Sep 17, 2008

"Modern Times" บทเรียนเศรษฐศาสตร์ของชาลี แชปลิน





กล่าวกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริการอบนี้หรือ “วิกฤตซับไพร์ม” (Sub prime Crisis) น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงไม่แพ้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงเมื่อปี ค.ศ.1929 หรือที่รู้จักกันในชื่อของ The Great Depression ครับ

The Great Depression ในสหรัฐอเมริกานับว่าเป็นหายนะทางเศรษฐกิจที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ขณะเดียวกันเหตุการณ์ครั้งนี้ดูจะเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อในการพิสูจน์คุณค่าของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม (Capitalism) ที่เชื่อกันว่าเหมาะที่สุดแล้วสำหรับโลกเสรีประชาธิปไตย

ผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นทำให้กระบวนทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนไปด้วยเช่นกันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์” (John Maynard Keynes) ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ไปอย่างสิ้นเชิง

หากว่า The general Theory of Employment, Interest and Money (1936) ซึ่งเป็นตำราเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ได้กลายเป็นประจักษ์พยานทางวิชาการในการบันทึกเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Modern Times (1936) ของชาลี แชปลิน (Charles Chaplin) ก็น่าจะเป็นประจักษ์พยานของความบันเทิงเริงรมย์ที่ได้สะท้อนมุมมองของคนจร (The tramp) ที่มีต่อวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว

ผมรู้จักหนังของชาลี แชปลิน มาตั้งแต่ชั้นป.4 แล้วครับ อย่างไรก็ตามความทรงจำกี่ยวกับแชปลินของผมถูกรื้อฟื้นอีกครั้งโดยอาจารย์ท่านหนึ่งในชั่วโมงแรกที่ผมได้เรียนวิชา “ทฤษฎีและกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ”

หลังจากวันนั้น ผมกลับมาหาหนังของชาลี แชปลิน ดูอีกหลายเรื่องครับ ไม่ว่าจะเป็น City Lights (1931), Gold Rush (1942), The Kid (1921) และ The Great Dictator (1940)

ข้อสรุปส่วนตัวที่ผมค้นพบคือ “ชาลี แชปลิน” เป็น “ยอดศิลปิน” ครับ อีกทั้งแชปลินยังเป็นนักทำหนังที่ถ่ายทอดความเป็น “มนุษยนิยม” ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง กล่าวคือ หนังของแชปลินทุกเรื่องนั้นสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่รวมไปถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าคุณจะกระจอกงอกง่อย ยากจนเพียงใด ทั้งนี้ข้อสังเกตหนึ่งของหนังแชปลิน คือ เขามักจะเล่นบทนำที่ส่วนใหญ่เป็น “คนจร” (The Tramp) มีฐานะยากจน โดยเฉพาะเรื่องที่ผมอ้างถึงมาทั้งหมด

Modern Times เป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 77 ของชาลี แชปลิน ครับ ซึ่งในเรื่องนี้เขาเป็นผู้เขียนบท กำกับพร้อมทั้งรับบทนำเอง และคงจะไม่เกินเลยไปนัก หากผมจะยกให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่คลาสสิคที่สุดเรื่องหนึ่ง

ชาลี แชปลิน สะท้อนภาพบิดเบี้ยวของระบบทุนนิยมในสหรัฐอเมริกาได้เจ็บแสบไม่น้อย ฉากคลาสสิคอย่างฉากที่แชปลินหลุดเข้าไปในกงล้อของเครื่องยนต์กลไกมหึมานั้นยิ่งตอกย้ำให้เห็นการกลืนกินของทุนนิยมที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass Production) ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว แชปลิรชี้ให้เห็นว่าเราเองก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักรเหล่านั้นที่ไม่ได้มีหัวจิตหัวใจอะไร

แม้ว่าทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าแรงงานเปรียบเสมือนปัจจัยการผลิตหรือ Input ชนิดหนึ่ง แต่จะว่าไปแล้วเหล่านักเศรษฐศาสตร์แรงงาน (Labor Economists) ดูจะก้าวไปไกลกว่าคำว่าปัจจัยการผลิตนะครับ นั่นคือ มองว่าแรงงานเป็น “ทุนมนุษย์” (Human Capital) ที่สามารถพัฒนาศักยภาพและความสามารถได้ ซึ่งประเด็นนี้ต่างหากที่ควรจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจ มิใช่เพียงแค่ตัวเลขที่แสดงการจำเริญเติบโตของ GDP มิใช่แค่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยให้มีเสถียรภาพ หรือมิใช่แค่จะทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีกำไรเพียงฝ่ายเดียว

ฉาก (Scene) ต่างๆ ที่ปรากฏใน Modern Times นั้นน่าจะถูกหยิบนำมาใช้เป็นบทเรียนสอนนักศึกษาให้เข้าใจความระทมทุกข์ (ปนความรื่นรมย์) ของคนอเมริกันในช่วง The Great Depression เพราะ แชปลินได้บรรจงใส่เรื่องราวให้ครบมิติทั้งในแง่ของ การแข่งขันของคนในสังคมเมืองใหญ่ที่แชปลินเปิดฉากมาด้วยฝูงแกะขาวและมีแกะดำโผล่มาตัวนึงพร้อมๆกับภาพตัดไปยังผู้คนที่กรูกันอยู่บนท้องถนน

เช่นเดียวกับฉากการเอารัดเอาเปรียบของนายทุนเจ้าของโรงงานที่แม้แต่คนงานจะขอเข้าไปปลดทุกข์สูบบุหรี่สบายอารมณ์ยังต้องถูกเฝ้ามองผ่านทีวีวงจรปิด ผมเข้าใจว่าแชปลินต้องการเสียดสีแนวคิดของนายทุนที่ต้องการประหยัดต้นทุนให้มากที่สุด (Minimized Cost) เพื่อผลกำไรสูงสุด (Maximized Profit) สังเกตได้จากฉากที่วิ่งออกมาจากห้องน้ำแล้วรีบตอกบัตรกลับเข้าทำงาน

นอกจากนี้ยังมีฉากการสไตร์กของกรรมกรแรงงานที่น่าจะเป็นบรรยากาศร้อนๆในช่วงที่คนตกงานกันเยอะ เช่นเดียวกับฉากของนางเอกในเรื่องที่พยายามหนีการจับของเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากเป็นเด็กกำพร้าที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแล

ในส่วนของประเด็นการว่างงานที่แชปลินสะท้อนออกมาในฉากการขโมยของในห้างโดยเพื่อนคนงานของแชปลินที่ตกงาน หรือ อาจจะเป็นฉากการแย่งกันเข้าทำงานในโรงงานหรือท่าเรือในฐานะลูกจ้างรายวัน เป็นต้น

ฉากเหล่านี้เป็นฉากที่แชปลินตั้งใจจะสะท้อนให้เห็นความยากลำบากอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะว่าไปแล้วน่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่แพ้ตำรา The General Theory ของเคนส์ก็ว่าได้นะครับ

ผมแอบตั้งขอสังเกตเล็กๆว่า ทั้งเคนส์และแชปลินมีบางสิ่งที่คล้ายคลึงอย่างน้อย 4 เรื่องครับ เรื่องแรก คือ หนังเรื่องนี้ของแชปลินออกฉายในปี ค.ศ.1936 ซึ่งเป็นปีที่ตำรา The General Theory ของเคนส์ตีพิมพ์ออกมาพร้อมกัน

เรื่องที่สองนั้น ทั้งคู่เป็นชาวอังกฤษเหมือนกันครับ โดยเคนส์มีอายุมากกว่าแชปลินอยู่หกปี ส่วนเรื่องที่สามเนี่ยทั้งคู่ไว้หนวดเหมือนกัน แต่ดูท่าแล้วเคนส์น่าจะสำอางกว่า The Tramp ของเรา

ส่วนประการสุดท้ายทั้งคู่นิยมมี “เมียเด็ก” ครับ อันนี้ผมว่าน่าสนใจเพราะภรรยาของเคนส์เป็นนักบัลเล่ต์สาวชาวรัสเชี่ยนนามว่า “ลิเดีย โลโปโกว่า” (Lydia Lopokova) ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าเคนส์ถึงเก้าปีครับ ส่วนแชปลินดูจะเจ้าชู้กว่าเคนส์เยอะเพราะมีภรรยาถึง 4 คน โดยภรรยาคนสุดท้าย คือ อูน่า โอนีล (Oona O’Neill) หรือ “เลดี้แชปลิน” ซึ่งมีอายุห่างจากแชปลินถึงสามสิบหกปี!! ครับ

สำหรับเอนทรี่เรื่องนี้นั้น ผมขออนุญาตเขียนขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์ เนื่องในโอกาสที่อาจารย์จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ครับ ทั้งนี้ท่านอาจารย์ดารารัตน์ คือ อาจารย์ที่สอนวิชาในหมวดเศรษฐศาสตร์การพัฒนาหรือ Development Economics ที่คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)ครับ

อาจารย์ดารารัตน์ได้แนะนำหนังเรื่อง Modern Times ของชาลี แชปลิน ให้นักศึกษาลองกลับไปดู ซึ่งผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้คือบทเรียนนอกห้องของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เราได้รู้จักคุณค่าที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมซึ่งผมคิดว่าคงไม่ใช่แค่ตัวเลขเศรษฐกิจที่สวยหรู หากแต่เป็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เหมือนที่ ชาลี แชปลินได้บอกกับเราไงล่ะครับ

Hesse004

No comments: