าห์เองก็ไม่รู้ว่ารักแรกของวานีนั้นเป็นเช่นไร

หนังพยายามจะพูดถึง “รักแรก” ซึ่งตัวละครแต่ละคนล้วนแต่มีรักแรกที่แตกต่างกัน แต่ถึงยังไงมันก็ต้องถูกดึงกลับมาสู่ “รักปัจจุบัน” วันยังค่ำ

ระหว่างที่ผมนั่งดูหนังเรื่องนี้ ผมนึกถึงเพลง “โลกที่เธอไม่ให้ฉันเข้าไป” ของคุณบอย ตรัย ภูมิรัตน์ เพลงนี้น่าจะเอามาประกอบเป็นมิวสิควีดีโอในหนังเรื่องนี้ด้วยเพราะมีความหมายตรงกับสิ่งที่จูน่าห์รู้สึก

ประโยคหนึ่งที่ผมติดใจตอนที่จูน่าห์พูดในต้นเรื่อง คือ “อย่ามองกลับไป เพราะลมจะทำให้เธอแสบตา” มันเป็นแค่คำเก๋ๆที่เขาคิดขึ้นเพื่อจะใส่ไปในบทหนัง แต่คำพูดดังกล่าวนั้นเหมือนจูน่าห์ต้องการบอกให้วานีเลือกเก็บความทรงจำดีๆบางอย่างไว้ดีกว่า

ข้อดีของการรักษาความทรงจำไว้ คือ การได้อิ่มเอมใจไปกับมันทุกครั้งที่รำลึกถึงมันขณะที่ข้อเสีย คือ มันมักกลับมาย้อนทำร้ายและสร้างความสับสนให้กับเจ้าของความทรงจำนั้นทุกครั้งยามเมื่อนึกถึง เหมือนที่วานีกำลังเผชิญอยู่

หนังเรื่องนี้ใช้ออริจินัล ซาวด์แทรคเพลง “I wish you love” ของ ลิซ่า โอโนะ (Lisa Ono) ศิลปินแจ๊ซชื่อดังที่ร้องเพลงนี้ได้เพราะมากๆ ครับ ซึ่งผมชอบท่อนสุดท้ายของเพลงนี้ที่ร้องว่า

“When snowflake fall , I wish you love” ฉันได้แต่หวังว่าพอหิมะตก …เธอจะหันมารักฉันได้อีกครั้ง

Hesse004