Sep 28, 2009

คอร์รัปชั่นในภาษาต่างๆ





ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่าจริงๆแล้ว “Corruption” ในภาษาอังกฤษนั้นมีความหมายหลายอย่างนะครับ Corruption ยังสามารถแปลว่า “เน่าเปื่อย ผุพัง” ก็ได้ครับอย่างไรก็ตาม “คอร์รัปชั่น” ในความเข้าใจของเราก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการทุจริตฉ้อฉล ครับ ด้วยเหตุนี้เองผมจึงมีความอยากรู้เกี่ยวกับคำว่า “คอร์รัปชั่น” ในภาษาต่างๆว่าเขาอ่านและเขียนคำๆนี้ว่าอย่างไรกันบ้าง

เริ่มจาก “ภาษาไทย”ใกล้ตัวเราก่อนแล้วกันนะครับ ภาษาไทยของเราเรียกการคอร์รัปชั่นว่า “การทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ” ชื่อคอร์รัปชั่นในภาษาของเราดูเป็นทางการและเห็นภาพทั้งในแง่การกระทำและผู้กระทำผิด ทั้งนี้ก่อนเราจะใช้คำว่า “ทุจริตประพฤติมิชอบ” นั้นสมัยโบราณพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นถูกเรียกในเชิงประจานว่า “ฉ้อราษฏร์” และ “บังหลวง” ครับ

นอกจากนี้คำต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นของบ้านเรายังมีอีกหลายคำ อาทิ “กิน” ซึ่งก็ยังแยกออกเป็น “กินตามน้ำ” กับ “กินทวนน้ำ” คำว่า “กินตามน้ำ” เนี่ย ชื่อก็บอกแล้วนะครับว่าไม่ต้องออกแรงมากแค่ปล่อยหรือรู้เห็นว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบเกิดขึ้น ขณะที่ “กินทวนน้ำ” นั้นผู้กินต้องออกกำลังมากหน่อยเนื่องจากต้องขัดขวางไม่ให้ใครมาแย่ง “ของกิน” หรือ “ชิ้นเค้ก” ตัวเอง

ขณะเดียวกันคำว่า “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ก็เป็นอีกคำที่เอาไว้ใช้เรียก “เงินสินบน” ครับ ส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินเรื่อง “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” เวลาเราไปติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานราชการทั้งหลายแล้วเราต้องการความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ เราจึงจำเป็นต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้ให้บริการ

จะว่าไปแล้ว “ค่าน้ำร้นน้ำชา” ได้กลายเป็น “เงินพิเศษ” บางวงการเรียก “ค่าคอมมิชชั่น”ครับโดยเฉพาะวงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีงบประมาณมหาศาล ค่าคอมมิชชั่นย่อมสูงตามความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ และหากอยู่ในวงการศึกษาเงินพิเศษเรามักจะเรียกว่า “ค่าแป๊เจี๊ย” ครับ อย่างไรก็ตามการจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา เงินพิเศษ หรือ แป๊เจี๊ย นั้นไม่ต้องออกใบเสร็จรับเงินนะครับ เพราะขืนใครอุตริออกใบเสร็จรับเงินมีอันได้ติดคุกเป็นแน่

ค่าน้ำร้อนน้ำชาเหล่านี้ทำให้ข้าราชการผู้ให้บริการมีความกระตือรือร้นและมีแรงจูงใจในการให้บริการประชาชนมากขึ้น แต่บ่อยครั้งผู้ให้บริการเหล่านี้มักจะรีบร้อนมูมมามกินน้ำร้อนน้ำชาจนโดนน้ำร้อนน้ำชาลวกปากเอาก็มี

คำว่า “สินบน” ในภาษาไทยยังรวมไปถึงคำโบราณอย่าง “ส่วย” ซึ่งเป็นการเก็บรายได้ชนิดหนึ่งของรัฐตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแล้วครับ แต่ปัจจุบัน “ส่วย” ถูกใช้เรียก “รายได้” นอกระบบที่เหล่าเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะ “ตำรวจ” เรียกเก็บจากธุรกิจร้านค้า หาบเร่แผงลอย คนขับรถบรรทุก รวมไปถึงอาบอบนวด แม้ว่าบางครั้งจะพยายามเรียกคำพูดเหล่านี้ให้ดูหรูว่า “ค่าคุ้มครอง” ก็ตาม

โดยทั่วไปแล้วการจ่ายเงินสินบนนั้นจะกระทำกันอย่างลับๆ ครับ จึงทำให้ไม่มีใบเสร็จรับเงิน แต่คนเก็บส่วยจะมี “สมุดจดโพยลูกค้า” ว่าใครที่ยังไม่จ่ายเงินสินบนด้วยเหตุนี้เองเงินสินบนจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เงินใต้โต๊ะ” ครับ แม้ว่าในชีวิตจริงจะไม่มีใครยอมเอาเงินมาจ่ายเป็นสินบนใต้โต๊ะก็ตาม

พฤติกรรมการทุจริตประพฤติมิชอบก็มีชื่อเรียกอีกเช่นกันครับ โดยเฉพาะในวงการรับเหมาก่อสร้างประมูลงานของรัฐนั้น คำว่า “ฮั้ว” ซึ่งเป็นคำจีนแต้จิ๋วนั้นถูกนำมาใช้บ่อยมาก โดยรากศัพท์แล้ว “ฮั้ว” แปลว่า “สามัคคี” ทำนองเดียวกับคำว่า “ลงแขก” ครับ แต่ไปๆมาๆคำว่า “ฮั้ว” กลายพันธุ์เป็นพฤติกรรมที่ผู้รับเหมากับข้าราชการขี้ฉ้อบางคนร่วมกันรวมหัวโกงหลวงครับ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็น “คำไทย” ที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นครับ คราวนี้ลองมาดูคอร์รัปชั่นในภาษาต่างๆกันบ้างว่าเขาเรียกคำๆนี้ว่าอย่างไรกันครับ

เริ่มจากภาษาลาวครับ ชาวลาวนั้นเรียกพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นว่า “กินสินบน” ครับ จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับภาษาไทยของเราครับ ส่วนในภาษาเขมรนั้นเรียกเงินผิดกฎหมายที่มาจากการโกงนั้นว่า “มิน สแร๊บแบ๊บ” (Min Srabcbab) ครับ

ขณะที่ภาษามาเลย์เรียกเงินสินบนหรือค่าน้ำร้อนน้ำชาว่า “ดูอิท โกปี๊” (Duit Kopi) คำว่า “โกปี๊” แปลว่า “กาแฟ” นั่นเองครับ ผมแอบตั้งข้อสังเกตส่วนตัวว่า “เครื่องดื่ม” ทั้งน้ำชาและกาแฟดูจะมีส่วนเกี่ยวข้องเงินสินบนที่ผิดกฎหมาย ทั้งๆที่นักการเมืองสมัยนี้มักนิยมดื่มไวน์ชั้นดีแต่ก็ไม่มีใครยักเรียกเงินสินบนว่า “ค่าไวน์”

ส่วนภาษาตากาล๊อกของชาวฟิลิปปินส์นั้นเรียกคนขี้โกงว่า “บัวย่า” (Buaya) ซึ่ง “บัวย่า” แปลอีกอย่างว่า “จระเข้” ก็ได้ครับ ดังนั้น คำๆนี้เปรียบเปรยว่าคนขี้ฉ้อนั้นคล้ายกับ “จระเข้” ทั้งนี้การเปรียบเทียบคนคดโกงกับสัตว์นั้น ภาษาฟิจิ (Fijian) ก็เรียกพวกขี้โกงว่า “คากาคาก้า” (Cakacaka) ซึ่งหมายถึง “หมาจิ้งจอก” นั่นเองครับ

กลับไปดูศัพท์คอร์รัปชั่นในแดนชมพูทวีปกันบ้างครับ ภาษาบังคลาเรียกเงินที่มาจากการฉ้อฉลแล้วสร้างความสุขนั้นว่า “กูชิโกร่า” (Kushi Kora) ครับ ส่วนภาษาฮินดูสถาน (Hindustani) เรียกการขูดรีดหรือเก็บค่าคุ้มครองจากมาเฟียหรือตำรวจว่า “ฮาฟต้า” (Hafta) และในภาษาเปอร์เซียนนั้นเรียกเงินค่าของขวัญใต้โต๊ะว่า “บักชีท” (Baksheesh) ครับ

คราวนี้ลองดูภาษาเขียนกันบ้างครับว่า “คอร์รัปชั่น” ในแต่ละภาษานั้นเขียนกันอย่างไรบ้าง ภาษาดัตช์นั้นสะกดคอร์รัปชั่นคล้ายๆกับภาษาอังกฤษครับโดยชาวดัตช์สะกดคอร์รัปชั่นว่า “Corruptie” ส่วนภาษาสเปน (Español) นั้น คอร์รัปชั่นสะกดอย่างนี้ครับ “Corrupción” ขณะที่ภาษาโปรตุกีส (Português) สะกดว่า “Corrupção” ครับ ในภาษาโปลิช (Polski) นั้นสะกดคอร์รัปชั่นด้วยตัว K ครับโดยชาวโปลเขียนคำว่าคอร์รัปชั่นอย่างนี้ครับ “Korupcja” เช่นเดียวกับภาษาออสเตรียน(Austrian)ที่เขียนคอร์รัปชั่นว่า “Korrupció” ครับ

อย่างไรก็แล้วแต่ไม่ว่าคอร์รัปชั่นในชาติใดภาษาใดจะเรียกขานหรือสะกดแตกต่างกัน แต่ความหมายของคอร์รัปชั่นในความรู้สึกของคนทุกคนย่อมหนีไม่พ้นคำว่า “ขี้โกง” และก่อให้เกิดผลร้ายกับสังคมใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

Sep 23, 2009

"Life is beautiful" ชีวิตนี้งดงามยิ่งนัก





เพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยบอกผมไว้ว่า “ชีวิตคนเราทุกวันนี้มันก็เครียดจะตายอยู่แล้ว แล้วทำไมเราถึงต้องมานั่งจริงจังนั่งเครียดกันอีกล่ะ”

ผมว่าที่เพื่อนคนนี้พูดไว้มันคงจะจริงและทำให้ผมนึกถึงหนังอิตาเลียนเรื่องหนึ่งที่ชื่อ Life is beautiful (1997)ครับ

Life is beautiful หรือ La vita è bella ในชื่ออิตาเลียนนั้นเป็นผลงานการกำกับของโรแบร์โต้ เบนจินี่ (Roberto Benigni) ผู้กำกับอารมณ์ดีที่สามารถทำให้หนังสงครามกลายเป็นเรื่องรื่นรมย์ได้

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ Life is beautiful จะกวาดรางวัลจากเวทีประกวดภาพยนตร์นานาชาติอย่างรางวัล Grand Prize of the Jury จากเทศกาลหนังเมืองคานส์, ชนะเลิศรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวที European Film Award และที่ทำให้หนังเรื่องนี้โด่งดังเป็นพลุแตก คือ การได้รับรางวัล Academy Award ในฐานะภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best Foreign Language Film) เมื่อปี ค.ศ. 1999

จะว่าไปแล้วหนังอิตาเลียนนั้นมี “เสน่ห์” อยู่ไม่น้อยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพล็อตเรื่องที่นำเสนอรวมไปถึงบรรยากาศตามท้องเรื่องที่น่าประทับใจ

โดยส่วนตัวแล้วผมประทับใจกับ Cinema Paradiso (1988) หรือ Nuovo cinema Paradiso ของผู้กำกับ จูเซปเป้ ทอนาทอเร่ (Giuseppe Tornatore) ที่ว่าด้วยอารมณ์ถวิลหาอดีตของโรงภาพยนตร์และภาพยนตร์ในช่วงปลายทศวรรษที่ 40 – 50

สำหรับ Life is beautiful นั้น โรแบร์โต้ เบนจินี่ พยายามทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นตัวอย่างของการมองชีวิตในด้านบวกอยู่เสมอโดยมีโจทย์สำคัญที่ว่า “เราจะสอนเด็กอย่างไรให้รู้จักคำว่าสงคราม”

แน่นอนครับว่า “สงคราม” เป็นหายนะของมนุษยชาติมาตั้งแต่โบราณกาล โดยทั่วไปแล้วเรามักมองว่าสงครามเป็นวิธีการกำจัดความขัดแย้งระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกันเองโดยเราไม่เคยมองว่าแท้จริงแล้วสงครามนั้นเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย

Life is beautiful เป็นหนังต่อต้านสงครามโดยเฉพาะการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (The Holocaust) ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองครับ

ท่านผู้อ่านที่เคยชมภาพยนตร์ Schindler’ list (1993) ของสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) คงจะได้เห็นภาพความโหดร้ายที่กองทัพนาซีได้กระทำต่อชาวยิวจนทำให้รู้สึกเลยว่าทำไมหนอมนุษย์ถึงโหดร้ายได้เพียงนี้

อย่างไรก็ตาม “เบนจินี่”กลับไม่ทำให้ภาพการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวหรือสยดสยองแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามเขากลับสอนให้ลูกชายตัวน้อยรู้ว่า “สงคราม” เป็นเพียงเกมๆหนึ่งเท่านั้น

อย่างที่เราทราบกันนะครับว่า “เด็กเหมือนดั่งผ้าขาวที่บริสุทธิ์” ดังนั้นเราจะสอนเขาให้รู้ว่าสงครามมันเป็นอย่างไรนั้นมันก็อยู่ที่วิธีการสอนของผู้ใหญ่นั่นเอง

ผมว่าบางครั้งเด็กเล็กๆอาจไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ว่า “ความจริง” ที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นมานั้นมันโคตรจะโหดร้ายเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้เองหากเรารู้จักสอนให้เด็กมองโลกในแง่ดีเสียแต่ตอนต้นมันก็จะเป็น “ภูมิคุ้มกัน”ทางใจของเขาในการใช้ชีวิตรวมไปถึงการมีทัศนคติที่ดีต่อการมองโลก

กล่าวมาถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงคำพูดที่ว่า “การคิดบวก” หรือ “การคิดดี” ขึ้นมา เพราะการคิดดีเป็นพื้นฐานของการพูดดีและทำดีซึ่งเป็น “บุญ” (ความปิติ) อย่างหนึ่ง

ทุกวันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเราจะสอนเด็กอย่างไรให้รู้จัก “คิดดี” หรือคิดบวก เพราะลำพังผู้ใหญ่เองก็ยังคิดลบ เคียดแค้น ชิงชัง จองเวร ก่อบาปกันอยู่จึงเป็นเรื่องยากนักที่เราจะมี “น้ำยา”ไปสอนให้เด็กมันคิดดีได้ หากเราไม่เริ่มต้นที่จะคิดดีเสียเองก่อน

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่า เบนจินี่ต้องการให้หนังเรื่องนี้สื่อสารอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการสอนให้คนๆหนึ่งรู้จักที่จะมองโลกในมุมที่งดงามมากกว่าที่จะจริงจังหรือโหดร้ายจนเกินไป

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเคยนั่งคุยกับคุณลุงคนขับแท็กซี่ คุณลุงแกเล่าให้ฟังว่าเพิ่งจะโดนปลดออกจากงานเมื่อตอนอายุ 55 เพื่อนแกสองคนคิดสั้นฆ่าตัวตาย แกยังเล่าให้ฟังอีกว่าเมียแกโดนรถสิบล้อทับทุกวันนี้เป็นคนพิการครึ่งท่อนแต่แกก็ยังดูแลเมียมาร่วมสิบปี

สำหรับแกแล้วทุกวันนี้แกยังมีความสุขอยู่เพราะยังเชื่อว่าชีวิตมันยังไม่สิ้นหวังเลยซะทีเดียวยังมีคนลำบากกว่าแกอีกเยอะแยะ

บางทีหากมนุษย์เรารู้จักมองในสิ่งที่ “มี”มากกว่ามองในสิ่งที่ “ขาด” แล้ว เราอาจจะมีความสุขหรือรื่นรมย์กับชีวิตขึ้นเยอะนะครับ

Hesse004