Dec 28, 2008

ฟุตบอลไทย กับ พัฒนาการที่หยุดยั้ง




ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ยังคงติดตามผลงานของทีมฟุตบอลชายไทยในศึกซูซูกิอาเซียนคัพครั้งนี้ คงจะเริ่มรู้สึกแล้วว่าทีมชาติไทยไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียนอย่างที่เราเคยเข้าใจมาช้านาน

คำถามที่เกิดขึ้นในใจผมหลังจากที่เราแพ้ “ทีมชาติเวียดนาม” คาสนามราชมังคลากีฬาสถาน คือ เขาดีขึ้นหรือเรายังย่ำอยู่กับที่? คำตอบอาจจะเป็นไปได้ทั้งสองประการนะครับ เพียงแต่ว่าเราอยากจะยอมรับในคำตอบไหนมากกว่ากัน

ในฐานะที่เป็นผู้ชมคนเชียร์ทีมชาติไทยมาอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่เริ่มดูฟุตบอลเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผมพบว่าพัฒนาการของฟุตบอลไทยเรานั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้ามากครับ บางทีอาจจะพอๆกับพัฒนาการของนักการเมืองบ้านเรา

ว่ากันว่าความเข้มแข็งของระบบลีกในประเทศมีผลทำให้ทีมชาตินั้นแข็งแกร่งตามไปด้วย แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ยังไม่เห็นว่าลีกของเราจะเข้มแข็งแต่ประการใดทั้งๆที่ฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก (Thailand Premier League) ก่อตั้งมาได้สิบสองปีแล้ว

อย่างที่เคยเรียนไปแล้วครับว่า ผมไม่ขอวิจารณ์การทำงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเพราะผมเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาทำงานให้กับส่วนรวมย่อมมีความตั้งใจและเสียสละเป็นพื้นฐานอยู่แล้วเพียงแต่ว่าความเสียสละดังกล่าวนั้นเคลือบแฝงไปด้วยวัตถุประสงค์ส่วนตัวหรือไม่

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมน์หรือ Football Association of Thailand ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2459 ในสมัยรัชกาลที่หกครับ มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ประเทศของเราหรือ “สยาม” ในขณะนั้นสมัครเป็นสมาชิกฟีฟ่า (FIFA) เป็นลำดับที่สองของทวีปเอเชียครับโดยเราเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ก่อนฟุตบอลโลกครั้งแรก (พ.ศ.2473) ที่อุรุกกวัยจะถือกำเนิดขึ้นเสียอีก แต่อย่างไรก็ตามทีมชาติไทยยังไม่เคยได้เป็นตัวแทนของทวีปไปอวดแข้งฟุตบอลโลกกับเขาสักที

แม้ว่าสมาคมฟุตบอลของเราจะก่อตั้งมาช้านานแต่กว่าจะฟอร์มทีมชาติเพื่อลงแข่งในระดับนานาชาติก็ปาเข้าไปเมื่อปี พ.ศ.2495 โดยการแข่งขันฟุตบอลกับทีมต่างประเทศแมตช์แรกของทีมชาติไทยเรานั้นแพ้ให้กับทีมชาติเวียดนามใต้ (ในสมัยนั้น) ไป 3 ประตูต่อ 1 ครับ

อย่างไรก็ตามก็ตามดูเหมือนฟุตบอลไทยในช่วงก่อนปี พ.ศ.2500 นั้น เรามีโอกาสได้ลับแข้งกับนานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะแมตช์โอลิมปิกเกมส์ที่ทีมชาติไทยเคยเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายในโอลิมปิกส์เกมส์ครั้งที่ 16 เมื่อปี พ.ศ.2499 ซึ่งจัดที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย นั้น ผลปรากฏว่าแค่รอบแรกเราโดนต้นตำรับบอลอย่าง “ทีมสหราชอาณาจักร” สอนเชิงไป 9 ประตูต่อ 0 ครับ ซึ่งแมตช์ดังกล่าวถูกบันทึกให้เป็นสถิติความพ่ายแพ้ยับเยินที่สุดของทีมชาติไทย

หลังจากนั้นสิบสองปีต่อมาทีมฟุตบอลชายไทยก็เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์เกมส์ครั้งที่19 เมื่อปี พ.ศ.2511 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ผลปรากฏว่าทีมชาติไทยจอดแค่รอบแรกโดยเสียประตูไป 19 ประตู และยิงคืนมาได้ประตูเดียวในเกมส์ที่พบกับกัวเตมาลา

ในระดับเอเชียนั้น ทีมชาติไทยไปได้ไกลสุดในฟุตบอลเอเชียนคัพที่เราเป็นเจ้าภาพเมื่อ ปี พ.ศ.2515 โดยคว้าตำแหน่งที่สาม ขณะที่ในระดับเอเชียนเกมส์ เราทำได้ดีที่สุดโดยทะลุถึงรอบรองชนะเลิศ 4 ครั้ง

อย่างไรก็ตามในระดับภูมิภาคอาเซียน ทีมชาติไทยของเราดูจะยึดตำแหน่งหมายเลขหนึ่งมาโดยตลอดทั้งในกีฬาแหลมทองหรือกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน ซึ่งเราคว้าแชมป์ได้ทั้งหมด 13 ครั้ง โดยซีเกมส์ใน 8 ครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา เราผูกขาดเหรียญทองมาโดยตลอด

จะว่าไปแล้วการพัฒนากีฬาฟุตบอลของแต่ละชาตินั้นต้องเริ่มต้นจากการมีฟุตบอลอาชีพภายในประเทศที่เข้มแข็งก่อน นั่นหมายถึงว่าสมาคมฟุตบอลต้องมีส่วนผลักดันให้เกิดอาชีพ “นักฟุตบอล” เกิดขึ้นให้ได้

ด้วยคำว่า “อาชีพ” (Professional) จะทำให้คนที่รักจะประกอบสัมมาอาชีพนี้ย่อมตระหนักถึง “ความเป็นมืออาชีพ” และนี่เองที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการได้ “นักฟุตบอล” จริงๆ

อย่างไรก็แล้วแต่การเกิดขึ้นของฟุตบอลอาชีพจำเป็นต้องอาศัย “คนดู” ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อสมาคมฟุตบอลคิดจะ “ผลิตบริการฟุตบอลบันเทิง” ออกมาขายให้ผู้บริโภคได้เสพแล้ว สมาคมฟุตบอลต้องมีส่วนในการสร้างคุณภาพให้กับ “ลีก” ภายในประเทศให้สมกับที่ผู้เสพบริการฟุตบอลบันเทิงยอมเสียสตางค์เข้าไปดูนักฟุตบอลยี่สิบสองชีวิตฟาดแข้งกัน

ผมเชื่อว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยย่อมรู้ซึ้งในหลักการการบริหารลีกฟุตบอลอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดีสิบสองปีที่ผ่านมาของไทยลีกกลับไม่ได้ทำให้คนรักฟุตบอลอย่างผมมีความกระหายที่จะเข้าไปดูฟุตบอลลีกภายในประเทศเลย

ครั้งหนึ่ง “คุณ บอ.บู๋” คอลัมน์นิสต์ชื่อดังจากค่ายสตาร์ซอคเกอร์ เคยให้ความเห็นทำนองว่าที่ฟุตบอลไทยไม่พัฒนา เราไม่ควรมาโทษว่าเพราะคนไทยมัวแต่สนใจบอลนอก คุณ บอ บู๋ แนะนำว่าทางที่ดีเราควรหันกลับมามองตัวเราเองก่อนว่าลีกของเรามันไม่พัฒนาตรงไหน

ผมเห็นด้วยกับคุณ บอ.บู๋ ครับ ทั้งนี้หากเราใช้กรอบการวิเคราะห์ของวิชาเศรษฐศาสตร์มองความล้มเหลวของฟุตบอลอาชีพในบ้านเรา เราก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมผู้ผลิตบริการฟุตบอลบันเทิงอย่างสมาคมฟุตบอลนั้นไม่สามารถผลิตบริการฟุตบอลบันเทิงได้เป็นที่ประทับใจชาวไทยผู้บริโภคฟุตบอล

ผลจากความล้มเหลวของฟุตบอลลีกอาชีพทำให้ “สโมสรฟุตบอล” ไม่สามารถพัฒนาตนเองจนขยับขึ้นมาเป็น “ธุรกิจการกีฬา” เมื่อสโมสรไม่พัฒนา คำว่า “นักฟุตบอลอาชีพ” ก็ไม่เกิดเพราะนักฟุตบอล คือ แรงงานที่มีทักษะ (Skill labor)ในการผลิตบริการฟุตบอลบันเทิง นอกจากนี้นักฟุตบอลที่มีฝีเท้าดีก็ย่อมหาทางเลือกที่ดีให้กับตัวเองด้วยการย้ายตัวเองไป “ค้าแข้ง” ในลีกและสโมสรที่ให้ค่าเหนื่อยในระดับที่สมน้ำสมเนื้อกับการเป็น “นักฟุตบอลอาชีพ” ด้วยเหตุนี้เองนักเตะทีมชาติไทยของเราจึงนิยมไปค้าแข้งตั้งแต่ลีกล่างๆในยุโรป เอสลีกในสิงค์โปร์ เซมิโปรลีกในมาเลเซียรวมไปถึงวีลีกในเวียดนาม

อย่างไรก็ตามปัจจัยเล็กๆที่อาจทำให้บอลลีกภายในประเทศเริ่มพัฒนาได้ คือ การสร้างความรู้สึก “จังหวัดนิยม” ขึ้นมาก่อน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อความกระหายของแฟนฟุตบอลประจำจังหวัดที่อยากเข้ามาดูผลงานของจังหวัดตัวเอง เหมือนที่ครั้งหนึ่งบ้านเราเคยมีทัวร์นาเมนต์ “ยามาฮ่า ไทยแลนด์ คัพ” (Yamaha Thailand Cup) ซึ่งผมคิดว่าเป็นทัวร์นาเมนต์ที่มีสีสันมากที่สุดทัวร์นาเมนต์หนึ่งครับ

กรณีจังหวัดนิยม ผมชื่นชมการสร้างทีมของ “ชลบุรี เอฟซี” หรือ “ฉลามชล” (The Shark) ที่สามารถสร้างสีสันให้กับฟุตบอลไทยแลนด์ลีกได้ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา และเราคงแอบหวังลึกๆว่าจะมีจังหวัดต่างๆเริ่มหันมาพัฒนาและร่วมสร้างฟุตบอลลีกภายในประเทศอย่างจริงจังโดยไม่ต้องรอการชี้นำจาก “สมาคม” เพียงอย่างเดียว

ในวงการฟุตบอลอาเซียนด้วยกัน สิงค์โปร์กำลังพัฒนา “เอสลีก” (S-league) ของพวกเขาให้เจริญรอยตาม “เจลีก” (J-leauge) เช่นเดียวกับที่เวียดนามได้สร้างให้ “วีลีก” (V-league) มีความแข็งแกร่งจนทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคได้อย่างที่พวกเขาฝันไว้

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ดูการแข่งขันฟุตบอลระดับโรงเรียนประถมที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ผมสนุกไปกับเกมส์ที่เห็นเด็ก ป.5-ป.6 เล่นบอลกันด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นทุ่มเท มันเป็นภาพความสุขแบบเรียบง่ายที่ครั้งหนึ่งผมเชื่อว่าเด็กผู้ชายหลายคนคงเคยมีประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว

บางที “ฟุตบอล” อาจจะไม่ต้องการอะไรมากมายหรอกครับ ขอแค่ให้ “ใจ” ไปกับมันทั้งคนเล่น คนทำทีม หรือแม้แต่คนบริหารสมาคมฟุตบอลเองก็ตาม

Hesse004

1 comment:

Unknown said...

ชื่นชมแฟนบอลของฉลามชลจ้า

คนเล่นเล่นดี บางทีก็เพราะกองเชียร์ดีเนอะ
ไปแบบแพ็คคู่เลยล่ะ