Aug 11, 2008

"โจโฉ" นักเลงโบราณแห่งวุยก๊ก





หลังจากไปชมภาพยนตร์สามก๊ก ตอนศึกผาแดง (Red Cliff) ของจอหน์ วู (John Woo) อาการสามก๊ก มาเนีย (Three Kingdoms Mania) ของผม ก็กลับมากำเริบอีกครั้งหนึ่งครับ หลังจากที่เมื่อต้นปีเคยเป็นมาแล้วรอบหนึ่ง

มาคราวนี้ ผมกลับสนใจเรื่องของ “จอมวายร้าย” ที่อุตสาห์ล่องเรือพาทหารนับแสนบุกดินแดน “กังตั๋ง”

ใช่แล้วครับ…บุคคลที่ผมกำลังจะเขียนถึง คือ “โจ-เม้งเต้-โฉ” หรือ โจโฉ นั่นเองครับ

“โจโฉ” นับเป็นตัวละครในสามก๊กที่น่าจะมีคนพูดถึงไม่น้อยไปกว่าสามพี่น้องแห่งสวนดอกท้อและกุนซือเทวดาอย่าง “ขงเบ้ง” นอกจากนี้หนังสือสามก๊กฉบับเก็บเกร็ดตัวละครอย่าง “สามก๊ก ฉบับวณิพก” ของท่านยาขอบ, สามก๊ก ฉบับนายทุน ของท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ และสามก๊ก ฉบับคนเดินดิน ของคุณ เล่า ชวน หัว ได้วิเคราะห์ “โจโฉ” ในทุกรายละเอียดทุกซอกมุมที่หลากหลายแตกต่างกันไป

“ยาขอบ” ให้ฉายากับ “โจโฉ” ว่า “ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ” ขณะที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ดูจะนิยมโจโฉถึงกับให้เป็น “นายกตลอดกาล” ส่วนคุณเล่า ชวน หัว ก็ถึงขนาด “ผ่าสมองโจโฉ” ออกมาดูกันเลย

จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของ “โจโฉ” ซึ่งเป็นเรื่องราวของบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีนนั้น (ค.ศ.155- 220) ถูกตีความได้ในหลายแง่มุมนะครับ บ้างก็ว่าโจโฉ เป็นผู้นำที่ชั่วช้าสารเลวไม่ต่างอะไรกับ “ตั๋งโต๊ะ” บ้างก็ว่าโจโฉ คือ นักบริหารที่เก่งกาจในการวางแผนและเลือกใช้คน

ท่านยาขอบหรือ คุณ “โชติ แพร่พันธุ์” ได้บรรยายลักษณะของโจโฉไว้อย่างนี้ครับว่า

“เม้งเต้สูงไม่ถึงห้าศอก….นัยน์ตาของเขาเล็ก แต่มันกลิ้งกลอกแสดงความระวังระไวอยู่เสมอไม่ใคร่ยอมไว้วางใจต่อเหตุการณ์อันใด แม้เมื่อเขาสงสัยว่ามีความไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเขาเองปนอยู่เพียงเปอร์เซนต์เดียวก็ตาม”

ยาขอบยังได้เล่าถึงการทำงานใหญ่ครั้งแรกของโจโฉโดยเป็นโต้โผรวบรวมกองทัพธรรมสิบแปดหัวเมืองเพื่อปราบตั๋งโต๊ ทั้งที่ตอนนั้นโจโฉเพิ่งมีอายุแค่สามสิบห้า

โจ-เม้งเต้-โฉ ถึงหากจะเป็นนายพลผู้น้อยและอายุน้อย แต่ก็ได้อาศัยความที่ผู้มีอายุเห็นว่า เป็นเด็กปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมของมันนั่นแหละ ทะลึ่งบ้าง เสือกบ้าง ดันทุรังบ้าง ไกล่เกลี่ยเรื่องราวเริ่มต้นจะร้าวฉานของพวกผู้ใหญ่ได้ดีนัก มันเสนอความคิดเห็นของมันตะบมตะบันไปสิ”

ลักษณะของ “โจโฉ” ที่ยาขอบบรรยายมานี้สะท้อนให้ความเป็นคนคล่องแคล่วว่องไว ฉลาดหลักแหลม ช่างเจรจา สามารถทำงานประสานกับผู้คนทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ด้วยเหตุนี้บทบาทของโจโฉในช่วงต้นเรื่องสามก๊กจึงมีลักษณะเป็นคนหนุ่มไฟแรงที่ออกจะดันทุรังในบางครั้ง

“ความเคี่ยว” ของโจโฉค่อยๆปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากได้คำแนะนำของกุนซือเฒ่าอย่าง “ซุนฮก” ที่ให้ชูธงกองทัพธรรมพิทักษ์ปกป้องราชบัลลังก์พระเจ้าเหี้ยนเต้ ทำให้โจโฉมีสิทธิอันชอบธรรมในการปราบหัวเมืองกบฏที่คิดกระด้างกระเดื่องต่อราชสำนัก

อย่างไรก็ตามการยึดถือปรัชญาการเป็นผู้นำตลอดชีวิตของเขาที่ว่า “ข้าพเจ้าสมัครทรยศโลกมากกว่ายอมให้โลกทรยศข้าพเจ้า” (สำนวนท่านยาขอบ) ก็ยิ่งทำให้ภาพของโจโฉในช่วงที่เรืองอำนาจนั้นยิ่งน่ากลัวและมีความอำมหิตไม่แพ้ “ตั๋งโต๊” แต่สิ่งที่โจโฉแตกต่างจากตั๋งโต๊ะ คือ การรู้จักเลี้ยงคนและให้โอกาสผู้มีฝีมือได้พิสูจน์ตัวเองเหมือนที่เขาเคยให้โอกาส “กวนอู” ในวันที่กวนอูเป็นแค่พลธนูหน้าไม้พิทักษ์เล่าปี่แสดงฝีมือไปตัดหัว “ฮัวหยง”

น่าสนใจว่าทำไมคนมีปรัชญาเช่นนี้จึงสามารถผูกใจคนเก่งๆได้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าการที่โจโฉมี “ใจนักเลง” เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาสามารถครองใจคนได้ ซึ่งดูจะแตกต่างจาก "เล่าปี่" ที่ครองใจคนด้วยการเป็น “ผู้พนมมือทั้งสิบทิศ” ที่นอบน้อมถ่อมตน

ใจนักเลงของโจโฉแสดงออกมาในรูปของความกล้าได้กล้าเสียมาตั้งแต่วัยเยาว์ มีมิตรสหายมากมาย นับถือคนดีมีฝีมือ คอยส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้แสดงฝีมืออยู่เสมอ คุณลักษณะเหล่านี้ของโจโฉจึงสามารถครองใจขุนพล กุนซือ แม้กระทั่งทหารเลวได้

อย่างไรก็ตามโจโฉเป็นคนที่สร้างบาปไว้มากมายนะครับ โดยเฉพาะการฆ่าคนบริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ไล่ตั้งแต่ คุณลุงแปะเฉียและครอบครัว ที่หวังดีจะเชือดหมูให้กินแต่ด้วยความระแวงสงสัยของโจโฉทำให้เขาต้องฆ่าคน “ยกครัว” เช่นเดียวกับการฆ่า “อองเฮา” นายกองเสบียงของตนเองเพื่อขอยืมหัวอองเฮามาเป็น “แพะ” ตอนที่เสบียงใกล้หมด หรือกรณีที่ “โจโฉ” ฆ่า“เล่าฮก” ศิลปินเอกแห่งยุคในระหว่างงานเลี้ยงก่อนออกศึกเซ็กเพ็ก เพียงเพราะเล่าฮกไปวิจารณ์กลอนลำนำของท่านผู้นำว่าไม่ถูกอักขระ ทำนองเดียงกับที่ฆ่า “เอี้ยวสิ้ว” ที่ดันมารู้ทันว่าโจโฉจะถอยทัพจากการแทะโครงไก่

ทั้งหลายทั้งปวงนี้แสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ครบรสของโจโฉที่ดูจะใช้ชีวิตโลดโผนโจนทะยานและสะสมบุญพอๆกับการสร้างบาป

โดยส่วนตัวผมแล้ว, หลังจากที่อ่านเรื่องราวของโจโฉในหนังสือสามก๊กหลายเล่มรวมไปถึงดูหนังสามก๊กหลายรอบ ผมคิดว่าโจโฉเป็นมนุษย์ประเภท Practical Man หรือ พวกนักปฏิบัตินิยม ครับ ซึ่งพวกนักปฏิบัตินิยมมักมีเป้าหมายที่ชัดเจนและพยายามหาทางไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้โจโฉจึงมักเลือกใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

นอกจากนี้คนจำพวกนี้จะไม่มานั่งหมดอาลัยตายอยากร้องห่มร้องไห้ เหมือนครั้งหนึ่ง ที่เหล่าขุนนางต่างร้องไห้เมื่อเห็นตั๋งโต๊ะกระทำการหยาบช้าต่อองค์ฮ่องเต้ แต่มี “โจโฉ” เพียงคนเดียวเท่านั้นที่หัวเราะแถมยังประชดต่อด้วยว่าต่อให้ร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด แล้วไอ้ตั๋งโต๊ะมันจะตายมั๊ย

ตัวอย่างหลายๆตัวอย่างแสดงให้เห็นความเป็น “นักปฏิบัติ” หรือ “นักทำ” ของโจโฉ มากกว่าเป็น “นักพูด” อย่างไรก็ตามโจโฉยังมีความผิดพลาดอยู่หลายต่อหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้สงครามใหญ่อย่างศึกเซ็กเพ็กนั้นต้องพ่ายไปอย่างหมดรูป

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เคยวิเคราะห์โจโฉไว้ว่า แม้ว่าโจโฉจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “มหาอุปราช” หรือ “ไจเสี่ยง” แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกซึ่งเป็นตำแหน่งสูงที่สุดแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยคิดจะสถาปนาตัวเองเป็น “ฮ่องเต้” ซึ่งผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจนะครับ เพราะ “นักเลงจริง” ส่วนใหญ่จะรู้ว่าอะไร “ควร” หรืออะไร “ไม่ควร” ใช่มั๊ยล่ะครับ

Hesse004

1 comment:

Unknown said...

I also like Jocho as a good implimentator. Whatever he intends to do, he just go for it without any reluctance or hesitation. This is a guy I want to have as a right hand of mine. Anyway, ethic must also comes first. Maybe the main purpose of the 3 Romance intended to teach people by learning from Jocho's story. Anyway, this is a big fun to me. Keep sending us yr article.