Nov 4, 2007

Christmas in August ข้างหลังภาพของ “เฮฮ จิน โฮ”




“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก” ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนหนังสือของบรมครู “ศรีบูรพา” ย่อมต้องซาบซึ้งตรึงใจกับประโยคสุดท้ายใน “ข้างหลังภาพ” (2480) อมตะนิยายรักของศรีบูรพาที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด

จะว่าไปแล้ว “ความรัก” คือ เรื่องที่มนุษย์เราดูจะให้ความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวัยเจริญพันธุ์เนี่ย ความรักดูจะกลายเป็นแรงขับไปพร้อมๆกับความใคร่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว “ความรัก คือ อะไรกันแน่ล่ะครับ ?”

ผมตั้งคำถามได้โคตรเชยเลย

ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีสุดท้าย ผมริอ่านเขียนเรื่อง “อันเนื่องมาจากความรัก” ลงในหนังสือรุ่น ซึ่งเพื่อนหลายคนต่างลงความเห็นว่า “เสี่ยวสนิท มิตรส่ายหัว” ครับ

และเมื่อยิ่งเติบโตขึ้นผมยิ่งเข้าใจแล้วว่า “ความรักมักกินไม่ค่อยได้” ด้วยเหตุนี้ความรักจึงเป็นอารมณ์หนึ่งของคนเราที่มาเติมความรู้สึกซึ่งครั้งหนึ่งดูเหมือนจะพร่องไปให้เต็มตื่นอีกครั้ง แต่ความรักจะสร้างสรรค์อะไรที่ดีได้หากเรารู้จัก “รักเป็น”

ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมสัมผัสเรื่องราวของความรักมากมาย บางครั้งก็เป็นเรื่องรักของตัวเอง บางคราวก็เป็นของเพื่อนฝูง ซึ่งหลายต่อหลายเรื่องก็ไม่พ้นอกหัก รักคุด ส่วนเรื่องดีๆก็มีอย่างเรื่องรักที่ลงเอยถึงขั้นแต่งงานแต่งการกัน

แต่หลังจากพ้นเรื่องแต่งงานมาแล้ว หลายหนผมยังต้องมาสัมผัสเรื่องรักในอีกรูปแบบหนึ่ง ตั้งแต่เรื่องรักครอบครัว รักลูก รักภรรยา รักสามี ไปจนกระทั่งตัดสินใจที่จะรักตัวเองในวันที่คิดจะหย่าร้าง

กลับมาเรื่องที่ผมจั่วหัวไว้ดีกว่าครับ , ท่ามกลางความโรแมนติคที่ปรากฏในหนังรักเกาหลีนั้น Christmas in August (1998) ของนายเฮอ จินโฮ คือหนังรักที่ผมประทับใจมากที่สุดครับ ด้วยเหตุผลคือความเรียบง่ายที่ลงตัวที่คนทำหนังต้องการจะสื่อ นอกจากนี้การนั่งดูหนังเรื่องนี้เหมือนนั่งดูเรื่องราวชีวิตจริงของคนๆหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องไปนั่งดู “ปาหี่ Reality Show”

โดยส่วนตัวแล้วผมว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรที่คล้ายคลึงกับนวนิยายรักอย่าง “ข้างหลังภาพ”โดยบังเอิญ แม้ว่าหนังสือของศรีบูรพาจะมีอายุล่วงผ่านมา 70 ปีแล้ว แต่ตัวละครอย่างคุณหญิง “กีรติ” ก็ยังมีให้พบเห็นกันอยู่ในโลกแห่งความจริง เช่นเดียวกันกับที่ เฮอ จินโฮ พยายามสื่อให้เห็นภาพของ “จุงวอน” ที่เผชิญอารมณ์รักในห้วงวาระสุดท้ายของชีวิต

ว่ากันว่า “ความรัก” คือ ของขวัญจากพระเจ้าที่มอบให้มนุษย์แต่ละคนได้รื่นรมย์ในชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิต แม้ของขวัญชิ้นนี้จะมาในช่วงเวลาที่ทั้งคุณหญิงกีรติและจุงวอนกำลังจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ทั้งสองได้อิ่มเอมกับความทรงจำที่ดี

ผมเชื่อว่า “จุง วอน” คงรู้สึกคล้ายๆกับคุณหญิง “กีรติ” ที่ว่า “ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่าฉันมีคนที่ฉันรัก”ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับทั้งสองคน คือ ของขวัญชิ้นสุดท้ายจากพระเจ้านั่นเอง แม้จะส่งมาผิดเวลาไปสักหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่มาเลยใช่มั๊ยครับ

ถ้ามองความรักในมิติของเศรษฐศาสตร์ บางทีมันอาจเป็นกลไกหนึ่งคล้ายกับกลไกราคาที่เป็นตัวจัดสรรทรัพยากรแห่งความสุขของคนสองคนที่มาพบกัน นั่นหมายถึงการเกิด “ดุลยภาพแห่งรัก”

และหากผมมองความรักเป็นสินค้าชนิดหนึ่งแล้ว ผมจะใช้ความยืดหยุ่นต่อความรัก (Love elasticity) มาเป็นตัวอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น คนประเภทรักเดียวใจเดียว คนจำพวกนี้เป็นพวกมีความยืดหยุ่นต่อความรักต่ำครับ (Inelasticity) กล่าวคือ ไม่ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนไปนานแค่ไหน คนประเภทนี้ก็ยังยึดมั่นรักคนๆนั้นอยู่วันยังค่ำ แต่ในทางกลับกัน คนเจ้าชู้มักมีความยืดหยุ่นต่อความรักสูง (Elasticity) เพราะพอเวลาผ่านไปแป๊ปเดียว เขาก็จะหันไปหารักจากคนอื่นเสียแล้ว

ด้วยเหตุนี้เองผมจึงสรุปความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับความรักว่ามันควรจะแปรผันตรงกัน กล่าวคือ ยิ่งเวลาผ่านไปเนิ่นนาน เราควรจะบริโภคความรักมากขึ้น แต่ขอเป็นการบริโภคในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณแล้วกันครับ ว่าแล้วก็ลองตั้งฟังก์ชั่นและสมการชวนหัวให้ดูขลังเสียหน่อย

Love = f (Time)
L = aT+b
L แสดง คุณภาพของรัก
a แสดง สัมประสิทธิ์ของความรัก ยิ่งมากยิ่งดี
T แสดง ระยะเวลาที่รักกัน
b เป็น Error term ซึ่งอาจทำให้คุณภาพของรักมากขึ้นหรือลดลง ก็ต้องแล้วแต่ชนิดของ Error term นั้น

เอ! ว่าแต่ว่า รักตามสมการนี้มีความสัมพันธ์แบบเชิงเส้น (Linear)จริงหรือเปล่าครับ


หลักเศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้นและสมการเพ้อเจ้อที่มาอธิบายความรักนั้นดูจะขำๆเหมือนกันนะครับ แต่ดูเหมือนว่ามันก็พอกล้อมแกล้มอธิบายพฤติกรรมมนุษย์กับความรักได้บ้าง

แรกเริ่มเดิมทีผมตั้งใจจะเขียนเรื่องหนังของเฮอจินโฮ กับหนังสือของศรีบูรพา แต่ไปๆมาๆกลับมาลงเอยด้วยเศรษฐศาสตร์ ผมว่ามันก็สมแล้วล่ะครับที่เพื่อนๆผมมันลงความเห็นว่าผมเขียนเรื่องรักได้ “เสี่ยวสนิท มิตรส่ายหัว” จริงๆ

Hesse004

2 comments:

Thi said...

เอาความรักมาตั้งสมการแบบนี้ comment ไม่ออกเลยทีเดียว ดันคืนความรู้ไปให้อาจารย์ทั้งตรีทั้งโท หมดแล้ว เฮ้อ !!!

ยังไงก็ตาม เรื่องความรักกับทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์เนี่ย ดูจะแสดงความสัมพันธ์ต่อกันยากมากกกกกก ถ้าไม่เข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์และความรักอย่างลึกซึ้งจริงๆ

นับถือ นับถือ

Unknown said...

กำลังเจ็บปวดกับความรัก อ่านแล้วรู้สึกดีขึ้นเยอะเลย
แต่เราว่า ฟังก์ชั่นของความรักน่าจะเป็น non-linear นะ แล้วเราจะผูกความสัมพันธ์มาห้ายดู