Jul 23, 2008

Notting Hill รักของเธอมีจริงหรือเปล่า?




กล่าวกันว่าการสร้าง “หนังรัก” ให้เป็นที่ประทับใจผู้ชมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ เพราะหากผู้กำกับใส่ความโรแมนติคมากจนเกินไป หนังรักเรื่องนั้นก็จะดูจะมีรสหวานปนเลี่ยน แต่ถ้ามัวแต่เติมความรันทดมากจนเกินเหตุ หนังรักก็อาจจะมีรสเหมือนกาแฟดำผสมยาขมน้ำเต้าทอง

กระบวนผู้กำกับและมือเขียนบทที่เขียนหนังรักได้ “กลมกล่อม” ที่สุดในยุคนี้ น่าจะหนีไม่พ้น “ริชาร์ด เคอร์ติส” (Richard Curtis) นะครับ

ริชาร์ด เคอร์ติส คือ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังรักโรแมนติค คอมมิดี้ (Romantic Comedy) หลายต่อหลายเรื่องซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นหนังรักพันธุ์อิงลิชครับ

เคอร์ติส สร้างชื่อให้กับตัวเองในการเป็นมือเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Four Weddings and Funeral (1994) หนังรักที่ส่งให้ ฮิวจ์ แกรนท์ (Hugh Grant) กลายเป็นพระเอกจอมเปิ่น ผู้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากพระเอกในหนังรักทั่วไป

เคอร์ติส เป็นเพื่อนซี้กับ “โรแวน แอตกินสัน” (Rowan Atkinson) หรือ Mr. Bean นั่นเองครับ ด้วยเหตุนี้เคอร์ติสจึงมีส่วนในการสร้างสรรค์ซีรีส์ตลกสุดคลาสสิคอย่าง Mr. Bean (1990-1995) ด้วย

นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่อง Bridget Jones’s Diary ก็เป็นผลงานของเคอร์ติสในการพัฒนาบทภาพยนตร์จากนิยายขายดี ของ “เฮเลน ฟิลด์ดิ้ง” (Helen Fielding) อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่า เคอร์ติสจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์รักโรแมนติค คอมมิดี้เพียงเรื่องเดียว นั่นคือ Love actually (2003) ครับ

สำหรับหนังรักโรแมนติค คอมมิดี้ อีกเรื่องที่ ริชาร์ด เคอร์ติส สร้างสรรค์บทภาพยนตร์ จนเป็นเรื่องที่มีผู้ชมจดจำกันได้มากที่สุด คือ Notting Hill (1999) ครับ

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันมาแล้ว Notting Hill (1999) เป็นผลงานการกำกับของ “โรเจอร์ มิเชล” (Roger Michell) มีเคอร์ติส เป็นผู้เขียนบท ซึ่ง Tag Line หรือคำโปรยของหนังเรื่องนี้ใช้ว่า “Can the most famous film star in the world fall for just an ordinary guy?” ถ้าแปลแบบไทยๆก็คงทำนองว่า “เจ้าดอกฟ้าจะโน้มตัวลงมาหลงรักไอ้หมาวัดได้หรือเปล่า?”

จริงๆแล้วคำว่า “Ordinary Guy” มันก็คงไม่ถึงกับต่ำต้อยมากนัก เพียงแต่ว่าสำนวนไทยๆมันก็ทำให้เราเห็นภาพพจน์ดีเหมือนกันนะครับ

ผมมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้อย่างตั้งใจจริงๆ 2 รอบ ครับ รอบแรกนั้นผ่านมานานมากแล้ว ส่วนรอบที่สองเพิ่งจะดูไม่กี่วันมานี้

ผมไม่แน่ใจว่าด้วยอายุที่มากขึ้นหรือเปล่าจึงทำให้รู้สึกว่า Notting Hill ของเคอร์ติสนั้นพยายามจะบอกอะไรกับคนดูโดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รัก”

หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นชีวิตของ “วิลเลี่ยม แทกเกอร์” (William Thacker) หนุ่มอังกฤษธรรมดาๆซึ่งมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตคู่จนทำให้ต้องหย่าร้าง

“แทกเกอร์” ซึ่งนำแสดงโดย “ฮิวจ์ แกรนท์” นั้นเล่นบทนี้ชนิดได้ใจเลยครับ เพราะเขาแสดงให้เราเห็นถีงความเจ็บปวดที่แสดงออกมาทางแววตาได้ดีพอๆกับอารมณ์ขันแบบฝืดๆที่มีอยู่เหลือเฟือ แต่โดยรวมแล้ว นายแทกเกอร์คนนี้เป็นคนมองโลกในแง่ดีเสมอนะครับ ซึ่งผมว่าคุณสมบัติข้อนี้แหละครับที่ทำให้ “แอนนา สก๊อต” (Anna Scott) ดอกฟ้าจากฮอลลีวู้ด มองเห็น

บางทีดารานักแสดง เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเราๆท่านๆแหละครับ เพียงแต่ว่าอาชีพของเขาคือ “การแสดง” ด้วยเหตุนี้ “ชีวิตดารา” (แหม่! ชื่อเหมือนหนังสือก๊อซซิปรายสัปดาห์เลย) จึงเป็นชีวิตที่ออกจะแตกต่างจากชีวิตคนธรรมดาสามัญ

ชีวิตส่วนตัวที่หดหายไปและการเป็นบุคคลสาธารณะนั้น คือ ราคาที่ผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายต้องจ่ายเพื่อแลกมาซึ่ง “เงินตราและชื่อเสียง” ครับ อย่างไรก็ตามผมก็ยังเชื่อว่าพวกเขาก็มีอารมณ์ความรู้สึก เจ็บเป็น เสียใจเป็น ร้องไห้เป็น อายเป็น เหมือนคนทั่วไป
ริชาร์ด เคอร์ติส ได้ทำให้หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยคำคม (Quote) หลายๆประโยค เช่น “For June who loved this garden from Joseph who always sat beside her.” Some people do spend their whole lives together. ประโยคนี้ “แอนนา สก๊อต” ได้อ่านข้อความที่จารึกบนเก้าอี้ยาวในสวนสาธารณะซึ่งแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เธอต้องการที่สุดจากความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รัก” นั้น คือ แค่หาใครสักคนที่เข้าใจและจริงใจกับเธอและพร้อมจะอยู่ร่วมกับเธอตลอดไป

ถ้าดูกันเผินๆมันเป็นเรื่องธรรมดาๆมากนะครับ เพราะใครๆก็อยากมีชีวิตคู่ยืนยาวกันทั้งนั้น แต่เอาเข้าจริงอาจมีเพียงไม่กี่คู่เท่านั้นที่ได้อยู่ร่วมหอลงโลงด้วยกันจนแก่จนเฒ่า

และที่น่าแปลกไปกว่านั้น คือ ผู้คนส่วนใหญ่ยิ่งใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนานเท่าไร ดูเหมือนความรักมันจะค่อยๆถดถอยลงตาม “กฎที่ว่าด้วยการลดน้อยถอยลงของความพึงพอใจหน่วยสุดท้ายในการบริโภคสินค้า” หรือ Diminishing marginal utility law

ที่กล่าวมานี้คงไม่ใช่ทุกคู่หรอกครับที่จะเป็นไปตามกฎดังกล่าว เพราะบางคู่ยิ่งใช้ชีวิตร่วมกันนานขึ้นเท่าไร ความรักและความผูกพันมันยิ่งแปรผันตาม ซึ่งรักแบบเนี้ยแหละครับ ที่เขาเรียกกันว่า “รักแท้” หรือ “รักกันจริง”

ตัวอย่าง “คู่รัก” ที่ผมประทับใจมากที่สุด คือ คู่ของคุณรพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) กับ คุณชูศรี พุ่มชูศรี ทั้งสองท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ

ความรักของท่านทั้งสองได้แสดงให้คนรุ่นพวกเราได้เห็นว่า “ความรักที่แท้” นั้นมันเป็นเช่นไร เมื่อปีที่แล้วคุณสุวัฒน์นั้นเสียชีวิต ขณะที่คุณชูศรีกำลังนอนป่วยอยู่ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันคุณชูศรีก็เสียตาม การครองเรือนด้วยกันมากกว่าครึ่งศตวรรษนั้นทำให้ทั้งคู่ฝ่าฟัน
ทุกอย่างมาด้วยกันซึ่งผมขออนุญาตใช้คำว่า “ทั้งสองท่านมีหัวใจดวงเดียว” กันไปแล้ว

ปัจจุบันคนหนุ่มสาวรุ่นพวกเราส่วนใหญ่มักจะ “รักง่ายหน่ายเร็ว” เข้าทำนองอยู่กันจน “หม้อข้าวไม่ทันดำ” และเหตุผลสำคัญที่ถูกนำมาใช้กล่าวอ้างบ่อยที่สุดในวันที่ทั้งสองตัดสินใจหย่าร้างกันก็คือ “เราเข้ากันไม่ได้” หรือ “เราไปด้วยกันไม่ได้” หรือ “เค้าก็มีโลกส่วนตัวของเค้า ส่วนฉันก็มีโลกส่วนตัวของฉัน”

ทั้งหมดที่กล่าวมาผมขออนุญาตไม่วิจารณ์นะครับ, เพราะยังไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตคู่ นอกจากนี้หลายคนเชื่อว่า การตัดสินใจแต่งงานเหมือนกับการแทงหวยครับ หากเจอคู่ที่ดีจริงๆก็ “ถูกหวย” แล้วแต่ว่าจะถูกรางวัลอะไร แต่หากเจอคู่ที่ไม่ดีก็ “ถูกกิน” แถมยังต้องมานั่งเจ็บปวดอีก

ด้วยเหตุนี้แหละครับที่ “วิลเลียม แทกเกอร์” ซึ่งเคยถูกหวยกินมารอบหนึ่งแล้วจากชีวิตคู่ที่ต้องหย่าร้าง จึงยังไม่มั่นใจนักว่ารักของ “แอนนา สก๊อต” นั้นจะมีให้กับเขาจริงหรือเปล่า เพราะสถานะของทั้งสองนั้นต่างกันราวฟ้ากับดิน

ขณะที่ “แอนนา สก๊อต” ก็กำลังมองหาใครสักคนที่มีความจริงใจและพร้อมจะอยู่เคียงข้างเธอตลอดไปเหมือนข้อความที่สลักอยู่บนเก้าอี้ในสวนสาธารณะ

ท้ายที่สุดผมเชื่อว่า ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงเอยใช้ชีวิตคู่กับใครนั้น เราคงต้องถามตัวเองให้แน่ใจเสียก่อนนะครับว่า “รักของเราที่มีให้เขานั้นมันมีจริงหรือเปล่า” ในทำนองเดียวกันเราก็คงต้องถามเขากลับด้วยว่า “แล้ว..รักของเธอล่ะ …มีจริงใช่มั๊ย”

Hesse004

No comments: