Sep 7, 2008

“สายล่อฟ้า” หากคำว่ารักมันร้ายกับเธอมากไป!





“คุณต้อม” ยุทธเลิศ สิปปภาค นับเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยท่านหนึ่งที่ทำหนังได้น่าสนุกไม่น้อยนะครับ วานก่อนผมมีโอกาสได้ดูงานของคุณต้อมสองเรื่อง คือ บุปผาราตรี (2546) และ สายล่อฟ้า (2547)

ยุทธเลิศเป็นผู้กำกับที่ทำหนังได้หลายแนวครับ โดยเรื่องล่าสุด เป็นหนังรักที่ชื่อ รัก/สาม/เส้า (2551) ซึ่งว่ากันว่าเป็นการรีเมค “โอเนกกาทีฟ” เมื่อสิบปีที่แล้ว

ความน่าสนใจที่ปรากฏในหนังของยุทธเลิศนั้นอยู่ที่ประเด็นการนำเสนอที่มีความชัดเจนพร้อมๆกับการเหยาะความบันเทิงได้ด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ประมาณว่าบทจะฮาก็ฮาขี้แตกขี้แตน บทจะซึ้งก็ซึ้งจริงๆ ด้วยเหตุนี้เองหนังของยุทธเลิศส่วนใหญ่จึงเป็นหนังที่ดูไม่ยากแต่มีแง่คิดแฝงอยู่ตลอด

สำหรับ “สายล่อฟ้า” นั้น ยุทธเลิศได้ฉีกวิธีการนำเสนอหนังรักให้ต่างไปจากหนังรักทั่วไปนั่นคือ ให้ดาราหน้าตาดีอย่าง “คุณเต๋า” เล่นเป็นเพื่อนพระเอก ขณะที่ให้ดาวตลกหน้าทะเล้นอย่าง “คุณโหน่ง” รับบทพระเอก

การฉีกวิธีนำเสนอดังกล่าวนอกจากจะสร้างความแปลกให้กับวงการหนังไทยแล้ว ประเด็นที่ยุทธเลิศพยายามสื่อสาร คือ “คุณค่าของความรัก” ซึ่งจะว่าไปแล้วใครบางคนตีคุณค่าของความรักไว้สูงส่งจนเป็นเหตุให้ “เต่า” (รับบทโดยเต๋า สมชาย) พูดถึง “ตุ่น” (รับบทโดยโหน่ง สามช่า) ว่าเป็นคนที่บูชาและศรัทธาในความรักมาก

นอกจากนี้ยุทธเลิศยังได้พัฒนาบทหนังให้มีการผูกเงื่อนปมที่ดูเหมือนยิ่งแก้ ยิ่งมัดแน่น ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรบกวนท่านผู้อ่านลองไปหาหนังเรื่องนี้ชมดู จริงๆแล้วสไตล์การทำหนังแบบนี้ผมเชื่อว่ามีเสน่ห์อยู่ไม่น้อยนะครับ

สไตล์การทำหนังแบบผูกเงื่อนปมนั้นปรากฏในหนังแนวอินดี้ๆอย่าง Snatch (2000) ของ กาย ริชชี่ (Guy Ritchie) รวมไปถึง The Big Lebowski (1998) ของสองศรีพี่น้องตระกูลโคเอน (Cohen Brothers)

แม้ว่าหนังจะไม่ได้ปูให้เห็นถึงที่มาที่ไปในความสัมพันธ์ของ “ตุ่น” กับ “นก” (รับบทโดยเมย์ พิชนาฎ) ว่าทำไมไอ้ตุ่นเซียนพระถึงหลงรักสาวไซด์ไลน์อย่างน้องนก จนหัวปักหัวปำ แต่หลายครั้งดูเหมือนเป็นที่เข้าใจกันว่า “ความรัก” มักเป็นเรื่องของอารมณ์ที่ยากยิ่งนักจะหาเหตุผลมาอธิบาย

มีคำพูดเชยๆจากนักรักแห่งเมืองสุพรรณว่า “คนบางคนใช้ “สมอง” ที่จะรักใครคนหนึ่ง แต่คนบางคนกลับใช้ “หัวใจ” ที่จะรัก” … ขออนุญาตกลั้นหายใจสักครึ่งนาทีนะครับ

จุดที่น่าสนใจอย่างยิ่งของหนังเรื่องนี้ คือ การผูกโครงเรื่องไว้กับเพลงที่ต้องวงเล็บไว้ด้วยว่าของ “ค่ายแกรมมี่” เริ่มจากเพลงเก่าอย่าง “สายล่อฟ้า” ซึ่งเป็นเพลงดังของอัสนี-วสันต์

“สายล่อฟ้า” เป็นเพลงที่อยู่ในอัลบั้มผักชีโรยหน้า (2530) โดยในเรื่องเพลงๆนี้เป็นเพลงโปรดของบักเต่าที่เวลาไปร้องเกะที่ไหนก็จะร้องแต่เพลงนี้จนเป็นเหตุแห่งการชุมนุมสหบาทาของ ผู้หมั่นไส้ในท่าทางยียวนของหนุ่มเต่า

ความหมายของเพลงสายล่อฟ้าน่าจะสะท้อนบุคลิกของตัวละครอย่าง “เต่า” ได้ดีว่า “ไม่เคยกลัวฝน ไม่เคยกลัวฟ้า” ขณะที่เซียนตุ่น พระเอกของเรื่องกลับมีบุคลิกที่ขัดกับเต่าสิ้นเชิง กล่าวคือ ตุ่นออกจะเป็นเงียบๆ ขี้อาย ไม่ทะเล้นเหมือนกลุ่มแก๊งค์ของเขา

บุคลิกเหล่านี้ทำให้ตุ่นดูจะเป็นคนอ่อนไหวและจริงจังกับความรักแม้ว่าจะเป็นรักแรกพบก็ตาม

สำหรับอีกเพลงที่กลายเป็นหัวใจของเรื่องนี้ คือ “ฉันอยู่ตรงนี้” ของคณะแบล๊คเฮด (Black Head) ที่ว่ากันว่าคุณปู ร้องเพลงนี้ได้ซึ้งใจยิ่งนัก

“ฉันอยู่ตรงนี้” เป็นเพลงลำดับที่หกในอัลบั้มชุด Handmade (2546) ซึ่งเนื้อหาของเพลงนี้พูดถึงความรักที่จริงใจใสซื่อของคนๆหนึ่ง และหากจะว่าไปแล้ว “ฉันอยู่ตรงนี้” ก็คือตัวแทนของ “ความรักที่แท้” ซึ่งผมชักไม่แน่ใจแล้วว่ามันจะมีอยู่จริงหรือเปล่า?

บางทีคำว่า “รักแท้” อาจเปรียบเสมือนตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) ที่กลายเป็นตลาดในอุดมคติของนักเศรษฐศาสตร์ไปก็ได้นะครับ

ท่อนฮุกที่กลายเป็นที่นิยมของเหล่านักร้องเกะแถวซอยทองหล่อ คือ ท่อนที่ร้องว่า “หากคำว่ารักมันร้ายกับเธอมากไป บอกมาได้ไหม ให้ฉันช่วยซับน้ำตา ส่งใจช้ำๆของเธอมา ฉันจะรักษาเธอด้วยรักจริง…”

ใครบางคนไม่เคยเจอความรักที่แท้จริง ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังไม่เจอคนที่ใช่ บางคนเจอแต่คนที่หลอกลวง บางคนเจอแต่เรื่องเลวร้ายจากความรัก หรือสุดท้ายบางคนเชื่อว่าเป็น “เวรกรรม”ที่ทำให้เขาเหล่านั้นไม่เคยเจอกับคำว่า “รัก” เสียที

มองในมุมนักเศรษฐศาสตร์, ความรักก็เปรียบเสมือนกลไกการจัดสรรทรัพยากรแห่งความสุข สร้างผลกระทบเชิงบวก (Positive Externality) นั่นคือยิ่งบริโภครักมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สวัสดิการสังคมดีขึ้นเท่านั้น

มองในมุมนักกฎหมาย, ความรักเปรียบเสมือนการทำ “นิติกรรม” ชนิดหนึ่งซึ่งคู่สัญญาที่ร่วมทำนิติกรรมแห่งรักมักจะภาวนาไม่ให้นิติกรรมครั้งนั้นกลายเป็น “โมฆะ”

กล่าวมาถึงตรงนี้บางที “รักแท้” ในมุมมองของคุณยุทธเลิศอาจเปรียบเสมือน “สายล่อฟ้า” ก็เป็นได้นะครับเพราะหน้าที่ของสายล่อฟ้า คือ คอยถ่ายประจุไฟฟ้าจากก้อนเมฆลงสู่ดินเวลาฝนตกซึ่งถ้าเรามีสายล่อฟ้าอยู่มันก็จะถ่ายผ่านสายล่อฟ้าแทนที่ฟ้าจะหันมาผ่าเรา ซึ่งมันก็คงเหมือนกับ “รักแท้” ของใครคนหนึ่งที่พร้อมจะรองรับ “อารมณ์ฟ้าผ่า” ของอีกคนหนึ่งได้อยู่เสมอ

Hesse004

1 comment:

Unknown said...

.... ^_^

ชอบการเปรียบเทียบกับ ตลาดที่เป็น Perfect Competition จัง

ส่วนเรื่องนิติกรรม กับเรื่องความรัก โมฆะอาจไม่ร้ายเท่าโมฆียะก็ได้นะ :)