Dec 10, 2008

"หมากเตะโลกตะลึง" ชัยชนะของคนขี้แพ้





นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” (2546) ออกฉาย หกผู้กำกับหนุ่มจาก “กลุ่ม 365 ฟิล์ม” ได้ออกไปสร้างสรรค์ผลงานเดี่ยวอันหน้าประทับใจหลายต่อหลายเรื่องครับ

เริ่มจาก “คุณเอส” คมกฤษ ตรีวิมล ได้ทำให้หนังเรื่อง “เพื่อนสนิท” (2548) กลายเป็นหนังรักที่ดีเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่สร้างให้ “สายลับจับบ้านเล็ก” (2550) เป็นหนังตลกที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับหัวจิตหัวใจของคนเป็น “เมียน้อย” ในอารมณ์ที่ไม่หนักจนเกินไปนัก

“คุณย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ ได้ผันตัวเองมากำกับหนังเรื่องแรกที่ชื่อ “เด็กหอ” (2549) แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีกลิ่นอายของความเป็น “หนังผี” แต่ผู้กำกับได้แทรก “ปม” ต่างๆของตัวละครไว้อย่างน่าสนใจและที่สำคัญที่สุดคือเรื่องมิตรภาพของเพื่อนต่างภพ

ต่อมา “คุณต้น” นิธิวัฒน์ ธราธร ออกมากำกับหนังวัยรุ่นภายใต้การดำเนินเรื่องโดยมี “ดนตรีคลาสสิค” เป็นแกนหลัก ด้วยเหตุนี้เอง “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” (2549) หรือ Seasons change จึงเป็นหนังที่มีความละเมียดละไมอยู่ไม่น้อย

ในเวลาไล่เลี่ยกัน “คุณบอล” วิทยา ทองอยู่ยง ทำให้หนังชื่อ “เก๋า เก๋า” (2549) กลายเป็นหนังแนวแฟนตาซีที่ดูสมจริงเพราะด้วยไมค์วิเศษสีชมพูนี้เองที่ทำให้วงดนตรี “อิมพอสสิเบิล” ต้องระหกระเหินข้ามเวลาจากปี พ.ศ. 2512 มาสู่ปี พ.ศ. 2549

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือ หนังของกลุ่มผู้กำกับแฟนฉันที่ผมมีโอกาสได้ดูครับ โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชมผลงานของพวกเขามากเนื่องจากหนังของพวกเขาเป็นหนังที่ให้ความบันเทิงแบบชิลๆเหมือนนั่งคุยกับเพื่อนเก่าอย่างสบายใจ

นอกจากนี้ดูเหมือนว่าหนังของผู้กำกับกลุ่มนี้ได้กลายเป็นตัวแทนของคนที่มีช่วงวัยสามสิบถึงสี่สิบปี โดย “แฟนฉัน” คือ ภาพยนตร์นำร่องที่เปิดให้เห็นการเติบโตของคนช่วงวัยดังกล่าว ซึ่งจะว่าไปแล้ววัฒนธรรมบันเทิงยุค 80 นั้นดูจะมีอิทธิพลไม่น้อยต่อคนช่วงวัยนี้

หากไล่เรียงลำดับการทำหนังของกลุ่มผู้กำกับ 365 ฟิล์ม ให้ดี เราจะพบว่าหนังของพวกเขาสามารถถ่ายทอดช่วงเวลาชีวิตของตัวละครหลักในเรื่องได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น “เด็กหอ” ที่กล่าวถึงช่วงชีวิตของเด็กวัยรุ่นชายตอนต้น “Seasons change” ถ่ายทอดเรื่องราวของนักเรียนมัธยมปลาย “เพื่อนสนิท” เล่าชีวิตของเด็กระดับมหาวิทยาลัย

ความชัดเจนในพล็อตหนังทุกเรื่องของผู้กำกับกลุ่มนี้ทำให้ผู้ชมภาพยนตร์ที่ผ่านช่วงชีวิตเหล่านั้นมาแล้วย่อมเกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปจนกระทั่งอารมณ์ถวิลหาหรือ Nostalgia ซึ่งทำให้ผลงานของพวกเขาได้รับการยอมรับมากขึ้น

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าอีกหนึ่งผู้กำกับในกลุ่ม 365 ฟิล์ม ที่ดูจะมีอุปสรรคกับการทำหนังเรื่องแรกของเขา นั่นคือ “คุณปิ๊ง” อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณปิ๊งคิดทำหนัง “ฟุตบอล”

“หมากเตะโลกตะลึง” หรือ Lucky Looser (2549) ของ อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ตั้งใจที่จะสร้างออกมาให้เกี่ยวกระแสฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ แต่อย่างไรก็ดีหนังเรื่องนี้ได้รับการต่อต้านจาก “ลาว” ประเทศบ้านพี่เมืองน้อง ด้วยเหตุผลที่ว่าหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาไปในเชิงลบหลู่ดูถูกศักยภาพทีมฟุตบอลชาติลาว

แม้ว่าหมากเตะโลกตะลึงจะกลับมาอีกครั้งในชื่อของ “หมากเตะรีเทิร์นส์” โดยเปลี่ยนชื่อจากทีม “ลาว” เป็น “ทีมอาวี” แต่ก็ดูเหมือนว่าหนังเรื่องนี้จะหลุดกระแสไปจากบอลโลกฟีเวอร์ เสียแล้ว

ในแง่ของมิติการเมืองหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ผมขออนุญาตไม่วิจารณ์แล้วกันครับ เนื่องจากว่าทุกชาติ ทุกภาษาล้วนมีความรู้สึก “ชาตินิยม” กันอยู่ในเผ่าพันธุ์ของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น

ด้วยเหตุนี้เองการนำเสนอเรื่องราวของ “ความด้อยหรือความผิดพลาด” ของเผ่าพันธุ์หนึ่งย่อมกระทบกระเทือนจิตใจของคนชาตินั้นไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม “หมากเตะโลกตะลึง” ของคุณปิ๊งนั้นได้ทำให้เราเข้าใจมุมมองของ “ผู้แพ้” มากกว่าจะชื่นชมความสำเร็จของผู้ชนะ

จะว่าไปแล้ว “ฟุตบอล” ได้กลายเป็นกีฬา “อวด” หรือ “เบ่ง” ศักยภาพของประเทศได้อย่างหนึ่ง ฟุตบอลสามารถเป็น “กลยุทธ์”หนึ่งในการสร้างชาตินิยมได้เหมือนที่ “เกาหลีใต้” เคยทำได้ในช่วงฟุตบอลโลกที่เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 2002

น่าสนใจว่าการตั้งเป้าเพื่อไป “ฟุตบอลโลก” หรือ World Cup นั้นกลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกชาติ ปัจจุบันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่จัดสี่ปีครั้งนั้นได้คัดเอา “เต้ยลูกหนัง” ในแต่ละทวีปรวมทั้งสิ้น 32 ทีม มาบรรเลงเพลงเตะกันในช่วงเวลาหนึ่งเดือน ด้วยเหตุนี้เองฟุตบอลโลกจึงเปรียบเสมือนเวทีอวดศักดาของชาติตัวเองว่ามีความสามารถในเชิงลูกหนังมากน้อยแค่ไหน

แน่นอนที่สุดครับว่า “ฝัน”ของทีมชาติไทยที่จะไปบอลโลกนั้นดูจะเป็น “ฝัน” จริงๆ แม้ว่าเราจะพยายามผลักดันส่งน้ำเลี้ยงและแรงใจก็แล้ว แต่ดีที่สุดของเราคือ รอบคัดเลือกสิบทีมสุดท้ายของเอเชีย

บางครั้งผมว่าเราต้องยอมรับ “ศักยภาพ” ของเราว่าเราไปได้เท่านี้จริงๆ การยอมรับความจริงไม่ใช่สิ่งน่าอายและยิ่งมีความฝันด้วยแล้วยิ่งเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพียงแต่ขอให้ทำอะไรก็ทำด้วยความตั้งใจจริงมิใช่แค่เข้ามาทำทีมชาติเพียงเพื่อหวังผลประโยชน์อย่างอื่นแอบแฝง

นอกจากนี้หนังของคุณปิ๊งยังสะท้อนให้เห็นการทำงานแบบ “ไทย”ๆ นั่นคือ ทำงานเป็นทีมไม่เป็นรวมไปถึงไม่ไว้ใจความสามารถของคนไทยด้วยกันเองซึ่งจะว่าไปแล้วมันคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บอลไทยของเราไปได้ไกลในระดับภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น

ผมขออนุญาตไม่วิจารณ์การทำทีมฟุตบอลชาติไทยแล้วกันนะครับ เนื่องจากผมเชื่อว่าทุกคนก็พยายามกันอย่างเต็มที่แล้ว เพียงแต่ว่าความพยายามของเราอาจจะยังไม่เพียงพอเทียบเท่ากับการเอาจริงเอาจังของชาติเอเชียด้วยกันอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิหร่าน จีน การ์ตาร์ แม้กระทั่งวันนี้อาจจะมีสิงค์โปร์ย่องมาอย่างเงียบๆ

ผมแอบเชื่อลึกๆว่า หากวันใดทีมฟุตบอลไทยของเราประสบความสำเร็จจนไปถึงฟุตบอลโลกได้ บางทีคนไทยอาจจะเลิกทะเลาะกันนั่นหมายถึงว่าเรารู้แล้วว่าจริงๆแล้วถ้าเราสามัคคีกันชาติพันธุ์ของเราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครและท้ายที่สุดเราก็จะหันมาเคารพความคิดเห็นของพวกเรากันเองโดยไม่มองว่า “มึงโง่กว่ากู” หรือ “มึงนั่นแหละคือตัวถ่วงความเจริญของชาติ”

บางครั้งการพ่ายแพ้อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนอย่างที่ทีมชาติ “อาวี” เจอนั้น อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของชัยชนะในอนาคตเมื่อเราทุกคนหันมาสามัคคีและเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เผื่อไม่แน่ทีมชาติไทยจะได้ไปบอลโลกกับเขาได้เสียทีใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

No comments: