Nov 6, 2007

จาก Pyramid system ถึง Rotation football กับปรัชญาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป (ตอนที่ 3)





ตอนที่แล้ว ผมเล่าถึง Danubian school และ Metodo style ซึ่งทำให้ทีมในแถบยุโรปตอนกลางอย่าง ฮังการี ออสเตรียและเชคนั้นประสบความสำเร็จ ส่วนฟุตบอลแบบ Metodo ก็ทำให้ อิตาลีครองแชมป์โลกติดต่อกันสองสมัย และยังเป็นต้นกำเนิดของเกม Counterattack อีกด้วย

ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ประเทศในยุโรปต่างได้รับความบอบช้ำจากสงครามไปตามๆกัน ด้วยเหตุนี้เองฟุตบอลโลกเลยต้องย้ายวิกไปเตะในอเมริกาใต้ และในทศวรรษที่ 50 นี้เองครับที่ผมเกริ่นไปแล้วว่าเทพเจ้าลูกหนังได้ลงมาจุติแล้ว เทพเจ้าองค์นั้นก็คือ “บราซิล” ซึ่งมาพร้อมกับร่างทรงนามว่า “เปเล่” นั่นเองครับ

ผมตั้งข้อสังเกตว่าความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลนั้นน่าจะเริ่มเป็นจริงเป็นจังเมื่อ 50 กว่าปีมานี้ ส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลจากสนามไปยังครัวเรือนได้ นอกจากนี้ผมเชื่อว่ามนุษย์เริ่มเบื่อสงครามกันแล้ว ดังนั้นการหันมาพัฒนาเกมลูกหนังก็เป็นการแสดงออกถึงศักยภาพของคนในชาตินั้นๆได้อีกทางหนึ่ง

ฟุตบอลโลกครั้งที่ 4 (1950) ที่จัดขึ้นบนแผ่นดิน “บราซิล” นั้น นับเป็นครั้งแรกที่ต้นตำรับลูกหนังอย่าง “อังกฤษ”ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันหลังจากเล่นตัวอยู่นาน ว่ากันว่าฟุตบอลโลกในครั้งนั้นทำให้โลกได้เห็น “ลีลาแซมบ้า” ขนานแท้ด้วยรูปแบบการเล่นฟุตบอลบนพื้นที่สวยงามประกอบกับทักษะเฉพาะตัวที่สุดยอดของนักเตะบราซิล

บราซิลชุดปี 1950 สามารถทะลุเข้าไปชิงชนะเลิศกับทีมจอมเก๋าอย่าง “อุรุกกวัย” มหาอำนาจลูกหนังแห่งทศวรรษที่ 30 อย่างไรก็ตามบราซิลทำได้ดีที่สุดคือ รองแชมป์โลกครับ สกอร์ 2 – 1 ทำให้อุรุกกวัยผงาดขึ้นมาเป็นแชมป์โลกสมัยที่สองเทียบเคียงอิตาลี

ผลพวงจากความพ่ายแพ้ทีมจอมโหดต่อหน้าแฟนบอลตัวเองในสนามชามยักษ์ Maracana Stadium ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของมหาอำนาจลูกหนังทีมใหม่อย่าง “บราซิล” ทีมที่เล่นฟุตบอลได้ตื่นตาตื่นใจและสร้างสีสันในฟุตบอลโลกมากที่สุด

ขณะที่บราซิลกำลังก่อร่างสร้างทีมในดินแดนลาตินนั้น ทางฟากฝั่งยุโรปเราต้องยอมรับว่าไม่มีใครสุดยอดเกินทีมชาติ “ฮังการี” แล้วครับ โดยเฉพาะฮังการีชุดปี 1954 นั้นได้สร้างตำนานลูกหนังบทใหม่ขึ้นพร้อมๆกับรูปแบบการเล่นที่เรียกว่า MW ซึ่งสลับกับ WM ของ Herbert Chapman

ฟุตบอลโลกครั้งที่ 5 เมื่อปี 1954 บนแผ่นดินสวิตเซอร์แลนด์ “ฮังการี” คือ ทีมที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดแม้ว่าจะได้รองแชมป์เพราะพ่ายเยอรมันตะวันตกไป แต่สำหรับในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วฮังการีภายใต้การกุมบังเหียนของ Gustav Sebes ได้ทำให้ขุนพลแมกยาร์แห่งลุ่มน้ำดานูบทีมนี้เกรียงไกรในยุโรปด้วยการเล่นเกมรุกที่ดุดัน โดยเฉพาะการมีผู้เล่นอย่าง ปุสกัส (Puskas) , ค๊อคซิส (Kocsis) , บ๊อซซิค (Bozzik) และ ไฮเด็กกุค (Hidegkuit)

ก่อนหน้าที่บอลโลกจะเริ่มขึ้น “ฮังการี ไดนาไมต์” ชุดนี้ได้สั่งสอนทีมสิงโตคำรามอังกฤษคาเวมบลีย์ด้วยสกอร์ 6-3 ก่อนจะมายำสิงโตกรอบอีก 7-1 ที่บูดาเปสต์ นับเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดีเลยทีเดียว

ว่ากันว่าช่วงทศวรรษที่ 50 นี้ คือ ช่วงเวลาของ “ฮังการี” และสโมสร “รีล มาดริด” อย่างแท้จริงเพราะทั้งสองครองความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินยุโรป นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ลูกหนังยังได้จารึกชื่อของ “เฟเรนซ์ ปุสกัส” ว่าเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งทศวรรษ 50 เคียงข้าง “อัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่” คู่หูพระกาฬแห่งทีมราชันชุดขาว รีล มาดริด

“ปุสกัส” เจ้าของฉายา “นายพันแห่งลุ่มน้ำดานูบนั้นมีปมด้อยตรงขาโก่ง ตัวป้อมๆตันๆดูแล้วไม่น่าจะมีพิษสงอะไร แต่พงศาวดารลูกหนังโลกบันทึกไว้ว่าชั้นบอลของท่านนายพันนั้นเข้าขั้นโคตรบอลเลยทีเดียวครับ ขอแถมนิดหนึ่งครับปุสกัสเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว นับได้ว่าเป็นักฟุตบอลที่อายุยืนคนหนึ่งเลยทีเดียว

กลับมาที่เทพเจ้าลูกหนังอย่าง “บราซิล” กันต่อครับ, บราซิลมาประสบความสำเร็จกับสูตรการเล่น 4-2-4 ซึ่งทำให้บราซิลครองแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยแรกเมื่อปี 1958 ที่สวีเดน สูตร 4-2-4 นี้ได้พลังขับเคลื่อนอย่าง วาว่า และ เปเล่ บราซิลไล่ถล่มเจ้าภาพในชิงชนะเลิศไป 5-2 พร้อมกับการแจ้งเกิดของไอ้หนูวัย 17 นามว่า “เปเล่” สำหรับ “สวีเดน” ในยุคนั้นก็จัดเป็น “เต้ย” ลูกหนังยุโรปทีมหนึ่งไม่แพ้ทีมฮังการี สวีเดนชุดนั้นมีจอมทัพอย่าง “นีลส์ ลีดโฮล์ม” อีกหนึ่งซูปเปอร์สตาร์ยุค 50 จากทีมเอซีมิลาน

สูตร 4-2-4 ถูกคิดค้นโดยสโมสรฟลามิงโก้ ตักกศิลาลูกหนังแห่งดินแดนแซมบ้า รูปแบบการเล่นดังกล่าวนับเป็นการปฏิวัติวงการฟุตบอลสมัยใหม่เลยทีเดียว การหันมาใช้กองหลัง 4 ตัวทำให้เกมรับมั่นคงมากขึ้น ขณะที่กองกลาง 2 ตัว จะคอยยืนบัญชาเกมและแจกบอลให้ปีกซ้ายขวารวมถึงแทงบอลทะลุให้กองหน้าเข้าไปพังประตู (Killing pass through) ระบบ 4-2-4 นี้เวลาเล่นเกมรุกแบ๊คสองข้างจะมาช่วยเติมเกมด้วย ทำให้ประสิทธิภาพของเกมรุกนั้นลื่นไหลยิ่งขึ้นเพราะจะมีผู้เล่นขึงอยู่ในแดนฝ่ายตรงข้ามถึง 8 คน

ขณะที่ บราซิลและฮังการี ทำให้เกมฟุตบอลนั้นมีความสนุกโดยเน้นไปที่การเล่นเกมรุกนั้น อิตาลี ต้นตำรับ Metodo football กลับไม่คิดเช่นนั้นครับ เพราะฟุตบอลจากแดนมักกะโรนีมักนิยมเน้นเกมตั้งรับโดยเฉพาะทีมในลีกกัลโช่แล้ว “อินเตอร์ มิลาน” ได้สร้างสไตล์ฟุตบอลที่ชื่อว่า “คาตาเนคโช่” (Catenaccio) ขึ้นมา

“คาตาเนคโช่” เป็นรูปแบบการเล่นที่มาจากมันสมองของ Helenio Herrera เทรนเนอร์ของอินเตอร์มิลาน ยุคต้นทศวรรษที่ 60 “คาตาเนคโช่” หมายถึง โซ่ขนาดใหญ่ (ไม่ใช่โซ่ข้อกลางนะครับ) ที่คอยขึงเกมรับไม่ให้หลุดรั่ว รูปแบบการเล่น “คาตาเนคโช่”นั้นได้พัฒนาตำแหน่งผู้เล่นขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “ลิเบอโร่” (Libero) ซึ่งหมายถึงตัวฟรีในสนาม

ปกติแล้ว “ลิเบอโร่”จะคอยปักหลักอยู่หน้าประตูตัวเอง ยืนเป็นกองหลังตัวสุดท้าย รอเพื่อนที่เป็นเซนเตอร์หรือ Stopper คอยชนให้แล้วเก็บกวาดบอลให้พ้นอันตราย ผู้เล่นที่เป็นลิเบอโร่ได้ดีนั้นต้องมีเซนส์บอลชั้นเทพเลยทีเดียวครับ อีกอย่างผมว่าคุณสมบัติของผู้เล่นลิเบอโร่นั้นต้องมีบารมีด้วยครับ เพราะตำแหน่งดังกล่าวนอกจากจะเป็นตัวสุดท้ายแล้ว ยังเป็นตัวที่คอยบงการเกม เปิดเกมได้ และที่สำคัญต้องสั่งเพื่อนได้ด้วยครับ

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมานั้นมีเพียงทีมจากแผ่นดินยุโรปและภาคพื้นลาตินเท่านั้นที่ช่วงชิงความเป็นเจ้าลูกหนังขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ฟุตบอลดูจะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย สำหรับตอนหน้าเราจะมาว่ากันถึงมหัศจรรย์บราซิลภายใต้บารมีของเปเล่และการกลับมาผงาดของทีมชาติอังกฤษกับระบบการเล่นที่เรียกว่า 4-4-2 ครับ

Hesse004

No comments: