Mar 22, 2008

“สามก๊ก” สินค้าจีนในทุนวัฒนธรรม




ซีรี่ส์ภาพยนตร์จีนชุด “สามก๊ก” ที่กำลังฉายอยู่ช่องไทยพีบีเอสนั้น นับได้ว่าเป็นการเร่งให้เกิดกระแส “จีนนิยม” เพิ่มยิ่งขึ้นนะครับ

ภาพยนตร์ชุดดังกล่าวเป็นผลงานการสร้างของ CCTV ด้วยวัตถุประสงค์ของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์จีนเมื่อ 1,800 กว่าปีมาแล้ว โดย “สามก๊ก” ฉบับ ซีรีส์นี้มีทั้งหมด 84 ตอนครับ ทั้งนี้กล่าวกันว่าสามก๊กของนาย “หลอกว้านจง” (Luo Guanzhong)นั้นเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดของวรรณกรรมจีนเลยทีเดียว

ท่ามกลางกระแส “จีนาภิวัฒน์” และ “ภารตะนิยม” หรือ Chindia นั้นได้ทำให้โลกตะวันออกเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งครับ หลังจากที่ “สหรัฐอเมริกา” ได้สถาปนาตัวเองเป็นเจ้าโลกมาช้านานนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองสงบลง

อย่างที่เกริ่นไว้ในหัวเรื่องแล้วครับว่าภาพยนต์จีนชุดสามก๊กนั้นดูจะเป็น “สินค้าวัฒนธรรมจีน” ชิ้นแรกๆที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงที่โลกทุนนิยมเริ่มหันมาสะสมทุนวัฒนธรรม (Cultural Capital) กันมากขึ้น

ในหนังสือเรื่อง “ทุนวัฒนธรรม”ของท่านอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นั้นได้กล่าวถึงการเติบโตของทุนวัฒนธรรมผ่านสินค้าประเภทกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลพรีเมียร์ชิพของอังกฤษ

เช่นเดียวกับในแง่ของความบันเทิงนั้น “วัฒนธรรมป๊อบ” (Pop Culture) ได้ถูกถ่ายทอดผ่านทางหนังดังฮอลลีวู้ด รวมไปถึงมิวสิควีดีโอที่ช่อง MTV จะเห็นได้ว่าทั้งกีฬาและความบันเทิงนั้นดูจะเป็นทุนชนิดใหม่ที่ก้าวมาตอบสนองผู้คนในศตวรรษที่ 21

ด้วยเหตุนี้เองประเด็นน่าสนใจที่ตามมาเกี่ยวกับพัฒนาการของทุนนิยม คือ รูปแบบของการสะสมทุน ครับ เพราะประวัติศาสตร์ของทุนนิยมนั้นเริ่มต้นจาก “ทุนนิยมอุตสาหกรรม”ที่สะสมเครื่องจักร เครื่องมือ ก่อนจะก้าวมาสู่ “ทุนนิยมการเงิน” ที่มุ่งเน้นการสะสมทุนทางการเงินเป็นสำคัญ และ ท้ายที่สุดทุนดังกล่าวได้รุกไปสู่ “ทุนวัฒนธรรม”

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประเทศอย่าง “เกาหลีใต้” น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาทุนวัฒนธรรมนะครับ โดยทั้งภาครัฐและเอกชนของเกาหลีใต้นั้นพยายามใช้ “ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม”ของชนชาติตัวเองเป็น “สินค้าวัฒนธรรม” ที่มุ่งขยายส่งออกไปต่างประเทศนอกเหนือจากอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์หรือรถยนต์ที่โด่งดัง

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมทุกวันนี้ ซีรีส์เกาหลีอย่าง “แด จัง กึม” “จูมง” มาจนกระทั่ง “อิมซังอ๊ก” จึงกลายเป็นสินค้าวัฒนธรรมเกาหลีที่คนไทยรู้จักดีไม่แพ้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง “ซัมซุง”

สำหรับ “สามก๊ก” ฉบับ CCTV นั้นเริ่มต้นออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 1995 ครับ ทั้งนี้ CCTV ได้คัดเลือกนักแสดงที่มีฝีมือทั่วทั้งแดนมังกรมาสวมบทบาทตัวละครเด่นๆในสมัยสามก๊ก เช่น ผู้ที่รับบทเป็น “ขงเบ้ง” คือ Tang Guoqiang ซึ่งนับเป็นดาราดังของจีนแผ่นดินใหญ่เลยทีเดียว

หลังจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของ “เติ้งเสี่ยวผิง” ได้เปิดประเทศด้วยนโยบายสี่ทันสมัยแล้ว ประเทศจีนได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆทั่วโลกในฐานะที่เป็น “ตลาดสินค้า”ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยวัดจากจำนวนประชากรพันกว่าล้านคน

ขณะที่จีนเปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนก็ไม่ลืมที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจเอกชนออกไปลงทุนต่างประเทศด้วย พร้อมกันนี้บทบาทของจีนในช่วงยี่สิบปีหลังมานี้นับว่าโดดเด่นไม่น้อย

ในฐานะที่เป็นพี่ใหญ่แห่งเอเชีย จีนเองก็พยายามสร้างอิทธิพลทางการค้าการลงทุนผ่านทางประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายโดยเฉพาะในแอฟริกาหรือที่รู้จักกันในชื่อ Sino-African ครับ ทั้งนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นจีนเริ่มติดต่อกับชาวแอฟริกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงจากการเดินทางสำรวจโลกของกองเรือนายพลเจิ้งเหอ หรือ เจ้าพ่อซำปอกงที่คนไทยคุ้นเคยนั่นเอง

ปัจจุบันรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์พยายามสร้างสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับประเทศอย่าง เคนยา กานา ซูดาน หรือไนจีเรีย เป็นต้น ผมเชื่อว่าเหตุที่จีนเลือกคบแอฟริกาส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความพยายามที่จะสร้างสมดุลทางอำนาจกับโลกตะวันตก

การสร้างภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ “สามก๊ก” ของจีนในช่วงทศวรรษที่ 90 นั้นจึงดูมีนัยยะที่ต้องการสื่อให้ชาวโลกที่จะมาคบกับจีนนับต่อจากนี้ไป พึงรู้ไว้ว่า “จีนยุคใหม่” นั้นไม่เหมือนยุคสมัยที่เคยโดนชาติมหาอำนาจข่มเหงรังแกดังเช่นที่เคยทำได้ในปลายราชวงศ์ชิง

นอกจากนี้นัยยะที่แฝงมากับภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นเหมือนจะบอกให้รู้ว่า “พวกกูก็คิดกลยุทธ์ที่ล้ำลึกเป็นตั้งแต่เมื่อพันแปดร้อยปีมาแล้ว” ดังนั้น การบุ่มบ่ามทำอะไรกับจีนนั้นดูจะต้องรอบคอบและลึกซึ้งอย่างยิ่ง

ฝรั่งรู้จักสามก๊กในฐานะ Romance of the Three Kingdoms ครับ กล่าวกันว่านักปกครองของโลกตะวันตกจะต้องอ่านหนังสืออย่าง The Prince ของ นิโคโล แมคเคียวเวลลี่ (Niccolò Machiavelli) แต่สำหรับนักปกครองของโลกตะวันออกแล้วสมควรที่จะอ่าน “สามก๊ก” จนมีคนกล่าวไว้ว่าถ้าจะทำสงครามต้องอ่าน “ตำราพิชัยสงครามซุนวู” และถ้าคิดจะทำการใหญ่ต้องอ่าน “สามก๊ก”

ด้วยเหตุนี้เอง “สามก๊ก” ของหลอกว้านจง จึงถูกหยิบนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมพร้อมทั้งเติมอรรถรสทางปัญญาและสอดแทรกคุณธรรมให้กับคนดู ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูจะเป็นลักษณะพิเศษที่เรามักพบเห็นเสมอในสินค้าวัฒนธรรมจีนอย่างไซอิ๋ว หรือ เปาบุ้นจิ้น ไงล่ะครับ

Hesse004

No comments: