Jul 12, 2008

นิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ ปตท.




วันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมเดินทางกลับจากนครสวรรค์โดยอาศัยรถตู้สาธารณะ สายนครสววรค์ - อนุสาวรีย์ชัยฯ และเมื่อถึงอยุธยารถตู้แวะเติมก๊าซเอ็นจีวี (NGV) ที่ปั๊ม ปตท. สารภาพตามตรงเลยครับว่าเป็นครั้งแรกที่ผมติดอยู่ในขบวนคิวรถนับสิบคันที่รอเติมก๊าซเอ็นจีวี โดยก่อนหน้านี้ผมเคยสงสัยเหมือนกันว่าเหตุใดจึงมีขบวนรถยาวเหยียดรอเติมเจ้า Natural Gas Vehicle นี้

นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2551, ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยเจอปัญหาหลายเรื่องนะครับไล่ตั้งแต่ราคาอาหารเฟ้อ (Agflation) มาจนกระทั่งวิกฤตการณ์พลังงานซึ่งผมไม่แน่ใจว่านักเศรษฐศาสตร์จะเรียกวิกฤตดังกล่าวว่า Oil Shock ครั้งที่ 3 หรือเปล่า

แต่ที่แน่ๆ วิกฤตหนนี้ทำให้ประชาชนทั่วโลกเดือดร้อนไปตามๆกัน ครับ ในเว็บไซด์ของสำนักข่าวบีบีซีได้ทำสกู๊ปติดตามเรื่องวิกฤตพลังงานซึ่งเหล่านักวิเคราะห์พยายามหาสาเหตุของราคาน้ำมันดิบ (Crude oil) ที่พุ่งเพิ่มไม่มีวันหยุด

สาเหตุแรกถูกพุ่งไปยังความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการบริโภคน้ำมันของจีนและอินเดียครับ เนื่องด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอยู่ในระดับสูงทำให้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต่างต้องการใช้พลังงานน้ำมันเพิ่มขึ้น

สาเหตุที่สองนักวิเคราะห์ได้โยนบาปอันนี้ไปยังเหล่ากองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge Fund) ด้วยเหตุผลที่ว่า “เฮ้ย! พวกเอ็งไม่มีอะไรจะให้เล่นกันแล้วเหรอวะ เลยต้องหันมาเก็งกำไรในน้ำมันดิบกัน”

สำหรับสาเหตุสุดท้ายคงหนีไม่พ้น “โอเปค” เจ้าเดิมล่ะครับที่ถูกมองว่ายังรอดูท่าทีแถมกั๊กการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันออกมาทำให้ราคาน้ำมันยังคงสูงขึ้นสร้างระดับ New High อยู่เรื่อยๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผมเชื่อว่าหน่วยงานผู้รับผิดชอบดูแลนโยบายพลังงานของบ้านเราคงเข้าใจถึงสภาพการณ์ดังกล่าวดีและคงหาเหตุผลในการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ไม่ยากเกี่ยวกับปัญหาราคาพลังงานที่แพงขึ้นทุกวัน

อย่างไรก็ตามผมยังคงสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอย่าง “ปตท.” ว่าพวกเขาจะมีส่วนช่วยบำบัดทุกข์ยากให้กับพวกเราอย่างไรบ้าง นอกเหนือจากการเป็นหัวหอกในเรื่องรณรงค์ให้คนเข้าคิวยาวเหยียดมาเติมก๊าซเอ็นจีวีของพวกเขา

ด้วยความบังเอิญหลือเกินครับ ผมมีโอกาสได้อ่านเอกสารประกอบการสัมมนาเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549

เอกสารดังกล่าวเป็นไฟล์ PowerPoint เรื่อง “การแปรรูป ปตท. เปลี่ยนรูป หรือ ปฏิรูป” ครับ ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ของคุณ “ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน” นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

หลังจากได้อ่านเอกสารดังกล่าวจบ , ผมรู้สึก “ตาส่วาง” ขึ้นเยอะเลยครับ และต้องขอบคุณรวมทั้งให้เครดิตกับคุณชื่นชมในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องดังกล่าวด้วยครับ

ปตท. หรือ ชื่อเดิม “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” นั้นเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2521 โดย ปตท. มีที่มาจากการรวมกันของ “องค์การเชื้อเพลิง” และ “องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย”

วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยขึ้นมาก็เพื่อ “เป็นกลไกของรัฐในการแทรกแซงการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ก๊าซและน้ำมันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม” ด้วยเหตุนี้เอง ปตท. ของเราคนไทยสมัยนั้นจึงเป็น “รัฐวิสาหกิจ”และเป็น “บริษัทน้ำมันแห่งชาติ” ครับ

อย่างไรก็ตาม ปตท. ของเราได้ถูกจับให้เป็นรัฐวิสาหกิจนำร่องในการแปรรูป ทั้งด้วยเหตุผลเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน หรือ กระแสการ Privatization ที่ยังไงซะรัฐก็หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แม้กระทั่งเหตุผลที่ว่าเราต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ (IMF) ที่สัญญาไว้ว่าจะต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ดังนั้น มติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 จึงได้สรุปออกมาโดยมีสาระสำคัญว่า “รัฐจะไม่ใช้ ปตท.เป็นกลไกในการแทรกแซงราคาน้ำมันอีกต่อไปแล้ว”

หลังจากวันนั้น ปตท. ได้ถูกแปลงสภาพเป็น “บริษัทมหาชน” ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2544 ครับ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

ปัจจุบัน กระทรวงการคลังของรัฐบาลไทยถือหุ้นใหญ่ใน ปตท. ร้อยละ 52 ขณะที่เอกชนถือหุ้นร้อยละ 48

หลังจากการแปรรูป ปตท., รัฐหันมาแทรกแซงราคาน้ำมันโดยใช้ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ผลทำให้หนี้ของกองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวครับ ขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็เริ่มเดินหน้าขยายตลาดในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันโดยมุ่งหวัง “กำไรสูงสุด” ตามหลักการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของวิสาหกิจเอกชนทั่วไป

ด้วยเหตุนี้เอง กำไรสุทธิของ ปตท. จึงเพิ่มพูนปรากฏตามตัวเลข ดังนี้ ครับ
ปี พ.ศ.2545 กำไร 24,507 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2546 กำไร 37,580 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2547 กำไร 62,666 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2548 กำไร 85,221 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2549 กำไร 95,260 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2550 กำไร 97,803 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าอัตรากำไรของ ปตท.ที่เติบโตนั้นเป็นไปแบบ “ก้าวกระโดด” ซึ่งแน่นอนล่ะครับว่าส่งผลดีต่อนักลงทุนผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนแห่งนี้

มองในแง่นักลงทุน, การถือหุ้นบริษัทที่มีผลกำไรมหาศาลแบบนี้ย่อมน่าชื่นใจไม่น้อยนะครับ ไม่ว่าจะรอรับเงินปันผลหรือรอขายเอาส่วนต่างจากราคาหุ้น

อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ของคนธรรมดาที่ไม่ใช่นักลงทุนกันบ้าง คำถามคือ เราได้อะไรจากผลกำไรของบริษัทมหาชนแห่งนี้บ้างครับ?

ผลกำไรที่เพิ่มพูนมหาศาลนี้ส่วนหนึ่งมาจากประสิทธิภาพการบริหารจัดการของ ปตท. ที่ดีขึ้นหลังจากแปรรูปแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากราคาพลังงานของโลกที่นับวันมีแต่ถีบตัวสูงขึ้นขณะที่ความต้องการบริโภคพลังงานก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากจะเกิดผลกำไรมหาศาลกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตามคำถามถึงผลกำไรดังกล่าวน่าจะผูกโยงไปถึงเรื่องที่ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)นั้น ได้สิทธิพิเศษจากรัฐในเรื่องที่ไม่ต้องมาแข่งขันกับโรงกลั่นน้ำมันรายอื่นๆด้วยหรือเปล่าทั้งที่ค่าการกลั่นปัจจุบันสูงกว่าระดับจุดคุ้มทุนอยู่มาก

ขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท. ยังสามารถครองสัดส่วนตลาดธุรกิจโรงกลั่นเกินกว่า 80% นั่นยิ่งสะท้อนภาพความเป็น “ขาใหญ่” ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันได้ดี

มิพักต้องเอ่ยถึงเรื่องกิจการท่อก๊าซที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คือ ผู้ผูกขาดดำเนินกิจการส่งก๊าซผ่านท่อแต่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้รับการโอนสิทธิต่างๆจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการจัดหา ขนส่งและจำหน่าย , สิทธิรับซื้อปิโตรเลียมที่ผลิตได้เป็นอันดับแรกจากผู้รับสัมปทานหรือ Right of First refusal รวมไปถึงสิทธิในการสำรวจ พัฒนาและผลิตปิโตรเลียมเสมือนหนึ่งเป็นผู้รับสัมปทานโดยการอนุมัติของ ครม.

นอกจากนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนอนุรักษ์เพื่อส่งเสริม NGV แถมด้วยคลังก๊าซ LPG ยังได้รับเงินอุดหนุนค่าขนส่งอีกด้วย

ขณะเดียวกันในแง่ของการเป็นวิสาหกิจเอกชน, คณะกรรมการบริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องบริหารธุรกิจโดยมุ่งเน้นผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น เช่นเดียวกับบริษัทลูกที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 50-67 นั้น ถือเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับคณะกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด

รายละเอียดที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้, ผมเพิ่งจะมา “ตาสว่าง” ก็จากการศึกษาค้นคว้าของคุณ “ชื่นชม” ที่เรียกได้ว่าเปิดให้เห็นชุดข้อมูลบางอย่างที่เราอาจจะไม่มีโอกาสได้รับรู้กันเท่าใดนัก

งานของคุณ “ชื่นชม” น่าจะได้รับเผยแพร่ผ่านทางสื่อสาธารณะนะครับ อย่างน้อยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกๆฝ่ายทั้งภาครัฐและ ปตท. เองจะได้ออกมาชี้แจงความจริงที่เกิดขึ้นในห้วงยามที่คนทั้งประเทศกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตพลังงาน

อ้อ! เพื่อเป็นการให้ข้อมูลรอบด้าน ทุกวันนี้ ผลประโยชน์ของปตท. สผ. หรือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม นั้นถูกส่งกลับคืนรัฐร้อยละ 33 ครับ

สุดท้ายนี้ผมนึกถึงสโลแกนคลาสสิคของ ปตท. เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วว่า “นิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ ปตท.” เป็นสโลแกนที่ดีมากนะครับ อย่างน้อยมันทำให้เห็นว่า คนไทยเราไม่เคยทิ้งกัน

หรือว่าสโลแกนของ ปตท. ในวันนี้จะเหลือแต่เพียงว่า “ทุกหยดน้ำมันของเรา คือ หยาดน้ำตาของคนไทยทั้งชาติ” ล่ะครับ

Hesse004

ปล. 1 .ผมต้องขอขอบคุณเอกสารของคุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน มากครับ สุดยอดจริงๆ
2. สำหรับสโลแกนในย่อหน้าสุดท้ายนั้นผมไม่แน่ใจว่าไปเจอในบล๊อกโอเคเนชั่นหรือกระทู้ในพันทิพย์ ซึ่งผมว่าเป็นสโลแกนที่ “โดน” มากครับโดยเฉพาะในเวลานี้

No comments: