Apr 23, 2008

“ราคาอาหารเฟ้อ” กับ “Agflation”



คุณหมี Apooh ผู้น่ารัก, กัลยาณมิตรผู้แสนดีแห่งบล็อกโอเคเนชั่นส่งจดหมายไฟฟ้าฉบับน้อยมาถามว่า “ทำไมทุกวันนี้ราคาอาหารของบ้านเราแพงจังเลย”โดยเฉพาะราคาข้าวที่พุ่งสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

โดยส่วนตัวแล้วผมก็สงสัยคล้ายๆกับคุณหมีนะครับ ด้วยเหตุนี้เองผมจึงลองไปค้นข้อมูลในสมุดจดความรู้เล่มใหญ่อย่าง Wikipedia.org

ในสารานุกรมเสรีวิกิพีเดียนั้น, เขาตั้งชื่อหัวข้อของเรื่องนี้ไว้น่าสนใจว่า “2007-2008 World Food rises crisis” ครับ นั่นเริ่มสะท้อนให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของปัญหาราคาอาหารที่แพงขึ้นในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผมยังแวะไปเยือนเว็บของสำนักข่าวบีบีซีหรือ BBC News online ซึ่งได้เกาะติดสถานการณ์นี้มาซักระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน

นักเศรษฐศาสตร์เกษตรหลายคนมองว่าวิกฤตการณ์ราคาอาหารแพงตั้งแต่ปีที่แล้วนั้นเกิดจากสาเหตุหลายประการที่ผูกโยงกันอย่างไม่น่าเชื่อครับ และวิกฤตครั้งนี้กำลังเผยให้เห็นด้านลบของทุนนิยมเสรีในยุคสมัยโลกาภิวัฒน์ (Capitalism in Globalization)

ผมเองประหลาดใจไม่น้อยที่เหล่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นคล้ายกันว่าราคาสินค้าเกษตรที่แพงขึ้นนั้นมาจากความพยายามของมนุษย์ที่กำลังแสวงหาพลังงานทดแทนจากผลผลิตทางการเกษตรหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “Biofuel” นั่นเองครับ

อย่างที่รู้กันนะครับว่าทุกวันนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้นพุ่งเพิ่มเกินร้อยดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ประเทศต่างๆต้องกล้ำกลืนใช้น้ำมันราคาแพงมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยเหตุนี้เองหลายประเทศจึงเริ่มหันมาวิจัยและพัฒนาเพื่อหาพลังงานทดแทนมารองรับน้ำมันที่กำลังแพงอยู่ขณะนี้

แล้วน้ำมันแพงมันส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรแพงยังไงเหรอครับ? คำตอบคือ เมื่อปีสองปีที่ผ่านมานี้เกษตรกรในหลายๆประเทศได้เริ่มปลูกพืชเพื่อสนองต่อนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนของรัฐบาล นอกจากนี้รัฐบาลของหลายๆประเทศต่างมีนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ด้วย (Subsidy)

ด้วยเหตุนี้เองเกษตรกรในประเทศเหล่านี้เลยเริ่มหันมาปลูกพืชเพื่อพัฒนาพลังงานทดแทนกันมากขั้นแทนที่จะปลูกพืชเพื่อการบริโภคดังเช่นอดีตที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นี้เขาเรียกว่า “Food for Fuel” ครับ ดังนั้นพื้นที่ทางเกษตรส่วนใหญ่จึงถูกแบ่งไปปลูกพืชที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนนั่นเอง

อย่าลืมนะครับว่าที่ดินบนโลกใบนี้จัดเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด การที่เกษตรกรเลือกปลูกพืชชนิดหนึ่งย่อมมีค่าเสียโอกาสที่จะไม่ได้ปลูกพืชอีกชนิดหนึ่ง กรณีนี้ก็เช่นกันหากต้องการปลูกพืชไว้สำหรับทำพลังงานทดแทนก็ต้องเสียพื้นที่ปลูกพืชไว้สำหรับบริโภค

นอกเหนือจากพื้นที่เพาะปลูกสำหรับการบริโภคจะลดลงแล้ว เรื่องของหายนะ “โลกร้อน” ก็ทำให้ฤดูกาลเพาะปลูกนั้นผิดเพี้ยนไปครับ แม้ว่าเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่จะช่วยแบ่งเบาปัญหานี้ได้แต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติตั้งแต่ “ลานินย่า” หรือ “เอลนินโย่” ก็ย่อมส่งผลต่อปริมาณพืชผลทางการเกษตรที่ลดลงอย่างน่าใจหาย

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจของจีนและอินเดียจำเริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมานั้นก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการบริโภคอาหารมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นั่นหมายถึงเมื่อคนเกือบสองพันล้านคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เขาก็ยิ่งต้องการบริโภคมากขึ้น นอกจากจะบริโภคอาหารมากขึ้นแล้วการบริโภคพลังงานก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

น่าสนใจไม่น้อยนะครับ! ที่เมื่อประเทศต่างๆในโลกเลือกเดินตามรอยทุนนิยมเสรีแบบเต็มสูบแล้ว ปัญหาการ “แย่งกันกิน แย่งกันใช้” กำลังเป็นปัญหาที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อซัพพลายของสินค้าใดมีอยู่อย่างจำกัดแล้ว ขณะที่ดีมานด์มีมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนสิครับว่าราคาสินค้านั้นย่อมแพงขึ้นไม่หยุด กรณีที่เห็นได้ชัด คือ “น้ำมัน” ไงครับ

ขณะที่อาหารการกินที่เราเคยเชื่อกันว่าไม่น่าจะอดอยากนั้น การณ์กลับเป็นว่าธรรมชาติที่เคยสนับสนุนให้เราได้กินได้ใช้ตามความต้องการนั้น ทุกวันนี้ธรรมชาติไม่ได้เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับมนุษย์อีกต่อไปแล้วครับ ด้วยเหตุที่เรามัวแต่มุ่งทำลายสิ่งแวดล้อม ตักตวง
ทุกอย่างจากธรรมชาติ ถลุงใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่ถนอมรักษา

ถึงวันนี้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่แย่ลงได้ลงโทษต่อการกระทำที่ผ่านมาของมนุษย์จนทำให้ อุณหภูมิบนโลกร้อนขึ้น ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดภัยธรรมชาติแทบทุกปี สิ่งต่างๆเหล่านี้ยิ่งทำให้เกิดภาวะชะงักงันในการผลิตอาหารเข้าไปอีก

เมื่อต้นปี ค.ศ.2007 นักวิเคราะห์จาก “เมอร์ลิน ลินช์” (Merrill Lynch) ได้ประดิษฐ์ศัพท์เศรษฐศาสตร์คำใหม่ว่า “Agflation” ขึ้นมาครับ โดย Agflation เป็นเงินเฟ้อในสกุลเดียวกับ “Inflation” แต่ Agflation นั้นเกิดขึ้นจาก “ราคาพืชผลทางการเกษตร”ที่แพงขึ้นจนส่งผลต่อราคาสินค้าต่างๆที่ใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบแพงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาหาร” นี่แหละครับคือต้นเหตุที่ว่าทำไมทุกวันนี้ราคาอาหารบ้านเรามันถึง “เฟ้อ” จังเลยครับ

Hesse004

2 comments:

Unknown said...

กำลังนึกๆอยากถามพวกเด็ก "เสด"อยู่เหมือนกันว่าจะปรับสมดุลยังไงระหว่างอาหารกับพลังงาน แล้วถ้าเราทำหยิ่งเพราะเป็นคนคุมทรัพยากรอาหารบ้างไม่ได้หรือไง หรือเพราะอาหารก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราคนเดียวเพราะดิน น้ำ ลม ไฟ ต่างหากที่เป็นตัวคุม ^_^

อ้อ..เจอศัพท์อีกตัว stagflation ไม่ใช่ศัพท์ใหม่หรอกนะแต่ไม่คุ้นเท่าไหร่

แครอทในรูปน่ากินจัง อิจฉาเด็ก

Tuan said...

Stagflation คือ ภาวะเศรษฐกิจติดหล่มครับ นั่นคือเจอทั้งเงินเฟ้อแล้วก็การว่างงานพร้อมๆ กัน
ขอบคุณพี่อ้นมากครับ
ต้วน