Nov 2, 2007

จาก Pyramid System ถึง Rotation football กับปรัชญาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป (ตอนที่ 2)




เมื่อไม่กี่วันมานี้องค์กรโลกบาลทางฟุตบอลอย่าง Fifa ได้ประกาศยกเลิกกฎการหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่กำหนดให้เวียนตามทวีปละ 1 ครั้ง การยกเลิกดังกล่าวทำให้อังกฤษซึ่งอกหักจากเจ้าภาพบอลโลกครั้งล่าสุด (2006) กระดี๊กระด๊าอีกครั้ง เพราะปี 2018 อังกฤษได้กลายเป็นเต็งหนึ่งในการเป็นเจ้าภาพบอลโลกครั้งที่ 21

สำหรับประเด็นการยกเลิกกฎนี้นั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องของธุรกิจและผลประโยชน์ล้วนๆครับ ทั้งนี้ฟุตบอลโลกกลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่รองจาก Olympic game ด้วยเหตุนี้เองผลประโยชน์ทางอ้อมจากการเป็นเจ้าภาพ (Host) สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย ว่ากันว่าฟุตบอลโลกครั้งที่ 20 ในปี 2014 ที่ “บราซิล” รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพนั้น บราซิลจะได้รับอานิสงค์จากเม็ดเงินมหาศาลมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ง่อนแง่นมาหลายสิบปี

กลับมาที่เรื่องฟุตบอลดีกว่าครับ , เมื่อตอนที่แล้วผมเล่าค้างถึงความผยองของสิงโตคำรามแห่งเกาะบริเตนใหญ่ว่าไม่ยอมไปร่วมสังฆกรรมบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกกวัย (1930) อย่างไรก็ดีชาติอนุรักษ์นิยมอย่างอังกฤษหารู้ไม่ว่า เกมลูกหนังจากดินแดนต่างถิ่นนั้นเขาก็พัฒนาไปไม่น้อยหน้าเหมือนกัน

“อุรุกกวัย” คือ เจ้าลูกหนังโลกในช่วงทศวรรษที่ 30 ครับ เจ้าของฉายา “จอมโหด” ใช้สูตร Pyramid system หรือ สูตร 2-3-5 จนประสบความสำเร็จ นอกจากอุรุกกวัยจะใช้ได้ดีแล้ว รองแชมป์อย่าง “อาร์เจนติน่า” ก็ยึดระบบนี้เหมือนกัน

คราวนี้ลองข้ามกลับไปฝั่งยุโรปบ้างนะครับ ท่านผู้อ่านเชื่อมั๊ยครับว่าทีมเจ้ายุโรปในสมัยนั้นมาจากตอนกลางทวีป อย่าง ฮังการี , ออสเตรีย รวมไปถึง เชค ด้วย นักประวัติศาสตร์ลูกหนังอย่างนาย John Bleum แกเรียกสไตล์ฟุตบอลของทีมแถบนี้ว่า The Danubian school หรือโรงเรียนลูกหนังแห่งลุ่มน้ำดานูป

Danubian school เป็นฟุตบอลที่เน้นความแม่นยำในการผ่านบอลสั้นบนพื้น ราวกับการจ่ายบอลไปบนผืนพรม (Keep it on the carpet) ปรัชญาฟุตบอลง่ายๆนี้มาจากมันสมองของโค้ชสก๊อตแลนด์อย่างนาย Jimmy Hogan ครับ

ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งนะครับว่าโค้ชดีๆมีมันสมองเป็นเลิศในโลกลูกหนังนั้น เราคงต้องรวมโค้ชชาวสก๊อตเข้าไปด้วย ที่เห็นได้ชัด คือ ท่านเซอร์อล็กซ์ เฟอร์กูสัน แห่งแมนยู และ คิงเคนนี ดัลกลิช อดีตผู้เล่น ผู้จัดการทีมยุคหงส์แดงตะแคงฟ้า

สไตล์การเล่นของทีมยุโรปตอนกลางหรือ Danubian school นอกจากเน้นการผ่านบอลสั้นๆบนพื้นแล้วรูปแบบการเล่นยังคงยึดโยงกับระบบ 2-3-5 อยู่ จนอาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลา 80 กว่าปีที่แล้วนั้น สูตรการเล่นฟุตบอล 2-3-5 และ WM ของ Herbert Chapman คือสูตรที่นิยมแพร่หลายมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Danubian school จะทำให้ทีมชาติฮังการี ออสเตรียและเชคนั้นเป็น “เต้ย” ลูกหนังในดินแดนยุโรป แต่แชมป์ฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 ในปี 1934 กลับตกเป็นของทีมชาติ “อิตาลี” ครับ

นอกจากความได้เปรียบในการเป็นเจ้าภาพแล้ว “อิตาลี” ยังได้นำสไตล์การเล่นแบบใหม่ที่เรียกว่า “Metodo” มาใช้ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ด้วย ชื่อ Metodo น่าจะบอก “เลา”ๆ ได้นะครับว่าเน้นเกมรับที่เหนียวไว้ก่อน

Metodo เป็นรูปแบบการทำทีมของ Vittorio Pozzo ปรมาจารย์ลูกหนังแห่งเมืองมักกะโรนี กล่าวกันว่า Metodo ของ Pozzo นั้น คือ ต้นกำเนิดของเกมที่เรียกว่า Counterattack ครับ เหมือนที่ผมเกริ่นไปข้างต้นแล้วว่าสไตล์การทำทีมช่วงทศวรรษที่ 20-30 ต่างยึดระบบ Pyramid ซึ่งทีมของ Pozzo ก็ยังเล่น 2-3-5 เช่นเดียวกับทีมอื่น แต่พยายามเน้นเกมรับและให้ความสำคัญกับผู้เล่นตำแหน่งปีก 2 ข้างในการทำเกมรุกโต้กลับ

เรียนตามตรงครับว่า ผมเองสนุกกับตัวหนังสือของนาย John Bleum มาก ส่วนหนึ่งพยายามใช้จินตนาการและเชื่อมโยงบริบทบางอย่างในยุคนั้นมาสร้างเป็นภาพเกมลูกหนัง ฟุตบอลโบราณมีฐานะเป็น “กีฬา” ที่ใช้มันสมองของโค้ช สองขาของนักเตะ และหัวใจของคนดู ต่างจากสมัยนี้ที่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับธุรกิจ การลงทุน และผลกำไร

ปัจจุบันความสุขจาการบริโภค “ฟุตบอลบันเทิง” ในคืนวันเสาร์เต็มไปด้วยโฆษณาขายของ SMS ทายผล มิพักต้องเอ่ยถึงหนังสือพิมพ์กีฬาที่แปะอัตราต่อรองเต็มไปหมด ใช่แล้วครับนี่คือ “ฟุตบอลในศตวรรษที่ 21”

ผมบ่นมาพอแล้ว กลับสู่โลกลูกหนังต่อดีกว่า ในปี 1938 ฟุตบอลโลกครั้งที่ 3 ที่ฝรั่งเศสนั้น อิตาลี คือ ชาติแรกที่ป้องกันแชมป์รักษาถ้วย “จูริเมต์” (Jules Rimet) ไว้ได้อีกสมัย

การรักษาแชมป์ของอิตาลีสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบ Metodo ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นในปรัชญาการทำทีมฟุตบอล เพราะแต่เดิมฟุตบอล คือ “การทำประตู” สังเกตได้จาการยัดกองหน้าเข้าไปถึง 5 คนในระบบ Pyramid แต่สำหรับอิตาลีแล้ว ฟุตบอล คือ การป้องกันการเสียประตูและใช้จังหวะฉกฉวยโจมตีคู่แข่ง ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้ยินคำพูดเหน็บทีมจากแดนมักกะโรนีว่า “ตีหัวแล้วเข้าบ้าน”ไงครับ

ช่วงทศวรรษที่ 40 เกมลูกหนังต้องหยุดไป เพราะ นักบอลติดภารกิจไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุนี้เอง การชะงักงันในช่วงนั้นทำให้รูปแบบการเล่นไม่ได้รับการพัฒนาเท่าไรนัก

สำหรับตอนหน้าผมจะเล่าถึงฟุตบอลโลกตั้งตั้งทศวรรษที่ 50 ซึ่งว่ากันว่า “เทพเจ้าแห่งลูกหนังตัวจริง” ได้ลงมาจุติแล้วครับ

Hesse004

3 comments:

Thi said...

ติดตามอ่านอยู่นะ และขอเสนอเรื่องให้พิจารณาในการเขียนค่ะ (Request)ช่วงนี้เห็นเรื่องทฤษฏีเกม มีคนเอามาพูดบ่อยๆ อยากเห็นต้วนแสดงความคิดเห็นบ้าง

Tuan said...

ขอบคุณมากครับ เราจะพยายามลองเขียนดู แต่ที่แน่ๆเลย Nobel สาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้เรื่องที่ได้ก็เกี่ยวกับ Game theory เหมือนกันซึ่งจะเก็บมาเล่าอีกทีครับ

ขอบคุณอีกครั้งที่ช่วยอ่านนะครับ
ต้วน

Unknown said...

แอบเข้ามาอ่านเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ตอบ พอดีพึ่งไปฟังสัมมนางานเปิดตัวหนังสือ Football in the Americas: Fútbol, Futebol, Soccer
เลยกลับมาอ่านของต้วนอีกที เห็นว่าที่ไปฟังมา ต้วน อาจสนใจ ไว้กลับไปจะเอาหนังสือไปฝาก อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://americas.sas.ac.uk/publications/index.htm#football
คอยอ่านอยู่เรื่อยๆ