Apr 28, 2007

ศิลปะของ Charles Chaplin


ผมว่าความสุขอย่างหนึ่งของคนรักศิลปะ คือ การได้เขียนถึงสิ่งที่ตัวเองรัก สำหรับผมแล้ว, ศิลปะเป็นความบันเทิงที่ช่วยให้ผมหย่อนอารมณ์ได้ทุกครั้งและบางครั้งศิลปะยังทำให้ผมได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางอ้อมที่วิเศษจากชิ้นงานเหล่านั้น
จะว่าไปแล้วภาพยนตร์ก็จัดเป็นศิลปะประเภทหนึ่ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมดูข่าวเรื่องที่ผู้กำกับหนังไทยหลายคนพยายามเรียกร้องให้รัฐบรรจุคำว่าภาพยนตร์เข้าไปในรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย แม้ว่าศิลปะจะถูกจัดให้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยตามความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ เพราะตัวเนื้องานศิลปะมีความยืดหยุ่นต่อรายได้สูง กล่าวคือ เวลาที่เรามีรายได้มาก เราก็อยากจะบันเทิงเริงรมย์สนุกสนาน ทำให้เราอยากเสพงานศิลปะทั้งดูหนัง ฟังเพลง หรือ แม้กระทั่งสะสมภาพเขียน แต่พอรายได้เราลดลง ความต้องการเหล่านี้ของเราดูจะฟุ่มเฟือยเกินไปเพราะต้องคำนึงถึงปากท้องเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามผมติดใจคำพูดของท่าน ศาสตรจารย์ศิลป์ พีรศรี บิดาศิลปะไทยสมัยใหม่ที่เคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตมนุษย์นั้นสั้นแต่ศิลปะนั้น ยืนยาว”
กลับมาที่เรื่องที่ผมอยากเขียนใน Blog นี้ต่อ, ผมเชื่อว่าหลายท่านคงรู้จัก Charles Chaplin และหลายท่านคงเคยผ่านตาหนังของเขามาบ้างแล้ว ในฐานะคนรักหนัง , ผมกำลังสะสมดีวีดี Charles Chaplin ซึ่งหาไม่ค่อยจะง่ายนัก ดีวีดีราคาลิขสิทธิ์ที่ผมทราบคือมีสนนราคาเหยียบหลักพัน หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมคนถึงชอบหนังของ Chaplin กันนักหนา โดยส่วนตัวแล้ว ผมมีเหตุผลดังนี้ครับ
1. หนังของ Charles Chaplin เป็นหนังที่ดูเพลิน ไม่ต้องปีนกระได ไต่ภูเขาขึ้นไปดู เพื่อที่จะเข้าใจความคิดของผู้กำกับ โดยปกติแล้วสายหนังที่มาจากผู้กำกับยุโรปมักจะเป็นหนังที่ดูยาก พูดง่ายๆคือเป็นหนัง อาร์ต แต่สำหรับ หนังของChaplin แล้ว แม้ว่าเขาจะเป็นอังกฤษชนโดยกำเนิดแต่ความที่ทำงานกับชาวอเมริกันมาตั้งแต่สมัยเริ่มดัง ทำให้เขาสามารถสื่อสารงานศิลปะของเขาได้อย่างเข้าอกเข้าใจ รสนิยมของคนดูหนังที่ต้องการเพียงแค่ความบันเทิง แต่อย่างไรก็ตามหนังของเขากลับแฝงไปด้วยปรัชญา ข้อคิดและมุมมองที่น่าสนใจหลายอย่างจนอาจกล่าวได้ว่า Charles Chaplin เป็นนักสังเกตการณ์ชั้นยอดของประวัติศาสตร์ศิลปะ
2. โดยบุคลิกการแสดงของ Charles Chaplin แล้ว เขาเป็นคนที่เกิดมาเพื่อสร้างความสุขให้กับคนอื่นโดยแท้จริง แม้ชีวิตจริงของเขาจะไม่ได้ตลกเหมือนในหนังก็ตาม
3. Charles Chaplin เป็นดาราตลกและเป็นผู้กำกับที่มีความเก่งกาจในการเรียกอารมณ์คนดูให้คล้อยตามกับการแสดงหรือบทที่เขากำกับได้ชนิดที่เรียกว่าจำได้ไม่มีวันลืม สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเป็นอมตะของศิลปินผู้นี้
4. Charles Chaplin เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่โดยแท้ เพราะเขาสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดจากระสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตผ่านตัวละครในภาพยนตร์ของเขา ซึ่งตามอัตชีวประวัติของเขา เขาได้เล่าไว้อย่างละเอียดถึงช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดในวัยเด็ก เรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของแม่ ช่วงเวลาที่รุ่งเรืองในการทำงานกับสตูดิโอดังอย่าง Key Stone และ United Artist ผ่านมรสุมชีวิตในการใช้ชีวิตคู่เช่นเดียวกับศิลปินผู้โด่งดังทั้งหลาย ถูกภัยการเมืองคุกคามจนกระทั่งถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ท้ายที่สุด Chaplin ก็ได้พิสูจน์ตัวเองในความเป็นของแท้ว่า สิ่งที่เขาเชื่อมั่นมาตลอดคือคุณงามความดีของมนุษย์ การมองโลกในแง่มุมที่รื่นรมย์อยู่เสมอแม้เวลาเจอภัยพิบัติ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้มักปรากฏ อยู่ในตัวของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่ยังเชื่อมั่นความดีงามของมนุษย์แบบไม่ยโสโอหังต่อธรรมชาติ

ผมรู้จักหนังของ Charles Chaplin ตั้งแต่อยู่ชั้นประถม 4 ช่วงเวลานั้นวีดีโอกำลังเป็นที่นิยม ดังนั้นการได้ดูหนังของ Chaplin จึงเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับวัยเด็ก แทบทุกฉากในหนังModern Time ที่ Chaplin เป็นนักแสดงนำ เขียนบท และ กำกับ ยังคงจำตราตรึงใจของผมมาจนถึงทุกวันนี้ ภาพหนุ่มหนวดจิ๋มอารมณ์ดีที่มักเผชิญโชคร้ายอยู่เสมอในห้วงยามที่สังคมปั่นป่วนวุ่นวาย แต่สุดท้ายเขาก็เอาตัวรอดมาจนได้ด้วยการมองโลกในแง่ดี มองทุกอย่างว่าสามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ท้อแท้กับการมีชีวิตอยู่ ไอเดียเหล่านี้ยังปรากฏในหนังเรื่อง City Light ที่ Chaplin ปลอบใจเศรษฐีขี้เหล้าว่า Be Brave and Face Life แม้จะเป็นหนังเงียบแต่วลีสั้นๆทั้งสองกลับทำให้ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นคำขวัญที่ดีได้สำหรับคนที่กำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์
สำหรับหนังเด่นๆที่ผมอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านลองไปหาชมกัน ได้แก่ Modern Time , City Light , Gold Rush และ The Kid หนังทั้ง 4 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นผลงานสุดยอดของ Chaplin ที่สะท้อนความคิดและจิตวิญญาณความเป็นศิลปินของเขาออกมาได้ดีที่สุด นอกจากนี้หนังแต่ละเรื่องสะท้อนสภาพสังคมอเมริกันในยุคที่กำลังก้าวไปสู่ทุนนิยมอย่างเต็มตัว แต่กลับขาดทุนทางสังคม อาทิ ความเอื้ออาทรต่อกัน ความมีน้ำใจ แม้กระทั่งความสามัคคี
Modern Time (1936)เป็นหนังที่เสียดล้อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 30 หนังทำให้เรารู้ว่าสมัยที่เกิด The Great Depression มันหนักหนาสาหัสอย่างไรในความรู้สึกของชาวอเมริกัน อย่างไรก็ตาม Chaplin ยังแสดงให้เห็นความหวังของการมีชีวิตอยู่ต่อไปในตอนจบของเรื่อง เมื่อเขาและนางเอกเดินควงคู่กันไปบนถนนที่ทอดยาวโดยมีดวงอาทิตย์ที่กำลังจะตกดินขับให้เห็นหนทางที่ยังไม่มืดมนไปเสียทีเดียว
City Light (1931) เป็นภาพสะท้อนความรักของชายจรจัดที่หลงรักหญิงสาวตาบอด โดย Chaplin พยายามทำทุกวิถีทางให้คนที่เขารักได้มองเห็นเป็นปกติ แม้ภายหลังเจ้าหล่อนจะมารู้ความจริงว่าชายจรคนนั้นไม่ใช่เทพบุตรอย่างที่คิดไว้ ฉากที่หญิงสาวจับมือของ Chaplin แล้วรู้ว่าคนที่ช่วยหล่อนมาตลอดเป็นแค่คนกระจอกงอกง่อยธรรมดา น่าจะเป็นฉากรักที่โรแมนติคฉากหนึ่ง พร้อมกับดนตรีคลาสสิคที่บรรเลงอย่างเนิบเนียนทำให้เราอดไม่ได้ที่จะมีน้ำตาคลอไปด้วย
Gold Rush (1925) เป็นหนังที่ฉายให้เห็นกระแสตื่นทองในอเมริกา ภาพของการตื่นทองของนักเผชิญโชคทำให้เห็นอัตตลักษณ์ความเป็นตัวตนของอเมริกันชนตั้งแต่สมัยนั้นแล้วว่าพวกเขาบูชาวัตถุ บูชาความร่ำรวบ มากน้อยเพียงไร กล่าวกันว่าฉากที่ Chaplin ใช้ส้อมจิ้มมันฝรั่งมาเต้นรำไปมานั้นเป็นฉากที่แสดงถึงอัจฉริยะความเป็นตลกของเขาได้ดีทีเดียว
The Kid (1920) นับเป็นหนังน่าประทับใจอีกเรื่องหนึ่งที่ Chaplin แสดงคู่กับ Jackie Coogan ดาราเด็กชื่อดังสมัยนั้น หนังว่าด้วยเรื่องของ Chaplin ที่ต้องรับบทเป็นพ่อบุญธรรมจำเป็นเพื่อเลี้ยงเด็กที่ถูกแม่นำมาทิ้งไว้ ตลอดเวลาเขาได้เลี้ยงดูเด็กคนนี้เป็นอย่างดี อบรมสั่งสอนแต่สิ่งที่ดี ผมสังเกตอยู่อย่างหนึ่งเวลาดูหนังของ Chaplin คือเขามักจะแทรกความเรียบง่ายลงไปในฉากธรรมดา อย่างเช่น ฉากที่เขาสอนให้เด็กน้อยสวดมนต์ขอบคุณพระเจ้าก่อนกินอาหาร แม้ว่าอาหารที่อยู่บนโต๊ะจะไม่ได้วิเศษวิโสอะไรนัก แต่ Chaplin ต้องการให้เด็กสำนึกถึงคุณค่าที่มีต่อสิ่งต่างๆรอบตัว ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเล็กน้อยเพียงใด
ผมยังรักที่จะดูหนังของ Charles Chaplin อยู่ เพราะทุกครั้งที่ผมเปิดดูผมรู้สึกรื่นรมย์กับชิ้นงานศิลปะเหล่านี้ และด้วยความที่เป็นหนังเงียบทำให้เราสามารถสังเกตอิริยาบถของตัวแสดงได้ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะที่ปรากฏในหนังของ Charles Chaplin ซึ่งยากนักที่จะหาใครมาทดแทนเขาได้
Hesse004

Apr 23, 2007

Hermann Hesse กับสิทธารถะ





ก่อนอื่นผมขออนุญาตแนะนำตัวเองก่อนนะครับ ผมใช้นามใน Blog ว่า Hesse004 นามที่ว่านี้มีที่มาจากชื่อของ "เฮอร์มาน เฮสเส" (Hermann Hesse)นักเขียนและกวีชาวเยอรมันซึ่งภายหลังโอนไปถือสัญชาติสวิสครับ

เฮสเสได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี ค.ศ. 1946 โดยจุดเด่นของงานเขียน "เฮสเส" อยู่ที่เรื่อง "การท่องไปในโลกของจิตใจของมนุษย์" ครับ

ผมรู้จักงานเขียนของเฮสเส ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนังสือชื่อ "สิทธารถะ"สะดุดตาผมโดยบังเอิญระหว่างที่ผมกำลังหาหนังสืออ่านเล่นในห้องสมุด ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยได้ยินชื่อของ เฮอร์มาน เฮสเส แต่อย่างใดครับ สังเกตแต่เพียงว่าหน้าปก "สิทธารถะ"มีชื่อ"สดใส"เป็นผู้แปล

หลังจากที่ยืมหนังสือเล่มนี้ไปอ่านผมประทับใจในงานชิ้นนี้ของเฮสเสมากครับประกอบกับสำนวนแปลของอาจารย์สดใสยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์มากเข้าไปอีก

สิทธารถะเป็นหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวการแสวงหามรรคของมนุษย์ผู้หนึ่งที่เชื่อมั่นในวิถีของตัวเอง บรรยากาศตามท้องเรื่องจึงย้อนไปถึงสมัยพุทธกาลครับ กล่าวกันว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิด "นักปราชญ์"ขึ้นมากมายในโลก อาทิ พระพุทธเจ้า ขงจื๊อ พลาโต อริสโตเติล เป็นต้น

เฮสเสมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจครับ ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นคนตะวันตกเข้าใจปรัชญาตะวันออกได้อย่างลึกซึ้ง ยกตัวอย่างเช่น "ตอนพระสมณโคม"ที่เฮสเสเขียนถึงบทสนทนาของ"พราหมณ์หนุ่มสิทธารถะ" นักแสวงหา กับ "พระพุทธองค์" ศาสดาเอกผู้ค้นพบหนทางหลุดพ้นจากความทุกข์แล้ว อย่างไรก็ดีท้ายที่สุดท้ายแล้ว สิทธารถะเลือกที่จะไม่บวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา ดังคำพูดตอนหนึ่งที่สิทธารถะทูลกับพระพุทธองค์ว่า

"พระองค์ทรงบรรลุก็โดยการแสวงหาตามวิธีการของพระองค์เอง โดยการคิดการบำเพ็ญเพียร โดยความรู้และการตรัสรู้ พระองค์ไม่ได้เรียนจากการสอน ด้วยเหตุนี้แหละพระสมณโคดม ข้าจึงคิดว่าไม่มีผู้ใดพบทางหลุดพ้นโดยการเรียนจากคำสอน"

คำพูดดังของสิทธารถะตรงกับคำถามในใจของผมคิดที่ว่า "สภาวะนิพพาน"หรือ "การบรรลุธรรม"ของแต่ละคนนั้นมันจะเหมือนกันหรือเปล่า?

ประโยคที่ยกมาข้างต้นถ้าดูเพียงเผินๆเราอาจจะสรุปว่าสิทธารถะเป็นคนดื้อและเชื่อมั่นในตนเองสูง แต่อย่างไรก็ตามเฮสเสได้แสดงให้เห็นว่าสิทธารถะพยายามหามรรคาหลายหนทางเพื่อไปสู่วิถีแห่งการหลุดพ้นด้วยตัวเอง

หลังจากแสวงหาทางหลุดพ้นโดยอาศัยโลกของ"โลกกุตระ"แล้ว สิทธารถะกลับเลือกที่จะหันหลังให้กับโลกดังกล่าวและเลือกที่จะเรียนรู้โลกแห่ง"โลกียะ"ที่เขาไม่คุ้นเคยมาก่อน

เขาได้เรียนรู้เพศรสจากหญิงงามเมืองอย่าง "กมลา" เรียนรู้กลการค้าจาก"กามสวมี"พ่อค้าใหญ่ เรียนรู้การเสพสุขของวิถีของปุถุชนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยห่อปากอย่างเย้ยหยันวิถีเช่นนี้ ทุกอย่างเป็นโลกที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อนนับตั้งแต่เติบโตมาจากตระกูลพราหมณ์และเข้าสู่การแสวงหาด้วยการเป็นสมณะ

ผมตั้งข้อสังเกตว่าเฮสเสพยายามเขียนเรื่องนี้โดยให้ชีวิตของสิทธารถะ"ล้อ"ตามแบบพุทธประวัติขององค์สมณโคดม เช่น ชื่อของ"สิทธารถะ"ก็มีความคล้ายคลึงกับชื่อของเจ้าชาย"สิทธัตถะ" อย่างไรก็ตามสิทธารถะกลับมีชีวิตที่สวนทางกันกับพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชในพระชันษา 29 พรรษาโดยเลือกที่จะทิ้งโลกของโลกียะไว้เบื้องหลัง แต่สำหรับสิทธารถะแล้ว เขากลับเลือกที่จะทิ้งโลกของโลกุตระไว้และมุ่งแสวงหาโลกของ"ปุถุชน"แทน

อย่างไรก็ตามสิทธารถะกลับพบว่าโลกที่เขาลิ้มลองอยู่นั้นมันกลับไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ "เสียงในใจ"บอกให้เขาแสวงหามรรควิถีของการหลุดพ้นต่อไป

ณ ริมฝั่งน้ำเขาเกือบเลือกที่จะฆ่าตัวตาย เคราะห์ดีที่"สติ"ดึงเขากลับมาได้ทัน ถึงตอนนี้สิทธารถะไม่ต่างอะไรกับคนพ่ายแพ้ชีวิต รู้สึกถึงความไร้ค่าของการมีชีวิตอยู่ พ่ายแพ้ต่อโลกและกิเลส แต่การได้พบชายแจวเรือข้ามฟากอย่าง"วาสุเทพ"กลับทำให้วิธีคิดของสิทธารถะเปลี่ยนไป อาจเพราะด้วยวัยที่โตขึ้น ความลำพองในการใช้ชีวิตที่ผ่านมาจึงค่อยๆลดลง อัตตาที่เคยพอกพูนจากการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆกลับค่อยๆหดหายไป เขาได้เรียนรู้จากวาสุเทพ ชายแจวเรือธรรมดาที่ค้นพบปรัชญาและสัจธรรมบางอย่างจากแม่น้ำ

"แม่น้ำกลับเป็นปลายทางของทุกคน ต่างโหยหา ปรารถนาและระทมทุกข์ แล้วเสียงของแม่น้ำก็มีแต่ความหวนไห้ เจ็บปวดและปรารถนาไม่รู้อิ่ม แม่น้ำไหลสู่จุดหมาย สิทธารถะเห็นแม่น้ำอันประกอบด้วยตัวเขา ญาติมิตร และผู้คนที่เคยพบ เร่งไหลพลิ้วไปข้างหน้า ทั้งสายน้ำและเกลียวคลืนต่างรีบรุดทุกข์ทรมานไปสู่เป้าหมายอันหลายหลาก ไปสู่น้ำตก สู่ทะเล สู่กระแสน้ำ สู่ห้วงมหาสมุทร และแม่น้ำบรรลุถึงเป้าหมายไปตามลำดับ น้ำเปลี่ยนเป็นไอแล้วระเหยกลายเป็นฝนตกสู่พื้น กลายเป็นน้ำพุ ห้วยธรและแม่น้ำ เปลี่ยนใหม่แล้วกลับไหลอีก แต่เสียงเรียกขานนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว มันยังส่งกังวาลเศร้าอย่างเสาะค้น แต่ก็มีเสียงอื่นๆควบคู่มาด้วย เสียงแห่งความสนุกเบิกบาน และเสียงแห่งความเศร้า เสียงความดี เสียงความเลว เสียงหัวเราะและเสียงคร่ำครวญเป็นสรรพเสียงนับร้อยพัน"

"สิทธารถะ" นับเป็นหนังสือที่ผมหยิบขึ้นมาอ่านบ่อยที่สุดครับ ผมตั้งใจว่าในทุกๆปี ผมจะอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างน้อย 1 รอบ ซึ่งในแต่ละปีผมพบว่าผมมองสิทธารถะเปลี่ยนไปตามโลกที่ผมรู้จักและวัยที่โตขึ้น

ผมว่าการมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องของ"ศิลปะในการสร้างความสมดุลให้กับชีวิตตัวเอง" นะครับ ทุกวันนี้เราลืมถาม"เสียงในใจ"ของเราว่าเราต้องการทำอะไรหรืออยากทำอะไร เสียงในใจของเราถูกกลบไปด้วยกระแสของโลกาวัตถุ บางหนเราไม่สามารถนำพาตัวเองให้หลุดจากโลกียะขณะที่บางทีเรากลับไปยึดติดกับสิ่งที่แสวงหามากจนเกินไปจนเราไม่อาจพบเจอ เข้าทำนอง "ยิ่งแสวงหา ยิ่งไกลห่าง"

ผมว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเป็นเหมือน"พุทธองค์ไ เป็นเหมือน"สิทธารถะ" ที่พยายามดิ้นให้หลุดพ้นจากสังสารวัฎฎของการมีชีวิต ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะได้พบกับมันในชาตินี้หรือชาติไหน

Hesse004