Sep 25, 2008

สำรวจแนวรบต่อต้านคอร์รัปชั่นในกลุ่มอาเซียน




เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index; CPI) ของประเทศต่างๆทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2008 ซึ่งปรากฏว่าดัชนีดังกล่าวของประเทศไทยอยู่ที่ 3.5 ขยับขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อปีที่แล้วครับ

องค์กรความโปร่งใสนานาชาติซึ่งมีชื่อย่อว่า T.I. นั้นเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1993 ครับโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี ทั้งนี้วัตถุประสงค์การก่อตั้ง T.I. นั้นปรากฏอยู่ในคำประกาศเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ว่า

“องค์กรความโปร่งใสนานาชาติเป็นองค์กรภาคประชาสังคมของโลกที่มุ่งหวังจะต่อต้านการคอร์รัปชั่น องค์กรแห่งนี้ได้นำพาผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมารวมตัวกันด้วยเจตจำนงที่จะหยุดยั้งการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ด้วยเหตุนี้เองพันธกิจขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ คือ การเปลี่ยนโลกใหม่ให้ปราศจากการคอร์รัปชั่น”

สำหรับผลงานเด่นๆที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ได้รับการยอมรับในเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่น คือ การพัฒนาดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นหรือ Corruption Perception Index โดยเจ้าดัชนีตัวนี้สะท้อนให้เห็นระดับของการรับรู้การคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นประเทศต่างๆ ซึ่งจะว่าไปแล้ว Corruption Perception Index ได้กลายเป็นเครื่องชี้วัดปัญหาการคอร์รัปชั่นของแต่ละประเทศไปพร้อมๆกันด้วย

ดัชนีตัวนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1995 ครับ โดยบุคคลที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงพัฒนาการสร้างดัชนีชี้วัดตัวนี้ขึ้นมา คือ ศาสตราจารย์ ดร.โยฮันน์ แกรฟ แลมป์สดอร์ฟ (Johann Graff Lambsdorff) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันผู้สนใจปัญหาการคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด

ตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ดัชนีตัวนี้ได้รับการเผยแพร่นั้น ศาสตราจารย์แลมป์สดอร์ฟ ได้แสดงหลักการและวิธีการสร้างดัชนีตัวนี้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาแลกเปลี่ยนตลอดจนถกเถียงในมิติของวิชาการต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้เองงานวิจัยเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมาจึงได้อ้างอิงถึงดัชนีของแลมป์สดอร์ฟอยู่เสมอ

การตีความค่า Corruption Perception Index เป็นไปอย่างง่ายๆไม่ซับซ้อนครับ กล่าวคือ ดัชนีดังกล่าวมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 10 โดยประเทศใดมีค่าดัชนีดังกล่าวมาก แสดงให้เห็นว่าประเทศนั้นมีระดับการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่นของคนในสังคมนั้นน้อยมาก เช่น ปี ค.ศ.2008 ค่า CPI ของ “เดนมาร์ก” อยู่ที่ 9.3 ยังรักษาแชมป์ความโปร่งใสเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นสมัยที่สอง

ในทางกลับกันประเทศใดที่มีค่าดัชนีดังกล่าวน้อย แสดงให้เห็นว่าประเทศนั้นมีระดับการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่นของคนในสังคมมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมนั้นเต็มไปด้วยเหล่านักการเมืองขี้ฉ้อและข้าราชการขี้โกง โดยปีล่าสุด “โซมาเลีย” เป็นประเทศที่มีค่า CPI ต่ำที่สุดเพียง 1.0 เท่านั้น ขณะที่เพื่อนบ้านของเราอย่าง “เมียนมาร์” เข้าป้ายในอันดับรองบ๊วยด้วยระดับดัชนี ที่ 1.3 ครับ

ขณะเดียวกัน “สิงค์โปร์” กลายเป็นประเทศที่สร้างชื่อให้กับกลุ่มอาเซียนมากที่สุดในแง่ของความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง โดยค่า CPI ปีล่าสุด ของสิงค์โปร์อยู่ที่ 9.2 ครับ ครองอันดับ 4 ของโลก เหนือฟินด์แลนด์ แชมป์เก่าหลายสมัยที่ปีนี้หล่นไปอยู่ที่ 5

เมื่อย้อนมองส่องดูปัญหาการคอร์รัปชั่นในภูมิภาคอาเซียนของเรานั้น ประเทศที่เกาะกลุ่มระดับความรุนแรงของปัญหาการคอร์รัปชั่นที่อยู่ในระดับสูงอีกประเทศ คือ “กัมพูชา” ครับ ทั้งนี้ค่า CPI ของเขมรนั้นอยู่ที่ 1.8 ความโปร่งใสอยู่ในอันดับที่ 166 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

ถัดจากเขมรมาเป็น “ลาว” ครับ โดยค่า CPI ของลาวอยู่ที่ 2.0 พอดี ทั้งนี้ลาวเพิ่งเข้าร่วมการจัดอันดับเรื่องนี้เมื่อปี ค.ศ.2005 โดย 4 ปีที่ผ่านมาค่า CPI ของลาวยังวนเวียนอยู่ที่ระดับ 2 กว่าๆ เช่นเดียวกับน้องใหม่ในอาเซียนอย่าง “ติมอร์” ที่ค่า CPI ปีนี้อยู่ที่ 2.2

สำหรับประเทศใหญ่อย่าง “ฟิลิปปินส์” นั้น ค่า CPI ปีนี้อยู่ที่ 2.3 ครองอันดับความโปร่งใสที่ 141 ทั้งนี้ฟิลิปปินส์นับเป็นอีกประเทศที่มีปัญหาการคอร์รัปชั่นรุนแรงโดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นของเหล่าผู้นำประเทศในอดีตตั้งแต่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส, โจเซฟ เอสตราด้า แม้กระทั่งนางกลอเรีย อาร์โรโย่ ผู้นำคนปัจจุบันก็ไม่วายว่ามีข่าวการทุจริตเช่นกัน

คอร์รัปชั่นในแดนตากาล๊อกเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่ทำลายการพัฒนาเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ จากประเทศที่คาดหมายว่าจะพัฒนาได้เร็วที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงกลับกลายเป็นว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่พัฒนาได้เชื่องช้าที่สุดทั้งนี้ก็เพราะปัญหาการคอร์รัปชั่น

เช่นเดียวกับ “อินโดนีเซีย” ที่มีปัญหาการคอร์รัปชั่นเรื้อรังมาช้านานโดยเฉพาะช่วงเวลาที่รัฐบาลเผด็จการซูฮาร์โต้ ครองอำนาจยาวนานถึง 31 ปี นั้น ทำให้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในอินโดนีเซียผูกโยงกับธุรกิจของคนในครอบครัวซูฮาร์โต้ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างวัฒนธรรมการคอร์รัปชั่นในหมู่ทหารและนักการเมือง พ่อค้านักธุรกิจชาวจีน จนทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียต้องเตรียมบวกต้นทุนที่มองไม่เห็นเวลาติดต่อทำธุรกิจในแดนอิเหนา

ด้วยเหตุนี้เองค่า CPI ปีล่าสุดของอินโดนีเซียจึงยังอยู่ที่ระดับ 2.6 แม้ว่าค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆในช่วงห้าปีหลัง แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนักสำหรับประเทศที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาอย่างอินโดนีเซีย

ทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนปัญหาการฉ้อฉลอำนาจหรือ Power Corrupt ของเหล่าผู้นำประเทศอันนำมาซึ่งการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวบนตำแหน่งหน้าที่สาธารณะที่กล่าวอ้างไว้อย่างสวยหรูภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย

ในทางกลับกัน “เวียดนาม” ซึ่งกลายเป็นประเทศที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในอาเซียนนั้น ระดับค่า CPI ปีล่าสุดยังอยู่เพียง 2.7 ครับ ค่าดังกล่าวเป็นเครื่องชี้วัดถึงความโปร่งใสของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ดีว่า มีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ หากเวียดนามต้องการจะพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ พวกเขาจะจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชั่นได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดเพราะคอร์รัปชั่น คือ อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ประเทศเพื่อนบ้านเราอีกประเทศที่มีกลไกการจัดการคอร์รัปชั่นได้ดีพอสมควร คือ “มาเลเซีย” ครับ ตลอดระยะเวลาที่พรรคอัมโนครองอำนาจภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ มูฮัมหมัด มาจนกระทั่งนายอับดุลลาร์ อาหมัด บาดาวี นั้นมาเลเซียได้พัฒนาประเทศขึ้นมาเป็นเบอร์สองของอาเซียน นอกเหนือจากความเข้มแข็งของรัฐบาลแล้ว เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มาเลเซียสามารถพัฒนาขึ้นมาได้เร็ว คือ การเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามปัญหาการทุจริตโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงกับเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ขี้โกงทั้งหลาย โดยค่า CPI ปีล่าสุดของมาเลเซียอยู่ที่ 5.1 ครองอันดับความโปร่งใสที่ 47 ครับ

สำหรับประเทศไทยของเรานั้น , แม้ว่าค่า CPI จะสูงขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย แต่ค่าเฉลี่ยของดัชนีดังกล่าวตลอดระยะเวลา 14 ปี อยู่ที่ 3.29 ครับ ค่าดังกล่าวเป็นเครื่องสะท้อนที่ดีถึงระดับความรุนแรงของปัญหาการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าเหตุที่ค่า CPI ของไทยเรานั้นค่อนข้างเสถียรอยู่ที่ระดับไม่เกิน 4.0 นั้นส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้ว่าคอร์รัปชั่นนั้นเป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในกมลสันดานของคนไทยมาช้านานแล้ว เพียงแต่ว่าเราจะยอมรับกับมันได้มากน้อยหรือเปล่า

ลักษณะพิเศษของพฤติกรรมการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่นของคนไทยดูเหมือนจะยอมรับในการฉ้อฉลในระดับเล็กๆ เช่น จ่ายค่าน้ำร้อน น้ำชา ติดสินบนหรือแป๊เจี๊ยเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการอันสะดวกสบายจากเจ้าหน้าที่รัฐ การคอร์รัปชั่นในระดับนี้เรียกว่า Petty Corruption หรือ การฉ้อราษฎร์นั่นเองครับ

ในทางกลับกันคนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถยอมรับได้กับพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นของเหล่านักการเมือง ข้าราชการประจำระดับสูงที่ฉ้อฉลเงินงบประมาณแผ่นดินผ่านโครงการต่างๆซึ่งการคอร์รัปชั่นในระดับนี้เรียกว่า Grand Corruption หรือ การบังหลวง

นอกจากนี้คอร์รัปชั่นยังเป็นข้ออ้างหนึ่งของคณะรัฐประหารในการยึดอำนาจการปกครองล้มล้างรัฐบาล ซึ่งจากประวัติศาสตร์อันใกล้ “บุฟเฟ่ต์ คาบิเนต” สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เป็นเหตุผลของ คณะ รสช. ในการล้มล้างรัฐบาล เช่นเดียวกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ที่รัฐบาลทักษิณ ถูก คณะ คมช. โค่นล้มด้วยเหตุผลของการคอร์รัปชั่นเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าคอร์รัปชั่นนอกจากจะทำลายเศรษฐกิจแล้วยังมีส่วนในการทำลายระบอบประชาธิไปไตยอีกด้วย น่าสนใจนะครับว่าสังคมไทยจะจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชั่นกันอย่างไรทั้งในระดับ Petty และ Grand Corruption เพราะหากเราสามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเราในอนาคตด้วย

“คอร์รัปชั่น” ยังคงเป็นปัญหาที่อยู่คู่มนุษยชาติต่อไป เพราะสาเหตุสำคัญของการฉ้อฉลนั้นมาจาก “ความโลภ” ครับ แม้ว่าเราไม่สามารถกำจัดความโลภออกจากใจเราได้แต่เราสามารถควบคุมความโลภนั้นได้… ไม่ใช่หรือครับ

Hesse004

No comments: