Dec 19, 2008

เศรษฐศาสตร์แบบ “อภิสิทธิ์”





ในฐานะ “นักเรียนเศรษฐศาสตร์” ผมยินดีอยู่ไม่น้อยที่เห็นนายกรัฐมนตรีของประเทศมาจากแวดวงวิชา “เศรษฐศาสตร์” ในอดีตนั้นเรามีผู้นำประเทศที่มีพื้นฐานทางการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อยสองท่านครับ

ท่านแรก คือ ท่านอาจารย์ “ปรีดี พนมยงค์” นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย มันสมองของคณะราษฎรและผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านปรีดีจบปริญญาเอกทางด้านกฎหมายมาจากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครับ นอกจากนี้ท่านยังสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือ Diplome d’Etudes Superieures d’Economic Politique ด้วยเหตุนี้เองท่านปรีดีจึงเป็นผู้วาง “เค้าโครงเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ซึ่งจะว่าไปแล้วในอดีตนั้นประเทศของเรามีบุคลากรที่เรียกว่า “นักเศรษฐศาสตร์” (Economist) น้อยมากครับ

ผู้นำประเทศคนต่อมาที่มีพื้นความรู้การศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ คือ “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ครับ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ จบการศึกษาด้านวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์และการเมือง (Philosophy, Politics and Economics-PPE) จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Oxford University) ครับ

สำหรับคุณอภิสิทธิ์นั้น นับเป็นผู้นำประเทศคนที่สามที่มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์และเคยเป็นอาจารย์ประจำที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2533-2534

อย่างที่ทราบกันว่าคุณอภิสิทธิ์นับเป็นผู้นำประเทศที่มีประวัติทางการศึกษาคล้ายคลึงกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ โดยจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดเหมือนกันแถมยังมีดีกรีเกียรตินิยมพ่วงท้ายเหมือนกันอีกด้วย

จากประวัติการศึกษาที่ดีเยี่ยมของคุณอภิสิทธิ์บวกกับความเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของ “รัฐบาลอภิสิทธิ์ 1” แม้ว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจจะไม่ได้ดำเนินการตามลำพังเพียงคนเดียวก็ตาม แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมคิดว่าความเข้าใจที่ดีพอต่อปัญหาและกลไกเศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ของเศรษฐกิจโลกที่เชี่ยวกรากนั้นนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่จะมาเป็นผู้นำประเทศทั้งในวันนี้และในวันหน้า

เมื่ออาทิตย์ก่อน ผมได้กลับไปอ่าน “บทความวิชาการ” ที่คุณอภิสิทธิ์เขียนลงในวารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 และ 4 พ.ศ.2534 โดยบทความวิชาการดังกล่าวมีชื่อว่า “ทิศทางวิชาเศรษฐศาสตร์” ซึ่งประกอบไปด้วยสองตอนครับโดยตอนที่ 1 เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์จุลภาค ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ให้คำโปรยไว้ว่า “ความพยายามที่จะปรับทฤษฎีให้เข้าหาความเป็นจริง” ส่วนตอนที่สองเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ตั้งคำถามไว้น่าสนใจว่า “ยังห่างไกลจากความเป็นเอกภาพ”

บทความชุดดังกล่าวนับเป็นบทความที่สะท้อนให้เห็นทักษะความเป็นนักวิชาการของคุณอภิสิทธิ์ได้ดีอย่างยิ่ง เนื่องจากคุณอภิสิทธิ์สามารถร้อยเรียงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในช่วงระหว่างทศวรรษแปดสิบได้เป็นเรื่องเป็นราวคล้ายกับการทบทวนวรรณกรรมแนวคิดที่ปรากฏในวิชาหลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค

แต่อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คุณอภิสิทธิ์ตัดสินใจหันหลังให้กับงานวิชาการและกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2535

โดยทั่วไปพื้นฐานความรู้ทางการศึกษาของผู้นำประเทศมีส่วนสะท้อนซึ่ง “วิธีคิด” หรือ “กระบวนการตัดสินใจ” ในการบริหารประเทศไม่มากก็น้อยนะครับ โดยส่วนตัวแล้วผมสันนิษฐานว่าผู้นำประเทศส่วนใหญ่มักมาจาก “นักกฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ รวมไปถึงอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ผู้นำประเทศที่มีพื้นฐานมาจาก “นักการทหาร” ก็สามารถพบได้ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับผู้นำประเทศที่มาจาก “นักเศรษฐศาสตร์” หรือ “นักเรียนเศรษฐศาสตร์” นั้น เท่าที่ผมจำได้ก็น่าจะมีอดีตประธานาธิบดี “โรนัลด์ เรแกน” (Ronald Reagan) ครับ เรแกนนั้นจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จาก Eureka College ในมลรัฐอิลินอยส์ (Illinois) นอกจากนี้ชื่อเสียงของเรแกนยังถูกนำไปใช้เรียกแนวคิดเศรษฐศาสตร์ของนักเศรษฐศาสตร์ฝั่งอุปทาน (Supply side economics) หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “เรแกนโนมิคส์” (Reaganomics)

เช่นเดียวกันกับนาย “จุนอิชิโร่ โคอิซูมิ” (Junichiro Koizumi) อดีตนายกรัฐมนตรีสุดเท่ห์ของชาวญี่ปุ่นก็จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคโอะ (Keio University) ครับ ในปัจจุบันยังมีผู้นำประเทศที่มีชื่อเสียงอย่างน้อยสองคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ โดยคนแรก คือ ดร.มาโมฮาน ซิงห์ (Mamohan Singh) ของอินเดีย และอีกคนคือ ดร.กลอเรีย มาร์คาลปากาล อาร์โรโย่ (Gloria Marcapagal Arroyo) แห่งฟิลิปปินส์ ครับ

“มาโมฮาน ซิงห์” (Mamohan Singh) จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกจากUniversity of Oxford Nuffield College โดย ดร.ซิงห์เคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำไอเอ็มเอฟก่อนจะกลับอินเดียมาสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ใน University of Delhi และ Jawarharal Nehru University ซึ่งจะว่าไปแล้ว “ซิงห์” คือ มือเศรษฐกิจในระดับต้นๆของแดนภารตะที่มีส่วนวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดียให้ค่อยๆเติบโตอย่างมั่นคงในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา

สำหรับ “นางอาร์โรโย่” ผู้นิยมแนวคิดเศรษฐกิจแบบ “ทักษิโนมิคส์” (Thaksinomics) นั้น จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก University of Philippines ครับ หลังจากนั้นอาร์โรโย่เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ในกรุงมนิลา ก่อนจะได้รับคำเชื้อเชิญจากอดีตประธานาธิบดีคอราซอน อาควิโน่ (Corazon Aquino) ให้เข้าสู่แวดวงการเมืองในฐานะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์

ทั้งหมดที่ผมได้เรียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบนั้นจะเห็นได้ว่า อาชีพ “นักเศรษฐศาสตร์” เริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้นโดยเฉพาะการนั่งในตำแหน่งผู้นำประเทศ

แม้ว่าความเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” จะทำให้มองเห็นปัญหาและกลไกของระบบเศรษฐกิจประเทศตัวเองและกลไกของเศรษฐกิจโลกได้แจ่มชัด ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์ล้วนได้รับการปลูกฝังสรรพวิชาจากตำราเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยม อย่างไรก็ตามเมื่อพวกเขาลงมา “กุมบังเหียน” ของจริง บางครั้งตำราอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ทั้งหมดซึ่งบางครั้งปัญหาเศรษฐกิจอาจจะไม่ซับซ้อนอะไรมากไปกว่าเรื่อง “ความเป็นอยู่หรือปัญหาปากท้องของชาวบ้าน” ไม่ว่าจะเป็นของแพง ค่าแรงถูก

ท้ายที่สุดผมแอบลุ้นลึกๆว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ท่านนี้อาจสร้างแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เผื่อวันหน้าอาจมีใครเรียกแนวคิดของท่านว่า “มาร์โคโนมิคส์” (Marconomics) หรือ “เศรษฐศาสตร์แบบอภิสิทธิ์” ไงล่ะครับ

Hesse004

No comments: