Nov 14, 2007

ความตายที่อยู่รอบตัวเรา(Death is all around)




ผมขึ้นหัวเรื่องได้น่า “หดหู่” ดีมั๊ยครับ เหตุผลหนึ่งที่อยากเขียนวันนี้ คือ การไว้อาลัยให้กับรุ่นพี่ที่สนิทกันท่านหนึ่งที่เพิ่งด่วนจากไปอย่างกะทันหันด้วย “อุบัติเหตุ”

พลันที่ผมทราบข่าวร้าย ความรู้สึกแรกคือ ตกใจและเสียใจครับ การจากไปของคนวัยสามสิบกว่าๆนั้นนับเป็นการจากไปก่อนวัยอันควร ผมเชื่อว่าถ้าพี่คนนี้ยังมีชีวิตอยู่ต่อเขาจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคมได้

ในช่วงวันสองวันมานี้ผมนั่งใคร่ครวญ ไตร่ตรองอะไรมากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ความตาย” ใจหนึ่งอยากจะหาหนังที่เกี่ยวกับห้วงสุดท้ายของชีวิตคนมาดูแล้วก็เขียนแต่ ก็นึกขึ้นได้ว่าเคยเขียนเรื่องของ Babarian Invasion และ Christmas in august ไปแล้ว ท้ายที่สุดผมจึงอยากเขียนถึง “ความตายที่อยู่รอบตัวเรา”

“ความตาย” เป็นธรรมชาติของทุกชีวิตครับ ด้วยเหตุนี้เองการ “ดับสูญ” จึงเป็นกลไกหนึ่งของธรรมชาติที่ไม่ให้เกิดภาวะสิ่งมีชีวิตล้นโลก ซึ่งความตายก็มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ตายดี ตายสงบ ตายทรมาน หรือแม้แต่ตายกะทันหันโดยไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุนี้เอง “ความตาย” จึงเสมือนจุดสิ้นสุดของชีวิต ถ้ามองแบบเศรษฐศาสตร์ความตายคือภาวะสถิตย์หยุดนิ่งที่ไม่มีการพลวัตรเคลื่อนไหวอีกต่อไปแล้ว

จะว่าไปแล้วความตายของคนหลายคนกลับเป็นการสร้างอะไรบางอย่างที่มันยังคงจีรังยั่งยืนหรือที่เราเรียกว่า ความเป็น “อมตะ” อย่างเช่น ความตายของพระพุทธองค์ที่เรียกว่าเสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพาน ความตายของเจซัส (พระเยซู) ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการไถ่บาปให้มวลมนุษย์ หรือแม้แต่ความตายของเชกูวาร่า นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งแดนละตินช่วงทศวรรษที่ 60 นั้นก็เป็นความตายที่มีอิทธิพลต่อการปลดแอกประเทศต่างๆในอเมริกาใต้หลายประเทศ

หากท่านผู้อ่านมีโอกาสได้อ่านหนังสือชุดพระไตรปิฎกศึกษาชุดที่ 2 ซึ่งท่านราชบัณฑิต เสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้เรียบเรียงเรื่อง “วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์” ขึ้นมานั้น ผมคิดว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เราชาวพุทธควรนำมาศึกษากันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจฉิมโอวาทของพุทธองค์ที่ตรัสไว้ว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

เวลาไป “งานศพ” ผมอดนึกไม่ได้ว่าวันหนึ่งก็ต้องมีคนมามัดตราสังเรา รดน้ำศพเรา แบกเราใส่โลง มีพิธีสวดศพ เอาเราขึ้น “เชิงตะกอน” แล้วก็เผาร่างของเราในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้ย่อมเกิดขึ้นแน่กับชีวิตเราไม่ช้าก็เร็ว

ความตายทำให้เราพลัดพรากจากคนที่เรารัก จากของที่เราหวง จากสมบัติที่เราสะสม แม้กระทั่งตัวตนที่เราเคยมีซึ่งทั้งหมดดูเหมือน “ไม่มีอะไรเลย “ว่างเปล่า” “อนัตตา” แต่สิ่งที่เหลือไว้ คือ ชื่อ (เสียง) หรือ ชื่อ (เสีย) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนคนรุ่นหลังจะเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้แทนเรา พูดถึงเรื่องนี้ทีไรผมอดนึกถึงอมตะวาจาของท่านเซอร์จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (Sir John Maynard Keynes) คำพูดหนึ่งที่ว่า “In the long run we are dead” คำพูดของเคนส์คำนี้ได้กลายเป็นเหตุผลและข้ออ้างที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังต้องมานั่งถกเถียงกันอยู่บ่อยๆ แม้ว่าเคนส์อาจจะต้องการสื่อเพียงว่า “ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า” ก็ตามที

“ความตายที่อยู่รอบตัวเรา”นั้น มีตั้งแต่ตายเองตามธรรมชาติ ตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ตายโดยประสบอุบัติเหตุ หรือแม้แต่ตายโดยถูกฆาตกรรมและสงคราม แต่ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ความตายล้วนเป็นเรื่องของ “ภาวะดับสูญ” ซึ่งเราจะเข้าใจมันได้มากน้อยได้แค่ไหน

ผมเคยอ่านเรื่องราวของคุณหมอ “ประสาน ต่างใจ” ที่ท่านได้สร้าง “ศุขเวชเนอสซิ่งโฮม” ไว้สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และนอนรอความตายเพียงอย่างเดียว สถานที่แห่งนี้คุณหมอต้องการให้ความรู้กับคนใกล้ตายว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตซึ่งเราควรรู้จักที่จะรับมือกับมันอย่างสงบ ด้วยเหตุนี้เองการตายอย่างสงบนับเป็นบุญอันประเสริฐอย่างหนึ่งของชีวิต

ผมขออนุญาตหยิบตอนหนึ่งในหนังสือของคุณหมอประสานเรื่อง “ชีวิตหลังความตาย วิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์” มาถ่ายทอดดังนี้ครับ

“พื้นฐานทางจิตวิทยาถือว่าความตายเป็นการจำพรากอย่างถาวรนิรันดร คือ ความไม่รู้ และความสงสัยอยากรู้ เมื่อไม่สามารถรู้จริงโดยตรรกะและเหตุผล เรื่องความตายจึงจัดไว้ด้วยกันกับเรื่องลี้ลับ ความไม่รู้และความลึกลับก็เลยกลายเป็น ความกลัว ความคิด ความเชื่อ ความหวังจึงเป็นหนทางเดียวของมนุษย์ที่จะพยายามหาทางออก เพื่อทำความเข้าใจความตาย และทฤษฎีทางจิตวิทยาหรือทางศาสนาก็เป็นหนทางที่จะช่วยแบ่งเบาความกลัวตายลงมาบ้าง ทฤษฎีต่างๆสรุปแล้วก็มีอยู่เพียง 2 แนวทาง คือ ตายแล้วก็หมดเรื่องหมดราว กับ ตายแล้วไปเกิดใหม่อีก หรือตายแต่ตัว แต่ร่างกายโดยจิตและวิญญาณยังไม่ตาย”

ผมสารภาพท่านผู้อ่านเลยครับว่า “ผมยังกลัวตายอยู่” ไอ้ความกลัวที่ว่ามันบวกไปด้วยความไม่รู้เหมือนที่คุณหมอประสานท่านบอก ไอ้ความกลัวที่ว่ามันยังปะปนไปถึงอารมณ์ที่เกิดจากความเจ็บปวดทรมานของร่างกาย

ผมไม่แน่ใจว่าลมหายใจสุดท้ายของตัวเองจะเป็นอย่างไร มันคงมีค่ามากพอที่จะทำให้ความคิดคำนึงของผม ณ ช่วงเวลานั้น ได้นึกถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่จำความได้จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต มันคงเป็นช่วงเวลาที่ได้ทบทวนสิ่งต่างๆที่อาจจะเป็น “แก่นสารสุดท้าย”ของชีวิตซึ่งทำให้เราเข้าใจและ “ปลดปลง” ไปกับมัน รวมไปถึงการอโหสิกรรมและขออโหสิกรรมกับบาปเวรที่เคยก่อไว้ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ มันจะเป็นช่วงสุดท้ายที่ความทรงจำจากผู้คนทั้งหลายตั้งแต่คนในครอบครัวที่รักและมิตรสหายที่ผูกพันได้พรั่งพรูไหลผ่านเหมือนม้วนฟิล์มที่ถูกกรอกลับอย่างรวดเร็ว แต่ห้วงเวลานั้นมันจะเพียงพอหรือเปล่าที่จะอนุญาตให้เราได้รื่นรมย์และอิ่มเอมกับลมหายใจสุดท้ายนั้น

Hesse004

4 comments:

Unknown said...

....
เข้ามาไว้อาลัยด้วยคน

ความที่เคยสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างกะทันหัน ความรู้สึกที่เรียกว่าช๊อค งง ตามมาด้วยความเศร้าและความรู้สึกผิด ยังจำมันได้ดี ยังมีเรื่องที่ติดค้างที่อยากบอกกล่าวทำความเข้าใจกันแต่ไม่ได้ทำ มันเลยทำให้คิดถึงความตายของคนรอบตัวอยู่เสมอ รวมทั้งเตรียมใจกับการจากไปของตัวเองได้บ่อยๆ

แม้ไม่รู้ว่าชีวิตหลังความตายจะเป็นยังไง แต่กลับไม่ได้สนใจมันมากนัก เพราะชีวิตช่วงเป็นๆนี่ล่ะ ที่จะทำให้กับตัวเองและคนรอบข้างได้ ร่ำลากันทางการกระทำและทางใจทั้งที่ยังเจอหน้ากันอยู่ เพื่อไม่ให้ต้องมีอะไรติดค้างกันหากใครจะเป็นฝ่ายต้องไปก่อน

.....

Tuan said...

ขอบคุณครับพี่อ้น

Suthep said...

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพี่ tuan อีกครั้งสำหรับเรื่องราวดีๆ ที่ถ่ายทอดออกมาให้พวกเราอยู่เสมอ และหวังว่าพี่คงสบายดีนะครับ ผมอาจจะไม่ได้เข้ามาบ่อยนักในระยะหลังนี้ พอดีตอนนี้ต้องเตรียมสอบ Viva ครับ ต้องขอโทษมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

.....อ่านเรื่องนี้ของพี่ tuan แล้วทำให้คิดถึงเรื่อง "ความตาย..ที่สวยงาม"(ผมอาจจะจำชื่อได้ไม่ถูกต้องนะครับ ถ้าผิดไปต้องขอโทษด้วยครับ) ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่รายการธรรมะทางช่อง 9 ได้นำมาเสนอ และต้องขอโทษด้วยครับที่จำชื่อรายการดังกล่าวไม่ได้ เนื่องจากผมเองไม่ได้มีโอกาสดูรายการโทรทัศน์ของไทยมากนัก แต่บังเอิญได้ชมรายการดังกล่าว และได้เห็นชีวิตของครอบครัวหนึ่งที่จะต้องสูญเสียหัวหน้าครอบครัวไป แต่การจากไปของเขานั้น ต่างจากการจากไปของเพื่อนพี่ tuan ครับ เพราะเป็นการจากไปที่ทุกคนรับรู้และได้ทำใจยอมรับอย่างเป็นสุข.. ผมนับถือความมีสติและปัญญาของผู้ที่ทำหน้าที่ภรรยาและแม่ในเวลาเดียวกัน.. ภายใต้สภาวะที่แสนจะโศกเศร้า รุมเร้ามาด้วยปัญหานานับประการ แต่พวกเขากลับทำใจยอมรับความสูญเสียที่จะมาถึงด้วยหัวใจที่เป็นสุข..

ในระหว่างที่ได้ดูรายการนั้นผมได้นึกย้อนไปถึง Dissertation ที่ผมทำตอนศึกษาในระดับปริญญาโท เรื่อง Happiness (Well-being) and Development Policy พร้อมกับนึกได้ว่ามีสถาบันแห่งหนึ่งในไทยได้ทำการศึกษาเรื่องดัชนีความสุขของคนไทย และพบว่า การได้มีโอกาสเข้าถึงธรรมะ นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการเพิ่มระดับความสุขของคน .. แต่แท้จริงแล้ว แน่หรือที่คนส่วนใหญ่บอกว่า เขาจะมีความสุขถ้าเขาได้มีโอกาสหรือเวลาเข้าหาธรรมะมากขึ้น เพราะบางครั้งเรื่องบางเรื่องเราเองกลับมองเห็นหรือยอมรับความเป็นธรรมดา ธรรมชาติของชีวิตยังไม่ได้เลย..

คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถยอมรับเรื่องธรรมดา..ธรรมชาติของชีวิต อย่างมีสติ และพร้อมที่จะยอมรับด้วยหัวใจที่เป็นสุข.. เราเอง และภาครัฐ รวมถึงหลายๆ หน่วยงานคงไม่ต้องคิดหาทางวิธีการหรือนโยบายต่างๆ (ที่ต้องใช้เงินภาษีของทุกคน) เพื่อจะสร้างมูลค่าความสุขให้กับสังคม

ท้ายนี้ผมขอร่วมไว้อาลัยและ แสดงความเสียใจต่อการจากไปของเพื่อนพี่ tuan ด้วยครับ แต่ถึงอย่างไรผมอยากจะฝากไว้ว่า ไม่วาระใดก็วาระหนึ่ง ก็จะเป็นวาระของเราทุกคน ผมเองเป็นอีกคนที่กลัว “ความตาย” แต่ตอนนี้ผมพยามมอง ความตาย หรือการจากไป ให้เป็นสิ่งที่สวยงาม..

ด้วยความนับถือ

Tuan said...

ขอบคุณครับน้องสุเทพ