Oct 31, 2007

จาก Pyramid system ถึง Rotation football กับปรัชญาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป (ตอนที่1)




ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้สนใจอะไรมากมายกับเกมลูกหนังอาจจะไม่คุ้นกับคำโปรยที่ผมเอามาจั่วไว้ที่หัวเรื่องนะครับ สำหรับท่านผู้อ่านที่ชื่นชอบและฟุตบอลแล้วผมเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะเคยได้ยินคำว่า “Pyramid system” ส่วนคำหลังอย่าง “Rotation football”นั้น ผมเชื่อว่าแฟนบอลทีม Liverpool ย่อมคุ้นเคยเป็นอย่างดีครับ

ในระยะหลังของการดูฟุตบอล ผมเริ่มสนใจกีฬาชนิดนี้ในมิติอื่นๆมากขึ้นนอกเหนือจากเคยคิดจะหยิบเรื่องเศรษฐศาสตร์ภาคฟุตบอลมาเขียนแล้ว ผมยังสนใจเรื่องของสูตรการเล่นหรือแผนการทำทีมฟุตบอลด้วยครับ

ย้อนหลังไปราวๆสิบปีที่แล้วมีเกมคอมพิวเตอร์เกมหนึ่งที่ชื่อว่า CM หรือ Championship manager เกมๆนี้ทำให้ผมเริ่มเข้าใจภาพของฟุตบอลที่มากกว่าเกมๆหนึ่งที่มีผู้เล่น 22 คนมาเตะบอลกันให้เราดู

CM ทำให้ผมรู้ว่าฟุตบอลกลายเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง เกม CM ทำให้ผมเริ่มมองเห็นองค์ประกอบของทีมฟุตบอลว่าไม่ได้มีแค่นักฟุตบอล ผู้จัดการทีม สตาฟฟ์โค้ช เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังประกอบไปด้วยการบริหารจัดการทีม การวางแผนการเล่น การเสาะหาและพัฒนานักเตะ ไปจนกระทั่งวิธีการซื้อขายนักบอลและการต่อรองสัญญาและค่าเหนื่อย

ผมมองว่าความพยายามในการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลของบรรดาเหล่ามหาเศรษฐีนั้นตั้งอยู่บนเหตุผลทางธุรกิจเป็นสำคัญมากกว่าที่จะอยากเป็นเจ้าของเพราะใจรักในกีฬาชนิดนี้ เพราะฟุตบอลคือธุรกิจใหม่ที่เติบโตได้อีกไกลในโลกศตวรรษที่ 21 ด้วยเหตุที่ทุกคนในโลกนี้สามารถดูฟุตบอลแมตช์หนึ่งได้พร้อมๆกัน เท่ากับเป็นการขายบริการ “ฟุตบอลบันเทิง”ให้ตลาดทั่วโลกได้ชมกัน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจึงแพงขึ้นทุกปีและยังโยงไปถึงค่าตัวและค่าเหนื่อยของนักเตะระดับ Superstar จึงแพงหูฉี่

ผมอยากแนะนำท่านผู้อ่านลองหาหนังสือของท่านอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่เขียนเรื่อง “กีฬาในทุนวัฒนธรรม” หนังสือเล่มนี้ทำให้มิติการมองโลกฟุตบอลของผมเปลี่ยนไป บทความของอาจารย์ทำให้เราเห็นภาพกีฬาฟุตบอลมีฐานะไม่ต่างอะไรกับสินค้าและบริการโดยมีผู้ผลิตคือสโมสรฟุตบอล และองค์กรโลกบาลทางฟุตบอลอย่างฟีฟ่าหรือยูฟ่า แต่ที่ขาดไม่ได้คือคือโปรโมเตอร์หรือผู้จัดการแข่งขันครับ ซึ่งโปรโมเตอร์ฟุตบอลอย่างพรีเมียร์ชิพ (Premiership) น่าจะเป็นผู้จัดการแข่งขันที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกลูกหนังทุกวันนี้เพราะทำเงินได้มหาศาลจากการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ชิพไปยังประเทศต่างๆเกือบทั้งโลกแล้ว

อ้อ! ยังมีหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำคือ “คนไม่ใช่เศรษฐกิจ”ของอาจารย์ป้อง (ปกป้อง จันวิทย์) สหายทางปัญญาอีกท่านที่เขียนเรื่องราวเศรษฐศาสตร์กับฟุตบอลไว้ได้น่าสนใจในภาคสุดท้ายของหนังสือ

กลับมาที่เรื่องที่ผมจั่วหัวไว้ต่อครับ , ก่อนที่ผมจะเฉลยคำว่า “Pyramid system ว่าคืออะไรนั้น ผมอยากเล่าถึงพัฒนาการคร่าวๆของแผนการเล่นฟุตบอลไว้อย่างนี้ครับว่า นักประวัติศาสตร์ลูกหนังอย่าง นาย John Bluem แกได้แบ่งพัฒนาการของแผนการเล่นฟุตบอลเอาไว้ 3 ยุค ครับ

ในยุคเริ่มต้นนั้น เราต้องย้อนเวลาไป 140 กว่าปีเลยทีเดียว โดยในสมัยนั้นอังกฤษยังไม่มีฟุตบอลลีกภายในประเทศเลยด้วยซ้ำ รูปแบบการเล่นเท่าที่ผมอ่านในงานของ Bluem แกบอกว่าเกมส่วนใหญ่มักเน้นไปในเรื่องของการเลี้ยงบอล (The dribbling game) เป็นหลักครับ ด้วยเหตุนี้เองพื้นฐานของนักบอลรุ่นคุณทวดน่าจะอยู่ที่ทักษะการเลี้ยงบอลครับ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ กฎการล้ำหน้าหรือ Offside rule นั้นก็เกิดขึ้นเมื่อ140 กว่าปีที่แล้วเหมือนกัน Blume แกอธิบายแบบนี้ครับว่า เกมสมัยนั้นคาดว่าศูนย์หน้าบางคนกลัวยุงกัดเลยไปยืนกางมุ้งรอบอลอยู่หน้าประตู ดังนั้นพอเวลาบอลหลุดผ่านกองหลังฝ่ายตรงข้ามแล้ว หรือโกลเตะบอลยาวให้ ศูนย์หน้าจอมขี้เกียจเหล่านั้นก็จะโฉบเอาบอลไปยิงประตูได้สบายๆแบบไม่ต้องวิ่งแข่งกับกองหลัง นี่จึงเป็นสาเหตุให้กฎล้ำหน้าเกิดขึ้นเพราะไม่เช่นนั้นฟุตบอลจะไม่สนุกอย่างทุกวันนี้เพราะมันจะกลายเป็นยิงประตูกันง่ายเกินไปไงครับ

อย่างไรก็ตามเกมลูกหนังในศตวรรษที่ 20 ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยคราวนี้ไม่ต้องยึดกับทักษะการเลี้ยงบอลของผู้เล่นอีกต่อไปแล้วครับ ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดสูตรการเล่นขึ้น

สำหรับสูตรแรกที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมานั้น เขาเรียกว่า Pyramid system ครับ ว่ากันว่าสูตรนี้เป็นสูตรที่ทีมชาติอังกฤษสิงโตคำรามใช้เมื่อ 110 ปีที่แล้ว สูตรนี้ยึดระบบ 2-3-5 ไม่ใช่เลขเด็ดใบ้หวยนะครับ หากแต่เป็นการวางตัวผู้เล่นกองหลังไว้แค่ 2 คน กองกลาง 3 และกองหน้ายัดเข้าไป 5 เลย หัวใจของแผนการเล่นนี้อยู่ที่ตำแหน่ง Center ที่จะถูกดันขึ้นมายืนเหมือนกองกลางตัวรับครับ และยังคอยบัญชาเกมแจกบอลให้เพื่อนที่อยู่ปีกซ้ายปีกขวารวมถึงผู้เล่นหน้าประตู อย่างไรก็ตามผมใช้ได้แค่จินตนาการเท่านั้นแหละครับ เพราะสมัยนั้นไม่มีหลักฐานหลงเหลือให้เราได้ดูแล้วนอกจากอ่านหนังสือเอาเอง

ฟุตบอลในศตวรรษนี้ได้เริ่มปลูกทักษะการโหม่งบอล การครองบอล การจ่ายบอลยาว การวางกับดักล้ำหน้า การผ่านบอลสั้น ไปจนกระทั่งการรับลูก (ที่ไม่ต้องพึ่งรถโรงเรียนแบบในหนังโฆษณา )

ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้วโลกลูกหนังนั้นถือกำเนิดบนแผ่นดินยุโรปซึ่งอังกฤษมักสมอ้างเสมอว่าเป็น “บ้านของฟุตบอล” ซึ่งถ้ามองอีกด้านก็ต้องให้เครดิตเขานะครับ เพราะฟุตบอลลีกอังกฤษนั้นเข้มแข็งและพัฒนาจนเป็นลีกที่มีคนชอบดูมากที่สุดในโลก
สำหรับสูตรที่สองที่ประสบผลสำเร็จในโลกลูกหนังยุคคุณปู่นั้น พงศาวดารฟุตบอลบันทึกไว้ว่าเป็นสูตร WM ครับ สูตรนี้แหละครับที่ทำให้ทีมอย่าง “Arsenal”เกรียงไกรในยุคกลางทศวรรษที่ 20 ถึงปลายทศวรรษที่30 สูตรนี้ Herbert Chapman อดีตผู้จัดการทีมปืนโตครั้งกระโน้นเป็นผู้คิดขึ้นครับ

เหตุที่ Chapman แกคิดแผนนี้ขึ้นมานั้นเพราะมีการปรับกติกาการล้ำหน้าขึ้นใหม่ทำให้เกมลูกหนังยิงกันกระฉูดมากขึ้น ดังนั้น Chapman จึงต้องปรับผู้เล่นกองหลังเป็น 3 คน สังเกตจากตัวหัวของ W ก็ได้นะครับว่ามี 3 จุด โดยตัวผู้เล่น Center ในแผน Pyramid นั้นถูกถอยให้มาคุมพื้นที่แนวหลังซึ่งทำให้เกิดตำแหน่งใหม่ที่เรียกว่า Stopper หรือตัวชนนั่นเองครับ นอกจากนี้แผนของ Chapman ยังเป็นเน้นที่การประกบแบบตัวต่อตัวหรือ Man to man อีกด้วย ปรัชญาการทำทีมของ Chapman สะท้อนให้เห็นความสมดุลที่ปรากฏขึ้นในสนาม ไม่น่าเชื่อนะครับว่าตัวอักษรอย่าง Wและ M จะสามารถสร้างเกมที่ทรงประสิทธิภาพได้ในยุคนั้น

มีการบันทึกไว้ในพงศาวดารฟุตบอลเมืองผู้ดีไว้อย่างนี้ครับว่าสูตร WM ของ Chapman นั้นได้กลายเป็นแผนการเล่นมาตรฐานของทุกสโมสรฟุตบอลบนเกาะบริเตนใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 30

อย่างไรก็ตามในระดับนานาชาติแล้วฟุตบอลอังกฤษยังไม่ได้พิสูจน์ให้ใครได้เห็นเพราะแม้แต่ฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930 ที่อุรุกกวัยนั้นอังกฤษยังปฏิเสธเข้าร่วมการแข่งขันด้วยเหตุผลของการเดินทางไกลเพราะสมัยนั้นต้องนั่งเรือไปครับ อีกทั้งชาวเมืองผู้ดีคงยังคิดว่าฟุตบอลชาติกูนั้นเหนือกว่าชาติไหนๆในบรรณพิภพนี้แล้ว ซึ่งผมจะกลับมาเล่าในตอนต่อไปว่าสิงโตเมืองผู้ดีนั้นคิดผิดทีเดียวครับ

Hesse004

No comments: