Nov 8, 2007

“เตะแหลกแล้วแหกค่าย” สงครามในเกมลูกหนัง




ผมชอบการตั้งชื่อแบบไทยๆครับ โดยเฉพาะหนังฝรั่งที่แปลเป็นชื่อภาษาไทย ยกตัวอย่างเช่น อภิมหาอมตะซีรีส์ภาพยนตร์อย่าง เจมส์ บอนด์ (James Bond) คุณปู่เสาว์ บุญเสนอ ท่านก็ตั้งชื่อหนังเรื่องนี้จนเป็นตำนานว่า “พยัคฆ์ร้าย007” หรือถ้าเป็นหนังเกรดบี อย่าง Nighteyes หลายท่านคงเกาหัวแกรกๆ แต่ถ้าบอกชื่อเป็นไทยว่า “แอบ” ที่นำแสดงโดย ทันย่า โรเบิร์ต (Tanya Robert) ดาราสาวทรงโตยุคต้น 90 ผมว่าหลายท่านคงร้อง อ๋อ! เป็นแน่แท้ โดยเฉพาะท่านชายทั้งหลาย (ภายหลังมีออกมาอีกหลาย “แอบ” จนผมจำไม่หวาดไม่ไหวเลยครับ)

การตั้งชื่อหนังต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักและจดจำได้ง่ายในบริบทของคนท้องถิ่นนั้นนับได้ว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งก็ว่าได้นะครับ ซึ่งเรื่องที่ผมอยากเขียนถึงในวันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการตั้งชื่อหนังแบบไทยๆได้มีเสน่ห์เรื่องหนึ่ง ใช่แล้วครับผมกำลังพูดถึง “เตะแหลกแล้วแหกค่าย”

ผมแปลกใจอยู่เหมือนกันว่ามีอะไรดลใจให้นักตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ตั้งชื่อหนังแบบนี้เพราะชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้คือ Victory ซึ่งหมายถึง “ชัยชนะ” นั่นเอง

Victory (1981) เป็นผลงานการกำกับของ จอห์น ฮูสตัน (John Huston) ผู้กำกับชั้นครูท่านหนึ่งแห่งวงการหนังอเมริกา Victory นับเป็นผลงานช่วงท้ายๆของผู้กำกับท่านนี้

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ผมสันนิษฐานว่าหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง “ฟุตบอล” คงมีน้อยมากซึ่งต่างจากสมัยนี้ที่มีหนังอย่าง Goal (ที่คาดว่าจะทำออกมาเป็นไตรภาคด้วย) หรือ Mean Machine (2001) หนังที่นำแสดงโดยอดีตนักบอลชื่อดังอย่าง วินนี่ โจนส์ (Vinnie Jones)

อย่างไรก็ดีการทำหนังฟุตบอลของชาวฮอลลีวู้ดนั้นอาจจะดูขัดเขินไปเสียหน่อยนะครับ สาเหตุหนึ่งคงเพราะชนชาติอเมริกาไม่ได้มีรากรักกีฬาประเภทนี้สักเท่าไร ฟุตบอลหรือ Soccer ในอเมริกาจึงเป็นแค่กีฬาของสุภาพสตรี ว่ากันว่าทีมบอลหญิงอเมริกานั้นประสบความสำเร็จมากกว่าทีมบอลชายเสียอีกครับ

ดังนั้นการสร้างหนังเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยนักฟุตบอลระดับ “ราชาลูกหนัง”อย่าง เปเล่ (Pele) มาเล่นด้วย นอกจากนี้ Victory ยังเต็มไปด้วยนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ในทศวรรษที่ 70 -80 อย่าง บ๊อบบี้ มัวร์ (Bobby Moore) อดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษผู้ชูถ้วยบอลโลกเมื่อปี 1966 , ออสวัลโด้ อาดิเลส (Osvaldo Ardiles) อดีตขุนพลลูกหนังทีมชาติอาร์เจนติน่าและทีมไก่เดือยทอง เป็นต้น

หนังเรื่องนี้มีสูตรสำเร็จคล้ายกับหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วๆไปครับ กล่าวคือ มีชาติพันธมิตรอย่างอังกฤษ อเมริกา เป็นพระเอกและมีเยอรมันเป็นวายร้าย ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ก็เหมือนกันที่แม้แต่ในเกมฟุตบอลเองทีมเยอรมันยังถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายอีกเหมือนเดิม

ผมว่ามิตินี้น่าสนใจยิ่ง เพราะหนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงเกินกว่า 40 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนยังมีการ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” กันอยู่แม้ว่าจะเบี่ยงโยงไปที่เกมลูกหนังก็ตามแต่

Victory มีพล็อตเรื่องคล้ายๆกับ The great escape (1963) หรือ “แหกค่ายมฤตยู” ในชื่อไทย งานของผู้กำกับชั้นครูอีกท่านอย่าง จอห์น สเตอ์จ (John Sturges) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลิกที่คล้ายกันของ Hatch ที่นำแสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) ใน Victory กับ Hilt ที่แสดงโดย สตีฟ แมคควีน (Steve Mcqueen) ใน The great escape นั้น ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นความเหมือนโดยบังเอิญหรือเหมือนโดยจงใจเพราะตัวละครทั้ง Hatch กับ Hilt มีความคล้ายคลึงกันในฐานะเป็นเชลยศึกคนเดียวในค่ายกักกันที่มาจากทวีปอเมริกา

ยิ่งไปกว่านั้นการแสดงออกของทั้งสองคนก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยเฉพาะมุมมองในความเป็นปัจเจกที่คิดจะแหกค่ายหนีไปคนเดียว ซึ่งต่างจากมุมมองของเชลยศึกจากพันธมิตรสายยุโรปที่คิดจะแหกค่ายออกไปเป็นกลุ่มหรือเป็นร้อยคนอย่างใน The great escape

นอกจากนี้ดูเหมือน “ฮุสตัน” จะจงใจบอกอะไรบางอย่างผ่านในหนังเรื่องนี้ว่าอเมริกันชนนั้นเล่นกีฬาด้วยเท้าไม่ค่อยได้เรื่อง แต่ถ้ากีฬาที่เล่นด้วยมือแล้วพวกเขาก็ไม่เป็นรองใคร ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็นพี่แรมโบ้ของเราไปยืนเป็นผู้รักษาประตูในเรื่องนี้ครับ

หนังเรื่องนี้ถูกออกฉายก่อนฟุตบอลโลกปี 1982 ที่สเปน จะระเบิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เองหนังจึงพยายามใช้อดีตซูเปอร์สตาร์จากนานาชาติ (ยกเว้นเอเชียและแอฟริกา) มาเป็นตัวชูโรง ผมว่าการได้ เปเล่และบ๊อบบี้ มัวร์ มาเป็นดารานำนั้นก็เรียกว่าคุ้มแล้วล่ะครับที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะทั้งสองดูจะเป็นดาราที่ดีทั้งในสนามและบนแผ่นฟิล์มโดยเฉพาะคุณลุง “เปเล่” เนี่ยสุดยอดเลยครับ

ปัจจุบันเกมฟุตบอลก็ไม่ต่างอะไรกับสงครามชนิดหนึ่งที่มีการ “ยิง” เหมือนกันแต่เป็นการยิงประตูครับ... หุหุ ...ทั้งนี้กีฬาฟุตบอลได้กลายเป็นมาตรวัดศักยภาพของคนในชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้แฝงคำพูดบางคำไว้น่าสนใจตอนที่นายพลเยอรมันบอกกับลูกน้องว่านี่จะเป็นโอกาสที่ดีที่เยอรมันจะเอาชนะพวกอังกฤษในเกมลูกหนังได้เสียที

ฟุตบอลจึงกลายเป็นทั้งเรื่องของการเมืองและ การทำสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านจำได้ เหตุการณ์ฟุตบอลโลกปี 1986 ที่เม๊กซิโก รอบแปดทีมสุดท้ายอังกฤษต้องเผชิญหน้ากับอาร์เจนติน่าของ “มาราโดน่า” ประเด็นเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ก็ถูกนำมาหยิบยกในเกมสงครามลูกหนังครั้งนั้นด้วย

นอกจากนี้ถอยไปเมื่อปี 1998 ฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส เกมระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านก็ถูกมีการหยิบประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองของสองประเทศนี้เมื่อครั้งสมัยต้นทศวรรษ 80 มาพูดกันอีก

มิพักต้องเอ่ยถึงตัวอย่างอันใกล้เมื่อต้นปีนี้ที่ทีมฟุตบอลไทยลงเผชิญหน้ากับทีมชาติสิงค์โปร์ กระแสแอนตี้“เทมาเสก”ก็ทำให้เกมไทเกอร์ คัพ นัดชิงเหมือนสงครามย่อยๆดีนี่เอง

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกถึงคุณค่าของชาติพันธุ์ พวกพ้อง หมู่เหล่า ซึ่งจะว่าไปแล้วการแสดงออกผ่านทางเกมลูกหนังได้ช่วยปลดปล่อยความคั่งแค้นเก็บกดบางอย่างของมนุษย์เราออกมา

Victory คือ ตัวอย่างอันดีที่ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์อันแยกออกจากกันได้ยากระหว่าง “กีฬา การเมือง และสงคราม” แม้ว่าเกมกีฬาสอนให้คนรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย แต่สงครามกลับไม่ได้สอนเช่นนั้นใช่มั๊ยครับ

Hesse004

No comments: