Dec 1, 2008

การเมืองเรื่องของ “สี”





ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมแทบไม่มีเวลาจะเขียนอะไรเลยครับ เนื่องจากเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการปรับปรุงโครงร่างวิทยานิพนธ์ นอกจากนี้เหตุการณ์ต่างๆทางการเมืองยิ่งทำให้ “บั่นทอน” อารมณ์และจินตนาการบางอย่างไม่มากก็น้อย

สำหรับผมแล้ว การเมืองเป็นเรื่องของ “รสนิยม” (Taste) ครับ นั่นหมายถึง การที่เราจะรักหรือศรัทธาใครก็แล้วแต่ขึ้นอยู่กับรสนิยมและฐานคติของแต่ละบุคคล

จะว่าไปแล้วการเมืองไทยวันนี้มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของรสนิยมของคนสองกลุ่มหรือถ้าจะพูดให้ถูก คือ คนกลุ่มหนึ่งชื่นชอบ “การเมืองแบบสีเหลือง” (Yellow Politic) ขณะที่คนอีกกลุ่มชื่นชม “การเมืองแบบสีแดง” (Red Politic)

การเมืองแบบสีเหลืองมุ่งเน้นไปที่อุดมการณ์ของประชาธิปไตยแบบใหม่ที่ไม่ต้องการเห็นการเมืองระบบตัวแทนแบบเดิมๆเข้าไปโกงกินฉ้อฉลหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ธนกิจการเมือง” (Money Politic) ผู้ที่นิยมบริโภคการเมืองแบบสีเหลืองจึงมีความคาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองให้กลายเป็น “การเมืองใหม่”หรือ “ประชาภิวัฒน์” ซึ่งผมขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็นครับ

สำหรับการเมืองแบบสีแดงนั้นกลับมองเห็นความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบตัวแทนแบบเดิมโดยผู้บริโภคการเมืองแบบสีแดงเชื่อว่าประชาธิปไตยจะต้องมาจากการเลือกตั้ง (Voting) และการเลือกตั้งคือกลไกที่สามารถสะท้อนความต้องการของพวกเขาผ่านตัวแทนที่เขาเลือก ผ่านรัฐบาลที่เขาไว้ใจให้บริหารราชการแผ่นดิน

มองในแง่อุดมคติและอุดมการณ์ ผมเชื่อว่าการเมืองทั้งสองสีมีเจตนาดีต่อสังคมส่วนรวมเพียงแต่ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น การที่สังคมเลือกสีใดสีหนึ่ง สังคมย่อมมีค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) สำหรับคนอีกสีหนึ่งเสมอ

นั่นหมายถึงว่าระบอบประชาธิปไตยได้สร้างต้นทุนค่าเสียโอกาสให้กับคนกลุ่มน้อยที่ไม่สามารถสื่อสารความคิดความเห็นและความต้องการของตนเองผ่านกลไกทางการเมือง

การจัดตั้งมวลชน หรือ “ม๊อบ” (Mob) ของการเมืองสีเหลืองเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพตามกติกาใหญ่ของคนในสังคมนั่นคือ “รัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกันกับการแสดงพลังมวลชนของการเมืองสีแดงในช่วงเดือนที่ผ่านมา

เพียงแต่ว่าการเมืองของคนทั้งสองสีที่คิดและเชื่อไม่เหมือนกันนั้นดูจะไม่สามารถหาจุดที่เรียกว่า “อุตมภาพ”หรือ Optimum ได้เลย

ภายใต้เงื่อนไขการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จำกัดของคนในสังคมทั้งสองสีทำให้ผู้บริโภคการเมืองทั้งสองแบบไม่สามารถข้ามพ้นหลักการที่ตัวเองยึดเหนี่ยวได้ รังแต่จะสร้างความร้าวฉานแตกแยกและชิงชังมากขึ้น และนี่เองที่เป็นที่มาของคนที่พยายามจะเสนอเรื่องของ “การเมืองสีขาว” (White Politic) ที่อยากให้คนทั้งสองหันหน้ามาคุยกันเข้าทำนองว่า “หาจุดร่วม สงวนจุดต่าง”

แม้ว่าการเมืองสีขาวจะถูกกล่าวหาว่าเป็น “พวกตีกิน” จากการเมืองทั้งสองสีแต่ถ้ามองเจตนาของการเมืองสีขาวแล้วน่าจะเข้าใจดีว่าสิ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการคือความสงบและสันติภาพของคนในสังคม

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายนะครับ ทั้งนี้ไม่มีใครสามารถยอมรับข้อเสนอการเมืองใหม่ของผู้บริโภคการเมืองสีเหลืองได้ทั้งหมด เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครสามารถยอมรับความเลวร้ายแบบเดิมๆของการเมืองสีแดงได้ทั้งหมดเช่นกัน

ในช่วงปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสบริโภคการเมืองของคนทั้งสองสีนั่นหมายถึงว่าผมมีโอกาสรับรู้การต่อสู้ของมวลชนคนเสื้อเหลืองพอๆกับการนั่งฟังเหตุผลของคนเสื้อแดง

อย่างที่เรียนไปตอนต้นแล้วว่าผู้บริโภคการเมืองทั้งสองสีนั้นไม่สามารถก้าวพ้นปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารที่ทั้งสองฝ่ายได้บริโภค (Imperfect Information)

ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร คือ ปัญหาสำคัญที่ทำให้กลไกตลาดล้มเหลวนั่นหมายความว่าผู้ผลิตการเมืองทั้งสองสีไม่สามารถให้ข้อมูลที่ครบด้านในกระบวนการผลิตอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับผู้บริโภค

ทุกวันนี้ผู้บริโภคการเมืองทั้งสองสีแบบสุดโต่ง ได้กลายเป็นผู้บริโภคประเภท Corner Solution หรือเลือกที่เสพสินค้าการเมืองประเภทใดประเภทหนึ่งโดยไม่แบ่งใจไปยอมรับความหลากหลายของสินค้าการเมืองชนิดอื่นๆ

ในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศไทย ผมคงไม่มีอะไรเรียกร้องมากมายไปกว่าขอความสงบและสันติกลับคืนมาให้กับสังคมที่ผมเคยอาศัย ผมอาจเป็นผู้บริโภคประเภท Free Rider หรือ “ตีตั๋วฟรี” ที่ไม่ยอมออกไปเรียกร้องว่าผมจะเลือกบริโภคการเมืองของสีใด

สำหรับผมแล้ว การเมืองเป็นเรื่องของรสนิยมครับ การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่น่าเคารพนับถืออย่างยิ่ง เช่นเดียวกันกับการแสดงออกซึ่ง “อารยะขัดขืน” ก็เป็นมาตรการที่น่าประทับใจในการต่อสู้กับอำนาจที่เหนือกว่า

แต่หากการแสดงออกที่เกินขอบเขตจนถึงฆ่าฟันกันถึงแก่ชีวิตหรือปิดสนามบินโดยมีชะตากรรมของคนทั้งประเทศเป็นตัวประกันนั้นเพียงเพราะเราบริโภคการเมืองคนละสีกัน คำว่า "อารยะขัดขืน" จะกลายเป็น “อนารยะข่มขืน” ในที่สุด

ผมเองเป็นพวก “อารยะขบขัน” ครับ ผมยังอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ผมเติบโตมาด้วยความสงบสุขและสามัคคี

ลองสำรวจตัวเองดูสิครับว่า เราพอจะบริโภคการเมืองแบบหลายสี (โดยไม่ต้องสูญเสียอุดมการณ์) ได้หรือเปล่า? เผื่อบางทีเราอาจจะเข้าใจมากขึ้นว่า…ที่แท้การเมืองมันก็ไม่ได้มีแค่สีเหลืองหรือสีแดง

Hesse004

No comments: