Apr 5, 2008

“Yi yi”นั่งสังเกตการณ์ชีวิต




ในกระบวนหนังจีนด้วยกันแล้ว หนังจาก “ไต้หวัน” ดูจะได้รับความนิยมน้อยที่สุดนะครับ สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการแผ่อิทธิพลของหนังฮ่องกงนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 เป็นต้นมาโดยเฉพาะหนังกำลังภายในจากสตูดิโอดังอย่าง “ชอว์บราเธอร์”

อย่างไรก็ตามชื่อของผู้กำกับอย่าง อั้งลี่ (Ang Lee), ไฉ้ หมิง เหลียง(Ming-liang Tsai) และ เอ็ดเวิร์ด หยาง (Edward Yang) ได้ปลุกกระแสหนังพันธุ์ไต้หวันให้ได้รับความนิยมในหมู่คอหนังอาร์ต โดยเฉพาะในรายของของ “อั้งลี่” แล้ว การบุกเบิกฮอลลีวู้ดด้วย Crouching Tiger hidden Dragon (2000) เมื่อแปดปีก่อนได้ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ทรงอิทธิพลที่สุดของฮอลลีวู้ดในเวลานี้เลยก็ว่าได้

สำหรับ “ไฉ้ หมิง เหลียง” นั้นโด่งดังมาจาก What time is it there? (2001) ครับ หนังเรื่องนี้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ
ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ (Cannes Film Festival) เมื่อปี ค.ศ.2001 กล่าวกันว่าหนังของอาไฉ้นั้นเป็นหนังที่ดูยากมาก มัธยัสถ์บทพูด แต่เต็มไปด้วยประเด็นและสัญลักษณ์ที่ผู้ชมต้องไปตีความกันเอาเอง

ส่วน “เอ็ดเวิร์ด หยาง” นั้น สร้างชื่อมาจากเทศกาลหนังเมืองคานส์เช่นกันครับ ซึ่งงานของ เขา เรื่อง Yiyi(2000) นั้นเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำและ “หยาง” เองก็ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไปเมื่อปี ค.ศ.2000

Yiyi หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า A One and A Two ได้กล่าวถึงครอบครัวชาวจีนไต้หวันครอบครัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใน “ไทเป” ครอบครัวนี้ประกอบไปด้วย อาม่า (ยาย) , อาเจี้ยน (พ่อ) , อาหมิง (แม่) , ผิง ผิง (ลูกสาวคนโต) และ หยาง หยาง (ลูกชายคนเล็ก)

หนังเปิดฉากด้วย “งานแต่งงาน” ของน้องชายอาหมิงซึ่งจะว่าไปแล้วเสมือนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่กำลังบอกถึง“ชีวิตครอบครัว” จริงๆ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

หลังจากนั้น เอ็ดเวิร์ด หยาง ได้ค่อยๆฉายภาพชีวิตของแต่ละคนในครอบครัวนี้โดยสลับฉากชีวิตของแต่ละคนที่ใช้ชีวิตธรรมดาทั่วไปคล้ายกับเรากำลังนั่งสังเกตการณ์หลายชีวิตในครอบครัวนี้อยู่

จะว่าไปแล้วหนังแนวครอบครัวทำนองเดียวกับ Yiyi ที่ทำออกมาได้น่าชมเท่าที่นึกออกน่าจะเป็น Little Miss Sunshine (2006)ของ โจนาธาน เดย์ตัน (Jonathan Dayton)และ วาเลรี่ ฟารีส (Valerie Faris) หนังฟอร์มเล็กเรื่องนี้นับว่าไม่ธรรมดาเลยนะครับเพราะเข้าชิงรางวัลอคาดามี (ออสการ์)เมื่อปี ค.ศ.2006 ด้วย

“เอ็ดเวิร์ด หยาง” พยายามกล่าวถึงปัญหาของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยครับ ซึ่งจะว่าไปแล้วเราทุกคนล้วนมีปัญหาให้ขบกันอยู่ตลอดเวลาเริ่มจาก “หยาง หยาง” ลูกชายคนเล็กขี้สงสัยที่กำลังอยู่ในวัยตั้งคำถามและเรียนรู้โลกของผู้ใหญ่

ผมแอบติดใจคำพูดของเจ้าหนูน้อยตอนที่พูดกับ “อาเจี้ยน” ผู้พ่อว่า “สิ่งที่ผมเห็น พ่อจะไม่เห็น สิ่งที่ผมไม่เห็น พ่อจะเห็น” น่าแปลกมั๊ยครับ คำพูดของเด็กเจ็ดแปดขวบดูมีปรัชญาอะไรแฝงอยู่ และยิ่งเราดูบทบาทของเจ้าหนูคนนี้ไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าเด็กคนนี้ช่างคิดอยู่ไม่น้อย อย่างเช่นเอากล้องที่พ่อซื้อให้มาถ่ายรูป “ยุง” เพียงเพื่อพิสูจน์ให้คนเห็นว่ามันมียุงอยู่ในคอนโดจริง

นอกจากนี้ความแปลกของเจ้าหนูในเรื่องหัดถ่ายรูปยังอยู่ที่การถ่ายรูปคนจากข้างหลัง ทั้งนี้เจ้าหนูหยาง หยาง ให้เหตุผลว่าคนส่วนใหญ่ถ่ายรูปข้างหน้ากันอยู่อย่างเดียวทำให้เรามองเห็นแต่ข้างหน้าจนเรามองไม่เห็นข้างหลัง ดังนั้น ผม (เจ้าหนู) ขอเป็นคนถ่ายรูปข้างหลังดีกว่าจะได้มองเห็นคนอีกด้านหนึ่ง

ผมแอบตั้งข้อสังเกตในใจไว้ว่าสงสัยเรื่องนี้ “เอ็ดเวิร์ด หยาง” คงต้องการสื่อสารความเป็นตัวเองผ่านเจ้าหนูน้อย “หยาง หยาง” เป็นแน่แท้ เพราะดูจากชื่อเจ้าหนูก็พ้องกับสกุลของผู้กำกับแล้ว

นอกจากความช่างคิดของหยาง หยาง แล้ว ประเด็น “วัยรุ่น” ในหนังเรื่องนี้ก็สื่อได้ดีเช่นเดียวกันครับ ซึ่ง “ผิง ผิง” ลูกสาวคนโตของบ้านกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น

ในเรื่องนั้น, ผิง ผิง ดูจะเป็นเด็กดีเรียบร้อย ขยันเรียน และละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตามปัญหาในวัยรุ่นก็ไม่พ้นเรื่อง “ความรัก” แหละครับ ซึ่งรักแรกของผิงผิงกลับกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่ไม่น่าจดจำนัก

สำหรับชีวิตของ “อาเจี้ยนและอาหมิง” นั้นก็อยู่ในวัยที่กำลังก่อร่างสร้างตัวให้มั่นคงเลี้ยงลูกสองคนอีกทั้งดูแลแม่ที่นอนป่วยไม่รู้สึกตัว เราได้เห็นภาพชีวิตมนุษย์เงินเดือนของผัวเมียคู่นี้ที่ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ จนวันหนึ่ง “อาหมิง” มานั่งร้องไห้อย่างไม่รู้สาเหตุว่า
“เฮ้ ! ฉันตื่นแต่เช้าไปทำงาน อยู่ที่ทำงานจนดึกดื่น กลับมาบ้านนอน แล้วก็ตื่นแต่เช้าไปทำงาน ทำไมชีวิตฉันมันหมุนเวียนจำเจเป็นวงจรอย่างนี้”

บางทีคำถามของ “อาหมิง” ก็ไม่ต่างกับคำถามของพวกเราในฐานะมนุษย์เงินเดือน ที่จู่ๆวันหนึ่งเรามานั่งตั้งคำถามกับตัวเองว่า “กูกำลังทำอะไรอยู่วะ” โชคดีที่อาหมิงได้อาเจี้ยน ซึ่งเป็นสามีที่เข้าใจความรู้สึกของภรรยาดีจึงค่อยๆปลอบใจและให้กำลังใจกันไป

ตัวละครอย่าง“อาเจี้ยน” แสดงออกซึ่งความเข้มแข็งและความเข้าใจในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างดีครับ ตัวอาเจี้ยนเองก็มีปัญหาเรื่องงานแถมยังเจอเรื่อง “คนรักเก่า” อีกก็ทำให้อาเจี้ยนเขวไปเหมือนกัน แต่อาเจี้ยนก็ค่อยๆใช้สติในการแก้ปมปัญหาต่างๆไปได้ด้วยดี ผมว่าอาเจี้ยนเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็น “สามีและพ่อ” ที่ค่อยๆประคับประคองครอบครัวและแก้ปัญหาชีวิตไปอย่างมีสติ

ผมนั่งดูหนังเรื่องนี้พลางนึกถึง “ชีวิตและความเป็นมนุษย์” ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีประสบการณ์แบบในหนังเรื่อง Yiyi ไม่ว่าจะเป็นความสงสัยอยากรู้ในวัยเด็ก การปรับตัวในวัยรุ่น การตั้งคำถามถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ในวัยทำงาน แม้กระทั่งความพยายามประคับประคองชีวิตครอบครัวให้รื่นรอดในวันที่เผชิญมรสุมชีวิต

หนังเรื่องนี้ปิดท้ายด้วย “งานศพ”ของอาม่า ครับ ในบทหนังนั้น “อาม่า”ดูจะเป็นศูนย์กลางของครอบครัวเพราะตั้งแต่อาม่าป่วยนอนไม่รู้เรื่อง “อาเจี้ยนและอาหมิง” พยายามให้คนในครอบครัวมาพูดคุยกับอาม่าเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้แกฟังทั้งๆที่แกไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว ด้วยเหตุนี้เองเราจึงได้เห็นภาพอาม่าในฐานะผู้ที่รับฟังเรื่องราวทุกอย่างของลูกหลานแต่ไม่สามารถรับรู้อะไรได้อีกแล้ว

ฉากสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ “เอ็ดเวิร์ด หยาง” ได้สื่อให้เห็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดชีวิตจากพิธีกรรมในงานศพซึ่งดูเหมือนว่าชีวิตบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรเลย สุดท้ายแล้วก็ว่างเปล่าใช่มั๊ยครับ

Hesse004

No comments: